Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นับแต่สถานการณ์การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาเริ่มเกิดเป็นกระแสปฏิกิริยาการโต้กลับครั้งใหญ่ในช่วงกลางปี 2563 โดยเริ่มตั้งแต่กิจกรรมย่อยๆที่นักเรียนนักศึกษาสถาบันต่างๆผลัดกันเป็นเจ้าภาพ จนมาสู่การรวมตัวกันเป็นขบวนการใหญ่ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ซึ่งเป็นองค์กรขับเคลื่อนการเมืองภาคพลเมืองที่มีอายุกว่า40ปี และในปัจจุบันเป็นการทำงานร่วมกันของภาคประชาสังคมหลายส่วนที่อาจมีความแตกต่างทางความคิดจุดยืนกันบ้าง ก็ได้เฝ้าติดตามดูสถานการณ์ด้วยความห่วงใยมาโดยตลอด โดยที่ผู้เขียนรับอาสาทำหน้าที่เข้าไปสังเกตการณ์ในเกือบทุกการชุมนุมมาจนถึงปัจจุบัน 

ผู้เขียนได้ประเมินการการบริหารความขัดแย้งของภาครัฐนับตั้งแต่การชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ก็เห็นสัญญาณที่เป็นไปในทางลบตั้งแต่การแถลงข่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วงดึกด้วยท่าทีที่ให้ร้ายผู้ชุมนุม จนกระทั่งเกิดการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืดวันที่15ตุลาคมในที่สุด ทางแกนนำการชุมนุมประกาศให้มวลชนกลับบ้าน และย้ายฐานการชุมนุมไปยังสี่แยกราชประสงค์ในช่วงเย็นวันเดียวกัน กระทั่งเกิดเหตุการณ์การสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงในการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จากการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี และแก๊สน้ำตา ต่อผู้ชุมนุมที่ไม่ได้มีสัญญาณบอกเหตุใดๆว่าจะมีความรุนแรงหรือปฏิบัติการใดๆนอกจากมานั่งชุมนุม 

แม้ในเวลาต่อมาจะมีการจัดประชุมรัฐสภาวาระพิเศษที่ตั้งเป้าหมายในการหาทางออกให้กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ที่สุดแล้ว ญัตติการชุมนุมที่บรรจุเข้ามา กลับไม่ได้เป็นเรื่องของการหาทางออกให้กับความขัดแย้งแต่อย่างใด การประชุมรัฐสภาในวันนั้นกลับกลายเป็นการว่าร้ายผู้ชุมนุม เช่นการกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมวันที่14ตุลาคมได้ขัดขวางเส้นทางขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ กล่าวหาว่าผู้ชุมนุมที่แยกปทุมวันในวันที่16ตุลาคม มีการใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

ทางพรรคฝ่ายค้านเองก็เลยต้องทำหน้าที่นำเสนอหลักฐานหักล้างข้อกล่าวหาต่างๆให้ผู้ชุมนุม แทนที่จะได้คุยกันถึงสาเหตุและแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งที่แท้จริง ที่ทั้งฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และมวลชนนอกสภา ต่างก็เห็นปัญหาตรงกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือทางออก 

นับจากนั้นมีการชุมนุมของประชาชนมีเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ซึ่งการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละครั้งในการรับมือ ก็มีแต่แนวโน้มที่จะขยายความขัดแย้ง สุมไฟความขัดแย้งกับประชาชนให้รุนแรงยิ่งขึ้น จากการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี แก๊สน้ำตา กับการชุมนุมต่างๆอีกหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งมาถึงการชุมนุมในนามของกลุ่มREDEM(ซึ่งระบุว่าเป็นการชุมนุมแบบไม่มีแกนนำ ผู้เข้าร่วมทุกคนคือแกนนำ) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ณ กรมทหารราบที่1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และ 20 มีนาคม 2564 ณ ท้องสนามหลวง ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการใช้กระสุนยางกับผู้ชุมนุม

มากไปกว่านั้น ยังปรากฏภาพบันทึกจากสื่อมวลชนจำนวนมาก ที่บันทึกเหตุการณ์การใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมรายบุคคลอย่างไร้เหตุผล ภาพตำรวจอำนวยการควบคุมฝูงชนจำนวนมากวิ่งกรูกันไปทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมที่ไม่ได้มีอาวุธอยู่ในมือ เป็นต้น 

ทั้งหมดเป็นความรุนแรงเชิงกายภาพ ที่ผู้เขียนในฐานะผู้สังเกตการณ์หน้างานเองก็ได้เห็นเองกับตา

แต่ที่ยิ่งแย่ไปกว่านั้นคือท่าทีของฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ฝ่ายพรรครัฐบาล ส.ว. ที่ในทางพฤตินัยเป็นอันรู้กันว่า ได้รับแต่งตั้งจากผู้มีบารมีในรัฐบาลมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่อยู่ในฐานะ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ซึ่งก็ทำหน้าที่เป็นกองหนุนของรัฐบาลอย่างออกหน้าออกตา และที่สำคัญคือ ท่าทีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี2557 และเข้ามาโดยกลไกของรัฐธรรมนูญ2560 ซึ่งถือได้ว่าเป็นชนวนสำคัญของความขัดแย้งนี้ นอกจากไม่มีความจริงใจที่จะให้มีพูดคุยถกแถลงเพื่อหาทางออกให้ประเทศ ซ้ำยังแสดงท่าทีที่เป็นการท้าทายประชาชนผ่านสื่อหลายต่อหลายครั้ง 

ที่จริงผู้เขียนเองมองเห็นความผิดพลาดที่ผู้นำคนนี้ดำเนินมาตั้งแต่ยุค คสช. แล้ว นับตั้งแต่ช่วงเวลานั้น การชุมนุมแสดงออกต่างๆของประชาชนก็ถูกฝ่ายความมั่นคงกีดกัน ขัดขวางมาโดยตลอด นักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวถูกจับกุมคุมขัง ตั้งข้อหาเป็นว่าเล่น แม้กระทั่งในช่วงของการเตรียมทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ (ที่ปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญ2560) ก็ยังมีข้อห้ามในการรณรงค์ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่นับหมากกลเงื่อนไขที่ทำให้การทำ “ประชามติ” (Referendum)ครั้งนั้นไม่สามารถบ่งชี้ความพึงพอใจ/ไม่พึงพอใจที่แท้จริงของประชาชนต่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญได้ แต่กลับมีเรื่องของการที่ประชาชนต้องคิดในเชิงกลยุทธเข้ามาด้วย ประชาชนจำนวนหนึ่งยอมโหวตเห็นชอบ เพียงเพราะเกรงว่าหากไม่เห็นชอบ การเลือกตั้งจะต้องถูกเลื่อนไปจากโรดแมพอีก หลังจากที่ถูกเลื่อนซ้ำซากมาหลายครั้งแล้ว 

สรุปความเห็นในมุมมองของผู้เขียน ตั้งแต่พลเอกประยุทธ์เข้ามามีอำนาจในฐานะหัวหน้า คสช. ผู้นำการรัฐประหารในปี 2557 สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ทำแน่นอนว่า มันไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตยอยู่แล้ว ซึ่งผู้เขียนจะไม่ขยายความในจุดนี้ แต่ผู้เขียนต้องการสะท้อนภาพความล้มเหลวในการ “จัดการความขัดแย้ง” ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นศิลปะที่คนเป็นผู้นำพึงควรมี แต่เป็นสิ่งที่ไม่มีในตัวของพลเอกประยุทธ์เลย 

ในมุมมองสันติวิธี “ความขัดแย้ง” คือสิ่งที่ทำให้สังคมมี “พลวัต” ความขัดแย้งทางการเมืองคือเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปได้ และแน่นอนว่า เมื่อมีใครสักคนเข้ามาใช้กำลังอำนาจควบคุมทุกอย่างให้หยุดนิ่ง ผู้นั้นก็จะต้องเป็นสมการในความขัดแย้งเสียเองโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ตั้งแต่การเข้ามายึดอำนาจในนาม “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ไปจนถึงการแต่งเพลง “คืนความสุขให้ประชาชน” ก็เป็นการสร้างวาทกรรมที่ขายได้กับผู้คนในสังคมจำนวนหนึ่งที่กลัวความขัดแย้ง และ คสช. ก็ทำงานบนความเชื่อที่ว่า ถ้าแช่แข็งสถานการณ์ในบ้านเมือง ไม่ให้มีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนได้ จะทำให้ความขัดแย้งถูกสลายไปได้เอง 

มายาคติแบบนี้ก็ฝังหัวชนชั้นกลางมาจนถึงตอนที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ด้วยการชูวาทกรรมของพรรคการเมืองแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในเวลานี้ว่า “เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่” (ชื่อเล่นของพลเอกประยุทธ์) 

แต่สุดท้ายแล้ว ปรากฏการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี2563มาจนถึงวันนี้ก็ได้พิสูจน์แล้ว ว่า ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งในสังคมมันถูกกดทับไว้เท่านั้น รอแค่เวลาที่จะปะทุ และเป็นความขัดแย้งแบบปมซ้อนปมหลายชั้น จากความขัดแย้งระหว่างความเป็นประชาธิปไตยกับเผด็จการทหาร ก็ซ้อนขึ้นมาด้วยความขัดแย้งระหว่างรุ่น ระหว่างวัย ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ระหว่างคนรุ่นที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงใหม่ในแนวทางเสรีนิยม(อาจมีความเป็นสังคมนิยมเข้ามาบ้าง)กับคนรุ่นที่ต้องการอนุรักษ์ความเป็นจารีตนิยม

วันนี้มันคือความขัดแย้งที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถถูกกดทับได้อีกต่อไป

ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์เข้าใจความขัดแย้ง ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่วันนี้พอจะอ้างได้ว่าตนเองมาจากการเลือกตั้ง พลเอกประยุทธ์คงจะทำสิ่งต่อไปนี้ 

1. ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดในทันที ยุติการดำเนินคดีทั้งหมด โดยเฉพาะความผิด ป.อาญา มาตรา112

2. เปิดการเจรจาด้วยตนเองกับฝ่ายคู่ขัดแย้งด้วยท่าทีที่เป็นมิตร รับฟัง ทำความเข้าใจด้วยใจจริง และวางเป้าหมาย Timeline ที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาเพื่อบรรลุข้อตกลงที่มีร่วมกัน

3. เดินหน้ากระบวนการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างมีหลักการและเป้าหมายที่ชัดเจน ตามข้อเสนอของภาคประชาชนที่ได้มีการศึกษากันไว้ตั้งตอนที่สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการชุดแรก ดำเนินการ  ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อพร้อมสู่การมีรัฐบาลและรัฐสภาจากการเลือกตั้งตามกติกาที่ประชาชนได้ร่วมกันสร้าง
  
เพียงแค่พลเอกประยุทธ์ได้ทำความเข้าใจว่าพลวัตสังคมเวลานี้ คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เพียงอยากเห็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ต้องการเพียงประชาธิปไตยสมบูรณ์ ต้องการเพียงแค่การจัดการความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย และพร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลง เลิกยึดติดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง พลเอกประยุทธ์ก็จะสามารถรอวันลงจากอำนาจได้อย่างสง่างามแทนที่จะต้องกอดความกลัวเอาไว้แล้วต้องคิดหาทางรักษาอำนาจที่รังแต่จะนำมาแต่ปัญหาสะสมที่เสมือนระเบิดเวลาที่กำลังนับถอยหลังอันไม่เป็นผลดีแก่ฝ่ายใดเลย แม้แต่กับตัวพลเอกประยุทธ์เอง 

การสลายความขัดแย้ง ต้องใช้ศิลปะและความอดทน มันไม่ง่ายเหมือนการสลายการชุมนุมที่เพียงมีอำนาจ มีอาวุธก็ทำได้ แต่ถ้าผู้นำตั้งใจจริง การสลายความขัดแย้งก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำ 
 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ เป็นกรรมการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net