Skip to main content
sharethis

กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ชี้แจงการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่ม 'สามัคคีประชาชน' ที่สวนสันติพรเมื่อวันที่ 4, 5 และ 7 เม.ย.

18 เม.ย. 2564 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ชี้แจงการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม นายจตุพร พรหมพันธุ์ พร้อมพวก ในห้วงเดือน เม.ย. 2564 ดังนี้

ตามที่กลุ่มสามัคคีประชาชน เพื่อประชาธิปไตย นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้จัดให้มีการชุมนุมที่บริเวณ อนุสรณ์อนุสรณ์สถานพฤษภา 35 สวนสันติพร เมื่อวันที่ 4, 5 และ 7 เม.ย. ซึ่งยังอยู่ระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อกำหนดและประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นั้นกรณีดังกล่าว สน.ชนะสงคราม ได้ดำเนินคดีกับแกนนำ ผู้ที่ขึ้นปราศรัย ในแต่ละวัน แยกเป็นคดีๆ ไป รายละเอียด ดังนี้

การชุมนุมวันที่ 4 เม.ย. ดำเนินคดีนายจตุพร พรหมพันธุ์ กับพวก รวม 18 คน ในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งหมดให้มาพบในวันที่ 15-16 เม.ย. ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดได้ขอเลื่อนการเข้าพบเป็นวันที่ 13-14 พ.ค. พนักงานสอบสวนรับทราบการขอเลื่อนการเข้าพบแล้ว

การชุมนุมวันที่ 5 เม.ย. ดำเนินคดีนายจตุพร พรหมพันธุ์ กับพวก รวม 14 คน ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งหมดให้มาพบในวันที่ 26 เม.ย.

การชุมนุม วันที่ 7 เม.ย. ดำเนินคดีนายจตุพร พรหมพันธุ์ กับพวก (อยู่ระหว่างการพิสูจน์ทราบตัวบุคคลให้ครบถ้วน) ในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยจะได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้มาพบในวันที่ 29 เม.ย.

บช.น. จะได้ชี้แจงความคืบหน้าในการดำเนินคดีให้ทราบต่อไป

เปิดรายชื่อ สามัคคีประชาชน 32 รายชื่อโดนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ วันละคดี

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และผู้ร่วมก่อตั้ง คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่าตามที่กลุ่มไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย จัดเวทีอภิปรายสาธารณะในวันที่ 4-5 เมษายนที่ผ่านมา ณ สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม นั้น ปรากฎว่ามีผู้ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีละเมิด พรก.ฉุกเฉินฯ โดยขัดคำสั่งฉบับที่ 5 เนื่องจาก "ร่วมกันชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นการฝ่าฝืน ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง การห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 5 ออกตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9" โดยมีรายชื่อดังนี้

บุคคลขึ้นเวทีอภิปรายสาธารณะในการชุมนุมวันที่ 4 เมษายน 2564 ถูกตั้งข้อหารวมทั้งสิ้น 18 ราย หมายเรียกให้ไปรายงานตัววันที่ 15 เม.ย. 2564 ทนายได้ขอเลื่อนเป็นวันที่ 13 พ.ค. 2564 ประกอบไปด้วย 1.นายพงศ์พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง 2.นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ 3.นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง 4.พ.ท.หญิงกมลพรรณ์ ชีวพันธ์ศรี 5.นายการุณ ใสงาม 6.นายยศวริศ ชูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิก) 7.นายวีระ สมความคิด 8.นายจตุพร พรหมพันธ์ และมีหมายเรียกให้ไปรายงานตัววันที่ 16 เม.ย. 2564 อีกกลุ่มหนึ่งโดยทนายได้ขอเลื่อนเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ประกอบไปด้วย 1.นายเมธา มาสขาว 2.นายไทกร พลสุวรรณ 3.นายศักดิ์ณรงค์ มงคล  4.นายสุวิช สุมานนท์ 5.นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ 6.นางพะเยาว์ อัคฮาด 7.นายณัทพัช อัคฮาด 8.นายวสันต์ สิทธิเขตต์ 9.น.ส.วรรณพร ฉิมบรรจง และ 10.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ

วันนี้ตนได้รับแจ้งหมายที่สองมาแล้ว ลงวันที่ 16 เม.ย. 2564 ตั้งข้อหาว่าละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการชุมนุมวันที่ 5 เม.ย. 2564 โดยมีผู้ถูกตั้งข้อหาทั้งสิ้น 14 คน คือ 1.นายจอมพล รุ่งเรืองชูเลิศ 2.นายธนเดช ศรีสงคราม 3.นายเศวต ทินกูล 4.นายอดุลย์ (คงคณิต) เขียวบริบูรณ์ 5.ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี 6.นายจตุพร พรหมพันธุ์ 7.นายยศวริศ ชูกล่อม 8.นายวีระ สมความคิด 9.นายไทกร พลสุวรรณ 10.นายอิฐกรณ์ อ้นวงศา 11.นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ 12.นายณัทพัช อัคฮาด 13.นายพงศ์พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง และ 14.นายเมธา มาสขาว โดยพนักงานสอบสวนเรียกให้ไปรายงานตัวที่ สน.ชนะสงคราม ในในวันที่ 26 เมษายนนี้

และทราบจาก บช.น.อีกว่า จะมีการตั้งข้อหาในเวทีสามัคคีประชาชนในวันที่ 7 เม.ย. 2564 เพิ่มอีกคดี ซึ่งเป็นวันแถลงข่าวประกาศยุติการชุมนุมเนื่องจากโควิดระบาดอีก โดยมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ขึ้นเวทีประกาศยุติการชุมนุมแค่คนเดียว แต่ตำรวจยังจะตั้งข้อหารายวันวันนี้ด้วย โดยจะออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้มาพบในวันที่ 29 เม.ย. ซึ่งยังไม่ทราบว่าใครบ้าง

เมธา ระบุว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจแม้จะบอกว่าถูกกดดันมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตาม แต่การตั้งข้อหาแบบนี้ถือเป็นการกลั่นแกล้งคุกคามประชาชนโดยการใช้กฎหมายที่มิชอบละเมิดสิทธิ์อย่างชัดเจน เนื่องจากการจัดเวทีไทยไม่ทนของคณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย ดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขทุกอย่างเพื่อป้องกันโควิดระบาด การให้ตำรวจร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อปิดปากแกนนำแต่ละคนด้วยคดีความ เพื่อไม่ให้พูดชำแหละปัญหาการบริหารบ้านเมืองผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจที่สุดและเราจะจดจำไว้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจคนไหนที่รับใช้รัฐบาลกลั่นแกล้งรังแกประชาชนบ้าง

หากกองบัญชาการตำรวจนครบาลอ้างว่าได้รับการกดดันจากผู้มีอำนาจในรัฐบาล แล้วจึงกดดันมายังพนักงานสอบสวนที่ สน.ชนะสงครามอีกทีหนึ่งนั้น การดำเนินคดีอย่างมากก็ตั้งแค่คดีเดียวคือละเมิดประกาศฉบับที่ 5 ตามพรก.ฉุกเฉินฯ โดยจัดเวทีสามัคคีประชาชนมีคนมาร่วมจำนวนมาก คณะจะได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ตามสิทธิในกระบวนการยุติธรรม แต่นี่มีความตั้งใจในการเลือกปฏิบัติหรือไม่ โดยตั้งคดีเป็นรายวัน-วันละคดี แทนที่จะตั้งข้อหาคดีเดียวรวบยอดแต่ก็ไปเต้นตามเขา ไปแยกเป็นรายวัน ถ้าแบบนี้มีการจัดเวทีการชุมนุม 193 วันไม่ต้องตั้งถึง 193 คดีเลยหรือต่อคนหนึ่ง ถ้าไม่ใช่การกลั่นแกล้งคุกคามประชาชนจะเรียกว่าอะไร

ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้ว เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยังออกมากล่าวว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงจะไม่ใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มาห้ามการชุมนุม เพื่อแสดงให้เห็นว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่จะต่อออกไปเรื่อยๆ นั้น มีเจตนาโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อใช้ควบคุมโรคเพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลกลับมาใช้กับการชุมนุมทางการเมืองในที่สุด เพื่อปกป้องอำนาจของตัวเอง เนื่องจากการชุมนุมกันไม่ได้ทำให้เกิดการระบาดเสมอไป โดยเฉพาะถ้าผู้ร่วมชุมนุมสวมหน้ากากและรวมตัวกันในพื้นที่เปิด ความเสี่ยงของการแพร่เชื้อก็จะลดลง รัฐบาลเองต่างหากที่บริหารผิดพลาดจนโควิดระบาดระลอก 3 อย่างรุนแรงในปัจจุบัน

เมธา ระบุว่าจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเลิก พรก.ฉุกเฉินฯ หยุดการใช้อำนาจมิชอบ เรามี พรบ.ควบคุมโรคระบาดอยู่แล้ว ใช้กฎหมายปกติควบคุมได้ ไหนบอกว่าประเทศต้องเดินต่อ เศรษฐกิจต้องเติบโต ประชาชนต้องทำมาหากินได้ แต่กลับดำเนินการสวนทางไปหมด โดยไม่มีความรับผิดชอบในฐานะผู้นำ

"นอกจากนี้ ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายด้านสิทธิผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญไทยและกติกาสากล ต้องให้เยาวชนนิสิตนักศึกษาได้ใช้สิทธิประกันตัวเพื่อต่อสู้ในคดีตามกระบวนการยุติธรรมได้ โดยเฉพาะคดีการเมือง ต้องไม่ไปกลั่นแกล้งคุกคามไม่ให้เขาได้ใช้สิทธิประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม เดี๋ยวกระบวนการยุติธรรมไทยจะกลายเป็นตัวตลกของโลก จนประชาชนไม่อาจคาดหวังในกระบวนการยุติธรรมภายในได้ แล้วไปพึ่งกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศแล้วจะยุ่งไปหมด เพราะระบอบยุติธรรมต้องคุ้มครองสิทธิของจำเลยในคดีต่างๆ ได้ ผู้มีอำนาจต้องตระหนักเรื่องนี้ให้มาก เพราะวันที่ 24 เมษายนนี้ รัฐบาลต้องส่งผู้แทนไทยไปประชุมอาเซียนที่อินโดนีเซีย นอกจากเรื่องมนุษยธรรมในพม่าและตามแนวชายแดนไทยว่าด้วยข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย (Global Compact on Refugees – GCR) แล้ว การจับนักโทษทางการเมืองแล้วไม่ให้ประกันตัวสู้คดีเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากลอย่างมาก ตนขอแนะนำให้พล.อ.ประยุทธ์ ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปแทน เดี๋ยวเผลอยกมือรับรองรัฐบาลเถื่อนของพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย แล้วจะทำชาวไทยขายหน้าไปทั่วโลก" เมธา ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net