Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์ ศรายุทธ นาคมณี หรือโจ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ถูกสุ่มรับหมายเรียกจาก สภ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ให้ไปรายงานตัวจากกรณีชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา พร้อมพูดคุยเปิดมุมมองทางความคิดการการเมือง กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมไทย

 

ศรายุทธ นาคมณี หรือโจ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือหนึ่งในประชาชนกลุ่มที่ 2 ที่ได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรภูเขียว จ.ชัยภูมิ ให้ไปรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา จากเหตุชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 โดยกลุ่มแรกที่ได้รับหมายเรียก คือ นักกิจกรรมจำนวน 10 คน รวมถึงอินทิรา เจริญปุระ หรือทราย ซึ่งทั้งหมดได้เดินทางไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา

ศรายุทธ เป็นนักกิจกรรมในนามกลุ่ม UNME of Anarchy และรู้จักกับจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้องในรั้วคณะและมหาวิทยาลัยเดียวกัน ทั้งยังมีโอกาสได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกันหลายครั้ง ทว่า ในวันที่มีการชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว ศรายุทธ ไม่ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตารม พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ ล่าสุด หลังจากศรายุทธเดินทางเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.ภูเขียว เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิกถอนหมายเรียกเนื่องจากหลักฐานในการเอาผิดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

โอกาสนี้ ประชาไทจึงชวน ศรายุทธ มาร่วมพูดคุยถึงความรู้สึกหลังได้รับการสุ่มหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมเปิดมุมมองและแนวคิดทางการเมือง รวมถึงกระบวนการยุติธรรมไทย

ผู้โชค(ไม่)ดีที่ได้รับการสุ่ม ‘หมายเรียก’

“ตอนที่เห็นรายชื่อครั้งแรก ผมไม่รู้ว่าในกลุ่มรายชื่อนั้นมีใครที่ไปหรือไม่ได้ไปทำกิจกรรมที่ สภ.ภูเขียวบ้าง แต่ผมเชื่อว่ารายชื่อที่ปรากฏอยู่ในนั้นก็คงเป็นเพื่อนๆ หรือมีความสัมพันธ์กันบางอย่าง ซึ่งอ้างอิงจากรายชื่อของนักกิจกรรมกลุ่มแรกที่มีพี่ทราย (อินทิรา เจริญปุระ) อยู่ด้วย คนอื่นๆ ที่ปรากฏชื่อในนั้นก็เป็นเพื่อนของผมหมดเลย”

“เราทำกิจกรรมทางการเมือง ตำรวจเขาก็จะเก็บข้อมูลของนักกิจกรรมที่มีพฤติกรรมโต้แย้งกับรัฐเอาไว้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ แต่ตำรวจก็จะแชร์ข้อมูลเหล่านี้กันระหว่าง สน. หรือ สภ. ต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งส่วนนี้ผมพูดตามหลักวิชาการสืบสวนสอบสวนทั่วไป พอมีกลุ่มของไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ไปทำกิจกรรมที่หน้า สภ. ตำรวจจึงไม่ลังเลที่จะออกหมายเรียก ซึ่งผมเข้าใจว่าตำรวจเขาคงจะรีบ (หัวเราะ) เขาคงรีบแหละ ก็เลยไม่ทันได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เลยออกหมายเรียกแบบสุ่มๆ มาเลย”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คิดอย่างไรกับการที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

“ผมคิดว่าเขามองเราป็นศัตรู เขาพร้อมที่จะทำอะไรสักอย่างกับเราอยู่ตลอดเวลา ความจริงคืออาจจะมีเพื่อนของผมไปเคลื่อนไหวทำกิจกรรม แต่ว่าเพื่อนผมก็ไม่ได้ทำอะไรผิด ทีนี้พอเขาจะลงไม้ลงมือกับเรา เช่น จะออกหมายเรียก จะส่งฟ้อง หรือจะใช้กฎหมายลงโทษเรา มันก็เกิดมาจากความคิดที่ว่าตำรวจไม่ได้มองเราเป็นมิตร ซึ่งเขาก็พร้อมที่จะเหมารวมใครก็ตามที่เห็นต่างจากรัฐ โดยที่ไม่ต้องดูข้อเท็จจริงใดๆ”

เตรียมการสู้คดีอย่างไร

“กรณีของผม คือ สู้ตามข้อเท็จจริงไปเลยว่าผมไม่ได้ไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็อยากจะเห็นสำนวนของตำรวจด้วย เพราะการที่ตำรวจจะฟ้องใครได้ก็ต้องนำสืบให้เต็มที่ก่อนส่งฟ้อง ดูว่ามีหลักฐานมายืนยันว่าเขาสามารถเอาผิดผมได้ มายืนยันผมไปที่นั่นจริงๆ อะไรแบบนี้”

“สิ่งที่เตรียมสู้คงเป็นพยานยืนยันที่อยู่ในวันนั้น เพราะผมก็ไม่ได้มีหลักฐานอย่างอื่น ในวันนั้นผมก็ใช้ชีวิตตามปกติ ผมจำได้ว่าวันนั้นไผ่ไลฟ์ผ่านเพจ UNME of Anarchy พอเสร็จธุระ ผมก็กลับมานั่งดูไลฟ์ในช่วงเย็นๆ พอตกค่ำ มาเช็กตารางรถโดยสาร ปรากฎว่าหมดรอบวิ่งแล้ว ก็เลยไม่ได้ไป ผมจึงออกไปกินข้าวตามปกติ ไม่ได้มาเตรียมตัวว่าต้องมาเก็บอะไรพวกนี้ไว้เป็นหลักฐาน”

ศรายุทธเผยว่าเขามั่นใจการว่าการต่อสู้คดีครั้งนี้จะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม เพราะเป็นการนำข้อเท็จจริงออกมาสู้ อีกทั้งรูปคดีไม่มีความซับซ้อน

“ยังไงก็ต้องชนะ ผมค่อนข้างมั่นใจว่าต้องชนะ เพราะเรื่องเราสู้กันด้วยข้อเท็จจริง เราไม่ได้สู้กันแบบคดีการเมืองต่างๆ ที่เอาหลักการไปยืนยัน ซึ่งศาลก็ไม่ค่อยรับฟัง แต่ในเคสของผมที่ สภ.ภูเขียว เราไม่ต้องยืนยันหลักการอะไรทั้งนั้น เราสู้กับเขาด้วยข้อกฎหมายล้วนๆ ผมมั่นใจว่าเขาจะไม่มีวันที่หาหลักฐานอะไรมายืนยันได้ว่าผมอยู่ที่ สภ.ภูเขียว ในวันนั้นจริงๆ”

ตำรวจ สภ.ภูเขียว อ้าง ‘ผิดพลาดทางเทคนิค’

ศรายุทธ เผยว่า ตนและทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางไป สภ.ภูเขียว เพื่อรายงานตัวตามหมายเรียกในวันนี้ (31 มี.ค. 2564) ซึ่งภายหลังการชี้แจงหลักฐานต่างๆ เพื่อยื่นยันความบริสุทธิ์ของตน ตำรวจได้แจ้งว่าจะเพิกถอนหมายเรียก และไม่ดำเนินคดีใดๆ

“ผมเข้าพบพนักงานสอบสวน ขอดูหลักฐานว่าเขาใช้หลักฐานอะไรมาแจ้งความเอาผิด พอตำรวจแสดงหลักฐาน เป็นรูปบุคคลในการชุมนุมวันนั้นให้ผมดู ผมก็ยืนยันไปว่าไม่ใช่ผม และผมไม่รู้จักบุคคลในรูป ตำรวจเลยขอสอบปากคำผมในฐานะพยาน แต่ผมก็ยืนยันไปว่าผมไม่สามารถเป็นประจักษ์พยานในคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ให้ได้ เพราะผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ตำรวจจึงจะถอนหมายเรียก” ศรายุทธ กล่าว

ศรายุทธเล่าว่าเขาสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเหตุใดจึงออกหมายเรียกผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าเกิดจากระบบคอมพิวเตอร์ขัดข้อง เมื่อนำรูปภาพหลักฐานดังกล่าวเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลอาชญากรรม จึงปรากฏชื่อของศรายุทธขึ้นเป็นคนแรก เป็นเหตุให้ตำรวจออกหมายเรียก ซึ่งศรายุทธมองว่าหากเป็นเช่นนั้นจริง ตนคิดว่าระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานราชการไทยนั้นมีปัญหาอย่างมาก และสมควรได้รับการแก้ไข

“การที่ระบบฐานข้อมูลอาชญากรรมทำงานผิดพลาด แปลว่ามันจะส่งผลต่อประชาชนคนอื่น โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้กฎหมาย” ศรายุทธกล่าวสั้นๆ พร้อมเผยว่าตนยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะฟ้องกลับตำรวจที่ทำงานผิดพลาด เพราะต้องมุ่งความสนใจไปที่โค้งสุดท้ายของการเรียนในระดับปริญญาตรี แต่อย่างน้อย ก็รู้สึกโล่งอกที่คดีคลี่คลาย

ท่าทีของอาจารย์คณะนิติศาสตร์

ศรายุทธ บอกว่าอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ มข. ทราบเรื่องที่ตนได้รับหมายเรียก และยินดีช่วยดูแล ทั้งอาสาเป็นทนาย รวมถึงยินดีรับรองในฐานะบุคคลผู้ไว้วางใจได้ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นไปในนามส่วนตัว

“ถ้าเป็นในนามส่วนตัวผมอยากจะขอบคุณอาจารย์นะครับ อย่างน้อยๆ อาจารย์ก็ยังสามารถยืนยันหลักการของตัวเองได้อยู่ แต่ถ้าเป็นในนามขององค์กร คือ คณะนิติศาสตร์ ผมว่ามันล้มเหลวมากๆ ผมเข้าใจว่าถ้าเป็นปัจเจก เรื่องแบบนี้มันบังคับกันไม่ได้ แต่พอเป็นในระดับองค์กรแล้วมันจะมีเรื่องของวิชาชีพและความซื่อสัตย์ของหลักวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องนี้ท่านก็ต้องรับผิดชอบต่อวิชาชีพของท่านเอง เพราะท่านก็เป็นอาจารย์ ท่านต้องประกาศจุดยืนของท่านเอง แต่ก็ไม่ได้ทำในระดับภาพรวมองค์กร”

คิดอย่างไรกับกระบวนการยุติธรรมไทย

“ผมคิดว่าคำตอบอาจจะไม่ได้ใหม่ไปจากคนอื่น เพราะแม้แต่คนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายก็ยังเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมันไม่เป็นธรรม เป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นการใช้กฎหมายที่รุนแรง ซึ่งมันไม่สามารถยอมรับได้ เราจะอยู่ในสภาพแบบนี้ไปไม่ได้”

จุดเริ่มต้นเส้นทางนักกิจกรรม

“ผมเริ่มต้นทำกิจกรรมได้ไม่นาน ประมาณ 1 ปี เริ่มทำในนามกลุ่ม UNME of Anarchy ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ ช่วงที่ล็อกดาวน์รอบแรก ผมเห็นผู้คนลำบากมากๆ จึงเริ่มตั้งคำถามต่อสิ่งที่รัฐทำกับเรา และมีโอกาสได้พูดคุยกับไผ่ จากนั้นจึงเริ่มทำกิจกรรมกับกลุ่ม UNME of Anarchy และกลายเป็นสมาชิกในที่สุด ซึ่งต่อมาก็ได้ทำกิจกรรมร่วมกับหลายๆ กลุ่ม รวมถึงกลุ่มดาวดินสามัญชน”


“ช่วงที่ผมเข้ามาเรียนที่ มข. 3 ปีแรก จะเรียกผมว่าเป็นอิกนอแรนต์ (คนที่ไม่สนใจการเมือง) ก็ได้นะ แต่ผมก็พยายามจะเรียนรู้อะไรบางอย่างจากเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยอยู่ เช่น พวกคำถามทางการเมืองต่างๆ อย่างทหารตำรวจมีไว้ทำไม กษัตริย์มีไว้ทำไม ผมก็เริ่มเรียนรู้ข้อถกเถียงเหล่านี้ จนกระทั่งตอนขึ้นปี 4 มีเหตุการณ์โควิด-19 ระบาด มันก็พิสูจน์คำถามเหล่านั้นว่ามันเป็นจริงตามที่เราเคยถกเถียงกันมาหรือเปล่า เช่น เรื่องภาษี เรื่องงบต่างๆ ทำไมเราถึงลำบากกันจังเลย ผมก็เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้แหละ”

หนังสือเล่มโปรดที่อธิบายปรากฏการณ์การเมืองไทย

นอกจากการทำกิจกรรมทางการเมืองแล้ว ศรายุทธยังทำชุมนุมวิชาการกับเพื่อนในคณะ และช่วยงานสอนหนังสือ ทำให้เขาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการเมืองหลายเล่ม โดยหนังสือเล่มโปรดของเขา คือ ‘สัญญาประชาคม’ ของฌอง-ฌาคส์ รุสโซ นักปรัชญาการเมืองและนักเขียนชาวฝรั่งเศสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18

“สัญญาประชาคม ของฌอง-ฌาคส์ รุสโซ เกี่ยวกับวิธีการตั้งรัฐและการสร้างกฎหมาย ผมเป็นนักศึกษากฎหมาย อาจารย์ในคณะก็จะสอนว่ากฎหมายที่มีอยู่ ถ้ามีการร่างขึ้นมาแล้วก็ต้องใช้ไปตามนั้น แม้ว่ามันจะไม่เป็นธรรมก็ตาม ก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่ากฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย แม้จะถูกร่างขึ้นมาและตราให้เป็นกฎหมายก็ตาม เพราะฉะนั้นเราต้องทวงถาม เราต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ที่ไม่เป็นธรรม เหมือนเวลาเราทำสัญญา เช่น สัญญาที่กดขี่ เอาคนอื่นไปเป็นทาส อะไรลักษณะนี้จะไม่ถูกนับว่าเป็นสัญญา กฎหมายก็เช่นเดียวกัน คือกฎหมายต้องได้รับความยินยอมเห็นชอบจากทุกคน และเนื้อหาต้องเป็นธรรมและเป็นจริงด้วย”

ความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายไทยฟื้นฟูได้ เพียง ‘ยึดมั่นในหลักการ’

ศรายุทธ เผยว่า เขาไม่ต้องการทำงานในวิชาชีพนักกฎหมาย เช่น ตุลาการ อัยการ หรือทนายความ แต่เขาอยากทำงานในฐานะนักนิติศาสตร์ ซึ่งมีอิสระมากกว่าในการตั้งคำถาม ออกความเห็น หรือต่อต้านกฎหมาย แต่หากต้องเลือกอาชีพสำหรับเลี้ยงปากท้อง ศรายุทธอยากเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ผู้ที่ยึดมั่นในหลักการและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักศึกษาของเขาได้

“อาจารย์ทั้งหลายจำเป็นต้องยืนยันหลักการกับนักเรียนหรือนักศึกษาให้ได้เห็นว่าสิ่งที่อาจารย์พูดมามันต้องทำให้ได้เพราะมันเป็นหลักการร่วมกัน เช่น ความยุติธรรม ความเป็นธรรม ต้องยืนยันสิ่งเหล่านี้ให้ได้ ต้องทวงถามให้ได้ทุกครั้งที่รัฐละเมิดต่อเรา ถ้าสมมติว่าผมเป็นอาจารย์ ผมก็ยังต้องทำงานการด้านเมืองแบบนี้อยู่ เพื่อให้นักศึกษาของผมได้เห็นว่าผมกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ผมสอน ผมจะทำจริงๆ ให้ทุกคนได้เห็นว่ายังมีความอยู่”

ในฐานะคนเรียนกฎหมาย คิดอย่างไรกับการใช้กฎหมายจัดการเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี

“ผมว่ารัฐอยากให้เราเงียบ แล้วก็ไล่เช็กบิลเราทุกคนที่คิดต่างจากรัฐ ผมว่าตอนนี้รัฐไม่ลังเลที่จะใช้ทุกอย่างที่รัฐมี ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังหรือปฏิบัติการทางกฎหมาย แล้วก็ไม่สนใจด้วยว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องจะมีอายุแค่ไหน เขาพร้อมที่จะเล่นงานหมดทุกคน เพราะสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราพูดออกไปมันทำให้รัฐเจ็บ (หัวเราะ)”

“แต่ยิ่งรัฐเจ็บมาก มันก็สะท้อนกลับมาหาเราเหมือนกัน อย่างแรกเลย คือ เพื่อนๆ ของเราก็เจ็บตัวกันมากขึ้น โดนฟ้องมากขึ้น อายุของคนที่โดนฟ้องก็น้อยลงทุกที แต่อีกสิ่งที่ตามมา คือ คนในสังคมก็เริ่มตั้งคำถามกันมากขึ้น จากที่ผมเห็นพี่น้องรอบๆ มข. หรือคนใน จ.ขอนแก่น หรือทุกที่ที่ผมไป คนก็เริ่มตั้งคำถามว่า ‘นี่คือตำรวจนะ นี่คือเด็กอายุ 14 นะ คุณเอาเป็นเอาตายกับเขาขนาดนั้นเลยหรือ’ กฎหมายอาญาร้ายแรงทั้งนั้นเลยที่เขาใช้ ทั้ง ม.112 ม.116 แล้วเอาไปใช้กับเยาวชนอีก พี่รักษาไว้ซึ่งอะไรครับ เพื่อชาติเหรอ แล้วต้องไปจัดการเด็กเหรอครับ ซึ่งพอผมได้ยินคำถามพวกนี้บ่อยขึ้น ก็คิดว่ามันน่าสนใจเหมือนกันนะ”

“ผมคิดว่าคงเป็นเพราะเราตีโดนจุดเจ็บเขา ยิ่งรัฐทำรุนแรงกับประชาชนเท่าไร เขายิ่งหมดความชอบธรรมเร็วขึ้นเท่านั้น”

มองภาพการต่อสู้ในอนาคตเป็นอย่างไร

“ผมอยากให้การต่อสู้นี้ไม่เกิน 5 ปี เท่าที่ดูจากสภาพอะไรหลายๆ อย่าง ถ้าเกิน 5 ปี อำนาจของรัฐจะอ่อนแอลง เพราะเวลา 5 ปีนี้ตามที่ผมคำนวณไว้เล่นๆ มันเกี่ยวกับตัวองค์รัฏฐาธิปัตย์ ผมมองว่าอำนาจรัฐที่องค์รัฏฐาธิปัตย์มี มันไม่ใช่อำนาจของเขาเอง ซึ่งอำนาจเหล่านี้ต้องยึดโยงกับอะไรบางอย่างที่มาจากคนอื่น เช่น คนในอดีตซึ่งก็ไม่อยู่แล้ว ถ้าขาดตัวเขาไปอีกคน ความมั่นคงโดยเฉพาะทางการทหารก็จะถูกถอนออกไปทั้งรากทั้งโคน หลังจากนั้น เสียงของประชาชนที่ต้องการจะพูดก็จะยิ่งดังยิ่งขึ้น”

“ผมทำงานส่วนใหญ่อยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมีโอกาสได้ไปพบปะเพื่อนๆ ต่างมหาวิทยาลัยบ้าง หลายๆ คนที่ผมเจอเขาท้อแท้และหมดหวัง หลายๆ คนก็กลัว แต่หลายคนก็ยังพอมีหวังในรัฐที่บิดเบี้ยว เขายังเลือกที่จะเป็นอะไรก็ได้ เราจึงต้องคอยเป็นเพื่อนทางความคิดให้กับเขา บอกเขาว่าเราฝันได้ แล้วเดี๋ยวผมจะทำให้ดู ถ้าไปม็อบผมก็จะไปด้วย จะออกไปอยู่ข้างๆ เพื่อนที่เป็นแกนนำ ถ้าโดนก็โดนคดีไปด้วยกัน (ผู้สื่อข่าว: ไม่กังวลเรื่องได้รับหมายเรียกต่อจากนี้) ไม่กังวลครับ และถ้าเรียนจบก็จะเดินสายนักกิจกรรมต่อไป”

ทั้งนี้ เหตุการณ์ชุมนุมที่หน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา วอยซ์ออนไลน์ รายงานข้อมูลไว้ว่า เนื่องจากกลุ่มราษฎรจัดค่าย 'ราษฎรออนทัวร์' ครั้งที่ 2 ซึ่งมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค. ที่หมู่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยกิจกรรมนี้ได้เปิดรับสมัครกลุ่มนักเรียนมัธยมใน อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของจตุภัทร์ ไปรวมกิจกรรมด้วย

หลังจากมีการประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัครพบว่ามีนักเรียนมัธยมประมาณ 30 คน แสดงความสนใจร่วมกิจกรรม แต่เมื่อถึงเวลาออกเดินทางไปยัง จ.เลย เหลือนักเรียนมัธยมเพียง 3 คนเท่านั้นที่ร่วมเดินทางไปค่ายดังกล่าว เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อ้างตัวว่ามาจากส่วนกลางเข้ากดดันนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อสกัดไม่ให้มีเข้าร่วมกิจกรรม ทางกลุ่มราษฎรอีสานจึงมารวมตัวกันที่ สภ.ภูเขียว เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาขอโทษกรณีการคุกคามนักเรียนมัธยม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ออกมาขอโทษตามที่ได้สัญญาไว้ ทางกลุ่มราษฎรจึงจัดเวทีชุมนุมขนาดเล็กบริเวณด้านหน้า สภ.ภูเขียว พร้อมขึ้นป้ายผ้าว่า "ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้มีคำสั่งย้ายราชการให้ ว่าที่ พ.ต.อ.เพิ่มสุข ศิริพละ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 3 โดยขาดจากตำแหน่งและหน้าที่สังกัดเดิม นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 ทันที คำสั่งดังกล่าว ลงชื่อโดย พล.ต.ท.ภานุรัตน์ หลักบุญ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ซึ่ง ภายหลังได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงเหตุผลของการสั่งย้าย การกระทำของกลุ่มราษฎรที่เกิดขึ้นด้านหน้า สภ.ภูเขียวนั้น ถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และความผิดอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการกางเต็นท์ จัดเวทีปราศรัย และติดป้ายที่มีข้อความที่ไม่เหมาะสมไม่บังควร ซึ่งว่าที่ พ.ต.อ.เพิ่มสุข ศิริพละ ผู้กำกับ สภ.ภูเขียว ไม่ดำเนินการอันเป็นการป้องกันหรือระงับยับยั้งการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และไม่ได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แสดงถึงการปล่อยปละละเลยต่ออำนาจหน้าที่ จึงได้มีคำสั่งดังกล่าวออกมา อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ภานุรัตน์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ หลังจากที่โกนผมหมดทั้งหัว โดยระบุถึงสาเหตุที่ต้องโกนผมด้วยว่า เป็นการธำรงวินัยตนเอง เนื่องจากผู้ใต้บังคับบัญชาไร้ซึ่งระเบียบ พร้อมย้ำว่า ตำรวจต้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมเดินทางไป สภ.ภูเขียว ด้วยนเองเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินคดีกับกลุ่มราษฎรทุกคนทุกข้อหาที่ปรากฏ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net