ศาลให้ประกันตัวผู้แชร์โพสต์เพจเยาวชนปลดแอก หลังกองปราบ-ปอท. แจ้ง ม.112-พ.ร.บ.คอม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยศาลอาญาให้ประกันตัว 'สุทธิเทพ' คดี ม.112-พ.ร.บ.คอม เหตุแชร์โพสต์เพจเยาวชนปลดแอก - ไม่ให้ประกันคดี ม.112 กลุ่มราษฎร ทั้ง 4 คดี ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

 

 

10 เม.ย. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อเวลา 14.00 น. ของวันนี้ (10 เม.ย.) ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว  'สุทธิเทพ' คดี ม.112-พ.ร.บ.คอม เหตุแชร์โพสต์เพจเยาวชนปลดแอก ในชั้นสอบสวน ด้วยวงเงินประกัน 90,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามใช้สื่อสังคมออนไลน์ดูหมิ่นผู้ใด โดยศาลนัดรายงานตัวอีกครั้ง 28 พ.ค. 2564 เวลา 08.30 น.​

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 ได้รับแจ้งเหตุว่า สุทธิเทพ (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี ถูกเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เข้าจับกุมในห้างสรรพสินค้าย่านรามอินทราตามหมายจับของศาลอาญา และควบคุมตัวมาที่ บก.ปอท. เพื่อแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3) จากเหตุแชร์โพสต์เพจเยาวชนปลดแอก  ก่อนนำตัวขอศาลอาญาฝากขังในวันที่ 10 เม.ย. 2564

เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมนำโดย พ.ต.ต.พิเชต ชมมณฑา สว.กก.2 กองบังคับการปราบปราม และ พ.ต.ต.กิตติพงศ์ อมฤตโอฬาร จากกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กก.3 บก.ปอท.) เข้าจับกุม “สุทธิเทพ” ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 498/2564 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2564 ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

สุทธิเทพถูกควบคุมตัวไปที่กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม (กก.2 บก.ป.) เพื่อทำบันทึกจับกุมและบันทึกตรวจยึด 

ในบันทึกการจับกุมบรรยายพฤติการณ์ในการจับกุมว่า “เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุม ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ออกสืบสวนติดตามจับกุมบุคคลตามหมายจับดังกล่าว และได้รับข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ จนทราบว่าผู้ถูกจับได้มาทํางานอยู่ใกล้เคียงบริเวณสถานที่จับกุม” 

“ต่อมาวันนี้ 9 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 11.30 น. จึงได้เดินทางไปสังเกตการณ์เพื่อทําการจับกุม จนกระทั่งพบผู้ถูกจับ มีตําหนิรูปพรรณตรงกับผู้กระทําความผิดตามหมายจับ จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตํารวจและแสดงหมายจับให้ผู้ถูกจับดูจนเป็นที่พอใจแล้ว และผู้ถูกจับให้การยอมรับว่าตนเองเป็นบุคคลคนเดียวกับบุคคลตามหมายจับนี้จริง และยังไม่เคยถูกจับในหมายจับนี้มาก่อน เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับและสิทธิของ ผู้ถูกจับให้ทราบและแจ้งว่าต้องถูกจับ โดยผู้ถูกจับไม่ขอให้การในชั้นจับกุม”

ตำรวจชุดจับกุมยังได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของสุทธิเทพไปจำนวน 1 เครื่อง พร้อมซิมการ์ดไว้เป็นของกลาง

หลังทำบันทึกจับกุมเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวสุทธิเทพมาที่ กก.3 บก.ปอท. เพื่อแจ้ง 2 ข้อหา ได้แก่  ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3) 

โดยข้อความที่ถูกกล่าวหา คือ โพสต์ที่แชร์มาจากเพจ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 พร้อมข้อความวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และปรากฏข้อความบางส่วนว่า “ถ้าวิจารณ์เจ้าแล้วตกนรก กูยอมตกนรก […ข้อความวิจารณ์สถาบันกษัตริย์…]” และมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้แจ้งความ

สุทธิเทพให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และถูกควบคุมตัวไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง ในคืนนี้ ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังในวันที่ 10 เม.ย. 2564 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่เริ่มกลับมาบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดอย่างน้อย 85 ราย ใน 78 คดี และนับเป็นคดีที่ 8 ที่มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ

กรณีของสุทธิเทพเป็นกรณีที่ 13 ที่ศาลออกหมายจับ แม้แนวทางการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่ผ่านมา ศาลอาญาเคยปฏิเสธพนักงานสอบสวนที่ขอออกหมายจับในข้อหานี้มาแล้ว

ไม่ให้ประกันคดี ม.112 กลุ่มราษฎร ทั้ง 4 คดี ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 ว่าที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความและนายประกันได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว อานนท์ นําภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงศ์ และ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ 

โดยทนายและครอบครัวได้ยื่นประกันตัวจำเลยและผู้ต้องหาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  112 ด้วยเงินสดคนละ 200,000 บาท โดยแบ่งเป็นคดีชุมนุม  #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร สำหรับอานนท์, ปนัสยา, ภาณุพงศ์, พริษฐ์  และคดีจากการชุมนุม #Mobfest เมื่อ 14 พ.ย. 2563 สำหรับพริษฐ์ ทั้งสองคดีอยู่ในชั้นระหว่างพิจารณาคดี หลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 9 ก.พ. และ 8 มี.ค. 2563 

อีกคดีหนึ่ง คือ คดีมาตรา 112 กรณีชูเกียรติถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษบนรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกาในการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ของกลุ่ม “REDEM” และคดีวางเพลิงเผารูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ของไชยอมร โดยทั้งสองคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน

นอกจากนี้ ไชยอมรยังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีชุมนุม 19 ก.ย. 2563 โดยทนายและครอบครัวยื่นประกันด้วยเงินสด 35,000 บาท พร้อมเงื่อนไขขอติดกำไลข้อเท้าอิเล็คทรอนิกส์ (EM) เนื่องจากไชยอมรถูกฟ้องในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และ “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 215 เป็นข้อหาหลัก 

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของกลุ่มราษฎรทั้งหมด โดยระบุเหตุผลว่า ศาลเคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง โดยคำสั่งนี้มี นายสันติ บุตรดี ผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นผู้ลงนาม

อานนท์, พริษฐ์, ปนัสยา และภาณุพงศ์ ได้ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” มาตรา 112 และ “ยุยงปลุกปั่น” มาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งข้อหาอื่นๆ อีกหลายข้อหา สืบเนื่องมาจากกรณีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง โดยอานนท์และพริษฐ์ได้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นเวลาทั้งหมด 60 วัน นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ส่วนปนัสยาและภาณุพงศ์ถูกคุมขังมาแล้ว 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2564 

ทั้งนี้ พริษฐ์ยังถูกฟ้องและคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในคดีมาตรา 112 จากการ ชุมนุม #Mobfest เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563 ทนายความและครอบครัวได้ยื่นประกันในคดีนี้ด้วยเช่นกัน

การยื่นประกันครั้งนี้นับเป็นการยื่นประกันครั้งที่ 6 สำหรับอานนท์ และครั้งที่ 7 สำหรับพริษฐ์ในทั้ง 2 คดี และครั้งที่ 4 สำหรับปนัสยา ส่วนภาณุพงศ์นั้นนับเป็นครั้งที่ 3 โดยในกรณีของอานนท์และพริษฐ์ ทนายความเคยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลชั้นต้นมาแล้วทั้งหมด 2 ครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์ก็ให้เหตุผลเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” 

สำหรับคดีมาตรา 112 กรณีแปะกระดาษบนรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา ในการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ของกลุ่ม “REDEM” ชูเกียรติถูกฝากขังในชั้นสอบสวนตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 64 ทำให้เขาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นเวลาทั้งหมด 17 วัน และการยื่นประกันครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว

สำหรับไชยอมร ถูกคุมขังในชั้นสอบสวนในคดีวางเพลิงเผารูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยเช้านี้ ทนายความและมารดาของไชยอมรได้ยื่นคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว และวางเงินสดเป็นหลักทรัพย์ประกันจำนวน 200,000 บาท และ 35,000 บาท ตามลำดับ พร้อมกับยื่นเงื่อนไขขอติดกำไลข้อเท้าอิเล็คทรอนิกส์ (EM) ในคดีวางเพลิงเผารูป พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวด้วย 

สำหรับคดีแรก กรณีเผารูปพระบรมฉายาลักษณ์ แอมมี่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทั้งหมด 3 ข้อหา ได้แก่ กระทำผิดฐานร่วมกัน “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, “วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 และ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ส่วนคดีที่สอง   #ชุมนุม19กันยาทวงคืนอำนาจ  อัยการฟ้องไชยอมรในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และ “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 215 เป็นข้อหาหลัก เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 

ต่อมา เมื่อเวลา 14.43 น. ศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแอมมี่ใน 2 คดี ทั้งคดีเผารูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และคดีชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง 

โดยศาลระบุเหตุผลคล้ายคลึงกับคดีอื่นว่า พิเคราะห์แล้วว่าศาลเคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง โดยคำสั่งนี้มี นายสันติ บุตรดี ผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นผู้ลงนาม 

แม้ว่าทนายความได้ยื่นคำร้องประกอบขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 2 คดี ชี้ว่าไชยอมรมีโรคประจำตัว คือ โรคกระจกตาโป่งพองหรือกระจกตาย้วย ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง และตามหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักร ได้ย้ำถึงสิทธิการได้รับสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

เปิดคำร้องประกอบขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ 3 ของไชยอมร คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร 

1. มารดาของไชยอมรได้ขอติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำไลข้อเท้า (EM) และวางเงินสดจำนวน 35,000 บาทเป็นหลักประกัน หลักประกันนี้มีความน่าเชื่อถือมากพอที่จะช่วยยืนยันว่า ไชยอมรจะไม่หลบหนี เข้าไปพัวพันกับพยานหลักฐาน ก่อเหตุอันตราย หรือสร้างอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
2. มารดาของไชยอมรยื่นคำร้องขอปล่อยตัว เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาคดี มีเหตุผลข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลง อาจนำไปสู่การอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากศาลได้ตรวจพยานหลักฐานของทั้งโจทก์และจำเลย พบว่าไชยอมรไม่มีพฤติการณ์ร้ายแรง และเขาเหลือเพียงแต่การสืบพยานเท่านั้น การคุมขังไชยอมรจนกว่าจะถึงชั้นของการสืบพยานทำให้เขาอยู่ในเรือนจำนานเกินไป นอกจากนี้ ในวันที่ 7 เม.ย. 2564 ไชยอมรได้แถลงต่อศาลแล้วว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขสำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวทุกประการ ประกอบด้วยการยอมติดเครื่องติดตามกำไลข้อเท้า (EM) 
3. ไชยอมรมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีทั้งประวัติอาชญากรรมมาก่อน ทั้งความสามารถในการยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือก่อภยันตรายใดใดได้ ด้วยเหตุนี้ ไชยอมรควรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาล 
4. ไชยอมรประกอบอาชีพรับจ้างร้องเพลงดูแลครอบครัว หากไม่ได้รับการปล่อยตัว จะสร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัวของจำเลยอย่างยิ่ง 
5. ไชยอมรไม่เคยแสดงพฤติกรรมว่าจะหลบหนี ที่ผ่านมาเขาเดินทางไปตามนัดของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทุกครั้ง นอกจากนี้โจทก์ยังไม่ได้ยื่นคัดค้านการประตัว และเป็นผู้ครอบครองพยานหลักฐานในคดีตั้งแต่แรก ไชยอมรไม่สามารถเข้าไปสร้างอุปสรรคใด ๆ ต่อการพิจารณาของศาลได้
6. ไชยอมรเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิด ยังไม่ได้ถูกพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดจริง เขาจำเป็นต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อใช้สิทธิและเสรีภาพในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ สำหรับคดีการเมืองอื่น ๆ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผิดจริง ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว การอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเช่นนี้เป็นการสร้างบรรทัดฐานในการรักษาสิทธิของพลเมือง
7. ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และมาตรา 29 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย ไชยอมรมีสิทธิที่จะถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และต้องได้รับการคุ้มครองปกป้องสิทธิจากศาล เพื่อมิให้รัฐล่วงละเมิดประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้ นอกจากนี้มาตรา 107 และ 108/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังระบุว่า “จำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว” และ “การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควร” ทำให้ไชยอมรพึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาล

เปิดคำร้องประกอบขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ 6 ของไชยอมร คดีเผารูปพระบรมฉายาลักษณ์ 

1. มารดาของไชยอมรได้ขอติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำไลข้อเท้า (EM) และวางเงินสดจำนวน 200,000  บาท
2. มารดาของไชยอมรยื่นคำร้องขอปล่อยตัว เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาคดี มีเหตุผลข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลง อาจนำไปสู่การอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนหน้านี้ไชยอมรได้แถลงต่อศาลว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขสำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวทุกประการ ประกอบด้วยการยอมติดเครื่องติดตามกำไลข้อเท้า (EM) 
3. ไชยอมรยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่พนักงานสอบสวนกล่าวหายังไม่ถูกพิสูจน์ว่าจริง และไม่ได้มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรงหรือเป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ที่ผ่านมา ไชยอมรไม่เคยปราศัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์
4. ไชยอมรมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และไม่ได้แสดงพฤติกรรมหลบหนีหรืออำพรางตน ที่ผ่านมาไชยอมรเดินทางในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย โดยเขาเข้าพักรักษาที่โรงพยาบาลพระรามเก้าตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 2 มี.ค. และออกมาพักฟื้นร่างกายที่จังหวัดอยุธยา โดยไม่มีการปกปิดตัวตน
5. ไชยอมรมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีทั้งประวัติอาชญากรรมมาก่อน ทั้งความสามารถในการยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือก่อภยันตรายใดใดได้ ด้วยเหตุนี้ ไชยอมรควรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาล
6. ไชยอมรประกอบอาชีพรับจ้างร้องเพลงดูแลครอบครัว หากไม่ได้รับการปล่อยตัว จะสร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัวของจำเลยอย่างยิ่ง ก่อนหน้านี้ ไชยอมรมีโรคกระจกตาโป่งพองหรือกระจกตาย้วย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ความสามารถในการมองเห็นของไชยอมรจะได้รับผลกระทบอย่างมาก
7. ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และมาตรา 29 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย ไชยอมรมีสิทธิที่จะถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวถือว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
8. หากไชยอมรไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในครั้งนี้ จะทําให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากอันไม่อาจเยียวยาในภายหลังได้ โดยอาจประสบความทุบพลภาพตลอดชีวิตหากไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที 

ทั้งนี้ ไชยอมรถูกฝากขังในชั้นสอบสวนที่เรือนจำพิเศษธนบุรี โดยไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 2564 นับเป็นเวลาทั้งหมด 36 วัน แม้ก่อนหน้านี้ได้ยื่นขอคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีวางเพลิงเผาทรัพย์มาแล้วถึง 5 ครั้ง และยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อีก 2 ครั้ง ถ้าหากนับการยื่นประกันตัวครั้งนี้ จะนับเป็นการยื่นประกันครั้งที่ 6 และครั้งที่ 3 ตามลำดับ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท