แจ้งข้อหาเพิ่ม 10 นักกิจกรรม กรณี #ชุมนุมราษฎรออนทัวร์ หน้า สภ.ภูเขียว ตร.เร่งรัดส่งสำนวนให้อัยการ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย ตร. แจ้งข้อหาเพิ่ม 10 นักกิจกรรม กรณี #ชุมนุมราษฎรออนทัวร์ หน้า สภ.ภูเขียว เร่งรัดส่งสำนวนให้อัยการ - ยื่นประกันตัว 'ไผ่-แบงค์-สมยศ' ครั้งที่ 6 ศาลสั่งไต่สวนคำร้องก่อนนัดฟังคำสั่ง 9 เม.ย. นี้ - ศาลไม่ให้ประกัน 'พรชัย' หนุ่มปกาเกอะญอเป็นครั้งที่ 2 แม้ ส.ส. ชาติพันธุ์ใช้ตำแหน่งประกันตัว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564 ที่ สภ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ นักกิจกรรม “ราษฎร” อีก 10 รายที่ถูกออกหมายเรียกจากกรณี #ราษฎรออนทัวร์ ชุมนุมที่หน้าโรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาจากการชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ก่อนจะให้การปฏิเสธ และจะให้การเป็นหนังสือภายใน 15 วัน

โดยนักกิจกรรมทั้ง 10 รายที่เดินทางมาวันนี้ ได้แก่ “ขนุน” เยาวชนอายุ 18 ปี สมาชิกภาคีนักเรียน KKC, นภาวดี พรหมหาราช, ณัชพล ไพรลิน, เมยาวัฒน์ บึงมุม, เกรียงไกร จันกกผึ้ง, เกษราภรณ์ แซ่วี, วชิรวิชญ์ ลิมปิธนวงศ์, ปวริศ แย้มยิ่ง, ชาติชาย ไพรลิน และชาติชาย แกดำ 

หลังอ่านข้อเท็จจริงในคดีให้ฟัง พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหากับนักกิจกรรมทั้งหมด  รวม 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค ฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ที่อาคาร ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 40 

ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือภายใน 15 วัน โดยมีเพียงบางคนเท่านั้นที่ลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ยอมรับการดำเนินคดีของตำรวจ หลังเสร็จการแจ้งข้อกล่าวหา ลงบันทึกประจำวัน และพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวทั้งสิบไว้เช่นเดียวกับรายอื่นๆ ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ 

หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนแจ้งทนายความพร้อมหนังสือว่า จะนัดส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมดพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการในวันที่ 9 เมษายน 2564 แต่ทนายความยืนยันว่า ผู้ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในครั้งนี้จะครบกำหนดยื่นคำให้การวันที่ 20 เมษายน 2564 พนักงานสอบสวนจะสรุปสำนวนส่งให้อัยการก่อนผู้ต้องหายื่นคำให้การได้อย่างไร พนักงานสอบสวนจึงตกลงจะนัดผู้ต้องหาส่งตัวให้อัยการอีกครั้งในภายหลัง 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ และนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” รวม 10 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหา จากการชุมนุมครั้งดังกล่าวไปแล้ว โดยถูกแจ้งข้อกล่าวหารวม 3 ข้อหา เช่นเดียวกันนี้ รวมทั้งมีเยาวชนอายุ 15 ปี เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้ว ทั้งที่เธอเป็นผู้ถูกติดตามคุกคามถึงบ้านเพื่อให้เธอเลิกไปค่าย “ราษฎรออนทัวร์” จนทำให้เกิดการชุมนุมวันดังกล่าว และเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564  หรรษชีวิน เกศรินหอมหวล นักกิจกรรมอีกคนก็รับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้ด้วย

ทำให้คดีนี้มีผู้เข้ารับทราบข้อกล่าวหารวม 22 ราย เป็นนักเรียน 2 ราย และนักศึกษา 11 ราย พนักงานสอบสวนยกเลิกหมายรวม 3 ราย เนื่องจากผู้ถูกออกหมายเรียกไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว โดยหลังการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของแซน (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปี ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเขียว มีคำสั่งให้ควบคุมตัวไว้ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีกำหนด 24 วัน นับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. – 8 เม.ย. 2564 ก่อนที่ครอบครัวจะใช้เงินสด 2,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ประกันตัวออกมา 

คดีนี้ยังมี “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ถูกออกหมายเรียกอีก 1 ราย แต่เนื่องจากขณะนี้แอมมี่ถูกขังระหว่างสอบสวนในคดีอื่นโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี พนักงานสอบสวนจะต้องเข้าแจ้งข้อกล่าวหาแก่แอมมี่ในเรือนจำ ซึ่งยังไม่พบว่า พนักงานสอบสวน สภ.ภูเขียว เข้าแจ้งข้อกล่าวหาแอมมี่ในคดีนี้ 

ส่วนผู้ที่คาดว่าจะถูกดำเนินคดีอีก 3 รายได้แก่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ไมค์” ภาณุพงษ์ จาดนอก และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ พนักงานสอบสวน สภ.ภูเขียวระบุว่า คณะพนักงานสอบสวนยังคงอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินคดีในข้อหาใด โดยปัจจุบันไผ่และไมค์ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ได้การปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วเกือบ 1 เดือน

สำหรับการชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ.  2564 กลุ่ม “ราษฎร” จัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว ขอโทษ กรณีไปคุกคามนักเรียนที่บ้าน จากการลงชื่อสมัครเข้าร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564  หลังการชุมนุม นอกจากผู้ชุมนุมจะไม่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องจากตำรวจ สภ.ภูเขียว แล้ว ยังถูกดำเนินคดีรวมถึง 26 ราย 

ยื่นประกันตัว 'ไผ่-แบงค์-สมยศ' ครั้งที่ 6 ศาลสั่งไต่สวนคำร้องก่อนนัดฟังคำสั่ง 9 เม.ย. นี้ 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564 เวลา 10.30 น. ทนายความพร้อมนายประกัน ได้เดินทางมายังศาลอาญา รัชดา เพื่อยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม จำเลยมาตรา 112 ในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งถูกขังระหว่างพิจารณาคดีมาเป็นเวลา 56 วันแล้ว สำหรับสมยศและปติวัฒน์ ส่วนจตุภัทร์ถูกขังมา 29 วัน โดยศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หลังการยื่นคำร้องศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนในเวลา 15.30 น. 

การยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ นับเป็นการยื่นครั้งที่ 6 ของสมยศและปติวัฒน์ และครั้งที่ 4 ของจตุภัทร์ โดยใช้เงินสดเป็นหลักทรัพย์ประกันคนละ 100,000 บาท และมีประเด็นสำคัญในคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานของคู่ความในคดีนี้ โดยในวันดังกล่าว จำเลยทั้งสามได้แถลงว่า หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว จำเลยทั้งสามจะยอมรับเงื่อนไขที่ศาลกำหนด โดยศาลได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 29 มี.ค. 2564 และศาลได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าจะแจ้งเงื่อนไขดังกล่าวให้กับศาลที่มีอำนาจในการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทราบว่าเป็นเหตุสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวได้หรือไม่ 

กรณีดังกล่าวจำเลยเห็นว่าเป็นกรณีสำคัญที่อาจทำให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยได้ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตามกฎหมายให้จำเลยปฏิบัติตาม จำเลยยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลไว้

คำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวของจตุภัทร์ ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า 

1. การใช้เงินสดเป็นหลักประกันจำนวน 100,000 บาท เป็นเงินจำนวนที่สูงอันเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือได้ว่า หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี

2. คดีนี้ทนายความจำเลยได้ตรวจสำนวนคดีแล้วพบว่ามีพยานเอกสารเป็นจำนวนมาก การที่จำเลยถูกขังไว้ระหว่างพิจารณาคดีทำให้จำเลยไม่สามารถอ่านเอกสารซึ่งเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ อันเป็นอุปสรรคในการต่อสู้คดีของจำเลยทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายคุ้มครองไว้

3. จำเลยเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกมาโดยตลอด ไม่เคยหลบหนี และเดินทางมาพบพนักงานอัยการตามกำหนดนัดทุกนัด จำเลยยืนยันความในความบริสุทธิ์พร้อมจะต่อสู้คดีตามกฎหมายไม่เคยคิดจะหลบหนี 

4. จำเลยถูกคุมขังไว้ตามหมายขังของศาลมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทว่าก็ไม่ปรากฏว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะแตกต่างไปจากก่อนหน้าที่จำเลยถูกคุมขังไว้ กรณีจึงเชื่อได้ว่าการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยไปก็ไม่ส่งผลใด ๆ ต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

5. จำเลยเป็นนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล การคุมขังจำเลยไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของจำเลย ซึ่งยังไม่ได้ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด โดยไม่อาจเยียวยาด้วยหนทางอื่นได้ 

6. หลักประกันสิทธิอันสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือ การที่ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้ถูกรับรองไว้อย่างชัดเจนในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญไทย ตลอดจนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยในมาตรา 107 และ 108/1 ระบุไว้ว่า “จำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” แสดงให้เห็นว่าการไม่ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นโดยหลักทำไม่ได้ 

7. จำเลยเป็นเพียงบุคคลที่ถูกโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้นยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำผิด การถูกฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิดเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เหตุผลที่จำเลยจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี เพราะจำเลยเชื่อมั่นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ทั้งนี้ ในคดีข้อหาทางการเมืองคดีอื่น แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษาแล้วว่าจำเลยได้กระทำความผิดลงโทษจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์ก็ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อันถือเป็นแนวบรรทัดฐานที่ดีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญา 

8. การใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือการใช้เสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นเครื่องมือแสดงออกซึ่งเจตจำนงอย่างเสรีของพลเมือง ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย

9. ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเดือดร้อน ประชาชนได้รับความทุกข์ยากลำบากทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ ระบบกฎหมายพังทลายลง ไร้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม คงมีเพียงอำนาจศาลเท่านั้นที่จะเป็นเสาหลักอันสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ช่วยสร้างหลักประกันสิทธิและฟื้นฟูให้ระบบกฎหมาย หลักนิติรัฐ นิติธรรม กลับคืนสู่ประเทศโดยเร็ว 

สำหรับคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวของสมยศ ระบุเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 

1. จำเลยมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง และยังมีอายุมากแล้ว หากไม่หากไม่ได้รับการประกันตัวย่อมทำให้จำเลยและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง 

2. แม้ว่าเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งคำร้องโดยมีการให้เหตุผลที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยว่า “การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยที่ 3  ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน”

การให้เหตุผลของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่ามีความสอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์เพียงใด เพราะเท่ากับศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามที่ถูกฟ้องไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่า 1. จำเลยทำจริงหรือไม่ 2. การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ และ 3.จำเลยมีอำนาจกระทำตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อยังไม่ได้มีการพิจารณาสืบพยานจนสิ้นข้อสงสัย การวินิจฉัยการกระทำของจำเลยไปล่วงหน้าและนำมาเป็นเหตุผลในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงขัดต่อหลักสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ขัดแย้งกับพันธกรณีที่ไทยมีต่อนานาประเทศ รัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันล้วนแต่เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ในการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์, สมยศ และหมอลำแบงค์ แถลงยืนยันว่า จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล โดยนายประกันของทั้งสาม ได้แก่ พริ้ม บุญภัทรรักษา และชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงรับรองว่า จะดูแลจำเลยทั้งสามให้ปฏิบัติเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล หากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

อัยการแถลงว่า เนื่องจากมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นใหม่ จำเลยทั้งสามมีผู้รับรองคอยดูแลให้ปฏิบัติตามสัญญาที่แถลงไว้ต่อศาล โจทก์จึงไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้เป็นดุลยพินิจของศาล

ศาลนัดฟังคําสั่งว่าจะอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสามหรือไม่ในวันที่ 9 เม.ย. 2564 เวลา 11.00 น. 

คดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีและตกเป็นจำเลยทั้งสิ้น 22 คน ในหลายข้อหา โดยมี 7 คน ถูกฟ้องในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย ซึ่งทั้งหมดไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี แม้ยื่นประกันมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันด้วย นอกจากสมยศและปติวัฒน์ อานนท์ นำภา และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ก็ถูกขังมาเกือบ 2 เดือนแล้ว ขณะที่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกขังมาเกือบ 1 เดือน ปัจจุบันพริษฐ์ อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวมากว่า 20 วัน และปนัสยาอดอาหารมาแล้ว 1 สัปดาห์   

ส่วนอีก 15 คน ถูกฟ้องในฐานความผิด ยุยงปลุกปั่น และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 215 เป็นหลัก ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ศาลไม่ให้ประกัน “พรชัย” หนุ่มปกาเกอะญอเป็นครั้งที่ 2 แม้ ส.ส. ชาติพันธุ์ใช้ตำแหน่งประกันตัว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “พรชัย” หนุ่มปกาเกอะญอวัย 37 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างสอบสวนมาตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2564 โดยในการยื่นประกันครั้งนี้ได้ใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายมานพ คีรีภูวดล เป็นหลักประกัน แต่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว อ้างไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ในช่วงเช้า นายมานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล และทนายความ ได้เข้าเยี่ยมพรชัย ที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ ทนายความได้ดำเนินการทางเอกสารเพื่อประกอบการยื่นประกันตัวในครั้งนี้ โดยกระบวนการดังกล่าวเป็นไปอย่างทุลักทุเล เนื่องจากทนายความและผู้ต้องหาถูกคั่นด้วยห้องกระจกและสื่อสารกันได้ผ่านทางโทรศัพท์เสียงอู้อี้ของเรือนจำเท่านั้น

จากนั้น มานพจึงมีโอกาสนทนากับพรชัย ทั้งสองต่างเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ จึงสื่อสารกันด้วยภาษาถิ่นของตน ต่พรชัยกล่าวว่าเขาดีใจมากที่ได้ยินภาษาถิ่นที่ไม่ได้ยินมากว่า 20 ปี เนื่องจากเขาออกจากบ้านเกิดที่แม่ฮ่องสอนมาเผชิญชีวิตในกรุงเทพตั้งแต่อายุ 16 ปี ก่อนจากกัน พรชัยยังฝากข้อความว่า “ฝากถึงราษฎรทุกท่าน ขอให้ผลักดัน 3 ข้อเรียกร้องกันต่อ ช่วยกันกระจายความจริง อย่าให้ความกลัวจำกัดเรา ให้คำนึงถึงสิทธิของตัวเอง ยืนยันในสิทธิเสรีภาพ ร่วมกันสร้างสังคมให้มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด ช่วยกันแก้รัฐธรรมนูญครั้งใหม่”

จากนั้นในช่วงบ่าย เวลา 13.25 น. ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “พรชัย” เป็นครั้งที่สองโดยใช้หลักตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลักประกัน และขอให้ศาลมีคําสั่งไต่สวนประกอบคําร้อง โดยเรียกพนักงานสอบสวนและเบิกตัวผู้ต้องหามาไต่สวนที่ศาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท