Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ในบราซิล 6 คน ยื่นฟ้องร้องรัฐบาลบราซิลที่แก้ไขสัญญาข้อตกลงปารีส เปิดทางให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น ขัดกับข้อตกลงแก้ไขปัญหาโลกร้อนระดับนานาชาติ โดยรัฐบาลขวาจัดนำโดยจาอีร์ บอลโซนาโร ยังเปิดทางให้กลุ่มธุรกิจบุกรุกพื้นที่คุ้มครองและที่ดินของชนพื้นเมืองในป่าแอมะซอน ทำให้เกิดการตัดไม้ในป่าที่สำคัญต่อการกรองก๊าซเรือนกระจกของโลก

นักกิจกรรมเยาวชน 6 ราย ฟ้องร้องเอาผิดกับรัฐบาลบราซิล กรณีที่รัฐบาลแก้ไขข้อผูกพันในข้อตกลงปารีสในเรื่องโลกร้อน เพื่ออนุญาตให้บราซิลสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น

นักกิจกรรมเหล่านี้ฟ้องร้องให้รัฐบาลยกเลิกการแก้ไขข้อผูกพันที่รัฐบาลบราซิลเสนอเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงเป้าหมายให้ประเทศสามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 400 ล้านตัน ภายในปี 2573

หนึ่งในผู้ฟ้องร้องเป็นนักกิจกรรมชนพื้นเมืองอายุ 24 ปี ชื่อ ไซ ซูรุย จากองค์กรสิ่งแวดล้อมเอนกาจามุนโด กล่าวว่า การพยายามแก้ไขข้อผูกพันโดยรัฐบาลบราซิล ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงปารีสอย่างเห็นได้ชัด จากที่ข้อตกลงปารีสเน้นให้แต่ละชาติต้องเพิ่มการช่วยเหลือเพื่อลดปัญหาโลกร้อน หรือปัญหาวิกฤตภูมิอากาศไม่ใช่ลดการช่วยเหลือ

กลุ่มนักกิจกรรมเรียกการกระทำของรัฐบาลฝ่ายขวาของบราซิลว่าเป็น "กลโกงคาร์บอน" จากการที่พวกเขา "คำนวณ" โดยเพิ่มตัวเลขให้กับการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปี 2548 ให้เป็นฐานของการที่จะกำหนดลดปริมาณลงเรื่อยๆ ทำให้แทนที่พวกเขาจะได้ลดปริมาณลงร้อยละ 43 ภายในปี 2573 กลายเป็นว่าพวกเขาจะสามารถเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้หลายร้อยล้านตันนับตั้งแต่ที่มีการให้สัตย์ในข้อตกลงปารีสปี 2558

ซูรุยกับสมาชิกร่วมองค์กรอีก 3 คน และนักกิจกรรมเยาวชนอีก 2 คนจากไฟต์ฟอร์เดอะฟิวเจอร์สาขาบราซิล ที่ตั้งขึ้นโดยเกรตา ทุนเบิร์ก นักกิจกรรมต้านวิกฤตภูมิอากาศ ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2564 โดยมีริคาร์โด ซัลเลส รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม และเออร์เนสโต อะเราโจ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นจำเลย

นอกจากนี้ นักสิ่งแวดล้อมยังกล่าวหาประธานาธิบดีขวาจัด จาอีร์ บอลโซนาโร ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำบราซิลมาตั้งแต่ปี 2562 ว่า เป็นผู้ทำลายโครงการสิ่งแวดล้อมในบราซิล และรุกไล่พื้นที่คุ้มครองเพื่อให้มีการทำเหมืองแร่และอุตสาหกรรมการเกษตร เรื่องนี้ส่งผลต่อการทำลายป่าแอมะซอน ซึ่งเปรียบเสมือนปอดของโลก เพราะเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นป่าที่มีความสำคัญในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน การทำลายป่าเหล่านี้จึงเร่งให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบราซิลสูงขึ้น

จากข้อมูลของรัฐบาลบราซิลระบุว่าในช่วง 12 เดือน จนถึงเดือน ส.ค. 2564 การตัดถางป่าแอมะซอนในบราซิลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.5 ทำให้เกิดการทำลายป่าขนาดกว่าพื้นที่ของประเทศจาไมกาแล้ว

เรียบเรียงจาก Young climate activists sue Brazil over 'carbon trick', France 24, 14-04-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net