Skip to main content
sharethis

ผู้พลัดถิ่น 2,500 คนเผชิญความเสี่ยง ภายหลังกองทัพพม่าทิ้งระเบิดและเสริมกำลังทหารเข้าใกล้กับค่ายผู้พลัดถิ่นดอยก่อวันบริเวณพรมแดนทางใต้รัฐฉานใกล้เชียงราย คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉานขอให้ไทยเปิดให้ผู้พลัดถิ่นข้ามมาฝั่งไทยหากเริ่มมีการโจมตีและให้ที่อยู่ปลอดภัย

20 เม.ย.2564 คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย) รายงานว่า ผู้พลัดถิ่นกว่า 2,500 คนเสี่ยงอย่างยิ่ง ภายหลังการทิ้งระเบิดและการเสริมกำลังทหารของกองทัพพม่าหลายร้อยนาย ใกล้กับค่ายผู้พลัดถิ่นดอยก่อวันบริเวณพรมแดนทางใต้รัฐฉาน-ประเทศไทย ตรงข้ามจังหวัดเชียงราย

ในวันที่ 18 เม.ย.2564 เวลา 17.45 น. มีกระสุนปืนใหญ่ขนาด 120 มม.สองลูก ตกลงบนที่นาห่างจากค่ายดอยก่อวัน ไปด้านเหนือ 2 กิโลเมตร ขณะที่ผู้พลัดถิ่นประมาณ 20 คน รวมทั้งเด็กชายอายุ 12 และ 13 ขวบ กำลังอยู่ระหว่างดูแลเรือกสวนไร่นาและสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีเพียงชายวัย 51 ปีคนหนึ่งที่ถูกแรงระเบิดอัดจนกระเด็นแต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จากนั้นลูกปืนใหญ่ลูกที่สามถูกยิงตอนประมาณหกโมงเย็น แต่ไม่มีเสียงระเบิด ไม่มีใครทราบว่าตกลงที่ใด

ภายหลังเหตุการณ์ ผู้พลัดถิ่นได้ปล่อยวัวและควายออกมา และนำไปเลี้ยงบนเชิงเขาใกล้กับค่ายที่พักพิงหลัก ในคืนวันนั้น ผู้พลัดถิ่นในค่ายทั้งหมด 2,559 คน ต้องจัดเตรียมข้าวของเตรียมพร้อมเพื่ออพยพ ผู้สูงอายุไม่อาจหลับได้เพราะกลัวการโจมตีทั้งคืน

วันที่ต่อมา 19 เม.ย.2564 เวลา 15.38 น. และ 15.42 น. ลูกปืนใหญ่ขนาด 120 มม. ถูกยิงใส่บริเวณที่นาเดียวกัน ที่ห้วยปางควาย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่มีใครอาศัยอยู่บริเวณนั้นแล้ว

ค่ายผู้พลัดถิ่นดอยก่อวัน

ห้วยปางควายนับเป็นแหล่งเกษตรกรรมหลักของผู้พลัดถิ่นที่ดอยก่อวัน เนื่องจากค่ายที่พักพิงของพวกเขาตั้งอยู่บนยอดเขาซึ่งไม่มีพื้นที่เหมาะสมต่อการเกษตร เดือนเมษายนมักเป็นเดือนที่ผู้พลัดถิ่นเตรียมที่ดินเพื่อปลูกข้าว ข้าวโพด และถั่วเหลือง แต่มีผู้พลัดถิ่นเพียงไม่กี่คนที่กล้าลงไปทำนาตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.2564 หลังจากที่กองทัพพม่าแจ้งต่อทางการไทยว่าจะเริ่มโจมตีสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) ตามแนวพรมแดนรัฐฉาน-ประเทศไทย และจากเหตุการณ์ที่มีการยิงกระสุนปืนใหญ่ตกในพื้นที่ทำให้ไม่มีใครกล้าไปทำนาอีก

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้พลัดถิ่นเกิดความหวาดกลัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีข่าวว่าทหารจากกองทัพพม่าหลายร้อยนายเคลื่อนกำลังพลมายังพื้นที่ดังกล่าวเพื่อเสริมกำลังทหารจำนวน 7 กองพันที่ตรึงกำลังอยู่บริเวณรอบค่ายดอยก่อวันอยู่แล้ว รวมทั้งกองพันทหารราบเบาที่ 221, 225, 259, 388, 554, 572 และกองพันทหารราบที่ 314

ค่ายผู้พลัดถิ่นดอยก่อวันยังตั้งอยู่ท่ามกลางกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ซึ่งได้ยึดพื้นที่เดิมอันเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเขาที่เมืองกาน ภาคตะวันออกของเมืองสาด รัฐฉาน ตั้งแต่ปี 2543 และต่อมากองทัพสหรัฐว้ายังบังคับให้ชาวบ้านชาติพันธุ์ว้าหลายพันคนจากตอนเหนือของรัฐฉานอพยพมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ โดยได้รับอนุญาตจากกองทัพพม่า

คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย) แสดงถึงความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่ดอยก่อวันและค่ายผู้พลัดถิ่นอีกสี่แห่งตามแนวพรมแดนทางใต้ของรัฐฉาน-ประเทศไทย ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้ถูกทหารพม่าบังคับย้ายถิ่นในภาคกลางและภาคใต้ของรัฐฉานอย่างกว้างขวางในปี 2539 - 2541 ประชาชนกว่า 3 แสนรายต้องอพยพและหลายคนถูกทรมาน ทารุณกรรมทางเพศ และสังหาร

คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย) ขอย้ำคำวิงวอนเร่งด่วนต่อรัฐบาลไทย โปรดอนุญาตให้ผู้พลัดถิ่นข้ามพรมแดนมาฝั่งไทยทันทีที่เริ่มมีการโจมตี และให้ที่อยู่อันปลอดภัยกับพวกเขา ที่พักพิง และการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย) SSRC (TB) ประกอบด้วยคณะกรรมการค่ายผู้พลัดถิ่นห้าแห่ง และค่ายผู้ลี้ภัยหนึ่งแห่งทางตอนใต้ของพรมแดนรัฐฉาน-ไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net