Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

*บทความชิ้นนี้เป็นตอนที่ 2 ที่ผู้เขียนได้อธิบายถึงการเหยียดผิว การเลือกปฏิบัติ และการใช้ความรุนแรงกับคนเอเชียในสหรัฐฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
https://prachatai.com/journal/2021/03/92357

 

การเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติในประวัติศาสตร์

นอกจากความรุนแรงแล้ว คนเอเชียยังถูกกดขี่และเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในมิติต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในกระบวนการยุติธรรมคนเอเชียถูกเลือกปฏิบัติอย่างสองมาตรฐาน ยกตัวอย่างในปี 1854 ศาลสูงในแคลิฟอร์เนียได้มีคำตัดสินในคดี People v. Hall ว่าคนเอเชียไม่สามารถเป็นพยานในคดีที่เกิดขึ้นระหว่างคนเอเชียและคนผิวขาวได้ เพราะเกรงว่าจะมีอคติ แต่ศาลกลับไม่ห้ามคนผิวขาวมาเป็นพยายานในคดีที่มีลักษณะเดียวกัน ซึ่งสะท้อนการตีความแบบสองมาตรฐาน และเหยียดผิวอย่างชัดเจน คำตัดสินนี้ได้ถูกเรียกว่าเป็น “การตีความทางกฎหมายที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์”[1]

ในส่วนของนโยบายผู้อพยพของรัฐบาลสหรัฐฯ คนเอเชียได้ถูกปฏิบัติแตกต่างจากผู้อพยพมาจากยุโรปที่โดยส่วนใหญ่ได้รับการต้อนรับมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อคนจีนเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ พวกเขาถูกกล่าวหาว่ามาแย่งงานคนในพื้นที่ ในขณะที่แรงงานยุโรปไม่ค่อยได้ถูกปฏิบัติแบบที่คนเอเชียประสบ เมื่อไปถามคนอเมริกันผิวขาวหลายคนก็มักจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการอพยพเข้ามาของบรรพบุรุษตนที่ได้เดินทางเข้ามาในดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพผ่านด่านผู้อพยพที่ตั้งบนเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ชื่อว่าเกาะเอลลิส (Ellis Island) ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือนิวยอร์ค (New York Harbor) ประสบการณ์เรื่องเล่าเกี่ยวกับเกาะเอลลิสนี้มักจะเป็นเรื่องดี ๆ ที่น่าตื่นเต้น และมักใช้เป็นภาพสะท้อนความเชื่อเรื่อง ‘ความฝันของอเมริกัน’ (American dream) กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ถ้าทำงานหนัก แล้วจะประสบความสำเร็จ แต่ในทางกลับกัน คนเอเชียที่อพยพมาในสหรัฐฯ จะเจอประสบการณ์ที่มักจะตรงกันข้าม กล่าวคือ จะมีถูกเลือกปฏิบัติ ใช้เวลาไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสถานะ เพศ และสีผิว หลายคนถูกสอบสวนอย่างเข้มงวด และหลายคนต้องผ่านการตรวจร่างกายอย่างละเอียด[2] เพราะความเชื่อว่าคนเอเชียเป็นตัวเชื้อโรค หลายคนไม่ผ่านก็จะถูกส่งกลับประเทศของตัวเอง

ภาพที่ 1: คนญี่ปุ่นกำลังรอเข้าคิวเพื่อตรวจสุขภาพในด่านตรวจคนเข้าเมืองบนเกาะแองเจิล ปี 1931

ในช่วงที่มีการอพยพเข้ามาของคนจีนจำนวนมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และทำให้เกิดความไม่พอใจของคนผิวขาว ขนาดที่สภาคองเกรสได้ผ่านพระราชบัญญัติการกีดกันคนจีนในปี 1882 (Chinese Exclusion Act, 1882) กฎหมายฉบับนี้ได้กันคนจีนไม่ให้อพยพเข้ามาในสหรัฐฯ และห้ามได้รับสัญชาติอเมริกันนานถึง 10 ปี แต่หลังจาก 10 ปีผ่านไปแล้วกฎหมายนี้กลับถูกขยายเวลาไปเรื่อย ๆ สุดท้ายได้รับการแก้ไขในปี 1943[3] แต่ใช่แค่เพียงผู้อพยพชาวจีนเท่านั้นที่ถูกกีดกันในประวัติศาสตร์อเมริกัน หลังจากที่คนจีนถูกกันไม่ให้เข้าสหรัฐฯ แล้วจึงเป็นโอกาสของคนเอเชียกลุ่มอื่น ๆ ที่จะเข้ามาแทนที่ในตลาดแรงงาน ในช่วงปี 1885 แรงงานญี่ปุ่นจำนวนมาก พร้อมทั้งแรงงานจากเกาหลีและอินเดียจำนวนหนึ่งก็เริ่มเข้ามา แต่ไม่นานจากนั้นก็เริ่มมีการกีดกันคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน ในปี 1907 ผู้อพยพจากญี่ปุ่นก็ถูกจำกัดโดยข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสหรัฐและญี่ปุ่น และในปี 1917 ผู้อพยพจากอินเดียก็ถูกจำกัดเช่นเดียวกัน เนื่องจากอินเดียถูกรวมเข้ากับกลุ่มประเทศเอเชียที่ต้องถูกกีดกันในพระราชบัญญัติผู้อพยพ (Immigration Act of 1917)[4] การอพยพเข้ามาของคนอินเดียถูกมองว่าเป็น ‘การบุกรุกของฮินดู’ (Hindu invasion) ดังนั้น เมื่อเทียบกับการอพยพจากยุโรปบางส่วน (เช่น ไอแลนด์ และอิตาลี) แม้ถูกเลือกปฏิบัติและถูกกีดกันบ้างโดยนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ยังน้อยถ้าเทียบกับที่ผู้อพยพจากฝั่งเอเชียต้องประสบ

นอกจากการกีดกันแรงงานแล้ว คนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นก็ยังถูกสงสัยว่าจะเข้าข้างศัตรูในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความไม่ไว้ใจนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นได้โจมตีสหรัฐฯ ที่ท่าเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ในเดือนกุมภาพันธ์ 1942 ไม่นานหลังจากนั้น ประธานาธิบดีแฟรงกลิน โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ได้ลงชื่อในคำสั่งประธานาธิบดีที่ 9066 (Executive Order 9006) เพราะเกรงว่าคนที่มีเชื้อสายญี่ปุ่นเหล่านี้จะทำการทรยศต่อชาติด้วยการช่วยเหลือประเทศญี่ปุ่น (แต่สุดท้ายก็ไม่พบการกระทำเช่นนั้น)

ภายใต้นโยบายนี้ คนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นจำนวนกว่าแสนคนได้ถูกเกณฑ์ให้มาอยู่รวมกันในค่ายกักกัน (internment camps) ซึ่งถูกสร้างทั้งในแคลิฟอร์เนีย (California) วอชิงตัน (Washington) และออริกอน (Oregon) ชาวญี่ปุ่นในค่ายต้องมีชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน ในช่วงหน้าร้อนก็จะร้อนมากและหน้าหนาวก็จะหนาวจัด คนญี่ปุ่นต้องอยู่ในค่ายกักกันนี้จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ค่ายกักกันแห่งสุดท้ายได้ปิดตัวลงในปี 1946 เมื่อได้กลับบ้าน พวกเขาพบว่าบ้านและธุรกิจของตนเองถูกทำลายเสียหายหรือถูกยึดไปเสียแล้ว[5] ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิเหล่านี้ไม่ได้รับการเยียวยา จนกระทั่งสภาคองเกรสในปี 1988 ได้แถลงขอโทษอย่างเป็นทางการ (official apology) และได้ให้เงินเยียวยากับผู้เสียหายรายละ 20,000 เหรียญ ทั้งหมดจำนวน 80,000 ราย[6] และที่ต้องอธิบายเพิ่มคือ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ ไม่ได้รบกับแค่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ประกาศสงครามกับทั้งเยอรมนีและอิตาลีด้วย มีเฉพาะคนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นเท่านั้นที่ต้องถูกกักกันในค่าย ขณะที่คนอเมริกันเชื้อสายเยอรมันและอิตาลีไม่ถูกดำเนินการดังกล่าว

ภาพที่ 2: คนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นกำลังเดินขึ้นรถบัสเพื่อเคลื่อนย้ายไปค่ายกักกันในปี 1942
ที่มา: https://www.thirteen.org/metrofocus/2016/02/
the-history-of-americas-japanese-internment-camps/

นอกจากนี้ ในช่วงสงครามเย็นได้เกิดปรากฎการที่สำคัญสองประการที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนเอเชียและสังคมอเมริกัน ประการแรก ในช่วงนี้สหรัฐฯ ได้ส่งทหารประจำการในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดยเฉพาะในประเทศไทย) หลายล้านคน ทหารจำนวนมากนี้มีประสบการณ์ในแง่ลบกับคนเอเชียในช่วงสงคราม ส่วนหนึ่งมองแบบเหมารวมว่าคนเอเชียเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นศัตรู และไว้ใจไม่ได้ แม้สงครามยุติแล้วแต่ภาพความความทรงจำและภาพเหมารวมนั้นหาได้จางหายไปไม่ การต่อสู้แบบสงครามกองโจรในสงครามเวียดนามก่อให้เกิดความหวาดระแวงขึ้นกับเหล่าอดีตทหารตลอดเวลา นอกจากนี้ สงครามเวียดนามยังทำให้มีผู้อพยพจากประเทศอินโดจีนมาอยู่ในสหรัฐฯ มากถึงเกือบ 1.5 ล้านคน กระจายตามรัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศ (โดยเฉพาะในเมืองใหญ่) การมาของผู้อพยพเหล่าส่งผลทำให้เกิดความความตึงเครียดระหว่างคนในพื้นที่กับผู้อพยพใหม่ ความขัดแย้งระหว่างคนจับกุ้งชาวเวียดนามและกลุ่ม KKK ที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากความตึงเครียดนี้[7]

ประการที่สอง ในพื้นที่ที่ทหารอเมริกันประจำการก็มักจะมีธุรกิจบริการทางเพศเกิดขึ้นเป็นเงาตามมา อดีตทหารก็มักจะมีประสบการณ์หรือภาพเหมารวมผู้หญิงเอเชียว่ามีความสนใจหรือต้องการทางเพศ (sexual) ชอบเอาอกเอาใจผู้ชาย (pleasing) ยินยอมอยู่ใต้อิทธิพลของผู้ชาย (submissive) และเป็นวัตถุทางเพศ (sexual object) ภาพเหมารวมของผู้หญิงเอเชียนี้ได้ถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อกระแสหลักและภาพยนตร์จำนวนมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ภาพยนตร์สงครามชื่อดังเรื่อง Full Metal Jacket (1987) ที่สะท้อนภาพดังกล่าวของผู้หญิงชาวเวียดนามที่เปิดเผยในเรื่องเพศ นี่เป็นเหตุให้ผู้ชายอเมริกันจำนวนมากมักจะมีภาพจินตนาการหรือเพ้อฝัน (fantasize) ว่าผู้หญิงเอเชียจะต้องมีลักษณะเช่นนี้เหมือนกันทุกคน นี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญให้เหยื่อ 6 ใน 8 คนในการยิงในแอตแลนต้าเป็นผู้หญิงเอเชีย[8] ในบทสัมภาษณ์กับ NPR Nancy Wang Yuen ศาสตราจารย์ทางด้านสังคมวิทยาได้อธิบายอย่างน่าสนใจว่าแม้ผู้ร้ายที่ยิงผู้หญิงเอเชียทั้ง 6 คนนี้จะให้การว่าที่เขายิงผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติ (race) เลย[9] แต่เขามีเจตนาที่จะ ‘ทำลาย’ (eliminate) ‘ความต้องการทางเพศ’ (temptations) ของเขาเท่านั้นเอง ซึ่งเมื่อพิจารณาความเป็นจริงย่อมแสดงให้เห็นว่าเขาไม่สามารถแยก ‘ความต้องการทางเพศ’ ของเขาออกจากประเด็นเรื่อง ‘เชื้อชาติ’ ได้เลย เนื่องจากในสังคมอเมริกัน ผู้หญิงเอเชียถูกโยงเข้ากับเรื่อง ‘เพศ’ มาโดยตลอด สองเรื่องนี้สำหรับชายชาวอเมริกันหลายคนจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าจะทำลายความต้องการทางเพศก็ต้องทำลาย (ทำร้ายหรือฆ่า) ผู้หญิงเอเชียด้วย[10]

ภาพที่ 3: ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Full Metal Jacket (1987) เมื่อโสเภณีชาวเวียดนามเดินไปหาทหารอเมริกัน 2 นาย พร้อมพูดว่า“Me so horny. Me love you long time.” (ฉันกำลังต้องการ (ทางเพศ) มาก ฉันรักคุณนานแสนนาน)

การเหยียดผิว การเลือกปฏิบัติ และการใช้ความรุนแรงในปัจจุบัน

จากการศึกษาของ Center for Study of Hate and Extremism (CSUSB) ซึ่งเก็บสถิติอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (hate crime) ในปี 2020 ปรากฏว่าแนวโน้มโดยทั่วไป การก่ออาชญากรรมแบบนี้ลดลง 7% แต่ถ้าไปดูอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะกับคนเอเชียจะมีตัวเลขที่สูงขึ้นมากถึง 149% ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สูงมากในช่วงระยะเวลาแค่ 1 ปี หากถามต่อว่าอะไรเป็นสาเหตุก็คงคาดเดาได้ไม่ยาก สาเหตุหลักคือ การระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 เพราะตัวเลขอาชญากรรมแบบนี้จะสูงมากในเมืองที่มีการระบาดมาก เช่น นิวยอร์คซิตี้ ที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้น 833%[11] อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าการระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 นี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนอเมริกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการตกงานที่สูงเกือบ 15% ตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อมากกว่า 30 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 5 แสนคน ส่วนคนที่แม้ไม่ตกงาน ไม่ติดโรคก็ต้องมีชีวิตอยู่ในบ้านในช่วงล็อคดาวน์ ต้องยอมรับว่ากระทบกันถ้วนทั่วจริง ๆ คนอเมริกันหลายคนรู้สึกไม่พอใจและโทษคนจีนว่าเป็นต้นเหตุของโรคนี้ที่มีจุดกำเนิดมาจากประเทศจีน บางคนมีความรู้สึกกลัวคนจีนเพราะ แยกไม่ออกว่าคนจีนคนไหนเป็นคนอเมริกัน หรือเป็นคนจีนที่มาจากประเทศจีน คนเอเชียอื่นแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรคนี้ก็ได้รับผลกระทบด้วย เพราะคนอเมริกันจำนวนมากแยกไม่ออกว่าใครเป็นคนจีนคนไหนไม่ใช่

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เองก็มีนโยบายที่ผิดพลาดในการจัดการเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 จนทำให้เชื้อลุกลามระบาดและทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก แทนที่จะแก้ไขความผิดพลาดนี้ทรัมป์เองกลับเล่นการเมือง (politicize) กับโรคระบาด เนื่องจากในช่วงปลายปีจะมีการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้คนอเมริกันหันมาโทษตนเอง ทรัมป์จึงพยายามโทษประเทศจีนว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา ทรัมป์เล่นกับกระแสความเกลียดชังคนจีนโดยการเรียกโคโรน่าไวรัส 2019 ว่า “China virus” (ไวรัสของจีน) และ “Kung Flu” (คำว่า flu แปลว่าไข้ แต่เพิ่มคำว่า Kung เพื่อให้พ้องเสียงกับคำว่ากังฟูของจีน) แม้เป้าหมายที่แท้จริงของทรัมป์อาจมีเพียงแค่การเบี่ยงเบนประเด็น แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับทำให้กระแสความเกลียดชังคนเอเชียสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าในประวัติศาสตร์คนจีนมักถูกมองว่าเป็นคนที่สกปรกและเป็นต้นเหตุของเชื้อโรค การสร้างวาทกรรมไวรัสจีนของทรัมป์จึงเป็นเสมือนการผลิตซ้ำภาพเหมารวมที่เคยมีมาก่อน และทำให้การดูถูก เกลียดชัง หรือใช้กำลังกับคนจีน (หรือคนเอเชียที่ถูกเข้าใจว่าเป็นจีน)

หลังจากที่โจ ไบเดน (Joe Biden) ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ในสัปดาห์แรกที่รับหน้าที่ ไบเดนได้ลงนามคำสั่งประนามการเหยียดผิวคนเอเชียและการเกลียดกลัวคนต่างเชื้อชาติ เมื่อผู้หญิงชาวเอเชีย 6 คนถูกยิงเสียชีวิต ไบเดนได้ประนามความรุนแรง และต่อต้านความเกลียดชัง ไบเดนได้กล่าวเตือนด้วยว่า “การที่พวกเราเงียบเสมือนการช่วยให้เกิดการกระทำผิด” ("our silence is complicity") นอกจากนี้ ไบเดน ยังเรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมาย Covid-19 Hate Crimes Act[12] ซึ่งจะมีการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐในกระทรวงยุติธรรมในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีเพื่อสอดส่องดูแลอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาคองเกรสกว่า 60 คน[13]

นอกจากการเคลื่อนไหวจากฝั่งรัฐบาลแล้ว ในฟากฝั่งประชาชนได้มีการเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อหยุดการเหยียดผิวคนเอเชียผ่านช่องทางต่าง ๆ ยกตัวอย่างหลังจากที่ วิชา รัตนภักดี เสียชีวิตได้มีการรณรงค์ทั้งในในสื่อสังคมออนไลน์โดยใช้แฮชแท็ก เช่น #justiceforvicha #AsiansareHuman หรือ #AsianLivesMatter และยังมีการชุมนุมในเมืองต่าง ๆ หลายเมืองสร้างการรับรู้ถึงปัญหาความรุนแรงกับคนเอเชีย[14]

ภาพที่ 4: ภาพที่ใช้ในการรณรงค์ #JusticeforVicha ภาพด้านซ้ายออกแบบโดย Jonathan D. Chang
ที่มา:
https://www.instagram.com/p/CKx322VADWz/?utm_source=ig_embed

สรุป เมื่อเทียบการถูกเหยียดผิว การเลือกปฏิบัติ และการเป็นเหยื่อความรุนแรงของคนเอเชียในสหรัฐฯ ในอดีตแล้วยังถือว่าน้อยกว่าคนผิวดำมาก[15] แต่ครั้นจะกล่าวว่าคนเอเชียในปัจจุบันหลุดพ้นจากการถูกเหยียดผิวและการใช้ความรุนแรงก็คงไม่ใช่ ในทางกลับกันคนเอเชียตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมที่เกิดจากการเกลียดชังมาโดยตลอด และในช่วงหลังคดีในลักษณะแบบนี้ได้มีเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในอนาคตอันใกล้น่าจะดีขึ้น เพราะประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ โจ ไบเดนมีโยบายที่เป็นมิตรกับคนเอเชียมากกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงปัญหาโควิด-19 ในอนาคตก็น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเพราะการเข้าถึงวัคซีนที่มากขึ้น และที่สำคัญการสร้างความรับรู้ถึงปัญหานี้ในวงกว้างก็น่าจะช่วยทำให้สังคมอเมริกันได้เรียนรู้ถึงปัญหานี้มากขึ้น

 

อ้างอิง

 

[1] Tranor, Michael. 2017. "The Infamous Case of People v. Hall (1854): An Odious Symbol of Its Time. California Supreme Court Historical Society News Letter, Spring/Summer, p.1.

[2] Wallenfeldt, Jeff. “Angel Island Immigration Station” Britannica Encyclopedia. 21 March 2021, https://www.britannica.com/topic/Angel-Island-Immigration-Station

[3] “Chinese Exclusion Act.” 13 September 2019, Accessed on 20 March 2021, https://www.history.com/topics/immigration/chinese-exclusion-act-1882

[4] “Asian Americans Then and Now.” Asia Society. Accessed on 22 March 2021, https://asiasociety.org/education/asian-americans-then-and-now

[5] Brockell, Gillian. “The Long, Ugly History of Anti-Asian Racism and Violence in the U.S.” Washington Post. 18 March 2021, 21 March 2021, https://www.washingtonpost.com/history/2021/03/18/history-anti-asian-violence-racism/

[6] “Japanese Internment Camps.” 21 February 2020, Accessed on 22 March 2021, https://www.history.com/topics/world-war-ii/japanese-american-relocation

[7] Smith, Laura. "The War between Vietnamese Fishermen and the KKK Signaled a New Type of White Supremacy." Timeline. 6 November 2017, Accessed on 20 March 2021, https://timeline.com/kkk-vietnamese-fishermen-beam-43730353df06

[8] Dhingra, Pawan. "Racism Is Behind Anti-Asian American Violence, Even When It’s Not a Hate Crime." 19 March 2021, Accessed on 21 March 2021, https://theconversation.com/racism-is-behind-anti-asian-american-violence-even-when-its-not-a-hate-crime-157487

[9] ถ้าจุดมุ่งหมายในการยิงคือเรื่องเชื้อชาติ คดีนี้จะถูกทำให้เป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง หรือ hate crime ซึ่งจะส่งผลทำให้โทษหนักขึ้น

[10] Chang, Ailsa. “For Asian American Women, Misogyny And Racism Are Inseparable, Sociologist Says.” 19 March 2021, Accessed on 21 March 2021, https://www.npr.org/2021/03/19/979336512/for-asian-american-women-misogyny-and-racism-are-inseparable-sociologist-says

[11] “FACT SHEET: Anti‐Asian Prejudice.” Center for the Study of Hate & Extremism. March 2020, 23 March 2021, Accessed on https://www.csusb.edu/sites/default/files/FACT%20SHEET-%20Anti-Asian%20Hate%202020%203.2.21.pdf  

[12] “Atlanta Shooting: Biden Condemns Anti-Asian Racism.” BBC. 20 March 2021, Accessed on 23 March 2021, https://www.bbc.com/news/world-us-canada-56464411?xtor=AL-72-%5Bpartner%5D-%5Binforadio%5D-%5Bheadline%5D-%5Bnews%5D-%5Bbizdev%5D-%5Bisapi%5D

[13] Logan, Erin B. “Biden Supports the COVID-19 Hate Crime Bill: What Would It Do?” Los Angeles Times. 19 March 2021, 22 Accessed on 22 March 2021, https://www.latimes.com/politics/story/2021-03-19/biden-supports-covid-hate-crime-bill-what-would-it-do

[14] Thais in L.A. to rally against anti-Asian racism and for #JusticeforVicha

By Chayanit Itthipongmaetee. “Thais in L.A. to Rally Against Anti-Asian Racism and for #JusticeforVicha.” Coconuts. 5 February 2021, Accessed on 22 March 2021, https://coconuts.co/bangkok/news/thais-in-l-a-to-rally-against-anti-asian-racism-and-for-justiceforvicha/

[15] ดู ณรุจน์ วศินปิยมงคล “ประวัติศาสตร์การเหยียดสีผิวอย่างเป็นระบบในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยุคทาสจนถึงยุคเรียกร้องสิทธิพลเมือง.” 11 และ 13 มิถุนายน 2563, เข้าถึงเมื่อ 23 มีนาคม 2564, https://prachatai.com/journal/2020/06/88140 และ https://prachatai.com/journal/2020/06/88187

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net