Skip to main content
sharethis

“สังคมไทยไม่เคยมีเสรีภาพทางวิชาการ” ฉลอง สุนทราวาณิชย์ กล่าวไว้ ซ้ำร้ายในปัจจุบันมันยิ่งเสื่อมถอยหนักมากขึ้น เพราะถูกห้ามไม่ให้ตั้งคำถามกับความเชื่อเดิมๆ หรือโลกวิชาการของไทยกำลังหมุนกลับสู่ช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่รัฐสามารถใช้ความรุนแรงกับงานค้นคว้าทางวิชาการที่มุ่งแสวงหาความจริง

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาเนื่องในโอกาสตีพิมพ์วารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับ 80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนสยามยุคเปลี่ยนผัน ในหัวข้อเรื่อง ‘เสรีภาพทางวิชาการ ในสภาวะเสื่อมถอย’

นอกจาก นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ที่บรรยายในครั้งนี้แล้ว ยังมีฉลอง สุนทราวาณิชย์ นักวิชาการอิสระที่ร่วมบรรยายด้วย โดยชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ

สังคมไทยไม่เคยมีเสรีภาพทางวิชาการ

ประเด็นที่เราคุยในวันนี้คือเสรีภาพทางวิชาการในสภาวะเสื่อมถอย สำหรับผมประเด็นแรกเลยคือสังคมไทยไม่เคยมีเสรีภาพทางวิชาการจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่สมัยใหม่หรือถ้ามันเคยมีอยู่บ้างยิ่งมาถึงตอนนี้ยิ่งเสื่อมถอยลงไปมาก

ทีนี้พอเราพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการ ผมคิดว่ามันมีอยู่ 2 ด้านซึ่งเกี่ยวโยงกัน ด้านหนึ่งคือเสรีภาพในการตั้งคำถาม ในการแสวงหาความรู้ที่แตกต่างไปจากที่เคยเชื่อกันมา แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยถูกอบรมสั่งสอนหรือถูกบังคับให้เชื่อมา ในประเด็นนี้ผมอยากจะกล่าวซ้ำอีกก็คือว่าสังคมไทยไม่เคยมีเสรีภาพทางวิชาการในความหมายนี้

ผมไม่รู้ในต่างประเทศมากพอแต่ก็ยังเข้าใจว่าในกรณีของโลกตะวันตกและในสังคมตะวันออกบางแห่งเคยมีเสรีภาพทางวิชาการแบบนี้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมนั้นๆ อย่างเช่นการที่สังคมตะวันตกเข้ามาสู่สังคมสมัยใหม่ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเสรีภาพที่แม้จะต้องเจ็บปวดและถูกลงโทษอย่างน้อยที่สุดมันก็มีเสรีภาพในการตั้งคำถาม เสรีภาพในการที่จะบอกว่ากูไม่เชื่อมึง และเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ที่แตกต่างไปจากที่เคยเชื่อกันมา

ในวัฒนธรรมการแสวงหาความรู้ของไทยสมัยใหม่ ผมคิดว่ามันเผชิญปัญหาเรื่องเสรีภาพทางวิชาการแบบนี้มาโดยตลอดเป็นระยะๆ ในทางประวัติศาสตร์ท่านทั้งหลายอาจจะเคยได้ยินกรณีของ ก.ศ.ร.กุหลาบ จะด้วยเหตุผลที่ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็แล้วแต่ ถูกลงโทษ ถูกประนาม ถูกประจานอย่างที่เรารู้กันจนชื่อกุหลาบกลายเป็นคำที่มีความหมายถึงการโกหกพกลม หรืออย่างกรณีของเทียนวรรณนั่นก็เป็นอีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการที่มันไม่เคยมีอยู่จริงในสังคมไทยเมื่อก้าวมาสู่สมัยใหม่ กรณีของจิตรภูมิศักดิ์ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีอยู่จริงของเสรีภาพทางวิชาการ ที่มันไม่เคยมีอยู่ในวัฒนธรรมของการแสวงหาความรู้ของไทย วัฒนธรรมที่จะตั้งคำถามหรือเพื่อที่จะปฏิเสธความเชื่อดั้งเดิมที่เราเคยมีมา

ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่ยิ่งทำให้เสรีภาพทางวิชาการเสื่อมถอย

เสรีภาพทางวิชาการอีกด้านหนึ่งซึ่งก็เกี่ยวข้องกันคือเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงข้อเท็จจริงได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีสิ่งใดปิดกั้น สิ่งที่เป็นความย้อนแย้ง เป็นเรื่องตลกร้าย ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ ในความเข้าใจโดยทั่วไปของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักวิชาการ มันน่าจะเป็นพระราชบัญญัติที่เป็นการคุ้มครอง เปิดโอกาสให้กับพลเมืองไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลข่าวสารของรัฐได้อย่างเสรี ไม่ถูกปิดกั้น

แต่เรื่องที่เป็นตลกร้ายก็คือว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยผ่าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารนี้เป็นเรื่องยากเย็น ต้องผ่านการขออนุญาตจากคณะกรรมการของรัฐ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนมันกลับกลายเป็น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารที่สกัดกั้นหรือเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงข้อเท็จจริงที่พลเมืองทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึง ที่มันร้ายยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเร็วๆ นี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฉบับนี้ใหม่

2 ประเด็นนี้จะนำไปสู่ความยากลำบากมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความทรมานของนักวิชาการมากขึ้นในการทำงานทางวิชาการ นั่นคือเงื่อนไขข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสถาบัน ข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ที่เชื่อว่าจะนำไปสู่ความเสื่อมเสียของสถาบันจะต้องถูกปิดกั้นเอาไว้ เปิดเผยไม่ได้ ใครนำไปเปิดเผยก็จะมีความผิด อันที่จริงมันมีความเปลี่ยนแปลงเจ็ดแปดข้อ แต่ 2 ข้อที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของนักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านประวัติศาสตร์ อีกข้อหนึ่งคือข้อมูลทั้งหลายแหล่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงซึ่งในที่นี้หมายถึงการทหาร ด้านกลาโหม ที่จะเป็นผลเสียต่อด้านความมั่นคงของประเทศชาติก็จะถูกปิดกั้นทั้งสาธารณชนและนักวิชาการไม่สามารถเข้าถึงได้

ประเด็นตรงนี้ผมคิดว่ามีแต่จะยิ่งทำให้เสรีภาพทางวิชาการเสื่อมมากไปกว่าที่เป็น ที่มันน่าสนใจก็คือจะเรียกว่าจารีตหรือประเพณีการเขียนกฎหมายของไทย ผมไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมายและไม่แน่ใจว่าการเขียนกฎหมายในต่างประเทศเป็นยังไง แต่ผมมีความรู้สึกว่าการเขียนกฎหมายในประเทศไทยไม่เพียงแต่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญได้ถึง 19 ฉบับ 20 ฉบับในช่วงระยะเวลาไม่ถึงร้อยปี แต่ยังรวมไปถึงการสามารถที่จะเขียนกฎหมายและรวมถึงเขียนคำพิพากษาที่คลุมเครือที่เปิดให้มีการใช้ดุลพินิจโดยผู้มีอำนาจได้อย่างกว้างขวางและเสรีที่อาจจะไม่เป็นประโยชน์เลยต่อสาธารณชน ในทางตรงข้ามน่าจะเป็นโทษต่อสาธารณะชนที่เป็นผู้ถูกบังคับใช้ด้วยกฎหมายต่างๆ เหล่านี้

อย่างที่เราเห็นในรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ข้อหนึ่งที่จะประกันว่าพลเมืองไทยทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่อย่างที่เรารู้กันในความเป็นจริงว่าไม่ได้เท่าเทียมกัน

ในกฎหมายพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารที่จะมีการแก้ไข ที่รอเข้าสภา ซึ่งในท้ายที่สุดก็คงผ่านก็คือ มันให้อำนาจแก่ผู้มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจแบบที่ในภาษาอังกฤษอาจจะเรียกว่าเป็น arbitrary มาก ก็คือตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นผลร้ายที่ไม่สร้างสรรค์และมีแต่จะทำให้ประเด็นปัญหาเรื่องเสรีภาพทางวิชาการมันแย่ลงไปอีก

ข้อมูลสถาบัน-ความมั่นคงถูกปกปิด ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักจะเขียนไม่ได้

แต่ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าถ้าเรามีอารมณ์ขันหรือกล้าพอที่จะมีอารมณ์ขันได้กับเรื่องอะไรแบบนี้ เราก็จะพบว่าอีกด้านหนึ่งของมันเป็นอะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องตลกอยู่พอสมควร อย่างที่เรารู้กัน ความรู้ทางประวัติศาสตร์กระแสหลักในสังคมไทยเกือบจะไม่ต่างไปจากพระราชพงศาวดารก็คือมันจะมีเนื้อเรื่องอยู่ 2 อย่างเท่านั้นคือเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องของพระราชกรณียกิจต่างๆ อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของสงครามหรือจะพูดให้ชัดเจนลงไปก็คือเรื่องที่เป็นพระราชสงคราม ประเด็นก็คือกฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับนี้ได้รับการแก้ไขและให้ความคุ้มครองต่อข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับสถาบันหรือความมั่นคงในลักษณะที่เป็นตามอำเภอใจในเครื่องหมายคำพูด ที่ผู้มีอำนาจสามารถใช้ดุลพินิจตามใจชอบในการบอกว่าเรื่องนี้เผยแพร่ไม่ได้

ผมกำลังสงสัยว่าความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีเรื่องอะไรอยู่ในนั้น ในเมื่อข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน เกี่ยวกับความมั่นคงทางการทหารถูกปกปิด ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักจะไม่เหลืออะไรเลยและบางทีมันอาจจะดีที่จะพบว่านี่เป็นพื้นที่ใหม่สำหรับประวัติศาสตร์ของประชาชนที่จะเกิดขึ้นมาแทนที่ เพราะในเมื่อคุณไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันหรือความมั่นคง คุณก็เขียนเรื่องเกี่ยวกับการทหารไม่ได้ เขียนเรื่องเกี่ยวกับสงครามไม่ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจต่างๆ ของสถาบันไม่ได้ สิ่งที่นักเรียนประวัติศาสตร์จะต้องหันไปทำก็คือประวัติศาสตร์ของชุมชน ของประชาชน ของชาวบ้าน ตรงนั้นอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีถ้าเรามองมันในอีกแง่มุมหนึ่ง

โลกทางวิชาการกำลังหมุนกลับไปสู่ช่วงสมัยของสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ทีนี้ประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพทางวิชาการที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ ผมคิดว่ามันสะท้อนสังคมไทยในวงกว้างอยู่ด้วย ผมหมายความว่าเสรีภาพทางวิชาการทุกวันนี้มันเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น เราคงเปรียบเทียบความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเคสหนังสือหรือวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง กับชะตากรรมของ ก.ศ.ร.กุหลาบ เทียนวรรณ หรือจิตร ภูมิศักดิ์ไม่ได้ แต่เราอาจจะพูดได้ว่าบางทีโลกทางวิชาการของไทยกำลังหมุนกลับไปสู่ช่วงสมัยของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ช่วงสมัยที่รัฐสามารถใช้ความรุนแรงกับงานค้นคว้าทางวิชาการที่มุ่งแสวงหาความจริงไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็แล้วแต่

วิกฤตที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางวิชาการในขณะนี้ที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หรือเกี่ยวข้องกับหนังสือที่เป็นผลผลิตออกมาจากวิทยานิพนธ์เล่มนั้น ผมคิดว่าในด้านหนึ่งเราอาจพูดได้ว่ามันมีความรุนแรงมากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะมันมีความพยายามในการปลุกระดมกลุ่มคนเข้ามาประณาม กล่าวหา กล่าวโทษ รวมไปถึงความพยายามที่จะใช้แรงกดดันเพื่อให้เกิดการลงโทษที่มีลักษณะรุนแรงไม่แพ้ความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ

มันอาจไม่ใช่เป็นเรื่องของการลงโทษหรือการจำคุก แต่ในแง่ของการเรียกร้องให้มีการสอบสวนและถอดถอนปริญญาจากงานเขียนชิ้นนี้ก็ดี หรือข่มขู่ที่จะใช้มาตรา 112 กับงานชิ้นนี้ก็ดี รวมไปถึงการฟ้องร้องคดีจากทายาทของราชสกุลหนึ่งที่ฟ้องคดีทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากความผิดพลาดที่ปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ ผมคิดว่านี่ก็เป็นความรุนแรง การคุกคาม ที่แทบจะไม่ต่างไปจากสิ่งที่คนแบบจิตร ภูมิศักดิ์ เทียนวรรณ หรือ ก.ศ.ร.กุหลาบ ถูกกระทำ เพียงแต่ลักษณะของการข่มขู่คุกคามอาจจะมีความแตกต่างกันไปซึ่งเป็นเพราะช่วงระยะเวลาทางประวัติศาสตร์มันแตกต่าง

ความผิดพลาดเกิดได้ แต่ต้องไม่กระทบข้อเสนอหลักของงาน

ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับหนังสือเล่มนี้อยู่ ในท้ายที่สุดผมก็พบด้วยความแปลกใจ มันลงมาอยู่เพียงแค่เรื่องเดียวคือความผิดพลาดในการอ้างอิง ในฐานะที่ผมเคยเป็นผู้สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ รวมถึงเป็นกรรมการผู้สอบวิทยานิพนธ์ ผมอยากจะเรียนว่าความผิดพลาดอย่างที่ถูกกล่าวหาในกรณีนี้เป็นความผิดพลาดที่เราพบอยู่ได้บ่อยครั้งในงานวิชาการของนักวิชาการในที่ต่างๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกอะไรเลย

ลองจินตนาการดูว่างานวิจัยทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยในระดับปริญญาเอกที่เป็นงานวิจัยจริงๆ จะต้องนั่งอ่านเอกสารเป็นพันๆ หน้า อ่านหนังสือเป็นร้อยๆ เล่ม อ่านบทความวิจัยเป็นร้อยๆ ชิ้น เพื่อที่จะประมวล วิเคราะห์ และนำมาใช้เป็นข้อมูลในงานวิทยานิพนธ์ ในงานวิจัยของตนเอง เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นไปได้ แม้ไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะชื่นชม ที่นักวิชาการคนหนึ่งๆ อาจจะมองข้าม อาจจะเบลอ หรือด้วยเหตุผลเกี่ยวกับบริบททางประวัติศาสตร์ที่จะทำให้เกิดการตีความหรือเกิดการเข้าใจที่แตกต่างไปจากที่คนอื่นๆ เข้าใจ ความผิดพลาดแบบนี้มันมีโอกาสเกิดขึ้น แต่มันไม่ได้ไปกระทบสิ่งซึ่งเป็นข้อเสนอหลักในงานแต่ละชิ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net