ครอบครัวหญิงอิตาลีที่ตายหลังฉีดวัคซีนจ่อฟ้องแอสตราเซเนกา-เอาผิดพร้อมบังคับเผยข้อมูลวัคซีน

ครอบครัวของหญิงชาวอิตาลีที่เสียชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวหลังรับวัคซีนแอสตราเซเนกาเพียง 19 วัน เตรียมยื่นฟ้องเอาผิดบริษัทผู้ผลิต โดยหวังให้เปิดเผยและชี้แจงข้อมูลวัคซีนโดยละเอียด เพื่อแสดงความรับผิดชอบ และสร้างมาตรฐานด้านจริยธรรม ความโปร่งใส

19 เม.ย. 2564 สำนักข่าวสกายนิวส์ของอังกฤษรายงานว่าครอบครัวของ ออกุสตา ตูรีอาโค หญิงชาวอิตาลีวัย 55 ปีจากแคว้นซิซิลี ที่เสียชีวิตจากอาการลิ่มเลือดแข็งตัวหลังฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เตรียมยื่นฟ้องเอาผิดบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนสืบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนจริงหรือไม่

น้องชายของผู้เสียชีวิตเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของสกายนิวส์ว่า ตูรีอาโคเข้ารับการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยเธอยินดีเข้ารับวัคซีนเนื่องจากมีอาชีพเป็นครูสอนดนตรี ซึ่งต้องคลุกคลีกับเด็กเล็กจำนวนมาก ภายหลังการฉีดวัคซีนเพียงเข็มแรก อาการของตูรีอาโคก็ย่ำแย่ลง เธอเริ่มปวดหัวหนักและมีไข้สูง จึงขอเข้ารับการทดสอบเกล็ดเลือดและลิ่มเลือดที่โรงพยาบาล หลังจากนั้นจึงพบว่าตูรีอาโคมีภาวะลิ่มเลือดแข็งตัว ซึ่งอาการของเธอทรุดหนักถึงขั้นโคม่าในวันที่ 28 มี.ค. และเสียชีวิตในวันที่ 30 มี.ค. หรือ 19 วันนับจากรับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรก

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนฟ้าผ่าลงกลางใจของครอบครัวเรา พี่สาวของผมมีสุขภาพที่แข็งแรงมาก เธอไม่ต้องกินยาเป็นประจำ เพราะว่าไม่มีโรคประจำตัว เช่นพวกความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานอะไรทำนองนั้น” น้องชายของผู้เสียชีวิตกล่าว พร้อมแสดงหลักฐานทางการแพทย์ซึ่งระบุว่าตูรีอาโคมีภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวหลายจุดในอวัยวะภายใน รวมถึงในสมอง และมีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ

ออกุสตา ตูรีอาโค ชาวอิตาลี วัย 55 ปี ผู้เสียชีวิตด้วยภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวในสมองหลังฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกา
เธอเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กในวันที่ 11 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่เธอรับวัคซีนเข็มแรก
พร้อมติดเอฟเฟ็กต์ข้อความภาษาอิตาลีว่า '#ฉีดแล้ว วัคซีนโควิด-19'
(ภาพจากเฟซบุ๊ก Augusta Turiaco)
 

ทั้งนี้ ครอบครัวของผู้เสียชีวิตยืนยันว่าพวกเขาสนับสนุนแผนการฉีดวัคซีนของสหภาพยุโรป แต่ที่ตัดสินใจฟ้องร้องบริษัทแอสตราเซเนกา เพราะต้องการทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง และต้องการให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนออกมาชี้แจงข้อมูลวัคซีนโดยละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจและรับประกันความปลอดภัยในชีวิตของผู้รับวัคซีนทุกคน

ด้าน ดาเนียลา อักเนลโล ทนายความประจำครอบครัวของตูรีอาโค เปิดเผยว่ากำลังดำเนินการทางกฎหมายเพื่อฟ้องร้องเอาผิดบริษัทผู้ผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาตามขั้นตอน พร้อมระบุว่าผู้เสียชีวิตมีประวัติสุขภาพที่ดีมาก โดยทนายความและครอบครัวจะใช้หลักฐานการตรวจเนื้อเยื่อทางพยาธิวิทยาของผู้เสียชีวิตมาเป็นเครื่องยืนยันเรื่องสุขภาพก่อนและหลังรับวัคซีนของแอสตราเซเนกา

“เราเชื่อว่าประวัติสุขภาพเหล่านี้ถูกต้องแม่นยำ แน่นหนา และเกี่ยวข้องกับสาเหตุการตาย ซึ่งจะนำไปสู่การรับฟ้องและการออกคำสั่งศาลให้มีการไต่สวนและระบุสาเหตุการตายที่ชัดเจน ซึ่งบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องมาชี้แจงและรับผิดชอบไม่ว่าสาเหตุการตายนั้นจะเกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการฉีดวัคซีนตัวนี้ก็ตาม” อักเนลโล กล่าว

สำนักข่าวสกายนิวส์ได้ติดต่อไปยังบริษัทแอสตราเซเนกาเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นนี้แต่บริษัทปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล แต่ ไมเคิล โกลด์แมน นักภูมิคุ้มกันวิทยาประจำสถาบันนวัตกรรมสาธารณสุขในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม กล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ต้องเร่งหาคำตอบว่าใครคือกลุ่มเสี่ยงที่สุดในการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมระบุสาเหตุความเสี่ยงนั้นๆ ในขณะเดียวกัน เขาก็เน้นย้ำว่าวัคซีนทุกชนิดมีคุณและโทษ ส่วนกรณีการเกิดภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวหลังฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกานั้นถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยมาก

“ความเสี่ยงหลังฉีดวัคซีนนั้นเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้โดยสิ้นเชิง หากย้อนดูประวัติการฉีดวัคซีนในอดีตก็จะพบผลข้างเคียงเหล่านี้เช่นกัน และผลข้างเคียงบางกรณีที่หายาก แบบหายากสุดๆ กลับไม่พบในขั้นสัตว์ทดลอง และก็คาดการณ์ไม่ได้ด้วยว่าจะมาเจอในขั้นทดลองทางคลินิกกับมนุษย์ บางครั้งก็ต้องลองฉีดวัคซีนให้คนหลายล้ายคนก่อนถึงจะมาเจอเคสหายากแบบนี้

สิ่งสำคัญคือต้องย้ำว่าเคสหายากแบบนี้ มีโอกาสเกิดขึ้น 1 ใน 100,000 คน ซึ่งคุณก็ต้องแบกรับความเสี่ยงว่าจะเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 แล้วจบลงที่นอนห้องไอซียู หรือเสี่ยงดูผลหลังฉีดวัคซีน” โกลด์แมน กล่าว

แม้จะมีผู้เสียชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวหลังฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา แต่หลายประเทศในยุโรปก็ยังคงพึ่งพาการใช้วัคซีนชนิดนี้เป็นหลัก แม้จะมีบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก ที่ระงับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาอย่างถาวรจนกว่าจะมีผลการศึกษายืนยันเรื่องผลข้างเคียงที่ชัดเจนของวัคซีนชนิดนี้ ในขณะที่หลายประเทศในยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทแอสตราเซเนกา ก็ปรับเปลี่ยนแผนการฉีดวัคซีน โดยระบุว่าจะฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับผู้สูงอายุเท่านั้น

ออกซ์ฟอร์ด ชี้วัคซีนยี่ห้อหลักมีโอกาส 4-5 ใน 1 ล้านเกิดลิ่มเลือดแข็งตัว

ผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษพบว่าภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวในสมองสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนของไซเฟอร์และโมเดอร์นา ในอัตราที่ใกล้เคียงกับผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา นอกจากนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวยังระบุว่าภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวในสมองมีโอกาสพบได้มากกว่าในผู้รับวัคซีนที่ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ติดเชื้อและไม่มีโรคประจำตัว

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของบริษัทไฟเซอร์ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ว่า ‘ไม่เป็นความจริง’ พร้อมเผยผลการศึกษาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ที่ระบุว่าผู้รับวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันมีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวมากกว่าผู้รับวัคซีนของไซเฟอร์

ด้าน เดวิด เอกัส ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยการแพทย์เค็กแห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CBS ของสหรัฐฯ ว่าผลข้างเคียงและอันตรายที่เกิดจากการฉีดวัคซีนมีน้อยกว่าการติดโรค ดังนั้น วัคซีนยังคงเป็นทางออกที่จะช่วยให้มนุษยชาติหลุดพ้นจากวิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้

อนึ่ง ผลการรวบรวมข้อมูลจากยุโรปและอเมริกาของ TriNetX เครือข่ายวิจัยด้านสาธารณสุขระดับโลก พบว่า คนที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนประเภท mRNA มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวที่ 4 ใน 1 ล้านคน ส่วนคนที่ฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกา ซึ่งใช้เทคโนโลยีคนละประเภทกับ 2 ยี่ห้อข้างต้น มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวอยู่ที่ 5 ใน 1 ล้านคน

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท