นักปรัชญาชายขอบ: ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีความยุติธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ที่มาภาพ https://www.youtube.com/watch?v=5-JQ17X6VNg

ความยุติธรรมคืออะไร? น่าจะเป็นคำถามเก่าแก่ของมนุษย์ เริ่มจากเมื่อเราอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม จนเป็นสังคมขนาดใหญ่หรือเป็นรัฐ คำถามที่เกิดขึ้นคือ ความยุติธรรมระหว่างบุคคล หรือระหว่างนาย ก. กับนาย ข.คืออะไร ไปจนถึงถามว่าความยุติธรรมทางสังคมคืออะไร ความยุติธรรมอันเป็นหน้าที่รัฐต้องปฏิบัติต่อปัจเจกบุคคลและส่วนรวมคืออะไร เป็นต้น 

ในประเพณีทางปัญญากรีกโบราณหรือปรัชญากรีกถือว่า ความยุติธรรม (justice) เป็นคุณธรรม (virtue) สำคัญที่ขาดไม่ได้ควบคู่กับปัญญา, ความกล้าหาญ และการควบคุมตนเองให้ดำเนินชีวิตอย่างมีดุลยภาพระหว่างการทำตามเหตุผลกับอารมณ์ ซึ่งคุณธรรมสี่ประการนี้จะต้องฝึกฝนจนมีความเป็นเลิศ หรือเป็นคนที่มีคาแร็คเตอร์ อุปนิสัยเด่นชัดว่าคุณเป็นคนยุติธรรม มีปัญญา กล้าหาญ และใช้ชีวิตอย่างมีดุลยภาพเป็นพฤติกรรมปกติ 

แต่ฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) วิจารณ์ว่าคุณธรรมแบบปรัชญากรีกเป็นคุณธรรมของพวกอีลีท เพราะมีแต่สังคมพวกอีลีทเท่านั้นแหละที่อยู่ในสถานะจะฝึกความเป็นเลิศทางปัญญา ความกล้าหาญ ดุลยภาพของเหตุผลและอารมณ์ และความยุติธรรมที่ว่านั้นได้ คนส่วนใหญ่อยู่ห่างไกลจากการเรียนรู้และฝึกฝนคุณธรรมเหล่านั้น 

แน่นอน นีตซ์เชผู้ประกาศว่า “พระเจ้าตายแล้ว” เขาวิจารณ์ด้วยว่าคุณธรรมแบบคริสต์ศาสนาที่สอนว่าจงให้ “อภัยแก่ศัตรู” หรือ “เมื่อถูกใครตบแก้มก็จงหันอีกข้างให้เขาตบ” นั่นเป็น “คุณธรรมแบบทาส” เพราะการฝึกความอดทนต่อการถูกกระทำจากอำนาจที่เหนือกว่าย่อมเป็นทางรอดจากการถูกบดขยี้ในวิถีชีวิตแบบทาส การอาฆาตมาดร้ายต่อนายเหนือหัว นอกจากจะทุกข์ใจและไร้ประโยชน์แล้วยังอาจนำอันตรายมาสู่ตนเอง

ในมุมมองแบบนีตซ์เช ดูจะมีเพียงเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง “ความเป็นมนุษย์” กับ “ความเป็นสัตว์” ในตัวเรา เพราะธรรมชาติของมนุษย์คือ “เจตนำนงที่จะมีอำนาจ” (the will to power) เหนือกันและกันเสมอ ในยุคสมัยใหนึ่งเมื่อชาวยิวถูกกดลงเป็นทาสของชาวอียิปต์และถูกกดขี่จากชาวโรมัน คุณธรรมแบบทาสคือสิ่งปลอบประโลมใจของพวกเขา ครั้นเมื่อคริสต์กลายมาเป็นศาสนาของชาวยุโรป ศาสนจักรคริสต์และกษัตริย์คริสต์กลายเป็นผู้กดขี่ในนามของพระเจ้า 

เส้นแบ่งระหว่าง “เหตุผล” กับ “อารมณ์” ก็มัวซัวอีกเช่นกัน มนุษย์ทำตามเหตุผลหรือสัญชาตญาณแบบสัตว์กันแน่ หรืออีกนัยหนึ่งสัญชาตญาณแบบสัตว์หรือเหตุผลกันแน่ที่นำมวลมนุษย์เข้าสู่สงครามศาสนา สงครามหระว่างรัฐต่างๆ กระทั่งสงครามโลกตลอดประวัติศาสตร์ยาวนาน คำถามแบบนีตซ์เชท้าทายต่อความเข้าใจและศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของเรา

ครั้นหันมามองสังคมศาสนาตะวันออก คงไม่ผิดจากความเป็นจริงนัก หากจะบอกว่าสังคมศาสนาตะวันออกเก่งในเรื่อง “ปิดซ่อน” ความอยุติธรรมและความเลวร้ายนานาไว้ใต้ “พรมศาสนา” อย่างแนบเนียน เพราะผู้คนถูกปลูกฝังให้เชื่อตามๆ กันว่า “ศาสนา” มีแต่ “ด้านดี” ดังนั้น ผู้นำในนามศาสนาไม่ว่าจะเป็นศาสดา สาวก นักบวช กษัตริย์ที่เป็นเทวราช สมติเทพ ธรรมราชาจึงถูกเน้นมองแต่ด้านดี และถูกสดุดีสรรเสริญว่าสูงส่งเหนือสามัญมนุษย์

แม้แต่ในโลกสมัยใหม่ ผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองเคร่งศาสนาอย่างมหาตมะ คานธี ที่ใช้หลัก “อหิงสา-สัตยาเคราะห์” ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวอินเดีย จนกลายเป็นต้นแบบ “อารยะขัดขืน” ที่ถูกพูดถึงทั่วโลก แต่คานธีก็ซุกซ่อน “ความอยุติธรรมอำมหิต” ไว้ใต้พรมสันติวิธีอย่างแนบเนียน เมื่อเขาปฏิเสธข้อเสนอยกเลิกระบบวรรณะ ด้วยเหตุผลที่แสนเลือดเย็นว่าการรับเอาระบบสังคมตะวันตกมาใช้แทนระบบวรรณะเป็นการไม่เคารพต่อหลักการอมตะของบรรพชนฮินดู และจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมอินเดีย

ดังนั้น ความยุติธรรมในสังคมศาสนาน่าจะหมายถึงแบบที่แปลอย่างไทยๆ กันว่า “ยุติโดยธรรม” ในสังสังคมอินเดียก็คือยุติโดยธรรมที่กำหนดระบบวรรณะ ในสังคมสยามไทยที่รับอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์-พุทธจากอินเดีย ความยุติธรรมก็คือ “ยุติโดยธรรมของราชา” ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับอำนาจนามนิยามของผู้เป็นกษัตริย์ที่ปกครองโดยธรรมว่าแบบไหนจึงยุติธรรม!

แต่ในโลกทางปัญญาตะวันตก ความยุติธรรมคือ “justice” เป็นประเด็นถกเถียงยาวนาน จอห์น รอลส์ (John Rawls) นักปรัชญาชาวอเมริกันคือผู้ที่ทำให้ประเด็นปัญหาเรื่องความยุติธรรมกลายเป็นประเด็นปัญหาพื้นฐานสำคัญทางปรัชญาการเมืองในศตวรรษที่ 20 ที่ทำให้นักปรัชญายุคนี้ต้องหันมาร่วมวงถกเถียงและขยายความ 

ในหนังสือ “ทฤษฎีความยุติธรรม” (A Theory of Justice) รอลส์พยายามจะหาคำตอบว่าความยุติธรรมในสังคมเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) คืออะไร เขาเริ่มจากมุมมองแบบเสรีนิยมว่า ในสังคมประกอบด้วยปัจเจกบุคคลที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความเชื่อและ ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะแตกต่างกันอย่างไรทุกคนมีความเป็น “คนเท่ากัน” แล้วคนที่แตกต่างกันสารพัดแต่เป็นคนเท่ากัน ควรจะมีหรือใช้หลักความยุติธรรมอะไรในการอยู่ร่วมกัน 

วิธีการได้มาซึ่งหลักความยุติธรรม รอลส์เสนอไว้ค่อนข้างซับซ้อน แต่โดยสรุปคือ หลักความยุติธรรมบนฐานของการยืนยันความเป็นคนเท่ากัน ต้องมี 2 ประการ ที่ขาดไม่ได้ คือ

1. หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม (the principle of equal liberty) ถือว่าทุกคนต้องมีเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ เท่าเทียมกันทั้งเสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนบุคคล เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก เสรีภาพทางการเมือง 

ถ้าแบบไทย การที่ฝ่ายปกป้องสถาบันกษัตริย์มีเสรีภาพในการเสนอด้านดีของสถาบันได้เต็มที่ในทุกพื้นที่ แต่อีกฝ่ายไม่มีเสรีภาพแบบเดียวกันนั้น แถมยังถูกล่าแม่มดด้วย ม.112 และวิธีการนอกกฎหมาย กระทั่งวิธีการใช้กฎหมายอย่างอยุติธรรม เช่น ให้สิทธิ์ประกันตัวแก่ฝ่ายปกป้องสถาบัน แต่ไม่ให้สิทธิ์ประกันตัวแก่ฝ่ายเสนอปฏิรูปสถาบันเป็นต้น นี่ย่อมเป็น “ความอยุติธรรม” ชัดแจ้ง เพราะขัดหลักเสรีภาพที่เท่าเทียม

2. หลักความแตกต่าง (the difference principle) คือ หลัการที่กำหนดว่ารัฐจะจัดการหรือบริหารความแตกต่างตามที่มีอยู่จริงในสังคมอย่างไร รอลส์เสนอสองแนวทาง คือ

แนวทางแรก ในการจัดการความแตกต่างเกี่ยวกับโอกาสก้าวหน้าของปัจเจกบุคคลและสังคม รัฐต้องเปิดกว้างมากที่สุดหรือเปิดโอกาสให้คนที่มีความคิด ความเชื่อ ความรู้ ความสามารถที่แตกต่างหลากหลายได้แข่งขันภายใต้ “กติกาที่เสรีและเป็นธรรม” มากที่สุดในการเข้าสู่ตำแหน่งสาธารณะต่างๆ หรือกำหนดกติกาที่เป็นธรรมที่สุดในการเข้าถึงโอกาสเพื่อความก้าวหน้าต่างๆ เช่น โอกาสทางการศึกษา การมีงานทำ การเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ (เช่น จะตัดโควต้าการเรียนต่อ การเข้ารับราชการ ด้วยการอ้างว่าเขาไม่ศรัทธาหรือไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ เป็นต้น)   

โดยหลักการนี้ ระบบศักดินาที่ยึด “อภิสิทธิ์ทางชาติกำเนิด” หรืออำนาจสิทธิ์ขาดของชนชั้นสูง ย่อม “อยุติธรรม” อย่างชัดแจ้ง เพราะการใช้อภิสิทธิ์ทางชาติกำเนิดหรือการใช้อำนาจสิทธิ์ขาดของชนชั้นสูงในการเข้าสู่ตำแหน่งสาธารณะที่รับผลประโยชน์ เกียรติ ยศศักดิ์ฐานันดรจากเงินภาษีประชาชน ย่อมขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับหลักการเปิดกว้างและการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ซ้ำระบบศักดินายังเป็นระบบเส้นสายหรือระบบอุปถัมภ์นิยมอำนาจนิยมที่เอื้อต่อการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของเครือข่ายกษัตริย์นิยมอีกด้วย

แนวทางที่สอง ในการจัดการความแตกต่างกรณีที่พลเมืองบางส่วนตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบ หรือไม่สามารถใช้เสรีภาพที่เท่าเทียมในด้านต่างๆ กับคนทั่วไปได้ เช่น คนพิการ คนยากจน และคนชายขอบอื่นๆ รัฐต้องจัดสวัสดิการต่างๆ ให้เป็น “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ที่พลเมืองเหล่านั้นต้องได้รับ เพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีพอ จนสามารถที่จะใช้เสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนบุคคลและเสรีภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเท่าเทียมกับคนทั่วไป 

แนวทางนี้เน้นถึงการสร้างสวัสดิการในฐานะเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐาน” แก่พลเมืองทุกคน ซึ่งเป็นการส่งเสริมพลเมืองให้สามารถใช้ “เสรีภาพเชิงบวก” (positive freedom) คือ เสรีภาพในการริเริ่มแสวงหาและกระทำสิ่งต่างๆ ตามความฝันของตนเอง ตลอดทั้งสร้างสรรค์ผลงาน อาชีพและอื่นๆ ตามความรัก ความสามารถของตนเอง ซึ่งจะเป็นไปได้จริงด้วยการที่รัฐให้หลักประกันสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ส่งเสริมการศึกษา อาชีพที่หลายหลาย และไม่ทอดทิ้งคนที่ตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบในสังคม

เมื่อมองจากแนวทางนี้ การที่รัฐให้การ “ดูแลเป็นพิเศษ” แก่คนบางครอบครัวด้วยการทุ่มงบประมาณให้เกือบ 40,000 ล้านบาท ต่อปี ขณะที่ทุกครอบครัวในประเทศได้รับงบประมาณดูแลเฉลี่ยครอบครัวละประมาณ 30,000 บาทกว่าๆ ย่อมเป็น “ความอยุติธรรม” อย่างชัดแจ้ง

ดังนั้น เมื่อใช้หลักความความยุติธรรมคือ หลักเสรีภาพที่เท่าเทียมและหลักความแตกต่างสองแนวทางดังกล่าวมาเป็นกรอบวิเคราะห์สังคมไทย เห็นได้ชัดเจนว่าสังคมไทยเป็นสังคมอยุติธรรมทางการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ และอื่นๆ เพราะเป็นสังคมที่ไม่มีเสรีภาพที่เท่าเทียม ไม่มีระบบแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ซ้ำรัฐยังให้การดูแลเป็นพิเศษแก่คนบางตระกูล แทนที่จะให้หลักประกันสวัสดิการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐนของประชาชนทุกคน

กรณีแกนนำราษฎรแถลงขอ “ถอนทนายความ” ต่อศาลเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา อันเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ตามกฎหมายสันนิษฐานว่ายังเป็น “ผู้บริสุทธิ์” และต้องได้รับสิทธิ์ประกันตัว แต่พวกเขาไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัว แม้ต่อมาบางคนจะได้สิทธิ์ประกันตัว แต่ก็ได้สิทธิ์นั้นภายใต้เงื่อนไขว่าต้องไม่ตั้งคำถามและวิจารณ์สถาบันกษัตริย์อีก เท่ากับว่ากระบวนการยุติธรรมภายใต้ ม. 112 เป็นกระบวนการคุมขังเพื่อบังคับให้พลเมืองสยบยอม หรือ “บังคับให้สละเสรีภาพ” ทางความคิดเห็นและเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งเท่ากับบังคับให้ไม่สามารถจะมี “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ได้ นี่คือความอยุติธรรมที่เกินจะรับได้ เพราะขัดกับหลักเสรีภาพที่เท่าเทียม 

หากมองตามกรอบความยุติธรรมในสังคมเสรีประชาธิปไตยตามทัศนะของรอลส์ การต่อสู้ของแกนนำราษฎรคือการต่อสู้เพื่อให้ประเทศนี้มี “ความยุติธรรม” ตามระบอบเสรีประชาธิปไตยได้จริง นอกจากพวกเขาจะไม่ได้ทำอะไรผิดแล้ว ยังทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างชัดแจ้ง 

แล้วพวกเขาผิดอะไรหรือจึงต้องถูกขังคุกโดยไม่ให้สิทธิ์ประกันราวกับจงใจให้ต้องตายในคุก หลายคนอาจมีคำตอบว่าผิดเพราะอะไรหรือ “ใคร” กำหนดให้ต้องผิด แต่ถึงอย่างไรเราก็ไม่สามารถอธิบายเหตุผลที่ชอบรรมใดๆ ได้อยู่ดี เห็นภาพข้างล่างนี้แล้ว ชวนให้โกรธแค้นความอยุติธรรมอย่างที่สุดและหดหู่ที่สุด ผมขอจบบทความนี้ด้วยบทกวีหัดแต่งท้ายภาพประวัติศาสตร์ที่สะเทือนใจนี้


(ที่มาภาพ https://www.facebook.com/.../a.1015339.../10165278452220551/)

 

#พ่อหนูทำผิดอะไร

แม่จ๋าพ่อทำไมอยู่ในนั้น

ใครนั่งประกบพ่อฉันไม่รู้

พี่ที่นั่งรถเข็นเขาห้ามแม่มาดู

หนูรู้แม่ร้องไห้ไม่เว้นวัน

 

แต่หนูไม่รู้เหตุผล

พ่อ พี่ และทุกคนอยู่ในนั้น

แล้วเขาก็แยกเราออกจากกัน

เฝ้ารอวันนั่งตักพ่อหนูรอนาน

 

ที่โรงเรียนครูให้ฝึกคัดลายมือ

มีรูปภาพ ตัวหนังสือให้หัดอ่าน

“ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ยิ่งยืนนาน

คือจิตวิญญาณความเป็นไทย

 

พ่อและเพื่อนทำอะไรผิด

จึงไร้สิทธิ์ประกันตัวที่ต้องได้

ถามแม่ แม่ก็ไม่เข้าใจ

ในโลกนี้ใครรู้บอกหนูที

 

#ปล่อยเพื่อนเรา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท