Skip to main content
sharethis

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสนอว่าเสรีภาพทางวิชาการผูกโยงอย่างแยกไม่ขาดกับระบอบการปกครอง หากระบอบการปกครองนั้นปิดกั้นเสรีภาพของผู้คน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเสรีภาพทางวิชาการ การจำกัดเสรีภาพทางวิชาการก็คือความต้องการให้ประชาชนโง่ต่อไป

จากงานเสวนาเนื่องในโอกาสตีพิมพ์วารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับ 80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนสยามยุคเปลี่ยนผัน ในหัวข้อเรื่อง ‘เสรีภาพทางวิชาการ ในสภาวะเสื่อมถอย’ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากร เสนอว่าเสรีทางวิชาการนั้นแยกไม่ออกจากระบอบการปกครอง หากระบอบการปกครองปิดกั้นเสรีภาพ ย่อมเป็นการยากที่จะมีเสรีภาพทางวิชาการเช่นกัน

จำกัดเสรีภาพทางวิชาการเพื่อให้เราโง่ต่อไป

เรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ผมคิดว่าเราควรต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามันคืออะไรในเบื้องต้น อาจารย์นิธิเคยเขียนหนังสือเรื่องการเมืองในสมัยกรุงธนบุรี ประเด็นในยุคเปลี่ยนแปลงจากธนบุรีมาสู่รัตนโกสินทร์ก็มีปัญหาทางประวัติศาสตร์ให้ค้นคว้ากันได้มาก เพราะเราไม่สามารถย้อนกลับไปในอดีตได้ ก็ต้องอาศัยนักวิชาการ อาศัยคนซึ่งใส่ใจศึกษาในด้านนี้ มีวิธีการทำงานที่เป็นระบบระเบียบมาพยายามตอบคำถามนี้ให้เรารู้

คำถามที่ถูกตอบอยู่ครั้งหนึ่งอาจจะไม่เป็นแบบนั้นตลอดไปก็ได้ ถ้าปรากฏหลักฐานใหม่มันก็จะเปลี่ยนแปลงความรับรู้ของเราที่มีอยู่กับ “ความจริงบางอย่างที่เราเชื่อกัน” โลกก็วิวัฒน์ไปเป็นแบบนี้ อันนี้คือตัวอย่างของการพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการซึ่งโดยเป้าหมายแล้วก็มุ่งแสวงหาความจริงในแต่ละศาสตร์ ก็จะมีแบบแผน มีวิธีการทำงานเพื่อมุ่งไปสู่ความจริงแตกต่างกันไป เป็นการแสวงหาความรู้เพื่อเราฉลาดขึ้น

การจำกัดเสรีภาพทางวิชาการก็จะแปลความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่าต้องการให้เราโง่อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือไม่ทำให้เราฉลาดขึ้นมา เพราะฉะนั้นเสรีภาพทางวิชาการต้องถือเป็นคุณค่าสำคัญอันหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย และโลกมันก็วิวัฒน์ไปไม่ได้ถ้าในสังคมการเมืองนั้นๆ ไม่ยอมรับให้มีเสรีภาพแบบนี้ดำรงอยู่

แน่นอนว่าต้องมีความพยายามอย่างจริงจังพอสมควร ซึ่งเห็นได้จากงานผมยกตัวอย่างงานที่มีปัญหาและถูกพูดถึงมากอยู่ในเวลานี้คืองานของท่านอาจารย์ณัฐพล ใจจริง เราก็เห็นความพยายามของอาจารย์ที่จะสร้างความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เห็นจากหนังสืออ้างอิงหรือการอ้างอิงปริมาณมาก อันนี้ฟ้องถึงรูปแบบการทำงานทางวิชาการอย่างหนึ่งเหมือนกัน นักวิชาการก็ทำงานกันในลักษณะแบบนี้

ทีนี้ถามว่ามันผิดได้ไหม ใครที่ใช้เสรีภาพทางวิชาการและรัฐจะคุ้มครองต้องไม่ปรากฏความผิดพลาดเกิดขึ้นในงานนั้นเลยหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับผลสรุปของการค้นคว้าบางอย่างไม่เกี่ยวอะไรกับเสรีภาพทางวิชาการ รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าวอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าผลของการค้นคว้ามาจะปรากฏว่ามันผิด เพราะถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่มีใครกล้าแสวงหาความรู้หรือเสนอความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาเลย เป็นแต่ว่าเมื่อมีการเสนอขึ้นมาแล้ว คนที่เขาเห็นว่าไม่ถูกก็มีเสรีภาพทางวิชาการในการทำงานวิชาการออกมาโต้แย้ง แล้วก็วินิจฉัยกันไปว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายถูก พัฒนาการความรู้ของมนุษย์ก็ดำเนินไปในลักษณะแบบนี้

กระบวนการอาจมีความผิดพลาดหรือบกพร่องอยู่หรือแม้แต่ผลที่ผิดพลาดออกมานั้นก็ไม่กระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการและรัฐก็มีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกัน

รัฐไทยไม่มีเจตจำนงจะให้เสรีภาพทางวิชาการ

ทีนี้ก็มีปัญหาต่อไปอีกเหมือนกันว่าการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการมีขอบเขตแค่ไหน ความจริงเรื่องนี้เป็นปัญหาอันหนึ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา คือตอนที่จะให้ผมมาพูดเรื่องนี้ผมก็ไปดูว่าเรามีการรับรองเสรีภาพทางวิชาการไว้ในทางกฎหมายหรือในทางรัฐธรรมนูญตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกที่รับรองเสรีภาพทางวิชาการคือรัฐธรรมนูญ 2517 แล้วก็หายไป กลับมาอีกทีหนึ่งในรัฐธรรมนูญ 2540 2550 และจนถึงปัจจุบันในมาตรา 34 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ

แต่ว่าตอนที่มีการพูดถึงการรับรองเสรีภาพทางวิชาการ ในขณะที่คำคำนี้ยังไม่มีใครรู้ว่ามีความหมายแน่นอนขนาดไหนในปี 2517 นั้นมีการอภิปรายการในชั้นของการทำรัฐธรรมนูญและมีการถกเถียงกันว่าควรมีการกำหนดขอบเขตเสรีภาพทางวิชาการหรือไม่ และพบว่าในการอภิปรายนั้นมีความเห็นต่างเป็น 2 ฝ่าย ความเห็นฝ่ายแรกคือความเห็นของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเห็นว่าไม่ต้องเขียนข้อจำกัดเอาไว้ เพราะมันถูกจำกัดอยู่แล้วโดยตัวของเสรีภาพนี้ อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นนักกฎหมายทั้งสิ้นเห็นว่าต้องจำกัดหรือต้องเขียนเอาไว้ เมื่อมีการโหวตกันฝ่ายทางด้านกฎหมายชนะโดยกำหนดให้เสรีภาพทางวิชาการนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมือง

คำถามคือทำไมถึงมีความพยายามจำกัดขอบเขตแบบนี้ เพราะถ้าเราอธิบายกันให้ถูกหลักแล้วมันไม่ต้องจำกัดหรอก เพราะว่าเสรีภาพทางวิชาการถูกจำกัดโดยสภาพเมื่อมันไปปะทะกับเสรีภาพอันอื่นซึ่งมีความสำคัญกว่า ผมยกตัวอย่างเช่นเราใช้เสรีภาพทางวิชาการโดยเอามนุษย์มาเป็นเพียงวัตถุในการทดลองไม่ได้ เราอ้างเสรีภาพทางวิชาการแบบนี้ไม่ได้ มันไปกระทบกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพทางวิชาการไม่ใช่เสรีภาพที่อยู่โดดเดี่ยวมันอยู่ร่วมกับสิทธิและเสรีภาพอื่นๆ ด้วย

กับอีกกรณีหนึ่งคือถูกจำกัดโดยขอบเขตของวิธีการใช้เสรีภาพเอง ซึ่งก็คือว่าเสรีภาพทางวิชาการนี้ใช้โดยผู้ที่มีแบบแผนการค้นคว้าความรู้ที่มีระบบระเบียบ มีเนื้อหาทางวิชาการ มีความสมเหตุสมผล เพราะถ้าไปทำอย่างอื่นก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามเสรีภาพอันนี้ คุณอาจได้รับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ทีนี้ตอนนั้นที่มีความพยายามจำกัดมันเกิดความหวาดหวั่นเพราะว่าช่วงนั้นปี 2517 ในมหาวิทยาลัยก็มีการสอนระบบการเมืองการปกครองก็มีการพูดถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ และเราก็รู้ว่าอีก 2 ปีต่อมาก็เกิดโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในสังคมไทยที่ธรรมศาสตร์คือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในตอนนั้นฝ่ายที่กังวลเรื่องนี้ก็บอกว่ามันต้องมีการจำกัด ต้องเขียนเรื่องหน้าที่พลเมืองล็อคเอาไว้ เหมือนกับเป็นการเตือนนักวิชาการว่าคุณจะสอนหรือค้นคว้าอะไร ต้องระมัดระวัง นี่เป็นสิ่งซึ่งเป็นกรอบตั้งแต่แรกแล้ว รัฐไทยอาจจะไม่มีเจตจำนงมากนักที่จะให้เสรีภาพทางวิชาการในแบบที่มีการในประเทศที่พัฒนาแล้วในระบอบประชาธิปไตย

เสรีภาพทางวิชาการถูกกระทบจากรัฐและความเชื่อของผู้คน

เราจะเห็นความพยายามจำกัดเสรีภาพทางวิชาการแบบนี้ได้อีกแม้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เขาก็เขียนว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการและก็มีการเพิ่มข้อจำกัดขึ้นมาว่า เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับการคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น ส่วนสุดท้ายที่บอกว่าต้องเคารพแล้วไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่นถูกเติมเข้ามาในรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยอ้างว่าเพื่อรับรองว่าเวลาที่นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์จะไม่ถูกอาจารย์ครอบงำ

แต่ถ้าเราลองไปดูตัวเนื้อของเสรีภาพ การเขียนแบบนี้มันไม่ช่วยอะไร เพราะความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์กับนักศึกษาก็คือการทำงานร่วมกัน อาจารย์ก็กำกับว่างานนั้นควรจะต้องไม่มีความผิดพลาด ซึ่งมันอาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ถ้าความเห็นไม่ตรงกันก็ต้องเคารพความเห็นกัน สุดท้ายอาจารย์บอกว่ารับไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องที่ไปกันไม่ได้ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงหัวข้อ เปลี่ยนแปลงตัวอาจารย์ที่ปรึกษา ผมจึงรู้สึกว่าอันนี้ไม่น่าจะเป็นข้ออ้างที่ถูกต้องเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เรื่องหน้าที่ปวงชนชาวไทยมากำกับ มันอาจจะเปิดช่องให้มีการตีความตัวรัฐธรรมนูญเข้าไปจำกัดการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่สังคมไทยมองว่าเป็นเรื่องต้องห้าม

ถ้าดูจากบ้านเราจะพบว่าเสรีภาพทางวิชาการรัฐไทยอาจจะไม่ถึงกับเต็มใจรับรองให้ แต่ก็ต้องเขียนเพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าเรามีการรับรองเรื่องนี้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ การรับรองเรื่องนี้หมายความว่าโดยหลัก รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครอง นักวิชาการก็ควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐ เปิดให้มีเสรีภาพในทางวิชาการ ในการค้นคว้าหาความรู้ โดยรัฐไม่โป๊เข้ามาแทรกแซงหรือกลับกับผลการวิจัยผลการค้นคว้าให้เป็นในทิศทางที่รัฐต้องการ

แต่จริงๆ แล้วการรับรองแบบนี้อาจจะไม่เพียงพอ ลองนึกถึงวิทยานิพนธ์ของอาจารย์สายพิน แก้วงามประเสริฐ เมื่อหลายปีก่อน เรื่องการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีที่สำนักพิมพ์มติชนนำไปพิมพ์และต่อมาถูกประท้วงโดยชาวโคราช มีการเอาหนังสือไปเผาด้วย กรณีนี้ไม่ใช่รัฐเข้ามาแทรกแซงหรือกำกับเสรีภาพทางวิชาการ แต่เกิดจากผู้คนเองที่รับผลของข้อเสนอในงานวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ไม่ได้ มันไปกระทบหรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่เขาเคยเชื่อกันมา สุดท้ายสำนักพิมพ์มติชนก็ต้องเก็บหนังสือที่พิมพ์ไปแล้วและไม่ได้ขายต่อไป

ถามว่าอันนี้เป็นเรื่องที่กระทบเสรีภาพทางวิชาการหรือไม่ กระทบ แต่ใครทำให้กระทบ คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐ เพราะฉะนั้นนักวิชาการเวลาทำงานทางวิชาการซึ่งโดยปกติควรจะทำและปล่อยให้คนค้นคว้าความรู้กันได้แบบเสรี แบบสบายใจ คุณต้องระวัง 2 อย่าง หนึ่งคืออำนาจของรัฐซึ่งมีแน่นอนอยู่แล้ว สองคือตัวประชาชนหรือคนทั่วไปซึ่งไม่เข้าใจวิธีการทำงาน เขายอมรับไม่ได้กับการนำเสนอบางอย่าง รู้สึกว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นก็ทำให้ในที่สุดจะไม่มีใครกล้าเสนองานแบบนี้ออกมา เราก็จะจมอยู่กับความเชื่อเดิมๆ อยู่ต่อไปอันนี้คือปัญหาหนึ่ง

เสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นอะไรบางอย่างที่สังคมไทยมีปัญหาทั้งสองมิติ ทั้งจากรัฐและจากคนอื่น เพราะรัฐนอกจากจะไม่ไปก้าวล่วงหรือแทรกแซงแล้วยังมีหน้าที่คุ้มครองให้คนที่ทำงานวิชาการสามารถทำงานได้โดยปลอดภัยด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นการรับรองเสรีภาพทางวิชาการจะเหมือนกับเขียนเอาไว้ว่าบุคคลมีเสรีภาพทางวิชาการ แต่พึงระมัดระวังว่าอาจถูกตีหัว อาจถูกเผาหุ่น อาจถูกดำเนินคดี อาจถูกเรียกรายงานตัว

เสรีภาพที่มีเพดาน

ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับอาจารย์ฉลองว่าสังคมไทยไม่เคยมีเสรีภาพทางวิชาการจริงๆ เพราะมีบางเรื่องที่มีเพดานในการพูด เพดานมันเป็นโดยระบบหรือกลไกที่กำกับตรงนี้อยู่ วิชาที่จะกระทบกับเรื่องนี้มากที่สุดในความเห็นผมคือวิชาประวัติศาสตร์เพราะต้องค้นคว้าว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในอดีต มีการตีความหลักฐานข้อมูลต่างๆ แล้วเสนอออกมา ซึ่งบางทีมันต้องหักล้างความเชื่อที่มีมาแต่เดิม อันนี้เป็นความเสี่ยงอันหนึ่ง

วิชานิติศาสตร์ถามว่าเสี่ยงไหม ก็เสียงถ้าวิชานิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ มันเกี่ยวพันกับอำนาจในทางกฎหมาย ถ้าคุณไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ คุณวิจารณ์คำพิพากษาศาลคุณต้องเสี่ยงแล้วว่าจะเจอบรรดากฎหมายที่เราเรียกว่ากฎหมายตระกูลหมิ่นทั้งหลาย ตั้งแต่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ดูหมิ่นผู้พิพากษา แม้แต่ดูหมิ่นบุคคลธรรมดา แน่นอนว่าการตีความแบบนี้อยู่ในอำนาจของคนที่มีอำนาจตีความว่าจะให้ความหมายคำว่าดูหมิ่น หมิ่นประมาทแค่ไหน เพราะฉะนั้นในด้านหนึ่งถ้าคุณจะใช้เสรีภาพทางวิชาการนอกเหนือจากมีความเสี่ยงทางกฎหมายแล้ว บางทีความกดดันในแวดวงวิชาชีพหรือวิชาการเดียวกันก็เป็นปัญหา

สมมติจะมีนักวิชาการนิติศาสตร์สักคนหนึ่งวิจารณ์ระบบการได้มาซึ่งผู้พิพากษาตุลาการในประเทศนี้ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร มันเป็นระบบปิดอย่างไร มันเป็นระบบที่คุณใช้วิธีการสอบเข้าไปแล้วตัดขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างสิ้นเชิงอย่างไร เมื่อถึงการบริหารบุคคลก็คือคุณเลือกคณะตุลาการศาลปกครองคณะตุลาการศาลยุติธรรมกันเองเป็นระบบภายในของพวกคุณ ไม่มีคนนอกเข้าไปดู โดยอ้างหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการซึ่งมันไม่เกี่ยวเลย เพราะถ้าแต่งตั้งแล้วคุณอิสระมันไม่มีการแทรกแซงที่คุณมาอย่างอิสระ แต่กระบวนการในการได้มาซึ่งตัวคนที่จะเข้ามาเป็นผู้พิพากษาตุลาการได้มาอย่างไร ถ้ามันเป็นระบบปิดก็คือมันอยู่ในแวดวงเดียวกัน อำนาจอื่นๆ ไม่มีส่วนร่วมไปเกี่ยวข้อง เพราะผู้พิพากษาบ้านเราไม่ได้เกี่ยวพันอะไรกับประชาชนอยู่แล้ว

ถามว่าผู้พิพากษาจะรู้สึกได้อย่างไรว่าอำนาจที่เขาใช้เป็นอำนาจของประชาชน ถ้าเขาไม่มีจุดเชื่อมโยงอะไรกับประชาชนเจ้าของอำนาจ ถ้ามีใครวิจารณ์แบบนี้ในแวดวงคุณก็ต้องถูกมองว่าเป็นพวกไม่หวังดี อิจฉาเพราะสอบเป็นผู้พิพากษาตุลาการไม่ได้ มันทำให้เราไม่สามารถใช้เสรีภาพทางวิชาการได้อย่างเต็มที่เพราะมีทั้งกรอบในแง่กฎเกณฑ์ทางกฎหมายและกรอบด้านวัฒนธรรมกำกับอยู่ ซึ่งจริงๆ กรอบทางวัฒนธรรมอาจจะยุ่งยากมากกว่ากรอบทางกฎหมายด้วยซ้ำ เพราะกรอบทางกฎหมายถ้าอำนาจในทางการเมืองเปลี่ยนได้ กรอบทางกฎหมายก็เปลี่ยนได้ แต่ในทางวัฒนธรรมบางทีอาจจะยาก มันจะใช้เวลายาวนานกว่า ด้วยเหตุนี้การสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว มันจะเป็นการคุกคามหรือกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการอีกชนิดหนึ่ง

สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในการทำงานวิชาการ

ย้อนกลับมาดูประเด็นที่เกิดขึ้นว่ากระทบกับเสรีภาพทางวิชาการอย่างไร เคสของอาจารย์ณัฐพลตอนนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ซึ่งในทางข้อเท็จจริงมีจุดผิดพลาดอยู่ 1 จุด คือการแปลข้อความคลาดเคลื่อนไปที่พูดถึงกรมพระยาชัยนาทนเรนทรเข้าไปประชุมในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งข้อความที่อาจารย์ณัฐพลอ้างอิงจากบางกอกโพสต์ปรากฏว่าไม่ได้มีข้อความลักษณะแบบนี้ แน่นอนว่าสำหรับคนที่ค้นเจอว่ามีความคลาดเคลื่อนและชี้ความคลาดเคลื่อนให้เห็น ผมคิดว่าเราต้องขอบคุณคนที่บอกว่ามันผิดถ้าเราอยากรู้ความจริง เป็นสิ่งซึ่งนักวิชาการพึงทำกันและกันเพราะทุกคนผิดพลาดได้หมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์ณัฐพล มันมีปริมาณหนังสืออ้างอิงมากและหนาด้วยเป็นไปได้ว่าตอนทำอาจจะคลาดเคลื่อน

ตอนที่ทราบว่าท่านอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทักท้วง ผมดีใจมากเพราะงานดังกล่าวก็เป็นงานที่ลูกศิษย์ของผมคนหนึ่งใช้อ้างอิงในงานวิทยานิพนธ์เรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และมีการอ้างอิงส่วนนี้มาด้วย มันก็ผิดต่อกันมา งานเล่มนั้นผมเป็นที่ปรึกษาเอง ตอนที่อ่านก็สะดุดนิดหน่อย แต่คิดว่าอาจารย์ณัฐพลน่าจะอ้างมาดีแล้วก็ไม่ได้บอกให้เขาไปตามเช็คต้นฉบับ ก็ถือว่าเป็นความบกพร่องได้ในแง่นี้

แต่ว่ามันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายถึงขนาดต้องเพิกถอนปริญญาบัตร ซึ่งยังไม่มีการพูดถึงเลยว่ามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาในทางลับ แม้แต่ตั้งกรรมการก็ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อ ผมก็ยังแปลกใจมากว่าทำไมต้องทำเป็นเรื่องลับ ถ้าจะสอบก็ควรทำอย่างตรงไปตรงมาและเปิดไปเลยว่าสอบในประเด็นไหนบ้าง อย่างไร

อีกประการหนึ่งคือในแง่ความผิดพลาดนี้ ในภายหลังมีการอ้างต่อมาว่าผิดพลาด 30 กว่าจุดอีกจุดหนึ่งที่มีการอ้างอิงออกมา ผมก็ไม่ได้นั่งอ่านข้อถกเถียง ผมคิดว่าอันถัดมาเป็นปัญหาเรื่องการตีความ ไม่ใช่ผิด อะไรที่ผิดก็อาจจะมีจุดเดียว ส่วนที่เหลือเป็นประเด็นเรื่องการตีความบทบาทของกรมพระยาชัยนาทนเรนทรในช่วงของการรัฐประหารปี 2490 ซึ่งผมคิดว่าในแง่การตีความว่าบทบาทมีมากน้อยแค่ไหน มันมีหลักฐานก็จริง แต่คนที่อ่านหลักฐานมีสิทธิ์จะบอกว่าตีความอย่างไร เช่นผมเห็นรัฐธรรมนูญปี 2490 ลงนามโดยกรมพระยาชัยนาทท่านเดียว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ความจริงท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ก็ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นโมฆะด้วยซ้ำเพราะยึดอำนาจ 8 พฤศจิกายน 2490 ผู้สำเร็จราชการมี 2 คนแล้วลงนามอยู่คนเดียวซึ่งมันไม่ได้ อันนี้ก็เป็นข้อเท็จจริง

ทีนี้ถ้าเกิดลงนามหรือว่าในวันถัดมามีการลงนามเลย คนที่ศึกษาก็ต้องไปดูว่ามันเกิดบริบทอะไรมาบ้าง เขามีสิทธิ์ตีความว่าบทบาทของกรมพระยาชัยนาทในเวลานั้นเป็นอย่างไร เขาจะตีความผิดหรือถูกเป็นเรื่องเสรีภาพของเขาที่เขาจะใช้ งานอันนี้ในภายภาคหน้าจะถูกหรือผิด ผมคิดว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมีหน้าที่ต้องค้นคว้าและโต้แย้ง เขียนบทความทางวิชาการออกมาโต้แย้ง แต่ไม่ใช่ประเด็นเรื่องการฟ้องคดีในความเห็นผม

ถามว่าการฟ้องคดีจะส่งผลอย่างไร แน่นอนว่าบุคคลมีสิทธิ์และถ้ารู้สึกว่าถูกล่วงละเมิดสิทธิ์ก็มีสิทธิ์ในการป้องกันตัวเอง แต่การฟ้องคดีนี้ไม่ได้ฟ้องเฉพาะตัวอาจารย์ณัฐพล แต่ฟ้องไปถึงอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ แต่ไม่ได้ฟ้องกรรมการ ตอนที่ผมเห็นผมรู้สึกว่าอันนี้น่าจะเป็นปัญหาจริงๆ ในทางกฎหมายในแง่การใช้สิทธิ์เพราะว่าตัววิทยานิพนธ์ในภายหลังทางจุฬาฯ ได้ระงับการเผยแพร่ ทางฟ้าเดียวกันนำวิทยานิพนธ์นี้มาพิมพ์เป็นหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ซึ่งข้อความที่คลาดเคลื่อนก็ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งยังไม่มีการตีพิมพ์ซ้ำที่ขายกันก็อาจจะเป็นเวอร์ชั่นเดิมอยู่ ซึ่งมันก็ผิดตรงนี้อยู่

ผมถามว่าแล้วอาจารย์ที่ปรึกษาเกี่ยวพันอะไรกับการตีพิมพ์หนังสือ 2 เล่มนี้ ที่เป็นวัตถุที่กำลังจะมีการไต่สวนฉุกเฉินให้มีการระงับให้เก็บไปหมด อันนี้คือปัญหาแล้วเพราะถ้าการฟ้องคดีมีลักษณะแบบนี้ ในความเห็นผมมันมากไปกว่าการโต้แย้งทางวิชาการปกติธรรมดาที่พึงกระทำ มันสุ่มเสี่ยงต่อการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปฟ้องตัวอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวพันกับตัวหนังสือที่ฟ้าเดียวกันพิมพ์ เพราะหนังสือที่นำไปพิมพ์อาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้เกี่ยวแล้ว อันนี้เป็นการสร้างความรู้สึกว่าต่อไปนักวิชาการในมหาวิทยาลัยใครก็ตามจะรับเป็นที่ปรึกษางานเขียนเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เหล่านี้ คุณต้องระวังตัวให้ดี อย่าพลาด ถ้าคุณพลาดคุณก็จะเจอปัญหาแบบนี้

เมื่อปัญญาไม่มากพอก็ต้องใช้อำนาจกด

คำถามก็คือว่างานของอาจารย์ณัฐพลชิ้นนี้มีความผิดพลาดเกิดขึ้น 1 จุด ลองตั้งคำถามดูว่าถ้ามันเกิดขึ้นเมื่อสัก 30 ปีก่อน คือไม่ได้เกิดขึ้นในบริบทแบบนี้ ถามว่าสภาพการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นมันจะบานปลายมาถึงขนาดนี้ไหม ถ้าเราตอบว่าไม่ คำถามที่เราต้องคิดต่อไปคือแล้วอะไรเป็นเหตุที่ทำให้เรื่องพันนี้มันบานปลายมาถึงขนาดนี้ เราตอบอะไรไม่ได้หรอกนอกจากมันเป็นบริบทในทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน เพราะเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อหรือแม้แต่ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ของอาจารย์ณัฐพลเป็น Best Seller แล้วก็เป็นหนังสือที่เยาวชนคนรุ่นหนุ่มสาวอ่านกันมาก ในบริบทของการเคลื่อนไหวการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับการเมืองแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนของเยาวชนคนรุ่นหนุ่มสาวต่างหากที่ทำให้เกิดความพยายามในการเบรกแบบนี้ขึ้น อันนี้คือความเห็นผมซึ่งมันอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ แต่ทุกคนก็ประเมินเอา

ผมคิดว่าความผิดพลาดแบบนี้ถ้าเกิดขึ้นในบริบทอื่น ผมประเมินว่ามันจะไม่ได้มาแบบนี้ อย่างดีก็คงมีการท้วงติงหรือมีการเขียนบทความโต้แย้งว่าข้อมูลที่อ้างอิงมันผิดซึ่งไม่ควรจะผิด แต่มันก็ผิดได้ มันเป็นเรื่องที่ทุกคนก็ผิดพลาดกันได้ ผมก็ผิดพลาดได้เวลาพิมพ์ใหม่เราก็บอกว่าเราแก้ข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากการพิมพ์ครั้งก่อนหน้านั้น บางทีคนเขียนเขาก็ไม่แน่ใจว่าทุกอย่างที่เขาทำมันจะถูกหมดหรือไม่ เพราะว่าคนที่ไม่ทำผิดอะไรเลยก็มีแต่พระเจ้ากับคนที่ไม่ต้องทำอะไรเลย งานวิชาการแบบนี้มันเป็นไปได้เสมอ แต่ผิดแล้วมันถูกแก้ไหม มีการยอมรับว่าผิดไหม แล้วมันมีความร้ายแรงถึงขนาดซึ่งพยายามทำให้เกิดขึ้นในเวลานี้ด้วยหรือเปล่าอันนี้คือประเด็น

เพราะฉะนั้นตอนนี้เวลาเราพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการ ผมจึงมองว่ามันไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการหรอก แต่มันคือส่วนหนึ่งของภาพรวมทั้งหมดของบริบททางสังคมและการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ พูดง่ายๆ การต่อต้าน การโจมตีความผิดพลาดวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้มันแยกไม่ออกจากกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น จริงๆ มันก็เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วแหละ แต่ว่ามันเข้ามาอีกเฟสหนึ่งเพราะว่าคนหนุ่มสาวเข้ามามีส่วนในเรื่องตรงนี้มากขึ้นกว่าเดิมเมื่อ 10 ปีก่อน

เมื่อสภาพมันเป็นแบบนี้ปัญหาก็คือว่าแล้วเราจะปล่อยให้มันเป็นแบบนี้หรือเราจะมีหนทางออกจากปัญหานี้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่เราปรารถนา ที่เราควรต้องรักษาคุณค่าเรื่องเสรีภาพทางวิชาการเอาไว้หรือไม่ ผมคิดว่าคำตอบมันชัดเจนอยู่ในตัวนั่นแหละว่าเสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่ต้องมีในสังคมประชาธิปไตย เรามีความรู้มากขึ้นผ่านคนที่ทุ่มเททำงานในทางวิชาการในแง่มุมต่างๆ ถกเถียงกัน โต้แย้งกัน ซึ่งในที่สุดสิ่งที่มีเหตุผลหนักแน่นกว่าจะถูกสถาปนาขึ้นเป็นความรู้ใหม่ ความรู้นี้ก็จะถูกท้าทายต่อไปอีกในรุ่นถัดไป ความรู้ที่เป็นความจริงหรือใกล้เคียงความจริงที่สุดนั่นแหละจะตั้งมั่นที่สุด

ที่เกิดขึ้นก็คือว่าในตอนนี้ถ้าเชื่อมโยงกับประเด็นที่อาจารย์นิธิพูดถึง ผมคิดว่าคนซึ่งอาจจะมีความเห็นในแง่จินตนาการเกี่ยวกับการเมืองการปกครองที่แตกต่างจากคนจำนวนหนึ่งแสวงหาตอนนี้ เขาอาจจะไม่มีกำลังในทางปัญญามากพอที่จะสร้างสรรค์งานขึ้นมาโต้แย้งได้แบบเป็นเหตุเป็นผลที่เหมือนกับที่เคยทำมาในอดีต และก็เป็นธรรมดาในยามที่สติปัญญาถดถอยลง การใช้อำนาจกดทับมันก็จะมากขึ้น อันนี้เป็นเรื่องปกติ

ใครก็ตามที่ถนัดการใช้อำนาจ ใช้กำลังกดทับ การใช้สติปัญญามันจะน้อยเพราะว่าเมื่อมีกำลังก็ใช้กำลังทุบเอา เราไม่มีความสามารถในการโน้มน้าวให้เชื่อคล้อยตามตามหลักเหตุผลนี้ได้ และนี่คือปรากฏการณ์ที่มันเป็นอยู่ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา

ระบอบใหม่ก่อตัวหลังรัฐประหาร 57

ผมสังเกตว่าหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมารูปแบบของตัวระบอบมันมีการเปลี่ยนแล้วในเวลานี้ มันมีการสร้างชุดของกฎหมายขึ้นมารองรับการเปลี่ยนระบอบในลักษณะแบบนี้ เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงเรื่องนี้มันแยกไม่ได้กับการต้องพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนระบอบหรือการพยายามเซ็ตตัวระบอบแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งกำลังทำกันอยู่ในเวลานี้และทำไปได้หลายส่วนแล้ว กลไกสำคัญที่สุดก็คือตัวรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติมาในปี 2559 แต่ความจริงผมอยากจะบอกว่าถ้าเกิดใครก็ตามอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านการออกเสียงประชามติ ผมต้องเตือนไว้นิดหนึ่งว่าไม่ใช่ทุกมาตราที่ผ่านการออกเสียงประชามติ มีอยู่ประมาณสามสี่มาตราที่มีการแก้ไขหลังการออกเสียงประชามติแล้ว เวลาเราพูดเรื่องการผ่านประชามติก็ต้องเอาให้ครบ

บทบัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่องประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีการเปลี่ยนหลังประชามติ บทบัญญัติเกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับในราชอาณาจักรหรือปฏิบัติพระราชภารกิจไม่ได้ อันนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลังประชามติ และบทบัญญัติเรื่องความรับผิดชอบของรัฐมนตรีที่ลงนามสนองพระบรมราชโองการอันนี้เปลี่ยนแปลงหลังประชามติ เพราะฉะนั้นแปลว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีบางส่วนที่ผ่านประชามติแล้วมีการเปลี่ยนแปลงและไม่ได้กลับไปทำประชามติอีก อันนี้ก็ต้องพูดข้อเท็จจริงให้ชัดเจน

นอกเหนือจากตัวรัฐธรรมนูญที่ก่อรูปตัวระบอบขึ้นมาใหม่ จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญพยายามจะแยกส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ออกไปและมีชุดของกฎหมายที่เกิดขึ้นตามมา พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พระราชบัญญัติโอนอัตรากำลังพล หรือแม้แต่พระราชอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ อันนี้คือชุดที่ออกมาหลังปี 2560 กฎหมายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่ออกมา อันนี้คือชุดหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภายหลังที่มีการประกาศรัฐธรรมนูญปี 2560

อีกชุดหนึ่งคือเรื่องที่เกี่ยวกับโครงสร้างของรัฐโดยทั่วไปซึ่งก็มีการปรับเปลี่ยนบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพจำนวนหนึ่ง มีการเขียนข้อยกเว้นจำกัดสิทธิ์เอาไว้กว้างขวางขึ้น เปิดโอกาสให้รัฐสามารถตรากฎหมายก้าวล่วงสิทธิ์ได้มากขึ้น จนบางครั้งที่ผมอ่านผมรู้สึกว่าเกือบจะเปิดโอกาสให้ก้าวล่วงเข้าไปถึงแกนของสิทธิ์ได้ด้วย โดยเฉพาะข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐจะเป็นประเด็นหลักเพราะมันมีความละเอียดอ่อนในเรื่องความมั่นคงของรัฐมากในช่วงหลัง

พ.ร.บ.ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร

ล่าสุดเรื่องของกฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ความจริง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการออกมาในปี 2540 เราจะพบว่าชุดของกฎหมายที่ออกมาในช่วงเวลาที่สภาวะบ้านเมืองเป็นอย่างหนึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพและความก้าวหน้าของตัวกฎหมาย ความจริง พ.ร.บ.ปี 2540 ที่อาจารย์ฉลองวิจารณ์เมื่อสักครู่โดยตัวกฎเกณฑ์ของกฎหมายค่อนข้างใช้ได้ในระดับหนึ่งถ้าเปรียบเทียบกับที่ผ่านการอนุมัติของ ครม.

ตอนที่เห็นเนื้อหาที่มีการแก้ ผมยอมรับว่าตกใจพอสมควรเหมือนกันเพราะผมมีโอกาสเป็นกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารอยู่ 16 ปี หน้าที่ของกรรมการนี้ก็คือเวลาที่มีใครขอข้อมูลข่าวสารในหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานของรัฐไม่เปิด เขาจะอุทธรณ์มา องค์คณะผมก็เป็นองค์คณะหนึ่งที่จะคอยชี้ว่าที่รัฐไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นชอบด้วย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารหรือไม่ ตลอดระยะเวลาของการทำงานมา 16 ปี ผมไม่เคยถูกแทรกแซง แน่นอนว่ามันมีการสั่งคำวินิจฉัยบางเรื่องซึ่งบางอันขัดแย้งกับพวกองค์กรอิสระองค์ คณะที่ผมเป็นกรรมการอยู่สั่งเปิดเผยข้อมูลขององค์กรอิสระเขาไม่ยอม เขารู้สึกว่าเขาเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คณะที่ผมเป็นคณะกรรมการอยู่เป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติไปสั่งเขาไม่ได้ แต่ผมคิดว่ามันไม่เกี่ยวกับเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ องค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อกฎหมายบอกว่าข้อมูลนี้มันเปิดได้ กรรมการสั่งเปิดก็ต้องเปิด เว้นแต่ว่าหน่วยงานของรัฐมีเหตุผลหนักแน่นกว่าว่าเปิดไม่ได้กรรมการก็จะตามหน่วยงานของรัฐแต่ส่วนใหญ่ก็จะเปิด

ในช่วงบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้มันก็มีความก้าวหน้าอยู่ แต่ช่วงหลังในสมัยรัฐบาลนี้เองที่ผมไม่ได้เป็นกรรมการต่อ เพราะผมคิดว่ายินยอมให้เสนอชื่อไปก็ยากที่จะผ่านการรับรองให้เป็นกรรมการ เพราะพอเป็นแล้วกรรมการอิสระ สั่งไม่ได้ องค์คณะผมเคยสั่งเปิดข้อมูลภาษีรัฐมนตรีก็เคยเปิดมาแล้ว ก็แปลว่าในช่วงเวลาหนึ่งเรามีกฎหมายที่มีเสรีอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ว่าเรื่องที่กฎหมายนี้ห้ามเด็ดขาดเลยและเป็นมาแต่เดิมเลยคือข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันนี้เปิดไม่ได้

แต่ว่าที่เขาแก้อันใหม่ผมจะอ่านให้ฟังว่ามันจะกระทบกระเทือนวิชาของอาจารย์ฉลองของอาจารย์นิธิอย่างแน่นอน ที่เขาจะแก้ใหม่เขากำหนดแบบนี้คือข้อมูลข่าวสารราชการที่หากเปิดเผยแล้วอาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันนี้คล้ายของเดิม แต่เพิ่มอีกอันหนึ่งคือข้อมูลด้านการถวายความปลอดภัยจะเปิดเผยไม่ได้ เสร็จแล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรของรัฐบอกว่า การกำหนดให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ด้านการข่าวกรองด้าน การป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย ด้านการต่างประเทศเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคล และข้อมูลของรัฐด้านอื่นๆ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดจะเปิดเผยไม่ได้ อันนี้คือให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศที่ประกาศปังมันจะหลุดไปจากอำนาจของคณะกรรมการในการสั่งเปิด กรรมการก็สั่งไม่ได้แล้วเพราะเขาสั่งว่าไม่ให้เปิด เพราะฉะนั้นอันนี้ก็จะกระทบแน่ๆ ก็คือการขยายข้อยกเว้นของการห้ามเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมันกว้างขึ้น

แล้วก็ยังเกี่ยวพันกับเรื่องของคดีในศาล อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเชื่อมโยงกับคดีที่กำลังเกิดขึ้นที่คนทั่วบ้านทั่วเมืองให้ความสนใจกันอยู่มากน้อยแค่ไหน เขามีการเขียนเอาไว้ว่าการพิจารณาเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยในกรณีที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อมูลด้านการถวายความปลอดภัย และในกรณีข้อมูลข่าวสารราชการเป็นข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านการทหาร การป้องกันประเทศ ด้านการข่าวกรอง ด้านการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย การต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ การรักษาความปลอดภัยของบุคคล และข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านอื่นๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นการลับ ก็แปลว่าต่อไปกระบวนพิจารณาที่ดำเนินนั้นไม่ได้เป็นกระบวนพิจารณาที่เปิดเผยแล้ว

พูดง่ายๆ ก็คือในแง่นี้รัฐก็จะควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารเข้มข้นขึ้น ชุดกฎหมายอันนี้จะออกมาในบริบทที่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่อง NGO ด้วย คือการดูเรื่องการรับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ บรรดาองค์กรเอกชนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติก็จะเกี่ยวพันกับกฎหมายแบบนี้มากขึ้น อันนี้คือชุดของกฎหมายที่ออกมาในการควบคุมหรือเชฟตัวระบอบที่กำลังทำขึ้นอยู่ยังไม่เสถียรเสียทีเดียวมากขึ้น แล้วก็จะมีทิศทางไปในลักษณะซึ่งเป็นอำนาจนิยมมากขึ้นอันนั้นคือกลไกในทางกฎหมาย

ในแง่การสร้างบรรยากาศก็จะมีการใช้กลไกกฎหมายในแง่ของคดี เคสที่มีการฟ้องฟ้าเดียวกัน อาจารย์ณัฐพล รวมไปถึงอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ด้วย และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นผ่านกลไกการใช้กฎหมายจำกัด

ถ้าระบอบใหม่เป็นจริง เสรีภาพทางวิชาการจะยิ่งถูกจำกัด

ผมคิดว่าทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นการวัดกันในแง่ของอำนาจหรือกำลังในทางเป็นจริง ตอนนี้เราจะเห็นว่าองค์กรตุลาการเข้ามามีบทบาท เขาอาจเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม แต่เมื่อมีการแจ้งความดำเนินคดีจากตำรวจส่งถึงอัยการขึ้นไปเขาก็ต้องเข้ามามีบทบาทในแง่ของการสั่งประกันหรือในแง่ของการตัดสินคดี เราสังเกตเห็นว่าในช่วงรัฐประหาร 2 ครั้ง ในการรัฐประหารปี 2549 มีการพูดถึงตุลาการภิวัฒน์ขึ้นมาคือการขยายบทบาทของศาลเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมือง อันนั้นศาลกลายเป็นผู้เล่นในปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งในช่วงเวลานั้นผมก็วิจารณ์บทบาทของศาลเอาไว้น่าจะมากพอสมควร

แต่ว่าหลัง 2557 รวมถึงปัจจุบัน อันนี้จะขยับเข้ามาอีกแบบหนึ่งแล้วคือไม่ใช่การใช้ตุลาการภิวัฒน์ในแง่ของการแก้ไขปัญหาทางการเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ฝ่ายอำนาจนำต้องการอย่างเดียว แต่จะเป็นคดีอื่นๆ เพราะว่ามันเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหว ศาลก็จะเข้ามามีบทบาทในคดีเหล่านี้มากขึ้นซึ่งแน่นอนว่าราคาที่ต้องจ่ายก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ศาลก็จะเข้ามาอยู่ในสปอร์ตไลท์มากขึ้นแต่ลักษณะองค์กรเป็นองค์กรปิด กลไกและระบบภายในเป็นระบบที่เรามองไม่เห็น ตัวบุคลากรขาดจุดเกาะเกี่ยวหรือเชื่อมโยงกับประชาชน อันนี้น่าพิจารณาต่อไปว่าการดำเนินการหรือการใช้อำนาจในลักษณะแบบนี้ต่อเนื่องไปจะส่งผลอย่างไร

ในแง่ของนักวิชาการ ผมเคยพูดในหมู่เพื่อนๆ วงในว่าถ้าเขาเซ็ตระบอบได้สำเร็จ ผมคิดว่าบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งมีทัศนะในทางก้าวหน้าน่าจะมีปัญหาในการทำงานในมหาวิทยาลัยต่อไป คงจะมีปัญหาแน่ๆ ผมไม่รู้ว่าผมจะได้ทำงานอยู่จนตลอดรอดฝั่งถึงเกษียณอายุราชการหรือไม่ เพราะเห็นจากทิศทางของชุดกฎหมายที่ออกมัน เพราะฉะนั้นท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาจึงไม่น่าแปลกเพราะมันคือทิศทางหลักที่เป็นความพยายามคุมในช่วงที่มีความพยายามจะเซ็ตตัวระบอบใหม่ขึ้นมาแล้วมันยังมีแรงกระเพื่อมอยู่ ยังเกิดแรงต้านอยู่

ประเด็นที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ณัฐพล ผมจึงมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของบริบททั้งหมดที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ของความพยายามที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในความสงบเรียบร้อยในความหมายที่เป็นความมั่นคง เพราะฉะนั้นรัฐก็จะอ่อนไหวมากๆ ในเรื่องความมั่นคง อ่อนไหวถึงขนาดในเวทีเสวนาแบบนี้ก็เกิดบรรยากาศที่ต้องมีการส่งคนเข้ามาฟังว่าคุณพูดถึงอะไรบ้าง การเข้ามาฟังก็มีผลเตือนให้ระมัดระวังว่าอย่าล้ำเส้น ถ้าล้ำเส้นคุณจะมีปัญหา จริงๆ ผมก็เห็นใจอาจารย์ณัฐพลที่บังเอิญความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นจุดจุดหนึ่งมันเกิดในบริบทแบบนี้พอดี มันคล้ายเป็นเหยื่ออันโอชะอันหนึ่งก็ว่าได้ในแง่ที่จะถอดรื้อและทำลายสิ่งซึ่งเป็นความพยายามอธิบายความรู้ใหม่ที่จะมาท้าทายความรับรู้แบบเดิมที่เป็นกระแสหลักอยู่

เสรีภาพทางวิชาการแยกไม่ออกกับตัวระบอบการปกครอง

ความจริงผมคิดว่าการต่อสู้กันทางวิชาการเป็นเรื่องที่ทำได้ เพียงแต่ว่ามันควรเป็นการสู้แบบที่นักวิชาการสู้กัน เครื่องมืออันอื่นที่เข้ามาใช้มันควรจะเลี่ยง ความรู้สึกผมเห็นว่ามันเสียเกียรติถ้าใช้เครื่องมืออันอื่น มีเกียรติกว่าก็คือว่าเอาวิชาการมาโต้แย้งเขียนบทความมาชี้แจงหรือหักล้าง มันจะช่วยลดทอนบรรยากาศน่าหวาดกลัวลงและจะช่วยสังคมโดยรวม ไม่อย่างนั้นไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามคุณก็มีส่วนสร้างบรรยากาศที่ไม่พึงปรารถนาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย มีการใช้คำว่าวงวิชาการน้ำเน่าผม คิดว่าต้องกำจัดมันออกไปโดยการสู้กันแบบแฟร์ๆ โดยเหตุผลและสติปัญญา

ถามว่าแล้วทำไมหนังสือบางเล่มถึงต้องถูกห้ามอ่าน ถ้าเราลองนึกถึงอุตมรัฐของเพลโต เพลโตเองก็เสนอเหมือนกันว่ารัฐต้องควบคุมอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ห้ามอ่าน ผมเลยไม่แน่ใจว่าคนที่สนใจหรือศึกษาปรัชญาการเมืองสมัยกรีกโบราณ เขาอาจจะมีจินตนาการในแง่ตัวระบอบการปกครองแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าเขาถูกหรือผิด แต่เขาจินตนาการถึงระบอบการปกครองแบบหนึ่งว่าจะต้องมีการคุมเยาวชนไม่ให้อ่านหนังสือบางเล่ม ถ้ามีหนังสือบางเล่มเขียนขึ้นมาและมันท้าทายสิ่งที่เขาไม่ต้องการให้ท้าทาย รัฐก็ต้องกำกับไม่ให้อ่าน แต่ว่าในยุคปัจจุบันมันยากเพราะว่าทุกอย่างมันไปเร็ว เพราะฉะนั้นมันก็เลยทำให้ต้องมาแสดงออกผ่านกลไกทางกฎหมาย การฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อเป็นการเตือนบรรดาคนที่เกี่ยวพันกับเรื่องเหล่านี้ว่าต่อไปคุณต้องระวัง ถ้าจะให้ดีนักวิชาการรุ่นหลังๆ ก็อย่ามาแตะเรื่องพวกนี้ ไม่อย่างนั้นคุณจะเจอแบบที่อาจารย์ณัฐพลเจอ

เราจะออกจากตรงนี้ได้แค่ไหน เมื่อไหร่ที่สังคมไทยจะมีเสรีภาพทางวิชาการจริงๆ ได้ ผมคิดว่าเสรีภาพทางวิชาการมันผูกอยู่กับตัวระบอบการปกครอง มันแยกกันไม่ออก ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยสำคัญอันหนึ่งคือตัวกฎเกณฑ์ในทางกฎหมาย ระบอบระบอบหนึ่งไม่ได้มีแต่ตัวกฎหมายอย่างเดียว มันมีหลายองค์ประกอบมากที่เชพมันขึ้นมา แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งที่จะเชพระบอบ เพราะมันมีอำนาจหนุนหลังอยู่ อันอื่นๆ เป็นอำนาจแบบซอฟต์ แต่กฎหมายเป็นอำนาจที่เห็นเลย คุณผิด คุณถูกจับ ถูกขังเลย มันสามารถสร้างความหวาดกลัวได้ชะงัดกว่า

แก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 หมวด 2 ไม่ได้ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายห้าม

ทีนี้ตัวระบอบในโลกปัจจุบันเกิดขึ้นจากฐานรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้ในปัจจุบัน เราคงรู้ว่ามันมีความพยายามที่จะออกจากรัฐธรรมนูญตรงนี้ ฝ่ายที่ต้องการรักษารัฐธรรมนูญนี้เอาไว้บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการออกเสียงประชามติ เราจึงเห็นได้ว่าการพยายามที่จะแก้หรือเปลี่ยนมันจึงลำบากยากเย็นมากๆ ประเด็นคือแล้วเราจะเปลี่ยนมันได้ไหม ตอนนี้และในช่วงถัดไปจะเห็นว่าในทางการเมืองจะมีความอิรุงตุงนังเกิดขึ้น จะมีม็อบเกิดขึ้นหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือวาระการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเมื่อความพยายามเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมันล้มแล้วในสภา แล้ววิธีหนึ่งที่เราจะหลุดไปจากตรงนี้ได้คือการต้องเปลี่ยนกติกาหลัก คุณค่าที่อยู่ในกติกาควรต้องถูกเปลี่ยน ถูกเขียนขึ้นมาใหม่

การเปลี่ยนมันไม่ง่ายหรอกเพราะระบอบเดิมมีกลไกพิทักษ์อยู่ ถ้าเราดูจากที่เกิดขึ้นล่าสุดจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องที่บอกให้ต้องทำประชามติเวลาจะแก้รัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าตอนนี้เรามาถึงจุดที่ว่าการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 2560 มันมีได้ 4 แบบ อันแรกก็คือเปลี่ยนแบบแก้ไขรายมาตราคือแก้บางเรื่องที่คิดว่าสำคัญเร่งด่วนก่อน การแก้รายมาตราจะมีความเป็นไปได้สูงมากเพราะว่าฝ่ายรัฐบาลก็อยากแก้อยู่ แต่แน่นอนว่าแก้ส่วนที่เป็นประโยชน์ ระบบเลือกตั้งอาจจะถูกแก้ก่อนซึ่งก็จะไม่เปลี่ยนแปลงตัวโครงสร้างหลักใดๆ ทั้งสิ้น

อีกอันคือการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งตอนนี้ผมคิดว่าคนในสังคมยังเข้าใจไม่ตรงกันว่าคืออะไร ในร่างที่มีการเสนอให้มีการตั้ง สสร. ขึ้นมา คือแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใหม่แบบห้ามแตะหมวด 1 หมวด 2 ถามว่าทำไมห้ามแตะ การที่กำหนดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยห้ามแตะหมวด 1 หมวด 2 มันเป็นความย้อนแย้งอย่างมากเพราะว่าในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีที่ไหนเลยที่ห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 จริงๆ ถ้าจะพูดให้ถึงที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันห้ามแก้แค่มาตรา 1 กับมาตรา 2 ก็คือรูปของรัฐที่เป็นรัฐเดี่ยวกับรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ว่าตัวเนื้อความอื่นๆ ในหมวด 1 หมวด 2 ไม่มีที่ไหนห้ามแก้ ถามว่าทำไมเรามาถึงจุดที่ระดับในสภาบอกว่าไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ผมคิดว่านี่เป็นความสำเร็จอันหนึ่งของฝ่ายที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2560 คือเขาสามารถที่จะได้แม้กระทั่งสิ่งซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามแก้ จะไปทำฉบับใหม่แล้วยังแก้ไม่ได้เลย

แน่นอนว่าบางมาตราในหมวด 1 หมวด 2 ก็ต้องบอกว่า มันเป็นมาตราที่มีการแก้หลังเสียงประชามติ ผมไม่รู้ว่าในแง่ความรับรู้ของคนที่อยู่ในสภาถือว่าห้ามแตะหมวด 1 หมวด 2 เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าแก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้ที่ทำมาแล้วล้มไปในสภา มันจึงจำกัดยิ่งกว่าตัวรัฐธรรมนูญ 2560 เสียอีก

อันถัดไปที่เป็นไปได้ก็คือการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยที่รักษาโครงร่างอันเดิมเอาไว้ คือสตริกตามรัฐธรรมนูญเลย ไม่แก้มาตรา 1 มาตรา 2 นอกนั้นเชพรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เลย อันนี้จะไปอีกอันหนึ่ง

และอันสุดท้ายซึ่งในความเห็นผมคิดว่าดีที่สุดที่จะเป็นไปได้คือการไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่มีกรอบหรือข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น คือเริ่มจากศูนย์ เหมือนเอาความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงมาว่ากันแล้วไปกำหนดกติกาใหม่อย่างสิ้นเชิง คือหลุดออกจากกรอบทั้งหลายทั้งปวงของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งคำว่าหลุดหมายถึงการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจจะยังคงใช้รูปแบบรัฐ รูปแบบการปกครองแบบเดิมได้ อันนี้ไม่มีปัญหา มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ซึ่งแบบที่ 4 นี้เราไปไม่ถึงในแง่ที่ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ถ้าอ่านดูดีๆ ทั้งหมด ไปได้ไกลที่สุดแค่อันที่ 3 คือคุณทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คุณต้องถูกล็อกเรื่องรูปของรัฐ รูปแบบการปกครองอยู่ แต่ถ้าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนโดยแท้จริง มันต้องไปถึงอันที่ 4 คือทำฉบับใหม่โดยปลอดจากกรอบอันเดิมที่อยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 อย่างสิ้นเชิง

ประชามติเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อรูปกติกาใหม่

ทีนี้ถามว่าการไปสู่แบบนั้นไปได้กี่ทาง มันไปได้ 2 ทาง ทางแรกคือเป็นการใช้กำลังโค่น เป็นการเปลี่ยนแปลงจากนอกระบบเข้ามา คือโค่นและเปลี่ยนแปลงไปเลย อาจจะรัฐประหารหรือปฏิวัติอะไรก็แล้วแต่ กับอีกทางหนึ่งคือใช้วิธีทำประชามติเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อนเพื่อให้การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีกรอบอะไร แล้วก็ไปสู่ตัวกติกาใหม่ สิ่งซึ่งผมคิดว่าถ้าประชาชนต้องการ ต้องเสนอให้มีการทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันควรจะเป็นแบบนี้ อันนี้จะเป็นอันเดียวที่เราจะหลุดไปจากอันนี้ได้ แต่มันขึ้นอยู่กับกำลังในทางการเมือง ฉันทามติในหมู่ของประชาชนว่ามีมากขนาดไหน ท้ายที่สุดการรณรงค์แบบนี้มันขึ้นกับประชาชนพร้อมแค่ไหนในการที่จะหลุดจากอันนี้เพื่อจะก่อร่างสร้างรูปกติกาอันใหม่ขึ้นมา

ข้อเรียกร้องที่เรียกร้องกันอยู่ทั้งหมด 3 ข้อ มันอาจจะทำให้การเรียกร้องนั้นซอฟต์ลงได้โดยไปผนวกรวมกับการเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และผมคิดว่าการเสนอให้มีการทำประชามติเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 สามารถทำได้ ต้องเข้าใจก่อนว่าตอนนี้การเสนอไม่ได้มีการเสนอให้ใช้กำลัง แต่เสนอให้มีการทำประชามติเพื่อเลิก ถ้าประชาชนส่วนใหญ่บอกไม่เลิก ก็แพ้ ฝ่ายที่ต้องการเลิกก็เลิกไม่ได้ ก็คือส่งอำนาจนี้กลับไปให้ตัวเจ้าของอำนาจ เพียงแต่ว่าเราจะต้องหลุดออกจากกรอบเดิม เพราะตัวรัฐธรรมนูญมีชุดกฎหมายออกตามมา ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงตรงนี้มันต้องหลุดจากอันเดิม ซึ่งถ้าแรงกดดันมีมากพอก็ต้องทำประชามติเพื่อให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ

ในระยะสั้นผมประเมินว่ามันไม่ง่ายหรอก เราจะอยู่ในบรรยากาศแบบนี้ไปอีกหลายปี ผมอาจจะไม่มีโอกาสมานั่งพูดอะไรแบบนี้อีกก็ได้ หรือมันอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงในระดับหนึ่งก็เป็นไปได้ แต่อย่างน้อยเราต้องกล้าคิดที่จะหลุดออกไปจากตรงนี้ แล้วโลจิกส์มันง่ายมากเลย ถ้ารัฐธรรมนูญปี 2560 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ้างว่าผ่านประชามติมาแล้วก็ไม่ต้องกลัวถ้าจะทำประชามติถามประชาชนอีกครั้งหนึ่งว่าอยากเลิกหรือยัง

แล้วในวันข้างหน้าคุณอยากให้เสรีภาพทางวิชาการเป็นยังไง คุณจะลดทอนข้อจำกัดในทางกฎหมายยังไง เราก็ใช้กฎหมายเป็นฐานก่อน แล้วค่อยๆ สร้างวัฒนธรรมอันนี้ขึ้นมาอีกทีหนึ่ง เพื่อทำให้วันหนึ่งเรามีเสรีภาพทางวิชาการ ผมไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้เห็นหรือเปล่า แต่ทุกอย่างคือการต่อสู้ ไม่มีอะไรได้มาโดยการร้องขออ้อนวอน มันต้องสู้เพื่อให้ได้มา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net