รัฐใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมม็อบหรือคุมโควิด-19 แน่? 8 เดือนคดีการเมืองพุ่ง 268 คดี

ทนายพูนสุขจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดสถิติที่ถูกรัฐดำเนินคดีมีเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่มีการชุมนุมครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค. 63 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งภาครัฐมีการใช้กฎหมายมาตราต่างๆ ต่อผู้ชุมนุมอย่างไม่เป็นธรรม

พูนสุข พูนสุขเจริญ ภาพจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

7 เม.ย.2564 พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงสถานการณ์ที่รัฐใช้กฎหมายต่างๆ ในการละเมิดสิทธิมุนษยชน ในช่วงเสวนาการแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2563/64 รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

พูนสุขกล่าวว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการใช้กฎหมายซ้อนทับกันหลายฉบับมาก สะท้อนความแปลกประหลาดในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ ในขณะที่ส่วนกลาง ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติทำรัฐประหารเป็นต้นมา คสช.ทำให้ประเทศไทยทั้งประเทศกลายเป็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นได้จากการนำมาปรับทัศนคติหรือการเชิญตัว ตลอด 6 ปี 10 เดือนเราอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษมาตลอด ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องปกติแต่เราบังคับใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้เสมือนเป็นปกติ

หลังจากหนึ่งปีที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่ 25 มี.ค. 2563 ทำให้ไม่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต่อมามีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง รัฐบาลจึงพยายามกลับไปใช้เกณฑ์กฎหมายชุมนุมซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรอง

พูนสุขชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ตามมาจากการใช้กฎหมายของรัฐคือ เมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้นก็มีการดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปพร้อมๆ กัน หลังจากนั้นจึงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงแทรกเข้ามาอีก ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ มีทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินโควิดและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงประกาศใช้ไปพร้อมกัน โดยเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ลักลั่นและสร้างความสับสนพอสมควร

สรุปแล้วคุณประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรค หรือใช้เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง

พูนสุขวิจารณ์การใช้กฎหมายของรัฐโดยอ้างอิงจากสถิติคดีที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียง 1 ปี ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโควิด และ พ.ร.บ.ชุมนุม มีผู้ที่ชุมนุมถูกดำเนินคดี จำนวน 373 ราย 126 คดี

นอกจากรัฐบาลจะใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โควิด และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว ยังใช้กฎหมายอีกหลายมาตราที่รัฐประกาศใช้ต่อผู้ชุมนุม จากยอดเฉพาะเดือนมีนาคม 64 พูนสุขเผยว่า เพียงเดือนเดียวมีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเพิ่มเกือบ 200 ราย

พูนสูขกล่าวว่า ตั้งแต่ ก.ค.63 จนถึงปลายเดือน มี.ค.64 มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้วจำนวน 581 ราย รวมทั้งหมด 268 คดี หมายความว่า 1 คนถูกดำเนินคดีมากว่า 1 คดี อย่างเช่น เพนกวิน หรือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมทางการเมือง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพียงคนเดียวก็มีถึง 20 คดี ทำให้เห็นความพยายามอย่างชัดเจนของรัฐบาลในการใช้กฎหมายมาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมือง จากคดีที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายต่างๆ ในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมแบ่งออกเป็น

  • ข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีจำนวน 457 ราย 136 คดี

  • รองลงมาคือ ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปตาม มาตรา 215 มีจำนวน 171 ราย 35 คดี

  • ข้อหา ยุยงปลุกปั่น ตามมาตราา 116 มีจำนวน 103 ราย 26 คดี

  • ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 มีจำนวน 82 ราย 74 คดี

  • มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาตาม มาตราต่างๆ ใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำนวน 87 ราย 62 คดี

  • ข้อหาตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 35 ราย 40 คดี

ทนายความยังกล่าวต่ออีกว่า มีอีกหนึ่งฐานความผิดที่รัฐนำมาใช้กับผู้ชุมนุม คือ ประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี หรือรัชทายาท ตามมาตรา 110 จากกรณีขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 14 ต.ค.2563 และมีการฟ้องคดีกันแล้ว จำนวน 5 ราย หลังจากเหตุการณ์นั้นรัฐก็ได้ประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามมาในช่วงวันที่ 15 - 25 ต.ค.

การช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีต้องเจออุปสรรคมาก

พูนสุขกล่าวว่า ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกดำเนินคดีมีความยากลำบากเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าการที่ควบคุมตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาในช่วงวันที่ 15 - 25 ต.ค.มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง จริง ๆ กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลที่ยังไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาได้ 30 วัน แต่ว่าการควบคุมตัวในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ศาลไม่เคยออกหมายควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่งก็มีเจ้าหน้าที่ไปขอแต่ศาลไม่ออกหมายให้ ดังนั้นการควบคุมตัวบุคคลเมื่อมีการจับกุมตามหลักคือ ต้องนำตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวไปพบพนักงานสอบสวนเท่านั้น ซึ่งมีประมาณ 200 กว่ารายที่ถูกนำตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ กองบังคับการตำรวจตระเวณชายแดน ภาค 1 แต่ตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ชัดเจนว่า เมื่อมีการจับกุมและจะต้องนำตัวผู้ที่ถูกจับกุมไปหาพนักงานสอบสวนตามสถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ

‘อย่างสถานการณ์ล่าสุด เจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า กรณีที่ประชาชนออกมาชุมนุมที่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลเช้าตรู่วันที่ 28 มี.ค. โดนสลายการชุมนุม โดยที่ผู้ชุมนุมนอนอยู่ข้างทำเนียบยังไม่ตื่นและก็ให้เวลาเก็บของเพียง 3 นาทีเท่านั้น ซึ่ง 3 นาที ไม่ใช่ขั้นตอนการสลายการชุมนุม การให้ระยะเวลาดังกล่าว ทำให้ไม่ได้สัดส่วน และจริงๆ มันก็ไม่ได้มีเหตุให้มีการสลายการชุมนุม เพราะผู้ชุมนุมไม่ได้สร้างเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงแต่อย่างใด ถึงแม้จะมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย รัฐควรจัดการกับเฉพาะบุคคลนั้น ไม่ควรนำมาซึ่งการเหมารวมทั้งหมด’ ทนายความของศูนย์ทนายฯ กล่าว

การที่ตำรวจนำตัวผู้ถูกจับกุมไปควบคุมตัวไว้ที่ ตชด. โดยที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ พูนสุขเห็นว่า ทำให้ผู้ที่ถูกจับกุมสุ่มเสี่ยงถูกอุ้มหาย หรือถูกนำไปกระทำอย่างอื่น ซึ่งตามสิทธิผู้ของผู้ถูกจับกุมยังต้องมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและเข้าถึงทนายความได้ แต่ปัจจุบันตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องหาไปที่ ตชด. ทำให้ทางทนายความเข้าถึงผู้ที่ถูกจับกุมได้ยากลำบาก

สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกดำเนินคดีถูกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง สามารถไปฟ้องศาลปกครองได้และเป็นการลดภาระของประชาชน เพราะว่าศาลปกครองถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบอำนาจรัฐโดยเฉพาะ คือหนึ่งมีกระบวนการไต่สวน สองกรณีที่ผู้ดำเนินคดีไม่สามารถเข้าถึงพยานหลักฐาน ศาลสามารถเรียกพยานหลักฐานเข้ามาพิจารณาได้ ซึ่งกระบวนการศาลปกครองมีความยืดหยุ่นกว่าการไปฟ้องศาลอาญาหรือศาลแพ่งหรือที่เราเรียกว่าศาลยุติธรรม

พูนสุขยกตัวอย่าง 3 กรณีที่ทางศูนย์ทนายความฯ ได้พยายามช่วยเหลือ กรณีแรกภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนฟ้องเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แต่ปรากฎว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่มีนัดแต่จะนัดอีกทีในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งกระบวนการมีความล่าช้าในการดำเนินการ กรณีที่สองศรายุท ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไทที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางจากการทำข่าวชุมนุมของ REDEM ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เสียหายพร้อมทนายความยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลแพ่งแล้วศาลก็ยกฟ้องภายในวันที่ฟ้องเลย โดยศาลอ้างว่าบังคับไม่ได้ตามคำขอ

กรณีสุดท้ายคือ ในช่วงปลายมีนาคมที่ผ่านมาทนายความได้ฟ้องคดีละเมิดที่ศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา ที่เกียกกายเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 คดีนี้ยังรอศาลนัดพิจารณาคดีอยู่ กรณีเหล่านี้ทางทนายความได้พยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยายามให้การช่วยเหลือปกป้องสิทธิแก่ผู้เสียหายในทั้งสามกรณี

สำหรับ ทิพากร เส้นเกษ ผู้รายงานข่าวชิ้นนี้ เป็นนักศึกษา นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท