Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

‘Collective’ คือภาพยนตร์เเนวสารคดีสืบสวนสอบสวน มีที่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศโรมาเนียเมื่อปี 2015 เริ่มจากอุบัติเหตุไฟไหม้ในผับที่ไม่มีทางหนีไฟ คร่าชีวิตผู้คนกว่า 60 คน มีบางส่วนที่เสียชีวิตหลังทำการรักษาในโรงพยาบาล

เมื่อนักข่าวสืบสาวถึงสาเหตุ ปมปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นรับสินบนใหญ่โตในวงการสาธารณสุขก็เปิดเผย เป็นเหตุให้ทั้งประเทศต้องพบเจอกับมรสุมทั้งด้านสาธารณสุข และด้านการบริการจัดการหน่วยงานของรัฐ นำมาสู่การประท้วงของประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนที่ต้องคอยรายงานข่าวท่ามกลางกระเเสกดดัน เเละขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงการเมืองไทยในปัจจุบัน

‘Collective’ กำกับโดย Alexander Nanau ผู้กำกับชาวเยอรมัน หนังเรื่องนี้เข้าฉายในเทศกาลหนังมากมาย ทั้งเทศกาลหนังเวนิซปี 2019, เทศกาลหนังนานาชาติโตรอนโต้ปี 2019 และถูกรับเลือกให้เป็นโปรแกรมหนังดาวเด่นในเทศกาลซันแดนซ์ปี 2020 ก่อนจะถูกฉายอย่างเป็นทางการในโรมาเนียในช่วงต้นปีเดียวกัน ซึ่งได้กระแสตอบรับชื่นชมอย่างล้นหลาม พร้อมกวาดรางวัลมาแล้วหลายสาขา ได้แก่ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากเวที European Film Awards ครั้งที่ 33 และ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งชาติในปี 2021

จากความสำเร็จเหล่านี้ ทำให้ Collective ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 2 สาขา คือ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม และสาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม ถือเป็นตัวแทนภาพยนตร์จากประเทศโรมาเนียเรื่องแรกที่ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลอันทรงเกียรตินี้

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรมาเนียถูกกองทัพเยอรมนีบุกยึดในปี 1940 ใน 4 ปีต่อมากองทัพโซเวียตได้ปลดปล่อยโรมาเนียให้เป็นอิสระจากกองทัพเยอรมัน ทำการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ เปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นคอมมิวนิสต์ และมีอำนาจเหนือโรมาเนียจนกระทั่งสงครามโลกสิ้นสุด

ต่อมาในปี 1989 ประชาชนชาวโรมาเนียทำการปฏิวัติโค่นล้มระบอบคอมมิวนิสต์ไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ และมีรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกในปี 1991

ปัจจุบันโรมาเนียปกครองด้วยรูปแบบสาธารณรัฐกึ่งประธานาธิบดี เป็น ‘รัฐเดี่ยว (unitary state)’ โดยรัฐบาลกลางมีอำนาจสูงสุด และเขตการบริหารใดๆ สามารถใช้อำนาจได้เฉพาะตามที่รัฐบาลกลางเลือกจะมอบหมายให้ทำการแทนเท่านั้น

การรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางนี้เองอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาสู่ปัญหา ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หยิบยกมา สะท้อนถึงกฎหมายที่แก้ยากและไม่อาจคุ้มครองประชาชน รวมถึงการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เพิกเฉยต่ออุบัติเหตุไฟไหม้และการเสียชีวิตของผู้ป่วยในเวลาต่อมา

หลังสื่อรายงานว่าคลับเเห่งนี้ไม่มีระบบดับเพลิง เหล่าประชาชนโกรธเกรี้ยวเเละลงถนนเพื่อประท้วงให้ทางหน่วยงานภาครัฐเเสดงความรับผิดชอบ นำไปสู่ความกดดันจนเกิดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ปรับเปลี่ยนรัฐบาลในการบริหาร

4 เดือนหลังจากเกิดโศกนาฏกรรม กลับมีเหยื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตายเพิ่มอีก 37 คน จากมาตรฐานทางการแพทย์ที่ตกต่ำ จากน้ำยาฆ่าเชื้อในโรงพยาบาลที่ถูกเจือจางลงถึง 10 เท่าเพื่อผลกำไร จนกระทั่งบุคลากรในโรงพยาบาลจะตัดสินใจเผยความจริงที่ตนได้เป็นประจักษ์พยานแก่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง นำมาสู่การเปิดโปงความฉ้อฉลครั้งมโหฬารของระบบสาธารณสุขและรัฐบาล ที่เดิมพันด้วยชีวิตของประชาชนเเละจริยธรรมของสื่อมวลชน

Collective สะท้อนถึงปัญหาด้านการเมืองของประเทศโรมาเนียได้เป็นอย่างดี และสามารถเทียบเคียงกับการเมืองในประเทศไทยได้หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่พยายามแถลงการณ์อย่างบิดเบือนเพื่อให้ได้คำตอบดูสวยหรูเกินความจริง หรือการใช้อำนาจปิดปากสื่อมวลชน รวมไปถึงการเกาะเกี่ยวกันของกลุ่มทุน รัฐ (รวมทั้งโรงพยาบาล) เพื่อผลประโยชน์โดยไม่สนใจชีวิตของพลเมือง

ท้ายสุดแม้จะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีคนใหม่พยายามจะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ระเบียบโครงสร้างการบริหารแบบเดิมที่ฟอนเฟะ แต่เขาก็ยังต้องสู้กับขั้วอำนาจของฝั่งรัฐบาล และซ้ำร้ายเหลือเกินที่ผลการเลือกตั้งอีกสมัยปรากฎว่าพรรครัฐบาลเป็นฝ่ายคว้าชัยอย่างถล่มทลาย

หนังจบลงด้วยการทิ้งให้เราเห็นความหวังที่ริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ แบบนั้น

Doc Club เสนอ "COLLECTIVE"
เข้าชิง 2 รางวัลออสการ์ปีนี้ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม และภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม!
(ตัวอย่างหนัง/Trailer : https://www.facebook.com/DocumentaryClubTH/posts/3726159907495141)
 เริ่มฉาย : จันทร์ 12 เม.ย. เป็นต้นไปที่ House Samyan
(ซื้อบัตรได้หน้าโรง หรือจองที่แอพ House Cinema และ https://www.housesamyan.com/site/Movie/detail/688)

 

สำหรับ ทิพากร เส้นเกษ ผู้รายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ เอกวารสารศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net