'เพื่อไทย-ก้าวไกล' จี้ถามรัฐบาลรับมือแก้โควิด-ปัญหาเศรษฐกิจ-จริยธรรมนักการเมือง

  • COVID-19 วันที่ 12 เม.ย. พบผู้ป่วยรายใหม่ 985 ราย มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 570,052 ราย
  • 'เพื่อไทย' ทวงจริยธรรมนักการเมือง-ข้าราชการ ห่วงพิษโควิดทำเศรษฐกิจทรุดหนัก
  • วิโรจน์ ก้าวไกล จี้อนุทินตอบคำถามหมอรพ.ดัง ทำไมไทยมีแต่วัคซีนแก้เขิน ไม่แก้โควิด 
  • ‘ศิริกัญญา’ เช็คกระเป๋าตังค์รัฐบาล รับมือ ‘ระบาดระลอกใหม่’ ชี้ แผนฟื้นฟู- กระตุ้นเศรษฐกิจหลุดเป้ากระจาย 

12 เม.ย.2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศประจำวันที่ 12 เม.ย.นี้ว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 985 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 33,610 ราย หายป่วยเพิ่ม 34 สะสมแล้ว 28,248 ราย เสียชีวิตสะสม 97 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 5,265 ราย

ระหว่างวันที่ 28 ก.พ. – 11 เม.ย. 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 570,052 ราย โดย วันที่ 11 เม.ย. 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 12,834 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 1,822 ราย

'เพื่อไทย' ทวงจริยธรรมนักการเมือง-ข้าราชการ 

อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์ทองหล่อ และได้แพร่กระจายไปหลายจังหวัด สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะผู้มีอำนาจหละหลวมไม่ทำตัวให้เป็นแบบอย่างในการป้องกันตนเองจากโรคระบาด โดยเฉพาะการสั่งจำคุกผู้จัดการคลับย่านทองหล่อ 2 เดือน เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ยังหาผู้กระทำผิดทั้งเจ้าของผับตัวจริงและเจ้าหน้าที่รัฐที่ปล่อยปละละเลยให้เปิดบริการเกินเวลาไม่ได้ ทั้งที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์เคยอ้างว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 60 เพื่อให้นักการเมืองเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ขณะเดียวกันยังมี พ.ร.บ มาตรฐานจริยธรรม พ.ศ.2562 เพื่อเป็นหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการ พนักงานราชการ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส) และยังมี พ.ร.บ.มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ซึ่งบังคับใช้ครอบคลุม ส.ส. ,ส.ว. และ ครม. ในหมวด 3 ข้อ 21 ระบุว่า ต้องยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ แต่นักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กลับทำตรงข้าม ไปสถานบันเทิงที่ไม่มีการควบคุมโรคที่ดีพอ จนเกิดการระบาดอีกครั้ง สร้างความเสียหายให้กับประชาชน คนตกงานเพิ่ม ท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์เงียบสงัด รายได้หดหาย กลับไม่มีความรับผิดชอบใดๆ ยังลอยนวลพ้นผิด เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่ากฎหมายถูกเลือกใช้กับประชาชนตัวเล็กตัวน้อยและฝั่งตรงข้ามรัฐบาลใช่หรือไม่

แฟ้มภาพ

“คนระดับบนต่อให้ป่วยติดเชื้อโควิดก็ยังมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะดูแลรักษาตัวเอง แต่คนหาเช้ากินค่ำได้รับผลกระทบเต็มๆ ท่านรับผิดชอบชีวิตพวกเขาไหวหรือไม่” โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว 

ห่วงพิษโควิดทำเศรษฐกิจทรุดหนัก

กฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส. หนองคาย อดีตรองเลขาสภาอุตสาหกรรม และ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้จะยังคงหดตัวติดลบ ทั้งที่ไตรมาสแรกของปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยได้ติดลบแล้วถึง -1.8% แสดงถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทย ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอื่นในปีนี้ต่างขยายตัวกันหมด ซึ่งสะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจซ้ำซ้อนของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อีกทั้งในไตรมาสสองนี้แทนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เพิ่มก็ต้องมาเจอกับการระบาดของไวรัสโควิดระลอก 3 ซึ่งทำท่าจะรุนแรงกว่า 2 ครั้งแรก และยังเป็นไวรัสสายพันธุ์อังกฤษทึ่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิมถึง 1.7 เท่า ซึ่งจะให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะไม่สามารถจะฟื้นตัวได้อย่างที่คาดหมายอีก และจะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่มีทางที่จะขยายตัวได้ 4 % ตามที่พลเอกประยุทธ์คุยโวไว้เองก่อนหน้านี้ แถมเศรษฐกิจไทยยังจะขยายตัวได้ต่ำเตี้ย และอาจจะถึงขนาดติดลบอีกได้ ถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดของไวรัสโควิดครั้งใหม่นี้ได้โดยเร็ว

จากข้อมูลที่ได้รับทราบว่า การระบาดครั้งนี้ เกิดมาจากแหล่งสถานบันเทิงในเขตทองหล่อที่ประชาชนเชื่อกันว่าน่าจะผู้ใหญ่ในรัฐบาลระดับรัฐมนตรีและอาจมีบางคนที่เป็นถึงรองนายกฯ ได้เข้าไปใช้บริการจนทำให้เกิดเป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ แต่คนที่เป็นข่าวต่างก็ได้ปฏิเสธ ทั้งที่มีคนออกมาเปิดเผยหลายคน รวมถึง สส. พรรคภูมิใจไทย ที่ย้ายไปจากพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้ยืนยันว่าได้ไปสถานที่บันเทิงดังกล่าวพร้อมกับรัฐมนตรีด้วย ผลกระทบทำให้รัฐมนตรีกว่า 10 คนต้องกักตัว และ ส.ส. อีกเกือบร้อยคนก็ต้องกักตัวเช่นกันซึ่งทำให้การบริหารประเทศ และ ระบบนิติบัญญัติต้องหยุดชะงัก

คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ระบุอีกว่า ยังมีนักการทูตระดับสูงของประเทศญี่ปุ่นที่มีข่าวว่าได้ติดไวรัสโควิดก็ยังออกมายอมรับเองว่าได้ติดไวรัสโควิดมาจากการไปสถานบันเทิงในบริเวณทองหล่อนี้ แต่ไม่ได้แจ้งว่าไปกับใครบ้าง ดังนั้น หากผู้ใหญ่ในรัฐบาลยังไม่ยอมสารภาพความจริงและต่อมาปรากฎภายหลังว่าได้มีการไปจริง จะทำให้เกิดความเสื่อมเสีย และเสียหายต่อความน่าเชื่อถืออย่างมาก โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในรัฐบาลที่ต้องดูแลเรื่องเศรษฐกิจทึ่ต้องการความน่าเชื่อถือในระดับสูง ซึ่งหากภายหลังพบว่ามีการไปจริง ทั้งที่เจ้าตัวปฏิเสธ จะทำให้หมดเครดิต ความน่าเชื่อถือจะไม่มีเหลืออีกต่อไป เพราะขนาดเรื่องแค่นี้ยังกล้าโกหก เรื่องอื่นๆคงไม่มีใครเชื่อแล้วว่าจะไม่โกหกกันอีก การบริหารประเทศเพื่อฟื้นเศรษฐกิจคงจะทำได้ยากหรือน่าจะทำไม่ได้เลย โดยชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้แถลงข่าวอย่างมั่นใจมากว่า มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลมากกว่า 1 คนไปสถานบันเทิงในเขตทองหล่อนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายไวรัส ขนาด นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองที่เป็นเข้าสถานบันเทิงนี้ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักครั้งนี้

วิโรจน์จี้อนุทินตอบคำถามหมอรพ.ดัง ทำไมไทยมีแต่วัคซีนแก้เขิน ไม่แก้โควิด 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. และโฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงกรณีที่อนุทินประกาศในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าวัคซีนซิโนแวคจากประเทศจีนล็อตล่าสุด 1 ล้านโดส เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ววันนี้ และจะเร่งแจกจ่ายให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด 

แฟ้มภาพ

วิโรจน์กล่าวว่า นายอนุทินรู้อยู่แก่ใจว่าการระบาดระลอกที่สามที่ไทยเผชิญอยู่นี้ เป็นการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ บี 117 ซึ่งมีผลการวิจัยออกมาแล้วว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ บี 117 เพียง 50% ซึ่งถือว่าต่ำมาก แต่ก็ยังจะฉีดวัคซีนเหล่านี้ให้กับประชาชน ทั้งที่ภารกิจที่รัฐบาลควรทำอย่างเร่งด่วนคือการแสวงหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพกว่านี้มาให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด

“สิ่งที่คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รู้อยู่แก่ใจอยู่แล้ว ก็คือ การระบาดในครั้งนี้ ที่เกิดขึ้นจาก "คลัสเตอร์ทองหล่อ" นั้นเป็นการระบาดของเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ (B117) สิ่งที่คุณอนุทินต้องหาข้อมูล และตอบประชาชนให้ได้เสียก่อน ก็คือ วัคซีน Sinovac นั้นมีประสิทธิภาพกับเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ มากน้อยขนาดไหน ไม่ใช่ได้มาแล้วก็ตะบี้ตะบันฉีด ไม่สนอีร้าค่าอีรม จะได้ประเมินประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนได้ถูก”

วิโรจน์ยังอ้างถึงความคิดเห็นของพญ.ขวัญปีใหม่ พะนอจันทร์ แพทย์โรงพยาบาลชื่อดังย่านทองหล่อ ซึ่งกำลังรับมือกับผู้ป่วยโควิดจำนวนมากจากการระบาดรอบล่าสุด ที่โพสต์ข้อความในกลุ่มเฟซบุ๊ก “เรียนรู้ สู้กับโควิด” ถึงประเด็นวัคซีนซิโนแวค โดยพญ.ขวัญปีใหม่ แนะนำว่าแม้การฉีดวัคซีนซิโนแวคจะดีกว่าการไม่มีวัคซีนเลย แต่ในฐานะแพทย์ อยากเห็นรัฐบาลเร่งนำเข้าวัคซีนประเภท mRNA เช่นของโมเดอร์นากับไฟเซอร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ บี 117 เพราะมีตัวอย่างของหลายประเทศที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว แต่ก็ยังเจอการระบาดซ้ำจากเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะชิลี ถึงแม้จะฉีดวัคซีนครอบคลุม 37% ของประชากร มากเป็นอันดับสองของโลกรองจากอิสราเอล โดย 93% ของวัคซีนที่ฉีดเป็นซิโนแวค แต่ก็ยังไม่พบว่าการระบาดลดลงเลย ในทางตรงข้ามกลับพบผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ

“ข้อสังเกตของคุณหมอขวัญปีใหม่ เป็นประเด็นที่สำคัญกับชีวิต และปากท้องของพี่น้องประชาชนอย่างมาก ซึ่งคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ต้องใส่ใจ และต้องหาคำตอบให้พี่น้องประชาชนอย่างเร็วที่สุด ว่าเป็นวัคซีนที่ประชาชนจะฝากความหวังเอาไว้ได้มากขนาดไหน จะแก้ปัญหาได้จริงไหม หรือเป็นแค่วัคซีนแก้เขิน แก้ขัด หรือเป็น "วัคซีนคนละครึ่ง" ที่ฉีดไปแล้วครึ่งหนึ่งได้ผล อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้ผล ตามที่ผมได้เคยเปรียบเปรยเอาไว้ เมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อครั้งที่ผ่านมา

เรื่องนี้คุณอนุทิน ต้องรีบตอบประชาชน ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เงียบ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต และปากท้องของประชาชน 67 ล้านคน ถ้าฉีด Sinovac ไปแล้ว ใช่ครับ ฉีดดีกว่าไม่ฉีด แต่ถ้าฉีดแล้วประสิทธิภาพในการป้องกันต่ำ กว่าจะรอ AstraZeneca ก็ต้องรอจนถึงมิถุนายน ถ้ามีข้อบ่งชี้บางประการว่าควรหลีกเลี่ยง ก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะมีวัคซีนชนิด mRNA อยู่ยี่ห้อเดียว แล้วจะทำอย่างไร แผนการที่จะเปิดการท่องเที่ยว เฟส 1 วันที่ 1 เม.ย. เฟส 2 วันที่ 1 ก.ค. พังพาบป่นปี้ไปแล้ว อย่าให้เศรษฐกิจ ปากท้อง และความหวังของประชาชน พังทลายไปมากกว่านี้เลยครับ”

วิโรจน์ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ทุกๆ ปัญหาที่ตนได้เตือนเอาไว้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกี่ยวกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน ทยอยเกิดขึ้นจริงๆ ประชาชน 67 ล้านคน ที่เดือดร้อนตกทุกข์ได้ยาก ถามจริงๆ ว่าคุณอนุทิน จะไปกราบอกขอโทษเขาทุกคนไหวหรือ ยอมรับเถอะว่ารัฐบาลนี้ บริหารจัดการวัคซีนได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป ไม่ใช่เอาแต่จะเถียงเพื่อเอาตัวรอด เอาแต่จะแถเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบ แล้วปล่อยให้ประชาชนรับกับวิบากของมันตามลำพังแบบนี้ ตราบใดที่ไม่ยอมรับ การแก้ไขก็ไม่มีวันเกิด ยอมรับ แล้วกลับเนื้อกลับตัวในตอนนี้ยังทัน ยอมรับแล้วแก้ไข ยังพอไหว ชีวิต และปากท้องของประชาชนสำคัญกว่าหน้าตาของอนุทินเยอะ 

‘ศิริกัญญา’ เช็คกระเป๋าตังค์รัฐบาล รับมือ ‘ระบาดระลอกใหม่’ ชี้ แผนฟื้นฟู- กระตุ้นเศรษฐกิจหลุดเป้ากระจาย 

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ประเมินความพร้อมในการรับมือสถานการณ์โควิด -19 ที่กำลังมีการระบาดระลอกใหม่ โดยระบุว่า ผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ทำให้เริ่มมีมาตรการหรือคำสั่งปิดสถานประกอบการออกมาเรื่อยๆ และคงตามมาด้วยการประกาศพื้นที่เสี่ยงในไม่ช้า หมายถึงผลกระทบต่อการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ปากท้องที่กำลังจะฟื้นกำลังจะกลับไปฟุบอีกครั้ง

แฟ้มภาพ

“หน้าตักตอนนี้รัฐบาลน่าจะมีเงินสำหรับเยียวยาอยู่ราว 342,000 ล้าน จากเงินกู้ 1 ล้านล้านราว 220,000  ล้านบาท และจากงบกลางอีกเกือบ 120,000 ล้านบาท ซึ่งเงินกู้ 1 ล้านล้าน ในส่วนแผนงานเยียวยา 600,000 ล้านบาทใช้ไปหมดแล้วในการระบาด 2 ระลอก ถ้าต้องเยียวยาอีกรอบ ต้องโยกงบฟื้นฟูที่ยังไม่ได้อนุมัติมาใช้ เหลืออยู่ 220,000 ล้านบาท แต่จริงๆ แล้วยังทบทวนงบฟื้นฟูได้อีกรอบ เพราะที่อนุมัติไปก็เบิกจ่ายได้ต่ำมาก ถ้าระงับโครงการตอนนี้ จะได้งบเพิ่มอีกเกือบ 70,000 ล้านบาท”

ศิริกัญญา ชี้ว่า ในการระบาดระลอกใหม่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รอบนี้เริ่มเร่งตัวขึ้นอีกครั้งจากหลากหลายคลัสเตอร์ โดยเฉพาะคลัสเตอร์ทองหล่อ ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ ณ วันที่ 10 เม.ย. เพิ่มเป็น 789 ราย  มีมาตรการหรือคำสั่งปิดสถานบันเทิงใน 41 จังหวัดทั่วประเทศ 22 จังหวัดประกาศให้ผู้ที่เดินทางจาก กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และนครปฐม ต้องกักตัว 14 วัน ศบค.ยังคงประวิงเวลาแต่การประกาศพื้นที่เสี่ยงคงมีขึ้นในไม่ช้า น่าจะทำให้เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ไม่คึกคัก ประชาชนยกเลิกแผนการเดินทางและท่องเที่ยว จึงต้องประเมินว่าหากสถานการณ์เลวร้ายและต้องเยียวยา รัฐบาลจะมีเงินพอหรือไม่

เริ่มจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่กำลังจะครบรอบ 1 ปีหลังจากการอนุมัติ มียอดการอนุมัติไปแล้วเกือบ 750,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 แผนงาน คือ แผนงานสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท อนุมัติไป 20,000 ล้านเศษ แต่เบิกจ่ายไปเพียง 5,000 ล้าน สำหรับแผนงานนี้ที่เบิกจ่ายล่าช้า เพราะโครงการส่วนใหญ่เพิ่งอนุมัติไปเมื่อเดือนมีนาคม โครงการใหญ่ๆ ได้แก่ ค่าตอบแทน อสม. 2,500 ล้านบาท และสมทบค่าใช้จ่ายให้โครงการ สปสช.หรือบัตรทอง 3,000 ล้านบาท

แผนงานที่ 2 แผนงานเยียวยาที่เคยตั้งไว้ 555,000 ล้านบาท ตอนนี้ขยายวงเงินเป็น 600,000 ล้านบาท และอนุมัติเกือบเต็มวงเงินแล้วที่ 596,000 ล้าน เพื่อรองรับการเยียวยาตั้งแต่ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ‘เราชนะ’ ‘ม.33 เรารักกัน’ และเติมเงินบัตรคนจน ก็คงไม่เหลือเงินสำหรับเยียวยาในรอบนี้

“แผนงานที่ 3 แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เคยตั้งวงเงินไว้ 400,000 ล้านบาท และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะมีการแบ่งเค้กกับ ส.ส. มีแต่โครงการตัดถนน ทำให้คณะกรรมการกลั่นกรองรับบทสุดเขี้ยว อนุมัติไปเพียง 1 ใน 3 อนุมัติว่าน้อยแล้ว เบิกจ่ายยิ่งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แผนงานย่อยพลิกฟื้นกิจกรรมเศรษฐกิจ ที่เคยขายฝันเกษตรอัจฉริยะ อุตสาหกรรม BCG ท่องเที่ยวเน้นคุณภาพ ได้อนุมัติไปเกือบ 30,000 ล้าน เบิกจ่ายไปไม่ถึง 5% ส่วน 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ 13,904 ล้าน อนุมัติไปตั้งแต่ 15 ก.ย. 63 เบิกจ่ายเป็น 0  โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ขายเรื่องเพิ่มการจ้างงาน 10,000 ล้าน เบิกจ่ายไป 1,134 ล้านบาท

“แผนงานย่อยฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน โครงการหลักคือ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ 2 เวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกทำโดยกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) งบเกือบ 5,000 ล้าน เบิกจ่ายไปได้ 486 ล้านบาท รายละเอียดโครงการเป็นการตั้งศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา 337 แห่ง แต่ไปโผล่ในค่ายทหาร 157 แห่ง  เวอร์ชั่น 2 ใช้ชื่อ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่ทำโคก หนอง นา เหมือนกัน เคยได้อนุมัติงบไปเกือบ 10,000 ล้าน แต่ทำไม่ไหว ลดลงมาเหลือ 3,550 ล้าน แต่สุดท้ายโครงการก็ยังไม่คืบหน้าเบิกจ่ายไปแค่ 229 ล้าน แผนงานนี้ยังมีส่วนที่แต่ละจังหวัดขอมา รวม 204 โครงการ เพิ่งเบิกจ่ายไปแค่ 50 โครงการ ที่เหลือยังไม่ได้เริ่มทำ แผนงานย่อยสุดท้าย แผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจ อนุมัติไปเกือบ 100,000 ล้านบาท ที่มาของงบโครงการ ‘คนละครึ่ง’ แบ่งเป็น 2 รอบ 52,500 ล้านบาท ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ 15,000 ล้านบาท แต่ก็มีโครงการที่แป้กอย่างโครงการ co-payment ของกระทรวงแรงงาน ที่อุดหนุนการจ้างเด็กจบใหม่ รัฐจ่ายให้ครึ่งนึง ที่อนุมัติงบเกือบ 20,000 ล้าน แต่เบิกจ่ายแค่ 200 ล้านบาท”

ศิริกัญญา ระบุว่า โดยสรุปสำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงยังเหลือเงินอีก 220,000 ล้านบาทยังไม่ได้อนุมัติ และสามารถโยกข้ามมาเป็นเงินเยียวยาได้ แต่ควรทบทวนโครงการเดิมที่เบิกจ่ายไม่ถึงไหน เพื่อปรับลดวงเงิน และนำมาโปะเป็นเงินเยียวยาได้อีก สำหรับงบประมาณก้อนสุดท้ายคือ งบกลาง จากที่ในปี 63 แฮชแท็ก #งบกลางหายไปไหน ติดอันดับเทรนด์ทวิตเตอร์ ปีนี้คงต้องเปลี่ยนเป็น #งบกลางมีทำไมไม่ใช้ จากที่ขอสภาไป 139,000 ล้านเศษ เพิ่งอนุมัติไป 20,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ไปกับการซื้อวัคซีน 11,600 ล้านเศษ  เท่ากับยังเหลืองบกลางอีกราว 120,000 ล้านบาท สามารถนำมาใช้เยียวยาได้อีก จึงฝากให้พี่น้องประชาชนส่งเสียงดังๆ อีกครั้ง ถ้ายังล้มเหลวในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ควรจัดงบใหม่มาเยียวยาปัญหาปากท้องเฉพาะหน้าประชาชนก่อน ประคับประคองให้ไม่ต้องมีใครเดือดร้อน อดตายจากมาตรการควบคุมโรคระบาดในปีนี้

เรียบเรียงจาก : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล, สำนักข่าวไทยและทีมสื่อพรรคก้าวไกล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท