คุยกับ ‘แม่หนูเหวิ่น’ แอคฯ ทวิตการเมืองรุ่นเก๋าสุดเกรี้ยวกราด ผู้ยึดมั่นในจุดยืนทางการเมือง

รายงานสัมภาษณ์ 'แม่หนูเหวิ่น' แอคเคานต์ทวิตเตอร์ที่พูดคุยเรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมา เกรี้ยวกราดแต่มีเหตุผล และเป็นผู้ยืนหยัดในจุดยืนของตนและคนเสื้อแดงมาตั้งแต่เริ่ม รวมถึงวิเคราะห์พลังและแนวโน้มในอนาคตของทวิตเตอร์

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์หลายคนที่คลุกคลีอยู่ในวงทวีตการเมือง อาจเคยเห็นแอคเคานต์ที่ชื่อว่า ‘แม่หนูเหวิ่น (@lovekasuma)’ ลอยผ่านตามาให้เห็นบ้างในหน้าไทม์ไลน์ของตัวเอง แม้จะไม่ได้กดติดตามแอคเคานต์นี้ ด้วยลีลาการเขียนทวีตพูดคุยประเด็นสังคมและการเมืองที่เกรี้ยวกราด เผ็ดร้อน จนนำไปสู่ประเด็นดราม่าบนโลกออนไลน์บ้างบางครั้ง ทำให้ชื่อของ ‘แม่หนูเหวิ่น’ หรือที่บางคนรู้จักในชื่อ ‘มนว.’ กลายเป็นที่พูดถึงบนสังคมทวิตเตอร์ถึงขั้นติดเทรนด์แฮชแท็กก็เคยมาแล้ว

วันนี้ ประชาไทจะพาไปรู้จักเจ้าของแอคเคานต์ ‘แม่หนูเหวิ่น’ ในมุมมองที่ไม่ใช่คนในวงดราม่าบนโลกออนไลน์ แต่เป็นผู้ใช้งานทวิตเตอร์รุ่นเก๋าที่ยืนหยัดอย่างหนักแน่นในความคิดของตัวเอง และพร้อมเรียนรู้คุณค่าทางสังคมใหม่ๆ ที่เบ่งบานไปพร้อมๆ กับการเติบโตของสังคมไทย

จุดเริ่มต้นในการพูดเรื่องการเมืองผ่านทวิตเตอร์

แม่หนูเหวิ่น เล่าว่า จุดเริ่มต้นจริงๆ ในการพูดเรื่องการเมืองบนโลกออนไลน์ของตนเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เริ่มจากเฟซบุ๊ก ย้ายไปเว็บบอร์ด และมาลงตัวที่ทวิตเตอร์

“เราติดตามการเมืองไทยมาตลอดตั้งแต่ปี 2548 แล้วพื้นที่ของคนสนับสนุนคุณทักษิณบนโลกอินเตอร์เน็ตมันมีไม่เยอะหรอก ยุคนั้นอินเทอร์เน็ตยังจำกัดอยู่แค่ไม่กี่คน พอโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) เริ่มเข้ามาในประเทศไทย เราก็เล่นกับเขาบ้าง แต่ก็พบว่าพื้นที่บนนี้ยังไม่ใช่พื้นที่ของเรา เราคือคนที่ชอบทักษิณ เป็นคนเสื้อแดง”

“เฟสบุ๊กเรามีแต่สลิ่ม ไม่ก็คนเบื่อการเมืองไปเลย ช่วงไหนการเมืองร้อนแรง เราโพสต์เรื่องการเมืองลงเฟสบุ๊กจนโดนเพื่อนกดอันเฟรนด์ (Unfriend) ไปเลย สุดท้ายเพื่อความสบายใจในหลายๆ มุมเราจึงไปใช้เว็บบอร์ดที่คนคิดในแนวทางแบบเดียวกันใช้ ต่อมา เรารู้จักทวิตเตอร์ก็ลองเล่นดู (สมัครแอคเคานต์ตั้งแต่ปี 2555) พบว่าเหมือนเฟสบุ๊กเลย สลิ่มเต็มไปหมด แต่ดีอย่างหนึ่งคือมันไม่มีเพื่อนเราที่เป็นสลิ่มเลย ไม่มีใครรู้จักเรา เราจึงรู้สึกเป็นอิสระที่จะใช้ทวิตเตอร์”

“พอมาถึงช่วงปี 2557 การเมืองไทยกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง แต่กระแสหลักบนทวิตเตอร์ก็ยังเป็นสลิ่ม แต่เดิมเราก็ใช้ทวิตเตอร์แสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองและประเด็นสังคมอยู่แล้ว จึงไม่รีรอที่จะทวีตความคิดตัวเองไปด้วย”

ข้อดี-ข้อเสียของทวิตเตอร์

แม่หนูเหวิ่น เผยว่า ข้อดีของทวิตเตอร์ในความคิดตนมี 4 อย่าง คือ 1.ความเป็นนิรนาม 2.ข่าวสารที่รวดเร็ว 3.การเป็นสังคมแบบเปิด และ 4.ไม่ต้องสวมหัวโขนในการพูดคุยหรือแสดงออก

“ข้อ 1และ 4 สัมพันธ์กัน คนในทวิตเตอร์ไม่แคร์ว่าคุณเป็นใคร จะเป็นนักวิชาการ หรือนักเขียนชื่อดัง ทุกคนพร้อมถอนหงอกคุณทุกเมื่อถ้าเขาไม่เห็นด้วยกับคุณ นี่เป็นพลวัตที่ทรงพลังมากในทวิตเตอร์ มันทำให้คุณไม่สามารถผูกขาดความถูกต้องไว้แต่ผู้เดียวได้ และด้วยความที่มันเป็นสังคมแบบเปิดมากกว่าเฟสบุ๊ก ที่นี่จึงไม่ได้มีแต่เพื่อนที่คอยถือหางคุณ ความคิดเห็นบนทวิตเตอร์จึงมีโอกาสถูกตรวจสอบและถูกวิพากษ์วิจารณ์สูงกว่าที่อื่น เพราะโดยธรรมชาติ แพลตฟอร์มเฟสบุ๊กเน้นจำกัดการสนทนาในหมู่เพื่อนฝูง คนรู้จัก คนชื่นชอบเรา อีกทั้งระบบอัลกอริทึมของเฟสบุ๊กค่อนข้างมีอคติ คือ จะเน้นให้เราเห็นแต่เนื้อหาที่เราชอบ ดังนั้นเฟสบุ๊กมันจึงเป็นที่รวมสำหรับคนที่สนใจเหมือนกันมากกว่า”

“แต่ทวิตเตอร์ไม่ใช่แบบนั้น ต่อให้คุณหลีกหนียังไง แต่คุณก็ต้องเห็นสิ่งที่คุณไม่ชอบผ่านมาตาบ้างแหละ บางทีก็ขึ้นเทรนด์ให้ทุกคนเห็นเลย นั่นมันหมายความว่าแพลตฟอร์มทวิตเตอร์มันทำให้เราเห็นประเด็นนอกเหนือจากที่เราสนใจ มันหล่อหลอมให้เราต้องสนใจประเด็นอื่นด้วย และเพราะมันเป็นตลาดแบบเปิดไม่แคร์หัวโขน ไม่ว่าคุณจะโนเนม (ไม่เป็นที่รู้จัก) แค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าทวีตของคุณน่าสนใจก็มีคนแชร์ทวีตคุณเป็นหมื่นๆ แชร์ได้”

 

“ส่วนข้อเสีย แม้ทวิตเตอร์จะเป็นตลาดแบบเปิด มีประเด็นหลากหลาย แต่ไม่ใช่พื้นที่เหมาะสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ต้องร่ายยาวสักเท่าไร เพราะข้อจำกัดของแพลตฟอร์มด้วย อีกเรื่อง คือ บางทีคุณทวีตเรื่อง A แต่คนที่สองมาโควททวีตคุณพูดไปเรื่อง B คนที่สามก็มาแชร์จากคนที่สองไปเป็นเรื่อง C พอคุณจะตามไปแก้ ไปอธิบายมันก็ยากมากนะ ด้วยความที่มันไปไวและอธิบายอะไรยาวๆ จบในทวีตเดียวไม่ได้ ก็เป็นข้อเสียอันหนึ่งของทวิตเตอร์”

“ส่วนที่ว่าคนใช้ความเป็นนิรนามในการบูลลี่ (กลั่นแกล้ง) คนอื่น อันนี้ไม่ว่าแพลตฟอร์มไหนก็เป็นหมด ส่วนตัวมองว่า ช่วงหลังๆ ผู้คนในทวิตเตอร์ตระหนักเรื่องนี้กันเยอะมาก และช่วยกันประณามพฤติกรรมแบบนั้นอยู่”

ทวีตทำให้คนในโลกทวิตเตอร์รู้จัก

“โห... จำไม่ได้เลยค่ะ สิ่งที่ทำให้คนจำเราได้มากสุดน่าจะเป็นรูปแบบการตอบที่ค่อนข้างเกรี้ยวกราดและค่อนข้างขวางโลกมั้งคะ กระแสหลักว่าอะไร เราจะเห็นอีกอย่าง ซึ่งเราเห็นอีกอย่างจริงๆ และเราไม่กลัวที่จะแสดงความคิดเห็นของเราออกไป ใครเข้ามาเถียงเรา เราก็เถียงกลับ ตราบใดที่มันยังไม่เปลี่ยนเหตุผลของเราน่ะนะ แต่พอหลังๆ สังคมในทวิตเตอร์ตื่นการเมืองเยอะมาก คนรุ่นใหม่เก่งๆ ทั้งนั้น การปะทะอะไรแบบนี้ก็ลดน้อยลง เราก็เริ่มเกรี้ยวกราดน้อยลง เพราะแนวทางกระแสหลักกับแนวทางเราเริ่มไปด้วยกันได้”

“ส่วนทวิตที่มียอดรีสูงสุดก็จำไม่ได้ แต่ที่คุ้นๆ คือจะเป็นทวิตเกี่ยวกับการด้อยพัฒนาของประเทศไทย อันนี้ง่ายเลยทำไมมันถึงมียอดรีสูงสุด เพราะทุกคนรู้สึกเลยว่าประเทศเรากำลังเดินถอยหลัง และเรากำลังสูญเสียอนาคตของพวกเราไป”

ทวีตของ 'แม่หนูเหวิ่น' ที่พูดถึงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จากคลัสเตอร์ผับทองหล่อ
ในช่วงก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา
 

จุดเปลี่ยนของชีวิตหลังจากทวีตเรื่องการเมือง

“จุดเปลี่ยนหลังจากทวิตเรื่องการเมือง คงเป็นเรื่องความรู้สึก สมัยก่อนเราทวีตด้วยความอัดอั้น ทำไมสังคมถึงเป็นสลิ่ม ทำไมถึงเชียร์ทหาร ทำไมถึงด่าเสื้อแดง ทำไมไม่เอาประชาธิปไตย ทวีตเราถึงรุนแรงมาก เพราะเราผิดหวังมากๆ ชีวิตส่วนตัวเจอคนที่มีความคิดแบบสลิ่ม เข้ามาทวิตเตอร์ก็ยังเจอ โห...เรานี่อารมณ์เสียขั้นสุดมาก”

“แต่ 1-2 ที่ผ่านมา กระแสสังคมเปลี่ยน คนเริ่มสดุดีเสื้อแดง ขอโทษเสื้อแดง แถมยังสนใจไปเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ใจมันฟูนะ มันมีความหวังว่า เอ้ย! พื้นที่บนนี้มันไม่ใช่ของสลิ่มอีกแล้ว เรามีพวกในนี้แล้ว ความรู้สึกมันเลยแตกต่างกับสมัยก่อนมากๆ”

“สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอีกอย่าง คือ ทำให้เราต้องอ่านเยอะกว่าเดิม คนรุ่นใหม่ในทวิตเตอร์เก่งมากนะ เหมือนพวกเรารู้สึกมีอิสระภาพขึ้นที่จะแสดงออกและแสดงความรู้ความสามารถของตัวเอง ไม่ว่าจะด้านนิยาย สังคม มนุษยศาสตร์ ศิลปะ บันเทิง ฯลฯ กระแสเฟมินิสต์ก็บูมขึ้นมา คุณจะมาเผยแพร่นิยายที่ชื่นชมการข่มขืน แบบนั้นคุณโดนด่านะ คนรุ่นใหม่ในทวิตเตอร์ให้คุณค่าทางสังคมด้านต่างๆ แบบไปกันไกลมาก เราที่ยังไม่ได้แก่แต่ก็เริ่มเก่าแล้ว พอเจอความรู้อะไรใหม่ๆ ที่คนรุ่นใหม่เขาทวิตมาก็ต้องไปหาอ่าน ต้องเรียนรู้จากพวกเขา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเลย”

 

“ส่วนชีวิตจริงไม่ค่อยมีอะไรกระทบนะ ยกเว้นแต่ใช้เวลาในทวิตเตอร์มากเกินไป (หัวเราะ) คุณรู้ไหมว่าเราด่าสลิ่มมานานมาก แต่ไม่เคยมีสลิ่มคนไหนในทวิตเตอร์สนใจตัวตนจริงๆ เราเลยนะ จนเมาปีก่อน คนฝั่งประชาธิปไตยนี่แหละที่อยากรู้ตัวตนจริงเรา เพราะไม่ชอบเรา ตลกไหมล่ะ”

“ส่วนรู้สึกอย่างไรที่มีคนติดตามเยอะขึ้น... เราไม่ได้รู้สึกอะไรกับตัวเลขตรงนี้นะ เราไม่ได้เอามันไปหาเงิน ผู้ติดตาม 15,000 คนก็ไม่ใช่จำนวนที่มากอะไร เผลอๆ ครึ่งหนึ่งในนี้รอเหยียบซ้ำวันที่เราล้ม (หัวเราะ) ถ้าพอจะอนุมานได้ เราก็คิดว่าคนตามเยอะขึ้น เพราะคิดเห็นไปในทางแนวเดียวกันมากขึ้น อาจไม่ได้เห็นด้วยกับเราทั้งหมด แต่คงมีสักจุดที่ทวีตของเราโดนใจเขา คงเป็นเรื่องของการเมือง ถ้าเป็นแบบนี้เราก็ดีใจที่วันนี้กระแสในทวิตเตอร์ไปในทางโปรประชาธิปไตยและเลือกรับคุณค่าทางสังคมสมัยใหม่มากขึ้น”

พลังของทวิตเตอร์ในรอบปีที่ผ่านมา

“People of the year คือ คำที่เรามอบให้ชาวทวิตในปีที่ผ่านมา คุณจะเห็นพลังชาวทวิตเตอร์มันนัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองมาก ทั้งการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์จนแฮชแท็กติดเทรนด์แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การรวมพลังของติ่งเกาหลีในการบริจาคสนับสนุนม็อบ การแบนนายทุนสื่อโฆษณาและนายทุนเผด็จการ กระแสเฟมินิสต์ที่ทำให้คนตระหนักถึงปัญหาผู้หญิง ผู้หญิงหลายคนกล้าพูดประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศ การสนับสนุนสมรสเท่าเทียมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) การเรียกร้องดาราคนดังเลือกข้างประชาธิปไตย การที่สื่อหลักต้องลงมาเล่นข่าวในทวิตเตอร์ การคืนศักดิ์ศรีให้คนเสื้อแดง การเป็นแหล่งนัดหมายรวมพลประท้วง ฯลฯ”

ทวีตของ 'แม่หนูเหวิ่น' ที่พูดถึงการประท้วงแบบสันติวิธี ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในกลุ่มผู้ใช้งานทวิตเตอร์
 

“พลังในทวิตเตอร์เปลี่ยนแปลงการเมืองบ้านเรามาก ไม่ใช่แค่ในเรื่องของการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ยังรวมถึงการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมและความคิดใหม่ๆ อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ คุณจะขายคนรุ่นใหม่ คุณจะใช้ความคิดหรือวัฒนธรรมเก่าๆ ไม่ได้แล้วนะ ละครแนวข่มขืน การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับความยินยอม (Sex without consent) การเหยียดผู้หญิง เหยียดคน LGBTQ+ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คุณทำสิ โดนชาวทวิตเตอร์ด่าเชยระเบิด แม้แต่งานเขียนของปัญญาชนซ้ายไทยก็ยังถูกรื้อทิ้งที่แพลตฟอร์มนี้เลย”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

แนวโน้มในอนาคตของทวิตเตอร์กับการเมือง

“อย่างที่บอกไปว่ามันเกิดวัฒนธรรมและการยอมรับความคิดใหม่ๆ ในทวิตเตอร์ แนวโน้มในอนาคตของการใช้ทวิตเตอร์จะเป็นการเดินไปข้างหน้า ไปสู่การถกเถียงใหม่ๆ ที่อาจล้ำหน้ากว่าสภาพการเมืองในประเทศเรา วัฒนธรรมเก่าชุดความคิดเก่าที่ไปไม่ได้กับคุณค่าทางความคิดสมัยใหม่จะไม่ได้รับการยอมรับในพื้นที่นี้อีก การวิพากษ์วิจารณ์นายทุนจะหนักขึ้น การตระหนักรู้เรื่องปัญหาสังคมและการเมืองในมิติต่างๆ จะหนักขึ้น สังคมชายเป็นใหญ่จะถูกท้าทายมากขึ้น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQ+ จะถูกพูดถึงมากขึ้น งานเขียนเก่าๆ ของปัญญาชนยุคก่อนจะถูกท้าทายมากขึ้น มันจะเป็นพื้นที่ประเด็นต่างๆ จะได้รับการถกเถียง แต่จะนับรวมความคนอัตลักษณ์ต่างๆ คนกลุ่มต่างๆ เข้าไปด้วย”

“แนวโน้มการแสดงออกในทวิตเตอร์ คือ การปะทะทางความคิด ไม่ใช่แค่กับสลิ่มหรือชนชั้นนำ แต่ปัญญาชนฝั่งประชาธิปไตยรุ่นเก่าๆ ก็จะเจอความท้ากับความคิดของคนรุ่นใหม่ๆ เป็นช่วงเวลาถอนหงอก เราก็โดนได้ คุณก็โดนได้ นักวิชาการก็โดนได้ ถ้าคุณยังสมาทานกับคุณค่าทางสังคมแบบเดิมๆ ที่คนรุ่นใหม่ไม่เอาแล้ว”

ในโลกทวิตเตอร์ยังมีดาวเด่นด้านการเมืองอีกหลายบัญชีที่พูดคุยเรื่องการเมืองอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา โปรดติดตามบทสัมภาษณ์คนดังในโลกทวิตเตอร์ฉบับต่อไปได้กับทีมข่าวประชาไท

อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท