Skip to main content
sharethis

สถานการณ์รบพุ่งในพม่าส่อเค้ารุนแรง หลังทีบีซีพม่าส่งหนังสือแจ้งไทย เตรียมโจมตีกองทัพรัฐฉานตามแนวชายแดนไทย-พม่า จังหวัดเชียงใหม่-เชียงราย นอกจากนี้ กองทัพพม่าเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศพื้นที่ KNU อีกครั้ง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย และบาดเจ็บอีก 5 ราย 

กองทัพพม่าโจมตีทางอากาศถลมบ้านทีสเวนี ในเขตจังหวัดมูตรอ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 64 (ที่มา: Thoolei News - KNU -Department Of Information)
กองทัพพม่าโจมตีทางอากาศถลมบ้านทีสเวนี ในเขตจังหวัดมูตรอ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 64 (ที่มา: Thoolei News - KNU -Department Of Information)


คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น หรือ ทีบีซี ฝั่งพม่า ส่งหนังสือถึง ทีบีซีฝั่งไทย ลงวันที่ 30 มี.ค. 2564 ระบุว่า หลังจากคณะบริหารงานประเทศพม่า (State Administration Council-SAC) เข้ามารักษาการนับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นต้นมา สภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State-RCSS) และกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army-SSA) ซึ่งร่วมลงนามและอยู่ในกลุ่มข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ หรือ Nationwide Ceasefire Agreement (NCA) ประกาศต่อต้านคณะบริหารงานประเทศพม่า ซึ่ง พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นผู้นำ และยืนหยัดอยู่เคียงข้างผู้ประท้วง ตลอดจนรับผิดชอบสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของผู้ชุมนุมต้านรัฐประหาร 
 
ทีบีซีฝั่งพม่า กล่าวเพิ่มว่า การต่อต้านกองทัพพม่าของกลุ่มกองกำลังฉาน ถือเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรง ดังนั้น กองกำลังเมียนมาจึงมีความจำเป็นต้องเปิดทำการสู้รบกับทาง RCSS และ SSA ซึ่งมีฐานบัญชาการอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า เช่น ฐานดอยก่อวัน (ตรงกันข้าม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่) ฐานดอยปุกกะลา ฐานดอยไตแลง ตรงกันข้ามกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเมื่อกองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีกองทัพรัฐฉาน จะกำชับกองกำลังให้ระมัดระวังไม่ให้มีกระสุนตกในพื้นที่เขตประเทศไทย เพื่อรักษาสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศทั้งสอง 
 
ผู้สื่อข่าวประชาไทสัมภาษณ์ หอม ตัวแทนชุมชนชาวไทใหญ่ ผ่านทางโทรศัพท์ โดยหอม ระบุว่า หลังมีข่าวว่ากองทัพพม่าเตรียมโจมตีกองกำลังฉาน ก็สร้างความกังวลแก่ชาวบ้านไทใหญ่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ 
 
เบื้องต้น การรับมือในพื้นที่ของไทใหญ่ ก็จะให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในแต่ละพื้นที่เช็กสถานการณ์ว่ามีทหารพม่าเข้ามาในเขตไทใหญ่หรือไม่ แต่ในกรณีการโจมตีทางอากาศ ก็จะไม่พบทหารพม่าเข้ามา
 
สำหรับเรื่องการช่วยเหลือชาวบ้านไทใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีของกองทัพพม่า หอม กล่าวว่า “ชาวบ้านตามค่าย Internally Displaced Person หรือ IDP ฝั่งพม่าทั้งหมด ก็จะปักหลักอยู่ที่ค่าย IDP ก่อน แต่ถ้าเกิดว่าถูกโจมตีทางอากาศ มันก็จะมีประชาชนไทใหญ่เข้ามาในเขตไทย เรื่องนั้นจะมีการวางแผนรับมือในอนาคตอีกที อย่างไรก็ตาม แผนการเบื้องต้นยังไม่ต้องการลี้ภัยเข้ามาในเขตประเทศไทย” 
 
ขณะที่สำนักข่าวอิระวดี รายงานเมื่อวันอังคารที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา มีแรงงานร่อนทองคำเสียชีวิต 11 คน และบาดเจ็บ 5 คน จากการโจมตีทางอากาศโดยกองทัพพม่า ในอำเภอชเวจิน ภาคพะโค พื้นที่กองพล 3 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) นอกจากนี้ มีรถแบ็กโฮ เสียหาย 3 คัน และรถบรรทุก 10 ล้อ เสียหาย 4 คัน
 
สำหรับเหมืองทองดังกล่าวเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างสภาสันติภาพ KNU/KNLA-PC (KNU/Karen National Liberation Army-Peace Council) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยที่แยกตัวมาจาก KNU และบริษัท Swe Dana Tun Lin Mining Co ขอใบอนุญาตสัมปทานจากรัฐบาลพม่าในช่วงที่มีการเจรจาหยุดยิง 

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 กองทัพอากาศเมียนมาใช้เครื่องบินโจมตี ในอำเภอชเวจิน ภาคพะโค พื้นที่กองพล 3 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) โดยจุดที่ถูกโจมตี เป็นเหมืองขุดทอง ที่มา KNA - Karen National Association สมาคมแห่งชาติ

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Eleven Gold Panners Killed as Myanmar Military Bombs KNU-Controlled Area

 

หมายเหตุ ประชาไทได้มีการดำเนินการปรับพาดหัวมาเป็นปัจจุบัน เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 เวลา 16.31 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net