งานวิจัยอ็อกฟอร์ด : ผู้ป่วย COVID-19 มีโอกาสเป็นโรคทางระบบประสาทและจิตเวช

มีการเผยแพร่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดระบุว่า บุคคล 1 ใน 3 ที่เคยได้รับการตรวจพบโรค COVID-19 ในระดับหนักมีอาการป่วยทางใจและความเจ็บป่วยทางระบบประสาทตามมาด้วยภายในช่วง 6 เดือนหลังติดเชื้อ เช่นโรคเกี่ยวกับความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า อาการนอนไม่หลับ ภาวะสมองเสื่อม


ที่มาภาพประกอบ: Firesam! (CC BY-ND 2.0)

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดนำเสนอรายงานระบุว่าผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมดตรวจพบว่ามีความเจ็บป่วยทางใจและความเจ็บป่วยทางระบบประสาทด้วยจากการตรวจภายในช่วงระยะเวลา 6 เดือนหลังจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ข้อมูลนี้ได้มาจากการสำรวจทะเบียนคนไข้ 236,379 รายในสหรัฐฯ

จากข้อมูลระบุว่าอาการป่วยทางใจที่คนไข้เป็นมากที่สุดคือโรคเกี่ยวกับความวิตกกังวล (ร้อยละ 17) และโรคเกี่ยวกับอารมณ์ (ร้อยละ 14) อย่างเช่น โรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ (ร้อยละ 5) บ้างก็มีการติดสารเสพติด (ร้อยละ 7) ขณะที่อาการป่วยทางระบบประสาทได้แก่การตกเลือดในสมอง (ร้อยละ 0.6) เกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน (ร้อยละ 2.1) ส่งผลต่อการทำงานของสมองเช่นโรคสมองเสื่อม (ร้อยละ 0.7) โดยจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างแล้วมีผู้ปรากฏอาการเหล่านี้รวมทั้งหมดร้อยละ 34

ศาสตราจารย์ พอล แฮร์ริสัน นักจิตเวชวิทยาจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดผู้นำการเขียนรายงานวิจัยฉบับนี้กล่าวว่า ถึงแม้จำนวนผู้มีอาการทางจิตเวชจะมากกว่าผู้มีอาการทางระบบประสาท แต่ผู้ที่มีอาการทางระบบประสาทก็อยู่ในจำนวนที่มีนัยสำคัญโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอาการหนักจากโรค COVID-19

ในแง่ที่ว่าอะไรที่ทำให้โรคที่เกิดจากไวรัสอย่าง COVID-19 สงผลต่อระบบประสาทและสมองได้นั้นมีการอธิบายไว้ว่า ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื่อ COVID-19 จะมีอาการไข้ ไอ และหายใจติดขัด แต่ก็มีจำนวนร้อยละ 25 ที่มีอาการเกี่ยวกับระบบประสาทและสมองด้วยอย่างเช่น การวิงเวียน, ปวดหัว, อ่อนเพลียเหนื่อยล้า และมีภาวะสมองล้า บ้างก็มีอาการเกี่ยวกับประสาทการรับรู้บกพร่อง เช่น มีปัญหาด้านการจำ, การเรียนรู้ และการตั้งสมาธิ ในขณะที่อาการบางอย่างหายไปหลังจากที่รักษา COVID-19 ได้แล้ว แต่ก็มีผู้ป่วย COVID-19 บางคนที่เผชิญกับผลกระทบนี้ในระยะยาว

สิ่งที่น่าจะเป็นตัวทำให้เกิดอาการทางประสาทและสมองนี้มาจากการที่สมองตกเลือดและมีการอักเสบเกิดขึ้นในสมองในผู้ป่วย COVID-19 ทำให้เกิดการอุดตัน มีการตีพิมพ์การค้นพบเรื่องนี้ในวารสารการวิจัยทางการแพทย์นิวอิงแลนด์ ที่ทำการสำรวจเนื้อเยื่อสมองของผู้ที่เสียชีวิตจาก COVID-19 พบว่าเนื้อเยื่อมีทั้งการอักเสบและการรั่วไหลของหลอดเลือด

ในแง่ที่ว่ามันเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตได้อย่างไรนั้น นักวิจัยกล่าวว่าอาการป่วยทางใจต่างๆ ของผู้ป่วย COVID-19 นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นโรค COVID-19 โดยตรง แต่มาจากการที่พวกเขาได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคและเกิดความวิตกกังวลหรือความทุกข์ทางใจอื่นๆ จากการพบว่าตัวเองเป็นโรค หรืออย่างน้อยส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามทีการตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อเทียบกับโรคติดเชื้อและโรคทางเดินหายใจอื่นๆ แล้ว ผู้ป่วย COVID-19 มีโอกาสเผชิญกับอาการทางระบบประสาทและอาการป่วยทางใจมากกว่า โดยที่งานวิจัยระบุว่าผู้ป่วย COVID-19 หลังจากหายโรคแล้วพวกเขามีโอกาสถูกตรวจพบโรคทางสุขภาพจิตและสุขภาพด้านระบบประสาทมากกว่าโรคหวัดอื่นๆ ร้อยละ 44 และมากกว่าโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ร้อยละ 16

แฮร์ริสันกล่าวว่าถึงแม้ความเสี่ยงของโรคทางใจและทางระบบประสาทของบุคคลเหล่านี้จะอยู่ในอัตราส่วนที่ไม่มาก แต่เมื่อคิดรวมกับจำนวนประชากรทั้งหมดแล้วถือว่ามีนัยสำคัญที่จะต้องจัดกาการรักษาทางระบบประสาทและการรักษาสุขภาพจิตให้กับบุคคลเหล่านี้รวมถึงการเยียวยาทางสังคมหลังจากนี้ เพราะมีหลายโรคที่มีโอกาสกลายเป็นโรคแบบเรื้อรัง

เรียบเรียงจาก
1 in 3 Covid survivors are diagnosed with conditions like anxiety and insomnia after recovery — here’s what Covid does to your brain, CNBC, 07-04-2021
1 in 3 Have Neurological, Psychiatric Problems Post-COVID, WebMD, 07-04-2021
Largest study to date suggests link between COVID-19 infection and subsequent mental health and neurological conditions, Department of Psychiatry Oxford, 07-04-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท