ดันบำนาญแห่งชาติผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ หากถูกตีตกอีก ภาค ปชช.เตรียมลุยแก้ รธน.รายมาตรา

วงถก ‘บำนาญแห่งชาติเป็นจริงได้อย่างไรในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ....’ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ชี้สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย หวังดันสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงอายุ ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 53 แต่ถึงที่สุดก็ได้เป็นเบี้ยยังชีพตามที่มีอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น เวลา 09.00 น. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ ‘บำนาญแห่งชาติเป็นจริงได้อย่างไรในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ....’ โดยสุรีรัตน์ ตรีมรรคา จากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เล่าว่า แนวคิดเรื่องบำนาญแห่งชาติริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากเห็นว่าสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญ แต่ถึงที่สุดก็ได้เป็นเบี้ยยังชีพตามที่มีอยู่ในปัจจุบัน

“หลักการสำคัญในสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องให้ความสำคัญกับมนุษย์ทุกคนในฐานะพลเมือง มีความเสมอภาคและเท่าเทียม เบี้ยยังชีพอาจยังไม่ใช่หลักการประชาธิปไตย การคุ้มครองสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ถ้าเป็นเบี้ยยังชีพ ตัวเลขยังไม่สมเหตุสมผล ต้องยกระดับจากเบี้ยยังชีพ 600 บาท แล้วอ้างอิงเส้นความยากจนซึ่งตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท”

เนืองนิช ชิดนอก ผู้แทนประชาชนผู้ร่วมเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติฉบับประชาชน กล่าวว่า สังคมเริ่มเห็นว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ บางคนป่วย ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากลูกหลาน ขณะที่คนวัยทำงานค่าแรงก็ยังไม่ขึ้น เศรษฐกิจซบเซา ซ้ำยังมีครอบครัวของตนเองที่ต้องดูแล ภาครัฐจึงต้องยื่นมือเข้ามาช่วย หากมีบำนาญแห่งชาติภายใน 3 ปีจะสามารถลดคนจนผู้สูงอายุได้ถึง 7 แสนคน

กันตพงศ์ รังษีสว่าง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พม. เสนอในการเสวนาว่า ปัจจุบันมีผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ 10.3 ล้านคน คิดเป็นเงิน 8.6 หมื่นล้าน ซึ่งหากจะเพิ่มเงินในส่วนนี้เป็นบำนาญแห่งชาติจะต้องใช้เงินจำนวนมาก ทางตนเห็นว่าควรมีการทดลองนำร่อง หาต้นแบบสักพื้นที่ แล้วทำการศึกษา ถอดบทเรียน และขยายผลว่าเป็นไปได้หรือไม่ ควบคู่กับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน

“ตอนนี้เรามีการนำร่องโดยนำผู้สูงอายุและผู้พิการแถวบ่อนไก่ไปอยู่บ้านเอื้ออาทรลาดหลุมแก้ว 2 ของการเคหะฯ 10 ครอบครัว เพื่อศึกษาและขยายผล”

ขณะที่สมศักดิ์ คุณเงิน ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติและเลขานุการกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า

“ร่างของเครือข่ายฯ ได้จุดประกายให้สังคมส่วนอื่นได้ร่วมพิจารณาประเด็นนี้ แต่ไปถึงทำเนียบแล้วสะดุดด้วยเทคนิคทางกฎหมายที่อาจซ้ำซ้อนอยู่ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มีอยู่แล้ว เราเห็นว่าถ้าความฝันของเครือข่ายฯ ไปไม่สุด เราจะช่วยยังไง เราจึงเห็นสมควรแก้ไขกฎหมายนี้

“เราได้พิจารณาร่วมกัน โดยมีตัวแทนจาก พม. ประชาชน และกฤษฎีกาจนได้ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ แต่ยังขาดเรื่องบำนาญ จึงแก้เป็น พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ ให้ได้ทุกคนแบบถ้วนหน้า แต่ทางปฏิบัติจะมีปัญหางบประมาณมาก ประมาณสามถึงสี่แสนล้านบาท แต่อาจจะเริ่มแบบขั้นบันได เช่น พันห้า สองพัน และขยับเป็นสามพันภายในสามปี”

ทั้งนี้ร่างดังกล่าวได้เสนอไปทางประธานรัฐสภาเพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับรอง เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน โดยส่งไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

ด้านนิมิตร์ เทียนอุดม จากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า รัฐควรมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ เป็นเรื่องการพัฒนาประเทศ เพราะการใส่เงินมาปีละ 3 ถึง 4 แสนล้านบาทต่อไปจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกครัวเรือน

โดยก่อนหน้านี้ ทางภาคประชาชนได้รวบรวมรายชื่อกว่า 13,000 รายชื่อเพื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ และร่างกฎหมายที่มีลักษณะเดียวกันของพรรคการเมืองต่างๆ รวม 5 ฉบับถูกนายกรัฐมนตรีตีตกทั้งหมด ตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจไว้ในมาตรา 134 ที่ว่ากฎหมายที่ทำให้เกิดการตั้งขึ้นหรือยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลงแก้ไข ผ่อน วางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร หรือว่าด้วยเงินตรา การจัดสรรรับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการกู้เงิน หรือการประกัน หรือการใช้เงินกู้ ข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมด ถือเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงิน

ทางคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมที่มีภาคประชาชนเข้าร่วมจึงเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 เพื่อเพิ่มเนื้อหาว่าด้วยบำนาญแห่งชาติลงไป

อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายและภาคประชาชนก็ยังมีความกังวลว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกตีตกอีกครั้งเช่นที่ผ่านมา ซึ่งทางนิมิตร์ กล่าวว่า ถ้ายังติดเรื่องการรับรองกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงินของนายกรัฐมนตรีอีก ทางเครือข่ายฯ จะมีการขยับไปสู่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราและขับเคลื่อนไปยังกลุ่มอื่นๆ ให้เห็นว่าบำนาญแห่งชาติเป็นเรื่องของทุกคน

นอกจากนี้ ในช่วงแลกเปลี่ยนมีการให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบัน ข้าราชการประมาณ 8.7 แสนคนได้รับบำนาญผ่านงบประมาณประมาณ 3 แสนล้าน ขณะที่ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ 10.3 ล้านคน คิดเป็นเงินงบประมาณเพียง 8.6 หมื่นล้านบาท และหากเพิ่มเงินจำนวนนี้เป็นบำนาญพื้นฐานที่ 3,000 บาท จะคิดเป็นเงินประมาณ 3-4 แสนล้านบาทซึ่งใกล้เคียงกับงบประมาณที่จ่ายบำนาญให้กับข้าราชการเกษียณ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท