Skip to main content
sharethis

กรีนพีซประณามการตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีจากฟุกุชิมะของรัฐบาลญี่ปุ่น ชี้คือการละเลยต่อสิทธิมนุษยชนและกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ

กรีนพีซประณามการตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีจากฟุกุชิมะของรัฐบาลญี่ปุ่น
ที่มาภาพ: IAEA Imagebank (CC BY-SA 2.0)

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2564 เว็บไซต์กรีนพีซ รายงานว่ากรีนพีซ ญี่ปุ่น ประณามการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีซูงะ ที่ตัดสินใจทิ้งน้ำเสียที่ปนเปื้อนรังสีกว่า 1.23 ล้านตันจากถังเก็บน้ำที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงในมหาสมุทรแปซิฟิก [1] ว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและผลประโยชน์ของผู้คนในฟุกุชิมะ ญี่ปุ่น และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยสิ้นเชิง

การตัดสินใจดังกล่าวจะทำให้บริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) สามารถเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกได้ โดยกล่าวกันว่าจะใช้เวลา 2 ปีในการเตรียมระบายออก

คาซึเอะ ซูซูกิ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานของกรีนพีซญี่ปุ่น กล่าวว่า

“รัฐบาลญี่ปุ่นทำให้ชาวฟุกุชิมะผิดหวังอีกครั้ง จากการตัดสินใจที่ไม่ยุติธรรมอย่างสิ้นเชิง โดยการจงใจทิ้งของเสียปนเปื้อนรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก พวกเขาหันหลังให้กับหลักฐานที่ชัดเจนว่าสามารถลดความเสี่ยงจากรังสีได้ และมีความสามารถในการจัดเก็บน้ำปนเปื้อนรังสีอย่างเพียงพอในพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์และพื้นที่โดยรอบ [2] แต่แทนที่จะใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อลดอันตรายจากรังสีโดยการจัดเก็บและบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสีในระยะยาว พวกเขากลับเลือกใช้ทางเลือกที่ถูกที่สุด [3] โดยการทิ้งน้ำปนเปื้อนรังสีลงในมหาสมุทรแปซิฟิก

การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีนับเป็นความล้มเหลวในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และยังละเลยการคัดค้านของสาธารณชนในวงกว้างและความกังวลของชาวฟุกุชิมะในพื้นที่ รวมถึงประชาชนญี่ปุ่นในพื้นที่ใกล้เคียง กรีนพีซยืนหยัดร่วมกับชาวฟุกุชิมะรวมถึงชุมชนชาวประมงในความพยายามที่จะหยุดยั้งแผนการเหล่านี้” 

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยกรีนพีซญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าชุมชนส่วนใหญ่ในฟุกุชิมะและประชาชนในญี่ปุ่น ไม่เห็นด้วยกับการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนรังสีนี้ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากนี้สมาพันธ์สหกรณ์การประมงแห่งประเทศญี่ปุ่นยังออกมาคัดค้านอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้

ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้เตือนรัฐบาลญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน 2563 และเตือนอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2564 ว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นการละเมิดสิทธิของพลเมืองญี่ปุ่นและเพื่อนบ้านอย่างเกาหลี พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นชะลอการตัดสินใจใด ๆ ในการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนรังสีลงสู่ทะเลจนกว่าวิกฤตโควิด-19 จะสิ้นสุดลง และจนกว่าจะมีการหารือระหว่างประเทศที่เหมาะสม [4]

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการประกาศถึงการตัดสินใจแล้ว แต่ต้องใช้เวลาอีกประมาณสองปีก่อนที่น้ำปนเปื้อนรังสีเหล่านี้จะถูกปล่อยทิ้งออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ

เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหารของกรีนพีซ สากล กล่าวว่า:

“ในศตวรรษที่ 21 เมื่อโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาสมุทรของโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายและภัยคุกคามมากมาย รัฐบาลญี่ปุ่นและ บริษัท TEPCO กลับคิดว่าพวกเขาสามารถตัดสินใจได้อย่างชอบธรรมที่จะทิ้งกากนิวเคลียร์ลงในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเจตนา การตัดสินใจดังกล่าวเป็นการละเมิดพันธะกรณีทางกฎหมายของญี่ปุ่น ภายใต้อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล [5] (UNCLOS) และจะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า”

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 กรีนพีซได้รณรงค์เชิงรุกเพื่อต่อต้านแผนการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนรังสีในฟุกุชิมะ โดยส่งผลวิเคราะห์ทางเทคนิคไปยังหน่วยงานของสหประชาชาติ จัดสัมมนากับชุมชนในฟุกุชิมะร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนอื่น ๆ และยื่นรายชื่อคำร้องคัดค้านการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีส่งไปยังหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น รายงานล่าสุดของกรีนพีซญี่ปุ่น ยังได้ระบุทางเลือกโดยละเอียดเกี่ยวกับแผนปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่มีข้อบกพร่อง รวมถึงทางเลือกในการหยุดการเพิ่มขึ้นของน้ำที่ปนเปื้อนรังสีอย่างต่อเนื่อง [6] กรีนพีซจะยังคงเป็นผู้นำในการรณรงค์เพื่อยุติการทิ้งน้ำที่ปนเปื้อนรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

อ้างอิง:
[1] TEPCO, report on ALPS treated water 
[2] Greenpeace report October 2020, Stemming the Tide 
[3] METI, “Tritiated Water Task Force Report”, June 2016
[4]United Nations Human Rights Office of the High Commissioner June 2020 and March 2021
[5] Duncan Currie, Japan’s plan for radioactive water defies international law
[6] Satoshi Sato “Decommissioning of the Fukushima Daiichi Nuclear Power Station” March 2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net