Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

John Bellamy Foster เป็นบรรณาธิการของ Monthly Review และศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่ University of Oregon  ผลงานล่าสุดของเขา The Robbery of Nature: Capitalism and the Ecological Rift (ร่วมกับ Brett Clark) และ The Return of Nature: Socialism and Ecology ทั้งสองเล่มตีพิมพ์โดย Monthly Review Press ในปี 2020 และ Intan Suwandi เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่ Illinois State University และเป็นผู้เขียนหนังสือ Value Chains: The New Economic Imperialism (Monthly Review Press, 2019) ผู้เขียนทั้งสองขอขอบคุณ Fred Magdoff สำหรับความเห็นอันล้ำค่า

โควิด-19 ทำให้เราเห็นถึงความเปราะบางทางด้านระบบนิเวศ โรคระบาด และเศรษฐกิจที่เกี่ยวโยงกันและเกิดขึ้นเพราะระบบทุนนิยมอย่างแจ่มชัดโดยไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่โลกเข้าสู่ทศวรรษที่สามของศตวรรษที่ 21 เรากำลังเห็นการอุบัติขึ้นของทุนนิยมหายนะ (catastrophe capitalism) เมื่อวิกฤตเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยมดำเนินมาสู่ระดับโลก

ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 โลกาภิวัตน์แบบทุนนิยมก็ค่อย ๆ ก่อร่างรูปแบบห่วงโซ่สินค้า (commodity chains) ที่เกี่ยวโยงกันหมดและถูกควบคุมโดยบรรษัทข้ามชาติ (multinational corporations) ซึ่งเชื่อมเขตการผลิตหลาย ๆ เขตที่อยู่ในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) เป็นหลักเข้ากับจุดปลายสุดของการบริโภค การเงิน และการสะสมทุนของโลกที่อยู่ในกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ (Global North) เป็นส่วนใหญ่ ห่วงโซ่สินค้าเหล่านี้ประกอบเป็นวงจรด้านวัตถุหลักของทุนในระดับโลก โดยเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เรียกว่าจักรวรรดินิยมยุคปลาย (late imperialism) ซึ่งสอดคล้องกับการถือกำเนิดขึ้นของทุนการเงินผูกขาดที่แผ่ขยายจนเป็นปกติ (generalized monopoly-finance capital)[1] ในระบบดังกล่าว ค่าเช่าทางเศรษฐกิจแบบจักรวรรดินิยม (imperial rents) ที่มาจากการควบคุมการผลิตระดับโลกนั้นได้มาจากทั้งการทำอาร์บิทราจแรงงานระดับโลก (global labor arbitrage—การทำอาร์บิทราจ คือ การทำกำไรโดยอาศัยส่วนต่างของราคาในตลาดสองแห่ง เช่น การซื้อสินค้าในตลาดแห่งหนึ่งที่มีราคาถูกกว่าเพื่อไปปล่อยขายในอีกตลาดหนึ่งที่คิดราคาแพงกว่ากับสินค้าชนิดเดียวกัน—ผู้แปล) หรือกระบวนการที่บรรษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่แกนกลางของระบบทำการขูดรีดแรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่รอบนอก (periphery) อย่างเกินควร และจากการทำอาร์บิทราจที่ดินระดับโลก (global land arbitrage) โดยมีบรรษัทธุรกิจเกษตรกรรมข้ามชาติบังคับเอาที่ดินราคาถูก (และแรงงาน) จากกลุ่มประเทศซีกโลกใต้เพื่อผลิตสินค้าเกษตรส่งออกไปขายในกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือเป็นหลัก[2]

เมื่อกล่าวถึงวงจรที่ซับซ้อนของทุนเหล่านี้ในระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน ผู้บริหารบริษัทใหญ่ ๆ มักจะหมายถึงทั้งห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) และห่วงโซ่มูลค่า (value chains) โดยที่ห่วงโซ่อุปทานหมายถึงการเคลื่อนที่ของผลิตภัณฑ์ในทางกายภาพ และห่วงโซ่มูลค่ามุ่งไปที่ “มูลค่าเพิ่ม” ในแต่ละจุดของการผลิต จากวัตถุดิบไปจนถึงสินค้าขั้นสุดท้าย[3] การเน้นทั้งห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่าคล้ายคลึงไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับแนวทางที่มีลักษณะเป็นวิภาษวิธี (dialectical) ในการวิเคราะห์ห่วงโซ่สินค้าในการผลิตและแลกเปลี่ยนของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ซึ่งครอบคลุมไปถึงมูลค่าใช้สอย (use values) และมูลค่าแลกเปลี่ยน (exchange values) ในหนังสือ Capital เล่มที่ 1 มาร์กซ์เน้นให้เห็นสภาพความเป็นจริงคู่ขนานของมูลค่าใช้สอยเชิงวัตถุ-ธรรมชาติ (natural-material) (“รูปแบบเชิงธรรมชาติ”) และมูลค่าแลกเปลี่ยน (“รูปแบบเชิงมูลค่า”) ที่ปรากฏในทุก ๆ ข้อต่อของ “ห่วงโซ่ของการเปลี่ยนสัณฐานทั่วไป (general chain of metamorphoses) ที่เกิดขึ้นในโลกของสินค้า”[4] แนวทางของมาร์กซ์ได้รับการสานต่อโดยรูดอล์ฟ ฮิลแฟร์ดิง (Rudolf Hilferding) ในหนังสือ Finance Capital ที่เขาเขียนถึง “ข้อต่อในห่วงโซ่ของการแลกเปลี่ยนสินค้า”[5]

ในทศวรรษ 1980 นักทฤษฎีระบบโลก (world-system theorists) อย่างเทอเรนซ์ ฮอปกินส์ (Terence Hopkins) และอิมมานูเอล วอลเลอร์ชไตน์ (Immanuel Wallerstein) นำเสนอแนวคิดห่วงโซ่สินค้าขึ้นใหม่อีกครั้งโดยวางอยู่บนรากฐานเหล่านี้ภายในทฤษฎีแบบมาร์กซ์[6] กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ขาดหายไปในการวิเคราะห์ห่วงโซ่สินค้าแบบมาร์กซ์ช่วงหลัง (และแบบทฤษฎีระบบโลก) ที่มองว่านี่คือปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ/เชิงมูลค่าโดยเฉพาะ ก็คือ แง่มุมเชิงวัตถุ-ระบบนิเวศของมูลค่าใช้สอย มาร์กซ์ผู้ไม่เคยลืมข้อจำกัดเชิงวัตถุ-ธรรมชาติของวงจรทุนได้เน้นย้ำ “ด้านลบ หรือด้านที่ก่อความเสียหาย” ของการสร้างมูลค่า (valorization) แบบทุนนิยม โดยคำนึงถึงสภาวะเชิงธรรมชาติของการผลิตและเมตาบอลึซึมของมนุษย์และธรรมชาติโดยรวม[7] “รอยร้าวที่เยียวยาไม่ได้ในกระบวนการอันเป็นอิสระของเมตาบอลิซึมทางสังคม” (นั่นคือ รอยร้าวเชิงเมตาบอลิซึม หรือ metabolic rift) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับทุนนิยมที่ทำลายล้าง โดยที่ทุนนิยม “ดูดกลืนผืนดิน” และ “บังคับให้ใส่ปุ๋ยขี้นกลงในไร่นาของอังกฤษ” นั้นปรากฏให้เห็นชัดเช่นเดียวกันใน “โรคระบาดที่อุบัติขึ้นเป็นครั้งคราว” อันเกิดจากความขัดแย้งเชิงอินทรีย์ของระบบเดียวกันนี้[8]

กรอบทฤษฎีเช่นนี้ ซึ่งเน้นไปที่รูปแบบคู่ขนานที่ขัดแย้งกันของห่วงโซ่สินค้า ซึ่งครอบคลุมทั้งมูลค่าใช้สอยและมูลค่าแลกเปลี่ยน เป็นพื้นฐานสำหรับการทำความเข้าใจแนวโน้มวิกฤติทางระบบนิเวศ โรคระบาด และเศรษฐกิจของจักรวรรดินิยมยุคปลาย กรอบดังกล่าวทำให้เรารับรู้ได้ว่าวงจรของทุนภายใต้จักรวรรดินิยมยุคปลายนั้นผูกติดกับสาเหตุของการระบาดผ่านธุรกิจการเกษตรอย่างไร และทำให้เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้อย่างไร มากไปกว่านั้น มุมมองเดียวกันนี้ซึ่งเน้นไปที่ห่วงโซ่สินค้ายังทำให้เราเข้าใจได้ว่าการหยุดชะงักของการไหลเวียนของมูลค่าใช้สอยในรูปแบบของสินค้าเชิงวัตถุและการรบกวนที่ตามมาของการไหลเวียนของมูลค่าได้ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงและกินเวลายาวนาน ผลลัพธ์คือการผลักเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่แล้วไปจนสุดขอบ อันจะนำมาซึ่งความเสี่ยงว่าโครงสร้างทางการเงินส่วนบนของระบบจะพังครืน ประการสุดท้าย นอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดยังมีรอยร้าวระดับโลกที่ยิ่งใหญ่กว่ามากอันเกิดขึ้นได้เพราะทุนนิยมหายนะ ซึ่งปรากฏให้เห็นในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการก้าวข้ามขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก (planetary boundaries) มากมาย โดยที่วิกฤติโรคระบาดปัจจุบันเป็นเพียงแค่การสำแดงฤทธิ์อย่างแจ่มชัดครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง

วงจรทุนและวิกฤตระบบนิเวศ-โรคระบาด

น่าสนใจว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีแนวคิดแบบสุขภาพสากล (One-Health-One-World) ต่อการศึกษาสาเหตุของโรคระบาดเกิดขึ้นมา ซึ่งเป็นแนวทางแบบองค์รวมมากกว่าและเป็นการตอบสนองการปรากฏขึ้นของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน เช่น SARS, MERS และ H1N1 ที่ติดต่อสู่มนุษย์จากสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์ไม่ว่าจะสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยง โมเดลสุขภาพหนึ่งเดียวผสมผสานการวิเคราะห์ระบาดวิทยาเข้ากับพื้นฐานนิเวศวิทยา นำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างนักนิเวศวิทยา แพทย์ สัตวแพทย์ และนักวิเคราะห์สาธารณสุขภายใต้แนวทางที่มีขอบเขตระดับโลก อย่างไรก็ตาม กรอบความคิดเชิงนิเวศวิทยาดั้งเดิมที่กระตุ้นให้เกิดแนวคิดสุขภาพสากลซึ่งเป็นตัวอย่างของแนวทางการศึกษาโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนที่ใหม่และครอบคลุมมากกว่านั้นกลับถูกนำมาใช้และบางส่วนก็ถูกปฏิเสธไปโดยองค์การที่มีอำนาจนำอย่าง ธนาคารโลก (World Bank) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention) เมื่อเป็นดังนี้แนวทางแบบสุขภาพหนึ่งเดียวที่รวมหลายภาคส่วนเข้าด้วยกันก็ถูกแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วให้เป็นวิธีการดึงผลประโยชน์ที่หลากหลายเช่น การสาธารณสุข การแพทย์เอกชน สุขภาพสัตว์​ ธุรกิจการเกษตร และบริษัทยายักษ์ใหญ่ เข้าด้วยกันเพื่อเสริมกำลังเพื่อรับมือกับสิ่งที่เรียกว่าโรคระบาดชั่วครั้งชั่วคราว (episodic epidemics) ขณะเดียวกันก็สื่อนัยยะถึงการขึ้นมาของยุทธศาสตร์แบบบรรษัทนิยม (corporatist strategy) อย่างกว้างขวาง ที่ทุนโดยเฉพาะภาคธุรกิจการเกษตรเป็นองค์ประกอบเด่น ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ การเชื่อมโยงระหว่างวิกฤตโรคระบาดกับเศรษฐกิจโลกแบบทุนนิยมถูกลดทอนความสำคัญลงไปอย่างเป็นระบบ ภายใต้สิ่งที่อ้างว่าเป็นโมเดลแบบองค์รวม[9]

จากนั้นจึงเกิดแนวทางการศึกษาสาเหตุของโรคระบาดแบบใหม่ที่ปฏิวัติวงการซึ่งรู้จักกันในชื่อ สุขภาพสากลเชิงโครงสร้าง (Structural One Health) โดยประกอบสร้างผ่านการวิพากษ์แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว แต่มีรากฐานอยู่ที่ขนบคิดแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์อย่างกว้างมากกว่า สำหรับผู้ที่สนับสนุนแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวเชิงโครงสร้างนั้น กุญแจสำคัญคือเพื่อค้นคว้าว่าโรคระบาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจโลกร่วมสมัยเกี่ยวข้องกันอย่างไรกับวงจรของทุนที่กำลังปรับเปลี่ยนสภาวะทางธรรมชาติอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยร็อดดริก วอลเลซ (Rodrick Wallace) หลุยส์ เฟอร์นันโด ชาเวซ (Luis Fernando Chaves) ลูค อาร์. เบิร์กมันน์ (Luke R. Bergmann) ก็อนสตันเซีย เอเรซ (Constância Ayres) เลนนี โฮเกอแวฟ (Lenny Hogerwerf) ริชาร์ด ค็อก (Richard Kock) และโรเบิร์ต จี. วอลเลซ (Robert G. Wallace) ได้ร่วมกันเขียนงานจำนวนหนึ่ง เช่น Clear-Cutting Disease Control: Capital-Led Deforestation, Public Health Austerity, and Vector-Borne Infection และล่าสุด “COVID-19 and Circuits of Capital” (โดยโรเบิร์ต วอลเลซ อเล็กซ์ ลีบมัน [Alex Liebman] หลุยซ์ เฟอร์นันโด ชาเวซ และร็อดดริก วอลเลซ) ใน Monthly Review ฉบับพฤษภาคม 2020 แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวเชิงโครงสร้างได้รับการนิยามว่าเป็น “สาขาใหม่ [ที่] ศึกษาผลกระทบของวงจรทุนระดับโลกและบริบทพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งรวมไปถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเชิงลึก ที่มีต่อเศรษฐศาสตร์การเกษตรระดับภูมิภาคและพลวัตเชื้อโรคข้ามสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง”[10]

แนวทางการศึกษาแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ที่มีแนวคิดสุขภาพสากลเชิงโครงสร้างเป็นตัวแทนนั้นมีข้อแตกต่างจากแนวทางสุขภาพสากลกระแสหลักดังต่อไปนี้ (ประการที่ 1) แนวคิดสุขภาพสากลเชิงโครงสร้างเน้นไปที่ห่วงโซ่สินค้าในฐานะตัวขับเคลื่อนโรคระบาดใหญ่ (ประการที่ 2) ลดทอนความสำคัญของแนวทางทั่วไปของ “ภูมิศาสตร์สัมบูรณ์” (absolute geographies) ทีให้ความสำคัญกับสถานที่ต้นกำเนิดของไวรัสชนิดใหม่แต่มองไม่เห็นช่องทางการแพร่เชื้อในระบบเศรษฐกิจระดับโลก (ประการที่ 3) แนวคิดสุขภาพสากลเชิงโครงสร้างไม่มองว่าโรคระบาดใหญ่เป็นปัญหาชั่วครั้งชั่วคราว หรือมองว่าเป็นเหตุการณ์ “หงส์ดำ” (black swan) ที่เกิดขึ้นอย่างไร้แบบแผน (หงส์ดำ เป็นคำที่บัญญัติโดยนัสซิม นิโคลัส ทาเล็บ [Nassim Nicholas Taleb] ใช้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนแต่ส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่นเดียวกับการค้นพบว่าหงส์ดำมีอยู่จริงซึ่งสะเทือนความเชื่อก่อนหน้านี้ที่ว่าหงส์มีแต่สีขาว—ผู้แปล) แต่มองว่ามันสะท้อนวิกฤตเชิงโครงสร้างโดยทั่วไปของทุน ในความหมายเดียวกับที่อิสต์วาน เมซารอส (István Mészáros) ให้ไว้ในหนังสือ Beyond Capital (ประการที่ 4) แนวคิดสุขภาพสากลเชิงโครงสร้างรับเอาแนวทางชีววิทยาเชิงวิภาษวิธี (dialectical biology) ที่เกี่ยวข้องกับนักชีววิทยาฮาร์วาร์ด ริชาร์ด เลวินส์ (Richard Levins) และริชาร์ด เลอวอนทิน (Richard Lewontin) ในหนังสือ The Dialectical Biologist และ (ประการที่ 5) แนวคิดสุขภาพสากลเชิงโครงสร้างยืนยันการประกอบสร้างสังคมใหม่อย่างถอนราก ในลักษณะที่เกื้อหนุน “เมตาบอลิซึมระดับโลก” (planetary metabolism) อย่างยั่งยืน[11] ดังสาระสำคัญในหนังสือ Big Farms Make Big Flu และงานเขียนชิ้นอื่น ๆ โรเบิร์ต จี. (ร็อบ) วอลเลซ ใช้แนวคิดของมาร์กซ์เรื่องห่วงโซ่สินค้าและรอยร้าวเชิงเมตาบอลิซึม ในท่วงทำนองเดียวกับบทวิพากษ์นโยบายรัดเข็มขัดและกระบวนการแปรรูปเป็นของเอกชน โดยวางอยู่บนแนวคิดเรื่องปฏิทรรศน์ลอเดอร์เดล (Lauderdale Paradox—ซึ่งกล่าวว่าความมั่งคั่งของปัจเจกจะเพิ่มพูนขึ้นโดยการทำลายความมั่งคั่งสาธารณะ) จะเห็นได้ว่านักคิดในขนบคิดเชิงวิพากษ์แบบนี้อาศัยแนวทางศึกษาการทำลายระบบนิเวศและสาเหตุของโรคระบาดแบบวิภาษวิธี[12]

แน่นอนว่าระบาดวิทยาเชิงวัตถุนิยมประวัติศาสตร์แบบใหม่นี้ไม่ได้ผุดขึ้นมาจากอากาศ แต่ถูกประกอบสร้างบนฐานขนบการต่อสู้แบบสังคมนิยมและการวิเคราะห์โรคระบาดเชิงวิพากษ์ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งรวมถึงงานสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่าง (1) Conditions of the Working Class in England ของฟรีดริช เอ็งเงิลส์ (Friedrich Engels) ซึ่งสำรวจพื้นฐานทางชนชั้นของโรคติดต่อ (2) การอภิปรายเกี่ยวกับโรคระบาดและสุขสภาวะโดยทั่วไปของมาร์กซ์เองใน Capital (3) การศึกษาที่มาของโรคที่เกิดจากมนุษย์และพื้นฐานของการเกิดโรคในเกษตรกรรมแบบทุนนิยม ตลาด และการเงิน ใน Kingdom of Man ของนักสัตววิทยาชาวอังกฤษ อี. เรย์ แลงเคสเตอร์ (E. Ray Lankester—ลูกศิษย์ของชาร์ลส์ ดาร์วิน [Charles Darwin] กับโทมัส ฮักซ์ลีย์ [Thomas Huxley] และเพื่อนของมาร์กซ์) และ (4) บทความ “Is Capitalism a Disease?” ของเลวินส์[13]

สิ่งที่สำคัญอย่างมากในระบาดวิทยาเชิงวัตถุนิยมประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวเชิงโครงสร้าง คือ การรับรู้ถึงบทบาทของธุรกิจการเกษตรระดับโลกอย่างกระจ่างแจ้งและผสมผสานบทบาทดังกล่าวเข้ากับการวิจัยเกี่ยวกับทุกแง่มุมของสาเหตุของโรคอย่างละเอียดโดยมุ่งเน้นไปที่โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนที่อุบัติขึ้นใหม่ ดังที่ร็อบ วอลเลซเขียนใน Big Farms Make Big Flu ว่าโรคดังกล่าวเป็น “ผลเสียเชิงชีวภาพที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจเพราะความพยายามบิดการพัฒนาเจริญเติบโตของสัตว์และระบบนิเวศให้เป็นประโยชน์ด้านกำไรของบรรษัทข้ามชาติ” จนทำให้เกิดเชื้อก่อโรคร้ายแรงอุบัติใหม่[14] การทำฟาร์มนอกประเทศที่มีการเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกัน (ซึ่งจะทำให้โรคระบาดสู่กันได้ง่ายขึ้น) ซึ่งรวมไปถึงไร่เลี้ยงหมูและฟาร์มสัตว์ปีกขนาดใหญ่ ควบคู่กับการตัดไม้ทำลายป่าอย่างรวดเร็ว และการผสมสัตว์ปีกป่าหรือสัตว์ป่าอื่น ๆ กับการทำอุตสาหกรรมปศุสัตว์อย่างไร้แบบแผน (อาจรวมไปถึงการทำตลาดสด) ได้ก่อให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรคร้ายแรงใหม่ ๆ อย่าง SARS, MERS, อีโบลา, H1N1, H5N1 และตอนนี้ก็คือ SARS-CoV-2 (ชื่อไวรัสของโรค COVID-19 - ผู้แปล) มีคนเสียชีวิตจาก H1N1 มากกว่าห้าแสนรายทั่วโลก ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจาก SARS-CoV-2 น่าจะสูงกว่านั้นมาก[15]

ร็อบ วอลเลซเขียนว่า “ธุรกิจการเกษตรกำลังย้ายบริษัทไปในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้เพื่อประโยชน์ด้านแรงงานราคาถูกและที่ดินราคาถูก” และ “กำลังขยายสายการผลิตทั้งหมดไปทั่วทั้งโลก”[16] นก หมู และคนต่างต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันจนทำให้เกิดโรคใหม่ วอลเลซกล่าวว่า “ไข้หวัดใหญ่ปัจจุบันเกิดขึ้นมาได้เพราะเครือข่ายปศุสัตว์และการแลกเปลี่ยนค้าขายของบรรษัทใหญ่ ไม่ว่าสายพันธุ์นั้น ๆ จะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม เมื่อมีการย้ายฝูงสัตว์ไปมาข้ามภูมิภาค—จากที่ระยะทางไกลเชิงพื้นที่กลายเป็นความสะดวกรวดเร็วทันเวลา—ไข้หวัดใหญ่หลายสายพันธุ์ก็ถูกนำเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีประชากรสัตว์ที่ไวต่อการติดเชื้อ”[17] จะเห็นได้ว่ากระบวนการเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่มีโอกาสสูงกว่าที่จะกลายเป็นที่เพาะเลี้ยงโรคติดเชื้อร้ายแรงจากสัตว์สู่คนเหล่านี้ การวิเคราะห์ห่วงโซ่มูลค่าถูกนำมาใช้เพื่อแกะรอยที่มาของไข้หวัดใหญ่ใหม่อย่าง H5N1 ตามห่วงโซ่การผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก[18] เราอาจเห็นได้ว่าไข้หวัดใหญ่ในภาคใต้ของจีนเกิดขึ้นภายใต้บริบทของ “‘ความเป็นปัจจุบันเชิงประวัติศาสตร์’ (historical present) ที่มีส่วนประกอบร้ายแรงหลายส่วนเกิดขึ้นมาจากการผสมปนเปของระบบนิเวศเกษตรหลายระบบที่มาจากช่วงเวลาแตกต่างกันทั้งที่เป็นผลจากปัจจัยในอดีตและด้วยความบังเอิญ ในกรณีนี้จะเห็นการพัฒนาจากปัจจัยโบราณ (ข้าว) ปัจจัยช่วงต้นสมัยใหม่ (เป็ดเลี้ยงกึ่งปล่อย) และปัจจัยปัจจุบัน (การเลี้ยงสัตว์ปีกแบบอัดแน่น)” การวิเคราะห์แบบนี้ยังถูกนำไปขยายความโดยนักภูมิศาสตร์ที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนราก เช่น เบิร์กมันน์ ผู้ทำงานเกี่ยวกับ “การหลอมรวมชีววิทยากับเศรษฐกิจในระดับที่ไปไกลกว่าห่วงโซ่สินค้าสายเดียว โดยเข้าไปในระดับเดียวกับเศรษฐกิจโลก”[19]

ห่วงโซ่สินค้าระดับโลกที่เชื่อมโยงกันของธุรกิจการเกษตร ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนชนิดใหม่ ๆ ทำให้การแพร่เชื้อก่อโรคเหล่านี้จากที่หนึ่งสู่อีกที่หนึ่งเป็นไปได้อย่างรวดเร็วผ่านห่วงโซ่การติดต่อของมนุษย์และกระบวนการโลกาภิวัตน์ โดยที่มนุษย์เป็นตัวนำเชื้อโรคเคลื่อนที่จากที่หนึ่งของโลกไปสู่อีกที่หนึ่งในระยะเวลาไม่กี่วันหรืออาจจะไม่กี่ชั่วโมง วอลเลซและคณะเขียนในบทความ “COVID-19 and Circuits of Capital” ว่า “เชื้อก่อโรคบางชนิดอาจจะเกิดขึ้นจากศูนย์กลางการผลิตเสียด้วยซ้ำ แต่เชื้อหลายชนิด รวมถึงโควิด-19 มีที่มาจากชายขอบของกระบวนการผลิตแบบทุน แน่นอน อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ของเชื้อก่อโรคในมนุษย์ชนิดใหม่เกิดขึ้นมาโดยข้ามจากสัตว์ป่าสู่ชุมชนมนุษย์ในท้องที่หนึ่ง ๆ (ก่อนที่เชื้อที่แข็งแรงกว่าจะแพร่ไปทั่วโลก)” วอลเลซและคณะสรุปสภาวะการแพร่เชื้อเหล่านี้ได้ว่า

“เงื่อนไขจำเป็นเชิงปฏิบัติการก็คือ ที่มาของโควิด-19 และเชื้อก่อโรคอื่น ๆ ที่คล้ายกันจะต้องไม่พบแค่ในวัตถุของสิ่งก่อโรคและการดำเนินโรค (clinical course) ของสิ่งก่อโรคนั้น ๆ เท่านั้น แต่ต้องพบในอาณาบริเวณของความสัมพันธ์เชิงระบบนิเวศที่ทุนและปัจจัยเชิงโครงสร้างนำมาใช้เพื่อหาผลประโยชน์ เชื้อก่อโรค (pathogen) หลากหลายชนิดซึ่งแสดงให้เห็นการจำแนกชั้นสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย (taxa) ต้นตอแพร่เชื้อ (source hosts) วิธีการแพร่เชื้อ (modes of transmission) การดำเนินโรค และผลลัพธ์จากการระบาดแบบต่าง ๆ (epidemiological outcomes) ต่างก็มีลักษณะเด่นที่ทำให้ต้องวิ่งวุ่น ตื่นตระหนกหาวิธีแก้ไขทุกครั้งที่เกิดการระบาด และเชื้อก่อโรคแต่ละเชื้อก็มีเส้นทางและอยู่ในส่วนที่ต่างกันแม้จะอยู่ในวงจรการใช้ที่ดินและการสะสมมูลค่าเดียวกัน”[20]

การปรับโครงสร้างการผลิตแบบจักรวรรดินิยมในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และช่วงต้นศตวรรษที่ 21—หรือที่เรารู้จักกันในนามของโลกาภิวัตน์ (globalization) —เป็นผลหลัก ๆ จากการทำอาร์บิทราจแรงงานระดับโลกและการขูดรีดผู้ใช้แรงงานอย่างเกินควร (และอย่างหนักหน่วง) ในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (รวมถึงการทำให้สิ่งแวดล้อมในท้องที่ปนเปื้อนโดยจงใจ) เพื่อผลประโยชน์ของศูนย์กลางทุนและการเงินโลกเป็นหลัก ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นผลส่วนหนึ่งจากอาร์บิทราจที่ดินระดับโลกที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายที่โดยบรรษัทธุรกิจเกษตรข้ามชาติ หากอ้างถึงอีริค โฮลต์-จิเมเนซ (Eric Holt-Giménez) ในหนังสือ A Foodie’s Guide to Capitalism กล่าวว่า “ราคาที่ดิน” โดยทั่วไปในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ “ต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเช่าที่ดิน (ซึ่งมีค่าเท่ากับผลผลิตที่ได้จากที่ดิน) จนทำให้นักลงทุนได้กำไรเป็นกอบเป็นกำโดยอาศัยความต่าง (อาร์บิทราจ) ระหว่างราคาที่ถูกกับค่าเช่าที่แพง ผลประโยชน์ที่ได้จากการเพาะปลูกจริง ๆ กลายเป็นเรื่องรอง การเจรจาเป็นเรื่องหลัก ... โอกาสในการทำอาร์บิทราจที่ดินเกิดขึ้นได้จากการนำที่ดินใหม่—ที่มีค่าเช่าที่น่าดึงดูด—มาสู่ตลาดที่ดินโลกที่ค่าเช่าสามารถทำกำไรได้จริง”[21] แทบทั้งหมดนี้ถูกป้อนด้วยสิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติปศุสัตว์ (Livestock Revolution) ซึ่งทำให้ปศุสัตว์กลายเป็นสินค้าที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยวางอยู่บนพื้นฐานของไร่เลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่และการเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวในทางพันธุกรรม[22]

สภาวะเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาหลายแห่งในบริบทที่ถูกเรียกให้รื่นหูว่าเป็น “การปรับโครงสร้างใหม่เชิงที่ดิน (territorial restructuring)” ซึ่งจำเป็นต้องขับไล่เกษตรกรที่ทำเกษตรยังชีพและผู้ผลิตรายย่อยออกจากที่ดินตามคำสั่งของบรรษัทข้ามชาติที่ส่วนมากเป็นธุรกิจการเกษตร สภาวะเช่นนี้ตามมาด้วยการตัดไม้ทำลายป่าอย่างรวดเร็วและการทำลายระบบนิเวศ สิ่งเหล่านี้อาจถูกเรียกว่าเป็นการแย่งยึดที่ดิน (land grabs) แห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งถูกเร่งความเร็วด้วยราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของอาหารพื้นฐานในปี 2008 และอีกครั้งในปี 2011 (สองหมุดหมายจากวิกฤตการเงินในปี 2008 และเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะในปี 2011 ซึ่งจะถูกกล่าวถึงต่อไปในบทความ - ผู้แปล) ซึ่งมาควบคู่กับสถานการณ์ที่กองทุนเอกชนที่แสวงหาสินทรัพย์มีตัวตน (tangible assets) ภายใต้ความไม่แน่นอนของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ปี 2007-09 ผลลัพธ์ทั้งหลายเหล่านี้คือ การอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ซึ่งคนต้องถูกไล่ออกจากที่ดินในกระบวนการสลายความเป็นชาวนา (depeasantization) ที่เกิดขึ้นระดับโลก ซึ่งปรับเปลี่ยนระบบนิเวศเกษตรทั้งหมดของหลายภูมิภาค แทนที่เกษตรกรรมดั้งเดิมด้วยการเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวและผลักประชากรไปสู่สลัมในเมือง[23]

ร็อบ วอลเลซและคณะตั้งข้อสังเกตว่า นักประวัติศาสตร์และนักทฤษฎีเมืองสายวิพากษ์ ไมค์ เดวิส (Mike Davis) และคนอื่น ๆ “ได้ระบุว่า ภูมิประเทศที่สร้างความเป็นเมืองขึ้นใหม่เหล่านี้ทำงานเป็นทั้งตลาดท้องถิ่นและศูนย์กลางระดับภูมิภาคเพื่อเป็นทางผ่านของสินค้าเกษตรกรรมที่จะกระจายไปทั่วโลก ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ พลวัตเชื้อโรคในป่า อันเป็น ซึ่งเป็นแหล่งที่มาดั้งเดิมของเชื้อก่อโรค ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในเขตห่างไกลความเจริญเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว การระบาดเปลี่ยนไปเป็นระดับภูมิภาคที่ส่งผลกระทบทั่วกัน ดังเห็นได้ว่าจู่ ๆ โรค SARS ก็สามารถกระจายสู่มนุษย์ในเมืองใหญ่ได้เพียงไม่กี่วันหลังจากออกจากถ้ำค้างคาว[24]

การหยุดชะงักห่วงโซ่สินค้าและปรากฏการณ์แส้ม้า (Bullwhip Effect) ระดับโลก

เชื้อก่อโรคใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่ตั้งใจจากธุรกิจการเกษตรแล้วไม่ใช่มูลค่าใช้สอยเชิงวัตถุ-ธรรมชาติ (natural-material) ในตัวมันเอง แต่เป็นเศษตกค้างอันเป็นพิษของระบบการผลิตแบบทุนนิยม ซึ่งย้อนกลับไปได้ถึงห่วงโซ่สินค้าธุรกิจการเกษตรอันเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอาหารแบบโลกาภิวัตน์[25] อย่างไรก็ตาม แรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างของหายนะทางระบบนิเวศและโรคระบาดซึ่งเกิดขึ้นเพราะห่วงโซ่สินค้าโลกและการกระทำของธุรกิจการเกษตรในปัจจุบันอันนำมาสู่การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ได้เข้าไปทำให้ระบบการผลิตโลกหยุดชะงักทั้งระบบ เสมือนว่าเป็น “การแก้แค้น” ของธรรมชาติที่เอ็งเงิลส์และแลงเคสเตอร์เคยวาดภาพไว้[26] ผลจากการล็อคดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งทำให้การผลิตในภาคส่วนสำคัญ ๆ ของโลกต้องปิดตัวลง ได้สั่นคลอนห่วงโซ่อุปทาน/มูลค่าในระดับนานาชาติ สิ่งนี้ก่อให้เกิด “ปรากฏการณ์แส้ม้า” (bullwhip effect) ที่สั่นสะเทือนทั้งขั้วอุปสงค์และอุปทานของห่วงโซ่สินค้าโลก[27] มากไปกว่านั้น การระบาดของโควิด-19 ยังเกิดขึ้นในบริบทของระบอบทุนการเงินผูกขาดแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) อันนำมาสู่มาตรการรัดเข็มขัดทั่วโลก ซึ่งใช้กับการสาธารณสุขด้วย การหันมาใช้การผลิตแบบ “ทันเวลาพอดี” (just-in-time production) และการแข่งขันบนฐานของเวลาในการควบคุมห่วงโซ่สินค้าโลก ได้ทำให้บรรษัทและหน่วยงานอย่างโรงพยาบาลไม่เหลือสินค้าคงคลังมากนัก ซึ่งเป็นปัญหาที่ถูกซ้ำเติมด้วยการกักตุนสินค้าในหมู่ประชาชน[28] ผลที่ตามมาคือ ข้อต่อของเศรษฐกิจโลกทั้งหมดเคลื่อนหักอย่างน่าเหลือเชื่อ

ห่วงโซ่สินค้าโลกในปัจจุบัน—หรือสิ่งที่เราเรียกว่า ห่วงโซ่แรงงาน-มูลค่า (labor-value chains)—ถูกจัดวางเพื่อขูดรีดเอาต้นทุนแรงงานต่อหน่วย (unit labor costs) ให้ต่ำเรี่ยดินเป็นหลัก (โดยพิจารณาจากทั้งค่าจ้างและผลิตภาพ) ทั้งในประเทศยากจนในซีกโลกใต้ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งการผลิตอุตสาหกรรมหลักของโลก ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยในอินเดียในปี 2014 คือ 37 เปอร์เซ็นต์เทียบกับระดับของสหรัฐอเมริกา ขณะที่ของจีนและเม็กซิโกคือ 43 และ 43 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ อินโดนีเซียมีต้นทุนแรงงานต่อหน่วยที่สูงกว่าคือ 62 เปอร์เซ็นต์เทียบกับระดับของสหรัฐอเมริกา[29] ทั้งหมดนี้ส่วนมากเป็นเพราะค่าจ้างที่ถูกมากในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ ซึ่งนับเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของระดับค่าจ้างในกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ ขณะเดียวกัน การผลิตแบบว่าจ้างบริษัทภายนอกตามความต้องการของบรรษัทข้ามชาติ ประกอบกับเทคโนโลยีขั้นสูงที่นำมาใช้กับแพลตฟอร์มการส่งออกใหม่ ๆ ในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ ได้สร้างปริมาณผลิตภาพที่สูงพอเทียบได้กับหลาย ๆ พื้นที่ของกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ ผลลัพธ์คือ ระบบการขูดรีดระดับโลกที่ผสมผสานเชื่อมโยงกัน โดยที่ความแตกต่างด้านค่าจ้างระหว่างกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้สูงมากกว่าความแตกต่างในด้านผลิตภาพ นำไปสู่ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยที่ต่ำมากในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ และสร้างอัตรากำไรขั้นต้น (gross profit margins—หรือส่วนเกินทางเศรษฐกิจ [economic surplus]) อย่างมหาศาลจากราคาส่งออกของสินค้าจากประเทศยากจน

ส่วนเกินทางเศรษฐกิจมหาศาลที่สร้างขึ้นในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ถูกนำมาคิดรวมในผลิตภัณฑ์มวลรวม (gross domestic product) ของประเทศในซีกโลกเหนือในฐานะมูลค่าเพิ่ม (value added) อย่างไรก็ตาม จะถูกต้องกว่าหากจะกล่าวว่าสิ่งนี้เป็นมูลค่าที่ยึดมา (value captured) จากกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ ระบบการขูดรีดข้ามชาติแบบใหม่ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการโลกาภิวัตน์ของการผลิตที่ประกอบขึ้นเป็นโครงสร้างที่หยั่งรากลึกของจักรวรรดินิยมยุคปลายในศตวรรษที่ 21 มันคือระบบของการขูดรีด/แย่งยึดที่มีพื้นฐานอยู่บนการทำอาร์บิทราจแรงงานระดับโลก ส่งผลให้เกิดการระบายมูลค่าจากประเทศยากจนไปสู่ประเทศร่ำรวยอย่างขนานใหญ่

และทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจากการปฏิวัติการคมนาคมและการสื่อสาร ต้นทุนขนส่งถูกลงมากเมื่อตู้คอนเทนเนอร์แพร่หลาย เทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น ใยแก้วนำแสง สายเคเบิล โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์ ระบบคลาวด์ และการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ได้พลิกโฉมการเชื่อมต่อของโลก การเดินทางทางอากาศที่ทำให้การเดินทางแบบเร่งด่วนมีราคาถูกลงเติบโตโดยเฉลี่ย 6.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีระหว่างปี 2010 ถึง 2019[30] การส่งออกของสหรัฐอเมริกาประมาณหนึ่งในสามเป็นการส่งออกสินค้าขั้นกลางที่จะนำไปผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่อื่น เช่น ฝ้าย เหล็ก เครื่องยนต์ และสารกึ่งตัวนำ (semiconductors)[31] เป็นเพราะสภาวะที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเหล่านี้ ซึ่งสร้างโครงสร้างการสะสมทุนที่ผสมผสาน เป็นลำดับชั้น และข้ามชาติมากขึ้น ที่ทำให้เกิดโครงสร้างห่วงโซ่สินค้าโลกในปัจจุบัน ผลลัพธ์คือการเชื่อมต่อทุกส่วนของโลกภายใต้ระบบการกดขี่ระดับโลก และเป็นการเชื่อมต่อที่ปัจจุบันเริ่มส่งสัญญาณความคลอนแคลนภายใต้ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกของการระบาดของโควิด-19

การระบาดของโควิด-19 ที่ต้องมีการล็อคดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคมจัดว่าเป็น “วิกฤติครั้งแรกของห่วงโซ่อุปทานโลก”[32] ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียในมูลค่าทางเศรษฐกิจ การว่างงานขนานใหญ่และการว่างงานแฝง (underemployment) บริษัทล้มละลาย การขูดรีดที่เพิ่มมากขึ้น และภาวะขาดอาหารและขาดแคลนที่แพร่เป็นวงกว้าง กุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจความซับซ้อนและความยุ่งเหยิงของวิกฤตปัจจุบันก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีซีอีโอบรรษัทข้ามชาติคนไหนมีแผนที่ที่สมบูรณ์ครอบคลุมห่วงโซ่สินค้าทั้งหมดของบริษัท[33] โดยปกติ ศูนย์การเงินและเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อในบริษัทจะรู้จักซัพพลายเออร์ลำดับที่หนึ่ง (first-tier suppliers) แต่จะไม่รู้ว่าซัพพลายเออร์ลำดับที่สอง (กล่าวคือ ซัพพลายเออร์ให้กับซัพพลายเออร์อีกทีหนึ่ง) เป็นใคร ยิ่งไม่ต้องพูดถึงซัพพลายเออร์ลำดับที่สามหรือแม้แต่สี่ ดังที่เอลิซาเบธ บรอว์ (Elisabeth Braw) เขียนใน Foreign Policy ว่า “ไมเคิล เอสซิก (Michael Essig) ศาสตราจารย์ด้านการจัดการวัสดุจากมหาวิทยาลัยบุนเดสแวร์ (Bundeswehr University) เมืองมิวนิก ได้คำนวณไว้ว่า บรรษัทข้ามชาติอย่างโฟค์กสวาเกนมีซัพพลายเออร์อยู่ 5,000 ราย (ที่เรียกว่าซัพพลายเออร์ลำดับที่หนึ่ง) แต่ละรายมีซัพพลายเออร์ลำดับที่สองอยู่เฉลี่ย 250 ราย นั่นหมายความว่าบรรษัทดังกล่าวมีซัพพลายเออร์อยู่จริง ๆ 1.25 ล้านราย โดยที่ไม่รู้เลยว่าส่วนใหญ่เป็นใคร” มากไปกว่านั้นคือ ยังไม่ได้นำซัพพลายเออร์ลำดับที่สามมาคำนวณด้วย เมื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เริ่มระบาดในอู่ฮั่น ประเทศจีน เพิ่งมีการค้นพบว่า บริษัท 51,000 บริษัททั่วโลกมีซัพพลายเออร์โดยตรงอย่างน้อยหนึ่งรายในอู่ฮั่น ขณะที่บริษัทห้าล้านบริษัทมีซัพพลายเออร์ลำดับที่สองอย่างน้อยหนึ่งรายที่นั่น เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2020 เมื่อการหยุดชะงักห่วงโซ่อุปทานยังคงมีศูนย์กลางอยู่ที่จีน สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ซึ่งอ้างอิงรายงานของดันแอนด์แบรดสตรีท (Dun & Bradstreet) ประกาศว่า มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของบรรษัทข้ามชาติชั้นนำ 1,000 อันดับมีซัพพลายเออร์ลำดับที่หนึ่งและสองที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส[34]

ผลกระทบของ SARS-CoV-2 กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนสำหรับบริษัทที่ทำให้ต้องร่างแผนที่ห่วงโซ่สินค้าทั้งหมด แต่มันซับซ้อนเป็นอย่างมาก เมื่อครั้งเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ มีการค้นพบว่าพื้นที่ฟุกุชิมะผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สำคัญ 60 เปอร์เซ็นต์ของโลก ผลิตสารเคมีแบตเตอร์รี่ลิเทียมจำนวนมาก และผลิตแผ่นซิลิกอนขนาด 300 มล. เป็นสัดส่วน 22 เปอร์เซ็นต์ของโลก ทั้งหมดนี้สำคัญต่อการผลิตอุตสาหกรรม ในขณะนั้นมีความพยายามโดยบริษัทการเงินผูกขาดบางส่วนในการทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทาน อ้างอิงจาก Harvard Business Review ผู้บริหารบริษัทผลิตสารกึ่งตัวนำสัญชาติญี่ปุ่นบอกกับเราว่า จะต้องใช้ทีมงาน 100 คนและเวลามากกว่าหนึ่งปีในการทำแผนที่เครือข่ายอุปทานของบริษัทในระดับที่ลึกลงไปในลำดับขั้นย่อย ๆ หลังจากแผ่นดินไหวและสึนามิ [และภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ] เมื่อปี 2011”[35]

เมื่อต้องเผชิญกับห่วงโซ่สินค้าที่มองไม่เห็นข้อต่อหลายข้อ และขณะที่ข้อต่อหลายส่วนก็กำลังแตกหัก บริษัทต่าง ๆ ต้องเผชิญกับการรบกวนและความไม่แน่นอนในสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่า “ห่วงโซ่ของการเปลี่ยนสัณฐาน” (chain of metamorphoses) ในกระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย และการบริโภคผลิตภัณฑ์เชิงวัตถุ ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของอุปสงค์อุปทานโดยรวม การระบาดของไวรัสโคโรนาและผลกระทบของมันมีขนาดใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยต้นทุนทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องเสียไปก็ยังคงเพิ่มขึ้น ตอนปลายเดือนมีนาคม 2020 คนประมาณสามพันล้านคนบนโลกต้องอยู่ในภาวะล็อคดาวน์หรือต้องเว้นระยะห่างทางสังคม[36] บริษัทส่วนใหญ่ไม่มีแผนฉุกเฉินที่จะจัดการกับการแตกหักหลายส่วนในห่วงโซ่อุปทาน[37] ความใหญ่ของปัญหาปรากฏชัดในช่วงต้นปี 2020 เมื่อมีการประกาศเหตุสุดวิสัย (force majeure) หลายหมื่นครั้ง เริ่มจากจีนและขยายไปทั่วโลก ซึ่งซัพพลายเออร์หลายรายระบุว่าไม่สามารถทำตามสัญญาได้เนื่องจากเหตุการณ์ไม่ปกติภายนอก และตามมาด้วย “การแล่นเรือเปล่า” สำหรับเที่ยวเรือขนส่งสินค้าที่ถูกยกเลิกโดยที่สินค้าตกค้างอันเป็นผลจากความล้มเหลวในส่วนของอุปสงค์หรืออุปทาน[38] ช่วงต้นเดือนเมษายน สมาพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Retail Federation) ระบุว่า เดือนมีนาคม 2020 การขนส่งทางเรือสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตมีสถิติต่ำสุดในรอบห้าปี คาดการณ์ว่าการขนส่งจะลดต่ำลงอีกอย่างรวดเร็วจากจุดนั้น[39] เที่ยวบินสายการบินโดยสารทั่วโลกลดลงประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ จนทำให้สายการบินหลัก ๆ ของสหรัฐอเมริกาต้องรื้อ “ท้องเครื่องและห้องโดยสารของเครื่องบิน [เพื่อปรับเปลี่ยน] สำหรับเที่ยวบินขนส่ง โดยมักจะเอาที่นั่งออก และใช้รางที่นั่งเปล่าเพื่อยึดสินค้า”[40]

จากการคาดการณ์ในช่วงต้นเดือนเมษายนขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization) ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 จะทำให้การค้าโลกต่อปีลดลง 13 เปอร์เซ็นต์สำหรับปี 2020 หากคาดการณ์ในแง่บวก และ 32 เปอร์เซ็นต์หากคาดการณ์ในแง่ลบ สำหรับกรณีหลัง ในหนึ่งปี การค้าโลกจะทรุดลงเทียบเท่ากับที่ทรุดลงในระยะเวลาสามปีในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในทศวรรษ 1930[41]

เราจะเห็นผลกระทบอย่างใหญ่หลวงจากสภาวะห่วงโซ่อุปทานระดับโลกหยุดชะงักในช่วงการระบาดได้ชัดเจนในด้านเครื่องมือทางการแพทย์ บริษัทพรีเมียร์ (Premier) หนึ่งในองค์การแนวหน้าด้านการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ทั่วไปสำหรับโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาชี้ว่า ปกติแล้วบริษัทจะรับจัดซื้อหน้ากาก N95 แก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขและองค์การสมาชิกจำนวนกว่า 24 ล้านชิ้นต่อปี แต่แค่เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ปี 2020 องค์การสมาชิกใช้หน้ากากไปกว่า 56 ล้านชิ้น พรีเมียร์ได้สั่งซื้อหน้ากากอนามัย 110 ถึง 150 ล้านชิ้นในปลายเดือนมีนาคม ขณะที่จากการสำรวจองค์การสมาชิกอย่างโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลพบว่ามีปริมาณสำรองไม่พอใช้งานในหนึ่งสัปดาห์ ความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ปริมาณป้อนตลาดในระดับโลกหยุดแน่นิ่ง[42] ชุดตรวจโควิด-19 ก็มีปริมาณรองรับไม่เพียงพอทั่วทั้งโลกเช่นเดียวกัน ต้องรอจนกว่าประเทศจีนเร่งปริมาณการผลิตในปลายเดือนมีนาคม[43]

สินค้าอื่น ๆ อีกหลายอย่างก็กำลังขาดแคลน แต่ท่ามกลางความโกลาหลอย่างกว้างขวาง คลังสินค้ากลับเอ่อล้นด้วยสิ่งของจำพวกเสื้อผ้าแฟชั่นซึ่งความต้องการตกฮวบฮาบ ในโลกของการผลิตแบบ “ทันเวลาพอดี” และการแข่งขันที่ท้าทายกับเวลา สินค้าในคลังต้องถูกลดปริมาณให้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุน ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์และการค้าปลีกจำนวนมากในสหรัฐอเมริกากำลังมีแนวโน้มจะประสบกับการขาดแคลนสินค้าในต้นเดือนพฤษภาคม ดังที่ปีเตอร์ เฮเซนแคมป์ (Peter Hasenkamp) ซึ่งเคยบริหารยุทธศาสตร์ด้านปัจจัยการผลิตของบริษัทเทสลา (Tesla) และปัจจุบันดูแลการจัดซื้อให้กับบริษัทรถยนต์สตาร์ทอัพอย่างบริษัทลูซิด มอเตอร์ส (Lucid Motors) ได้กล่าวว่า “เราต้องการชิ้นส่วนจำนวน 2,500 ชิ้นเพื่อผลิตรถยนต์หนึ่งคัน แต่จะผลิตไม่ได้เลยหากขาดไปแม้แต่ชิ้นเดียว” ในทำนองเดียวกัน กับชุดตรวจโควิด-19 เหลืออยู่ร่อยหรอในสหรัฐอเมริกาส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดแคลนไม้สำลี[44] ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2020 บริษัทผู้ผลิตระดับโลกกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เจอกับสภาวะขาดแคลนวัตถุดิบตั้งต้น จากการประกาศเหตุวิสัยในสัญญาและข้อผูกมัดระหว่างกันของบริษัทคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นกว่า 44 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปีก่อนหน้าการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ [ปี 2019] จนถึงเดือนมีนาคม 2020 รวมทั้งเผชิญกับการยุติการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 38 เปอร์เซ็นต์ ผลสุดท้ายไม่ใช่แค่วัตถุดิบขาดแคลน แต่คือวิกฤตในกระแสเงินสดและต่อเนื่องด้วย “ความเสี่ยงด้านการเงินที่พุ่งสูงขึ้น” อย่างมหาศาล[45]

สำหรับบรรษัทข้ามชาติในเวลานี้ที่ไม่ได้ใยดีกับมูลค่าใช้สอย (use values) จากสิ่งที่พวกเขาซื้อขายกันตราบเท่าที่มันสร้างมูลค่าแลกเปลี่ยน (exchange values) ผลสะเทือนที่แท้จริงจากสภาวะอุปทานระดับโลกหยุดชะงักคือผลกระทบในห่วงโซ่มูลค่า หรือการหยุดชะงักของการไหลเวียนของมูลค่าจากการแลกเปลี่ยน (exchange value flows) แม้ว่าผลกระทบทางมูลค่าอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการหยุดชะงักทั่วทั้งโลกในด้านอุปทานอาจไม่ได้เห็นชัดเจนในเร็ววัน แต่จากตัวชี้วัดที่วิกฤตนี้ส่งผลต่อการสะสมทุนเห็นได้จากการสูญเสียผลกำไรที่เหล่าบรรษัทต้องประสบ บริษัทกว่าร้อยแห่งซึ่งรวมทั้งโบอิ้ง (Boeing) ไนกี้ (Nike) เฮอร์ชี (Hershey) ซันไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystems—บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และซอฟแวร์) และซิสโก้ (Cisco) ได้เผชิญหน้ากับสภาวะหยุดชะงักของห่วงโซ่สินค้าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จากผลการศึกษากรณีตัวอย่างกว่าแปดร้อยกรณีพบว่า ผลกระทบเฉลี่ยต่อบริษัทเนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวคือ “รายได้ประกอบการลดลงกว่า 107 เปอร์เซ็นต์ ผลกำไรจากยอดขายตกต่ำลงกว่า 114 เปอร์เซ็นต์ ผลกำไรจากสินทรัพย์ตกต่ำลงกว่า 93 เปอร์เซ็นต์ ยอดเติบโตจากการขายลดลง 7 เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนเติบโตสูงขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์ และสินค้าคงคลังสูงขึ้น 14 เปอร์เซ็นต์” ประกอบกับผลกระทบเชิงลบที่ต่อเนื่องไปอีกสองปีเป็นอย่างน้อย งานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้ชี้ให้เห็นว่าบริษัทที่เดือดร้อนจากสภาวะห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักต้องเจอกับผลตอบแทนหุ้นที่ลดลงตั้งแต่ 33 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับมาตรฐานอุตสาหกรรม (เปรียบเทียบเพื่อประเมินมูลค่าของหุ้นนั้นๆ—ผู้แปล) ในช่วงระยะเวลา 3 ปีซึ่งเริ่มนับตั้งแต่หนึ่งปีก่อนหน้าและหลังจากสองปีนับจากวันที่ประกาศสภาวะหยุดชะงักอย่างเป็นทางการ อีกทั้งความผันผวนของราคาหุ้นในปีหลังจากการหยุดชะงักสูงขึ้น 13.50 เปอร์เซ็นต์หากเทียบกับปีก่อนหน้าการหยุดชะงักของห่วงโซ่สินค้า[46]

ไม่มีใครรู้ว่าสภาพการณ์เช่นนี้จะคลี่คลายไปในทิศทางใด แม้กระทั่งบริษัทใด ๆ ก็ตาม แต่ไม่ว่าอย่างไรตัวทุนเองนั้นย่อมหวาดกลัวผลสืบเนื่องจากการสร้างมูลค่า (valorization) และการสะสมทุน (accumulation) เมื่อการผลิตลดต่ำลงในทุกพื้นที่ การว่างงานและการว่างงานแฝงพุ่งสูงขึ้นเมื่อบริษัทตัดหางไล่พนักงานในสหรัฐอเมริกาออก บรรษัทมากมายกำลังเร่งแข่งขันกันควานหาต้นสายปลายเหตุในห่วงโซ่สินค้าและแสวงหาสิ่งที่อาจเป็นเสถียรภาพทั้งที่อยู่ท่ามกลางวิกฤตจากทุกทิศทุกทาง มากไปกว่านั้น สภาวะชะงักงันในทั้งห่วงโซ่ของการเปลี่ยนสัณฐาน ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำอาร์บิทราจแรงงานระดับโลก มีแนวโน้มทำให้เกิดสภาวะล้มเหลวทางการเงินในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งยังประกอบด้วยการหยุดเติบโต (stagnation) การเป็นหนี้ และการทำให้เป็นการเงิน (financialization)[47]

หนึ่งในความเปราะบางที่ถูกเผยให้เห็นคือสิ่งที่เรียกว่า สินเชื่อหมุนเวียนคู่ค้า (supply-chain finance) ซึ่งอนุญาตให้บรรษัทเลื่อนการชำระหนี้กับคู่ค้าต้นทางด้วยความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคาร สื่ออย่าง Wall Street Journal รายงานว่า บางบรรษัทมีข้อผูกมัดจากสินเชื่อหมุนเวียนที่มีปริมาณมากกว่าหนี้โดยรวมที่รายงานต่อสาธารณะ ภาระหนี้คงค้างต่อคู่ค้าต้นทางเหล่านี้ถูกจำหน่ายเพื่อดอกเบี้ยทางการเงินในรูปแบบพันธบัตรตราสารหนี้ระยะสั้น บริษัทสินเชื่อเครดิตสวิส (Credit Suisse) ถือครองพันธบัตรหนี้ของหลายบรรษัทใหญ่ของสหรัฐ เช่น เคลล็อกก์ (Kellogg) และเจเนอรัลมิลส์ (General Mills) (ทั้งสองเป็นบรรษัทข้ามชาติของสหรัฐที่เป็นคู่แข่งทางการค้าด้านอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ซีเรียล—ผู้แปล) เมื่อมีการชะงักงันอย่างกว้างขวางของห่วงโซ่สินค้า ระบบสินเชื่อที่โยงใยถึงกัน (ซึ่งเป็นเป้าหมายของการเก็งกำไรไปด้วยในตัว) ต้องอยู่ในวิกฤตอยู่แล้วตามธรรมชาติของตัวมันเอง ซึ่งสร้างความเปราะบางมากขึ้นไปอีกในระบบการเงินที่ไม่มั่นคงเต็มทีอยู่แล้ว

จักรวรรดินิยม ชนชั้น และโรคระบาด

เช่นเดียวกับเชื้อก่อโรคอันตรายที่ปรากฏขึ้นมาใหม่และปรากฏซ้ำในช่วงหลายปีมานี้ เชื้อ SARS-CoV-2 มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับชุดปัจจัยที่ซับซ้อนหลายประการ ตั้งแต่ (ประการที่ 1) การพัฒนาของธุรกิจการเกษตรระดับโลกที่มาควบคู่กับการขยายตัวของการเกษตรเชิงเดี่ยวทางพันธุกรรม (genetic monocultures) ซึ่งทำให้การสัมผัสของเชื้อโรคจากสัตว์ป่าถึงสัตว์เลี้ยงจนมาสู่มนุษย์ง่ายมากขึ้น (ประการที่ 2) การทำลายที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและการขัดขวางการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า และ (ประการที่ 3) มนุษย์อาศัยในระยะที่ใกล้กันมากขึ้น ไม่น่าแปลกใจเลยว่าห่วงโซ่สินค้าในระดับโลกและลักษณะการเชื่อมโยงถึงกันที่เป็นผลมาจากห่วงโซ่สินค้าดังกล่าวนั้นได้กลายเป็นพาหะนำการแพร่กระจายเชื้อโรคอย่างรวดเร็ว และนั่นทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามตัวโต ๆ กับรูปแบบการกดขี่ในระดับโลกเช่นนี้ทั้งยวง ดังที่อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของธนาคารมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) และผู้ริเริ่มแนวคิดการทำอาร์บิทราจแรงงานระดับโลก อย่างสตีเฟน โรช (Stephen Roach) แห่งสถาบันบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale School of Management) ได้ให้ความเห็นในบริบทวิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนาว่า สิ่งที่หัวเรือใหญ่ของบรรษัทธุรกิจต้องการคือ “สินค้าต้นทุนต่ำ ถึงแม้ว่าการใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพเช่นนั้นจะต้องแลกมาด้วย [การขาดหายไปของ] การลงทุนในสุขภาพประชาชน หรือแม้แต่ [การขาดหายไปของ] การลงทุนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพที่ดีของภูมิอากาศ​ก็ตาม” ผลลัพธ์ของวิธีการที่ไม่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อ “การใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ” ดังกล่าวนั้นคือวิกฤตสิ่งแวดล้อมและโรคระบาดในระดับโลกดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน รวมถึงผลกระทบต่อเนื่องทางการเงินที่บั่นทอนเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งก็ปรากฏให้เห็น “การเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่ล้นเกิน” อันเป็นลักษณะเฉพาะของสภาวะฟองสบู่ทางการเงิน[48]

ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศร่ำรวยเป็นจุดศูนย์กลางของการแพร่ระบาดและวิกฤตการณ์ทางการเงิน แต่เมื่อพิจารณาทั้งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและในเชิงระบาดวิทยาแล้วนั้น วิกฤตในภาพรวมจะส่งผลสะเทือนต่อประเทศที่ยากจนอย่างสาหัสมากกว่า วิธีการการรับมือวิกฤตโลกเช่นนี้ถูกตัดสินอย่างถึงที่สุดโดยระบบชนชั้นจักรวรรดิทุน (imperial-class system) ในเดือนมีนาคม 2020 ทีมรับมือโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ (Imperial College) กรุงลอนดอน เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งที่ชี้ให้เห็นสถานการณ์จำลองระดับโลก ถ้าเชื้อ SARS-CoV-2 ไม่ถูกบรรเทาความรุนแรง ซึ่งหมายถึงหากไม่มีทั้งมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือการล็อคดาวน์ ประชาชนจำนวน 40 ล้านคนจะเสียชีวิต และในอัตราการเสียชีวิตนั้นฝั่งประเทศร่ำรวยจะมีมากกว่าฝั่งประเทศยากจนเพราะสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศยากจน การวิเคราะห์เช่นนี้แม้ว่าจะคำนึงถึงการเข้าถึงระบบรักษาสุขภาพที่ทั่วถึงกว่าในกลุ่มประเทศร่ำรวย แต่กลับละทิ้งปัจจัยอย่างภาวะทุพโภชนาการ ความยากจน และความอ่อนไหวต่อโรคติดต่อในกลุ่มประเทศยากจน ถึงกระนั้นก็ตาม การประเมินของอิมพีเรียลคอลเลจตามสมมติฐานข้างต้นชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์จำลองที่โรคติดต่อไม่ได้รับการบรรเทา ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ 15 ล้านรายในบริเวณพื้นที่เอเชียตะวันออกและมหาสมุทรแปซิฟิค 7.6 ล้านรายในพื้นที่เอเชียใต้ 3 ล้านรายในแถบละตินอเมริกาและทะเลแคริบเบียน 2.5 ล้านรายที่ทางใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแถบทวีปแอฟริกา 1.7 ล้านรายในพื้นที่ตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ เมื่อเทียบกับจำนวน 7.2 ล้านรายในยุโรปและเอเชียกลาง และประมาณ 3 ล้านรายของทวีปอเมริกาเหนือ[49]

เมื่อใช้การวิเคราะห์ตามแนวทางของอิมพีเรียลคอลเลจ อาห์เม็ด มุชฟิค โมบารัค (Ahmed Mushfiq Mobarak) และ แซคเคอรี บาร์เน็ตต์-ฮาเวลล์ (Zachary Barnett-Howell) จากมหาวิทยาลัยเยลได้เขียนบทความลงในวารสารของชนชั้นนำอย่าง Foreign Policy ในหัวข้อ “เหล่าประเทศยากจนต้องคิดทบทวนให้ดีถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม” ในบทความ โมบารัคและบาร์เน็ตต์-ฮาเวลล์เผยจุดยืนของพวกเขาอย่างชัดเจนโดยเสนอว่า “แบบจำลองด้านระบาดวิทยาแสดงให้เห็นชัดเจนว่าหากไม่บังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม กลุ่มประเทศร่ำรวยจะลงเอยด้วยการเสียชีวิตตั้งแต่หลายแสนจนถึงหลักล้านซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่หนักหนากว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งไหน ๆ ที่พอจะจินตนาการได้ หรือพูดอีกแง่หนึ่ง การบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อยับยั้งไวรัสแม้ว่าจะเกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจตามมาแต่ก็เป็นวิธีที่สมควรอย่างยิ่งในสังคมที่มีรายได้สูง”—เพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ ในทางตรงข้าม พวกเขาเสนอว่าสถานการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศยากจนตามการประเมินของอิมพีเรียลคอลเลจซึ่งจะมีอัตราการเสียชีวิตเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะจำนวนประชากรสูงอายุมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรโดยรวม พวกเขายอมรับว่าโมเดลการคิดคำนวนเช่นนี้ไม่ได้คิดถึงปัจจัยด้านความแพร่หลายของภาวะโรคเรื้อรัง ภาวะทางเดินหายใจ มลพิษ และภาวะทุพโภชนาการที่มากกว่าในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำซึ่งจะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากการระบาดของไวรัสโคโรนา” แต่ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมองข้ามปัจจัยเหล่านี้ในบทความ (และในงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกันของภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล) ผู้เขียนทั้งสองคนยืนยันหนักแน่นว่าประชากรในกลุ่มประเทศนี้ไม่ควรดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือการตรวจเชื้อเชิงรุกและการกวดขันมาตรการอย่างเข้มงวด เพราะประเทศเหล่านี้มีปัญหาความยากจน การว่างงานเป็นวงกว้าง และการว่างงานแฝง จึงควรลงเรี่ยวลงแรงไปกับการผลิตทางเศรษฐกิจเพื่อรักษาไว้ซึ่งห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่มักเริ่มหมุนฟันเฟืองจากประเทศที่มีค่าแรงต่อหัวต่ำเป็นหลัก[50] ไม่น่าแปลกใจที่ความตายของคนกว่าสิบล้านคนในซีกโลกใต้จะถูกมองจากผู้เขียนเหล่านี้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่สมเหตุสมผลเพื่อการเติบโตต่อเนื่องของจักรวรรดิทุน

ดังที่ไมค์ เดวิส (Mike Davis) เสนอว่าทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 ชี้ให้เห็นถึง “การจัดลำดับต่ำสูงของมนุษยชาติอย่างถาวรซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ส่วนหนึ่งของมนุษย์ค่อย ๆ เผชิญหน้ากับการสูญพันธุ์” เขาตั้งคำถาม [สืบเนื่องต่อประเด็นโควิด-19] ว่า

“จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโควิดแพร่กระจายไปยังกลุ่มประชากรที่เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ยากลำบาก อยู่ในภาวะทุพโภชนาการย่ำแย่จนน่าใจหาย มีปัญหาสุขภาพมากมายที่ไม่ได้รับการเหลียวแลและมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ความได้เปรียบด้านวัยแทบจะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลยกับเยาวชนยากจนในสลัมแอฟริกาและเอเชียใต้

“หนำซ้ำยังมีความเป็นไปได้ว่าการติดเชื้อขนานใหญ่ในพื้นที่สลัมและเมืองยากจนจะพลิกผันลักษณะของการติดเชื้อและเปลี่ยนโฉมหน้าของโรคนี้ไปเลย ก่อนหน้าที่โรคซาร์สจะระบาดในปี 2003 เชื้อไวรัสโคโรนาที่ระบาดร้ายแรงเป็นวงกว้างจำกัดวงระบาดอยู่ที่กลุ่มสัตว์เลี้ยงที่มีหมูเป็นหลัก ต่อมากลุ่มนักวิจัยได้ค้นพบวิธีการติดเชื้อที่ต่างกัน 2 ทาง คือ หนึ่ง การติดเชื้อจากอุจจาระผ่านช่องปาก (เช่นหากผู้ติดเชื้อขับถ่ายอุจจาระออกมา ตัวไวรัสจะยังอยู่ในอุจจาระ ดังนั้นในกรณีที่ระบบสาธารณสุขไม่ดี อุจจาระซึ่งมีไวรัสอยู่ด้วยสามารถปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมอื่นและเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสอีกต่อหนึ่งได้ เช่น น้ำดื่มหรืออาหาร—ผู้แปล) ซึ่งส่งผลเสียต่อเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารและลำไส้ สองคือการติดเชื้อผ่านทางระบบเดินหายใจซึ่งส่งผลเสียต่อปอด ในกรณีแรกมักจะลงเอยด้วยอัตราการเสียชีวิตสูง ขณะที่กรณีที่สองมีอาการทุเลากว่า อาการท้องเสียและคลื่นไส้อาเจียนมีสัดส่วนเล็กน้อยในกลุ่มที่ผลตรวจเป็นบวก โดยพบมากในการติดเชื้อบนเรือสำราญ อย่างไรก็ตามหากอ้างอิงรายงานชิ้นหนึ่งซึ่งได้กล่าวถึงความสำคัญของประเด็นนี้ว่า “เราไม่ควรมองข้ามความเป็นไปได้ที่เชื้อ SARS-CoV-2 จะติดต่อกันผ่านระบบส่งถ่ายของเสีย สิ่งปฏิกูล น้ำที่ปนเปื้อน ระบบปรับอากาศ และ ละอองที่แพร่กระจายในอากาศ

“ขณะนี้โรคระบาดได้แพร่ไปยังสลัมในแอฟริกาและเอเชียใต้ ซึ่งเป็นที่ที่การปนเปื้อนเชื้อโรคจากอุจจาระผ่านช่องปากมีอยู่ทุกที่ ทั้งในน้ำ พืชผักที่ปลูกกินเอง แม้กระทั่งฝุ่นที่พัดมากับกระแสลม (ใช่แล้ว พายุสิ่งปฏิกูลมีอยู่จริง ๆ) สภาพเช่นนี้จะยิ่งตอกย้ำการติดโรคผ่านระบบทางเดินอาหารหรือไม่ และในกรณีของสัตว์นั้น สภาพเช่นนี้จะนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรงมากขึ้นในทุกกลุ่มอายุเลยหรือไม่”[51]

ข้อเสนอของเดวิสเผยให้เห็นความไร้ศีลธรรมอันน่ารังเกียจของจุดยืนที่กล่าวว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมและความพยายามยับยั้งการระบาดของไวรัสเชิงรุกควรเกิดขึ้นในประเทศร่ำรวยไม่ใช่ประเทศยากจน ยุทธศาสตร์ทางระบาดวิทยาแบบจักรวรรดิทุนเช่นนี้ยิ่งดูเลวร้ายมากกว่าเดิมเป็นไหน ๆ ด้วยเหตุว่าพวกเขากลับหัวกลับหางความยากจนของประชากรในซีกโลกใต้ซึ่งเป็นผลผลิตของจักรวรรดิทุนให้เข้ากับวิธีการอ้างความถูกต้องจากทฤษฎีประชากรศาสตร์แบบมัลธูเซียน (Malthusian— มีสมมติฐานว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจะตามมาด้วยความไม่เพียงพอของทรัพยากรในการดำรงชีวิต และจะมีจุดจุดหนึ่งที่ความตายของประชากรบางส่วนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้—ผู้แปล) หรือทฤษฎีดาร์วินทางสังคม (social Darwinist— เกิดจากการนำข้อเสนอเรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโดย ชาร์ลส์ ดาร์วินมาประยุกต์ใช้ทางสังคมและการเมืองซึ่งวางอยู่บนลักษณะ 2 อย่างคือ การคัดเลือกโดยธรรมชาติและการอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด ดังนั้นความตายของผู้ที่อ่อนแอและยากจนจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามตรรกะของทฤษฎีนี้—ผู้แปล) ซึ่งคนนับล้านต้องยอมสละชีวิตเพื่อรักษาเศรษฐกิจโลกให้ดำเนินต่อไปบนผลประโยชน์ของผู้ที่ยืนอยู่บนยอดพีระมิดของระบบ ลองเปรียบเทียบแนวคิดเช่นนี้กับวิธีการที่ใช้โดยประเทศที่มีแนวคิดสังคมนิยมนำอย่างเวเนซูเอลา ซึ่งตอนนี้เป็นประเทศในอเมริกาใต้ที่ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ต่อจำนวนประชากรน้อยที่สุด และเป็นที่ซึ่งการเว้นระยะห่างทางสังคมถูกจัดการอย่างมีส่วนร่วมและมีบริการสนับสนุนทางสังคมสอดรับไปกับการคัดกรองส่วนบุคคลอย่างกว้างขวางเพื่อระบุว่าใครมีความเสี่ยงโรคสูงสุด และมีการตรวจเชื้ออย่างกว้างขวางรวมทั้งการกระจายความทั่วถึงของโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขซึ่งพัฒนาขึ้นจากตัวแบบของประเทศคิวบาและจีน[52]

ในทางเศรษฐกิจ กลุ่มประเทศซีกโลกใต้โดยรวมซึ่งดูห่างไกลจากผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตโรคระบาดกลับต้องรับความเสียหายสูงสุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การล้มครืนลงของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกซึ่งเป็นผลจากคำสั่งซื้อที่ถูกยกเลิกจากกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ (และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการล็อคดาวน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก) รวมทั้งการจัดวางระบบห่วงโซ่สินค้าใหม่ที่จะตามมาภายหลังนั้นจะทำให้ทั้งประเทศและภูมิภาคเหล่านี้พังครืนลงไป[53]

และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือวิกฤตการระบาดของโควิด-19 เข้ามาแทรกกลางระหว่างสงครามการค้าเพื่อช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจโลกซึ่งจุดชนวนขึ้นภายใต้รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ และพุ่งเป้าตรงไปยังประเทศจีนซึ่งมีสัดส่วนในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกถึง 37 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 2008[54] รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์มองการกระทำเช่นนี้เหมือนการทำสงครามทางอ้อม บริษัทหลายของสหรัฐหลายแห่งได้ถอนฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเป็นที่เรียบร้อยอันเป็นผลจากสงครามผ่านการตั้งกำแพงภาษีศุลกากร เช่นบริษัทลีวายส์ (Levi’s) ได้ลดปริมาณการผลิตในประเทศจีนลงจาก 16 เปอร์เซ็นต์ในปี 2016 เป็น 1-2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2019 ท่ามกลางสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานอย่างสงครามภาษีและวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ผู้บริหารระดับสูงกว่าสองในสามจาก 160 คนในอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาที่ถูกสอบถามความเห็นได้ชี้ให้เห็นเร็ว ๆ นี้ว่าบริษัทของพวกเขาได้ย้ายฐานการผลิต วางแผนจะย้าย หรือ กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปประเทศเม็กซิโกซึ่งมีอัตราต้นทุนต่อหน่วยการผลิตที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งจะใกล้ชิดกับตลาดสินค้าของสหรัฐอเมริกามากขึ้น[55] สงครามเศรษฐกิจระหว่างวอชิงตันและจีนในขณะนี้รุนแรงถึงขนาดที่รัฐบาลทรัมป์ไม่ยอมลดกำแพงภาษีสินค้าอย่างอุปกรณ์ป้องกันเฉพาะตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จนถึงเดือนมีนาคม [ปี 2020][56] ในขณะเดียวกันทรัมป์ก็ได้แต่งตั้งมือเศรษฐกิจที่รับหน้าที่กุมบังเหียนการทำสงครามเศรษฐกิจกับจีนเพื่อช่วงชิงอำนาจนำอย่างปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ให้เป็นหัวแรงหลักในการบังคับใช้กฎหมายการผลิตเพื่อการป้องกันประเทศ (Defense Production Act) เพื่อรับมือการวิกฤตโควิด-19

จากบทบาทหลักของเขาในการกำหนดทิศทางของสงครามการค้าต่อจีนและในฐานะผู้ประสานงานการปฏิบัตินโยบายตามกฎหมายการผลิตเพื่อการป้องกันประเทศ นาวาร์โรได้กล่าวหาจีนว่าทำให้เกิด “การติดขัดทางการค้า” (trade shock) ซึ่งทำให้สูญเสีย “งานในอุตสาหกรรมการผลิตกว่า 5 ล้านงานและ โรงงานผลิตกว่า 70,000 โรง” รวมทั้ง “ทำอันตรายต่อชีวิตชาวอเมริกันหลายแสนชีวิต” โดยการทำลายหน้าที่การงาน ครอบครัว และสุขภาพ เขาได้ประกาศว่าสภาพเช่นนี้เป็นผลจาก “อาการช็อคจากไวรัสเมืองจีน” (China virus shock)[57] บนฐานคิดเชิงโฆษณาชวนเชื่อเช่นนี้ นาวาร์โรเดินหน้าบูรณาการนโยบายของสหรัฐต่อการรับมือโรคระบาดว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับสิ่งที่เขาเรียกว่า “เชื้อไวรัสเมืองจีน” และนำฐานการผลิตของสหรัฐออกจากจีน อย่างไรก็ตาม ในเมื่อหนึ่งในสามส่วนสินค้าขั้นกลางในกระบวนการผลิตทั่วทั้งโลกตอนนี้ผลิตขึ้นในจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยสำคัญในภาคส่วนเทคโนโลยีระดับสูง และสภาพการพึ่งพาจีนในการผลิตเช่นนี้เป็นหัวใจสำคัญในการแสวงหาแรงงานข้ามชาติราคาถูก ดังนั้น ความพยายามดังกล่าวที่ต้องการย้ายฐานการผลิตอาจลงเอยที่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้างอย่างพลิกผัน แต่อาจจะอยู่ในขอบเขตที่พอเป็นไปได้[58]

บรรษัทข้ามชาติบางแห่งซึ่งได้ย้ายการผลิตออกจากจีนเรียบร้อยแล้วได้รับบทเรียนสำคัญว่าสิ่งที่ทำลงไปไม่ได้ “ให้อิสระ” แก่พวกเขาจากการพึ่งพาการผลิตจากจีน อย่างเช่นบริษัทซัมซุง (Samsung) ได้เริ่มโยกย้ายส่วนประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากจีนไปโรงงานในเวียดนามซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของบริษัทที่ตั้งใจหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรจากสงครามการค้า แต่เวียดนามก็ยังเปราะบางอยู่เหมือนกัน เพราะพวกเขายังคงพึ่งพาจีนด้านวัตถุดิบตั้งต้นและสินค้าขั้นกลางในกระบวนการผลิต[59] สภาพการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นในประเทศใกล้เคียงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย และวัตถุดิบตั้งต้นการผลิตราว 20 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของอินโดนีเซียมาจากประเทศจีน แม้กระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 โรงงานในเมืองบาตัม ประเทศอินโดนีเซียก็ต้องรับมือกับการขาดแคลนวัตถุดิบตั้งต้นการผลิตจากจีนแล้ว (ซึ่งนับเป็นปริมาณกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตทั้งหมดในภูมิภาค) บริษัทที่นั่นกล่าวว่าพวกเขาตั้งใจเอาวัตถุดิบการผลิตจากประเทศเหมือนกัน แต่ “มันไม่ง่ายเลย” ตัวเลือกที่พอจะเป็นไปได้สำหรับหลายบริษัทคือ “หยุดกระบวนการผลิตทั้งหมด”[60] นายทุนอย่างเฉา เต๋อหวัง (Cao Dewang) นักธุรกิจพันล้านผู้ก่อตั้งบริษัทแก้ว ฝูเย่า (Fuyao Glass Industry) คาดการณ์ถึงบทบาทจีนในการเป็นต้นทางป้อนวัตถุดิบโลกว่าจะอ่อนแอลงหลังโรคระบาด แต่จะเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น และเขาได้สรุปว่า “ยากที่จะหาตัวตายตัวแทนของจีนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมโลก” ซึ่งเขาอ้างถึงความยากลำบากมากมายจากทั้ง “การขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน” [สำหรับการผลิต] ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้นทุนด้านค่าแรงที่สูงในกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ และอุปสรรคต่าง ๆ ที่ “ประเทศร่ำรวย” ต้องเผชิญหากต้องการ “สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการผลิตในประเทศตัวเอง”[61]

วิกฤตโควิด-19 ไม่ควรถูกตีความว่าเป็นผลลัพธ์จากปัจจัยภายนอกหรือจากเหตุการณ์ “หงส์ดำ” ซึ่งคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ แต่เป็นผลจากความซับซ้อนในแนวโน้มวิกฤตมากมายซึ่งอาจคาดการณ์ได้ในภาพรวมแต่ไม่ใช่ในเชิงระยะเวลาที่กะเกณฑ์ได้ว่าเมื่อใด ณ ปัจจุบันศูนย์กลางของระบบทุนนิยมเผชิญหน้ากับความตกต่ำอย่างยาวนานในแง่ของการผลิตและการลงทุน ซึ่งในการขยายและสะสมความมั่งคั่งส่วนบนจำเป็นต้องพึ่งพิงอัตราดอกเบี้ยตอบแทนที่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ หนี้ที่สูงท่วมหัว และการไหลออกของทุนจากพื้นที่ทุกส่วนของโลกรวมถึงการเก็งกำไรทางการเงิน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งกำลังไต่ระดับจนถึงจุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในประวัติศาสตร์ รอยแยกในระบบนิเวศของโลกได้มาถึงจุดที่เบียดเบียนทรัพยากรผืนโลกและทำให้สิ่งแวดล้อมเชิงสัณฐานโลกไม่อาจเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์ได้อีกแล้ว โรคระบาดใหม่อุบัติขึ้นบนฐานของทุนนิยมการเงินที่ผูกขาดในระดับโลกซึ่งแปรเปลี่ยนตัวมันเองให้กลายเป็นพาหะของเชื้อโรค กลไกรัฐในทุกหนแห่งกลับสู่สภาวะของการกดขี่ปราบปรามอย่างรุนแรงไม่ว่าจะอยู่ภายใต้เสื้อคลุมของแนวคิดเสรีนิยมใหม่หรือนีโอฟาสซิสม์ (neofascism)

ลักษณะความกดขี่และเป็นอันตรายจนเกินปกติของระบบทุนนิยมนี้แสดงให้เห็นชัดจากข้อเท็จจริงที่ว่าแรงงานคอปกน้ำเงิน (blue-collar workers—ผู้ใช้แรงงานในสายพานการผลิตตามโรงงาน—ผู้แปล) ถูกประกาศให้เป็นแรงงานจำเป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ (ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกประกาศให้เป็นทางการในสหรัฐอเมริกาโดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ) รวมทั้งถูกคาดหวังให้ดำเนินการผลิตในสภาพที่ส่วนใหญ่ไร้ซึ่งชุดป้องกัน ในขณะที่ชนชั้นซึ่งมีอภิสิทธิ์และความอู้ฟู่มากกว่ากลับเว้นระยะห่างทางสังคมได้[62] การล็อคดาวน์ที่แท้จริงควรจะครอบคลุมมากกว่านี้ รวมทั้งจะเรียกร้องการสนับสนุนและการวางแผนในระดับกลไกรัฐมากกว่าที่เป็นอยู่เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชากรโดยรวมจะได้รับการป้องกันมากกว่าให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเพื่ออุ้มชูผลกำไรทางการเงิน ที่เป็นเช่นนี้เพราะธรรมชาติความเป็นชนชั้นของการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ต่างไปจากลักษณะดังกล่าวในปัจจัยพื้นฐานอย่างรายรับ ที่อยู่อาศัย ทรัพยากรสำหรับการใช้ชีวิต และการรักษาพยาบาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งความเจ็บป่วยและความเป็นความตายจากโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกานั้นกลับตกอยู่ที่ประชากรผิวสีเป็นหลักซึ่งมีสภาวะที่ความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมร้ายแรงสาหัสมากที่สุด[63]

การผลิตทางสังคมและการหมุนเวียนและซ่อมแซมของโลก (planetary metabolism)

รากฐานของแนวคิดวัตถุนิยมของมาร์กซ์คือสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่า “ลำดับชั้นของความจำเป็นพื้นฐาน” (hierarchy of needs)[64] ซึ่งหมายถึงมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเชิงวัตถุซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติ เช่นเดียวกันกับที่ได้สรรค์สร้างโลกทางสังคมขึ้นในเวลาเดียวกัน ในฐานะสิ่งมีชีวิตเชิงวัตถุ พวกเขาต้องเติมเต็มความต้องการเชิงวัตถุเป็นลำดับแรก ตั้งแต่การกินดื่ม หาอาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และสภาวะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการมีสุขภาพดีก่อนพัฒนาความจำเป็นในลำดับขั้นสูงขึ้นต่อไปอันจำเป็นต่อการใช้ศักยภาพของมนุษย์อย่างสมบูรณ์[65] อย่างไรก็ตาม ในสังคมชนชั้นมักจะกลับกลายเป็นว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สร้างสรรค์สังคมที่แท้จริงกลับถูกผลักให้อยู่ในสภาพที่ต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลาเพื่อเติมเต็มความต้องการพื้นฐานในการใช้ชีวิต เงื่อนไขเช่นนี้ยังคงเหมือนเดิมในปัจจุบัน ถึงจะเกิดความมั่งคั่งอันยิ่งใหญ่ที่สั่งสมกันมาจากการเติบโตหลายศตวรรษ และแม้กระทั่งในสังคมทุนนิยมที่มั่งคั่งที่สุด ผู้คนนับล้านกลับอยู่ในสภาพชีวิตที่เปราะบางทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร ที่อยู่อาศัย น้ำสะอาด ระบบรักษาสุขภาพ และระบบคมนาคมขนส่ง หรือแม้กระทั่งในสภาพการณ์ที่เศรษฐีพันล้าน 3 คนถือครองทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาเทียบเท่ากับคนจำนวนครึ่งล่างของปีระมิดรวมกันเสียอีก

และในขณะที่สิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนและภูมิภาคกำลังตกอยู่ในอันตรายซึ่งไม่ต่างไปจากสภาพของระบบนิเวศของโลกทั้งใบและระบบสมดุลโลก (Earth System) การเน้นย้ำเรื่อง “ความคุ้มค่าของต้นทุน” ในระดับโลก (คำสละสลวยฉาบหน้าที่ใช้แทนคำว่าแรงงานและที่ดินราคาถูก) นำพาให้ทุนข้ามชาติสร้างระบบอันซับซ้อนของห่วงโซ่สินค้าของทั้งโลกที่ถูกออกแบบให้ทุกหย่อมหญ้าอำนวยความสะดวกให้การกดขี่แรงงานอย่างล้นเกินเกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะที่เปลี่ยนโลกทั้งใบให้เป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งส่วนใหญ่กลายเป็นพื้นที่สำหรับการดำเนินธุรกิจการเกษตร ผลลัพธ์ที่ตามมาคือสูบกลืนส่วนเกินจากชายขอบของระบบโลกและช่วงชิงกรรมสิทธิ์ส่วนรวมของโลกไป ในการคำนวณมูลค่าภายใต้ระบบคิดของทุน การดำรงอยู่เชิงวัตถุแทบทั้งหมดซึ่งรวมทั้งระบบสมดุลโลกโดยรวมและคุณภาพชีวิตเชิงสังคมของมนุษย์ตราบเท่าที่สิ่งเหล่านี้ไม่เข้าสู่ระบบตลาดจะถูกตีว่าเป็นปัจจัยภายนอก [ระบบการผลิต] ซึ่งพร้อมจะถูกปล้นสะดมและแย่งชิงในนามของผลประโยชน์ของการสะสมทุน สิ่งที่ถูกเรียกอย่างผิด ๆ ว่าเป็น “โศกนาฏกรรมของกรรมสิทธิ์ส่วนรวม​” (the tragedy of the commons) ควรถูกเข้าใจว่าเป็น “โศกนาฏกรรมของการแปรสภาพเป็นเอกชน” (the tragedy of privatizing) ดังที่กาย สแตนดิง (Guy Standing) ชี้ให้เห็นในหนังสือ Plunder of the Commons ของเขา ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ปฏิทรรศน์ลอเดอร์เดลอันเลื่องชื่อที่ถูกนำเสนอโดยเอิร์ลแห่งแคว้นลอเดอร์เดล (the Earl of Lauderdale) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งกล่าวถึงสภาพที่ความมั่งคั่งของสาธารณะจะถูกทำลายเพื่อเพิ่มพูนความร่ำรวยของเอกชนนั้นมีโลกทั้งใบเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ[66]

วงจรของทุนในจักรวรรดินิยมตอนปลายใช้ประโยชน์จากแนวโน้มวิกฤตเหล่านี้อย่างเต็มกำลังจนก่อให้เกิดวิกฤตสภาพแวดล้อมโลกที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนห้อมล้อมอารยธรรมของมนุษย์ในปัจจุบันและเป็นพายุหายนะลูกใหญ่ สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากระบบแห่งการสะสมทุนซึ่งแยกขาดจากการจัดสรรความจำเป็นพื้นฐานอันสมเหตุสมผลสำหรับประชากรที่ไม่อยู่ในสารบบการเงิน[67] การสะสมทุนและขยายความมั่งคั่งจะเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของของเสียทุกชนิด ท่ามกลางมหันตภัยเช่นนี้ สงครามเย็นยุคใหม่และความเป็นไปได้ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ของมหันตภัยอาวุธนิวเคลียร์ก็ปรากฏ โดยมีสหรัฐอเมริกาที่ไม่แน่นอนและแข็งกร้าวมากขึ้นทุกวันเป็นแนวหน้า สภาวการณ์เช่นนี้ทำให้องค์การจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ (Bulletin of Atomic Scientists—องค์การไม่แสวงหาผลกำไรที่เคยจับตาดูประเด็นทางความมั่นคงจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีผลสำคัญต่อมนุษยชาติ—ผู้แปล) ขยับเข็มนาฬิกาที่นับถ้อยหลังสู่วันสิ้นโลก (Doomsday Clock) ให้เร็วขึ้นเป็นเวลา 100 วินาทีก่อนจะถึงเวลาเที่ยงคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาครั้งแรกที่ใกล้เที่ยงคืนที่สุดนับตั้งแต่ปี 1947 (ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสองขั้วอำนาจสงครามเย็น—ผู้แปล)[68]

วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และภยันตรายของโรคระบาดที่อาจเพิ่มขึ้นและทวีความรุนแรงจนถึงตายมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้นเป็นผลมาจากพัฒนาการเชิงจักรวรรดินิยมตอนปลายนี้เช่นนี้เอง ห่วงโซ่ที่ร้อยรัดกันของการกดขี่และการยึดทรัพยากรทำให้ไม่ใช่เพียงแค่ระบบนิเวศแต่รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสปีชีส์สัตว์ด้วยกันเองที่ต้องแปรปรวน ซึ่งบ่มเพาะให้เกิดเชื้อก่อโรคร้าย และทั้งหมดทั้งมวลนี้เห็นได้ว่าเกิดขึ้นภายหลังการริเริ่มธุรกิจการเกษตรเชิงเดี่ยวทางพันธุกรรม การทำลายของระบบนิเวศอย่างมโหฬารซึ่งรวมไปถึงการปนเปอย่างควบคุมไม่ได้ของสปีชีส์สัตว์ และระบบการหามูลค่าเพิ่มในระดับโลกซึ่งคิดบนฐานของการให้คุณค่ากับที่ดิน ร่างกาย สปีชีส์ และระบบนิเวศเป็นเหมือน “ของขวัญที่ได้มาฟรี” ซึ่งรอให้ถูกฉกชิงโดยไม่คำนึงถึงขีดจำกัดทางธรรมชาติและสังคม

และไม่ใช่เพียงแค่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่เท่านั้นที่เป็นปัญหาสุขภาพในระดับโลก การใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาดในธุรกิจการเกษตรรวมถึงการแพทย์สมัยใหม่ส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตที่เป็นอันตรายของแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นผลให้เกิดจำนวนผู้เสียชีวิตเนื่องจากปัจจัยเช่นนี้มากขึ้น ซึ่งภายในกลางศตวรรษที่ 21 อาจมีอัตราการตายต่อปีมากกว่าโรคมะเร็งเสียแล้ว สถานการณ์เช่นนี้ทำให้องค์การอนามัยโลกประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสุขภาพระดับโลก”[69] เมื่อผลของโรคติดต่อภายใต้เงื่อนไขความเหลื่อมล้ำในสังคมชนชั้นแบบทุนนิยมตกอยู่ที่ชนชั้นแรงงาน คนยากจน และประชากรในชายขอบเป็นสำคัญนั้น ท่ามกลางเป้าหมายเพื่อการสะสมทุนเชิงปริมาณแล้วนั้น ดังที่เอ็งเงิลส์และขบวนการเคลื่อนไหวชนชั้นแรงงานในอังกฤษอย่างขบวนการชาร์ทิสท์ (Chartists) ในศตวรรษที่ 19 แสดงจุดยืนโจมตีระบบที่ก่อให้เกิดโรคร้ายเช่นนี้ว่าเป็นการฆาตกรรมทางสังคม (social murder) ดังที่แนวคิดสุขภาพสากลและสุขภาพสากลเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นพัฒนาการในระบาดวิทยาที่ปฏิวัติวงการได้แสดงให้เห็น การศึกษาหาต้นตอของโรคระบาดใหม่ทั้งหลายนั้นนำพวกเราไปสู่ปัญหาภาพรวมของการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากทุนนิยม

ตอนนี้ ความจำเป็นของ “การจัดระเบียบทางสังคมใหม่ยกชุด” เผยให้เห็นอีกครั้งดังที่เคยปรากฏมามากมายในอดีต[70] ตรรกะของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการจัดระบบสังคมบนพื้นฐานกรรมสิทธิ์ส่วนรวมของการผลิตซ้ำเชิงหมุนเวียนและซ่อมแซมทางสังคม (metabolic reproduction) ระบบซึ่งผู้สร้างสรรค์สังคมมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างสมเหตุสมผลกับธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาตัวเองอย่างเป็นอิสระของแต่ละปัจเจกบุคคลอันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างอิสระโดยรวมในสังคม ควบคู่ไปพร้อมกับการรักษาพลังงานและสิ่งแวดล้อม[71] อนาคตของมนุษยชาติในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้อยู่บนทิศทางของการกดขี่และขูดรีดทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศ จักรวรรดินิยม และสงคราม แต่เป็นสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่า “เสรีภาพโดยทั่วไป” (freedom in general) และการรักษาไว้ซึ่ง “การหมุนเวียนและซ่อมแซมเชิงทรัพยากรโลก” (planetary metabolism) ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในปัจจุบันที่จะกำหนดสภาพปัจจุบัน อนาคต และแม้กระทั่งการอยู่รอดของมนุษย์[72]

 

 

หมายเหตุ: แปลจากบทความต้นฉบับในชื่อ “COVID-19 and Catastrophe Capitalism: Commodity Chains and Ecological-Epidemiological-Economic Crises” เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ Monthly Review

ได้รับอนุญาตการแปลและทำซ้ำแล้ว สามารถเข้าถึงบทความต้นฉบับได้ที่ https://monthlyreview.org/2020/06/01/covid-19-and-catastrophe-capitalism/

Translated and reprinted by permission of Monthly Review magazine. (c) Monthly Review. All rights reserved.

 

 

อ้างอิง

[1] See John Bellamy Foster, “Late Imperialism,” Monthly Review 71, no. 3 (July–August 2019): 1–19; Samir Amin, Modern Imperialism, Monopoly Finance Capital, and Marx’s Law of Value (New York: Monthly Review Press, 2018).

[2] On the global labor arbitrage and commodity chains, see Intan Suwandi, Value Chains(New York: Monthly Review Press, 2019), 32–33, 53–54. Our statistical analysis of unit labor costs was done collaboratively with R. Jamil Jonna, also published as “Global Commodity Chains and the New Imperialism,” Monthly Review 70, no. 10 (March 2019): 1–24. On the global land arbitrage, see Eric Holt-Giménez, A Foodie’s Guide to Capitalism (New York: Monthly Review Press, 2017), 102–4.

[3] Evan Tarver, “Value Chain vs. Supply Chain,” Investopedia, March 24, 2020.

[4] Karl Marx, “The Value Form,” Capital and Class 2, no. 1 (1978): 134; Karl Marx and Frederick Engels, Collected Works, vol. 36 (New York: International Publishers, 1996), 63. See also Karl Marx, Capital, vol. 1 (London: Penguin, 1976), 156, 215; Marx, Capital, vol. 2 (London: Penguin, 1978), 136–37.

[5] Rudolf Hilferding, Finance Capital (London: Routledge, 1981), 60.

[6] Terence Hopkins and Immanuel Wallerstein, “Commodity Chains in the World Economy Prior to 1800,” Review 10, no. 1 (1986): 157–70.

[7] Marx, Capital, vol. 1, 638.

[8] Karl Marx, Capital, vol. 3 (London: Penguin, 1981), 949–50; Marx, Capital, vol. 1, 348–49.

[9] Robert G. Wallace, Luke Bergmann, Richard Kock, Marius Gilbert, Lenny Hogerwerf, Rodrick Wallace, and Mollie Holmberg, “The Dawn of Structural One Health: A New Science Tracking Disease Emergence Along Circuits of Capital,” Social Science and Medicine 129 (2015): 68–77; Rob [Robert G.] Wallace, “We Need a Structural One Health,” Farming Pathogens, August 3, 2012; J. Zinsstag, “Convergence of EcoHealth and One Health,” Ecohealth 9, no. 4 (2012): 371–73; Victor Galaz, Melissa Leach, Ian Scoones, and Christian Stein, “The Political Economy of One Health,” STEPS Centre, Political Economy of Knowledge and Policy Working Paper Series (2015).

[10] Rodrick Wallace, Luis Fernando Chavez, Luke R. Bergmann, Constância Ayres, Lenny Hogerwerf, Richard Kock, and Robert G. Wallace, Clear-Cutting Disease Control: Capital-Led Deforestation, Public Health Austerity, and Vector-Borne Infection (Cham, Switzerland: Springer, 2018), 2.

[11] Wallace et al., “The Dawn of Structural One Health,” 70–72; Wallace, “We Need a Structural One Health”; Rob Wallace, Alex Liebman, Luis Fernando Chaves, and Rodrick Wallace, “COVID-19 and Circuits of Capital,” Monthly Review 72, no.1 (May 2020): 12; István Mészáros, Beyond Capital (New York: Monthly Review Press, 1995); Richard Levins and Richard Lewontin, The Dialectical Biologist (Cambridge, MA: Harvard University Press, 1985).

[12] Rob Wallace, Big Farms Make Big Flu (New York: Monthly Review Press, 2016), 60–61, 118, 120–21, 217–19, 236, 332; Rob Wallace, “Notes on a Novel Coronavirus,” MR Online, January 29, 2020. On the Lauderdale Paradox, see John Bellamy Foster, Brett Clark, and Richard York, The Ecological Rift (New York: Monthly Review Press, 2010), 53–72.

[13] See John Bellamy Foster, The Return of Nature (New York: Monthly Review Press, 2020), 61-64, 172-204; Frederick Engels, The Condition of the Working Class in England (Chicago: Academy Chicago, 1984); E. Ray Lankester, The Kingdom of Man (New York: Henry Holt, 1911), 31–33, 159–91; Richard Levins, “Is Capitalism a Disease?,” Monthly Review 52, no. 4 (September 2000): 8–33. See also Howard Waitzkin, The Second Sickness (New York: Free Press, 1983).

[14] Wallace, Big Farms Make Big Flu, 53.

[15] Wallace, Big Farms Make Big Flu, 49.

[16] Wallace, Big Farms Make Big Flu, 33–34.

[17] Wallace, Big Farms Make Big Flu, 81.

[18] Mathilde Paul, Virginie Baritaux, Sirichai Wongnarkpet, Chaitep Poolkhet, Weerapong Thanapongtharm, François Roger, Pascal Bonnet, and Christian Ducrot, “Practices Associated with Highly Pathogenic Avian Influenza Spread in Traditional Poultry Marketing Chains,” Acta Tropica 126 (2013): 43–53.

[19] Wallace, Big Farms Make Big Flu, 306; Wallace et al., “The Dawn of Structural One Health,” 69, 71, 73.

[20] Wallace et al., “COVID-19 and Circuits of Capital,” 11.

[21] Holt-Giménez, A Foodie’s Guide to Capitalism, 102–5.

[22] Philip McMichael, “Feeding the World,” in Socialist Register 2007: Coming to Terms with Nature, ed. Leo Panitch and Colin Leys (New York: Monthly Review Press, 2007), 180.

[23] Farshad Araghi, “The Great Global Enclosure of Our Times,” in Hungry for Profit, ed. Fred Magdoff, John Bellamy Foster, and Fredrick H. Buttel (New York: Monthly Review Press, 2000), 145–60.

[24] Wallace et. al., “COVID-19 and Circuits of Capital,” 6; Mike Davis, Planet of Slums (London: Verso, 2016); Mike Davis interviewed by Mada Masr, “Mike Davis on Pandemics, Super-Capitalism, and the Struggles of Tomorrow,” Mada Masr, March 30, 2020.

[25] Wallace, Big Farms Make Big Flu, 61. On the significance of the concepts of the residual and residues for dialectics, see J. D. Bernal, “Dialectical Materialism,” in Aspects of Dialectical Materialism, ed. Hyman Levy et. al (London: Watts and Co., 1934), 103–4; Henri Lefebvre, Metaphilosophy (London: Verso, 2016), 299–300.

[26] Karl Marx and Frederick Engels, Collected Works, vol. 25 (New York: International Publishers, 1975), 460–61; Lankester, The Kingdom of Man, 159.

[27] Matt Leonard, “What Procurement Managers Should Expect from a Bullwhip on Crack,” Supply Chain Dive, March 26, 2020.

[28] On time-based competition and just-in-time production, see “What Is Time-Based Competition,” Boston Consulting Group.

[29] Suwandi, Value Chains, 59–61; John Smith, Imperialism in the Twenty-First Century (New York: Monthly Review Press, 2016).

[30] Walden Bello, “Coronavirus and the Death of ‘Connectivity,'” Foreign Policy in Focus, March 22, 2010; “Annual Growth in Global Air Traffic Passenger Demand from 2006 to 2020,” Statista, accessed April 22, 2020.

[31] Shannon K. O’Neil, “How to Pandemic Proof Globalization,” Foreign Affairs, April 1, 2020.

[32] Stefano Feltri, “Why Coronavirus Triggered the First Global Supply Chain Crisis,” Pro-Market, March 5, 2020.

[33] Elisabeth Braw, “Blindsided on the Supply Side,” Foreign Policy, March 4, 2020.

[34] Francisco Betti and Per Kristian Hong, “Coronavirus Is Disrupting Global Value Chains. Here’s How Companies Can Respond,” World Economic Forum, February 27, 2020; Braw, “Blindsided on the Supply Side.”

[35] Braw, “Blindsided on the Supply Side”; Thomas Y. Choi, Dale Rogers, and Bindiya Vakil, “Coronavirus is a Wake-Up Call for Supply Chain Management,” Harvard Business Review, March 27, 2020.

[36]Nearly 3 Billion People Around the Globe Under COVID-19 Lockdowns,” World Economic Forum, March 26, 2020.

[37] Lizzie O’Leary, “The Modern Supply Chain Is Snapping,” Atlantic, March 19, 2020.

[38] Choi et. al., “Coronavirus is a Wake-Up Call for Supply Chain Management”; Willy Shih, “COVID-19 and Global Supply Chains: Watch Out for Bullwhip Effects,” Forbes, February 21, 2020.

[40] Emma Cosgrove, “FAA Offers Safety Guidance for Passenger Planes Ferrying Cargo,” Supply Chain Dive, April 17, 2020.

[41]Trade Set to Plunge as COVID-19 Pandemic Upends Global Economy,” World Trade Organization, April 8, 2020; S. L. Fuller, “WTO: 2020 Trade Levels Could Rival the Great Depression,” Supply Chain Dive, April 9, 2020.

[42] Deborah Abrams Kaplan, “Why Supply Chain Data is King in the Coronavirus Pandemic,” Supply Chain Dive, April 7, 2020; O’Leary, “The Modern Supply Chain Is Snapping”; Chad P. Bown, “COVID-19: Trump’s Curbs on Exports of Medical Gear Put Americans and Others at Risk,” Peterson Institute for International Economics, April 9, 2020; Shefali Kapadia, “From Section 301 to COVID-19,” Supply Chain Dive, March 31, 2020.

[43] Finbarr Bermingham, Sidney Leng, and Echo Xie, “China Ramps Up COVID-19 Test Kit Exports Amid Global Shortage, as Domestic Demand Dries Up,” South China Morning Post, March 30, 2020.

[44] Kapadia, “From Section 301 to COVID-19”; “Companies’ Supply Chains Vulnerable to Coronavirus Shocks,” Financial Times, March 8, 2020; Bermingham, Leng, and Xie, “China Ramps Up COVID-19 Test Kit Exports.”

[45]COVID-19: Where Is Your Supply Chain Disruption?,” Future of Sourcing, April 3, 2020.

[46] Thomas A. Foster, “Risky Business: The True Cost of Supply-Side Disruptions,” Supply Chain Brain, May 1, 2005; Kevin Hendricks and Vinod R. Singhal, “The Effect of Supply Chain Disruptions on Long-Term Shareholder Profitability, and Share Price Volatility,” June 2005, available at http://supplychainmagazine.fr.

[47] “Supply-Chain Finance is New Risk in Crisis,” Wall Street Journal, April 4, 2020; “CNE/CIS Trade Finance Survey 2017,” BNE Intellinews, April 3, 2017.

[48] Stephen Roach, “This Is Not the Usual Buy-on-Dips Market,” Economic Times, March 18, 2020.

[49] COVID-19 Response Team, Imperial College, Report 12: The Global Impact of COVID-19 and Strategies for Mitigation and Suppression (London: Imperial College, 2020), 3–4, 11.

 

[50] Ahmed Mushfiq Mobarak and Zachary Barnett-Howell, “Poor Countries Need to Think Twice About Social Distancing,” Foreign Policy, April 10, 2020; Zachary Barnett-Howell and Ahmed Mushfiq Mobarak, “The Benefits and Costs of Social Distancing in Rich and Poor Countries,” ArXiv, April 10, 2020.

 

[51] Davis, “Mike Davis on Pandemics, Super-Capitalism, and the Struggles of Tomorrow.”

[53] “Analysis: The Pandemic Is Ravaging the World’s Poor Even If They Are Untouched by the Virus,” Washington Post, April 15, 2020; Matt Leonard, “India, Bangladesh Close Factories Amid Coronavirus Lockdown,” Supply Chain Dive, March 26, 2020; Finbarr Bermingham, “Global Trade Braces for ‘Tidal Wave’ Ahead, as Shutdown Batters Supply Chains,” South China Morning Post, April 3, 2020; I. P. Singh, “Punjab: ‘No Orders, No Raw Material,'” Times of India, April 1, 2020.

[54] Roach, “This Is Not the Usual Buy-On-Dips Market.”

[55] Kapadia, “From Section 301 to COVID-19.”

[56] Bown, “COVID-19: Trump’s Curbs on Exports of Medical Gear.”

[57] David Ruccio, “The China Syndrome,” Occasional Links and Commentary, April 14, 2020; Alan Rappeport, “Navarro Calls Medical Experts ‘Tone Deaf’ Over Coronavirus Shutdown,” New York Times, April 13, 2020; John Bellamy Foster, Trump in the White House (New York: Monthly Review Press, 2017), 84–85.

[58] Cary Huang, “Is the Coronavirus Fatal for Economic Globalisation?,” South China Morning Post, March 15, 2020; Frank Tang, “American Factory Boss Says Pandemic Will Change China’s Role in Global Supply Chain,”South China Morning Post, April 15, 2020.

[59] John Reed and Song Jung-a, “Samsung Flies Phone Parts to Vietnam After Coronavirus Hits Supply Chains,” Financial Times, February 16, 2020; Finbarr Bermingham, “Vietnam Lured Factories During Trade War, but Now Faces Big Hit as Parts from China Stop Flowing,” South China Morning Post, February 28, 2020.

[61] Tang, “American Factory Boss Says Pandemic Will Change China’s Role in Global Supply Chain.”

 

[62] Christopher C. Krebs, “Advisory Memorandum on Identification of Essential Critical Infrastructure Workers,” U.S. Department of Homeland Security, March 28, 2020.

[63] Lauren Chambers, “Data Show that COVID-19 is Hitting Essential Workers and People of Color Hardest,” Data for Justice Project, American Civil Liberties Union, April 7, 2020.

[64] Karl Marx, Texts on Method (Oxford: Basil Blackwell, 1975), 195.

[65] Frederick Engels, “The Funeral of Karl Marx,” in Karl Marx Remembered, ed. Philip S. Foner (San Francisco: Synthesis, 1983), 39.

[66] Guy Standing, Plunder of the Commons: A Manifesto for Sharing Public Health (London: Pelican, 2019), 49; John Bellamy Foster and Brett Clark, The Robbery of Nature (New York: Monthly Review Press, 2020), 167–72.

[67] John Bellamy Foster and Robert W. McChesney, The Endless Crisis (New York: Monthly Review Press, 2012).

[68]It’s Now 100 Seconds to Midnight,” Bulletin of Atomic Scientists, January 23, 2020.

[69] “Microbial Resistance a Global Health Emergency,” UN News, November 12, 2018; Ian Angus, “Superbugs in the Anthropocene,” Monthly Review 71, no. 2 (June 2019).

[70] Karl Marx and Frederick Engels, The Communist Manifesto (New York: Monthly Review Press, 1964), 2.

[71] Karl Marx, Capital, vol. 3, 949.

[72] Karl Marx and Frederick Engels, Collected Works, vol. 1 (New York: International Publishers, 1975), 173; Wallace et al., “COVID-19 and Circuits of Capital.”

 

 

หมายเหตุ: ผู้แปลขอขอบคุณความช่วยเหลือจากปาลิดาและอติกานต์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net