Skip to main content
sharethis

อองซานซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ พบทนายความครั้งแรกหลังถูกกักบริเวณในบ้านพักนานกว่า 2 เดือน ด้านทนายของเธอเผยอองซานซูจีสุขภาพดี ขณะที่ญี่ปุ่นระงับโครงการช่วยเหลือด้านเงินทุนใหม่แก่พม่าชั่วคราว หลังกองทัพพม่าปราบผู้ประท้วงนองเลือดวันกองทัพ 

ภาพผู้ประท้วงชาวเมียนมา ชูกระดาษปริ้นเป็นรูปอองซานซูจี ที่หน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2564

31 มี.ค. 2564 สำนักข่าวอิระวดี รายงานวันนี้ (31 มี.ค. 64) ระบุอองซานซูจีพบทนายครั้งแรกผ่านวิดีโอคอลล์ หลังถูกกักบริเวณภายในบ้านพักของเธอตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งการเจอกันครั้งนี้เป็นการพบทนายก่อนที่เธอจะต้องฟังการพิจารณาคดีผ่านวิดีโอคอลล์พรุ่งนี้ (1 เม.ย.64)  

ทั้งนี้ การพบทนายของซูจีเกิดขึ้นหลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพพม่าอนุญาตให้ผู้ช่วยทนายจากทีมทนายของเธอเข้าไปทำหน้าที่ในศาล 

“เธอ (อองซานซูจี) มีสุขภาพดี เธอยังกระตุ้นให้เรารักษาสุขภาพอีกด้วย เธอยิ้ม และดูผ่อนคลาย” มินมินโซ กล่าว หลังจากพบอองซานซูจีเมื่อวันที่ 31 มี.ค.64   

มินมินโซ กล่าวเพิ่มว่า อองซานซูจีเห็นด้วยที่ทนายความคนอื่น ๆ จากทีม จะเข้าไปว่าความในฐานะตัวแทนเธอในศาล เนื่องด้วยที่ผ่านมา เธอถูกกองทัพพม่าดำเนินคดีมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ปัจจุบัน กองทัพพม่าฟ้องอองซานซูจี เป็นจำนวน 4 คดี ประกอบด้วย มาตรา 25 ตามประมวลกฎหมายจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ โดยเธอถูกกล่าวหาว่ามีปฏิสัมพันธ์กับฝูงชนในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด มาตรา 8 กฎหมายนำเข้าและส่งออก โดยเธอถูกกล่าวหาว่าครอบครองวิทยุสื่อสารและอุปกรณ์นำเข้าอื่น ๆ ที่ไม่มีใบอนุญาต และมาตรา 67 กฎหมายโทรคมนาคม และ มาตรา 505[b] ตามประมวลกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ กองทัพพม่าประกาศกำลังดำเนินการสอบสวนที่ปรึกษาแห่งรัฐเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน หลังเธอถูกกล่าวหาว่ารับสินบน เป็นเงินและทองคำจากนายกเทศบาลนครย่างกุ้ง และนักธุรกิจ

อองซานซูจีจะฟังการพิจารณาคดีพรุ่งนี้ผ่านวิดีโอคอลล์ ขณะที่การฟังพิจารณาคดีสองครั้งหลังสุดของเธอต้องถูกยกเลิก เนื่องจากกองทัพพม่าตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต 

ญี่ปุ่นระงับโครงการช่วยเหลือใหม่ในพม่าชั่วคราว หลังกองทัพพม่าปราบผู้ประท้วงนองเลือง 

ญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดในพม่า ระงับโครงการช่วยเหลือใหม่ในพม่า หลังเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา กองทัพพม่าปราบผู้ประท้วงนองเลือด จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย 

โทชิมิตซึ โมเตกิ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวในรัฐสภา ระบุว่า “ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจแก่พม่า และเรายังไม่มีการวางแผนโครงการช่วยเหลือใหม่ จุดยืนของเราชัดเจน” 

นอกจากนี้ โมเตกิ ยังเรียกร้องให้มีการระงับโครงการความช่วยเหลืออื่น ๆ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันแก่กองทัพพม่ามากกว่าการใช้วิธีการคว่ำบาตรแบบเจาะจง 

ข้อมูลจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่พม่า เป็นมูลค่าราว 1 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็น 12.8 ล้านล้านจ๊าต โดยเป็นเงินช่วยเหลือ 300 พันล้านเยน และเป็นความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี มูลค่า 88 พันล้านเยน  

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2562 ทางญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือพม่าผ่านโครงการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา หรือ โอดีเอ มูลค่าประมาณ 190 พันล้านเยน โดยแบ่งเป็น เงินกู้ มูลค่าประมาณ 68.8 พันล้านเยน เงินช่วยเหลือ มูลค่า 13.8 พันล้านเยน และ ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี มูลค่า 6.6 พันล้านเยน  

ขณะที่งบประมาณของญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นปล่อยเงินกู้ให้แก่พม่า โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน มูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.6 ล้านล้านจ๊าต เพื่อเป็นทุนสำหรับก่อสร้างท่อระบายน้ำทิ้ง การพัฒนาผังเมือง โรงแจกจ่ายพลังงาน และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 7 ภูมิภาค และรัฐ

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเซ็นแถลงการณ์ร่วมกับหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงอีก 12 ประเทศ เพื่อประณามการสลายการชุมนุมนองเลือดของกองทัพพม่า จนทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 100 รายในวันเฉลิมฉลองกองทัพเมียนมา นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นยังดำเนินมาตรการคว่ำบาตร มินอ่องหล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหารอีกด้วย  

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในพม่าเป็นอันดับ 5 โดยข้อมูลรายงานสถิติด้านการลงทุนของหน่วยงานที่ดูแลการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของเมียนมา (Directorate of Investment and Company Administration : DICA) ระบุว่าในสมัยที่พรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี เป็นรัฐบาล มีบริษัทญี่ปุ่นจดทะเบียนในประเทศพม่าทั้งสิ้น 37 บริษัท และมีการลงทุน มูลค่ากว่า 1.3 พันล้านเยน 

ก่อนหน้าการระงับความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ บริษัท คิริน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่จากแดนอาทิตย์อุทัย ยุติการทำธุรกิจกับ Myanma Economic Holdings Public Co. Ltd. ซึ่งมีคนจากกองทัพพม่าเป็นเจ้าของ เพื่อต่อต้านที่กองทัพพม่าทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากพลเรือน  

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Myanmar’s Detained leader Suu Kyi Meets Lawyer for the First Time

Japan Suspends New Aid Programs to Myanmar After Massacres

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net