รอบโลกแรงงาน มีนาคม 2021

องค์กรช่วยเหลือ นศ.ต่างชาติในออสเตรเลียออกแคมเปญใหม่ป้องกันถูกโกงค่าจ้าง

ไชน่าทาวน์ ในย่านศูนย์กลางธุรกิจของนครแอดิเลดเป็นย่านกินดื่มยอดนิยมของคนในท้องที่ ทว่า นายแจ็คกี เฉิน (Jackie Chen) ปฏิเสธที่จะใช้บริการร้านในไชน่าทาวน์ และไม่ได้มีเพียงเขาที่คิดเช่นนี้ เฉินก่อตั้งองค์กรสนับสนุนนักศึกษาต่างชาติในแอดิเลดเมื่อเดือน เม.ย. 2020 เขาเล่าว่า ได้พูดคุยกับนักศึกษาต่างชาติกว่า 300 คนที่มีประสบการณ์ถูกโกงค่าจ้าง "ตอนนี้มีชื่อในบัญชีดำมากกว่า 150 รายชื่อ จากแค่เฉพาะในแอดิเลด โดยส่วนใหญ่อยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ"

เหตุการณ์ทำร้ายพนักงานร้านชาไข่มุกแห่งหนึ่งในแอดิเลดเพ่งความสนใจไปยังการปฏิบัติต่อนักศึกษาต่างชาติ แม้เจ้าของร้านชาดังกล่าวไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุทำร้ายครั้งนี้ แต่ภายหลังยอมรับว่า พนักงานรายนี้ได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ "ค่าจ้าง 10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงพบเจอได้ทั่วไปในแอดิเลดโดยเฉพาะในงานธุรกิจบริการ ในกลุ่มของเรา ผมพูดได้ว่าค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ส่วนใหญ่ได้น้อยกว่า 15 ดอลลาร์ และน้อยสุดแค่ชั่วโมงละ 3 ดอลลาร์"

เมื่อเดือน ก.พ. 2021 ผู้ตรวจการเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Work Ombudsman) กำหนดเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีก 1.75 ดอลลาร์ โดยจากข้อมูลเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว อัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อชั่วโมงของออสเตรเลียอยู่ที่ 19.84 ดอลลาร์ ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหพันธรัฐได้เสนอปรับเพิ่มบทลงโทษสำหรับกรณีโกงค่าจ้าง การปฏิรูปด้านแรงงานสัมพันธ์วาระใหม่นี้จะทำให้นายจ้างที่จงใจจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากำหนดอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี และต้องจ่ายค่าปรับมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์

ผู้ตรวจการฯ ยังอยู่ระหว่างสอบสวนร้านชาไข่มุกดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นักรณรงค์ต่างชี้ว่า ฝ่ายผู้ตรวจการต้องการเครื่องมือและความช่วยเหลือมากกว่านี้ ด้านมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นกำลังพัฒนาฐานข้อมูลผู้กระทำผิดกรณีโกงค่าจ้าง พร้อมช่องทางเข้าถึงออนไลน์เพื่อช่วยนักศึกษาพิจารณาปัจจัยเสี่ยง

นายทิโมตี คาริโอทิส (Timothy Kariotis) อาจารย์สาขารัฐบาลดิจิทัลจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และประธานร่วมของโครงการ  Fair Day's Work ต้องการให้ทางการใช้ฐานข้อมูลนี้ด้วยเช่นกันเพื่อให้สามารถจับตามองบริษัทที่มีแนวโน้มสูงว่าจะโกงค่าจ้าง "ที่เราทราบคือ จริงอยู่ที่การเพิ่มบทลงโทษกรณีโกงค่าจ้างเป็นส่วนสำคัญของสมการนี้ แต่ถ้าความเสี่ยงในการตรวจพบของเราไม่สูงพอ บทลงโทษก็แทบไม่มีความหมาย งานวิจัยของเราชี้ว่า หากความเสี่ยงในการตรวจพบอยู่ในระดับต่ำ บทลงโทษก็ไม่อาจมีบทบาทมากเท่าที่เราอยากให้เป็น" นายคาริโอทิสกล่าว

สมาพันธ์นักศึกษาแห่งชาติออสเตรเลียเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยสร้างความเข้าใจแก่นักศึกษาว่าด้วยสิทธิตามกฎหมายของพวกเขา นางสาวโซอี รังกาเนทาน (Zoe Ranganathan) ประธานสมาพันธ์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า "เราควรต้องให้ความช่วยเหลือที่นักศึกษาต่างชาติต้องการก่อนที่การประทุษร้ายเช่นนี้จะเกิดขึ้น"

ที่มา: SBS, 2/3/2021

องค์กรแรงงาน ITF สนับสนุนการเรียกร้องงานที่มั่นคงให้พนักงานสนามบิน Schiphol ในเนเธอร์แลนด์

สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) สนับสนุนการเรียกร้องงานที่มั่นคงให้พนักงานสนามบิน Schiphol ในเนเธอร์แลนด์ โดยสหภาพแรงงานของพนักงานสนามบิน Schiphol ได้เรียกร้องให้สนามบินให้สัญญาจ้างถาวรแก่พนักงานเหมาช่วง รวมทั้งขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเป็น 14 ยูโรต่อชั่วโมง

ที่มา: ITF, 2/3/2021

ไตรมาส 2/2021 ก่อสร้างไต้หวันขาดช่างเทคนิครุนแรงสูงสุดในรอบ 9 ปี ไม่ใช่ขาดแรงงานไร้ฝีมือ

กระทรวงแรงงานไต้หวันระบุว่าได้สำรวจตลาดแรงงาน โดยได้เก็บคืนแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการแรงงานครั้งที่ 1 ประจำปี 2021 และได้รับกลับคืนมาได้ทั้งสิ้น 3040 ฉบับ พบว่าแบบสำรวจนี้คาดว่าในไตรมาส 2 ของปีนี้จะมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกประมาณ 50,000 คน สูงสุดในรอบ 9 ปี โดยภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานมากที่สุด ต้องการถึง 2.7 หมื่นคน ทุบสถิติในรอบ 10 ปี

ที่น่าสังเกตก็คือครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กระทรวงแรงงานดึงเอาสถิติความต้องการแรงงานของภาคการก่อสร้างออกมาเปรียบเทียบเป็นพิเศษ โดยในไตรมาส 2 ภาคการก่อสร้างจะต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 2,496 คน ทุบสถิติไตรมาส 2 ในรอบ 9 ปี

นางเหมยเจียเยวี่ยน อธิบดีกรมสถิติ กระทรวงแรงงานไต้หวัน ระบุว่า "ภาคก่อสร้างที่ค่อนข้างดีในตอนนี้ เพราะนักธุรกิจไต้หวันกลับมาลงทุนในไต้หวัน แผนพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่ออนาคต และโครงการสาธารณูปโภคของัฐบาล รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์"

ที่มา: Radio Taiwan International, 3/3/2021

COVID-19 ทำให้บริษัทในญี่ปุ่น 1,100 แห่งล้มละลาย

เทโกกุ เดต้าแบงก์ บริษัทวิจัยด้านสินเชื่อของญี่ปุ่นระบุว่า มีบริษัทในญี่ปุ่น 1,100 แห่งล้มละลายตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วเนื่องจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยว่านับจนถึงเช้าวันพุธที่ 3 มีนาคม มีบริษัททั้งที่เสร็จสิ้นกระบวนการชำระบัญชีทางกฎหมายและกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการ 1,100 แห่ง

บาร์และร้านอาหารมีจำนวนมากที่สุด 172 แห่ง รองลงมาคือบริษัทก่อสร้าง 92 แห่ง ตามด้วยโรงแรมทั่วไปและโรงแรมแบบญี่ปุ่น 79 แห่ง

เทโกกุ เดต้าแบงก์ชี้ว่า มีบาร์และร้านอาหารในชุมชนเมืองที่อยู่ในพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน ล้มละลายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ที่มา: NHK WORLD-JAPAN, 3/3/2021

ไต้หวันเปิดให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศได้อย่างมีเงื่อนไข แต่ยังห้ามนักท่องเที่ยวและแรงงานอินโดนีเซีย

ไต้หวันเปิดให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศได้อย่างมีเงื่อนไข แต่ยังห้ามนักท่องเที่ยวและแรงงานอินโดนีเซีย

เนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวของไต้หวัน ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2020 ครบกำหนดในวันที่ 28 ก.พ. 2021 เมื่อวันที่ 24 ก.พ. นี้ ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคระบาดของไต้หวันประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ไต้หวันได้อย่างมีเงื่อนไข ยกเว้นนักท่องเที่ยวและการเยือนทั่วไป และเปิดให้ชาวต่างชาติเปลี่ยนหรือเครื่องที่ท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวนได้ แต่ต้องภายใน 8 ชั่วโมง ส่วนนักท่องเที่ยวและแรงงานอินโดนีเซีย ที่ถูกระงับการเดินทางเข้าไต้หวันชั่วคราวมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เนื่องจากตรวจพบติดเชื้อจำนวนมากนั้น ยังคงระงับต่อไป จนกว่าจะมีการยกเลิกคำสั่ง

ที่มา: Radio Taiwan International, 5/3/2021

รัสเซียสั่งยกเลิกอาชีพที่ผู้หญิงห้ามทำหลายร้อยตำแหน่ง ซึ่งเคยระบุไว้ในสมัยสหภาพโซเวียต

เมื่อต้นปี 2021 นี้ ผู้หญิงรัสเซียสามารถยื่นใบสมัครและมีคุณสมบัติเป็นคนขับรถไฟใต้ดินได้เป็นครั้งแรก หลังทางการรัสเซียสั่งยกเลิกอาชีพที่สตรีห้ามทำหลายร้อยอาชีพ ให้เหลือเพียงแค่ราวร้อยอาชีพเท่านั้นที่ยังคงจำกัดอยู่ ซึ่งรวมถึงงานเหมืองและงานก่อสร้าง

อาชีพที่ทางการรัสเซียปลดล็อคให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้าทำงานได้ อาทิ คนขับรถบรรทุก คนขับเรือ คนขับรถไฟใต้ดิน และนักบิน จากที่ในยุคสหภาพโซเวียตมีการระบุห้ามให้สตรีทำงานเหล่านี้ด้วยเหตุผลว่าอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

เมื่อปี 2020 กระทรวงแรงงานรัสเซีย ออกประกาศปลดล็อคอาชีพที่ให้ผู้ชายทำเท่านั้น ซึ่งมีถึง 456 อาชีพ ให้เหลือเพียงแค่ราวหนึ่งร้อยอาชีพ ก่อนที่จะเริ่มมีหน่วยงานต่าง ๆ ประกาศรับสมัครผู้หญิงในอีกหลายเดือนต่อมา

หน่วยงานรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นทางกรุงมอสโก แห่งรัสเซีย Moscow Metro ระบุว่า ที่ผ่านมามีการจ้างผู้หญิงมากกว่า 22,000 ตำแหน่ง หรือราว 36% ของพนักงานของ Moscow Metro แต่มีผู้หญิง 12 คนแรกนี้ ที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานเป็นคนขับรถไฟใต้ดิน และคาดว่าจะมีอีก 50 คนในปีหน้า ซึ่งตอนนี้ทางหน่วยงานได้จัดการอบรมพนักงานหญิง และจัดเตรียมเครื่องแบบสำหรับพนักงานหญิงที่จะมาร่วมงานในเร็ววันนี้ พร้อมได้ทิ้งท้ายว่า พนักงานหญิงมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะสวมกางเกงหรือกระโปรงก็ได้เวลาปฏิบัติหน้าที่

ที่มา: VOA, 5/3/2021

ผลสำรวจเผยผู้หญิงไต้หวัน 43% เคยถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน หลังเกิดเรื่อง 90% เก็บเงียบไม่กล้าแจ้งบริษัท

เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค. 2021 มูลนิธิสตรียุคใหม่ จัดงานแถลงข่าวเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของชาวเน็ตไต้หวันเรื่อง "การถูกคุกคามทางเพศของสตรีในที่ทำงาน" มีผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์เพศหญิง 1,057 คน พบว่า มีผู้หญิงเคยถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน 43% ซึ่งการคุกคามการเพศที่พบมากที่สุดคือ การสัมผัสถูกเนื้อต้องตัว ครองสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 64 เช่น การโอบไหล่, ลูบศีรษะ, กอด, ลูบก้น เป็นต้น รองลงมาคือ การคุกคามทางเพศด้วยวาจา ร้อยละ 61 เช่น ชวนคุยเรื่องทางเพศ, พูดจากีดกันทางเพศ เป็นต้น ส่วนการใช้สายตาลวนลาม, รุกจีบในเชิงชู้สาว, เผยแพร่คลิปวิดีโอหรือภาพทางเพศ ครองสัดส่วนร้อยละ 37

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าสตรีที่เคยถูกคุกคามทางเพศเหล่านี้ หลังจากเกิดเหตุการณ์แล้ว ทางบริษัทที่ทำงานไม่มีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือแก้ไขเยียวยาใดๆ สูงถึงร้อยละ 87 ในจำนวนนี้ร้อยละ 64 ของเหยื่อผู้ถูกกระทำรู้สึกกังวลใจและไม่กล้าแจ้งให้บริษัทรับทราบ ส่วนร้อยละ 23 แจ้งให้บริษัททราบแล้วแต่ไม่ช่วยจัดการใดๆ ให้ เมื่อสอบถามในประเด็นที่ว่าเคยติดตามให้บริษัทจัดการอย่างเป็นทางการหรือไม่ มีเพียงร้อยละ 10 ของเหยื่อผู้ถูกกระทำที่ระบุว่า เคยร้องเรียนต่อบริษัทให้จัดการ ส่วนร้อยละ 90 ของเหยื่อเลือกที่จะอดทนเก็บเรื่องที่ถูกคุกคามทางเพศไว้

ที่มา: Radio Taiwan International, 8/3/2021

ILO พบผู้หญิงทั่วโลกยังประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจมากกว่าผู้ชาย

ขณะที่ทั่วโลกเฉลิมฉลองวันสตรีสากลซึ่งดำเนินมากว่า 100 ปีอยู่ รายงานจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ประสบปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจมากกว่าผู้ชายในช่วงปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากรายงานล่าสุดของ ILO ชี้ว่า สัดส่วนของผู้หญิงที่ต้องว่างงานเพราะการระบาดของโควิด-19 ในปีที่แล้วนั้นอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้หญิงในตลาดแรงงาน ซึ่งสูงกว่าของผู้ชายที่สัดส่วน 3.9 เปอร์เซ็นต์

หลังจากการเกิดภาวการณ์ระบาดของโควิด-19 ขึ้นมา องค์การสหประชาชาติได้พยายามสร้างความตระหนักในสังคมโลกว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้หญิงและผู้ชายที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้มีความรุนแรงขึ้นเพียงใดมาตลอด โดย เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเทอเรซ กล่าวว่า “ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศนั้นยกระดับขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่แล้ว และผู้หญิงกลับเป็นผู้ที่ต้องรับผลกระทบหนักจาก การปิดการเรียนการสอนและนโยบายการทำงานจากบ้าน อย่างชัดเจน”

ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ราว 58 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่อยู่ในตลาดแรงงานทั่วโลกนั้น เป็น “แรงงานที่มีลักษณะการว่าจ้างแบบไม่เป็นทางการ” (Informal Employment) ซึ่งหมายถึง งานที่ไม่มีกฎควบคุมและไม่มีการจ่ายภาษีหรือสวัสดิการใดๆ ขณะที่ ผู้หญิงคือกลุ่มที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤตนี้ เช่น ธุรกิจบริการต่างๆ และบริการรับดูแลเด็ก เป็นต้น

และในปีนี้ ที่แนวคิดหลักของวันสตรีสากล คือ “จงเลือกที่จะท้าทาย” (Choose to Challenge) นั้น ผู้หญิงจำนวนมากทั่วโลก ยังคงต้องหาทางรับมือกับความท้าทายที่จ่อหน้าอยู่ ซึ่งก็คือ การทำอย่างไรให้ใช้ชีวิตผ่านพ้นช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่นี้ ไปให้ได้ ตราบที่การระบาดของโควิด-19 ยังดำเนินอยู่

ที่มา: VOA, 9/3/2021

สหรัฐฯ เผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานเพิ่มสู่ระดับ 6.9 ล้านตำแหน่งใน ม.ค. 2021

สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครงานซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.9 ล้านตำแหน่งในเดือน ม.ค. 2021 จาก 6.8 ล้านตำแหน่งในเดือน ธ.ค. 2020

ที่มา: Business - Insider, 11/3/2021

สหพันธ์นักข่าวยุโรป (EFJ) เรียกร้องให้มีการทำข้อตกลงร่วม เพื่อค่าแรงที่เท่าเทียมระหว่างชายหญิง

เนื่องในวัน Equal Pay Days 2021 (10 มี.ค.) สหพันธ์นักข่าวยุโรป (EFJ) เรียกร้องให้มีการทำข้อตกลงร่วม เพื่อค่าแรงที่เท่าเทียมระหว่างชายหญิงในอุตสาหกรรมสื่อ EFJ ระบุว่าเป็นที่ยอมรับไม่ได้ที่ยังมีประเทศในสหภาพยุโรปจ่ายเงินค่าแรงให้ผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายอยู่

ที่มา: EFJ, 10/3/2021

รัฐบาลสเปนกำหนดให้คนส่งอาหารแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับพนักงาน

รัฐบาลสเปนมีมติให้แพลตฟอร์มออนไลน์ผู้ส่งอาหาร ต้องปฏิบัติกับคนส่งอาหารหรือไรเดอร์แบบเดียวกับพนักงานบริษัท กฎหมายดังกล่าวยังรวมถึงข้อกำหนดให้บริษัทแพลตฟอร์มเช่น Glovo และ Deliveroo ส่งมอบข้อมูลให้กับตัวแทนกฎหมาย เกี่ยวกับวิธีการทำงานของอัลกอริทึมในการมอบหมายงานให้ไรเดอร์ รวมถึงระบบประเมินประสิทธิภาพของไรเดอร์ด้วย

ที่มา: AP, 11/3/2021

Nokia ลดพนักงานลงราว 5,000-10,000 ตำแหน่งภายในปี 2023

Nokia ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมสัญชาติฟินแลนด์ ประกาศแผนลดพนักงานลงราว 5,000-10,000 ตำแหน่งในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน และหันไปลงทุนในด้านการค้นคว้าวิจัยมากขึ้น โนเกียคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างองค์กรและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่ราว 600-700 ล้านยูโรภายในปี 2023

ที่มา: Yahoo Finance, 16/3/2021

คนทำงาน 'Gig Economy' ในออสเตรเลียเกือบครึ่งไม่รู้ว่าตนไม่มีประกัน

มีการวิจัยล่าสุดที่พบว่า ชาวออสเตรเลียเกือบครึ่งซึ่งทำงานส่งอาหารตามที่พักอาศัย และขับขี่รถให้บริการร่วมโดยสาร (ridesharing) ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ กล่าวว่า พวกเขาไม่ทราบว่าตนเองไม่ได้รับสิทธิ์การประกันชดเชยสำหรับคนทำงาน (Workers Compensation Insurance) จากข่าวการเสียชีวิตของคนทำงานส่งอาหารตามบ้าน 5 คนเมื่อปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นที่จับตาของสังคม ผลสำรวจคนทำงานขับขี่พาหนะให้บริการร่วมโดยสาร และคนทำงานส่งอาหารตามบ้านผ่านแอปพลิเคชัน 250 คน พบว่าร้อยละ 45 ของคนทำงาน ซึ่งเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นนั้นไม่ทราบถึงสิทธิ์ที่คนทำงานพึงได้รับ เมื่อเทียบกับคนทำงานที่เป็นชาวออสเตรเลียในอัตราร้อยละ 28 ที่ทราบถึงสิทธิ์เหล่านี้

การวิจัยดังกล่าวได้จัดทำโดย บริษัท คันทาร์ ออสเตรเลีย (Kantar Australia) ในนามของบริษัทด้านกฎหมาย สเลเทอร์ แอนด์ กอร์ดอน (Slater and Gordon) ระหว่างวันที่ 6 ม.ค.-3 ก.พ. 2021 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามคิดเป็นคนทำงานส่งอาหารตามบ้าน 170 คน และคนทำงานขับขี่พาหนะแบบให้บริการร่วมโดยสาร (ridesharing) จำนวน 80 คน

ที่มา: SBS, 19/3/2021

กลุ่ม NGO และผู้อนุบาลในไต้หวันประท้วง ชี้งานหนักเงินน้อยเรียกร้องผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้ใช้แรงงานในครัวเรือน

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2021 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันสตรีสากล เครือข่ายสนับสนุนและเสริมพลังแรงงานย้ายถิ่นในไต้หวัน (MENT) ซึ่งเป็นแนวร่วมกลุ่ม NGO นำแรงงานต่างชาติจำนวนหนึ่งในไต้หวัน ได้จัดประชุมผู้สื่อข่าวที่สภานิติบัญญัติ เรียกร้องให้ตรากฎหมายคุ้มครองผู้ใช้แรงงานในครัวเรือนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานเพศหญิงโดยเร็ว เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้อนุบาลและผู้ช่วยงานบ้านในครัวเรือน โดยจะส่งร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสภาใหม่อีกครั้ง ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้สภาบริหารจัดทำร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ใช้แรงงานในครัวเรือนฉบับของสภาบริหารด้วย เพื่อให้สภานิติบัญญัติพิจารณาพร้อม ๆ กัน

แนวร่วมกลุ่ม NGO ดังกล่าวกล่าวว่า  ในไต้หวันมีผู้อนุบาลต่างชาติประมาณ 230,000 คน แต่พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายมาตรฐานแรงงานหรือกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่ไต้หวันเริ่มเปิดให้นำเข้าเมื่อปี 1992 เป็นเวลาร่วม 30 ปีมาแล้ว ไม่เพียงแต่ค่าจ้างถูก มีเพียง 17,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน หากคิดคำนวณตามระยะเวลาทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ค่าจ้างรายชั่วโมงของผู้อนุบาลต่างชาติเฉลี่ยมีเพียง 23.6 เหรียญเท่านั้น หรือข้อมูลการสำรวจของกระทรวงแรงงาน ผู้อนุบาลต่างชาติเฉลี่ยทำงานวันละ 10.4 ชั่วโมง ค่าจ้างเฉลี่ยชั่วโมงละ 55 เหรียญ เทียบกับแรงงานต่างชาติในภาคการผลิตที่มีค่าจ้างชั่วโมงปกติ 100 เหรียญ ต่างกัน 1 เท่าตัว และพวกเขามีเพียง 11.4% เท่านั้นที่มีโอกาสได้หยุดพักผ่อนอาทิตย์ละ 1 วัน ขณะที่ 34.4% ต้องทำงานตลอด ไม่มีวันหยุดพักเลย

ที่มา: Radio Taiwan International, 19/3/2021

สหภาพแรงงานครูในโมร็อกโกประท้วงเรียกร้องเงื่อนไขที่ดีกว่าสำหรับครูสัญญาจ้าง

สหภาพแรงงานครูในโมร็อกโกประท้วงเรียกร้องเงื่อนไขที่ดีกว่าสำหรับครูสัญญาจ้าง แม้จะมีการคุกคามและความรุนแรงโดยตำรวจ แต่สหภาพแรงงานครูชาวโมร็อกโกยังคงเดินขบวนในเมืองหลวงราบัตเพื่อเรียกร้องสัญญาถาวรและเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้น และพวกเขายังประท้วงเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

การประท้วงเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานยังเรียกร้องให้มีการหยุดงานทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.-5 เม.ย. 2021 ทั้งนี้สหภาพแรงงานครูรูยังประณามที่รัฐบาลไม่ยอมให้มีการเจรจาทางสังคม โดยครูซึ่งส่วนใหญ่ที่ออกมาประท้วงเป็นคนทำงานในช่วงอายุ 20-30 ปี

ที่มา: Education International, 24/3/2021

แฟร์เวิร์กออสเตรเลีย ฟ้องปรับร้านทำผม 100,000 ดอลลาร์ฐานจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมาย

ผู้ตรวจการเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม หรือ แฟร์เวิร์ก (Fair Work Ombudsman) ยื่นเรื่องต่อศาลอุทธรณ์สหพันธรัฐ (Federal Curcuit Court) ดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัท My Salon Erina Pty Ltd และนายเนลวิน นิเตช ลาล (Nelvin Nitesh Lal) ผู้จัดการบริษัท หลังจากเข้าตรวจสอบกิจการเมื่อปี 2020

บริษัท My Salon Erina Pty Ltd อาจได้รับโทษปรับสูงสุด 31,500 ดอลลาร์ฐานไม่ดำเนินการตามหนังสือแจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามข้อตกลง (Compliance Notice) และปรับสูงสุด 63,000 ดอลลาร์จากกรณีไม่ออกใบแจ้งเงินเดือน (pay slip) นายลาลอาจต้องโทษปรับสูงสุด 6,300 ดอลลาร์จากข้อกล่าวหาว่ากระทำการฝ่าฝืนหนังสือแจ้งเตือน และปรับสูงสุด 12,600 ดอลลาร์จากข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีไม่ออกใบแจ้งเงินเดือน

เมื่อเดือน ต.ค. 2020 เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบของแฟร์เวิร์กออกหนังสือแจ้งเตือนแก่บริษัทดังกล่าว “หลังจากเชื่อว่าลูกจ้างรายนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงค่าล่วงเวลา (overtime loading) และค่าทำงานวันหยุดสุดสัปดาห์ (weekend penalty rate) ภายใต้ข้อกำหนดอัตราค่าจ้างสำหรับธุรกิจร้านทำผมและความงาม ปี 2010 (Hair and Beauty Industry Award 2010)”

“แฟร์เวิร์กเชื่อว่าบริษัทไม่ปฏิบัติตามหนังสือแจ้งเตือนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หนังสือแจ้งเตือนฉบับดังกล่าวระบุให้บริษัทคำนวณและจ่ายเงินย้อนหลังแก่ลูกจ้างรายนี้ตามที่ควรได้รับ อีกทั้งเชื่อว่าบริษัทไม่ได้ให้ใบแจ้งเงินเดือนตามที่กำหนด และเชื่อว่านายลาลมีส่วนในการกระทำฝ่าฝืนเหล่านี้” แฟร์เวิร์กระบุในคำแถลง

ที่มา: SBS, 25/10/2021

เดือน ก.พ. 2021 คนตกงานในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 แล้ว

ข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่าอัตราการว่างงานของญี่ปุ่นในเดือน ก.พ. 2021 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่จำนวนของผู้คนที่ตกงานนั้นเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 แล้ว

กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นระบุว่า อัตราการว่างงานที่ปรับตามฤดูกาลแล้วอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกันกับเมื่อเดือนก่อนหน้า

จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นอีก 350,000 คน มาอยู่ที่ 1,940,000 คน ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่แตกต่างจากอัตราการว่างงานโดยรวมซึ่งเป็นการประเมินความเปลี่ยนแปลงแบบปีต่อปี

เจ้าหน้าที่ของทางกระทรวงเชื่อว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 2 เนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีผลกระทบแค่ในวงจำกัดต่อตลาดแรงงาน แต่ก็กล่าวว่ายังไม่สามารถพิจารณาได้ว่าสถานการณ์นี้กำลังปรับตัวดีขึ้น

จำนวนตำแหน่งงานว่างได้ปรับลดลง สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีต่อการยื่นข้อเสนอรับเข้าทำงาน สัดส่วนของการเปิดรับสมัครอยู่ที่ 1.09 ซึ่งหมายความว่ามีตำแหน่งงานว่าง 109 ตำแหน่งต่อผู้คนทุก ๆ 100 คนที่กำลังหางาน

ที่มา: NHK WORLD-JAPAN, 30/3/2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท