Skip to main content
sharethis

เสาร์ที่ผ่านมา แอมเนสตี้จัดเสวนา ‘เมื่อผีเสื้อตัวน้อยขยับปีก: สิทธิเด็ก ความหวัง ความฝัน ผลกระทบเมื่อเด็กต้องการมีส่วนร่วมทางสังคม’ สะท้อนภาพปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดใหญ่ระลอกล่าสุด ที่มีประชาชนหลากหลายช่วงวัยมาเข้าร่วมโดยมีเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นแกนสำคัญ แต่การชุมนุมหลายครั้งที่ก็จบด้วยการถูกสลายชุมนุมโดยรัฐ มีเยาวชนได้รับบาดเจ็บถูกจับกุมดำเนินคดี และเมื่อพวกเขาบางคนกลับไปบ้าน บ้านก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา

(จากซ้ายไปขวาตามลำดับ) มานะ ตรีรยาพิวัฒน์, กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, ธญานี เจริญกุล, จินดา ชัยพล และคุณากร มั่นนทีรัย

27 มี.ค. 2564 ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ Child in Mob ในงานมีเวทีเสวนา ‘เมื่อผีเสื้อตัวน้อยขยับปีก: สิทธิเด็ก ความหวัง ความฝัน ผลกระทบเมื่อเด็กต้องการมีส่วนร่วมทางสังคม’ ที่กล่าวถึงสิทธิของเด็กเมื่อเด็กต้องการมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางสังคมการเมืองและผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อครอบครัวไม่เห็นด้วย โดยในงานมีทั้งตัวแทนผู้ปกครอง คนทำงานประเด็นสิทธิเด็กและเยาวชน และนักวิชาการมาร่วมแลกเปลี่ยน

นับเป็นช่วงที่มีการชุมนุมจากประชาชนหลากหลายกลุ่มเเละหลายครั้งที่มีการสลายการชุมนุมโดยรัฐบาล เเละการชุมนุมเเต่ละครั้งมีจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว ใช้ความรุนเเรง ยึดโทรศัพท์มือถือไม่สามารถติดต่อผู้ปกครองหรือทนายความได้ ซึ่งขัดเเย้งกับหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเเห่งสหประชาชาติระบุไว้ชัดเจนว่า สิทธิในการเเสดงความคิดเห็น เเละเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่นเดียว กับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

เปิดตัวโครงการ 'ในม็อบมีเด็ก' ร่วมสร้างวงล้อมแห่งความปลอดภัยแก่เด็ก-เยาวชนในพื้นที่ชุมนุม

ทำไมเยาวชนถึงออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม

ธญานี เจริญกุล ตัวเเทนเยาวชนจากกลุ่ม “นักเรียนเลว” กล่าวว่า ตนก็เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในสังคมที่ต้องการคุณภาพศึกษาที่สามารถตอบโจทย์ในอนาคต แต่การศึกษาในทุกวันนี้ถูกตีกรอบด้วยสังคมที่ว่าเป็นเด็กห้ามยุ่งเรื่องการเมืองไม่ได้สอนให้รู้จักคิด วิเคราะห์รวมไปถึงยังมีการลิดรอนสิทธิและละเมิดสิทธิทางการศึกษาซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องลงถนนเพื่อเเสดงออกถึงปัญหาเพื่อให้ผู้ใหญ่รับฟัง เเละนำไปพิจารณาพัฒนาอนาคตของพวกเขาให้ดีขึ้นตามคำกล่าวที่ว่า ‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ เเต่ในทางกลับกันรัฐเองกลับเป็นคนผลักอนาคตของชาติให้ไปเจอกับความรุนเเรงบนท้องถนน

ธญานี เจริญกุล

“เขาไม่มีแม้แต่พื้นที่ที่จะแสดงความคิดเห็นให้คนอื่นได้รู้ หรือให้คนอื่นได้มาช่วยกันคิดว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิดยังไง สุดท้ายแล้วเขาก็ต้องลงถนนและมาเจอกับความรุนแรงจากรัฐอีกทีซึ่งเรารู้สึกว่ามันคือการเอาอนาคตของชาติมาย่ำยี เขา(รัฐ)เป็นคนพูดเองว่าเด็กคืออนาคตของชาติ เด็กจะสร้างประเทศให้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สุดท้ายแล้วเขากลับผลักเด็กๆที่เป็นอนาคตของชาติออกมาบนถนนแล้วเขาก็ใช้ความรุนแรงบนถนนนั้นที่มีอนาคตของเขาอยู่”

‘ครอบครัว’ คือพื้นที่ปลอดภัยที่ใกล้ชิดเด็กที่สุด

มานะ ตรีรยาพิวัฒน์ ตัวเเเทนผู้ปกครองของเยาวชนที่ไปเข้าร่วมการชุมนุมกล่าวว่าครอบครัวของเด็กเเต่ละคนถูกเลี้ยงมาไม่เหมือนกันการเเสดงความรัก ความห่วงใยจึงมีลักษณะที่เเตกต่างกันออกไป

มานะ ตรีรยาพิวัฒน์

มานะกล่าวถึงบทบาทของโรงเรียนที่ใช้มาตราการต่างๆ ให้เด็กอยู่ในกรอบ แม้ว่ายุคสมัยจะต่างกันแต่ระบบการศึกษาในยุคของเขาก็ไม่ได้ต่างจากทุกวันนี้เท่าไหร่นัก สิ่งที่เด็กๆ ออกมาเรียกร้องไม่ว่าจะเป็นการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกกลั่นแกล้งรังแก(บูลลี่) แต่ในอดีตพวกเขาถูกสอนให้มีความอดทนอดกลั้นจนอาจทำให้ลืมความรู้สึกที่กดทับแบบนั้นแล้ว

“ปัญหาคือในยุคของเรา เราทนได้เพราะว่าสังคมนั้นไม่ได้มีช่องทางในการให้เราเปล่งเสียงออกไป ไม่มีช่องทางที่ให้เราสื่อสารออกไปกับคนที่มีความเจ็บปวดเหมือนกัน หลายๆคนเลือกที่จะเก็บความเจ็บปวดไว้กับตัวเอง หลายๆคนเลือกที่จะเก็บเอาบาดแผลในวัยเด็กไว้กับตัวเอง แต่วันนี้โลกเปลี่ยนเด็กสามารถสื่อสารถึงความเจ็บปวดด้วยกันเองได้ เด็กสามารถที่จะสะท้อนถึงปัญหาต่างๆออกมาผ่านสื่อสังคม ผ่านช่องทางต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ”

“คนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองเอง เป็นครูบาอาจารย์เอง เปิดพื้นที่ให้เขาได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้มากแค่ไหน เราฟังเขามากน้อยแค่ไหน”

มีหลักการสากลคุ้มครองเด็ก แต่รัฐยังมีข้อจำกัด

คุณากร มั่นนทีรัย ทนายความเครือข่ายเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยประเทศไทยเป็นภาคีด้านสิทธิมนุษยชนกับนานาประเทศ มีทั้งเรื่องอนุสัญญาสิทธิเด็ก กฎหมายคุ้มครองเด็กเเละได้ทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็กเป็นข้อตกลงร่วมกันกับนานาประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็ก 4 ด้าน ได้เเก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา สิทธิในการมีส่วนร่วม ฯลฯ แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับมีปัญหา

คุณากร มั่นนทีรัย

“ในขณะนี้ประเทศไทยถูกรวมอำนาจไว้ด้วยกัน ก็คืออำนาจบริหาร อำนาจตุลาการและนิติบัญญัติ การบริหารประเทศก็เป็นของคนกลุ่มนึง ตุลาการก็คนกลุ่มนึงแต่ทุกอย่างมันเหมือนมาจากก้อนเดียวกัน มันไม่สามารถที่จะบาลานซ์กันได้และไม่สามารถที่จะคัดค้านอำนาจกันได้ จึงเป็นที่มาของว่าอยู่บ้านก็ไม่ปลอดภัย ออกถนนแทนที่ตำรวจจะควบคุมประชาชนกลับกลายเป็นว่าทำร้ายเด็กหรือเยาวชนแทน”

คุณากรได้ยกสถิติคดีเยาวชนในช่วงปีที่ผ่านมาจำนวนคดีของเด็กและเยาวชนมีที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

“จำนวนคดีของเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีมี 23 ราย 26 คดีซึ่งหมายความว่าเด็กบางคนโดนมากกว่าหนึ่งคดี แต่บางครั้งในมุมของผู้ปกครอง คนที่อายุ 20-24 ก็ยังถือว่าเป็นเด็กแต่ในความหมายของกฎหมายคือพวกเขาบรรลุนิติภาวะแล้วต้องไปขึ้นศาลปกติถ้านับทั้งหมดมีประมาณ 400-500 คดีซึ่งในจำนวนนี้ก็จะมีคนเดิมด้วย คนนึงอาจจะโดน10คดีเป็นต้น” คุณากรกล่าว

คุณากรยังกล่าวเพิ่มอีกว่า “แนวโน้มของการจับกุมจะเห็นได้ชัดเลยว่ามีการจับกุมเพิ่มมากขึ้นจากเมื่อก่อนครั้งละ 4-5 คน เพิ่มขึ้นมาเป็นครั้งละ 10-20 คน และในช่วงเดือนมีนาคมมีการจับกุมถึง 38 คนภายในคืนเดียว และแนวโน้มในการใช้กำลังในการจับกุมมีมากขึ้นอย่างเช่นในเคสล่าสุดคือมีการทุบตีจนหัวแตก” คุณากรยังย้ำอีกว่า สิทธิของเด็กเมื่อโดนจับกุม เด็กมีสิทธิ์ที่จะโหรหาผู้ปกครอง บุคคลที่ไว้วางใจ หรือทนายความได้ทันที

ประเด็นนี้ จินดา ชัยพล ผู้จัดการมูลนิธิสายเด็ก กล่าวถึงบทบาทของรัฐไทยที่เข้าร่วมเป็นภาคีพันธกรณีและกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งจะต้องมีบทบาทในการดูแลคุ้มครองเยาวชนที่ออกมาชุมนุม และยังได้ชี้ปัญหาของของรัฐในการจัดการกับการชุมนุมแบบเหมารวมผู้ชุมนุมว่าเป็นผู้ใช้ความรุนแรงว่า

“ไม่ว่าการชุมนุมนั้นอาจจะมีบางคน บางส่วนที่ก่อความเดือดร้อนให้กับคนอื่นบ้าง คุณก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปสรุปว่าผู้ชุมนุมทุกคนที่อยู่ในการชุมนุมนั้นจะต้องรับผิดชอบกับการกระทำนั้น”

จินดาจึงเรียกร้องให้รัฐทำหน้าที่เชิงบวกในการปกป้องคุ้มครองเยาวชนที่อยู่ในการชุมนุม

ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

จินดาได้กล่าวถึงการที่รัฐจะต้องเปิดพื้นที่รับฟังเยาวชนว่า ตามหลักจิตวิทยาการฟังด้วยความตั้งใจ ‘ฟังให้เจอว่าเขาพูดเรื่องอะไร ถามว่ารัฐบาลฟังไหม ฟังเเต่เขาทำเป็นไม่ได้ยิน หรือได้ยินเเต่เขาไปเปลี่ยนระบบไม่ได้เพราะเขารู้สึกว่าระบบมันเป็นเเบบนี้ ดังนั้นเราเองก็เป็นนักจิตวิทยา ฟังว่าปัญหาที่เขาได้รับ เเละรับรู้ให้ได้ว่าเป็นปัญหาของเขาจริง ๆ ทำให้เขาไว้ใจเรา เพื่อที่จะให้เขาเล่าถึงปัญหา เราทำหน้าที่สะท้อนให้เขาได้ยินเสียงของตัวเอง’

จินดา ชัยพล

ธญานีกล่าวว่า ในสังคมตอนนี้ไม่มีที่ไหนเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กเลยแม้กระทั่งบ้านก็ยังไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน กลุ่มของนักเรียนเลวเองก็ได้รับเคสมาหลายเคสแต่ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้มาก ทำได้แค่ช่วยประสานหน่วยงานต่างๆให้และให้กำลังใจ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาของการเปิดเพจ ‘นักเรียนเลว’ มีการทำข้อมูลในเชิงสถิติพบว่ามี 1,000-2,000 เคสที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ

“เราออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสังคมที่ดีกว่า เมื่อมีสังคมที่ดีกว่าทุกคนก็ได้ประโยชน์ร่วมกันแต่พอออกมาเคลื่อนไหวแล้วเจอความรุนแรง เจอสิ่งที่ไม่ดีเราก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากใครเลยนอกจากจะต้อง heal(รักษา) กันเองไปเรื่อยๆ”

“ใจจริงเราอยากให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในตรงนี้ อยากให้ภาครัฐจัดพื้นที่ที่ปลอดภัย อยากให้ภาครัฐมีบริการช่วยตรงนี้ แต่สถานการณ์ตอนนี้คือเรากำลังสู้กับรัฐอยู่ เพราะฉะนั้นรัฐก็ไม่มาสนใจเราอยู่แล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าพวกเรา เด็กๆเยาวชนกำลังวิ่งอยู่ในดงหนามกันไปเรื่อยๆ ช่วยกันเองจับมือกันเองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงปลายทางซึ่งราก็ไม่รู้ว่าตรงนั้นคือที่ไหนแล้วเราจะไปถึงกันเมื่อไหร่”

ธญานี กล่าวว่าเธออยากจะฝากถึงผู้ปกครองและคุณครูว่าอยากให้มีการพูดคุยกันมากขึ้นและมองให้ลึกขึ้นให้เห็นถึงเนื้อความที่อีกฝ่ายตั้งใจที่พูดแล้วหาทางออกร่วมกัน

ธญานียังกล่าวเพิ่มอีกว่า “อยากจะฝากถึงเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน เพื่อนๆ ที่ร่วมต่อสู้ไปกับเราคือในสถานการณ์แบบนี้มันยากมากที่จะรักษาความหวัง รักษาความฝัน รักษาอุดมการณ์ของเรา รักษาตัวตนของเราเอาไว้ได้ แต่เราเชื่อว่าวันนึงมันจะเป็นวันของเราถึงแม้ว่าตอนนี้พวกเราทุกคนจะยังต้องจับมือกันวิ่งฝ่าดงหนามมืดๆ กันต่อไปแต่ว่าสักวันนึงเราก็จะหลุดพ้นจากดงหนาม เราจะได้อยู่ในทุ่งท่ามกลางแสงอาทิตย์ที่สดใส เพียงแค่ขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาความหลงไหลใฝ่ฝันในโลกที่ดีกว่า รักษาความรัก รักษาตัวตนของตัวเองเอาไว้ให้ดี เข้มแข็งแล้ววิ่งไปด้วยกัน แล้วสักวันนึงจะเป็นวันของเรา”

รัฐยังไม่เข้าใจคนรุ่นใหม่

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ากรอบแนวคิดของผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจในสังคมโดยเฉพาะในรัฐบาลชุดปัจจุบันจะล้อกันมาตั้งแต่อดีตคือผู้ใหญ่ที่รักเด็กและเชื่อในวิธีการใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะแก้ปัญหาเพราะมันคือสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาแล้วจบไป แต่ปัญหาของคนรุ่นใหม่มันซับซ้อนมากขึ้น เขาตั้งคำถามมากขึ้น ผู้ปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยรู้จักพวกเขาเลยในแง่ที่ว่าตั้งแต่คนรุ่นเจน Y พวกเขาเติบโตมาเป็นคนคนละแบบ หากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจและไม่เปิดใจที่จะรับฟังเสียงของพวกเขา ในอนาคตเสียงเหล่านี้จะยิ่งดังขึ้นและอาจทำให้ผู้ใหญ่ที่เชื่อว่าตัวเองอยู่มาก่อนไม่สามารถอยู่ในสังคมนี้ต่อไปได้

“ปัญหาก็คือเราไม่รู้จักเขาเลยเเละมันเกิดขึ้นเร็วมากในระยะเพียง 1 ปี ไม่มีใครรู้จักตัวตนของคน gen นี้มาก่อนเราเคยเเต่พูดกันในนิยายหรือในวิทยาศาสตร์ หรือจินตนาการเอาว่า Native Digital คืออะไร เเต่เราไม่เคยรู้เลยว่าปฏิสัมพันธ์ของเขาที่มีต่อเราเป็นอย่างไร เเละเราเชื่อว่าก่อนหน้านี้คนไทยฝันอยากเห็นคนใน gen นี้ เขาจะสร้างสิ่งใหม่ๆ เขาจะท้าทายสังคม เขาจะนำเราไปสู่โลกที่เราฝันเอาไว้ประเทศไทย 4.0 นี้มันจะดีขึ้น เเต่พอเอาเข้าจริงพอพวกเขาเริ่มพูดกลับกลายเป็นว่าผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่รัฐ ก็ใช้วิธีการเเบบเดิมเราจะเห็นความเห็นต่างของเด็กเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เเล้วประเทศจะทนได้กับการเปลี่ยนเเปลงครั้งใหญ่นี้อย่างไร”

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวว่าอยากให้กำลังใจทั้งสองฝ่ายที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เพราะว่านี่คือจุดเริ่มต้นสังคมที่จะนำไปสู่สังคมที่เข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลาย

คนไทยฝันอยากเห็นอนาคตของประเทศ

ธญานี กล่าวว่า อยากเห็นผู้ปกครองเเละลูก หรือครูเเละนักเรียน หันหน้าเข้าหากัน โดยที่ไม่พูดเสียดสีหรือทำร้ายจิตใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อมองปัญหาให้ทะลุของอีกฝ่ายว่าต้องการสื่อสารอะไร

คุณากร กล่าวเสริมอีกว่า การที่เด็กออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นไปได้ไหม ให้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ที่สุด การกระทำที่เป็นคำพูดให้มีความเหมาะสมเเละพยายามให้สร้างสรรค์ที่สุด เพื่อลดความขัดเเย้งระหว่างเด็กเยาวชนกับเจ้าหน้าที่

ในขณะเดียวกัน ดร.มานะ ฝากถึงสื่อมวลชนให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องเหมาะสมที่สุด งดการนำเสนอข่าวที่สื่อที่บิดเบือนจากความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด ซึ่งตนกล่าวว่าสำนักข่าวหลายช่อง เป็นสาเหตุเเห่งการใช้ความรุนเเรง ทำให้คนในสังคมเข้าใจผิด ทำให้ความจริงไม่ถูกเปิดเผย

“หลาย ๆ ครั้งที่สื่อนำเสนอ ไม่ได้ขยายประเด็นที่เด็กพยายามจะสื่อสาร ประเด็กการศึกษา ประเด็นเรื่องเพศ ประเด็นทางสังคม การเมือง หรือใหญ่กว่านั้น สำนักข่าวหลายช่อง เป็นสาเหตุเเห่งการใช้ความรุนเเรง ทำให้คนในสังคมเข้าใจผิด ทำให้ความจริงไม่ถูกเปิดเผย ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย เพื่อเเก้ปัญหา เเต่ถูกหยิบยกมาเพื่อสร้างให้เกิดความขัดเเย้งมากขึ้น เรียกว่าตัวบทบาทของสื่อมวลชนเองต้องปรับตัว”

สำหรับ ทิพากร เส้นเกษ และ นภัสรินทร์ เทศสวัสดิ์วงศ์ ผู้รายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานจาก สาขานิเทศศาสตร์ เอกสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net