Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 ขัดรัฐธรรมนูญ ขณะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (4) ไม่ได้ให้อำนาจ เกิดเป็นความปั่นป่วนในระบบกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง คำถามสำคัญคือศาลรัฐธรรมนูญกำลังขยายอำนาจเข้าไปในแดนของศาลอื่นใช่หรือไม่?

  • ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 ขัดรัฐธรรมนูญ ขณะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (4) ไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลอื่น หรือเรื่องที่ศาลอื่นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะหน่วยงานของรัฐไม่สามารถเป็นผู้ทรงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับรับวินิจฉัยว่า รฟท. ถูกศาลปกครองละเมิดสิทธิ
  • คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบกฎหมายและเขตแดนอำนาจของศาลอื่น เนื่องจากมติของที่ประชุมใหญ่ของศาลต่างๆ มีจำนวนมาก มติเหล่านั้นจะขัดรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่
  • ศาลรัฐธรรมนูญกำลังขยายบทบาทและอำนาจของตนเข้าไปยังเขตแดนอำนาจของศาลอื่นๆ ผ่านการตีความที่ลอยพ้นตัวบทกฎหมาย

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ที่ถูกนำไปอ้างอิงในคดีโฮปเวลล์ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรค 4 นั้น พูดกันด้วยภาษาชาวบ้านได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังก้าวล้ำเข้าไปในแดนอำนาจของศาลอื่น ผลที่ตามมาคือความปั่นป่วนวุ่นวายต่อระบบตุลาการทั้งระบบ

สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘ประชาไท’ ชวน สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแกะดูทีละจุดว่าเกิดอะไรขึ้น หลักการที่ควรจะเป็นคืออะไร กรณีนี้ไม่ต้องตามหลักการอย่างไร และความปั่นป่วนที่จะตามมาคืออะไร

อย่างไรก็ตาม การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยฉบับเต็มเผยแพร่ออกมา ซึ่งเรายังไม่ทราบการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญต่อข้อสงสัยต่างๆ ในบทสนทนานี้

รธน.60 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

เริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ขยายอำนาจศาลรัฐธรรมนูญขึ้นตามมาตรา 213 แนวคิดคือให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการตรวจสอบการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้คำว่า การกระทำ ในภาษากฎหมายย่อมเป็นไปได้หมดทั้งการกระทำทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ พูดให้ง่ายกว่านั้นได้ว่าการกระทำใดๆ ขององค์กรของรัฐที่ล่วงเข้าไปในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้าไปตรวจสอบได้

ผลจากการนี้คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ได้ไปกำหนดรายละเอียดว่าจะใช้กลไกดังกล่าวอย่างไร แต่ในมาตรา 47 ก็ระบุข้อยกเว้นไว้ ประกอบด้วย

(1) การกระทำทางรัฐบาล

(2) รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

(3) กฎหมายบัญญัติขั้นตอนและวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ และยังมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือกระบวนการนั้นครบถ้วน

(4) เรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลอื่น หรือเรื่องที่ศาลอื่นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว

(5) การกระทำของคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 192

(6) การกระทำเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการ ตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการตุลาการทหาร รวมถึงการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร

ตรงนี้มีข้อสังเกตบางประการ-ศาลรัฐธรรมนูญของไทยน่าจะได้โมเดลมาจากศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนี แต่ในกรณีหลังไม่มีข้อยกเว้น กล่าวคือศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ทุกองค์กรของรัฐ

“ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีสามารถเข้าไปตรวจได้ทุกการกระทำแต่จะต้องมีฐานจากการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญซึ่งเขาเรียกว่าสิทธิขั้นพื้นฐาน เปรียบเทียบกับบ้านเราให้เห็นภาพชัด ศาลไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ให้ประกันทั้งที่หลักรัฐธรรมนูญเขียนว่าบุคคลจะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีอาจสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าเป็นการขัดหรือละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

“แต่แม้ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันจะมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ แต่เขาก็เคร่งครัดอย่างมากหรือที่เรียกว่าหลักการจำกัดอำนาจตนเอง คือต้องเป็นการตรวจสอบการกระทำขององค์กรผู้ใช้อำนาจอื่นว่าเขาละเลยต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ต้องเป็นกรณีที่มีความเข้มข้นและเด่นชัดมาก ศาลรัฐธรรมนูญถึงจะเข้าไปตรวจเพราะไม่อย่างนั้นทุกเรื่องจะวิ่งกลับเข้ามาที่ศาลรัฐธรรมนูญหมด” สุรศักดิ์ กล่าว

ศาลรัฐธรรมนูญกำลังตรวจสอบคำสั่งศาลปกครอง?

กลับมาที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (4) ที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เข้าไปตรวจสอบเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลอื่นหรือเรื่องที่ศาลอื่นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว

เพราะโดยเจตนารมณ์ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ความกังวลอย่างยิ่งข้อหนึ่งคือการใช้อำนาจตรวจสอบการกระทำของศาลอื่นของศาลรัฐธรรมนูญจะกระทบต่อดุลยภาพของการใช้อำนาจของศาลอื่นจึงทำให้เกิดมาตรา 47 (4) เพื่อกันเรื่องการกระทำทางตุลาการออกไปเนื่องจากไม่ต้องการมีปัญหาเรื่องเขตอำนาจที่ทับกัน

แต่กรณีที่เกิดขึ้นถือว่าศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วของศาลปกครองสูงสุดได้หรือไม่?

รฟท.ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพได้ด้วยหรือ ศาลรัฐธรรมนูญต้องให้คำตอบ

ปัญหาตั้งต้นที่สุรศักดิ์ต้องการคำตอบมากคือการกระทำของศาลปกครองในการพิพากษาคดีด้วยการตีความเรื่องการนับระยะเวลาการฟ้องคดีหรืออายุความเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของ รฟท. อย่างไรและ รฟท. ในฐานะหน่วยงานของรัฐถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพได้ด้วยหรือ

“เพราะถ้าวินิจฉัยว่าหน่วยงานของรัฐไม่ใช่ผู้ทรงสิทธิจึงไม่มีการถูกละเมิดสิทธิ มันก็จะมาไม่ถึงจุดนี้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยเรื่องนี้ด้วย เพราะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการยื่นคำร้อง

“จดหมายข่าวที่ออกมาในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อ้างสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเลย แต่อ้างว่าขัดต่อมาตรา 3 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญคือหลักนิติธรรมซึ่งมันเป็นหลักกว้างๆ เหมือนเวลาที่มันไม่เข้าเรื่องเฉพาะเจาะจง เราก็วิ่งกลับมาหาหลักทั่วไป ในกรณีอย่างนี้โดยปกติแล้วศาลจะต้องจำกัดการใช้อำนาจ ต้องไปดูว่าการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพคือการกระทำไหน ละเมิดสิทธิและเสรีภาพอย่างไร แต่อันนี้ศาลบอกว่าขัดต่อหลักนิติธรรมขัดกับมาตรา 197 วรรค 4 ซึ่งไปไกลกว่าปกติ”

สุรศักดิ์อธิบายประเด็นนี้อีกว่า

“รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้กับปัจเจกบุคคลโดยทั่วไปเพื่อเอาไว้ยันกับอำนาจรัฐ แต่รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองหรือเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราเรียกสถานะของประชาชนว่าเป็นผู้ทรงสิทธิ ส่วนตัวรัฐมีหน้าที่ต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน คำถามคือกรณีนี้ทำไมการรถไฟแห่งประเทศไทยและกระทรวงคมนาคมจึงกลายเป็นผู้ทรงสิทธิไปได้

“การรถไฟแห่งประเทศไทยและกระทรวงคมนาคมถือเป็นนิติบุคคล แต่เป็นนิติบุคคลมหาชน เป็นหน่วยงานของรัฐรูปแบบหนึ่ง หน่วยงานของรัฐไม่ได้เป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่มีความเป็นรัฐ เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ ต้องรออ่านคำพิพากษาฉบับเต็มว่าหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ทรงสิทธิได้อย่างไร และถูกละเมิดสิทธิได้อย่างไร ในเรื่องอะไร ทั้งที่โดยปกติการเป็นผู้ทรงสิทธิและถูกละเมิดสิทธิเรากำลังพูดถึงปัจเจกบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเอกชนทั่วๆ ไป”

มหากาพย์โฮปเวลล์อย่างย่นย่อ

เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไป ขอสรุปคดีโฮปเวลล์อย่างย่อ-รฟท. และกระทรวงคมนาคมทำสัญญาสัมปทานกับบริษัทโฮปเวลล์ จนกระทั่งประมาณปี 2541 รัฐเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ซึ่งโดยปกติของสัญญาสัมปทานการระงับข้อพิพาทจะใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ และทางอนุญาโตตุลาการก็วินิจฉัยให้ รฟท. ต้องจ่ายชดใช้ค่าดำเนินการต่างๆ ที่โฮปเวลล์ได้ลงทุนไป ข้อโต้แย้งของ รฟท. คือการยื่นคำร้องของโฮปเวลล์ต่ออนุญาโตตุลาการเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นคำร้องที่ขาดอายุความ คำวินิจฉัยนี้จึงใช้ไม่ได้

รฟท. จึงฟ้องศาลปกครองใน 2 ประเด็น หนึ่ง-คําร้องของโฮปเวลล์ที่ยื่นต่ออนุญาโตตุลาการขาดอายุความไปแล้ว อนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย สอง-แล้วจะนับอายุความอย่างไร

“ปกติเวลาจะยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการก็คือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ถ้าไม่กำหนดก็เป็นไปตามระยะเวลาการฟ้องคดีซึ่งคดีที่เกี่ยวข้องกับสัญญาศาลปกครองกำหนดไว้ที่ 5 ปีนับจากรู้เหตุแห่งการที่จะฟ้องคดี โดยปกติก็คือตั้งแต่บอกเลิกสัญญานั่นเอง

“โฮปเวลล์รู้เหตุแห่งการฟ้องคดีจากการเลิกสัญญาประมาณปี 2541 แต่ปัญหาคือมันมีวิธีการนับหลายแบบ ศาลปกครองชั้นต้นเชื่อตาม รฟท. คือนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2541 แต่โฮปเวลล์ยื่นคำร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการปี 2547 ทำให้เป็นการยื่นเกินระยะเวลา แต่ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย ประเด็นเพราะว่ามันเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการมีศาลปกครองในประเทศไทยจึงให้นับอายุความนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองกลางเปิดทำการซึ่งก็คือเดือนมีนาคม 2544 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ ก็เลยทำให้ยังไม่หมดอายุความ”

วิธีการนับอายุความดังกล่าวน่าจะเป็นผลจากมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง นั่นเอง

ทว่า มาตรา 5 และมาตรา 6 ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เขียนไว้ในทำนองว่าบรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองจะใช้บังคับได้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือผ่านความเห็นชอบ รฟท. จึงใช้จุดนี้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพราะเห็นว่ามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 เป็นระเบียบที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนตามมาตรา 5 และมาตรา 6

ความปั่นป่วนจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

สุรศักดิ์อธิบายว่าคดีนี้ รฟท. ยื่นคำร้อง 2 ประเด็นคือมติที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครอง 18/2545 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญและการที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยตามแนวความเห็นของมติที่ประชุมใหญ่ 18/2545 ย่อมทำให้คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อหลังศาลรัฐธรรมนูญตีตกโดยกล่าวว่าเป็นการกระทำทางตุลาการ แต่กลับรับวินิจฉัยในประเด็นแรก

“ประเด็นในทางวิชาการคือมติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง 18/2545 มันน่าจะเป็นการกระทำทางตุลาการรูปแบบหนึ่งที่ตุลาการใช้อำนาจในการประชุมกันเพื่อวินิจฉัยปัญหาหรือคดี ในกรณีนี้ก็คือการนับระยะเวลาเริ่มต้นของการรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ทำไมจึงมีการมองว่ามติที่ประชุมใหญ่นี้กลายเป็นระเบียบจึงต้องรอดูเหตุผลในการวินิจฉัยฉบับเต็ม”

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครอง 18/2545 ขัดรัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาจึงเป็นความปั่นป่วนในระบบกฎหมาย สุรศักดิ์ อธิบายว่า

“พื้นฐานที่สุดศาลปกครองไม่ได้มีมติอันเดียวที่เป็นการวินิจฉัยในเรื่องต่างๆ แต่มีอีกจำนวนมาก และในการพิจารณาคดีของศาลปกครองก็ไม่ได้อ้างอิงกลับไปที่มติของที่ประชุมใหญ่ ในบางกรณีที่ประชุมใหญ่พิจารณาและตกลงแนวทางในการพิจารณาพิพากษาคดี แล้วองค์คณะต่างๆ ก็นำแนวทางนี้ไปใช้ในการพิพากษาคดีของตนว่าจะตีความไปในทิศทางนี้ องค์กรตุลาการก็ตีความไปในทิศทางของคำพิพากษาของศาลในคดีก่อน ๆ และมติที่ประชุมใหญ่

“แล้วไม่ได้มีแค่ศาลปกครอง ศาลฎีกาก็อาจมีมติที่ประชุมใหญ่ลักษณะนี้เหมือนกัน มันก็จะกลับมาที่คำถามว่าระบบของเราให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจก้าวเข้าไปในแดนของการกระทำทางตุลาการแล้วหรือ สำหรับผมตอนนี้ยังเห็นว่าในพระราชบัญญัติประกอบยังจำกัดไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล่วงเข้าไปในลักษณะของการกระทำที่เป็นการกระทำทางตุลาการเพื่อป้องกันปัญหาในการที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจของตัวเองเข้าไปพิจารณาพิพากษาคดีในเรื่องหลากหลาย”

ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตนเข้าไปในแดนของศาลอื่น

สุรศักดิ์ย้ำว่ามติของที่ประชุมใหญ่ของศาลต่างๆ ในการพิจารณาพิพากษาคดี ในทางวิชาการถือเป็นการกระทำทางตุลาการรูปแบบหนึ่ง แม้จะยังไม่มีผลผูกพันคู่ความ แต่จะมีผลเมื่อศาลในคดีต่างๆ นำแนวทางนี้ไปใช้ และเมื่อนำไปใช้ก็มีผลผูกพันคู่ความ ผู้ที่แพ้คดีก็อาจจะใช้แนวทางของ รฟท. ที่ว่ามติของศาลนั้นๆ ขัดกับรัฐธรรมนูญมาใช้โต้แย้งและยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ หมายความว่าจะมีคดีจำนวนมากไหลไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะให้เหตุผลในประเด็นนี้อย่างไร ซึ่งทัศนะของเขา มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองไม่ใช่การออกระเบียบ หากเป็นการวินิจฉัยคดี

“ผมเห็นว่ามันไม่ใช่การออกระเบียบ แต่มันเป็นการวินิจฉัยคดี เป็นการตีความกฎหมาย คำว่าการออกระเบียบกับการตีความกฎหมายมันต่างกัน การออกระเบียบคือการสร้างกฎเกณฑ์ที่ทำให้ใครก็ตามนำไปใช้ก็ได้ ในทางวิชาการจะบอกว่าลักษณะพื้นฐานของระเบียบคือมีความเป็นนามธรรม ต้องรอการนำไปปรับใช้ เช่นนับแต่รู้เหตุแห่งการฟ้องคดี มันมีความเป็นนามธรรมในการกำหนด แต่ในกรณีที่เป็นรูปธรรมคือเอากฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาปรับใช้แล้ว อย่างคำว่านับแต่รู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แล้วเราจะนับอย่างไรอันนี้ถือว่ามีการมาปรับใช้ ศาลก็ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาว่านับเมื่อไหร่ อย่างไร ในมุมของผมนี่จึงเป็นการกระทำทางตุลาการ ไม่ใช่การออกระเบียบ แต่ผมอยากเห็นเหตุผลเหมือนกันว่าทำไมมันถึงกลายเป็นระเบียบเพราะมันยังมีมติที่ประชุมใหญ่อีกหลายเรื่อง ถ้าบอกว่าอันนี้คือระเบียบอันอื่นก็ยากเหมือนกันที่จะหลุดพ้นจากความเป็นระเบียบ

“ในมุมของผม มันเป็นอีกครั้งที่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาเกิดขึ้นว่าลอยพ้นจากตัวบทกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญมีการใช้กฎหมายที่บางครั้งก็ไม่เคร่งครัดซึ่งทำให้เกิดปัญหา ในหลายกรณีกฎหมายมีการจำกัดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้พอสมควร แต่ในหลายครั้งศาลรัฐธรรมนูญมีการตีความหรือขยายบทบาทของตัวเองผ่านการตีความตัวบทกฎหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงขยายอำนาจของตัวเองออกไปในดินแดนอื่นๆ และทำให้เกิดข้อโต้แย้งอยู่เสมอว่าสรุปแล้วการตีความตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญควรจะใช้อย่างไร มีหลักการหรือบรรทัดฐานที่ชัดเจนแน่นอนอยู่หรือไม่ หรือเป็นเรื่องดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ

“ศาลปกครองก็กำลังรอดูเหมือนกันคือคำวินิจฉัยจะเป็นอย่างไร เพราะว่าสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตกคือมติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดที่ว่าด้วยเรื่องนี้ ไม่ได้ตีตกคำพิพากษา เพียงแต่คำพิพากษานั้นไปใช้เหตุผลที่สอดคล้องกับมติที่ประชุมใหญ่ คำถามก็คือว่าแล้วคำพิพากษาที่ตีความแบบสอดคล้องกับมติที่ประชุมใหญ่จะมีปัญหาหรือไม่ มันจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปในแดนตุลาการอื่นโดยอ้อม”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net