คณะปฏิสังขรณ์ใหม่ ไม่มีมหาเถรฯ ไม่มีสำนักพุทธฯ ไม่มีอำนาจกษัตริย์ ภารกิจปลดแอกคณะสงฆ์ออกจากรัฐ

ความต้องการความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเรียกว่าทุกองคาพยพ ในหมู่พระสงฆ์เกิดการรื้อฟื้น ‘คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่’ เพื่อปลดแอกคณะสงฆ์จากอำนาจรวมศูนย์ของรัฐ ปรับโครงสร้างให้พระปกครองกันเองสอดคล้องตามระบอบประชาธิปไตย สู่เป้าหมายการเป็น  รัฐฆราวาส (secular state)

  • คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่เป็นการรื้อฟื้นคณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาในปี 2477 เพื่อปฏิรูป พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจของรัฐ
  • โครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์แบ่งเป็น 3 อำนาจ ประกอบด้วยสังฆนายก สังฆสภา และคณะวินัยธร โดยมาจากการเลือกตั้งกันเองในหมู่สงฆ์ โดยแต่ละนิกายสามารถจัดตั้งตามโครงสร้างนี้ของตนเองได้
  • ยุบมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เนื่องจากไม่มีความจำเป็นในโครงสร้างใหม่
  • ตัดอำนาจกษัตริย์ในการแต่งตั้งหรือพระราชทานพัดยศแก่พระสงฆ์ หากจะทำต้องทำในนามส่วนพระองค์ การอุปถัมภ์พระสงฆ์หรือนิกายใดสามารถทำได้ในนามส่วนพระองค์ แต่ต้องไม่ใช้เงินงบประมาณจากภาษีประชาชน
  • คืนสิทธิพลเมืองให้แก่พระสงฆ์ เปิดกว้างในการตีความคำสอนทางพุทธศาสนา
  • การปฏิรูป พ.ร.บ.สงฆ์ เป็นบันไดขั้นแรก เมื่อถึงเวลากฎหมายจะถูกยกเลิกและมีการแยกศาสนาออกจากรัฐ การนับถือศาสนาหรือไม่นับถือจะเป็นเสรีภาพของปัจเจกที่รัฐไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว

 

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดผ่านไปทั่วสังคมไทยจากการตื่นตัวทางการเมืองของราษฎร เสียงเรียกร้องถึงรัฐธรรมนูญใหม่ที่สถาปนาโดยประชาชน การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การปฏิรูปกองทัพ หรือแม้แต่การปฏิรูปคณะสงฆ์ให้หลุดพ้นจากอำนาจรัฐและกษัตริย์โดยกลุ่มพระภิกษุและนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่เรียกขานตนเองว่า ‘คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่’ (New Restoration) ที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2563

มี ‘ใหม่’ ก็ต้องมี ‘เก่า’ คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2477 โดยกลุ่มพระภิกษุจำนวนหนึ่งที่ต้องการให้การปกครองคณะสงฆ์สอดคล้องไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยในช่วงเวลานั้น ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากคณะสงฆ์สายธรรมยุติที่มีจำนวนน้อยกว่า แต่มีสิทธิ มีเสียงมากกว่าเนื่องจากได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากสถาบันกษัตริย์ กระทั่งเกิดเป็น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ที่ให้คณะสงฆ์เลือกตัวแทนกันเองและแบ่งอำนาจเป็น 3 ฝ่ายคือสังฆนายก สังฆสภา และคณะวินัยธร

แต่เมื่อสฤษดิ์ ธนะรัชต์ขึ้นครองอำนาจได้ทำการยกเลิก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 และประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แทน แล้วรวบอำนาจทั้งหมดกลับไปที่มหาเถรสมาคม (มส.) เหมือนกับ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121

การแก้ไข 2 ครั้งล่าสุดเกิดในสมัยของประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยการเพิ่มอำนาจกษัตริย์ในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชและคณะกรรมการมหาเถรสมาคม

คณะสงฆ์ที่เป็นเครื่องมือรับใช้อุดมการณ์ของรัฐไทยมาช้านานก็ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น เห็นได้จากการสั่งห้ามไม่ให้พระภิกษุเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ขณะเดียวกันกลับมีคำสั่งให้พระภิกษุเทศนาให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ นี่เป็นเหตุผลเพียงพอที่ทางคณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์เพื่อปฏิรูปไปสู่ปลายทางสุดท้ายคือการแยกศาสนาออกจากรัฐ

‘ประชาไท’ สนทนากับพระชิษณุพงศ์ ไพรพารี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เอกศาสนศึกษา และสามเณรสหรัฐ สุขคำหล้า นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกศาสนศึกษา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นส่วนหนึ่งของคณะปฏิสังขรณ์ใหม่

การปกครองสงฆ์เป็นภาพสะท้อนการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

พระชิษณุพงศ์และสามเณรสหรัฐกล่าวว่า การปกครองสงฆ์เป็นภาพสะท้อนของสังคมการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โครงสร้างทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่ มส. และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กฎระเบียบบางประการก็ไม่ได้อิงกับพระธรรมวินัย เช่น การให้อำนาจสิทธิ์ขาดแก่เจ้าอาวาสในการปกครองพระลูกวัด การใช้องค์กรสงฆ์เป็นเครื่องมือของรัฐ รวมถึงการเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐานดังที่กล่าวไปข้างต้น

เรื่องใหญ่เพียงนี้ต้องการความเห็นร่วมกันพอสมควรในแวดวงสงฆ์ถึงจะขับเคลื่อนได้ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าคณะสงฆ์เองมีความพร้อมแล้วหรือที่จะปฏิรูป พ.ร.บ.คณะสงฆ์และปลดแอกตนเองออกจากการรวมศูนย์อำนาจของ มส.

“ผมมองเห็นทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ยังเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.สงฆ์ กับฝ่ายที่ออกมาต่อต้าน ถามว่าจำนวนมีเกือบจะเท่ากัน แต่ว่าภาพที่เราจะเห็นได้ชัดคือฝั่งที่มีทัศนคติสนับสนุนเพราะว่าสามารถทำได้โดยไม่มีกฎอะไรมาพยายามกำจัดเขา อีกอย่างหนึ่งที่เขามองว่าควรสนับสนุนหรือมองเป็นเรื่องดีเพราะเขาได้สิทธิพิเศษ คือเขายังได้การสนับสนุนจากรัฐ ไม่ว่าจะเรียนฟรี ถ้ารักษาตรงนี้ได้ไว้ก็ยังมีผลประโยชน์ตรงนี้ที่จะได้

“แล้วอีกด้านหนึ่งฝั่งที่ออกมาต่อต้านเราจะไม่ค่อยเห็นภาพชัดเจน อย่างคณะปฏิสังขรณ์ฯ เองก็มีกันไม่กี่รูปที่ออกมาหรือว่าตามม็อบต่างๆ เราก็จะเห็นพระกระจายแต่ละจุดโดยไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง คือเขาไม่สามารถเปิดหน้าสู้ได้แบบเต็มตัวหรือการที่จะออกมาพูดออกสื่อพยายามทำให้เห็นว่ามีพระที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเขาออกมา ความเสี่ยงที่เขาจะโดนมีเยอะมาก ไม่ว่าจะทางกฎหมายหรือกฎของมหาเถรสมาคม เขาก็เลยพยายามต่อต้านแบบเงียบๆ เป็นเหตุผลว่าทำไมเราไม่ค่อยเห็นพระออกมา” พระชิษณุพงศ์ กล่าว

นอกจากคณะสงฆ์ด้วยกันแล้ว ปัจจัยหลักอีกประการคือประชาชนที่มองเข้ามา สามเณรสหรัฐ กล่าวว่า

“ความพร้อมหรือไม่พร้อมของประชาชนมันวัดไม่ได้ มันไม่มีเส้นที่ชัด ก็เหมือนกับประชาธิปไตย แต่ไม่มีใครเคยถามเลยว่าเราจะเอากับระบอบใหม่นี้ไหม แต่ที่ไหนมีการต่อสู้ทางอำนาจหรือทางวัฒนธรรม ผมคิดว่าคนจะเห็นคุณค่าและตระหนักรู้ ถึงแม้ว่าจะชนะหรือไม่ชนะก็ตาม เราไม่รู้ว่าเราจะไปทางไหนหรือมีอำนาจไหนที่มาสนับสนุนเรานอกจากประชาชน ผมเลยมองว่าความท้าทายคือประชาชนจะทนกับระบบมหาเถรสมาคมได้มากน้อยแค่ไหน แล้วเขาอยากจะเชพพุทธศาสนากระแสหลักยังไงมากกว่า”

ปฏิรูป พ.ร.บ.สงฆ์ ดึงคณะสงฆ์ถอยห่างจากรัฐ

โมเดล พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่ทางคณะปฏิสังขรณ์ใหม่ร่างภาพไว้คร่าวๆ ส่วนหนึ่งจะนำโครงสร้างเดิมจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 มาใช้ คือแบ่งอำนาจการปกครองสงฆ์ออกเป็น 3 ฝ่าย-สังฆนายก สังฆสภา และคณะวินัยธร ทั้งหมดมาจากการเลือกของคณะสงฆ์โดยไม่มีอำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซงแต่งตั้ง

ความแตกต่างคือโครงสร้างดังกล่าวมีความเป็นอิสระตามแต่ความเชื่อ หมายความว่าคณะสงฆ์แต่ละนิกาย เช่น จีนนิกาย อนัมนิกาย ธรรมยุติ มหานิกาย หรืออื่นๆ สามารถเลือกตั้งสังฆนายก สังฆสภา และคณะวินัยธรของตนเองและปกครองกันเองได้ สามเณรสหรัฐ อธิบายว่า

“เราสามารถมีนิกายได้และปกครองตัวเองได้ ถ้าเขาเป็นธรรมยุติและเชื่อว่าเขาจะอยู่กับพระมหากษัตริย์นั่นก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ผมจะไม่ได้ขึ้นตรงต่อคุณ ผมจะบริหารกันเองในฝั่งของมหานิกาย หรือฝั่งของภาคอีสานอยากปกครองแบบครูอาจารย์ พรรษาเยอะไล่ลงมาเป็นสำนักปฏิบัติธรรมนั่นก็เป็นสิทธิของเขาที่จะทำได้ แต่ของมหานิกายเรากำลังเสนอโมเดลนี้ ถ้าใครเห็นด้วยก็เข้ามาอยู่ในระบบสังฆสภาของเราได้ ผมเลยมองว่าสังฆราชก็ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรกับเราอีกต่อไป เขาอยากแต่งตั้งก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่คุณก็บริหารกันเอง เราก็จะทำงานในฝั่งมหานิกายที่สนับสนุนประชาชนมากกว่าที่จะอยู่ฝั่งของรัฐหรือของกษัตริย์”

พระชิษณุพงศ์ เสริมว่า จุดหมายปลายทางของคณะปฏิสังขรณ์ใหม่คือต้องการแยกศาสนาออกจากรัฐ แต่การจะไปถึงตรงนั้นไม่สามารถทำได้ทันทีจึงต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยการทำ พ.ร.บ.สงฆ์ใหม่ จำกัดสิทธิพิเศษของพระ จัดตั้งองค์กรที่เป็นอิสระจากรัฐและเป็นอิสระจากกันและกัน

ไม่มีมหาเถรสมาคม ไม่มีสำนักพุทธฯ ไม่มีอำนาจกษัตริย์

และสิ่งที่จะหายไปจากโมเดลนี้คือมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ปัจจุบันรวมศูนย์อำนาจและเป็นกลไกของรัฐในการควบคุมพระสงฆ์และกะเกณฑ์ให้พระสงฆ์ต้องทำหรือไม่ทำอะไร

แล้วตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช? คณะปฏิสังขรณ์ใหม่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี อย่างไรก็ตาม หากคณะสงฆ์โหวตว่ายังควรต้องมีอยู่ก็ต้องยึดตามเสียงส่วนใหญ่ แต่จะต้องกำหนดให้ชัดว่าจะมีบทบาทหน้าที่แค่ไหนและเกี่ยวพันกับกษัตริย์หรือไม่

อีกสิ่งหนึ่งที่จะหายไปคืออำนาจของกษัตริย์ในการแต่งตั้งหรือพระราชทานพัดยศแก่พระสงฆ์

“พัดยศอาจจะมีอยู่แต่เป็นหน้าที่บริหารเหมือนสังฆนายกและมีระบบราชการของสงฆ์ เป็นสัญลักษณ์ว่าเขามีหน้าที่บริหารเขตนี้ๆ เป็นเหมือนเจ้าพนักงานที่ถูกเลือกโดยประชาชน ตำแหน่งนี้จะไม่อยู่จนตายเหมือนระบบมหาเถร แต่เราจะมีการผลัดเปลี่ยนทุกวาระ 4 ปี มีการเลือกโดยสงฆ์เอง” สามเณรสหรัฐ อธิบาย

ด้านพระชิษณุพงศ์เสริมว่า แต่สัญลักษณ์ที่ว่าอาจไม่ใช่พัดยศ เป็นเพียงการระบุว่าพระสงฆ์รูปนั้นๆ มีตำแหน่งในการดูแลอะไร มีหน้าที่ชัดเจนว่าต้องทำอะไร โดยที่หน้าที่นี้ควรล้อไปตามระบอบประชาธิปไตยที่เน้นเสรีภาพในการออกและสร้างกฎเกณฑ์ของกันและกัน

พระชิษณุพงศ์ ยังเสริมอีกว่า ระบบพัดยศพระสงฆ์และระบบยศถาบรรดาศักดิ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกษัตริย์ควรตัดออกเพราะเป็นการนำลาภยศสักการะไปให้พระและทำให้พระหลงงมงาย

“แต่สิ่งที่ผมมองว่าไม่ควรตัดคือวัฒนธรรมที่กษัตริย์อุปถัมภ์พระ ผมมองว่าเป็นสิทธิของกษัตริย์ที่จะทำ แต่ทรัพย์สินในส่วนนี้ช่วยทำให้ตรวจสอบได้หน่อยได้ไหมว่าเป็นทรัพย์สินของประชาชนหรือของสถาบันกษัตริย์”

แนวทางการปฏิสังขรณ์นี้ อำนาจของกษัตริย์ในการแต่งตั้งหรือพระราชทานพัดยศแก่พระสงฆ์เพื่อให้มีอำนาจปกครองสงฆ์จะถูกตัดออกไปเช่นกัน

“กษัตริย์จะไม่เป็นพุทธมามกะ แต่จะเป็นเรื่องส่วนพระองค์ที่จะทำเอง เป็นเรื่องของท่าน แต่จะไม่มีพิธีที่ออกมาเอิกเกริกประกาศตนเองเป็นพุทธมามกะ” สามเณรสหรัฐ กล่าว ซึ่งจุดนี้การแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ไม่เพียงพอ หากต้องแก้ที่ตัวรัฐธรรมนูญ

คืนความเป็นพลเมืองให้แก่พระสงฆ์

“ในสถานการณ์ปัจจุบันอำนาจการตีความคัมภีร์พุทธ มันถูกจำกัดไว้แค่มหาเถรสมาคม” พระชิษณุพงศ์ อธิบาย “การตีความศาสนาถูกนำไปใช้เป็นกฎหมายในการจำกัดการเข้าถึง อย่างที่เราจะเห็นว่าหากคุณต้องการเป็นภิกษุณี คุณจะไม่ถูกรับรองโดยรัฐไทย ไม่ถูกรับรองโดยองค์กรสงฆ์ไทย

“ในส่วนนี้เลยทำให้ค่านิยมของคนไทยหรือคนพุทธมีทัศนคติต่อพระแค่แง่มุมเดียว ทั้งที่มันเป็นได้มากกว่านั้น มันอยู่ที่การตีความ เราเลยมองว่าอำนาจของการตีความไม่ควรอยู่ที่รัฐอย่างเดียว รวมถึงเมื่อรัฐได้อำนาจการตีความก็ไม่ได้เป็นตามพระธรรมวินัยด้วย เราเลยมองเห็นว่าแม้แต่รัฐควบคุมอำนาจการตีความ รัฐยังทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ควรถูกผูกขาดไว้ที่ใคร ศาสนาควรเป็นเรื่องเสรีภาพ เราไม่ได้มองว่าธรรมกาย สันติอโศกคือตัวร้าย แต่เรามองว่าควรให้เสรีภาพทุกๆ ศาสนาจะดีกว่าโดยการไม่เข้าไปคุมและเอาศาสนานั้นมาใช้เป็นเครื่องมือของตัวเอง”

ดังนั้น เมื่อตัดอำนาจรวมศูนย์ของรัฐออกไป พระสงฆ์แต่ละนิกายจะสามารถตีความคำสอนทางพุทธศาสนาได้ค่อนข้างเสรี ไม่ปิดกั้นความหลากหลาย ส่วนการตีความนั้นๆ จะได้รับการยอมรับจากสังคมหรือไม่ย่อมเป็นภาระของผู้ตีความและบริบททางสังคมเอง

ความเป็นพลเมืองจะถูกมอบคืนให้แก่พระสงฆ์ทั้งประเทศ-สิทธิในการเลือกตั้ง การเสนอกฎหมาย การถอดถอนผู้มีตำแหน่งทางการเมือง การเสนอนโยบาย ฯลฯ หลังจากที่ถูกริบไปโดยข้ออ้างว่าพระห้ามข้องเกี่ยวกับการเมือง ทั้งที่นโยบายของรัฐ มส. และสำนักพุทธฯ มุ่งบังคับใช้กับพระสงฆ์โดยตรง

นักบวชควรยืนข้างประชาชนมิใช่อำนาจรัฐ

ดังที่ทั้งสองกล่าว จุดหมายปลายทางคือการแยกศาสนาออกจากรัฐหรือทำให้รัฐไทยเป็น secular state อย่างแท้จริง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่ทางคณะปฏิสังขรณ์ใหม่ต้องการแก้จึงมีอายุของมัน เป็นเพียงบันไดขั้นแรกๆ ที่จะดึงคณะสงฆ์ถอยห่างจากรัฐ เป็นตัวอย่างให้ศาสนาอื่นเห็นว่าเหตุใดจึงควรถอยห่างจากรัฐ

“งบประมาณแผ่นดินต้องไม่เอาไปใช้อะไรที่จับต้องไม่ได้ การจะให้ประชาชนไปถึงนิพพานมันก็ไม่ใช่ เพราะไม่ได้มีแต่ศาสนาพุทธอย่างเดียว ถ้ามี พ.ร.บ.สงฆ์ แล้วต้องมีของคริสต์ อิสลามด้วยหรือไม่ คนไม่มีศาสนาก็ต้องมีข้อยกเว้นให้กับเขา อย่างแรกเลยเราต้องทำให้งบประมาณแผ่นดินตรงนี้ใช้ไปกับเรื่องปัจเจกเพราะศาสนาเป็นเรื่องปัจเจก ไม่ใช่มาทำหมู่บ้านศีล 5 ส่งพระไปเป็นธรรมทูต มันเป็นเงินรัฐทั้งสิ้น หรือการส่งเสริมธรรมทายาท ส่งเสริมพระเณรเรียนฟรีจนจบ ม.6 ซึ่งมันไปเบียดเบียนคนอื่น คนจนหรือผู้หญิงที่บวชไม่ได้เขาก็ไม่ได้สิทธิพิเศษตรงนี้” พระชิษณุพงศ์ แสดงความเห็น

รัฐสวัสดิการจึงมีความจำเป็นที่จะเข้ามาอุดช่องว่างตามทัศนะของสามเณรสหรัฐ ไม่ใช่การใช้จ่ายงบประมาณในนามศาสนา วิชาพุทธศาสนาควรเป็นแค่วิชาเลือกที่ไม่บังคับเรียน การห้ามขายเหล้าในวันสำคัญทางพุทธศาสนาต้องถูกยกเลิก และอื่นๆ

อ่านถึงบรรทัดนี้เชื่อว่าหลายคนคิดในใจว่า ยาก ยากมากๆ ที่จะไปถึงจุดดังกล่าว แต่ทั้งสองมองด้วยความหวัง หนทางที่จะไปคือการให้ความรู้เรื่อง secular state แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

เพราะศาสนา “มันควรเป็นเสรีภาพ” พระชิษณุพงศ์ กล่าว

และนักบวชควรยืนข้างประชาชนมิใช่อำนาจรัฐ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท