Skip to main content
sharethis

หลังจากที่ในช่วงเวลานี้มีข่าวผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มราษฏรผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตาม ม.112 ให้เห็นอยู่เกือบทุกวัน ประกอบการอดอาหารนานนับเดือนของ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอีกหลายสิบวันของรุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฏรข้างในคุกเริ่มส่งสัญญาณอันตรายออกมาให้คนข้างนอกได้รับรู้ เราจึงมีคำถามสั้นๆ 2 คำถามมาถามมนุษย์เชียงใหม่ในงาน “ยืนหยุดขัง 112 นาที” เมื่อวานนี้ (15 เม.ย.64) ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อให้พวกเขาได้แสดงความเห็นและส่งเสียงภายในใจที่มีต่อ นักโทษการเมืองหรือ “เพื่อน” ที่อยู่ในคุกเวลานี้

  • คุณคิดเห็นอย่างไรกับการใช้กฎหมาย ม.112 ของสังคมไทยในขณะนี้
  • คุณมองอย่างไรต่อการอดอาหารของเพนกวิน รุ้ง และคนอื่นที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่

“กฎหมาย 112 ไม่ควรจะมีหรือเป็นแบบนี้มาตั้งแต่แรกแล้ว มันเป็นกฎหมายที่ไม่มีความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ถูกฟ้องเลย เป็นการฟ้องโดยใครก็ได้และก็กลายเป็นกฎหมายความมั่นคง ซึ่งความจริงแล้วมันสามารถใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเฉยๆ ก็ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมาย ม.112 การตีความก็กว้างไปเรื่อยๆ โดยไม่ค่อยมีเหตุผลและหลักการทางกฎหมายเข้ามารับรองเท่าไหร่ และก็ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมหรือมีเป้าหมายให้บ้านเมืองสงบสุขอย่างนั้นเลย มีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง”

“อย่างแรกเลย การคุมขังเพนกวิน รุ้ง และคนอื่นๆ มันไม่ชอบตามกระบวนการยุติธรรม ผิดกระบวนการมาตั้งแต่แรก ผิด ICCPR กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิและเมืองและสิทธิทางการเมือง มันผิดกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดแม้แต่ของในไทยเองก็ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นการที่เขาอดอาหารก็เป็นการประท้วง เพราะมันเป็นวิธีเดียวที่นักโทษในเรือนจำจะทำได้ และเป็นวิธีเดียวที่สันติที่สุดด้วย คนในสังคมตอนนี้ไม่ควรไปกดดันที่ผู้อดอาหารว่า เขาควรจะอดหรือไม่อด ควรจะต้องเลิกหรือไม่เลิก แน่นอนเราก็อยากให้เราเลิก เพราะมันเป็นเรื่องสุขภาพของเขา ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเสียไป แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำก่อนตอนนี้คือกดดันรัฐ กดดันกระบวนการยุติธรรม กดดันศาล ให้คืนความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องหาทั้งหมดก่อน

พูดง่ายๆ ก็ปล่อยเพื่อนเราให้ออกมากินข้าวนี่แหละค่ะ”

ความจริงแล้วโดยตัวบทกฎหมายมันไม่จำเป็นต้องมี แต่ไหนๆ มีแล้วทางปฏิบัติที่จะบังคับใช้ 112 ยิ่งเกินไปอีก เป็น double standard ทั้งตัวกฎหมายและขั้นตอนในการบังคับใช้กฎหมาย”

“คือ…คือ…ผมพูดไม่ออก ไม่มี ไม่มีคำตอบ” (ไชยันต์ รัชชกูล ตอบคำถามนี้ด้วยดวงตาที่แดงก่ำไปด้วยน้ำตาที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็น)

“เป็นการใช้ที่บิดเบือนและเป็นไปแต่ในทางที่จะกลั่นแกล้งผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งตามหลักกฎหมายในการตีความของ 112 ควรจะต้องตีความอย่างเคร่งครัดและดูที่เจตนารมณ์ เพราะเป็นความผิดอาญา ตอนนี้แม้แต่กระบวนการยุติธรรมที่จะพิสูจน์สิทธิยังไม่เปิดโอกาสให้เลย จึงเป็นการใช้กฎหมายที่บิดเบือนที่สุดและมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม เราไม่ควรจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่จะต้องแก้ไขการใช้กฎหมายที่บิดเบือนนี้”

“มันคือเจตนารมณ์ของเขา การที่จะไปบอกเขาว่าให้หยุดอดอาหารหรือเชียร์ให้ทำต่อ เป็นเรื่องของเจตนารมณ์ แต่สิ่งที่สังคมควรจะทำเป็นอย่างยิ่งและควรจะทำเร่งด่วนก่อนที่จะสายเกินไป คือการแก้ไขตามที่รุ้งและเพนกวินเรียกร้องในเรื่องกระบวนการยุติธรรม อันดับแรกคือปล่อยตัวคนที่ถูกขังโดยไม่ชอบและไม่เป็นธรรมออกมาก่อน เพื่อที่จะให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามครรลองที่ถูกต้อง”

“ก็เห็นเหมือนกับหลายๆ คนในประเทศว่า มันเป็นการใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการใช้อย่างหนักหน่วงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่เป็นผลดีเลยไม่ว่ากับใครก็แล้วแต่ ที่น่าเสียใจคือกฎหมายนี้ใช้กับเยาวชนของเรา เขากำลังจะเป็นกำลังของชาติในอนาคต มันไม่ควรจะเป็นอนาคตที่ถูกต้องสำหรับสังคมไทย”

“ที่เขาอดอาหารเพราะเขาต้องการจะประท้วงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่ให้สิทธิในฐานะที่เป็นพลเมืองกับเขา สิทธิที่จะต่อสู้คดี ตอนนี้ต้องเข้าใจว่าเขายังไม่ได้เป็นผู้ต้องหา ดังนั้นการจับกุมคุมขังเขาโดยไม่ให้สิทธิในการประกันตัว ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของการเป็นพลเมือง ซึ่งไม่ควรที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการที่เขาอดอาหารประท้วงเป็นบททดสอบที่สำคัญ การต่อสู้ด้วยสันติวิธีหลักๆ แล้วมันคือการทำให้คนรู้สึกละอายว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ผู้ที่ถืออำนาจอยู่เห็นในการประท้วงที่กระทำต่อร่างกายตนเองของเขา แล้วรู้สึกอย่างไร

การอดอาหารประท้วงเป็นสัตยาเคราะห์แบบหนึ่งซึ่งทำงานกับมนุษย์ ถ้ามนุษย์ยังคงมีหัวใจ มีสติสัมปชัญญะ มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เราทนกับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่แล้ว มันเป็นการทำลายตัวเองเพื่อเรียกร้องให้สังคมหันมาฉุดคิดถึงสิ่งไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น การอดอาหารมาเป็นเวลายาวนานขนาดนี้ส่วนตัวต้องขอบอกว่านับถือในจิตใจที่เข้มแข็งของเยาวชน เด็กหนุ่มสาวทั้งคู่

และการที่คนออกมายืนกันแบบนี้ส่วนหนึ่งก็ต้องการมาส่งกำลังใจ และส่งสารไปถึงผู้ที่ถืออำนาจอยู่ในขณะนี้ว่า หยุดได้แล้ว ให้สิทธิ และคืนสิทธิในการประกันตัวกับคนเหล่านี้ออกมาสู้คดีอย่างเป็นธรรมและถูกต้อง”

“เอาไว้ปิดปากคน จริงๆ แล้วมันไม่ควรมีด้วยซ้ำไปม. 112 หมิ่นประมาทธรรมดาก็ได้ถ้าอยากฟ้อง ม. 112 มันใครฟ้องก็ได้ ทุกวันนี้มันใช้เพื่อแค่กลั่นแกล้งกัน ทุกคนก็เอามาใช้ทางการเมืองซึ่งอันนี้เราคิดว่ามันผิดมากที่จะเอามาใช้แค่เพียงเพื่อกำจัดคนที่เห็นต่างทางการเมืองเท่านั้นเอง โดยเฉพาะคนที่ต้องการประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งผิดเลย”

“จริงๆ แล้วเราเป็นห่วง เราเป็นห่วงเพนกวินกับรุ้งในตอนนี้มาก เราก็พยายามกันแล้วที่จะส่งจดหมายไปบอกว่าเลิกอดเถอะ แล้วเราจะสู้อยู่ข้างนอกด้วยกัน แต่เราก็เคารพการตัดสินใจของเขาและเขาก็มุ่งมั่นมาก ความมุ่งมั่นนี้เราไปขวางทางเขาไม่ได้ ในขณะเดียวกันเราก็เป็นห่วงเขามาก”

“มันก็ไม่สมควรจะมีมาตั้งนานแล้ว เพราะว่ามันทำให้เหมือนว่าเราไม่สามารถพูดอะไรเกี่ยวกับสถาบันได้เลย เราไม่มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมันไม่สมควรจะเป็นแบบนี้มาตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ในสังคมประชาธิปไตยเรามีสิทธิที่จะพูดถึงทุกอย่างได้ ทุกคนได้ ทุกคนเท่าเทียมกัน”

“สำหรับผม ผมอยากสื่อสารไปให้เขารู้ว่าอย่าเพิ่งรีบเป็นอะไรในนั้น กลับมากินอาหารเถอะ จะได้เก็บแรงงานไว้สู้กันต่อ”

 

“รู้สึกว่าเป็นมาตราที่เอาไว้กำจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างเดียว มันเป็นกฎหมายที่ทำให้กลัวจนคนไม่ได้ตั้งคำถามแล้วว่าสิ่งที่คนกลัวจริงๆ คืออะไร แม้แต่เลข 112 ก็ทำให้เกิดความกลัวได้ สำหรับเรามันถูกใช้จนเป็นแค่เครื่องมือกำจัดคนที่เห็นต่าง เพื่อสร้างความกลัวเฉยๆ”

“คำถามนี้ยากนะ เราสนับสนุนทุกการกระทำที่ทุกคนตัดสินใจ แต่ถ้าถามเรื่องความรู้สึกมันก็ยากที่จะไม่รู้สึกเศร้า ตอนนี้มีกลุ่มอดพร้อมเพื่อนเราก็ลองอดอาหารไป 1 วัน รู้สึกว่ามันลำบากมาก ไม่รู้ว่าคนที่อดอาหาร 30 วันจะอยู่อย่างไง ตอนนี้เหมือนรัฐมันหมดความเป็นธรรมมากจนไม่สามารถขอความเมตตาในฐานะมนุษย์ได้แล้ว”

“มันเกินไปจริงๆ มันเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ที่จริง 112 ครอบคลุมแค่พระมหากษัตริย์ ราชินี ผู้แทนราชการ แต่ตอนนี้แค่เห็นต่างอะไรนิดเดียวก็ยัดข้อหา 112 ใครก็แจ้งได้ สมควรต้องยกเลิก”

“ยอมรับการตัดสินใจของเขานะที่เขาทำแบบนั้น แต่ก็ไม่อยากให้เขาอดอาหาร เป็นห่วงเขาครับ”

“ก็ไม่เห็นด้วยมาตั้งนานแล้วที่มีกฎหมายนี้ออกมา มันเป็นกฎหมายที่ประหลาด เปิดโอกาสให้ใครไปแจ้งก็ได้ ปกติกฎหมายหมิ่นประมาทต้องให้คนที่เป็นเจ้าทุกข์ไปแจ้งความ แต่พอใครไปแจ้งก็ได้มันก็เกิดความไม่เคลียร์ขึ้นมาว่าคนที่ไปแจ้งถูกหมิ่นหรือว่าเสียหายอย่างไร และพอเกิดมาตรานี้ขึ้นมาเจ้าหน้าที่รัฐเขาก็ตอบสนองมันอย่างรวดเร็ว ผิดกับคดีอื่นๆ ที่เราเคยรับรู้มาว่ากระบวนการทางยุติธรรมจะช้ามาก เช่นคดีคนที่ไปอดข้าวหน้าศาลที่กรุงเทพ เขาโดน 112 นานแล้วที่เชียงราย แต่พอเขาไปทำกิจกรรมทางการเมือง ไปประท้วงโดยสันติ นั่งอดข้าว ก็กลายเป็นว่าเขาโดนจับข้อหา 112 ไปเล่นงานเขาที่เขาอดข้าวไม่ได้ ก็หาทางทำอย่างอื่น”

“เราเห็นด้วยกับการต่อสู้โดยสันติ แต่เรารู้สึก เรามองกันในแง่ของเพื่อนมากกว่า เฮ้ย เราไม่อยากเห็นนายเป็นอะไรไป เรานับถือมากๆ เห็นด้วยมากๆ แต่ก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกันเราเป็นห่วงเขา รัฐเรามันเลือดเย็นเกินไป มันเหี้ยมมาก คดียังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนด้วยซ้ำ แล้วจะมาพูดว่ากลัวจะไปทำผิดซ้ำ ในขณะที่เขายังไม่ได้ถูกตัดสินว่าทำความผิด เป็นข้ออ้างที่ทำลายความชอบธรรมความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมันควรจะเป็นที่พึ่งสุดท้าย”

“ก็เหมือนทุกคนที่เห็น ไม่มีความเป็นธรรม แล้วก็คิดว่ามันควรจะยกเลิกได้แล้ว ในขณะนี้จริงๆ แล้วประชาชนต่างหากที่เป็นที่พึ่งของศาล ศาลไม่ได้ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งของประชาชน เมื่อไหร่ก็ตามที่ศาลไม่มีคุณภาพ ผมคิดว่าประชาชนจะเปลี่ยนคุณภาพของศาล ซึ่งตอนนี้ทุกคนก็กำลังทำอยู่ โดยเฉพาะประเด็น 112”

“ผมเคารพในการตัดสินใจของเขามากเลย และผมคิดว่าการตัดสินใจของคนหนุ่มสาวมีความหนักแน่นและมั่นคงไม่เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา ผมเคารพมากเลย”

“มันไม่นับเป็นกฎหมายอยู่แล้วตั้งแต่แรก มันอยุติธรรม แล้วก็เอามากลั่นแกล้งทางการเมืองมากกว่า”

“มันเหมือนกับประชาชนที่รักประชาธิปไตยถูกต้อนให้ต้องทำได้แค่สิ่งนี้ ณ ตอนนี้ ผมเคารพแล้วก็ชื่นชมเขา ทั้งที่อยากให้เขารักษาชีวิตไว้ แต่ก็เข้าใจว่ามันเป็นสิ่งเดียวที่สู้ได้ด้วยวิธีนี้”

“เราคิดว่ามันมีความกว้างในการตีความมากๆ เห็นได้ชัดว่ากฎหมายนี้สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับคนเห็นต่างหรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราตอนนี้ชัดเจนมากๆ ว่ามันถูกใช้เป็นเครื่องมือ จริงๆ กฎหมายนี้ลิดรอนสิทธิมนุษยชน มีความไม่เท่าเทียมกันสูงมาก และตอนนี้ก็มีหลายคนที่โดน อะไรก็สามารถตีความให้เข้าข่าย เรามองว่ากฎหมายนี้เป็นปัญหาเพราะมันดันไปขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของศาลหรือผู้ฟ้อง ซึ่งพอไปขึ้นอยู่กับวิจารณญาณขอบข่ายความผิดมันไม่ชัดเจน อยากคิดจะดึงใครเข้าคุกหรือโดนคดี ก็สามารถปัดไปให้โดน 112 ได้”

“เรานับถือใจในสิ่งที่เขาตัดสินใจทำ เราซาบซึ้ง ในแง่หนึ่งเราก็ยังเป็นวัยรุ่นคนหนึ่ง แล้วเขาเด็กกว่าเราอีก เด็ก 2 คนนี้ตอนนี้กำลังอยู่ในคุกด้วยความผิดที่โดนกล่าวหา ยังไม่ได้ตัดสิน ไม่มีอะไรยุติธรรมทั้งนั้น หลักการพังไปแล้ว เรามองว่าการอดอาหารของเขา เขาไม่ได้ต้องการให้คนข้างบนเห็นใจหรอก มันเป็นสัญญาณถึงคนข้างนอกมากกว่าว่าเราทนมองเด็ก 2 คนนี้อดอาหารแบบนี้กันไหวจริงๆ เหรอ ข้างบนนั้นเขาไม่สนหรอก ศาล รัฐบาล หรืออะไร อดไปก็อดไปสิ แต่เราทนมองเขาไม่ไหวแล้วนะ เราเจ็บปวดกับสิ่งที่เขาเลือกทำ แต่เราก็นับถือกับสิ่งที่เขาทำ”

“ผมว่ามันเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง ในวันนี้ขณะที่ผมยืนอยู่ในช่วงเวลาของ 112 นาที ในความเงียบของ 112 นาทีมันบอกอะไรผมหลายอย่าง หนึ่ง ในความเงียบนี้สิ่งที่ผมรู้สึกและสัมผัสได้เป็นโครงสร้างของความรู้สึกของคนในสังคมที่ผมเรียกว่าเป็น “สหกรณ์ร่วมทุกข์” ที่คนเป็นล้านๆ คนมีความทุกข์ และฝันถึงโลกที่ปรารถนาไปในทางเดียวกัน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ของข้อจำกัดทางกฎหมายที่เขาไม่สามารถจะพูดอะไร หรือแสดงออกอะไรได้อย่างมีอิสรภาพ นั้นคือส่วนที่หนึ่งของม. 112

สอง ขณะที่ผมอยู่ในความเงียบงัน ผมพยายามที่จะเพ่งพิจารณาสติและหวังว่าหลังจากนี้ต่อไปคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ และศาล ก่อนที่จะคิดตัดสินใจและทำอะไรขอให้นับเลขในใจ 1 ถึง 112 แล้วก็ใช้วิจารณญาณในกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายอย่างถึงที่สุด

สาม สิ่งที่ผมได้จากการยืนในความเงียบ 112 นาที ผมรู้สึกสัมผัสถึงอนาคตของเยาวชนที่ถูกจำคุกอยู่ รวมทั้งคนอื่นที่ทำคุณาประโยชน์ให้กับสังคมนี้อีกหลายคน ทั้งทนายอานนท์ พี่สมยศ คนเหล่านี้คือมันสมองของชาติ คุกไม่ใช่ที่อยู่ของพวกเขา ผมหวังว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้จะคิดถึงเรื่องนี้อย่างมีสติและปล่อยเขาออกมาทำประโยชน์เถอะ สิ่งที่เขาต่อสู้เรียกร้องไม่ใช่เรื่องผิดในฐานะความเป็นมนุษย์หรือความเป็นคนเลย เขาอยากจะเห็นสังคมที่มันดีขึ้น อยากจะใช้สิทธิเสรีภาพในการพัฒนาบ้านเมือง เขาไม่ได้คิดว่าจะไปล้มล้างสถาบันใดๆ

ต่อมาสิ่งที่ผมได้ค้นพบในการอยู่ในความเงียบงัน 112 นาทีก็คือ การงานใดๆ ในโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย การเมือง หรือแม้แต่ศิลปวัฒนธรรม ถ้าไม่เล็งเห็นถึงคุณค่าของความเป็นคนหรือความเป็นมนุษย์ สิ่งเหล่านั้นไร้ซึ่งความหมายและมีนัยยะของการซ่อนความรุนแรง ความโหดร้ายทารุณ เอาไว้เบื้องหลัง กฎหมายก็เช่นเดียวกัน ตุลาการ ศาล ถ้าใช้กฎหมายอย่างไม่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ผมว่ากฎหมายนั้นไร้ประโยชน์”

“อย่างที่เราทราบว่า ตอนนี้มีกระแสของกองเชียร์ของรุ้งและเพนกวินที่แตกออกเป็น 2 สาย สายหนึ่งให้หยุดเสียเถิดในการอดอาหาร เพราะมันอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ สายที่สองก็แล้วแต่การตัดสินใจของทั้ง 2 คนนั้น ผมว่าเรื่องนี้ผมพูดแทนใครไม่ได้เลย แต่สิ่งที่เราเห็นเป็นปรากฏก็คือทุกคนเห็นพ้องร่วมกันว่าเรือนจำเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และการใช้กฎหมายม. 112 เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าไม่มี 2 ส่วนนี้เพนกวินและรุ้งก็ไม่จำเป็นต้องอดข้าว และก็ไม่มีใครต้องอดข้าวในสังคมไทย ขอให้เราพิจารณาในเรื่องนี้ดีกว่า การที่เพนกวินและรุ้งจะอดข้าวหรือไม่อดข้าวต่อ ผมคิดแทนเขาไม่ได้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net