'ก้าวไกล' จี้รัฐเร่งกระจายวัคซีนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ 'เพื่อไทย' ย้ำต้องฉีด 40 ล้านคนภายในปีนี้

'ก้าวไกล' แถลงผิดหวัง ศบค.ไม่เร่งสื่อสารแนวทาง home isolation 'ศิริกัญญา' จี้ รัฐเร่งกระจายวัคซีนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ อย่าทำเสียโอกาสอีกเหมือนคราว พ.ร.ก.เงินกู้ 'เพื่อไทย' เสนอเร่งเยียวยาเดือนละ 5 พัน 3 เดือน ชี้เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้น ถ้าไม่เปลี่ยนผู้นำ แนะต้องมีแผนกระจายวัคซีนที่ชัดเจน และฉีดให้กับประชาชน 40 ล้านคนภายในปีนี้

19 เม.ย. 2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า วันนี้ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลด้านนโยบาย พร้อมด้วย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตบางเเค พรรคก้าวไกล เเถลงออนไลน์ผ่านระบบ Zoom ถึงประเด็นเเละมาตรการในจัดการวิกฤตสถานการนการณ์เเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอก3 

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตบางเเค จากการที่ตนได้เคยลงพื้นที่ร่วมกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อปลายเดือนมีนาคมในช่วงที่มีการระบาดคลัสเตอร์บางเเค เพื่อสำรวจเเละช่วยเหลือในกลุ่มของผู้ป่วยติดเตียง พบว่ากลุ่มนี้เข้าถึงมาตรการของรัฐได้ลำบากมากกว่าประชาชนทั่วไป และการเดินทางเข้ารับการตรวจแต่ละครั้งยังมีภาระค่าใช้จ่ายสูง โดยสิ่งที่ตนได้เยียวยาเเละช่วยเหลือเบื้องต้น คือ การจัดหาข้าวสารอาหารเเห้งเเละผลักดันให้มีจุดตรวจคัดกรองเคลื่อนที่ไปตามชุมชน 

“สิ่งที่เป็นปัญหาสะท้อนจากประชาชนกลับมา คือการเข้าถึงวัคซีน ประชาชนยังขาดความมั่นใจในวัคซีนที่รัฐบาลจัดหา ไม่ว่าจะเป็น AstraZenica หรือ sinovac ในเรื่องผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นตามกระแสข่าว  ถ้าภามชาวบ้าน 5 คน ว่าอยากฉีดไหม 3 -4 คนจะตอบว่าอยากฉีดแต่ไม่กล้าฉีด เพราะไม่มั่นใจ ความต้องการของประชาชนเเละผู้ประกอบการตอนนี้ไม่ได้ต้องการข้าวสารอาหารแห้งแล้ว สิ่งที่เขาถามเรากลับมาคือเมื่อไหร่จะจบ เขาต้องการความเชื่อมั่นเรื่องวัคซีนเเละทางเลือก นอกจากนี้เขายังสะท้อนว่าสับสนในมาตรการการกักตัวจึงต้องการรายละเอียดถึงแนวทางที่ชัดเจนกว่านี้" ณัฐพงษ์ กล่าว 

นพ.วาโย กล่าวว่า จากการสำรวจเรื่องวัคซีนของ พบว่า ร้อยละ 80 มีความต้องการฉีดวัคซีน เพราะเชื่อว่าเป็นทางออกเเละหนทางให้วิกฤตครั้งนี้จบลงได้ เเต่ปัญหามันเกิดขึ้นตรงที่ประชาชนไม่มั่นใจต่อวัคซีนที่รัฐจัดหาให้ อย่างไรก็ตาม ต้องขอยืนยันว่าการฉีดวัคซีนดีกว่าไม่ฉีด และต้องเข้าใจตรงกันว่าการฉีดวัคซีนกันตายเเต่ไม่กันติด 

ในส่วนกรณีแนวปฏิบัติของกลุ่มเสี่ยง วาโย ชี้ว่า กรมควบคุมโรค เเบ่งระดับกลุ่มผู้เสี่ยงเป็น 3 กลุ่ม คือสีเเดง สีเหลือง สีเขียว สีเเดงคือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ถ้าติดต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา หากผลเป็นลบต้องกักตัว เเละตรวจเชื้ออีกครั้ง  สีเหลือง คือผู้สัมผัสกับวงแรก ให้ดูเเลตัวเองเเละหลีกเลี่ยงที่ชุมชน ระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ปฏิบัติตัวเคร่งครัดในการใส่หน้ากากอนามัยล้างมือ สีเขียวคือเป็นผู้ปลอดภัย สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

"อีกประเด็นที่อยากกล่าวถึงคือการทำ home isolation หรือ home quaranetine ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ทำสถิติผู้ติดเชื้อสูงสุด หรือ new hight หลายครั้ง ซึ่งการระบาดในระลอกนี้เป็นระบาดระลอกที่ 3 ที่สูงกว่ารอบเเรก เเละรอบที่สอง ซึ่งเราจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเรายังคงดื้อที่จะนำผู้ติดเชื้อทั้งหมดไปอยู่ใน state quarantine ทั้งหมดอาจจะสิ้นเปลืองงบประมาณเเละสิ้นเปลืองทรัพยากร และจะทำให้ไม่สามารถจัดสรรสถานที่รองรับหากบุคคลที่ต้องการหรือมีความจำเป็นจริงๆได้ เนื่องจากร้อยละ 80-90 ของผู้ติดเชื้อวัยเป็นทำงานหรือวัยหนุ่มสาว และมักไม่ออกอาการ สัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐอาจเห็นถึงปัญหานี้ แต่ข้อเท็จจริงกับประกาศที่เกิดขึ้นไม่สามารถสอดคล้องให้ดำเนินการต่อไปได้"

ทั้งนี้ วาโย ระบุว่า เมื่อวาน (18 เม.ย.) ตนได้เห็นเเนวทางมีในการทำ home isolation และ home quarantine จากกรมการเเพทย์  แต่พอตั้งใจฟังการเเถลงของ ศบค. ในวันนี้ รู้สึกผิดหวังที่ ศบค.ไม่ได้กล่าวถึงแนวทางดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐให้ความรู้ต่อประชาชน ให้ประชาชนเข้าใจเเละสามารถปฏิบัติตามมาตรการการกักหรือแยกตัวที่บ้านได้ 

นอกจากนี้ ยังอยากให้เตรียมความพร้อมรับมือกับอัตราการฉีดวัคซีนที่จะสูงขึ้นมาก ตอนนี้อัตราการฉีดอยู่ที่วันละ 10,000 - 30,000 คนต่อวัน แต่ครึ่งปีหลังเราจะได้รับวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือน ถ้าหากไม่เพิ่มอัตราในการฉีดให้เป็น 10 เท่า หรือ 300,000 - 400,000 รายต่อวัน รัฐจะไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ตามจุดประสงค์เเละกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ 

ประการสุดท้าย นอกจากการจัดเตรียมสถานที่และบุคลาการเพื่อการนี้แล้ว บุคลากร ในเรื่องของอุปกรณ์ทางการเเพทย์ที่ใช้เเล้วสิ้นเปลืองไปต้องเตรียมให้เพียงพอด้วย อย่าให้เกิดเหตุการณ์ เช่น หน้ากากอนามัยเจลล้างมือขาดตลาด หรือมีก็มีของไร้คุณภาพแต่ราคาแพง ครั้งนี้เข็มฉีดยา และหลอดฉีดยา ต้องมีให้พร้อม อย่าให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม อุปสงค์มากกว่าอุปทาน หรือมียาเเต่ไม่มีเข็ม เป็นต้น 

ศิริกัญญา กล่าวว่า นโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แน่นอนว่าหนีไม่พ้นเรืองวัคซีน เพราะการที่เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับมาได้คือต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ซึ่งภาครัฐมีมาตรการออกมาเพื่อควบคุมการเเพร่ระบาดแล้วแต่มาตรการเยียวยายังไม่ออกมา ดังนั้นรัฐควรมีมาตรออกมาตรการเยียวยาเป็นระยะที่สามด้วย โดยรอบนี้ตนขอตั้งชื่อว่า 'เราต้องรอด'

"เมื่อมีการระบาด เราก็สามารถเยียวยาอีกได้ เเละสามารถกู้ได้ ช่องว่างทางการคลังยังสามารถกู้ได้ เเต่เราจะวนลูปนี้อีกนานเเค่ไหน เพราะหากเกิดการระบาดในระลอก 4 เเละ 5  คงทำแบบนี้ไปเรื่อยๆไม่ได้ รัฐบาลต้องหาทางออก ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดคือวัคซีน ภายในเดือนพฤษภาคม รัฐควรต้องเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนได้อย่างครบถ้วน แต่ตอนนี้มีแค่ line official  หมอพร้อม ที่อาจจะยังไม่พร้อม และยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่"

ประเด็นที่สอง รัฐต้องประกาศแผนการกระจายวัคซีนให้ชัดเจน ฉีดใครและฉีดที่ไหนก่อน เเละจะฉีดอย่างไร เพราะตามเเผนเดิมที่รัฐบาลวางไว้เพื่อฟื้นเศรษฐกิจคือจะเริ่มเปิดประเทศในเดือนกรกฎาคม ที่จังหวัดภูเก็ต เดือนตุลาคมจะขยายต่อไปที่ สมุย พังงา กระบี่ เชียงใหม่ ซึ่ง เงื่อนไขเดียวที่จะกลับมารับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกครั้งก็คือประชาชนในจังหวัดเหล่านี้ได้รับวัคซีนอย่างถ้วนหน้า 

นอกจากนี้ ความหวังของการฟื้นเศรษฐกิจยังอยู่ที่การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับสองปัจจัย คือการครอบคลุมของการฉีด และประสิทธิภาพของวัคซีน ดังนั้นยิ่งวัคซีนที่เราใช้มีประสิทธิภาพต่ำ จำนวนการฉีดก็ยิ่งต้องเพิ่มขึ้น อาทิ อัตราการเเพร่กระจาย อยู่ที่ 2.2 หมายความว่า 1 คนสามารถ ติดได้ 2.2 คน ถ้าวัคซีนมีประสิทธิภาพเต็ม 100 สัดส่วนการฉีดจะอยู่ที่แค่ร้อยละ 50 ก็พอ เเต่ถ้าวัคซีนตัวหลักเช่น AstraZineca มีประสิทธิภาพร้อยละ  70 สัดส่วนการฉีดต้องเพิ่มเป็นร้อยละ 80  ดังนั้น เพื่อให้การฉีดสามารถเกิดขึ้นได้ตามอัตรานี้ จึงควรมีมาตรการในการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชน การฉีดวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส หรือวันละ 300,000 คน ควรได้รับการร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น ในวันที่ถึงกำหนดนัดไปฉีด  นายจ้างควรอนุญาตเป็นวันหยุดที่ไม่ใช่วันลาได้ เพื่อให้การฉีดวัคซีนกระจายไปในกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็ว

"อยากฝากว่าวัคซีนยังคงเป็นความหวังสุดท้าย ไม่อยากให้เราเสียโอกาสสำคัญ เหมือนกับกรณีที่เรามีตัวช่วย อาทิ พ.ร.ก.กู้เงิน 1ล้านล้าน  ,พ.ร.ก.ซอร์ฟโลน 5 แสนล้าน เเละ พ.ร.ก.พยุงหุ้นกู้ 4 แสนล้าน ผ่านไป 1 ปี เราสูญเสียโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจ ในการกู้เงินจากพ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ มีการอนุมัติไปเพียงไม่ถึง 1 ใน 3  โดย พ.ร.ก.กู้เงิน 1ล้านล้านบาท ใช้ไปไม่ถึง 7 เเสนห้าหมื่นล้านบาท แผนฟื้นฟูยังไม่ถึงไหน เบิกจ่าย 209 โครงการไม่ถึงร้อยละ 10  , พ.ร.ก.ซอฟท์โลนอนุมัติให้ sme ไม่ถึง 1 ใน 3 ของ 5 แสนล้านบาท เป็นปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถพลิกฟื้นกลับคืนมาได้ เราไม่อยากให้สูญเสียโอกาสในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจครั้งนี้อีกครั้งจากเเผนการกระจายวัคซีนที่ล่าช้าเเละไม่กระจายความเสี่ยง" ศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้าย

'เพื่อไทย' เสนอเร่งเยียวยาเดือนละ 5 พัน 3 เดือน ชี้เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้น ถ้าไม่เปลี่ยนผู้นำ แนะต้องมีแผนกระจายวัคซีนที่ชัดเจน และฉีดให้กับประชาชน 40 ล้านคนภายในปีนี้

สำนักข่าวไทย รายงานว่าว่า พรรคเพื่อไทยจัดเสวนาวิกฤติและทางออกโควิดระลอก 3 โดยมี พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน และประธานอนุกรรมการนโยบายด้านสาธารณสุข เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคฯ และผอ. ศูนย์นโยบายฯพรรค และจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการพรรคและประธานอนุกรรมการนโยบายด้านท่องเที่ยวร่วมการเสวนา

พิชัย กล่าวว่า รัฐบาลยอมรับแล้วว่าเศรษฐกิจของไทยปีนี้จะขยายตัวไม่ถึง 4% และมีโอกาสที่ขยายตัวได้ต่ำ ตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้เตือนไว้ เมื่อมีการระบาดของโควิดครั้งนี้ เศรษฐกิจไทยจึงหมดหวังและคาดจะขยายตัวได้ไม่ถึง 2% และหากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ เศรษฐกิจไทยอาจจะติดลบได้อีก ซึ่งจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก โดยมีการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 4.5 แสนล้านบาท

“สาเหตุของการระบาดทั้ง 3 ครั้งมาจากคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ตั้งแต่ครั้งแรกที่สนามมวย ครั้งที่ 2 จากบ่อนการพนัน และการขนแรงงานเถื่อนที่โยงใยกับคนในรัฐบาล และล่าสุดเกิดจากสถานบันเทิงอโคจรที่คาดว่ามี ครม.เข้าไปเที่ยวกันหลายท่าน จนถูกขนานนามว่าเป็นไทยคู่ฟ้าคลับ เรื่องเหล่านี้จึงทำให้ประชาชนไม่มั่นใจว่าในอนาคตจะแพร่ระบาดอีกหรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีไม่จริงจังในการลงโทษคนกระทำผิด ที่เชื่อว่าจะเป็นพวกเดียวกันกับรัฐบาล จึงชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลบริหารงานล้มเหลวมาตลอด ไม่ถูกตำหนิก็ไม่ยอมแก้ไข ไม่เคยคิดล่วงหน้า ขาดวิสัยทัศน์อย่างรุนแรง รัฐบาลใช้เงินมากมายในการเยียวยา แต่กลับไม่ใช้เงินในการจัดหาวัคซีนตั้งแต่แรก ทำให้การระบาดเป็นวงกว้าง จนเตียงในโรงพยาบาลต่างๆเต็มหมด และต้องขยายโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น” พิชัย กล่าว

พิชัย กล่าวว่า ขอเสนอแนวทางออกของประเทศไทย 6 แนวทาง คือ นายกรัฐมนตรีต้องเร่งเยียวยาประชาชนโดยด่วน โดยให้เยียวยาประชาชนเดือนละ 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน และจ่ายเป็นเงินสด และ หลังจากเยียวยาแล้ว นายกฯ ควรจะต้องออกจากตำแหน่ง เพราะไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ รัฐบาลจะต้องเร่งหาวัคซีนมากระจายการฉีดให้กับประชาชนโดยเร็ว และต้องหลากหลายยี่ห้อ และรัฐบาลต้องมีแผนงานการกระจายฉีดวัคซีนอย่างชัดเจนเพื่อให้ประชาชนมั่นใจ ,เร่งช่วยเหลือธุรกิจ SME การให้ซอฟท์โลนอย่างเร่งด่วน เร่งสร้างความมั่นใจให้กลับมาโดยเร็ว ซึ่งในสายตาของต่างชาติประเทศไทยในปัจจุบันไม่ต่างจากเมียนมา

“ถ้านายกฯ ยังอยู่ต่อไป เศรษฐกิจไทยจะยิ่งเสื่อมถอยไปเรื่อย ๆ เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาหลักของประเทศให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และสุดท้าย ต้องเร่งสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับประเทศ โดยการปล่อยนักศึกษาและแกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขัง ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด อีกทั้งต้องให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน” พิชัย กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งจัดหาวัคซีนและฉีดให้กับประชาชนในปีนี้ให้ได้ถึง 40 ล้านคน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันและไม่เกิดการแพร่ระบาดออกไปอีก ซึ่งล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดถึงกว่า 1,700 รายภายในหนึ่งวัน และเมื่อคำนวณอัตราการแพร่เชื้อ พบว่า 1 คนสามารถแพร่เชื้อได้อีก 2-3 คน ดังนั้นถ้าภายใน 30 วันรัฐบาลไม่มีมาตรการที่ชัดเจนออกมาจะทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงถึงกว่า 1 แสน 3 หมื่นราย ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤติ

“จากนี้ทุกคนจะต้องทำหน้าที่เป็นหมอ ดูแลตนเองและครอบครัวไม่ให้มีโอกาสเสี่ยง ภาครัฐและเอกชนทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน ทั้งนี้ ผู้นำประเทศภาครัฐและศบค.ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าจะมีมาตรการออกมารองรับเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดลง เนื่องจากมาตรการในขนาดนี้ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยและเห็นว่าภายหลังจากที่นายกฯ ได้ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นการแถลงที่ทำให้ทุกคนหมดหวังและหมดกำลังใจ” นพ.ชลน่าน กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท