Skip to main content
sharethis

วงเสาวนา 30 ปีประกันสังคม สะท้อนปัญหาคนทำงานแพลตฟอร์ม ถูกกดขี่ไร้สิทธิสวัสดิการคุ้มครอง นักวิจัยชี้ ระบบงานพัฒนาขึ้น แต่การคุ้มครองแรงงานกลับสวนทาง จี้ รัฐเร่งหามาตรการคุ้มครองสิทธิ ยันหลายประเทศตัดสิน คนทำงานแพลตฟอร์มเป็นลูกจ้าง ไม่ใช่พาร์ทเนอร์ ชงปรับโครงสร้างสปส.แยกอิสระจาก ก.แรงงาน ไร้เงานักการเมือง  

 

2 เม.ย.2564 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า วันนี้ (2 เม.ยน.64)  ที่ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์หลักสี่ กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ คณะทำงาน 30 ปี ประกันสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนา “30ปี ประกันสังคมกับความเหลื่อมล้ำและกลุ่มอาชีพที่หล่นหาย”

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า กว่าจะมีกฎหมายประกันสังคม ต้องใช้เวลาต่อสู้นาน เริ่มตั้งแต่ปี 2497จากนั้นเริ่มมีการเคลื่อนไหว รวมกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย สภาแรงงานแห่งประเทศไทย อย่างจริงจัง ในวันแรงงาน 1 พ.ค.2518 ให้รัฐบาลออกกฎหมายประกันสังคม

อีกทั้ง ปี 2529 – 2533 มีองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานได้เข้ามามีบทบาทเชิงความคิด ให้ข้อมูล ความรู้ สร้างความเข้าใจกับแรงงานในโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก กลุ่มย่านอุตสาหกรรม อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ พระประแดง และรังสิต เป็นหลักซึ่งเป็นแรงงานงานที่ค่อนข้างยากจน ได้เพียงค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีสวัสดิการใดๆ ดังนั้นเมื่อมีการทำงานตรงนี้มากขึ้น ทำให้แรงงานเกิดความเข้าใจว่าการมีกฎหมายประกันสังคม ส่งผลดีต่อตัวเองอย่างไร จึงออกมาสนับสนุนและเป็นกำลังสำคัญในการเคลื่อนไหว  อีกทั้งยังและได้แนวร่วมที่เป็นองค์กรนักศึกษา นักวิชาการ สื่อมวลชนช่วยผลักดันจนรัฐบาลและนักการเมืองยอมรับและยกมือผ่านกฎหมายประกันสังคมไปได้ในที่สุด

วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ขับขี่รถส่งของแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วงระบาดของโรคโควิด19 มียอดการสั่งของอุปโภค บริโภคเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ในขณะที่จำนวนผู้เข้ามารับงานดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 6-7 หมื่นคนในปี 2562 เพิ่มเป็นประมาณ 2 แสนคนในปี 2563 แต่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะรายได้จะคิดตามจำนวนเที่ยว และระยะทางในการวิ่งรถ ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ประกอบกับมีการโบนัส ในการวิ่งรถเพื่อนำไปสู่การแบ่งเกรดคนวิ่งรถ และรายได้ บางคนทำงานหนัก 14-15 ชม.ต่อวัน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงบนท้องถนน ปัญหาอีกอย่างคือไม่มีสิทธิสวัสดิการคุ้มครอง ทั้งกฎหมายประกันสังคม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน อาทิ การได้รักษา การลาหยุด ลาป่วย และหยุดประจำปี และการได้รับเงินชดเชยจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่เป็นสวัสดิการพื้นฐานที่คนทำงานควรได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะทางแพลตฟอร์มถือว่าคนที่ทำงานไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เป็นพาร์ทเนอร์ เป็นคู่สัญญาอิสระ เพื่อจะได้ไม่มีต้นทุนสวัสดิการเหล่านั้น

“เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันการทำงานผ่านแพลตฟอร์มทำให้ถอยหลังกลับไปในอดีต วันนี้ระบบงานพัฒนามากขึ้น ลูกค้า และผู้ขายมีทางเลือกและเข้าถึงกันมากขึ้น แต่การพัฒนาระบบสวัสดิการคุ้มครองคนทำงานกลับตามไม่ทัน ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มีรายงานในต่างประเทศ อาทิ  ศาลประเทศสเปน ศาลเนเธอร์แลนด์ ตัดสินให้การทำงานบนแพลตฟอร์มถือเป็นลูกจ้างของบริษัท ไม่ใช่การจ้างงานตนเอง และปี2019 สมาชิกสภามลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีการผ่านร่างกฎหมายเพื่อปูทางให้คนงานแพลตฟอร์มได้รับสวัสดิการเหมือนลูกจ้าง เช่นวันหยุด วันลาป่วยยังได้รับค่าจ้าง เป็นต้น ดังนั้นในส่วนของประเทศไทยจึงควรผลักดันให้ผู้ทำงานบนแพลตฟอร์มถือเป็นลูกจ้างที่ต้องได้รับสิทธิสวัสดิการตามกฎหมาย คือประกันสังคม และกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย” วรดุลย์ กล่าว

บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการด้านสิทธิแรงงาน กล่าวว่า ต้องมีการปรับโครงสร้างการทำงานของ สปส. เนื่องจากปัจจุบันบอร์ดสปส.ยังอยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน ไม่สามารถออกนโยบายหรือกำหนดสิทธิประโยชน์ได้ ต้องเสนอต่อรมว.แรงงาน เพื่อพิจารณา รวมถึงการตั้งเลขาธิการสปส. ก็เช่นเดียวกัน ต้องให้รมว.แรงงานเป็นผู้เห็นชอบ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้การขับเคลื่อนสิทธิประโยชน์หรือนโยบายอะไร ต้องอยู่ภายใต้ฝ่ายการเมือง จึงเห็นว่าควรปรับโครงสร้างให้เป็นอิสระจากกระทรวงแรงงาน และบริหารงานโดยบอร์ดที่มาจากการสรรหาอย่างเป็นระบบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ 

ขณะที่ น.ส.เอ(นามสมมุติ)  ตัวแทนจากกลุ่มไรด์เดอร์ผ่านระบบแพลตฟอร์ม กล่าวว่า เมื่อก่อนตนวิ่งรถส่งอาหาร และส่งของตามแพลตฟอร์ม ตอนนี้เปลี่ยนมาวิ่งรับส่งคน และส่งของแทน ถ้าวิ่งกลางวัน ได้ครั้งละ 50 บาท ต้องถูกหัก 15% อีก ตลอดระยะเวลาของการวิ่งรถผ่านแพลตฟอร์มนั้น นอกจากปัญหาถูกลวนลาม แล้วยังเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับสวัสดิการหรือการดูแลใดๆ  เพราะไม่มีประกันสังคม และถึงแม้ว่าทางแพลตฟอร์มจะทำประกันอุบัติเหตุให้ แต่ก็กำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะต้องวิ่งงานให้ได้ตามเป้าก่อนถึงจะได้รับสิทธินั้น อย่างไรก็ตาม ถึงได้รับสิทธิ แต่การจะเบิกจริงก็เป็นเรื่องยาก เช่น ขับรถส่งของในซอย แล้วมีรถสวนเลนมาชน เขาก็จะมองว่าเราขับรถโดยประมาทก็ไม่ได้รับสิทธิประกันอุบัติเหตุแต่อย่างใด บางครั้งบอกให้เราใช้ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถแทน เพราะเราไม่สามารถรอตรงนั้นได้ ส่วนสิทธิอื่นๆ ไม่มีอะไรให้เลย มีแต่จะแบนเราอย่างเดียว ดังนั้นสิ่งที่อยากเรียกร้องคืออย่างน้อยก็ขอให้มีประกันสังคม เพราะจะช่วยเราได้เยอะในหลายๆ อย่าง เพราะตอนนี้เขากดขี่เกินไป อย่างที่หักเงินรายได้เราไป 15% นั้นเรายังไม่สามารถเอามายื่นภาษี 3% ต่อปีคืนได้เลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net