Skip to main content
sharethis

‘สกัดทุกทาง’ กองทัพพม่าออกคำสั่งห้ามประชาชนติดตั้งหรือใช้จานรับสัญญาณดาวเทียม หวังสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนดูข่าวการประท้วงต้านรัฐประหาร หากฝืนใช้ต่อ เสี่ยงถูกดำเนินคดี ขณะที่ก่อนหน้านี้ กองทัพพม่าเคยปิดสัญญาณ อินเทอร์เน็ต เพื่อกันประชาชนเข้าถึงข่าวฝั่งต้านรัฐประหารมาแล้ว

 

10 เม.ย. 2564 สำนักข่าวท้องถิ่น อิระวดี รายงานวันนี้ (9 เม.ย.64) กองทัพพม่าออกคำสั่งห้ามประชาชนติดตั้งหรือใช้จานรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนพม่าสามารถรับชมข่าวการประท้วงต้านรัฐประหาร หลังช่วงก่อนหน้านี้ กองทัพพยายามปิดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ประชาชนพม่าหันมาใช้จานรับสัญญาณดาวเทียมมากขึ้น เพื่อชมข่าวทางโทรทัศน์

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564 มีรายงานว่าทางการพม่าบุกเข้าตรวจยึดจานรับสัญญาณดาวเทียม PSI ในภูมิภาคเอยาวดี รัฐมอญ และรัฐคะฉิ่น 

นอกจากนี้ ประชาชนที่อาศัยในเขตเทศบาลมะอู่ปิ่น ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิระวดี ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐอ้างคำสั่งจากหน่วยงานบริหารทั่วไป ระดับเทศบาล ( General Administration Department หรือเรียกสั้น ๆ ว่า GAD) ขอให้ประชาชนที่อาศัยในเขตเทศบาลมะอู่ปิ่น ภูมิภาคเอยาวดี เลิกใช้จานรับสัญญาณดาวเทียม PSI 

“เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่า จานรับสัญญาณดาวเทียม PSI ไม่มีใบอนุญาต และขอให้พวกเราถอดการติดตั้งจานดาวเทียม ทางการยังขู่จะดำเนินคดี หากคราวหน้ามาตรวจแล้ว ยังพบว่าพวกเรายังใช้จานรับสัญญาณดาวเทียมอยู่” ประชาชนที่อาศัยในเขตเทศบาลมะอู่ปิ่น กล่าว 

หมายเหตุ : PSI คือ บริษัท พีเอสไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (PSI Corporation Co,.Ltd.) ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ระบบการสื่อสารดาวเทียมของประเทศไทย

ชาวบ้านส่วนใหญ่ขณะนี้เอาจานรับสัญญาณดาวเทียมออกไปหลังถูกเจ้าหน้าที่เตือน โดยประชาชนอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า “เธอถอนการติดตั้งจานดาวเทียมแล้ว เพราะว่าถ้ามีเจ้าหน้าที่มาตรวจแล้วพบว่าเธอยังใช้อยู่ พวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะไม่จัดการปัญหาดี ๆ แล้ว แต่มาทำทำลายจานดาวเทียมทิ้ง”

นอกจากนี้ มีรายงานว่าตำรวจพม่าบุกยึดจานดาวเทียมจากร้านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในหลายพื้นที่ในประเทศเมียนมา 

ตั้งแต่ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กองทัพพม่าค่อย ๆ สกัดการเข้าถึงการใช้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อขัดขวางไม่ให้ประชาชนเข้าถึงการรับข้อมูลข่าวสารการประท้วงต้านรัฐประหารในเมียนมา

เบื้องต้น กองทัพพม่าเริ่มจากปิดกั้นเข้าถึงการใช้ ‘เฟซบุ๊ก’ สื่อโซเชียลมีเดียยอดนิยมของชาวเมียนมา ซึ่งเท่ากับหมายถึงปิดกั้นการใช้อินเทอร์เน็ตของชาวเมียนมา กองทัพพม่ายังตัดบริการเข้าถึงการใช้ข้อมูลมือถือในช่วงยามวิกาล (ซึ่งการที่ประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ หมายความว่าประชาชนจะไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตขณะที่ไม่มี Wi-Fi ได้) ซึ่งการใช้ข้อมูลในมือถือเป็นวิธีที่ชาวพม่าใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ขณะที่ย้อนไปเมื่อสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคม กองทัพพม่าประกาศคำสั่งห้ามใช้บริการข้อมูลมือถืออย่างเด็ดขาดหลังมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ปราบผู้ประท้วงจนเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น และตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กองทัพพม่ามีคำสั่งห้ามใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตอีกด้วย  

ขณะที่ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม กองทัพพม่าซึ่งขณะนี้ยึดกุมอำนาจการบริหารประเทศผ่าน สภาการบริหารแห่งรัฐ (SAC) เพิ่งถอนใบอนุญาตทำสื่อมวลชนของสำนักข่าวฝ่ายปฏิปักษ์กับกองทัพ 5 แห่ง ประกอบด้วย Myanmar Now, DVB, Mizzima, Khit Thit Media และ 7 Day พร้อมทั้งมีการดำเนินคดีกับสำนักข่าวอิระวดี 

แม้หลายสำนักข่าวที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผันตัวไปให้บริการข่าวทางสื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก แต่ก็บางสถานีข่าวอย่าง DVB TV และ Mizzima ยังคงทำงานนำเสนอข่าวผ่านช่องโทรทัศน์ และนี่เป็นเหตุผลที่กองทัพพม่าสั่งห้ามใช้จานดาวเทียม เพราะกังวลว่าประชาชนพม่าจะได้รับข่าวสารการต้านรัฐประหารจากสถานีข่าวเหล่านี้นั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม แม้พยายามจะขัดขวางมาหลายครา แต่ SAC ออกประกาศเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2564 ว่ายังไม่สามารถจำกัดช่องทางออนไลน์ และสำนักข่าวต่างชาติได้ 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อการรัฐประหารพม่าในปี ค.ศ.1962 และ 1988 กองทัพพม่าก็พยายามอุดปากสื่อมวลชนพม่า และผลิตข่าวโฆษณาชวนเชื่อแข่งโดยใช้สื่อของรัฐบาล 

ในสมัยปัจจุบัน เมื่อบริบทเปลี่ยนไป การโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพพม่าดูเหมือนจะล้มเหลว ซึ่งต้องขอบคุณการรายงานข่าวอย่างมากมายจากทั้งสำนักข่าวท้องถิ่นพม่า สื่อต่างชาติ และในช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้การกระทำละเมิดกฎหมายของกองทัพ เช่น การปราบผู้ประท้วงโดยใช้อาวุธปืนกราดยิงมั่วซั่ว การทรมานผู้เห็นต่าง และเข้าไปขโมยของตามบ้านเรือนประชาชน นั้นถูกบันทึกไว้อย่างมากมาย  

 

แปลและเรียบเรียงจาก
Myanmar Junta Bans Satellite Dishes in Effort to Restrict Anti-Regime News

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net