Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานในอังกฤษสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติการจ้างงานฉบับใหม่ที่ให้ 'คนทำงานที่บ้าน-ทางไกล' มี 'สิทธิตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงาน' (Right to Disconnect) 

ในสหราชอาณาจักร กำลังมีแสดงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการจ้างงานฉบับใหม่ ที่มีการกำหนด 'สิทธิตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงาน' (Right to Disconnect) เอาไว้

ข้อมูลจาก Prospect ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชนของสหราชอาณาจักร ที่ได้ทำแบบสอบถามออนไลน์ 2,428 ชุด ในช่วงเดือน เม.ย. 2564 พบว่าร้อยละ 66 ของพนักงานที่ทำงานจากที่บ้านและทำงานจากระยะไกล สนับสนุน 'สิทธิตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงาน' นี้ซึ่งจะกำหนดให้บริษัทต่าง ๆ ต้องเจรจากับพนักงานของตนเพื่อกำหนดช่วงเวลาที่จะสามารถติดต่อสื่อสารกันเรื่องงานได้ในเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่สามารถทำได้โดยตลอดเวลาเช่นในปัจจุบัน

อีกด้านของการทำงานที่บ้านช่วง COVID-19 ‘เครียด’ เพราะต้องตื่นตัวตลอดเวลา
ราคาที่คนทำงานต้องจ่ายเอง จากการ 'ทำงานจากที่บ้าน' ช่วง COVID-19
พบชนชั้นกลางเวลส์อยากทำงานที่บ้านต่อหลัง COVID-19 คลี่คลาย มากกว่าชนชั้นแรงงาน

Prospect ยังชี้ให้เห็นว่าแม้ภาพของการทำงาน 'ที่บ้าน-ทางไกล' จะถูกมองในแง่ดีเป็นส่วนใหญ่ แต่กระนั้นข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานระยะไกลเป็นเวลานาน จากการสำรวจนี้พบว่า:

- ร้อยละ 35 ของ 'คนทำงานที่บ้าน-ทางไกล' ระบุว่าสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับการทำงานแย่ลงในช่วงที่เกิดโรคระบาดโดย 42% บอกว่าอย่างน้อยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการไม่สามารถปิดงานได้

- ร้อยละ 32 ของ 'คนทำงานที่บ้าน-ทางไกล' ระบุว่าพวกเขาพบว่ายากที่จะ 'เสร็จสิ้นการทำงาน' ในแต่ละวัน (ไม่เหมือนกับการเข้า-ออกงานตามเวลาในสถานการณ์ปกติ)

- ร้อยละ 30 ของ 'คนทำงานที่บ้าน-ทางไกล' ระบุว่าว่าทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างมากกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด (ร้อยละ 18 ทำงานไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)

Prospect ระบุว่าตัวเลขดังกล่าวเผยให้เห็น ‘ด้านมืด’ ของการทำงานระยะไกล และจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพื่อช่วยจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ฝ่ายวิจัยของ Prospect ระบุว่าประสบการณ์ของคนทำงานจากที่บ้านในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 มีความแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับงานสภาพแวดล้อมในบ้านและพฤติกรรมของนายจ้าง แม้การทำงานจากที่บ้านจะให้ความรู้สึกเหมือนกับการนอนอยู่ในสำนักงานได้ด้วยเทคโนโลยีจากระยะไกล แต่การปิดการติดต่อสื่อสารเรื่องงานกลับทำได้ยากขึ้นส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่ลง Prospect ระบุว่า 'สิทธิตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงาน' ในร่างพระราชบัญญัติการจ้างงานฉบับใหม่นี้จะเป็นก้าวสำคัญครั้งใหญ่ ในการกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนขึ้นระหว่างบ้านและที่ทำงาน และจะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจริงจังกับการจัดการกับปัญหาจากการทำงานระยะไกลได้

หลายประเทศมีการคุ้มครองแล้ว


ฟิลิปปินส์ ชาติในอาเซียนที่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มเรื่องสิทธิตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงานแล้ว โดยมีเจตนารมณ์ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตส่วนบุคคลของพนักงาน | ที่มาภาพประกอบ: Newsbytes.PH

ทั้งนี้หลายประเทศมีมุมมองหรือแนวคิดต่อหลักสิทธิตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงาน ตัวอย่างเช่น

สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ก็เพิ่งให้ 'สิทธิตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงาน' แก่คนทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้คนทำงานมีสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่ดีขึ้นในขณะที่ทำงานจากที่บ้าน

แคนาดา กำลังมีการผลักดันนโยบายที่คล้ายกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยให้คนทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง ที่มีแนวโน้มทำงานหนักขึ้นเมื่อทำงานอยู่ที่บ้าน เนื่องจากต้องมีภาระดูแลครอบครัวควบคู่ไปด้วย

สเปน มีการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของคนงานทางไกลในสเปนและรวมถึงกฎที่บังคับให้นายจ้างจ่ายค่าอุปกรณ์ทำการบ้านและอนุญาตให้พนักงานทำงานได้ตามเวลา 

เยอรมนี แม้ไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อรองรับสิทธิตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงาน แต่ในสถานประกอบการเกี่ยวกับรถยนต์ได้มีข้อตกลงระหว่างนายจ้างและพนักงานเกี่ยวกับสิทธิตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงานเกิดขึ้น เช่น ในปี 2554 บริษัท Volkswagen ได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 1,000 คน สามารถปิดกั้นการติดต่อสื่อสารจากจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรากฏอยู่ในโทรศัพท์ของพวกเขาได้ตั้งแต่เวลา 18.15 น. ไปจนถึง 7.00 น. หรือบริษัท BMW ตั้งข้อกำหนดในเรื่องของเวลาการทำงานซึ่งพนักงานจะต้องเห็นพ้องกับนายจ้างในการกำหนดเวลาทำงานและกิจกรรมการติดต่อสื่อสารนอกเวลาที่เกิดขึ้นหลังเวลาทำงานที่ตกลงกัน กล่าวคือ หากมีการทำงานนอกเวลาเกิดขึ้นจะต้องถูกนับรวมเป็นเวลาทำงานด้วย อย่างไรก็ดีพนักงานก็ยังคงสามารถยืนยันในสิทธิที่จะตัดขาดการติดต่อสื่อสารในช่วงวันหยุดหรือวันลาพักผ่อน หรือเวลาเลิกงานตามปกติได้ด้วย

ฝรั่งเศส มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแรงงาน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2560 โดยระบุไว้ว่ากิจการที่มีพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องทำความตกลงกันระหว่างนายจ้างกับพนักงานเกี่ยวกับชั่วโมงในการทำงาน โดยต้องระบุว่าเวลาทำงานของพนักงานในแต่ละวันเริ่มต้นและสิ้นสุดลงในเวลาใด นอกเหนือเวลาทำงาน พนักงานมีสิทธิ์ที่จะตัดขาดการติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น ไม่อ่านและไม่ตอบอีเมลที่ถูกมาส่งมาจากบริษัทนอกเวลาทำงานได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดและจะไม่ถูกนำมาใช้ในการประเมินผลการทำงานของพนักงานคนนั้น

ฟิลิปปินส์ มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มเรื่องสิทธิตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงาน ที่มีเจตนารมณ์ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตส่วนบุคคลของพนักงานและทำให้นายจ้างต้องปรับเปลี่ยนนโยบายของบริษัทในการที่จะช่วยลดความกดดันให้พนักงานในการตอบสนองการทำงานนอกเวลาทำงานและลดความตึงเครียดลงให้ได้มากที่สุด


ที่มาเรียบเรียงจาก
Give remote workers right to disconnect, urges union (Personnel Today, 13 April 2021)
Two-thirds of UK home workers back a ‘Right to Disconnect’, poll shows (Prospect, 13 April 2021)
การตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงาน (สุรีเยนทร์ ศรีสังข, krisdika.go.th, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 16 April 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net