รีโซลูชั่นชวน “ล้ม โละ เลิก ล้าง” ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์

  • กลุ่มรีโซลูชั่น (Re-Solution) จัดกิจกรรม ‘ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์’ ให้ประชาชนเข้าชื่ออย่างน้อย 50,000 ชื่อ เพื่อยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ นิยามระบอบประยุทธ์ว่า คือ คณะรัฐประหาร+ทุนใหญ่ 1% ของประเทศ ที่รัฐประหารเพื่อจัดระเบียบอำนาจทางการเมืองและเอื้อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสำหรับชนชั้นนำให้มากที่สุด
  • สฤณี อาชวานันทกุล เห็นว่า แม้จะมีแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ แต่ตัวชี้วัดและเป้าหมายไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่คนเขียนแผนไม่มีบทบัญญัติกำหนดความรับผิดชอบ จึงควรเลิกใช้กลไกเหล่านี้ กลับสู่ระบอบประชาธิปไตยปกติ ที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดนโยบาย
  • พริษฐ์ วัชรสินธุ เสนอยุบวุฒิสภา เพื่อให้คนมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน มีสภาที่อำนาจสมดุลกับที่มา เลิกระบอบสืบทอดอำนาจของ คสช. ออกกฎหมายได้ทันสถานการณ์ ประหยัดงบประมาณปีละพันล้าน นำไปเพิ่มสวัสดิการประชาชน เพิ่มการตรวจสอบรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพ และสอดรับกับทิศทางโลกสมัยใหม่
  • ปิยบุตร แสงกนกกุล เสนอตั้ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกันเป็นคณะผู้ตรวจการกองทัพ ศาล และองค์กรอิสระ และสร้างกลไกเอาผิดคณะรัฐประหาร

6 เม.ย. 2564 กลุ่มรีโซลูชั่น (Re-Solution) จัดกิจกรรม ‘ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์’ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมลงชื่อเพื่อยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 50,000 ชื่อ

เวลา 15.00 น. ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีเวทีเสวนา ‘ล้ม โละ เลิก ล้าง’ ผู้ร่วมเสวนา 4 คน ได้แก่ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้แห่งป่าสาละ, พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า

ระบอบประยุทธ์ : ทหาร ทุน วงจรอุบาทว์การเมืองไทย

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อีกประมาณ 2 เดือนจะครบรอบ 7 ปี การรัฐประหาร ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีคณะบุคคลที่เรียกตัวเองว่า คสช. เข้ามายึดอำนาจล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การรัฐประหารนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนทำให้เกิดระบอบประยุทธ์ขึ้น

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ระบอบประยุทธ์คืออะไร

ประจักษ์กล่าวว่า ในสมัยก่อนเคยมีหนังสือชื่อว่า ‘รู้ทันทักษิณ’ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นบรรณาธิการรวบรวมคนมาเขียนบทความ ผ่านไปนานคนรู้ทันทักษิณเเล้วทั้งบ้านทั้งเมือง เเต่สิ่งที่เราไม่ค่อยรู้ทันเท่าไหร่ที่เรียกว่า ‘ระบอบประยุทธ์’

ประจักษ์และวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักเศรษฐศาสตร์ นิยามระบอบประยุทธ์ไว้ว่า ระบอบประยุทธ์ คือ รัฐประหาร+ทุนนิยมแบบช่วงชั้น มีลักษณะ 2 ด้าน ด้านที่หนึ่งเป็นระบอบที่ให้อำนาจกับทหารมาก เอาทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง อีกด้านหนึ่งก็คือการใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนจำนวนหนึ่งเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างเป็นทางการ

ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่กองทัพครอบงำ

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์เล่าต่อว่า ตอนที่เกิดการรัฐประหารในปี 2557 ประเทศไทยกลายเป็นรัฐทหารแห่งสุดท้ายในโลก ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมาในโลกแทบจะไม่มีการรัฐประหารและถ้ารัฐประหารเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นในประเทศที่ด้อยพัฒนามากๆ เท่านั้น เช่น บูกินาฟาโซ อียิปต์ ซูดาน มาลี และล่าสุดคือเมียนมาร์ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการทำรัฐประหาร 2 ครั้งภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี นอกจากนั้น รัฐบาลประยุทธ์เป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดตั้งแต่ 14 ตุลาฯ

ประจักษ์ ยังกล่าวอีกว่า รัฐประหารไม่ใช่เพื่อความสงบแต่เพื่อจัดระเบียบอำนาจทางการเมืองและเอื้อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสำหรับชนชั้นนำให้มากที่สุด

การเลือกตั้งในปี 2562 กระบวนการประชาธิปไตยถูกบิดเบือน มีความพยายามเปลี่ยนจาก “เผด็จการเต็มใบที่เปลือยเปล่า” สู่ “เผด็จการที่ชุบตัวจากการเลือกตั้ง” ในขณะเดียวกันเรามีความเป็นประชาธิปไตยลดลง ความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น คอร์รัปชั่นสูงขึ้น

“สรุปโดยรวมแล้ว ระบอบประยุทธ์คือ ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมเพื่อกลุ่มทุนและชนชั้นสูงหรือจะเรียกในอีกชื่อหนึ่งก็คือระบอบ “ขุนศึก-ศักดินา-พ่อค้า” เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของคนที่มั่งคั่งและทรงอำนาจที่สุด 1% บนยอดปิรามิดของสังคมไทย โดยคนที่จ่ายราคาให้กับการดำรงอยู่ของระบอบนี้ก็คือคนไทย 99% ที่เหลือในสังคมที่ไร้ซึ่งอำนาจ ความมั่งคั่งและเส้นสาย” ประจักษ์ กล่าว

เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป : ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิจัยและนักวิชาการอิสระด้านการเงิน กล่าวว่า “ทุกวันนี้เรามีแผนแม่บท มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่เราเป็นชาติที่ไม่มียุทธศาสตร์ แล้วกลไกเหล่านี้เป็นเครื่องมือผูกมัดไม่ให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้า และในอนาคตถ้าประยุทธ์ยังอยู่ในวาระ เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งรัฐบาลใหม่ ถ้าพวกเขาไม่ได้มาจากฝ่ายเดียวกันกับที่ครองอำนาจอยู่ทุกวันนี้”

สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณี อาชวานันทกุล

ยุทธศาตร์ชาติที่ต้องทบทวนทุก 5 ปี

ยุทธศาตร์ชาติมีการวางเป้าหมายทุกๆ 5 ปีและบอกให้ทบทวนทุกๆ 5 ปี การรายงานสรุปการดำเนินงานประจำปี 2563 พบว่าจากแผนแม่บทและแม่บทย่อยทั้งหมด 177 เป้าหมาย บรรลุค่าเป้าหมายในปี 2565 ได้ประมาณ 19% เหลือเวลาอีก 1 ปี 8 เดือนที่จะต้องบรรลุเป้าหมายที่เหลืออีก 80% ให้ตรงตามค่าเป้าหมายของปี 2565

ตัวชี้วัดและเป้าหมายไม่มีประสิทธิภาพ

สฤณี กล่าวว่า ในตัวชี้วัดทั้งหมด 205 ตัว มีตัวชี้วัดทั้งหมด 47 ตัว ที่ตนคิดว่าเป็นการตั้งเป้าค่อนข้างต่ำ ยกตัวอย่างเช่น อัตราการเติบโตของอุสาหกรรมเป้าหมายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น เกษตรปลอดภัย ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ตั้งเป้าในการเติบโตเฉลี่ยปีละ 3-5% แต่ไม่ได้ระบุว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะจ้างคนไทยเท่าไหร่ จะสามารถยกระดับรายได้ของคนไทยมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ ยังมีตัวชี้วัดใน 47 ตัวที่ตนคิดว่าค่อนข้างต่ำ ในนั้นมี 12 ตัวที่ไม่ใช่แค่ต่ำเกินไปเท่านั้นแต่ตั้งเป้าหมายในลักษณะที่ว่าประกาศแผนแม่บทในปี 2562 และสามารถพูดได้เลยว่าบรรลุเป้าหมายในปี 2565 แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลยไปอีก 3 ปี ยกตัวอย่าง แผนแม่บทในเรื่องของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต มีเป้าหมายให้ไปดูอันดับประสิทธิภาพแรงงานของประเทศไทยตามรายงาน Global competitive index (GCI) หรือรายงานความสามารถการแข่งขันโลก จัดทำโดยที่ประชุมเศรษฐกิจโลก บอกว่าค่าเป้าหมายในปี 2565 ประเทศไทยต้องอยู่ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 60 แต่ในความเป็นจริงในปี 2562 ประเทศไทยก็อยู่ในอันดับที่ 42 อยู่แล้ว ก็เท่ากับว่าเมื่อประกาศแล้วก็ไม่ต้องทำอะไรเลยไป 3 ปี จากตัวอย่างเหล่านี้ การกำหนดเป้าหมายและการวางตัวชี้วัดในระดับที่พอพูดออกไปก็ทำได้เลย เปรียบเสมือนการโกงอนาคตอย่างหนึ่ง

ตัวเนื้อหาของแผนยุทธศาสตร์ชาติและตัวเป้าหมายมันมีความคลุมเครือมาก หลายแผนมีลักษณะเป้าหมายเป็นการพูดกว้างๆ เป็นนามธรรมถ้าเราดูภาพรวมของยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมดจะเห็นได้ว่าไม่มีการลำดับความสำคัญก่อน-หลัง เราไม่รู้ว่ารัฐบาลให้น้ำหนักกับอะไรบ้าง ซึ่งองค์กรใดก็ตามที่เขียนแผนยุทธศาสตร์ออกมาแบบนี้เรียกไม่ได้ว่ามียุทธศาสตร์

ตีตกกฎหมายจากภาคประชาชน

นักวิชาการอิสระด้านการเงิน กล่าวว่า ประชาชนตระหนักและรับรู้ถึงอากาศที่แย่จากฝุ่น PM 2.5 เพราะเจอปัญหาเหล่านี้หลายจังหวัด และปัญหา PM 2.5 รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการรวมตัวกันของภาคประชาชนเพื่อเสนอกฎหมาย ทุกวันนี้เรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด 4 ฉบับ 3 ฉบับเป็นอากาศสะอาด อีก 1 ฉบับเป็นเรื่องการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ใน 4 ฉบับนี้มี 2 ฉบับถูกตีตกไปโดยนายกรัฐมนตรี

สฤณีกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ด้วยกลไกที่ไม่ต้องมีการรับผิด คนเขียนแผนไม่ต้องรับผิดชอบแต่มีอำนาจสั่งคนที่ทำตามแผน ถือว่าเป็นกลไกการรับผิดที่บิดเบี้ยว และจะไม่นำเราไปสู่ชาติที่มียุทธศาสตร์ ทางออกที่ดีที่สุดคือการเลิกใช้กลไกเหล่านี้ทั้งหมด กลับไปสู่ประชาธิปไตยปกติ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน ประชาชนเองก็ไม่ได้มีความต้องการที่อยู่กับที่ ค่านิยม ความคิด ความเชื่อของคนเมื่อเวลาเปลี่ยนมันก็เปลี่ยนได้”

ล้ม วุฒิสภา : เดินหน้าสภาเดี่ยว

พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนจากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า หรือ CONLAB กล่าวว่า วุฒิสภาคือศูนย์รวมความเลวร้ายของรัฐธรรมนูญ 2560 และความวิปริตของการเมืองไทยที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดของการสืบทอดอำนาจ เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราใดๆ ก็ตาม ที่ไม่แตะเรื่องของโครงสร้างอำนาจ ที่มา และพฤติกรรมของวุฒิสภา ตนถือว่าไม่เพียงพอต่อการรื้อระบอบประยุทธ์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ ข้อเสนอของรีโซลูชั่นเป็นข้อเสนอที่เรียบง่าย คือการปรับระบบรัฐสภาให้เป็นระบบสภาเดี่ยว และเอา ส.ว. 250 คน ออกจากรัฐสภา เพื่อให้เหลือเฉพาะ ส.ส. 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น

พริษฐ์ วัชรสินธุ

พริษฐ์ วัชรสินธุ

7 เหตุผล ประเทศที่ดีขึ้นอย่างไรถ้าเรามีสภาเดี่ยว?

พริษฐ์เสนอว่า 1. ประชาชนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะที่มาตรา 272 เขียนให้อำนาจ ส.ว. ชุดปัจจุบันสามารถมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งมาตรานี้เป็นมาตราที่เลวร้ายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ย้อนกลับไปหลังจากการเลือกตั้งนายกปี 2562 จะมี ตัวแทนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 750 คนมาร่วมเลือกนายก 500 คนเป็น ส.ส. อีก 250 คนเป็น ส.ว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยตรงจาก คสช. พูดง่ายๆคือ คสช. สามารถกำหนดคนที่จะเป็นนายกได้ เปรียบเท่ากับประชาชน 19 ล้านคน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องยกเลิกมาตรา 272

2. การเมืองในสภาต้องสะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน อำนาจ-ที่มา-สมดุล เพราะความเป็นประชาธิปไตยของวุฒิสภาไม่ได้วัดว่าวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง แต่วัดกันที่อำนาจของวุฒิสภาสอดคล้องกับที่มาหรือไม่ หมายความว่า ถ้าจะมีวุฒิสภาที่มีอำนาจสูงมาก ก็ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ถ้าวุฒิสภามีที่มาที่ด้อยค่ามากในความเป็นประชาธิปไตย วุฒิสภานั้นก็ห้ามมีอำนาจสูงเกินไป

3. ระบอบประยุทธ์แต่งตั้งคนของตัวเองมาสืบทอดอำนาจ จาก ส.ว. ทั้งหมด 250 คน แยกเป็น คสช. เลือกโดยตรง 194 คน อีก 6 คน คือ ผบ. เหล่าทัพที่เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง ที่เหลือ 50 คน คสช. เลือกทางอ้อม กระบวนการทั้งหมดใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาท

4. การออกกฎหมายคล่องตัว ทันใจ ตอบสนองต่อสถานการณ์กว่า เมื่อใช้ระบบสภาเดี่ยวกฎหมายต้องเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง นักวิชาการใช้ 4 คำศัพท์มานิยามการเปลี่ยนแปลงของโลกเราในปัจจุบันได้แก่ ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ หากเราบอกว่าโลกของเรามีการผันผวนและไม่แน่นอน แปลว่าความเร็วในการออกกฎหมายใหม่ รื้อกฎหมายเก่า หรือแก้กฎหมายที่มีอยู่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นการลดกระบวนการนิติบัญญัติที่ต้องผ่านทั้งสองสภามาเหลือแค่สภาเดียว จะทำให้กระบวนการการออกกฎหมายมีความยืดหยุ่น และเท่าทันต่อสถานการณ์มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นพอโลกเรามีความซับซ้อน มีความคลุมเครือ ความเชี่ยวชาญของคนที่อยู่ในแต่ละสาขาวิชาชีพก็จะมีความสำคัญมากขึ้น

5. หากยุบวุฒิสภาจะประหยัดงบประมาณกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี นำมาส่งเสริมสวัสดิการประชาชนได้ คำนวณจากเงินเดือน ส.ว. 1 คน มีผู้เชียวชาญ 1 คนประจำตัว ผู้ชำนาญการ 2 คน ผู้ช่วย 5 คน รวมเป็นเงิน 226,500 x 250 คน x 5 ปีตามวาระ จะอยู่ที่ 3.4 พันล้านบาทต่อวาระ และบวกกับค่าสรรหาอีก 1.3 พันล้าน เราจะได้คำตอบว่าการมี ส.ว. 1 วาระ ใช้งบประมาณไปทั้งหมดอย่างน้อย 4.7 พันล้านบาท เฉลี่ยประมาณ 1 พันล้านต่อปี และเราคงมีงบประมาณพอจะขึ้นค่าอาหารกลางวันให้นักเรียนเกินคนละ 1 บาทต่อมื้อ

6. กลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม โดยจะเพิ่มกลไกตรวจสอบ ให้ ส.ส. มีอำนาจในการตรวจสอบฝ่ายบริหารมากขึ้น และเพิ่มเงื่อนไขคำว่านายกจะต้องเป็น ส.ส. เพื่อให้นายกไม่สามารถหนีการตรวจสอบในสภาได้ ยิ่งไปกว่านั้นเราต้องมีผู้ตรวจการกองทัพ ศาล และองค์กรอิสระ ที่จะมาจากตัวแทน ส.ส.

นอกจากนี้ยังต้องติดอาวุธให้ฝ่ายค้าน โดยให้ฝ่ายค้านมีตำแหน่งรองประฐานรัฐสภาอย่างน้อยหนึ่งคน และเป็นประธานกรรมาธิการที่สำคัญต่อการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน การพัฒนาการเมืองหรือการตรวจสอบงบประมาณ

ท้ายที่สุดต้องเพิ่มช่องทางตรวจสอบโดยประชาชนด้วย เพราะประชาชนสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้มีประสิทธิภาพมากกว่า ส.ว. ชุดปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายที่ไม่ตรงความต้องการของประชาชน เช่น ซื้อเรือดำน้ำ ก็เป็นประชาชนที่ออกมาส่งเสียงทำให้รัฐบาลต้องชะลอการซื้อเรือดำน้ำออกไป

7. โครงสร้างสภาเดี่ยวเป็นโครงสร้างที่สามารถปฏิบัติได้จริง และสอดรับกับทิศทางโลกสมัยใหม่ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบรัฐเดี่ยว และมีระบบรัฐสภาทั้งหมด 31 ประเทศ มีถึง 20 ประเทศที่ใช้ระบบสภาเดี่ยวแล้ว ใน 20 ประเทศนี้ หลายประเทศเคยใช้ระบบสภาคู่ และพบว่าการออกแบบอำนาจวุฒิสภาให้สมดุลเป็นเรื่องยาก หรือใช้ระบบ ส.ว. แต่งตั้งที่มีอำนาจน้อย แต่ก็พบว่า ไม่สามารถแต่งตั้งคนที่เป็นกลางทางการเมืองได้จริง นอกจากนี้ หาก ส.ว. มีที่มาจากการเลือกตั้ง ก็พบว่ายากจะออกแบบระบบเลือกตั้งให้ได้คนที่แตกต่างจาก ส.ส. จึงเป็นการเสียงบประมาณไปเปล่าๆ

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าเห็นว่า ภาระพิสูจน์นี้อยู่กับ ส.ว. ที่ต้องอธิบายให้ได้ว่า จะมี ส.ว. ไว้เพื่ออะไร หาก ส.ว. ไม่สามารถอธิบายได้ ก็อยากเชิญชวนทุกคนเดินหน้าไปสู่การมีสภาเดี่ยว

โละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และล้างมรดกรัฐประหาร: หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึงเหตุผลว่าทำไมต้องโละศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เนื่องจากในเวลานั้นรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีเจตนารมณ์ต้องการให้รัฐบาลเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ ดังนั้นจึงต้องมีศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเพื่อมาตรวจสอบคนที่ใช้อำนาจรัฐ แต่เมื่อใช้ไปก็เกิดปัญหาขึ้น เพราะองค์กรอิสระมีอำนาจมาก มีอำนาจกำหนดชะตากรรมทางการเมือง และกำหนดชะตาชีวิตของนักการเมืองแต่ละคน มีอำนาจในการยึดกุมรัฐธรรมนูญเอาไว้ได้ จากเหตุผลที่กล่าวมานั้น เจตนารมณ์ของการก่อตั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บอกว่า มีองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กลับกลายเป็นเครื่องมือของฝักฝ่ายทางการเมืองที่จะเอามาใช้เพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามของตนเอง

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ปิยบุตร แสงกนกกุล

คณะผู้ตรวจการศาล

ปิยะบุตรเสนอให้มีคณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1. ส.ส. 10 คนมาจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 5 ส.ส. ฝ่ายค้าน 5

2. ตรวจสอบการใช้ง่ายงบประมาณของสำนักงานศาล

3. ให้ความเห็นแก่ประธานศาลเกี่ยวกับแนวทางการบริหารศาล

4. ศึกษาวิเคราะห์ ประเมินคุณภาพ และผลกระทบของคำวินิจฉัยของศาล รธน. คำพิพากษาของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง

5. คัดเลือกกันเองให้คนหนึ่งไปเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมโดยตำแหน่ง และอีกคนหนึ่งไปเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองโดยตำแหน่ง

ล้างมรดกรัฐประหาร

นอกจากนี้ เลขาธิการคณะก้าวหน้าบังเสนอล้างมรดกรัฐประหาร ดังนี้

1. ยกเลิกมาตรา 279 ที่ว่าด้วยการใช้อำนาจของ คสช. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย

2. ประกาศให้นิรโทษกรรมให้รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นโมฆะ

3. เพิ่มสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆ ต่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญและการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของปวงชนชาวไทย

4. เพิ่มสิทธิและหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างประจักษ์ชัด

5. เพิ่มหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะทหาร หรือคณะบุคคลใดที่ก่อการรัฐประหารทั้งปวง

6. ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงรับรองรัฐประหาร

7. เมื่อไหร่ก็ตามที่อำนาจสูงสุดกลับมาเป็นของปวงชนชาวไทย และได้มาซึ่งรัฐบาลและอำนาจการปกครองที่ชอบธรรมแล้ว ให้ดำเนินคดีต่อคณะทหารหรือคณะบุคคลที่ก่อรัฐประหารนั้นโดยทันที และปราศจากอายุความ

8. ให้บทบัญญัติในหมวดนี้มีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีผลใช้บังคับโดยตลอดแม้รัฐธรรมนูญนี้จะสิ้นผลไป

ปิยบุตร ยังกล่าวถึง 3 เส้นทางการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก่ เส้นทางแรก ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เส้นทางสอง แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำรัฐธรรมนูญใหม่ และเส้นทางสาม แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตราในประเด็นสำคัญ

สำหรับ นภัสรินทร์ เทศสวัสดิ์วงศ์ ผู้รายงานข่าวชิ้นนี้ เป็นนักศึกษา นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท