ทำความเข้าใจความไม่เข้าใจ sexual consent (ความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ฉันรู้จัก sexual consent (ความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์) ครั้งแรกเพราะกระแส #MeToo 
ถือว่าเป็นหนึ่งในอาการ “ตาสว่าง” ด้านความเท่าเทียมทางเพศสำหรับฉันที่เติบโตมากับวัฒนธรรมข่มขืนที่ชอบชี้นิ้วสั่งสอนให้ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ไม่แต่งตัวโป๊ และห้ามออกไปไหนคนเดียวยามวิกาล 

ฉันรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับหลักการ consent นี้ เพราะ สังคมไทยแบบที่ฉันเติบโตมามักไม่พูดถึงความยินยอมในเพศสัมพันธ์ ไม่พูดถึงการเคารพในเนื้อตัวร่างกายของกันและกัน มักปฏิบัติกับร่างกายผู้หญิงราวกับเป็นเพียงวัตถุทางเพศ และในขณะเดียวกันก็เปะป้ายว่าความต้องการทางเพศของผู้หญิงเป็นเรื่องผิดบาปและน่าอาย 
ดังนั้นหลักการเรื่อง consent จึงมีความหมายเชิงปลดแอกและเพิ่มพลังสำหรับฉัน

แต่ฉันไม่เข้าใจ ว่าเหตุใดบางคนจึงไม่เข้าใจและดูแคลนหลักการ consent ว่าเป็นไปไม่ได้หรือนำไปปฏิบัติได้ไม่จริง   เพื่อทำความเข้าใจความไม่เข้าใจและความดูแคลนนั้น ฉันจึงได้นั่งทบทวนมุมมองตัวเองที่มีต่อ consent ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง (ด้วยความตระหนักดีว่าคนที่มีเพศวิถีอื่นๆ หรืออยู่ในความสัมพันธ์แบบอื่น อาจมีประสบการณ์หรือขอบเขตการนิยามเรื่อง consent ต่างกันไป)

สำหรับฉัน consent คือ สิ่งที่เป็นไปได้และนำไปปฏิบัติได้จริง ....
เมื่อ-ในความสัมพันธ์นั้น-ไม่มีใครมีอำนาจเผด็จการเหนือใคร ไม่ว่าจะอำนาจทางจารีต วัฒนธรรม หรือ เงิน
เมื่อความสัมพันธ์ คือ การแบ่งปันช่วงเวลาและพื้นที่ในชีวิต – หาใช่การปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
เมื่อไม่มีใครต้องเป็น “เด็กดี”  ทำตามคำสั่งหรือคำบัญชาของใคร
เมื่อฉันไม่คาดหวังให้คนรักเป็นผู้ชายที่ต้องเข้มแข็งเพื่อฉัน เก่งกว่าฉัน หรือคอยนำทางฉันตลอดเวลา
เมื่อฉันเปิดประตูต้อนรับน้ำตา ความเศร้า รวมถึงความรู้สึกไม่มั่นคงต่างๆ ของผู้ชาย ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง 
เมื่อฉันตระหนักได้ว่า เราต่างผลัดกันเป็นไม้เลื้อย เป็นกำแพงหิน แสงแดด ดอกไม้ สายรุ้ง ห่าฝน ท้องฟ้า ตามเวลาและโอกาส

เมื่อไม่มีใครมีอำนาจอยู่เหนือใคร 
ทำให้ฉันเข้าใจว่า มันไม่เป็นความจริงเลยที่ผู้ชายมีความต้องการทางเพศสูงตลอดเวลา เพียงแต่สังคมอนุญาตให้ผู้ชายแสดงออก/บริหารอำนาจทางเพศได้มากกว่าเท่านั้น และมันไม่ใช่หน้าที่ผู้หญิงที่ต้องคอยสนองความต้องการทางเพศของผู้ชายด้วย ความสมดุลทางอำนาจในความสัมพันธ์ ทำให้ฉันกล้าบอกเขาไปตรงๆ ว่า “วันนั้นฉันไม่อยากมี sex เลย ” และฉันได้เรียนรู้ว่า ผู้ชายที่ดีพอจะตอบสนองด้วยการดึงฉันเข้าไปกอด จุมพิตที่หน้าผาก ยิ้มให้ฉัน และบอกสั้นๆว่า “ไม่เป็นไรนะ”

สำหรับฉัน consent นั้นเกิดขึ้นได้จริง
เมื่อฉันหยุดเป็นนางแมวยั่วสวาทในวันที่เขาพูดว่า “ไม่” 
ในเสี้ยววินาทีหนึ่ง ฉันยอมรับว่ามันง่ายมากที่จะดึงดัน หรือที่ร้ายกว่านั้นคือการใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ ขมขู่ เอาความรู้สึกหรือความรักมาเป็นตัวประกัน เพื่อให้เขายอม... แต่มันก็ไม่ยากนักที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเราและนึกถึงสถานการณ์ตรงกันข้าม ว่าฉันจะรู้สึกอย่างไรหากเขาจะดึงดันและเกรี้ยวกราดบ้างในวันที่ฉันพูดว่า “ไม่”

สุดท้ายแล้ว ฉันพบว่า consent นั้นอาจซับซ้อนกว่าการกล้าพูดไปดังๆ ว่า “ไม่” เพราะภายใต้ความกล้าให้ได้มาซึ่งคำว่า “ไม่” ยังมีมิติเรื่องอำนาจและมายาคติทางเพศที่อาจทำให้คนไม่กล้าปฏิเสธ หรือ ไม่สามารถเห็นใจกันได้ (ในฐานะมนุษย์ที่รู้สึกและเจ็บได้ ไม่ว่าจะมีวิถีทางเพศเป็นแบบใด) 

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในสังคมปิตาธิปไตย จะยังมีคนบางส่วนที่ไม่สมาทานแนวคิดเรื่อง consent ดังนั้นการรณรงค์เรื่อง consent ก็คงหนีไปพ้นการขุนรากถอนโคนวัฒนธรรมปิตาธิปไตย (อันเป็นบ่อเกิดของอำนาจและมายาคติทางเพศ) นี้ไปพร้อมกันด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท