Skip to main content
sharethis

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมจัดวงถกระบบบเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า 'เดชรัต' เสนอก้าวแรก เริ่มตามกลุ่มประเภท เด็กเล็ก เด็กโต เยาวชนและผู้สูงอายุ จำนวน 40% ของประชากรทั้งหมด คาดใช้งบฯ 5% ของ GDP แนะค่อยๆ ขึ้นเป็นขั้นบันไดใช้เวลา 5-10 ปี

3 เม.ย.ที่ผ่านมา โครงการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม (คคสส) และเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) จัดเวทีวิชาการนำเสนองานวิจัยและบทความวิชาการ ‘จินตนาการสู่สังคมไทยเสมอหน้า’ ณ โรงแรม TK Palace โดยกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ การนำเสนองานวิจัย "ระบบเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า" หรือ Universal Basic Income (UBI) ซึ่งนำเสนอโดย เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้านั้น เดชรัต ระบุว่าอยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานประกอบด้วย ได้รับเป็นเงินสด (cash) ได้รับโดยไม่มีเงื่อนไข (unconditional) และได้รับแบบถ้วนหน้า (universal) รวมทั้ง กำหนดจากรายได้พื้นฐาน (basic) ควรจะเป็นระดับรายได้ที่เพียงพอในการ “ยังชีพ” อย่างน้อยตามมาตรฐานขั้นต่ำ (เช่น เส้นความยากจน) ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยเหลือหรือเยียวยาเท่านั้น และเป็นสิทธิในการได้รับอย่างแน่นอน จะไม่ผันแปรไปตามนโยบายของรัฐบาล

กล่าวโดยสรุป UBI คือ สิทธิของประชาชนที่จะได้รับเงินสดเป็นรายได้พื้นฐานที่เพียงพอต่อการยังชีพเป็นประจำ โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน และไม่มีเงื่อนไขในการใช้เงิน เมื่อเป็นเช่นนี้ UBI จึงเป็นสวัสดิการที่มุ่งหวังให้ ประชาชนทุกคนสามารถรับมือกับความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนในชีวิต อย่างน้อยก็มีรายได้พื้นฐานเพียงพอต่อการยังชีพ ตามความจำเป็นและแนวทางของตน โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจนและไม่ต้องจำกัดอยู่ในแนวทางการใช้เงินที่รัฐบาลกำหนด

เดชรัต กล่าวว่า เงินสวัสดิการเป็นลักษณะที่เฉพาะเจาะจง โดยรัฐบาล อย่างเงินเบี้ยเลี้ยงเด็กให้คนละ 600 บาท เฉพาะกลุ่มคนที่รายได้ไม่ถึง 1 แสน เเต่ถ้าสวัสดิการนี้ให้ประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไข เงินจำนวนนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางอื่นได้มากกว่า หรือว่าเงินสวัสดิการเเห่งรัฐ (รายได้น้อย) ให้โดยไม่มีเงื่อนไขก็จริง เเต่กำหนดสิทธิผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการเเห่งรัฐให้ไปเเลกเป็นคูปอง หรือนำบัตรไปกดเเลกในรูปเเบบสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค สุดท้ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อันนี้คือใกล้ UBI ที่สุด ขาดเเต่กับอันนี้มีไว้สำหรับถ้วนหน้าตามประเภท ประเภทผู้สูงอายุ ไม่ต้องถามว่ายากจน เพราะถือว่าเป็นผู้สูงอายุ 

ข้อเสนอ UBI ต่อสังคมไทย

เดชรัต กล่าวว่า ของเราเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง งบประมาณในการจัดทำ UBI น่าจะอยู่ที่ 8-22 % ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP จากตัวเลขที่ธนาคารโลกคำนวน เมื่อดูตัวเลขนี้ก็ยังเยอะ เมื่อเราพูดถึง 8%  ในกรณีผู้สูงอายุเราพูดถึง 2% ของ GDP รัฐบาลยังไม่ให้เลย ที่จะขยับจาก 600 บาทต่อเดือน มาเป็น 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2% ของ GDP ดังนั้นควรจะเป็นคำถามว่าแล้วอะไรควรจะเป็นก้าวหน้า

หากประเทศไทยจะดำเนินมาตรการ UBI แบบครอบคลุมประชากรทุกคนโดยจัดสรรรายได้พื้นฐานตามเส้นความยากจนที่ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน เราจะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบเท่า 13.05% ของ GDP อันนี้ก็คงยากมาก

ทีนี้คนอีกกระแสหนึ่งก็จะเชื่อว่าเราพุ่งไปที่คนจนเลยได้ไหม ประมาณ 9.73 ล้านคน มันจะใช้เงินไปประมาณ 3 แสนล้านบาท ไม่ถึง 2% ของ GDP แต่มันจะพิสูจน์ความจนได้จริงไหม ก็อย่างที่เราเห็นในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เห็นในเงินอุดหนุนเด็กเล็กก็คุยกันได้ ดังนั้นมันเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะพุ่งเป้า

ข้อเสนอก้าวแรกของ UBI น่าจะเป็นแนวเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เดชรัต กล่าวว่า เงินที่เป็นก้าวแรกของ UBI น่าจะเป็นแนวเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นี่น่าจะใกล้กับ UBI แล้ว เพราะฉะนั้นก้าวแรกของ UBI ตนคิดว่าเราให้ประชากรแต่ละกลุ่มดีไหม ก็คือถ้วนหน้าตามกลุ่มประเภท ก็คือยังไม่สามารถถ้วนหน้าทุกคนได้ เช่น เด็กเล็ก 4.6 ล้านคน โดยใช้เส้นความยากจน แปลว่าเด็กเล็กที่เคยจ่าย 600 บาท ก็จะขยับเป็น 2,000 กว่าบาทตามเส้นความยากจน อย่างไรก็ตามนี่ยังไม่เป็นข้อเสนอ แต่เป็นการทดลองทำให้ดูก่อนว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้ UBI หมดมันจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งหากรวม เด็กโต (7-15 ปี) เยาวชน (16-18ปี) และผู้สูงอายุด้วย รวมทั้งหมดประมาณ 25 ล้านคน ประมาณ 38% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ใช้เงินประมาณ 5% ของ GDP (ดูตาราง) สำหรับตนมองก็มีลุ้น แต่สำหรับรัฐบาลก็อาจส่ายหน้า  

สำหรับที่ตนมองว่ามีลุ้นนั้น เนื่องจากตอนนี้รายได้ที่รัฐบาลเก็บภาษีมัน 15% ของ GDP หากเราบอกเก็บมา 15% แล้วจ่ายเพิ่ม 13% นั้นมันใหญ่เกินไป อย่างน้อยมันไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่ว่า 15% แล้วบวกอีก 5% แปลว่าเราจะเกิดภาษีมาเป็น 20% ของ GDP แบบนี้สำหรับตนมันพอมีลุ้น เราน่าจะมีวิธีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของ GDP น่าจะเป็นไปได้ ซึ่งในทางปฏิบัติเด็กเล็กอาจไม่ใช่ 2,700 บาทต่อเดือนก็ได้ อาจเริ่มที่ 600 บาทต่อเดือนแบบถ้านหน้า เด็กโต 600 – 1,000 บาทต่อเดือน อันนี้เป็นไปได้หมด แต่อันนี้ตนเทียบให้เห็นก่อนว่า UBI 2,700 บาทต่อเดือนจริง 40% ของประชากรกลุ่มนี้สำหรับตนถือว่าตัวเลขนี้มีลุ้นเลย

ด้วยภาวะพึ่งพิงของกลุ่มครัวเรือนที่จนมีสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะที่มีเด็กและผู้สูงอายุนั้น เดชรัต ชี้ว่าการให้ถ้วนหน้าตามกลุ่มประเภทนั้นก็จะไปถึงกลุ่มคนจนที่เยอะกว่าอยู่ดีด้วยเหตุผลที่คนจนนั้นมีสมาชิกครัวเรือนที่เป็นเด็กและผู้สูงอายุจำนวนมากกว่าอยู่แล้วโดยธรรมชาติ

ดังนั้นหากจะตอบข้อเสนออะไรสักอย่าง เดชรัต มองว่าข้อเสนอให้ถ้วนหน้าตามกลุ่มประเภทนั้นจำนวน 40% ให้ได้ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5% ของ GDP ซึ่งก็ค่อยๆ ขึ้นเป็นขั้นบันไดได้โดยใช้เวลา 5-10 ปี

UBI วัยแรงงาน

ส่วนวัยแรงงานที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือทางตรงนั้น UBI สำหรับวัยนี้เป็นอย่างไรบ้าง เดชรัต เสนอ 3 ทางเลือกแต่ก็ยังไม่กล้าฟันธงว่าทางเลือกไหนดีสุด  หนึ่ง ตั้ง UBI แบบเผื่อฉุกเฉิน คือตั้งไว้ให้เลย 2,763 บาทต่อเดือน 12 เดือน ในรอบ 10 ปี โดยในรอบ 10 ปีนี้เหมือนมีรายได้พื้นฐานอยู่ 12 เดือน จะใช้เวลาไปนก็ได้ เป็นสิทธิของคุณ หากไม่ใช้เลยรัฐบาลจะผลักเป็นเงินออมของคุณเช่นกัน สอง คล้ายกับประกันรายได้เกษตรกร เราขยายมาเป็นการประกันรายได้ทุกคน หากไม่ได้เงินเดือนก็มารับตรงนี้ได้ ซึ่งก็ต้องจดทะเบียนกันจำนวนมาก และ สาม เรื่อง Negative Income Tax หมายความว่าเราทุกคนจะแจ้งเสียภาษีกันหมดเลย และใครที่มีรายได้เกิดกว่าเกณฑ์ที่ต้องเสียก็เสียไป ใครที่มีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียและแถมรัฐบาลอาจจะช่วยกลับมาให้เรามีรายได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ เป็นลักษณะที่ทุกคนเข้าอยู่ในระบบภาษีที่ใครมีรายได้น้อยก็ได้รับเงินจากรัฐ ส่วนใครรายได้มากก็เสียภาษีให้รัฐ

เดชรัต ย้ำว่าตนมองว่าให้แบบถ้วนหน้าตามกลุ่มประเภทนั้นจำนวน 40% ที่กล่าวมาข้างตนก่อนก็สามารถปลดล็อคไปได้มาก

ตัวอย่างที่เคนย่าและฟินแลนด์

เดชรัต ยังเสนอข้อมูลประสบการณ์การใช้ UBI ในต่างประเทศ เช่น GiveDirectly ในประเทศเคนย่า UBI ในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งผลปรากฎว่าชีวิตความเป็นอยู่ทางสังคมดีขึ้น คนจนในประเทศลดลง ส่งผลให้ระบบอื่นที่อยู่ในสังคมดีขึ้น ในส่วนของระบบรัฐสวัสดิการ ผลการทดลองเปิดเผยว่าในเเง่ของการบริโภค ช่วยให้ครัวเรือนมีการบริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อาหาร การดูเเลสุขภาพ การศึกษา กิจกรรมทางสังคม ในเเง่ของทรัพย์สิน พบว่าการโอนเงินรายได้พื้นฐานช่วยให้ครัวเรือนที่ได้รับเงิน เพิ่มทรัพย์สินของตนเอง ผลที่ตามคือรายได้จากการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น

"เขาเอาเมืองนี้ไปทดลองให้ ประชาชนตกใจ ให้เงินโดยไม่บอกว่าต้องใช้ทำอะไร ไม่มีคำเเนะนำอะไร เอาเงินไปใช้ยังไงก็ได้ หลังจากให้ไปเเล้วปรากฎว่า การบริโภคอาหารเพิ่มขึ้น ภาวะความเครียดลดลง ความหิวโหยลดลง จำนวนวันที่เด็กไม่ได้รับอาหารลดลง ซึ่งอันนี้มันสอดคล้องกับเรื่อง 600 บาท เป็นเงินอุดหนุนเด็กเล็ก อันนี้เป็นโภชนาการดีขึ้นชัดเจน เเละก็ไม่มีผลให้คนบริโภคยาสิบเเอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น เเละก็ที่สำคัญในเเง่ของทรัพย์สิน ที่ได้รับไปลงทุนในทรัพย์สินมากขึ้น ประมาณ 58% เเล้วก็ทรัพย์สินที่ลงทุนมากที่สุดคือ บ้านเรือน รองลงมาคือ ปศุสัตว์เป็นอะไรที่คนชนบทไม่ค่อยมีเงิน ถือว่ามันเป็นการออมที่เร็วที่สุด ถ้ามีเงินหน่อยนิยมออมต้นไม้ ปลูกต้นไม้ใหญ่เเล้วก็รอประมาณ 20 ปี อันนี้คือคนมีเงินเย็น ถามว่าโอนเเบบไหนดี ถ้าโอนเป็นเดือนจะดีต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ค่าอาหาร เเต่ถ้าโอนเป็นก้อน สามารถไปลงทุนในทรัพย์สินบ้านเรือนได้เลย นี่คือประเทศเดนย่า" เดชรัต กล่าว

"สิ่งที่เรียกว่า Trust เช่น ฟินเเลด์ สวีเดน เขาจะเชื่อเรื่องความไว้วางใจก็คือ เขาจะวัดเรื่องนี้อยู่เสมอว่าประชาชนของเขา จะมีความไว้วางใจกันเอง เเละก็ไว้วางใจรัฐบาลมากน้อยเเค่ไหน เขาพบว่ามันยังอยู่ในระดับสูง สำหรับคนที่ได้รับเงิน ผลก็คือมันไม่ได้เกิดขึ้นเเค่ระดับปัจเจกบุคคล มันเกิดในระดับชุมชนด้วย หมายความว่าเมื่อได้รับเงินสนับสนุนเเล้วก็จะทำให้สุขภาพดีขึ้น มีความสุข เเล้วก็ไปต่อยอดโอกาสต่าง ๆ มากขึ้นเเล้วมันทำให้เกิดความเชื่อใจกันของประชาชน" เดชรัต กล่าว

ทั้งนี้มีช่วงแลกเปลี่ยน  โดยปราชญ์ ปัญจคุณาธร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาปรัชญา ม.Stanford และผู้ผศึกษาด้าน UBI จาก Stanford Basic Income Lab มีข้อเสนอเเนะว่า หนึ่ง ประเทศฟินเเลนด์เป็นประเทศที่พัฒนาเเล้ว ส่วนประเทศเคนย่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าทำไมไม่เลือกประเทศที่เศรษฐกิจระดับกลางในการศึกษา ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่เศษฐกิจระดับกลางกลาง นั้นหมายความว่า มาตรการ UBI ถูกใช้ในประเทศที่ร่ำรวยมาก เเละประเทศที่ยากจน หากเป็นอย่างนั้นเเล้วน่าจะเลือกประเทศประเทศอลาสก้า จะดีกว่าหรือไม่เพราะว่าโครงการอลาสก้าเป็นโครงการสเกลใหญ่ทำติดต่อกันเป็นเวลานานและมีงานวิจัยออกมาแล้วเป็นจำนวนมาก สอง การจัดการเนื้อหาแบบนี้ทำให้ผลวิจัยในเรื่องเดียวกันกระจายอยู่ในหลายเซคชั่น เช่นผลของ UBI ต่อ Labour supply หรืออุปทานแรงงาน ถูกพูดถึงเกี่ยวกับผลกระทบต่อการจัดสรรเวลาเเละการศึกษา และการศึกษาทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ ทำให้การจ้างงานเเละการทำงานส่งผลกระทบต่อ UBI

การศึกษาหนึ่งที่ถูกยกมาว่า ผู้ที่ได้รับ UBI ทำงานลดลง และเวลาการทำงานที่ลดลงนี้ส่วนหนึ่งใช้ไปกับการศึกษา อาจสื่อว่าคนที่ได้รับ UBI จัดสรรเวลาสำหรับการศึกษามากขึ้นนั้น ปราชญ์ มองว่าการทดลองนี้มีข้อจำกัดอย่างมากจนเราอาจไม่ควรนำมาพิจารณา 1. คือการทดลอง UBI นี้เป็นแบบบทบาทสมมติในแต่ละรอบคนที่ได้รับ UBI จะทอยลูกเต๋าแล้วลูกเต๋าออกมาได้หน้าอะไรจะเป็นตัวกำหนดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด แล้วผู้ที่ทอยลูกเต๋าจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างไร ซึ่งเหตุการณ์บทบาทสมมติเหล่านี้จะสามารถบ่งบอกถึงผู้ที่ได้รับเงิน UBI ในความเป็นจริงหรือไม่

ความยาก โอกาส เเละขั้นตอนการพัฒนา UBI ในไทย

เดชรัต กล่าวว่า ความยากในการพัฒนา UBI อยู่ที่คำว่า ถ้วนหน้า และ พื้นฐาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคลังในการจัดสรรงบประมาณให้ถึงประชาชนอย่างถ้วนหน้าทุกคน กล่าวคือ สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยการใช้ UBI ให้เพียงพอสำหรับการก้าวพ้นเส้นความยากจน อาจจะต้องใช้งบประมาณสูง 36-48% ของ GDP ส่วนประเทศที่มีรายได้ปานกลางเเละรายได้สูง อาจใช้งบประมาณ 8-22% ของ GDP ความยากในเเง่งบประมาณดังกล่าว จึงทำให้เกิดคำถามว่า มาตรการใดควรเป็น ‘ก้าวเเรก’ ของการมุ่งสู่ BUI ในประเทศไทย

เดชรัต ย้ำว่าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะตัวเลขความยากจนมีลักษณะที่แปรฝันสูง ตามสถานการณ์เศรษฐกิจของครัวเรือน และมักเกิดเป็นปัญหาตกหล่นเเละปัญหารั่วไหล แต่หากเราให้อย่างถ้วนหน้าเราก็จะไม่เกิดปัญหาเลย ไม่เกิดปัญหาตกหล่นเเน่นอน แต่มันก็จะไปเจอปัญหารั่วไหล เหมือนเป็นทาง 2 แพ่ง อีกปัญหาเรื่องใหญ่ เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากมากในเชิงการคลัง พูดง่ายๆ คือเงินไม่พอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net