ตัวแทน 62 องค์กร 344 บุคคล ยื่นหนังสือถึงรัฐ ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยด้านมนุษยธรรม

ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 62 องค์กร 344 บุคคล ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ที่สำนักงาน ก.พ.ร. หวังภาครัฐให้ที่พักพิงและช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการทิ้งระเบิดทางอากาศของกองทัพพม่าตามหลักมนุษยธรรม 

อังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนการยื่นหนังสือ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 (ที่มา เพจ Friends without Borders)

เวลา 10.30 น. ของวันที่ 9 เม.ย. 2564​ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 62 องค์กร 344 บุคคล ที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ "ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าคือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย"​ ข้อเสนอจากภาคีองค์กรภาคประชาชน 5 เมษายน 2564 (ปรับปรุงล่าสุด 8 เมษายน 2564) นำโดยอังคณา นีละไพจิตร อดิศร เกิดมงคล เอกพันธ์ุ ปิณฑวณิชย์ ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล และคุณศิววงศ์ สุขทวี เดินทางไปยื่นหนังสือแก่นายกรัฐมนตรี โดยมี เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วย​รัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ ณ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)

สาระสำคัญในแถลงการณ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากพม่า 5 ข้อ ประกอบด้วย 

หนึ่ง รัฐบาลไทยต้องอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยที่หนีภัยสงคราม และการประหัตประหาร เข้ามาพักหลบภัยในประเทศไทยตามหลักมนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่รัฐจัดไว้ให้ตามที่ได้มีการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน  

สอง เมื่อรับเข้ามาแล้ว เครือข่ายฯ เสนอว่า หน่วยงานความมั่นคงควรโอนความรับผิดชอบในการจัดการผู้ลี้ภัยให้กับกระทรวงมหาดไทยระดับอำเภอ และจังหวัด พร้อมทั้งประสานงานกับสาธารณสุขท้องถิ่นให้มีบทบาทด้านงานควบคุมโรค และองค์กรด้านมนุษยธรรม ซึ่งมีทั้งประสบการณ์และความพร้อมด้านงบประมาณให้เข้ามาร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการจัดการผู้ลี้ภัย

สาม รัฐควรอำนวยความสะดวกให้ภาคประชาชนที่มีความประสงค์จะช่วยผู้ลี้ภัย สามารถเข้ามาช่วยผู้ลี้ภัยได้ง่ายขึ้น

สี่ รัฐควรเปิดให้องค์กรระดับนานาชาติ อย่างเช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้าถึงผู้ลี้ภัยจากพื้นที่ที่เชื่อว่ามีการประหัตประหาร และสามารถใช้กลไกคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับความคุ้มครอง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 เพื่อคัดกรองผู้ที่ต้องการความคุ้มครองเป็นการเฉพาะ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจยังไม่สามารถกลับคืนถิ่นฐานพร้อมกับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนชายแดนได้

สุดท้าย การตัดสินใจที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มใดหรือบุคคลใดกลับคืนถิ่นฐาน จะต้องเป็นบทบาทร่วมของหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัย มิใช่บทบาทของฝ่ายความมั่นคงแต่เพียงฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการเดิมที่ระบุว่า เวลา 12.00 น. ตัวแทนเครือข่ายฯ มีแผนเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights - AICHR) ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

เมื่อเวลา 11.45 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก เอกพันธุ์ ปิณฑวณิชย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ว่าต้องยกเลิกแผนดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยรุนแรงขึ้น ทำให้ทางจุฬาฯ ไม่อนุญาตให้เข้ามายื่นหนังสือในมหาวิทยาลัยได้ อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มเครือข่ายฯ ส่งหนังสือให้ ศ.ดร.อมรา ผ่านช่องทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมลแล้ว 

ทำไมชาวกะเหรี่ยงจากพม่าถึงอพยพมาที่ไทย

แถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยงฉบับนี้เกิดขึ้น หลังจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) รุนแรงขึ้น เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา กองทัพพม่าเปิดปฏิบัติโดยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดใน อ.มือตรอ จ.ผาปูน รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ และมีการโจมตีเป้าหมายพลเรือน 

การโจมตีดังกล่าวส่งผลให้มีประชาชนมากกว่า 3,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชรา ผู้หญิง และเด็ก ต้องหนีภัยความตายโดยข้ามแม่น้ำสาละวินมายังประเทศไทย ขณะที่กองทัพไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับคนกลุ่มนี้โดยให้พักอาศัยอยู่ 1 คืน แล้วเริ่มผลักดันกลับเมื่อประมาณวันที่ 29-30 มี.ค. 2564 ประมาณ 2,000 คน ท่าทีของรัฐไทยทำให้ภาคประชาชนแสดงความกังวลว่า การผลักดันให้กลับไปประเทศต้นทางในขณะที่สถานการณ์การสู้รบยังระอุอยู่ อาจทำให้ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย

นอกจากนั้น ยังมีข้อจำกัดในการส่ง ความช่วยเหลือไปยังชนกลุ่มน้อยโดยเจ้าหน้าที่ฝั่งไทยมีความเข้มงวดในการส่งต่อความช่วยเหลือด้าน มนุษยธรรมระหว่างประชาชนบริเวณชายแดน ทำให้การช่วยเหลือเป็นไปโดยลำบากและไม่ต่อเนื่อง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ของบริจาคผู้ลี้ภัยสมทบแม่สามแลบต่อเนื่อง แต่ติดกลไกราชการจนไปต่อยาก

ภาณุภัทร จิตเที่ยง : รัฐไทยควรใช้หลักความมั่นคงมนุษย์ในการจัดการผู้ลี้ภัยรึยัง

ชุมชนผู้พลัดถิ่นภายในรัฐฉาน หวังรัฐไทยเปิดพื้นที่ปลอดภัยหากถูกกองทัพพม่าโจมตี

‘เพื่อนไร้พรมแดน’ เสนอโอนความรับผิดชอบในการจัดการผู้ลี้ภัยไปที่หน่วยงานรัฐที่มีประสบการณ์

มูลนิธิเพื่อนไร้พรหมแดน ค้านกองทัพไทยส่งกลับกะเหรี่ยงผู้ลี้ภัย 3 พันคนกลับพม่า

ร้องรัฐคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม

ก่อนการยื่นหนังสือถึงตัวแทนรัฐบาล อังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนเครื่อข่ายฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับการมายื่นหนังสือครั้งนี้ เบื้องต้น เธอมีความเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่พม่า หลังจากที่กองทัพพม่ามีการโจมตีกองกำลังชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่ประกาศจุดยืนเคียงข้างผู้ประท้วงต้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2564 กองทัพพม่าเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ทิ้งระเบิดในพื้นที่ที่พลเรือนอาศัยอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง จนทำให้มีชาวบ้านจำนวนมาก อพยพมาลี้ภัยที่ชายแดนไทย

“ต้องขอบคุณรัฐไทย ที่ให้การดูแลทางด้านมนุษยธรรม แต่คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ แต่ถูกกดดันให้ต้องเดินทางกลับ ก็มีความกังวลอย่างมากว่าการที่เขากลับไปเผชิญกับอันตรายมากขึ้น จนทุกวันนี้ยังมีการใช้กำลังใช้อาวุธกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้อยู่” อังคณา กล่าวถึงปัญหาที่รัฐไทยพยายามผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไป  

ขณะที่สถานการณ์การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่แม่สามแลบยังเป็นไปอย่างลำบาก ประชาชนที่เดินทางไปบริจาคสิ่งของที่ด่านแม่สามแลบ ติดขัดด้วยปัญหาเรื่องระบบราชการ จนทำให้ภาคประชาสังคมกังวลว่า การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอาจจะทำได้ไม่ทันท่วงที

สืบเนื่องจากปัญหาเหล่านี้ วันนี้เธอในฐานะเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด จึงมายื่นหนังสือต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐได้ใช้หน้าที่คุ้มครองหลักสิทธิมนุษยชน และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับผู้ที่อยู่บริเวณชายแดน

"หากกองทัพพม่ายังใช้วิธีการปราบปรามด้วยความรุนแรงต่อไป คาดว่าจะมีผู้อพยพเข้ามามากขึ้น และในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยก็มีมาตรการในการป้องกัน แต่ถ้าประเทศไทยไม่เตรียมพร้อมในเรื่องของสถานที่ในการที่จะรองรับ ก็จะทำให้ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือได้ และจะมีคนเข้ามามากขึ้นในระหว่างที่เขายังกลับประเทศต้นทาง หรือเดินทางไปประเทศที่สามไม่ได้ ประเทศไทยควรจะมีมาตรการที่จะช่วยเหลือ และดูแลทางด้านมนุษยธรรมแก่บุคคลเหล่านี้" อังคณา กล่าว 

อังคณา สะท้อนปัญหาเพิ่มว่า สำหรับผู้ลี้ภัยที่บาดเจ็บ และเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลในเขตไทย ก็มาในฐานะผู้ป่วยนอก ระหว่างรับการรักษาไม่มีที่อยู่อาศัย ก็ต้องไปอาศัยที่บ้านของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านที่ให้ผู้ลี้ภัยที่เข้ามารักษาพักอาศัย ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่จะดำเนินคดีจนหวาดกลัว โดยเธอเสนอว่า ถ้ารัฐไทยจัดสถานที่ที่มีมาตรการที่ดี ที่สามารถให้คนเหล่านี้มารวมกันได้ สถานที่มิดชิด และอยู่ในสายตาของรัฐ ก็จะเป็นผลดีต่อรัฐเอง ซึ่งจะควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ง่ายยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องภาระที่จะดูแลผู้ลี้ภัยก็มีองค์กรสิทธิมนุษยชน และภาคประชาชน ที่จะช่วยดูแล และช่วยเหลือด้านเงินทุน 

"รัฐบาลต้องใจกว้าง ถ้ายังเกรงใจรัฐบาลทหารพม่า เราจะสูญเสียความมีน้ำใจ การรักษามนุษยธรรมของเรากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตรงนี้มีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่เราจะต้องเสียไป รัฐบาลควรคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ วันนี้เราพูดถึงความเป็นมนุษย์ ไม่พูดถึงความขัดแย้งทางการเมือง อย่างน้อยที่สุด ก็จะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม" อังคณา กล่าว  

สุดท้าย เธอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงบทบาททางการทูตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการโน้มน้าวให้รัฐบาลพม่าคำนึงถึงความเป็นประชาธิปไตย ยอมรับความเห็นต่าง และบรรเทาความรุนแรงในสลายการชุมนุมด้วยอาวุธในเมียนมา

"ประเทศไทยดูเหมือนจะมีท่าทีที่แสดงตัวช้ากว่าประเทศอาเซียนอื่นบางประเทศ เพราะเราเห็นประเทศอาเซียนบางประเทศออกมาปกป้อง (ผู้สื่อข่าว - ผู้ชุมนุมพม่า) ในด้านสิทธิพลเมือง สิทธิที่จะไม่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ไม่ถูกปราบปรามโดยใช้กำลัง เพราะวันนี้ก็มีคนที่เสียชีวิตไปเป็นร้อยแล้วในเมือง รวมถึงเด็กด้วย เราไม่อยากให้เห็นภาพแบบนั้น และเราคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าจะสามารถที่จะโน้มน้าวประเทศเมียนมาให้ คำนึงถึงความเป็นประชาธิปไตย ประเทศไทยก็ควรที่จะแสดงศักยภาพในการเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้พม่าเคารพหลักการประชาธิปไตย ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง"

"จริง ๆ แล้วเรื่องของสิทธิมนุษยชนมันไม่มีพรมแดน เพราะฉะนั้น ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นกับใครก็แล้วแต่ วันนี้เราเอาความเป็นมนุษย์ขึ้นมาพูดกัน และวันหนึ่งเราอาจจะเป็นผู้ลี้ภัยเอง คนไทยมีไม่น้อยที่ต้องหนีภัยไปอยู่ในประเทศอื่น บางคนก็หายไปบ้าง เสียชีวิต ด้วยเรื่องทางการเมือง และเราไม่ควรเอาความขัดแย้งทางการเมืองมาทำลายความเป็นมนุษย์ ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน" อังคณา ทิ้งท้าย 

อ่านรายละเอียดแถลงการณ์ 

ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าคือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย
แถลงการณ์ข้อเสนอจากภาคีองค์กรภาคประชาชน 5 เมษายน 2564
(ปรับปรุงล่าสุด 8 เมษายน 2564)

นับแต่การโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่าต่อชุมชน จ.มื่อตรอ รัฐกะเหรี่ยง เมื่อ 2 7 มี.ค. 2564 ตามต่อด้วยการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ทั่วพื้นที่ตลอดสัปดาห์ ผู้ลี้ภัยสงครามได้ทะยอยข้ามน้ำสาละวินมาหลบภัยใน ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย และ ต.แม่คง กับ ต.แม่ยวม อ. แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มากกว่าสามพันคน ซึ่งกว่าสองพันถูกผลักดันกลับไปในระหว่างวันที่ 29-31 มี.ค. อีกราวสองพันคนยังกระจายตัวอยู่ตามเส้นขอบแดน ในความควบคุมของหน่วยทหารพราน และ ตชด.ใน อ.สบเมย และแม่สะเรียง

จากการแถลงข่าวของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องชี้ว่า รัฐไทยเกรงว่าการรับผู้ลี้ภัยจะก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายโควิด-19 และปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศพม่า อีกทั้งยังเกรงว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะตกค้างอยู่นานดังเช่นคนในศูนย์พักพิงฯ 9 แห่ง จึงต้องการให้ผู้ลี้ภัยใหม่อยู่เฉพาะภายใต้การควบคุมของกองทัพเพื่อที่จะผลักดันออกไปให้เร็วที่สุด โดยมิให้สื่อมวลชน องค์กร
มนุษยธรรม องค์การระหว่างประเทศ ประชาชนไทยรวมถึงหน่วยงานรัฐอื่นได้เข้าถึงจากการติดตามสถานการณ์และปฏิบัติการครั้งนี้ ภาคีองค์กรภาคประชาชนไทย ซึ่งถือว่าผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าคือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย มีข้อสังเกต คือ

1. การผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ ในขณะที่ยังมีรายงานการโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดินในพื้นที่จังหวัดเดียวกันกับที่ผู้ลี้ภัยกลับไป ถือเป็นการละเมิดหลักมนุษยธรรมและพันธกรณีของรัฐต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงกฎจารีตประเพณีระหว่างประเทศ Non- refoulement ซึ่งห้ามผลักดันผู้ลี้ภัยกลับสู่อันตราย

2. การรับผู้ลี้ภัยไว้บนแผ่นดินไทย โดยที่กองทัพไม่เปิดให้ให้หน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ลี้ภัย ซึ่งคือหน่วยงานมหาดไทยระดับอำเภอและจังหวัด และองค์กรเอกชนด้านมนุษยธรรมซึ่งมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับมหาดไทยอยู่แล้วเข้ามารับผิดชอบในการจัดการดูแล ทำให้ภาระตกอยู่แก่หน่วยทหารพรานท้องถิ่น ซึ่งไม่มีความพร้อมทั้งกำลังคน งบประมาณ ประสบการณ์ และศักยภาพในการจัดการดูแลผู้ลี้ภัยได้อย่างเป็นระบบ ตามมาตรฐานสากลในด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน 

3. การปิดกั้นไม่ให้ความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมไทยเข้าถึงผู้ลี้ภัย โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและโควิด-19 ก่อให้เกิดวิกฤตทางมนุษยธรรม ผู้ลี้ภัยที่ประกอบไปด้วยหญิง เด็ก คนชรา และผู้ป่วย ต้องตกอยู่ในสภาพอดอยาก ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตนและทรัพย์สินจากแดดและฝน ขาดยารักษาโรคและเครื่องใช้จำเป็นอื่น ๆ

4. สภาพความไม่พร้อมดังกล่าวก่อให้เกิดความห่วงใยสืบเนื่องถึงอนาคตอันใกล้ ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในประเทศพม่า ก็อาจมีการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยเข้ามาเพิ่มตลอดแนวชายแดนไทย เนื่องจากการปราบปรามประชาชนในเขตเมืองยังทวีความรุนแรงไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้นักการเมือง นักกิจกรรม สื่อมวลชน ข้าราชการและครอบครัวต้องหลบหนีการประหัตประหารมาอยู่ในความคุ้มครองของกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณชายแดนติดไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีความเป็นไปได้ที่กองทัพพม่าจะหันมาโจมตีพื้นที่เหล่านี้ ส่งผลให้ทั้งชาวบ้านท้องถิ่นและผู้ที่หลบหนีจากเขตเมือง ต้องข้ามมาขอหลบภัยในประเทศไทย

นอกจากนี้ องค์กรภาคประชาชนไทยที่ได้ติดตามสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ยังมีข้อชี้แจงต่อข้อกังวลต่าง ๆ ของรัฐไทย คือ

1 . ต่อกรณีความห่วงใยว่าผู้ลี้ภัยจะตกค้างนาน ข้อเท็จจริงก็คือ ผู้ลี้ภัยปี พ.ศ.2564 โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านชาติพันธุ์จากชายแดนเหล่านี้ไม่มีความประสงค์จะอยู่ประเทศไทยในระยะยาว หากต้องการกลับถิ่นฐานทันทีที่สามารถกลับได้ แต่ละครอบครัวทิ้งบ้าน ทรัพย์สิน เรือกสวนไร่นา และสัตว์เลี้ยงของตนไว้ โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาก่อนจะมีการโจมตีทางอากาศที่ไปได้ทั่วทุกบริเวณ ชาวบ้านได้พยายามใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน โดยหนีไปหลบซ่อนในป่าเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น ไม่ได้มีความพยายามมาประเทศไทยหากไม่จำเป็น 

ตัวอย่างหนึ่งของผู้ลี้ภัยที่ไม่มีประสงค์จะอยู่ประเทศไทยในระยะยาว คือ ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงจากจ.พะอัน รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งหลบหนีการโจมตีเพื่อยึดพื้นที่ของกองทัพพม่าเข้ามาอยู่ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ระหว่างมิ.ย.2552-เม.ย.2553 ในครั้งนั้น รัฐได้จัดพื้นที่ให้แยกจากศูนย์พักพิงฯ ที่มีอยู่ โดยอนุญาตให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้าไปจัดการและภาคประชาสังคมไทยสามารถไปให้ความช่วยเหลือได้ ผู้ลี้ภัยได้สร้างเพิงพักชั่วคราวกันแดดฝน และได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนชั่วคราว เพื่อให้การศึกษาแก่เด็ก ๆ จนกระทั่งเดินทางกลับถิ่นฐาน 

กรณีผู้ลี้ภัยราวเก้าหมื่นในศูนย์พักพิงฯ 9 แห่งใน 4 จังหวัดนั้นมีความแตกต่างไปมาก หลังจากเกิดศูนย์พักพิงฯแห่งแรกในปี พ.ศ.2527 นั้น จำนวนได้ทวีคูณเป็นกว่าแสนในปี พ.ศ.2538 เนื่องจากสภาพชายแดนเปลี่ยนจากการที่เป็นพื้นที่ในความควบคุมของกองกำลังชาติพันธุ์มาเป็นกองทัพพม่าเกือบทั้งหมด การกลับถิ่นฐานจึงเป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก แม้เมื่อเวลาผ่านไปสถานการณ์จะดีขึ้น พื้นที่ชุมชนรวมถึงที่ทำกินเดิมก็ตกเป็นของผู้มาอาศัยอยู่ใหม่แล้ว อย่างไรก็ดี ผู้ลี้ภัยจากศูนย์พักพิงฯ ก็ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามแล้วกว่าแสนคน ตามข้อมูลองค์การการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ (IOM) ในปี พ.ศ.2564

2. ต่อกรณีข้อห่วงใยว่าด้วยการแพร่กระจายโควิด 19 และความสัมพันธ์กับประเทศพม่านั้น หากรัฐไทยจัดการตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักมนุษยธรรม ก็จะถือว่าผู้ลี้ภัยเป็นผู้ที่ต้องได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ มิใช่เป็นความรับผิดชอบของรัฐที่รับแต่เพียงฝ่ายเดียว 

นอกจากนี้ ด้วยการจัดการที่เหมาะสมตามข้อเสนอเบื้องล่างนี้ก็จะสามารถควบคุมการแพร่กระจายโควิด 19 ได้ โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องละเมิดหลักมนุษยธรรมหรือสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุที่ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าคือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย ภาคีองค์กรภาคประชาชนไทยตามรายนามเบื้องล่างนี้ จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในการรับมือกับการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัย กล่าวคือ

1. รัฐจะต้องไม่ปฏิเสธการขอเข้าลี้ภัย โดยหน่วยงานความมั่นคงจะต้องเปิดให้ผู้หนีภัยสงครามและการประหัตประหารซึ่งมีเหตุแห่งการลี้ภัยชัดเจนตามรายงานข่าว ให้เข้าพักหลบภัยในประเทศไทยตามหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่รัฐได้จัดไว้ให้ตามที่ได้มีการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนไว้ก่อนหน้า

2. เมื่อหน่วยงานความมั่นคงเปิดรับให้ผู้ลี้ภัยเข้าสู่พื้นที่พักพิงฯแล้ว ก็จะต้องมอบความรับผิดชอบในการจัดการดูแลให้ความคุ้มครองแก่กระทรวงมหาดไทยระดับอำเภอ และจังหวัด ซึ่งจะได้ประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นให้มีบทบาทนำในด้านงานควบคุมโรค และองค์กรมนุษยธรรมซึ่งมีประสบการณ์และความพร้อมในด้านงบประมาณให้ดำเนินการสนับสนุน 

3. รัฐจะต้องไม่ปิดกั้น หากควรอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาชนไทยที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ทั้งนี้ การสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนของทั้งสองประเทศ คือการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศในระยะยาว

4. ในกรณีที่มีการหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มผู้ลี้ภัยจากพื้นที่ที่เชื่อได้ว่า จะมีผู้หลบหนีการประหัตประหารจากในเมืองรวมอยู่ด้วย รัฐควรอนุญาตให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สามารถเข้าถึงผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าว และสามารถใช้กลไกคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับความคุ้มครอง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 เพื่อคัดกรองผู้ที่ต้องการความคุ้มครองเป็นการเฉพาะ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจยังไม่สามารถกลับคืนถิ่นฐานพร้อมกับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนชายแดนได้

5. การตัดสินใจที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มใดหรือบุคคลใดกลับคืนถิ่นฐาน จะต้องเป็นบทบาทร่วมของหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัย มิใช่บทบาทของฝ่ายความมั่นคงแต่เพียงฝ่ายเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท