สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2-8 เม.ย. 2564

กสร. ชี้แจงประเด็นดัง “รปภ. ถูกเลิกจ้างเนื่องจากถามค่าแรงในวันหยุดกับนายจ้าง”

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงประเด็นพนักงานรักษาความปลอดภัยพ้นสภาพการจ้างงานทันทีโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เนื่องจากถามค่าแรงในวันหยุดกับนายจ้าง ว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายที่ใช้คุ้มครองดูแลสิทธิและหน้าที่ของทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง การที่ลูกจ้างสอบถามค่าแรงของตนเองในการทำงานในวันหยุดนั้น ไม่ได้เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่นายจ้าง ไม่มีเหตุอันสมควรที่ถูกเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง ตามมาตรา 17/1 และอาจเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ในส่วนของค่าชดเชย เนื่องจากลูกจ้างยังทำงานติดต่อกันไม่ครบ 120 วัน จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง ตามมาตรา 118 และข้อสงสัยที่ว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดเป็น 2 เท่า ช่วงวันหยุดสงกรานต์ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ลูกจ้างทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างรายวัน รายเดือน หรืออยู่ระหว่างการทดลองงาน มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีที่นายจ้างประกาศกำหนดไว้ ตามมาตรา 56 (2) หากนายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดดังกล่าว ลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มอีก 1 เท่า ตามมาตรา 62 (1) รวมกับค่าจ้างที่ต้องได้อยู่แล้วเป็น 2 เท่า

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเด็นที่บริษัทอ้างถึงระเบียบข้อบังคับในการทำงานว่า ต้องทำงานครบ 120 วัน จึงจะได้รับค่าจ้างเป็น 2 เท่านั้น ไม่ได้มีการกำหนดไว้ในข้อกฎหมายแต่อย่างใด ข้อบังคับในส่วนนี้จึงใช้บังคับมิได้ จากกรณีนี้ทั้งตัวลูกจ้างและนายจ้างอาจไม่เข้าใจข้อกฎหมายที่ถูกต้อง จนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในทางปฏิบัติ ดังนั้น หากมีข้อสงสัยด้านกฎหมายแรงงาน หรือต้องการขอคำปรึกษา หรือลูกจ้างประสงค์ยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่อพนักงานตรวจแรงงาน สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 และช่องทางยื่นคำร้องอิเล็กทรอนิกส์ eservice.labour.go.th

ที่มา: สยามรัฐ, 8/4/2564

เตือนนายจ้างรถโดยสารสาธารณะ ห้ามให้ลูกจ้างขับรถเกินเวลา ช่วงสงกรานต์เกิดอุบัติเหตุเอาผิดนายจ้างโทษสูงสุด

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวันพบว่าเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนมาก สร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินมิอาจประเมินค่าได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ ขับรถด้วยความเร็ว ประมาท พักผ่อนน้อย และเสพยา

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีวันหยุดต่อเนื่องระหว่างวันที่ 10-15 เม.ย. 2564 รวม 6 วัน ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้พนักงานขับรถต้องทำงานหนักมากขึ้น จึงฝากเตือนไปยังนายจ้าง สถานประกอบกิจการประเภทขนส่งทางบกกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน และหากพบไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินคดีในอัตราโทษสูงสุด

ด้านนายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้าง โดยทำงานได้ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หากทำงานล่วงเวลาต้องไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หลังจากที่ลูกจ้างขับรถมาแล้ว 4 ชั่วโมง ต้องมีเวลาพักผ่อนติดต่อกันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และในวันถัดไปห้ามให้ลูกจ้างเริ่มทำงานก่อนครบเวลา 10 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการทำงานของวันที่ล่วงมาแล้ว ทั้งนี้ งานในกิจการประเภทขนส่งทางบก โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะ ต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร รวมไปถึงผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ มีสติตลอดเวลา ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและขณะขับรถ

ที่มา: คมชัดลึก 7/4/2564

ขยายเวลาตรวจโควิด-เก็บอัตลักษณ์แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ถึง 16 มิ.ย. 2564

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

โดยคนต่างด้าวต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งรวมถึงการตรวจหาโรคโควิด-19 และดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 เมษายนนี้ พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้มีข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว รวมถึงจำกัดจำนวนผู้รับบริการในการตรวจสุขภาพและจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลในแต่ละวัน เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัด

น.ส.รัชดากล่าวว่า ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการของคนต่างด้าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงนายจ้างและสถานประกอบการมีแรงงานในการดำเนินกิจการต่อไปได้ ครม.จึงมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) เป็นภายในวันที่ 16 มิ.ย. 2564 จากเดิมที่ต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เม.ย. นี้

นอกจากนี้ยังขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565 พร้อมกันทั้งกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้างและไม่มีนายจ้าง

น.ส.รัชดา กล่าวว่า จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ณ วันที่ 5 เม.ย. 2564 มีคนต่างด้าวตรวจหาเชื้อโควิด-19 และขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพแล้วประมาณ 170,000 คน และคนต่างด้าวที่ดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) แล้วประมาณ 422,000 คน จากจำนวนคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ทั้งหมด 654,864 คน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 7/4/2564

เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงาน เอื้อผู้ประกันตน ม.39 กว่า 2 แสนคนใช้สิทธิประกันสังคมต่อเนื่อง

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการแสดงความจำนงเป็นผู้ประกันตนและการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1.กำหนดให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่สิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2562 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 หากประสงค์อยู่ในระบบประสังคมต่อไป ให้แสดงความจำนงเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2564

2.ขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน สำหรับเงินสมทบที่ต้องนำส่งประจำงวดเดือน มี.ค. 2563 ถึงงวดเดือน พ.ค. 2564 ให้นำส่งภายในวันที่ 15 มิ.ย. 2564

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะทำให้สามารถรักษาสถานภาพการเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 พ.ร.บ.ประกันสังคมได้ประมาณ 207,700 คน ทำให้มีหลักประกันด้านสุขภาพผ่านสิทธิประโยชน์ประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: ไทยโพสต์, 7/4/2564

แรงงานพม่านับพันรวมตัวประท้วง เข้าใจผิดคิดว่าถูกนายจ้างกลั่นแกล้งไม่ให้กลับบ้านเกิด

เมื่อคืนที่วันที่ 6 เม.ย. 2564 พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ มีแสง ผกก.สภ.คอหงส์ รับแจ้งเกิดเหตุชุลมุนขึ้นในบริเวณที่พักคนงานแรงงานชาวพม่า ซึ่งเป็นคนงานของบริษัท โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของภาคใต้ ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย เขตเทศบาลเมืองคอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

โดยจุดที่แรงงานชาวพม่ารวมตัวกันอยู่บริเวณภายในที่พักคนงาน ซึ่งตั้งอยู่ในซอยด้านหลังบริษัท โดยมีแรงงานชาวพม่ามากกว่า 1 พันคน ต่างลุกฮือและอยู่ในอาการไม่พอใจ และส่งเสียงตะโกนเป็นระยะ หลังจากที่เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (6 เม.ย.) มีแรงงานชาวพม่าที่ขอลาออก และกำลังจะเดินทางกลับประเทศถูกควบคุมตัว จนเกิดความโกลาหลกันตามมา และทางบริษัทต้องรีบโทร.แจ้งตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้ามาช่วยระงับเหตุไม่ให้เกิดความรุนแรงบานปลายไปมากกว่านี้

ต่อมา ทางตำรวจ ทั้ง พล.ต.ต.อาชาน จันทร์ศิริ ผบก.ภ.จว.สงขลา พร้อมด้วย พ.ต.อ.กิตติชัย สังขถาวร รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา และ พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ มีแสง ผกก.สภ.คอหงส์ ได้นำกำลังตำรวจงานป้องกันปราบปราม และชุดควบคุมฝูงชน ทั้งของ สภ.คอหงส์ และ สภ.หาดใหญ่ รวมทั้งฝ่ายปกครองอำเภอหาดใหญ่เกือบ 100 นาย เข้ามาควบคุมพื้นที่ และเจรจากับทางกลุ่มแรงงานชาวพม่า พร้อมกับขอให้ควบคุมสติอารมณ์ และหันมาเจรจาหาทางออกร่วมกัน

พล.ต.ต.อาชาน จันทร์ศิริ ผบก.ภ.จว.สงขลา เผยว่า จากการสอบถามข้อมูลกับทั้งทางผู้แทนของบริษัท และทางกลุ่มแรงงานชาวพม่า ทราบว่า ที่บริษัทแห่งนี้มีแรงงานชาวพม่า ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาโดยถูกต้องตามกฎหมาย และทำงานมานานหลายปี ได้ขอลาออกจำนวน 20 คน โดยให้เหตุผลว่าต้องการกลับบ้านที่ประเทศพม่า เนื่องจากมีญาติพี่น้องบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และเป็นห่วงชีวิตความเป็นอยู่ของญาติพี่น้องที่บ้านเกิดมาก พร้อมกับบอกว่ามีการติดต่อกับทางนายหน้าเอาไว้แล้ว

จากนั้นในช่วงเย็นจึงได้พากันหอบข้าวของ และทยอยกันเดินทางไปรอนายหน้าที่จุดนัดพบในพื้นที่ ต.ทุ่งลุง อ.หาดใหญ่ และมีคนงานจากที่อื่นบางส่วนมาสมทบด้วย แต่ปรากฏว่าจุดที่ไปรอนัดพบนายหน้าเป็นพื้นที่กลางชุมชน และชาวบ้านเห็นแรงงานชาวพม่ามารวมตัวกันมากผิดปกติ จึงรีบแจ้งทั้งตำรวจ และทางอำเภอให้ช่วยเข้ามาตรวจสอบ ก่อนที่จะมีการควบคุมตัว และติดต่อกับทางบริษัทให้ไปรับตัวกลับในเวลาต่อมา

แต่แรงงานชาวพม่าทั้ง 20 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเข้าใจผิด และคิดว่าทางบริษัทกลั่นแกล้งไม่ให้พวกตนเดินทางกลับบ้านเกิด และแจ้งให้ตำรวจมาจับ จึงเกิดการปลุกปั่นกันขึ้นในที่พักคนงานที่มีแรงงานชาวชาวพม่าอยู่มากกว่า 1 พันคน จนหวิดที่จะเกิดการจลาจลขึ้น

โดยภายหลังเหตุการณ์ยืดเยื้ออยู่นานเกือบ 4 ชั่วโมง ก็ได้ข้อยุติในช่วงประมาณ 01.00 น. ซึ่งได้มีการพยายามอธิบายเหตุผลให้ทางแรงงานชาวพม่าได้เข้าใจ โดยเฉพาะในประเด็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านยังคงปิดกั้นพรมแดน และไม่สามารถเดินทางได้ในขณะนี้ พร้อมกับชี้แจงด้วยว่าการลักลอบเดินทางผ่านแดนโดยผ่านทางนายหน้านั้นผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่การผ่านแดนแบบปกติถูกกฎหมาย และเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย โดยในครั้งนี้พบว่านายหน้าเรียกเก็บเงินค่าเดินทางคนละ 5,700 บาท และมีการเคลียร์ติดต่อขอคืนเงินกลับมาให้คนละ 5,000 บาท

ด้านผู้แทนของบริษัทเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากความเข้าใจผิด แต่ยังโชคดีที่ไม่เกิดเหตุความรุนแรงไปมากกว่านี้ ซึ่งขณะนี้เหตุการณ์ทั้งหมดได้ยุติกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และไม่มีทรัพย์สินเสียหาย โดยหลังจากนี้จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องการสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการเดินทางข้ามจังหวัด และเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด รวมทั้งการใช้ชีวิต และการทำงานที่ต้องเพิ่มมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งกลุ่มแรงงานจำนวนไม่น้อยยังไม่ค่อยเข้าใจ และคิดว่าเป็นการบีบบังคับ ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่าได้ดูแลแรงงานทุกคนเป็นอย่างดี

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 7/4/2564

สหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ ขอให้ตรวจสอบคำสั่งเรื่องโครงสร้างองค์กรและการเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน

สหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) ทำหนังสือถึง “อธิบดี” กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้พิจารณา 3 ประเด็นข้อสงสัยในการลงนามคำสั่งของ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ว่าด้วยเรื่องโครงสร้าองค์กร”การบินไทย” เป็นไปตามข้อกำหนด “แผนฟื้นฟู”ที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางหรือไม่

รวมทั้งคำสั่งการเปลี่ยนสภาพการแจ้งงานเป็นไปตาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่

เอกสารระบุว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ให้ฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ และตั๋งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปียะสวัสดิ์ อัมระนันท์ นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ทำแผน และ “ผู้ทำแผน” ได้นำส่งแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เสนอต่อเจ้าพนักงนพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564

โดยสภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) มีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินการตามแผนพื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ของ “ผู้ทำแผน” จึงนำเรียนมายังท่านอธิบดีกรมสวัสดิการแรงงาน เพื่อขอความอนุเคราะห์วินิจฉัยข้อสงสัย

ประเด็นแรกว่า นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2564 หรือไม่ อย่างไร ในการลงนาม

1. คำสั่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 003/2564 เรื่อง โครงสร้างองค์กรบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

2. ประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาซน) ที่ 012/2564 เรื่อง การแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564

3. ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2564

4. ข้อกำหนดบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2564

ประเด็นที่ 2 ในการลงนามในประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาซน) ที่ 012/2564 ให้พนักงานแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ 3 ในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงาน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ หากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานวินิจฉัยประเด็นข้อสงสัยแล้วพบว่านายชาญศิลป์ รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ดำเนินการออกประกาศ คำสั่งเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงานไปจากเดิม โดยมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ และ/หรือมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และ/หรือมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541

สหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) ขอความอนุเคราะห์ให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกคำสั่งทางปกครองให้นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดในแผนพื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับวันที่ 2 มีนาคม 2564 และให้ปฏิบัติเป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 รวมทั้งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/4/2564

แรงงานเมียนมาที่ถูกกักตัว ตม.ระนอง ประท้วงเรียกร้องขอส่งตัวกลับบ้าน

เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นที่อาคารกักตัวชั่วคราว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดระนอง เมื่อมีแรงงานชาวเมียนมา ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายรวม 284 คน ได้ยึดห้องขังและปิดทางเข้าออกอาคาร จากนั้นก็ได้โผล่หน้าออกมาทางหน้าต่างทั้งชั้น 2 3 และ 4 พร้อมชูป้ายข้อความ เป็นภาษาเมียนมา และภาษาไทย ระบุว่า “เราอยากกลับบ้าน” พร้อมส่งเสียงตะโกน โห่ร้อง ขอส่งตัวกลับบ้าน เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

โดยแรงงานชาวเมียนมากกว่า 284 คน ต่างส่งเสียงดังอื้ออึงตลอดเวลา พร้อมร้องขอให้ จนท.ฝ่ายไทยติดต่อทูตแรงงานชาวเมียนมา ให้เดินทางมารับ ข้อเรียกร้องเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลเมียนมา รวมทั้งขอพบ จนท.ระดับสูงของจังหวัดระนองเพื่อแจ้งความต้องการของแรงงานชาวเมียนมาที่ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้

ขณะความเคลื่อนไหวของ จนท.ฝ่ายไทย พบว่ามีการส่งตัวแทนอยู่ระหว่างเข้าไปเจรจากับชาวเมียนมา เป็นระยะแต่ไม่เป็นผล เนื่องจากชาวเมียนมาซึ่งอยู่ในอาการเครียดเนื่องจากถูกกักขังมานานหลายเดือน รอการส่งกลับแต่ยังไม่สามารถผลักดันออกไปได้ เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศเมียนมา ขณะที่ ทางฝั่ง จ.เกาะสอง ประเทศเมียนมา ก็ไม่พร้อมที่รับตัวกลับ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดอยู่

เบื้องต้นทางจังหวัดระนอง ระดมกำลัง เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ร่วม 50 นาย เข้าตรึงพื้นที่จุดเกิดเหตุแล้ว แต่ทางการไทยไม่สามารถทำอะไรได้มากคงแต่ปล่อยให้ชาวเมียนมาตะโกนกันต่อไปเรื่อย ๆ หากชาวเมียนมาอยากพูดคุยด้วยเหตุผล ก็ให้เลือกตัวแทนลงมาคุยกับเจ้าหน้าที่ซึ่งพร้อมที่จะคุยและอธิบายทุกปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ชาวเมียนมาได้เข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบัน

ที่มา: One31, 5/4/2564

สภาฯ นายจ้างชี้จ้างงานเริ่มฟื้น เร่งฉีดวัคซีน-ดันคนละครึ่งเฟส 3

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานของไทยในเดือนต.ค.63 ถือเป็นจุดต่ำสุด และขณะนี้มีสัญญาณจ้างงานเริ่มทยอยฟื้นตัวมากขึ้น โดยมาจาก 3 ปัจจัยหลักได้แก่ 1. ศก.โลกเริ่มฟื้นตัว จากการเริ่มทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 และเร่งอัดเงินเพื่อฟื้นฟูศก. เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป 2. การส่งออกของไทยเดือนก.พ.64 เริ่มเป็นบวก1.78% แม้ 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) จะติดลบ แต่พบว่ามีการนำเข้าโดยเฉพาะเครื่องจักรโต 2.39% วัตถุดิบ 24.4% บ่งชี้สต็อกสินค้าเริ่มหมดลงทำให้ภาคผลิตเริ่มกลับมาผลิตเพิ่มขึ้น 3. มาตรการกระตุ้นศก.ของรัฐ ที่มีส่วนช่วยหนุนกำลังซื้อคนในประเทศ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนสูง ซึ่งขอสนับสนุนภาครัฐที่จะขยายไปสู่เฟส 3

"3 ปัจจัยดังกล่าวตัวชี้วัดว่า การจ้างงานจะฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งมองว่ามาตรการกระตุ้นศก.ในประเทศของไทยยังต้องทำต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ที่ประชาชนตอบรับมาก เพราะเข้าถึงเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ ส่วนโครงการอื่นๆ ก็ถือว่าดี แต่หากเป็นไปได้ชื่อโครงการอย่ามีมาก ประชาชนจะได้ไม่สับสน ซึ่งมาตรการกระตุ้นศก. ต้องทำควบคู่ไปกับการวางไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนไทยที่ชัดเจนด้วย" นายธนิต กล่าว และว่า รัฐบาลไม่ควรจะปิดกั้น รพ.เอกชน หรือภาคเอกชนอื่นๆ ที่มีศักยภาพนำเข้ามาได้ และไม่ไปแย่งโควตารัฐ โดยผ่านมาตรฐานการดูแลจาก อย. เพื่อช่วยกระจายวัคซีนให้เร็วขึ้น เพราะภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะจ่ายเงินเองในการดูแลพนักงานเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้เร็ว

สำหรับอัตราการว่างงานของไทย ปัจจุบันหากยึดตัวเลขรัฐ จะว่างงานเพียง 1.5% แต่หากยึดตัวเลขเอกชนจะอยู่ระดับ 1.2-1.5 ล้านคนและ ยังไม่รวมเด็กจบใหม่ ที่จะเข้ามาอีกราว 5 แสนคน โดยหากไปพิจารณาการสมัครงานในเว็บไซต์จ๊อบไทย (JOBTHAI)ความต้องการงานก็ยังกว่า 1.8 ล้านคน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าอัตราว่างงานของไทย ก็ยังคงมีอยู่พอสมควร แม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานยังคงไม่ได้กลับไปยังจุดเดิมก่อนที่จะมีโควิด-19 โดยเฉพาะในภาคการภาคท่องเที่ยว ที่ในปี 62 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 40 ล้านคน ขณะที่ปี 63 ลดเหลือเพียง 6.5 ล้านคนและปีนี้ คาดว่าจะยังมีเพียง 3-4 ล้านคนเท่านั้น จึงทำให้แรงงานในภาคท่องเที่ยวและบริการยังคงไม่สามารถกลับมาได้มากนัก เพราะแต่ละประเทศ จะยังไม่เปิดให้คนของตนเองเดินทางมากนัก

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5/4/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท