คุยกับเบนจา นักกิจกรรมจากแนวร่วม มธ.ฯ กับปีที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

“ที่สำคัญคือไม่ใช่การกลัวว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น แต่ถามว่าเราจะทำอะไรกับปัจจุบันให้มันดีที่สุด”

“หนูอยากเป็นให้ได้แบบพี่ไผ่ เขาเป็นคนที่หนูนับถือมาก”

เจ้าของถ้อยคำเหล่านี้ คือ เบนจา อะปัญ นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย แห่งแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตาเธอจากการถือป้าย 'ผูกขาดวัคซีน หาซีนให้เจ้า' ที่ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม เพื่อให้สังคมมองเห็นปัญหาการจัดซื้อวัคซีน COVID-19 ของรัฐบาล 

นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้ปราศรัยหลัก #ม็อบ24มีนา 'เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร' ร่วมกับ อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ และภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ โดยทั้งสามคือผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากกรณีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี ถนนสาทร 

เพื่อให้ผู้อ่านรู้จักเบนจา อะปัญ มากขึ้น นี่คือบทสัมภาษณ์ขนาดยาวโดยประชาไท ที่ได้พูดคุยกับเบนจา ถึงเรื่องราวของเธอ ทำไมเธอถึงเลือกเข้ามาเป็นนักกิจกรรมการเมือง สิ่งที่นักกิจกรรมการเมืองต้องแบกรับ งานอดิเรก และภาพการเมืองในฝันของเธอ 

รูป เบนจา อะปัญ นักกิจกรรมการเมืองจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
 

“หนูกินกาแฟได้ไหมระหว่างสัมภาษณ์ เขาจะได้รู้ว่าหนูทานอเมริกาโนไม่หวาน” 

วันนี้เธอยังสวมเสื้อที่เป็นสัญลักษณ์ของเธอสเวตเตอร์สีเหลือง ที่เธอซื้อมาโดยตั้งใจว่าจะใส่ให้เข้ากับผมที่ย้อมเป็นสีแดง นอกจากนี้ สีเหลืองยังเป็นสีโปรดของเธอ เนื่องจากมันให้อารมณ์ของความสดใส และให้ความรู้สึกแอ็กทีฟ

เสื้อตัวนี้เป็นตัวเดียวกับที่เธอใส่ชูป้าย ‘ผูกขาดวัคซีน หาซีนให้เจ้า’ ที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังริมลำน้ำเจ้าพระยา ไอคอนสยาม เธอตั้งใจจะใส่จนกว่าจะขาดจนพัง วันนั้นมาถึงคงจะเศร้า เนื่องจากเธอซื้อมาแค่ตัวเดียว “ซื้อไม่ทัน หมดสต๊อกไปแล้ว” เธอปรารภถึงเสื้อตัวเก่งที่เริ่มมีรอยขาด

“เบนจา อะปัญ นักศึกษาปี 1 หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ (นานาชาติ) ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) และเป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมค่ะ” เบนจา แนะนำตัวอย่างเป็นทางการ 

เบนจา มีพื้นเพจากจังหวัดนครราชสีมา ถิ่นอีสาน ก่อนย้ายมาเรียนที่เตรียมอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ ช่วง ม.ปลาย ความฝันของเธอคือการได้โอกาสทำงานให้นาซ่า (NASA) หรือ Space X 

เธอเป็นสมาชิกแนวร่วมฯ รุ่นบุกเบิกพร้อมกับรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) และเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) และผู้อ่านหลายคนน่าจะจำเธอได้จากข่าวถือป้าย 'ผูกขาดวัคซีน หาซีนให้เจ้า' ที่ห้างไอคอนสยาม เมื่อวันที่ 19 ม.ค.64 

ปัจจุบัน เธอยังเป็นนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดี ด้วยมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ จำนวนทั้งสิ้น 4 คดี จากกรณีผู้อ่านจดหมายภาษาไทยหน้าสถานทูตเยอรมัน ใส่เสื้อครอปท็อปเดินที่ห้างสยามพารากอน ชูป้ายหน้าตึกศรีจุลทรัพย์ และชักธงขึ้นเสาและสาดอาหารสุนัขให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.คลองหลวง 

เพื่อให้เข้าใจตัวตนของเบนจา อะปัญ จากแนวร่วมฯ มากขึ้น ประชาไทจึงชวนเธอมาคุยถึงเรื่องราวของเธอ 

นักกิจกรรมชูป้ายผูกขาดวัคซีน ถูก รปภ.ห้างตบหน้า จน #แบนไอคอนสยาม ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้อง 13 ผู้ต้องหา มาตรา 112 และ 116 จากกรณีหน้าสถานทูตเยอรมัน ไปวันที่ 13 พ.ค.

ประมวล #ม็อบ24มีนา 'เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร' ที่แยกราชประสงค์ โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

‘จะพารุ้งออกมาให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้’ คำสัญญาจากเบนจา ถึงรุ้ง ปนัสยา

ตร.คุมฝูงชนพร้อมรถฉีดน้ำคุมสภ.คลองหลวงรอรับประชาชน 22 คนเข้ารายงานตัวคดีตามหาตัว 'นิว สิริชัย' และให้กำลัง 'เดฟ ชยพล'

'เพนกวิน-เบนจา' ชูป้ายหน้า บ.สยามไบโอไซเอนซ์ วิจารณ์การแจกจ่ายวัคซีน

เหตุเกิดที่ป้ายรถเมล์ตรงข้ามสยามพารากอน

หากจะมีเรื่องอะไรที่ทำให้เบนจา เริ่มสนใจการเมือง คงเป็นช่วงที่เธอเดินทางมาที่กรุงเทพฯ และพบเห็นปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงฟ้าอมรแห่งนี้ 

“เรายืนรอรถเมล์อยู่ตรงข้ามห้างสยามพารากอน แล้ววันนั้นเป็นวันฝนตก และเราก็รอรถเมล์ และรถเมล์มันก็ผ่านมา ซึ่งใช้เวลานานมากกว่าจะผ่านมา และถนนในกรุงเทพฯ มันก็อับ ๆ ชื้น ๆ และเราก็เห็นรถเมล์ และเราก็ยืนถอนหายใจตรงนั้น 

“ที่ผ่านมาในชีวิตเราไม่เคยต้องมาเจออะไรอย่างนี้ เราเป็นลูกชนชั้นกลาง แม่ดูแลทุกอย่างให้ตลอด พอต้องมาใช้ชีวิตเอง เราเห็นความเป็นจริงของประเทศนี้ว่ามันแย่ มันโทรมจัง และพอเราเปรียบเทียบกับประเทศอื่นอย่างญี่ปุ่น เราก็รู้สึกว่ามันดีได้มากกว่านี้สิ ทำไมประเทศเราถึงพัฒนาได้แค่นี้” เบนจา เริ่มทบทวนถึงจุดเริ่มต้นความคิดทางการเมืองของเธอ 

นับแต่วันนั้น เบนจาเริ่มตั้งคำถามต่อสิ่งรอบตัว ทำไมสายไฟถึงเป็นแบบนี้ หรือทำไมฟุตบาธไม่ได้มาตรฐาน คำว่า ‘ทำไม’ ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมาสู่การค้นหาต้นตอของปัญหา   

“ก็ลองค้นหาคำตอบ พบว่าการเมืองนี่ละ มันมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเลย เพราะว่าการเลือกคนมาบริหารงานส่วนนี้ งบประมาณที่จะเอามาพัฒนาขนส่ง หรือส่วนต่าง ๆ ทำให้เราเริ่มซึมซับมากขึ้นเรื่อย ๆ หาอ่านนู่นนี่นั่น บทความในเฟซบุ๊ก ตามทวิตเตอร์ และมันก็ซึมเข้ามาเอง ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปเลย” เบนจา กล่าว

เดบิวครั้งแรก “ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. ตรวจสอบประยุทธ์ถวายสัตย์ไม่ครบ”

คนที่ชักนำเธอเข้าสู่เส้นทางนักกิจกรรมการเมือง คือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน เพื่อนตั้งแต่สมัยมัธยมฯ ซึ่งขณะนั้นเพนกวินกำลังหาคนช่วยงานพอดี 

 

“เรารู้จักกับพริษฐ์ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่เตรียมอุดมศึกษาฯ เป็นเพื่อนของเพื่อน” เบนจาย้อนความ

“พริษฐ์ มาเริ่มชวนเราทำกิจกรรม เพราะคงเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า เรามีสกิลในเรื่องการถ่ายภาพ หรือวิดีโอ พริษฐ์ตอนนั้นอยากได้คนมาช่วยงานเกี่ยวกับงานพีอาร์ ก็เลยติดต่อเรามา 

“ตอนจะจบเตรียมฯ มันจะมีงานพรอม พริษฐ์จ้างเราไปถ่ายรูปในงานพรอม มันก็เลยเหมือนมีคอนเนกชันกัน คนนี้มีสกิลด้านนี้ มันก็เลยน่าจะช่วยงานตรงนี้ได้นะ บวกกับว่าเราสนใจการเมืองอยู่แล้ว ก็เลยโอเค คุยกันง่ายหน่อย จากนั้นก็พัฒนามาเป็นเพื่อนร่วมกิจกรรมกันด้วย” เบนจา เล่าให้ฟังตอนที่เพนกวินมาชวนเธอทำงาน 

เดบิวงานแรกในฐานะนักกิจกรรมของเบนจา คือ การยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ตรวจสอบประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีถวายสัตย์ไม่ครบ 

“ความรู้สึกตอนนั้นคือ Fulfill เพราะเราอยากทำมันมาตั้งนานแล้ว พอพริษฐ์ชวนไปทำ เราก็ตอบตกลงไปเลย เราจะช่วยเท่าที่เราจะช่วยได้” เบนจา พูดถึงตอนทำกิจกรรมการเมืองครั้งแรก 

ก่อนหน้าจะเป็นนักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมฯ เบนจา เล่าเพิ่มว่า เธอมีความสนใจเรื่องการเมืองเป็นทุนเดิม ชอบนำประเด็นขึ้นมาถกในหมู่เพื่อน ๆ เกี่ยวกับการเมือง และสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเพื่อนของเธอเป็นนักเรียนสายสังคมศาสตร์ ซึ่งอ่านหนังสือและติดตามการเมืองมามากกว่าเธอ พอได้คุยแล้วก็ทำให้เธอมีความรู้มากขึ้น และสนใจการเมืองมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม เธอกลับไม่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองช่วงเรียน ม.ปลายเลย ซึ่งเธอรู้สึกเสียดายมาก และหากย้อนเวลากลับไปได้ จะเริ่มทำกิจกรรมการเมืองอย่างไม่รีรอ   

“ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราอยากจะออกมาเคลื่อนไหวให้มันมากกว่านี้ตั้งแต่สมัยที่เป็นนักเรียน เพราะเราก็กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่มีคนในชีวิตออกไปทำ มีแค่เพนกวินที่รู้จัก แต่ยังไม่สนิทกัน ตอนนั้นไม่กล้าที่จะออกไป แต่การเปลี่ยนแปลงมันก็ต้องมีคนกล้า ถ้าเราเริ่มตั้งแต่ตอนนั้นก็คงดี อย่างน้อยได้ส่งต่อ ได้ชวนเพื่อน ๆ ได้ตระหนักว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศเรา” เบนจา กล่าว  

การขึ้นปราศรัยครั้งแรกในงานไพร่พาเหรด เรื่องสตรีในพื้นที่วิทยาศาสตร์

“ตื่นเต้นมาก และยากมาก feel มันไม่เหมือนพรีเซนต์งาน หรือคุยกับเพื่อน มันจะต้องมีดีเทล มีการพูดปลุกใจมวลชนให้อินไปกับเรื่องที่เราเล่า ก็ยากเหมือนกัน และคนเยอะด้วย” เบนจา กล่าวถึงความรู้สึกการปราศรัย

งานไพร่พาเหรด จัดโดย เสรีเทยพลัส เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2564
 

เบนจาเล่าให้ฟังตอนที่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2563 เรื่อง พื้นที่สตรีในแวดวงวิทยาศาสตร์ ณ งานไพร่พาเหรด จัดโดยเสรีเทยพลัส แม่งานใหญ่ในขณะนั้น คือ แร็ปเตอร์ หรือสิรภพ อัตโตหิ แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า แร็ปเตอร์ เป็นทั้งเพื่อนที่เตรียมอุดมฯ และเป็นผู้ชักนำเบนจา ให้ขึ้นปราศรัยครั้งแรก 

“มีโอกาสได้สนทนากับแร็ปเตอร์บ่อย และเราก็บ่นให้แร็ปเตอร์ฟังเรื่องชีวิต และเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับเราก่อนที่จะมาเรียนวิศวะ ทางบ้านไม่อยากให้เรียนเท่าไหร่ แต่เขาไม่บังคับ ก็เล่าสู่กันฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะเขามองว่าเราเป็นผู้หญิง ทำงานวิศวะมันจะไม่รุ่งเท่าผู้ชาย”

“แร็ปเตอร์ก็เลยรู้สึกว่า เออ จริง ๆ เธอพูดเรื่องนี้ได้นะ มาเล่าต่อให้สังคม และก็ตีแผ่ได้นะว่าปัญหามันเกิดขึ้นจริง ๆ และไม่ได้เกิดขึ้นกับมึงด้วย” เบนจา เล่าถึงเหตุผลที่หยิบจับประเด็นนี้ขึ้นมาปราศรัยครั้งแรก

“ภาพจำของสังคม ผู้ชายจะเก่งเลข คำนวณ แต่ผู้หญิงจะเก่งท่องจำ และก็เป็นภาพที่ติดตาว่าวิศวะไม่เหมาะกับผู้หญิง ผู้หญิงไปเรียนวิศวะจะจบไปทำงานในโรงงานไหวไหม จะไปสู้พวกผู้ชายได้ไหม เราเลยตั้งคำถามกับตัวเอง” 

“เวลาเรานึกถึงนักวิทยาศาสตร์เอกของโลก ผู้ชายจะผุดออกมาเต็มเลย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ไอแซก นิวตัน หรือ ไมเคิล ฟาราเดย์ แต่ว่าจะมีผู้หญิงหลุดมาคนเดียวคือมารี คูรี เราไม่เคยสงสัยเลยเหรอว่า ผู้หญิงในสมัยก่อนเป็นยังไง ทำอาชีพอะไรกันแน่ พวกเขาไม่มีความฝันเป็นนักวิทยาศาสตร์เหรอ” เบนจา กล่าว

เบนจาในวันที่ 24 มี.ค. 2564 การชุมนุมที่แยกราชประสงค์
 

ดังนั้น จุดประสงค์ของการปราศรัย คือ ทลายภาพจำในสังคมว่าผู้หญิงไม่สามารถทำงานกับเครื่องจักร หรือโรงงานได้ และอยากให้ผู้หญิงกล้าฝัน ถ้าอยากจะทำงานสายวิทย์ วิศวกร หรือในสายงานที่เกี่ยวข้องก็ทำได้เลย และเธอก็อยากจะให้ความกล้ากับผู้หญิง ให้พวกเธอมั่นใจว่าผู้หญิงอยากเป็นอะไรก็ได้ที่อยากจะทำโดยที่ไม่มีคำว่าเพศมาเป็นข้อจำกัด 

“ถ้าเรื่องของผู้หญิง หนูก็จะบอกว่า อยากให้ทุกคนมั่นใจในตัวเอง และอยากให้มั่นใจในตัวเองมาก ๆ ว่าเราสามารถเป็นแบบนี้ได้ โดยที่ไม่มีคำว่าเพศเป็นตัวเส้นแบ่งขีดจำกัดของเรา” 

“แต่ถ้ามีโอกาสจะปราศรัยอีกแน่นอน ทำการบ้านเลย คือจะฝึกพูดไว้ เราอยากปราศรัยนะ” เบนจา กล่าวถึงความรู้สึกของการปราศรัยครั้งแรก ก่อนที่วันที่ 24 มี.ค. 2564 เธอจะขึ้นปราศรัยบนรถขยายเสียงที่แยกราชประสงค์

เสรีเทยพลัสXผู้หญิงปลดแอก จัด #ม็อบตุ้งติ้ง2 #ไพร่พาเหรดเพื่อประชาธิปไตย ความหลากหลายและความเท่าเทียม

‘เบนจา เธอคงไม่รู้สินะ ว่าหลังจากวันนั้นชีวิตของเธอจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป’ 

ข้อความข้างต้น เบนจาเคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแอ็กเคานต์ของเธอเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.63 รูปที่เบนจาโพสต์นั้น เป็นรูปที่เธอเข้าร่วมการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่เธอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแนวร่วม มธ.ฯ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รุ้ง ถึงกับออกปากอยากร่วมงานกับเบนจา จนได้มาฟอร์มทีมแนวร่วมฯ ด้วยกัน ก่อนที่หลังจากนั้น จะเป็นปีที่เปลี่ยนชีวิตเบนจาตลอดไป 

“ปีที่แล้วเราลงมาเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว คือ Full-time activist part-time student ตลกร้ายเนอะ การที่เราได้เข้ามาธรรมศาสตร์ และได้มาทำงานร่วมกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเราเลยนะ พอขาข้างหนึ่งมันเข้ามาแล้ว มันต้องไปต่อ เราหยุดไม่ได้ ทุกวันนี้หนูยังไม่เคยคิดเรื่องหยุดในหัวเลย เราเริ่มได้รู้จักนักกิจกรรมคนอื่น ๆ มากขึ้นที่สู้กันมา ตั้งแต่คนเดือนตุลา คนเสื้อแดง มีทั้งตอนต่อต้านรัฐประหาร มันทำให้เห็นมุมมองชีวิต ได้เห็นการทำงาน ได้เห็นการต่อสู้ของกิจกรรมคนอื่น ๆ” เบนจา กล่าว

ประมวล 'เยาวชนปลดแอก-สนท.' ชุมนุมร้องยุบสภา หยุดคุกคาม ปชช. ร่างรธน.ใหม่

การพูดถึงสถาบันฯ ในวันที่รัฐคอยกำจัดคนเห็นต่าง 

การวิจารณ์เรื่องสถาบันฯ นั้น เบนจา เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเธอมักจะโพสต์ข้อความ หรือวิจารณ์ในโลกโซเชียลมีเดีย แต่เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งแล้ว เบนจาก็มองว่า เราควรออกมาพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะกันจริง ๆ เสียที

 

“ถามว่าเอาความกล้ามาจากไหน รู้แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องพูด แล้วจะมากลัวไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องผิด เราแค่ทวงถามความเป็นจริง 

แม้ในช่วงที่ผ่านมา จะมีการใช้มาตรา 112 เพื่อจัดการผู้เรียกร้องประชาธิปไตย และเธอเองก็โดนดำเนินคดีตามมาตรา 112 ไปทั้งสิ้น 4 คดีแล้ว แต่เบนจา ยังยืนยันว่า เธอจะพูดต่อไป ต่อให้มันต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม

“การพูดในที่สาธารณะ เราต้องยอมรับว่ามันมีความเสี่ยงที่มันต้องเกิดขึ้นกับเราแน่นอน เรารู้อยู่เต็มอก คนที่มาทำตรงนี้ย่อมรู้ดี เราต้องพร้อมว่า เราไปรับความเสี่ยงตรงนั้นไหวไหม 

แต่เรารู้สึกว่า เราไม่สามารถเก็บมันไว้ได้ ถ้าเราไม่พูด เราคงเสียใจ ต่อให้มันต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม หนึ่งคนพูด สองคนพูด พันคน หมื่นคน แสนคน ล้านคน หนูว่ามันก็ส่งผลกระทบได้ แต่เราก็ยังเห็นความพยายามของรัฐในการข่มขู่คุกคามคนที่ออกมาพูด มันไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมรับความเสี่ยงตรงนี้ เราไม่โทษเขาเลยนะ คนที่ผิดจริง ๆ คือรัฐต่างหาก” เบนจา กล่าวถึงความรู้สึกของเธอ 

เรื่องที่ต้องแบกรับในฐานะการเป็นแกนนำนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย 

“เราไม่กล้าเรียกตัวเองว่าแกนนำ เรารู้สึกว่าตัวเราเป็นคน ๆ หนึ่ง ที่ออกมาเคลื่อนไหว และเราพูดในสิ่งที่เราคิดออกมา เขียนโปรเจกต์ให้สังคมได้รับรู้ว่า ปัญหาต้องได้รับการแก้ไข ปัญหาคืออะไร และเราก็อยาก encourage เชื่อมั่นในพลังตัวเอง” เบนจา เอ่ยขึ้น

ถ้าถามว่าต้องแบกรับอะไรบ้าง ในฐานะที่ต้องมาทำขบวนการเคลื่อนไหว เบนจา เล่าว่า แน่นอนว่าการเป็นนักศึกษา มันทำให้มีภาระที่ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องการเรียน ดูเรื่องการเมืองมากขึ้น ชีวิตส่วนตัวหายไป เพราะงานการเมืองเป็นงานที่มีพลวัต มันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา วัน ๆ หนึ่งต้องทำการบ้านกับมันเยอะมาก รับข้อมูลข่าวสารเยอะมากในแต่ละวันทั้งข้างนอกและข้างในขบวนการ ข้างนอกเห็นว่า เราไปทำงานหน้าบ้าน แต่งานข้างในเหนื่อยกว่าเยอะ อีกเรื่องที่เธอบอกว่าต้องแบกรับเยอะไม่แพ้กัน คือ ความคาดหวัง โดยเฉพาะจากประชาชน และเพื่อน ๆ ด้วยกัน 

“ด้วยความที่เราเป็นกลุ่มคนที่จะมาเปลี่ยนแปลงประเทศนะ ความกดดันมันย่อมสูงอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้แบกแค่ชีวิตตัวเรา เราแบกเรื่องของคนอื่นไว้ด้วยเยอะ มีมวลชน มีเพื่อน ๆ มันทำให้เราค่อนข้างต้องกดดัน และเครียด

“ประชาชนกลุ่มนี้ต้องการแบบนี้ ประชาชนแบบนี้ต้องการแบบนี้ แต่เราไม่สามารถตอบสนองให้ทุกคนได้ในบางประการ เราก็จะมีเช็กฟีดแบ็ก และเราก็จะดู รู้สึกดาวน์เลยว่าแบบเราทำไม่ได้ อันนั้นเราขอโทษจริง ๆ ค่ะ มันก็จะเป็นความรู้สึกกดดัน ตอนเพื่อนโดนจับ ก็จะเคว้ง อยู่กันก็ต้องระมัดระวัง มันก็ประกอบกัน มันทำให้เราท้อได้ เหนื่อยได้ 

“ชีวิตส่วนตัวก็หายไปเยอะ แต่ก่อนชอบดูภาพยนตร์มาก 80 เรื่องต่อปี แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้ดูสักเรื่องหนึ่ง หรือว่าแบบครอบครัว เราก็ละเลยเขาไปพอสมควร เพราะเราเอาเวลามาทุ่มให้กับตรงนี้ ความสัมพันธ์ในชีวิต เพื่อน ๆ ที่เคยเรียนในสมัยมัธยมฯ สมัยจุฬาฯ เราก็ไม่ค่อยได้กลับไปติดต่อเขา เพราะว่าเราแบกเรื่องอื่นอยู่” นักกิจกรรมจากแนวร่วมฯ กล่าว 

วิธีการรับมือกับความกดดันและไอดอลของเบนจา 

นักกิจกรรมการเมืองก็เป็นเหมือนมนุษย์ทุกคน มีความรู้สึกที่เหนื่อยได้ ท้อได้ แต่วิธีการรับมือเรื่องนี้ นักกิจกรรมก็มีความเห็นแตกต่างกันไป  

เบนจา กล่าวว่า วิธีรับมือความกดดันนี้เธอได้รับมาจากรุ่นพี่นักกิจกรรมการเมืองที่เคารพมาก ๆ คนหนึ่ง และคนนั้นก็คือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือหลายคนรู้จักเขาในชื่อ 'ไผ่ ดาวดิน' 

“นอน กับหายใจเข้าลึก ๆ คำว่าหายใจเข้าลึก ๆ เป็นคำที่นักกิจกรรมที่หนูนับถือคนหนึ่งได้บอกกับหนูไว้ คือพี่ไผ่ ดาวดิน” 

“หนูชอบพี่ไผ่มากเลยนะ ถ้ามีอะไร หายใจเข้าลึก ๆ Don’t Worry Be Happy มันก็ช่วยทำให้เราเบาลง โอเค ถึงปัญหามันจะไม่ได้หายไป แต่มันทำให้เราตั้งสติกับชีวิต สูดหายใจเข้าไป เอาออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง มันก็ช่วยเราได้ และก็นอนพักผ่อนให้เพียงพอ หาอะไรอร่อย ๆ กิน มันก็ทำให้เราได้ชีวิตอยู่กับตัวเอง ได้ผ่อนคลาย ไม่เอาตัวเองไปจมกับเรื่องงานมากเกินไป จริง ๆ การนอนเป็นการช่วยชีวิตไว้เยอะเหมือนกันนะ เวลาหนูคิดงานไม่ออก ไม่รู้จะทำอะไรกับชีวิต หนูจะนอนก่อน เก็บแรงไว้ก่อน ตื่นมาค่อยสู้ใหม่ 

“มีอีกวิธีหนึ่งคือ การอยู่กับเพื่อน เล่าให้เพื่อน เผื่อมันจะมีมุมมอง ทำให้รู้ว่าเออ เราไม่ได้อยู่คนเดียวนะ มันยังมีคนพร้อมซัปพอร์ต

“หนูอยากเป็นให้ได้แบบพี่ไผ่ เขาเป็นคนที่หนูนับถือมาก เขาดูเป็นคนชิล ๆ เนอะ แต่เขามีความจริงจัง และหนักแน่นในอุดมการณ์มากพอสมควร เรื่องการติดคุกอะไรอย่างนี้ คือส่วนหนึ่งที่ทำให้หนูไม่กลัว และมีความหวังที่จะสู้ต่อ ส่วนหนึ่งมาจากพี่ไผ่เลยนะ เรื่องราวของพี่ไผ่ เขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้หนูเหมือนกัน” เบนจา พูดถึงรุ่นพี่นักกิจกรรมที่เธอเคารพนับถืออย่างสนุกสนาน  

‘Juno’ ภาพยนตร์ในดวงใจ  

หากพูดถึงหนึ่งในงานอดิเรกสุดโปรดของเบนจา คงหนีไม่พ้นเรื่องการดูภาพยนตร์ สถิติที่เธอเอ่ยไว้ก่อนหน้านี้ คือ 80 เรื่องต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอตัว เมื่อเป็นคอภาพยนตร์ตัวยงขนาดนี้ งั้นภาพยนตร์เรื่องไหนที่เป็นเรื่องโปรดของเธอ 

“Juno” (จูโน่) เบนจา ตอบด้วยรอยยิ้ม 

“เรื่อง Juno จะเป็นหนังที่เราจะเปิดให้เพื่อนทุกคนมาดู ถ้าเกิดใครยังไม่เคยดู เราจะเปิดให้ดูเลย เป็นหนัง coming of age เด็กอายุ 16 ปี เกิดท้อง และต้องตัดสินใจว่าจะเอาเด็กไว้หรือไม่ เป็นเรื่องความสัมพันธ์ การเติบโต”

“ดูตั้งแต่อยู่ ม.ปลาย และดูกี่ครั้งก็ชอบ รู้สึกว่ากาลเวลามันทำให้ภาพยนตร์เปลี่ยน มุมมองของเรา ณ เวลาหนึ่งที่เคยดูหนังเรื่องนี้ กลับมาดู ณ ปัจจุบัน มันอาจจะไม่เหมือนกัน สิ่งที่หนูได้จาก Juno ในวันก่อน หนูอาจจะได้แบบเรื่องของเด็กวัยรุ่น ความรัก แต่พอมาในวันนี้ มันก็ให้มุมมองทางความสัมพันธ์ดีนะ ให้แง่คิดเกี่ยวกับชีวิตเรา ถ้ามันเจอปัญหา มันจะผ่านไปได้ด้วยดี และที่สำคัญคือมีกำลังใจซัปพอร์ตจากตัวเอง คนรอบข้าง เพื่อนที่ดี ครอบครัวที่ดี”

หมายเหตุ : Juno หรือชื่อไทย ‘จูโน่...โจ๋ป่องใจเกินร้อย’ เป็นภาพยนตร์จากปี 2007 นำแสดงโดย เอลเลียต เพจ (ชื่อเดิม คือ เอเลน เพจ) และไมเคิล ซีร่า เรื่องย่อคือ จูโน หญิงสาวตัวเอกของเรื่องมีอะไรกับเพื่อนสนิท แล้วเกิดตั้งครรภ์ ทำให้เธอซึ่งขณะนั้นเป็นวัยรุ่น ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตว่าจะเลือกเก็บเด็กในท้องต่อไปหรือไม่ 

Coming of age คือ ประเภทเรื่องราวของภาพยนตร์ที่บอกเล่าการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ โดยเขาเหล่านั้นอาจได้พบกับจุดเปลี่ยนบางอย่าง ทั้งเรื่องดี และเรื่องร้าย ซึ่งทำให้ตัวละครได้เติบโตขึ้น 

‘ตามรอยอาทิตย์อุทัย’ และ ‘ผมบอกรักเธอด้วยฟอนต์ Cordia’ หนังสือสองเล่มที่เบนจาแนะนำ

เพื่อตอบสนองคำถามของผู้สื่อข่าวประชาไท เบนจาจึงควักหนังสือที่เธอกำลังอ่านมาแนะนำเราสองเล่ม สองสไตล์ เล่มแรกของ อ.ณัฐพล ใจจริง และอีกเล่มเป็นรวมเรื่องสั้นความรักเขียนโดยใบพัด นบน้อม 

เล่มแรก คือ “ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร” ของณัฐพล ใจจริง “ความที่เราเป็นคนชอบญี่ปุ่นอยู่แล้ว และก็เล่มนี้ ก็เป็นหนังสือที่เล่าเกี่ยวกับหลังจากปฏิวัติ 2475 ช่วงที่จอม ป. เป็นผู้นำในยุคนั้น”

“หนูจะชอบอ่านหนังสือสองเล่มพร้อมกัน เพราะมันจะมีอารมณ์ที่อยากอ่านเรื่องวิชาการซีเรียส ๆ กับอีก mood หนึ่งที่เราจะชอบคือ mood ทานข้าวเช้า จิบกาแฟสบาย ๆ ไม่ต้องใช้ความคิดเยอะ ซึ่งหนูจะแนะนำเล่มนี้ ‘ผมบอกรักเธอด้วยฟอนต์ Cordia’ (Cordia คือชื่อรูปแบบฟอนต์ที่อยู่ในโปรแกรมพิมพ์งาน Microsoft Words) ดูเลี่ยนเนอะ เราเป็นคนโรแมนติกเลี่ยน ๆ ชอบอ่านหนังสือรัก ๆ มันก็จะให้มุมมองเรื่องความรักดี เล่มนี้ของ ใบพัด นบน้อม ชอบนักเขียนมาก เป็นการรวมเรื่องสั้น ประมาณกี่เรื่อง 30 เรื่อง เป็นมุมมองทางความรัก สมหวัง แอบชอบ ได้เห็นมุมมองความรักหลายรูปแบบดี” 

เบนจา เล่าเพิ่มว่า ถ้าวันนี้ไม่ได้เป็นนักกิจกรรมการเมืองจากรั้วแม่โดม เธอน่าจะทำงานเขียนหนังสือ โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เธอชอบ

“เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่คลั่งรัก และก็กำลังเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่ง เขียนหนังสือเกี่ยวกับสตอรีชีวิต อะไรที่มันเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิตที่เราเดินผ่าน และเราเห็น และเรานำมาสร้างขยายเรื่องต่อได้” เบนจา ตอบ

ภาพการเมืองในฝัน 

“หนูอยากให้การเมืองมันดีขึ้น เอาแบบที่คนรุ่นหลังไม่ต้องมาเผชิญความลำบากแบบที่หนูเจอ การศึกษาดี คมนาคมดี มีรัฐสวัสดิการ น้องหนูไม่ต้องโตมาแล้วรู้สึกว่าฉันจะจบไปทำงานอะไร หรือว่าใครหลาย ๆ คนก็ไม่ต้องเกิดมา และต้องบอกว่า ชีวิตฉันมันมืดบอด เพราะว่าฉันไม่มีรัฐสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชน ถ้าคนเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี เขาก็จะมีแรงผลักดันไปทำอย่างอื่นในชีวิตเขาต่อ มันก็จะดี ถ้าฐานมั่นคง มันก็จะส่งผลระดับประเทศได้เลย 

 

“ปัญหาของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ การศึกษา ถ้าการศึกษาดี หนูก็ไม่ต้องเรียนที่กรุงเทพฯ ไม่ต้องจากบ้านไปเรียนที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 15-16 ปี เด็กทุกคนก็จะได้เรียนในจังหวัดตนเอง อยู่กับพ่อ-แม่ เติบโตกับครอบครัว ใช้ชีวิตอย่างวัยรุ่นที่เขาควรจะเป็น หรือว่าเด็ก หรือนักศึกษาในอนาคตก็ไม่ต้องมาวุ่นวายประท้วงเพื่อประชาธิปไตย เขาจะได้ไปชีวิตของเขา ใช้ชีวิตอย่างที่เขาควรจะเป็น อย่างที่วัยของเขาควรจะทำ 

“อย่าหมดหวัง หนูได้ยินหลาย ๆ คนมาคุยกับหนู เราจะเปลี่ยนแปลงได้จริงเหรอ มันยากนะ จะใครมันก็ยากทั้งนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่หนูอยากบอกก็คือ เราต้องมีหวัง ถ้าเราไม่มีหวัง มันจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเลย ความหวัง เป็นสิ่งสำคัญในการจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะถ้าเราเชื่อว่าเราทำได้ เราก็จะทำมัน แต่ถ้าเราไม่เชื่อแต่แรก เราก็จะไม่ทำ” เบนจา ทิ้งท้าย

นอกจากนี้ เบนจาฝากบอกผู้อ่านว่า สำหรับสำนักข่าวใดที่เขียนชื่อ เบนจา เป็นเบญจา เธอจะไปประท้วง 7 วัน 7 คืน ไม่หลับไม่นอนที่สำนักข่าวแห่งนั้น

หมายเหตุ : เมื่อเวลา  11.43 น. วันที่ 30 มี.ค. 2564 ประชาไทได้ดำเนินการอัปเดตบทสัมภาษณ์ และปรับแก้พาดหัวข่าวมาเป็นพาดหัวที่ใช้อยู่ปัจจุบัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท