Skip to main content
sharethis

สื่อต่างประเทศรายงานเรื่องที่พม่ากำลังเร่งเครื่องเข้าสู่สภาวะสงครามกลางเมืองยากจะหลีก "ในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน" หลังจากที่กองทัพพม่าหรือทัตมะตอว์ใช้กำลังปราบปรามสังหารประชาชนอย่างต่อเนื่องจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในหลายพื้นที่

สื่อลอสแองเจลิสไทม์ รายงานเรื่องเกี่ยวกับนักศึกษาหญิงชาวพม่าอายุ 26 ปี ที่ยอมละทิ้งอนาคตที่อยากจะไปศึกษาต่อต่างประเทศของตัวเอง แล้วหันไปเข้าป่าจับปืนร่วมกับกลุ่มกบฏเพื่อต่อสู้โค่นล้มเผด็จการทหารในประเทศซึ่งกำลังเดินหน้าเข้าสู่สภาวะสงครามกลางเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

หญิงนักศึกษาชาวเชื้อสายพม่าผู้นี้ต้องการจับปืนสู้รบร่วมกับกองกำลังชาติพันธุ์เธอบอกว่า เธอต้องการจะกำจัดกองทัพทัตมะตอว์และการปกครองเผด็จการของพวกเขา เธอไม่กลัวการสู้รบเธอบอกว่า "ฉันเตรียมใจพร้อมจะตายเอาไว้แล้ว"

ถึงแม้ว่าพม่าจะมีเหตุการณ์ที่กองกำลังรัฐบาลกลางสู้รบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์มาเป็นเวลามากกว่า 70 ปี แล้ว และมีความบาดหมางแบ่งแยกทางชาติพันธุ์เกิดขึ้น นับตั้งแต่หลังพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษเกินหนึ่งศตวรรษแล้วตามมาด้วยการตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลาอีกหลายสิบปี แต่ถึงกระนั้นความขัดแย้งก็

แอลเอไทม์ระบุว่าการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมาตามมาด้วยการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมโดยกองกำลังความมั่นคง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวมมากกว่า 600 รายแล้ว มีความไม่พอใจกลุ่มนายพลระดับสูงในพม่าทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่าสามารถรวมกลุ่มกันได้เพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร

หมู่บ้านของชาวชีนในทางตะวันตกของพม่าใกล้กับอินเดียมีคนใช้ระเบิดทำมือโจมตีใส่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กลุ่มกบฏชาวกะเหรี่ยงในทางตะวันออกยอมรับคำเรียกร้องของกลุ่มรัฐบาลพลเรือนที่ถูกรัฐประหารในการจัดตั้งกองกำลังสหพันธรัฐเพื่อต่อสู้กับกองทัพทัตมะตอว์ กลุ่มผู้ประท้วงเชื้อชาติพม่าในย่านใจกลางเมืองก็เริ่มละทิ้งความคิดที่จะประท้วงอย่างสันติอีกต่อไป แล้วหันมาหาวิธีการลุกฮือขึ้นต่อสู้ด้วยอาวุธ

คริสตีน ชราเนอร์ เบอร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าพม่ากำลังเข้าใกล้กับ "สงครามกลางเมืองในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" และ "การนองเลือด" ใกล้เข้ามาทุกขณะ

คนทำงานให้ความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมเริ่มเตรียมรับมือกับผู้ลี้ภัยจำนวนมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้ เศรษฐกิจผุพัง มีการปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยรัฐบาลทำให้ประชาชนหลายล้านคนไม่สามารถเข้าถึงได้

ประชาคมนานาชาติยังแสดงความกลัวว่าความขัดแย้งนี้อาจจะกลายเป็นความบาดหมางทางการทูตระหว่างประเทศมหาอำนาจต่างๆ อย่างจีน, อินเดีย, รัสเซีย และสหรัฐฯ ในเรื่องความชอบธรรมในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่รัฐในกลุ่มสมาชิกอาเซียนอย่างสิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไทย และพม่าเอง อาจจะต้องอาศัยประเทศเหล่านี้ในการโน้มน้าวให้เผด็จการทหารยอมจำนน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เพิ่มการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมอัญมณีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักๆ แหล่งหนึ่งของพม่า โดยที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน แถลงว่าการคว่ำบาตรนี้จะเป็นการส่งสัญญาณต่อเผด็จการทหารว่าสหรัฐฯ จะเพิ่มการกดดันต่อแหล่งรายได้ของเผด็จการจนกว่าจะหยุดใช้ความรุนแรง หยุดจับกุมผู้คนโดยปราศจากความชอบธรรม และยกเลิกกฎอัยการศึก รวมถึงคืนประชาธิปไตยให้พม่า

แต่กองทัพพม่าหรือทัตมะตอว์ก็ดูจะไม่มีทีท่าว่าจะเลิกใช้กำลังอย่างโหดเหี้ยมต่อผู้ต่อต้านจนแอลเอไทม์ระบุว่าพวกเขาอาจจะกลายเป็นผู้ที่ "ปกครองอยู่ภายใต้ดินแดนรกร้างของเมืองที่พินาศย่อยยับและหมู่บ้านที่พังทลาย"

กองทัพพม่าก่อเหตุรุนแรงแม้กระทั่งเหยื่อที่เป็นเด็กหลายสิบราย ใช้วิธีการแบบสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนทั้งการบุกกวาดล้างช่วงกลางคืน มีการเผาผู้ประท้วงทั้งเป็น ทุบตีจนเสียชีวิต ทารุณกรรมนักโทษด้วยการเผารอยสักรูปอองซานซูจีออกขณะที่คุมขังพวกเขาอยู่ในห้องขัง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ใช้อาวุธหนักอย่างปืนกลและจรวด

อย่างไรก็ตามมีประชาชนบางส่วนที่โต้ตอบการใช้กำลังอย่างโหดเหี้ยมของเจ้าหน้าที่ด้วยการต่อสู้กลับด้วยอาวุธผืนล่าสัตว์ส่งผลให้มีทหารเสียชีวิต 4 ราย บ้างก็มีการโจมตีด้วยอาวุธระเบิดทำมือ เมื่อมีกำลังเสริมจากกองทัพรัฐบาลกลางเข้าไปในพื้นที่ยิงกระหน่ำใส่ฐานที่มั่นฝ่ายพลเรือนกระสุนนับพันนัดเพื่อสลายการชุมนุม ทำให้ฝ่ายพลเรือนแตกกระเจิงแต่ก็กลับมารวมกลุ่มใหม่อีกครั้งหลังจากนั้น

ประชาชนรายหนึ่งใน Tamu เปิดเผยว่าพวกเขาฝ่าการบล็อกอินเทอร์เน็ตของเผด็จการทหารด้วยวิธีการซื้อซิมจากอินเดียที่อยู่ใกล้ๆ กันมาใช้ เขาบอกอีกว่าประชาชนจะลุกขึ้นต่อต้านทัตมะตอว์มากขึ้นเรื่อยๆ การที่ผู้คนหาวิธีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีอื่นยังคงทำให้ผู้คนเห็นความโหดร้ายของกองทัพทัตมะตอว์ได้จากทางเฟซบุ๊ก และเรื่องนี้ก็ทำให้เกิดการรวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่อต้านเผด็จการไปด้วยกัน

สื่อต่างประเทศยังรายงานเกี่ยวกับพื้นหลังความขัดแย้งชาติพันธุ์ในพม่าก่อนหน้านี้ที่กินเวลายาวนาน ซึ่งชาวพม่าหรือ Bamar เป็นกลุ่มประชากรคนส่วนใหญ่ของประเทศร้อยละ 68 มักจะมีอำนาจนำทางการเมืองและการทหารในประเทศ ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น ชาวไทใหญ่, กะเหรี่ยง, คะฉิ่น รวมถึงชาวโรฮิงญาถูกกีดกันให้กลายเป็นชายขอบ รวมถึงมีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นกับกลุ่มชาวโรฮิงญาจากน้ำมือของทัตมะตอว์เมื่อหลายปีที่ผ่านมา

ในช่วงที่มีการปฏิรูปให้พม่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้นมีความพยายามหยุดยั้งสงครามกับกลุ่มชาติพันธุ์ตามชายแดนที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงมองว่าอองซานซูจีและพรรคเอ็นแอลดีเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของชาติพันธุ์พม่า ดูจากกรณีที่ไม่ยินดียินร้ายต่อการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

แต่การรัฐประหารที่เกิดขึ้่นก็เปลี่ยนแปลงพลวัตความสัมพันธ์นี้ โดยที่กลุ่มคณะกรรมการผู้แทน Pyidaungsu Hluttaw (CRPH) ซึ่งเป็นกลุ่มที่นักการเมืองพรรคเอ็นแอลดีตั้งขึ้นเพื่อท้าทายความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร พวกเขาประกาศว่ารัฐธรรมนูญที่กองทัพหนุนหลังเป็นโมฆะและมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของตัวเองที่มีการสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ยอมรับเรื่องการให้สิทธิปกครองตนเองที่มากขึ้นรวมถึงมีการจัดให้กองทัพของประเทศต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง

นอกจากนี้กลุ่ม CRPH ยังเสนอให้มีการจัดตั้งกองทัพสหพันธรัฐ ซึ่งจะเป็นกองทัพแนวร่วมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร ทำให้เผด็จการทหารมองว่าเป็นการ "ประกาศสงคราม" ต่อพวกเขา มีเจ้าหน้าที่ทางการที่ไม่ประสงค์ออกนามในพม่าบอกว่าถ้าสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นจริงก็อาจจะเกิดความชุลมุนในเรื่องขั้วอำนาจแม้แต่ในฝ่ายของทัตมะตอว์เอง ซึ่งบางส่วนอาจจะอยากแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แต่ที่น่ากังวลคือบางส่วนที่อยู่ในระดับผู้บัญชาการประจำพื้นที่อาจจะตั้งตนเป็นผู้นำทหารอิสระที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายใดเสียเอง

ทั้งนี้ยังมีการประเมินกำลังแล้วว่า ต่อให้กลุ่มองค์กรกบฏ 20 กลุ่มรวมตัวกันก็อาจจะยังยากที่จะสร้างความเสียหายอย่างจริงจังต่อเผด็จการทหารได้ เป็นเพราะเรื่องเทคโนโลยีของอาวุธและลักษณะที่ทัตมะตอว์เป็นกองทัพสมัยใหม่ที่ได้รับอาวุธจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย, จีน, อินเดีย, เกาหลีเหนือ และอิสราเอล ขณะที่ฝ่ายกบฏส่วนใหญ่แล้วเป็นกองกำลังติดอาวุธเบาและถูกฝึกซ้อมแบบเน้นป้องกันเขตแดนกับเน้นทำลายขวัญกองกำลังความมั่นคงด้วยการบุกปล้นสะดมจุดเล็กๆ มากกว่า ส่วนกองกำลังที่มีโอกาสจะต่อต้านทัตมะตอว์ได้คือ "กองทัพรวมแห่งรัฐว้า" (United Wa State Army) ที่มีสายสัมพันธ์กับจีนแต่ก็ไม่ได้เป็นกลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหาร

ในอีกมุมหนึ่ง กลุ่มกบฏชาติพันธุ์ก็รู้สึกว่าการที่กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยและพรรคเอ็นแอลดีหนีมาขอหลบภัยและต้องการเข้าร่วมกับพวกเขาทำให้เกิดขวัญกำลังใจ อีกทั้งยังกลายเป็นกำลังในการอาสาสมัครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแนวทางพลาธิการขนส่ง การเปิดโรงเรียน กลุ่มคนที่หนีเข้าป่าไปเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏยังประกอบไปด้วยคนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งข้าราชการ, หมอ หรือแม้กระทั่งตำรวจเอง

ผู้ก่อตั้งกลุ่มด้านมนุษยธรรมฟรีเบอร์มาเรนเจอร์ เดวิด ยูแบงค์ พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงในช่วงที่ผ่านมาทัตมะตอว์ได้ใช้กำลังทิ้งระเบิดสังหารชาวบ้านอย่างน้อย 14 รายและทำให้มีผู้เสียชีวิต 40 ราย ชาวบ้านอีกมากกว่า 20,000 ราย ต้องหนีเข้าไปซ่อนในป่า ความเสี่ยงถูกระเบิดทั้งทางอากาศและทางปืนใหญ่จากกองทัพทัตมะตอว์ยังทำให้ชาวบ้านไม่สามารถไปทำนาได้ อาจจะทำให้พวกเขาไม่สามารถปลูกนาได้ทันเวลา

อย่างไรก็ตามยูแบงค์ระบุว่าถึงแม้กลุ่มกบฏเหล่านี้จะเสียเปรียบในด้านยุทโธปกรณ์ แต่พวกเขาก็มีความได้เปรียบทางด้านความเชี่ยวชาญทางพื้นที่ป่าและความตั้งใจแรงกล้าในการต่อสู้ ในขณะที่ทัตมะตอว์เป็นทหารราบที่มักจะได้รับการเลี้ยงดูไม่ดีพอและถูกปฏิบัติแย่ๆ จากผู้บังคับบัญชา

ยูแบงค์กล่าวอีกว่ากองทัพเผด็จการพม่าหรือทัตมะตอว์นั้นเป็นพวกที่ไม่มีอุดมการณ์อะไรเลย "พวกนั้นต่างจากไอซิส ต่างจากนาซี ต่างจากกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น(ในสงครามโลกในครั้งที่ 2-ผู้เรียบเรียง) พวกนั้นเป็นได้แต่มาเฟียใหญ่ นั่นทำให้เป็นเรื่องยากมากที่หน่วยรบต่างๆ จะรักษาปฏิบัติการเอาไว้ได้ ไม่มีใครหรอกที่อยากจะตายเพื่อคำโกหกหลอกลวง"

เรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net