ยูเอ็นร้องญี่ปุ่นพิจารณาร่างกฎหมายคนเข้าเมืองใหม่อีกครั้ง หวั่นผิดกติกาคุ้มครองผู้อพยพ

สหประชาชาติแสดงความกังวลต่อเรื่องที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองใหม่ โดยระบุว่าร่างแก้ไขกฎหมายใหม่นี้ไม่มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพที่ดีพอ และอาจจะผิดหลักการของ "กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง" (ICCPR)

7 เม.ย.2564 จากการณีรัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอร่างการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมืองใหม่ โดยอ้างว่ามีจำนวนคนต่างชาติที่เข้าไปอาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายมากขึ้นถูกจับกุมอยู่ในสถานที่ควบคุมตัวของรัฐบาลและปฏิเสธไม่ยอมให้ส่งตัวกลับประเทศ

ซึ่งร่างการแก้ไขกฎหมายใหม่นี้จะอนุญาตให้ผู้ที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศสามารถไปอาศัยอยู่กับสมาชิกครอบครัวหรือผู้สนับสนุนพวกเขาได้ถ้าหากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ รวมถึงไม่ใช่คนที่จะสร้างความเสี่ยงต่อการเดินทางโดยเครื่องบิน

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติ ที่ระบุว่าร่างกฎหมายควบคุมคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นฉบับแก้ไขใหม่นี้ไม่ผ่านมาตรฐานสิทธิมนุษยชนนานาชาติและเรียกร้องให้มีการแก้ไขร่างนี้

โดยที่ ในร่างแก้ไขกฎหมายนี้มีบทเฉพาะกาลที่ระบุถึง "มาตรการเฝ้าสังเกตการณ์" และ "ความคุ้มครองเสริม" ในขณะที่บทเฉพาะกาลตัวแรกคือ "มาตรการเฝ้าสังเกตการณ์" ถูกมองว่ามีปัญหาตรงที่จะมีการอนุญาตให้ควบคุมตัวชาวต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตและอาศัยอยู่นอกสถานกักกันภายใต้สภาพการณ์บางอย่างได้ ขณะที่บทเฉพาะกาลตัวที่สองคือ "ความคุ้มครองเสริม" นั้นเป็นสิ่งที่เทียบเท่ากับการคุ้มครองที่จะให้กับผู้ลี้ภัย

หน่วยงานด้านการประเด็นเกี่ยวกับการคุมขังโดยพลการของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติชี้ว่า ร่างแก้ไขกฎหมายของญี่ปุ่นอาจจะขัดต่อ "กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง" (ICCPR)  เพราะว่าร่างกฎหมายใหม่ยังคงระบุอนุญาตให้คุมขังผู้คนที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ที่เข้าข่ายต้องถูกส่งตัวกลับประเทศอีกทั้งยังขาดข้อกำหนดเรื่องเวลาสูงสุดที่จะสามารถคุมขังบุคคลเหล่านี้ รวมถึงไม่มีข้อกำหนดเรื่องการอนุญาตให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจเรื่องการคุมขัง

กติกา ICCPR ระบุว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพทางร่างกายตัวเองและไม่มีใครมีสิทธิที่จะลิดรอนไปได้เว้นแต่กระทำตามกระบวนการทางกฎหมาย

ซึ่งนอกจากกรณีเหล่านี้แล้วผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็นยังแสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อชีวิตของเด็กที่ถูกควบคุมตัว กังวลเรื่องที่ว่ากฎหมายใหม่จะอนุญาตให้มีการส่งตัวบุคคลกลับประเทศถ้าหากพวกเขาไม่ผ่านการขอสถานะผู้ลี้ภัยมากกว่า 3 ครั้ง โดยระบุว่าข้อกำหนดนี้อาจจะขัดต่อหลักการอีกเรื่องหนึ่งคือ "หลักการไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปยังดินแดนหรือถิ่นที่เสรีภาพและชีวิตของพวกเขาจะถูกคุกคาม" (non-refoulement)

ทีมของสหประชาชาติเสนอให้ญี่ปุ่นควรจะบังคับใช้มาตรการคนเข้าเมืองนี้เฉพาะกับกรณีพิเศษที่เหมาะสมจริงๆ เท่านั้น ซึ่งจะอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

นอกจากสหประชาชาติแล้ว นักกิจกรรมในญี่ปุ่นเองก็พูดถึงเรื่องนี้ โดยที่องค์กรฮิวแมนไรท์นาวที่มีสำนักงานในโตเกียวและกลุ่มอื่นๆ แถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมาเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นอธิบายเรื่องร่างแก้ไขกฎหมายใหม่นี้ต่อประชาชนได้รับทราบว่าทางรัฐบาลมีจุดยืนอย่างไร

รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น คามิกาวะ โยโกะ กล่าวว่าร่างการแก้ไขกฎหมายนี้ร่างขึ้นโดยอาศัยคำแนะนำจากทนายความและนักวิชาการให้เป็นไปตามกฎหมายนานาชาติ และบอกว่าถ้าหากคณะทำงานของยูเอ็นมีโอกาสได้รับฟังคำชี้แจงจากรัฐบาลญี่ปุ่นแล้วก็จะเข้าใจถึงเบื้องหลัง, เนื้อหา และความเหมาะสมของร่างแก้ไขในครั้งนี้มากขึ้น

เรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท