Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

‘เดฟ’ หรือ David E. Streckfuss เป็นนักศึกษาปริญญาเอกคนแรกที่ผมเป็น advisor ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน หนังสือ Truth on Trial in Thailand (2011) ของเขาก็ผ่านการถกเถียงนับสิบรอบกับผมนี่แหละครับ ไม่ใช่กับ CIA หน้าไหน ถกเถียงกันตั้งแต่กรอบความคิดจนถึงประเด็นสารพัด รวมทั้งชื่อหนังสือด้วย เขามาตั้งรกรากที่อีสานเพราะเขาผูกพันกับอีสานมาตั้งแต่เป็นอาสาสมัคร Peace Corps เมียคนแรกเขาเป็นคนอีสาน ซึ่งผมก็รู้จักดี 

‘เดฟ’ ทำงานกับ Council of International Educational Exchanges (CIEE) หรือ โครงการแลกเปลี่ยนเพื่อการศึกษานานาชาติ https://www.ciee.org/about ซึ่งมีเครือข่ายในหลายสิบประเทศทั่วโลกและเปิดโครงการในไทยเมื่อปี 2537 ‘เดฟ’เป็นผู้อำนวยการในไทยนับแต่เริ่มจนหยุดลงเพราะโควิดเมื่อปีก่อน บอร์ดของ CIEE ในซึ่งตั้งขึ้นมามากกว่า 70 ปีแล้วมักเต็มไปด้วยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคต่างๆ ของโลก หลายคนเป็นอาจารย์ของอาจารย์ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยไทยขณะนี้ 

‘เดฟ’ เป็นลูกจ้างของคนเหล่านี้ ไม่ใช่ CIA อย่างที่มีคนคลั่งชาติพยายาม ‘กุ’ อย่างแข็งขัน

‘เดฟ’ พานักศึกษาฝรั่งมาใช้ชีวิตรู้จักประเทศไทยปีละหลายสิบคน เพราะใน 30 ปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยฝรั่งส่งเสริมให้นักศึกษาปริญญาตรีของเขารู้จักโลกจะได้ไม่คับแคบ จนการไปใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ ในต่างประเทศกลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรปริญญาตรีไปแล้ว CIEE ช่วยให้นักศึกษาที่ไม่ต้องร่ำรวยก็ไปเปิดโลกได้ หลายคนหลงรักประเทศไทย ศึกษาเข้าใจประเทศไทยต่อจนเป็นผู้เชี่ยวชาญ หลายคนทำงานอาชีพที่เกี่ยวพันกับประเทศไทยต่อมาจนทุกวันนี้ แต่ประเทศไทยที่ ’เดฟ’ พานักศึกษาฝรั่งมารู้จักไม่ใช่ประเทศไทยในโปสเตอร์ของ ททท. หรือประเทศไทยย้อนยุคของลุงตู่ เขาพานักศีกษาไปรู้จักคนไทยหลายแบบหลากอาชีพ ทั้งในเมืองกรุงแดนศิวิไลซ์ไปจนถึงชาวปากมูลกับปัญหาเขื่อน 

นี่คือประเทศไทยในสายตาของครูที่อยู่ติดดิน ไม่ใช่ของ ททท. กอ.รมน. คสช. หรือตามทัศนะของลัทธิหลงใหลคลั่งเจ้า 

นี่ไม่ใช่ความต้องการของ CIA แน่ๆ เพราะนับจากหลังสงครามเวียดนาม CIA ก็ไม่สนใจประเทศไทยถึงขนาดที่คนไทยผู้หลงตัวเองยังมักเพ้อเจ้อบ่อยๆ CIA นับจากนั้นทำงานและให้เงินกับหน่วยงานความมั่นคงของไทยเท่านั้นเพื่อร่วมมือกันสู้กับการก่อการร้าย เช่น CIA ใช้ไทยเป็นฐานสำหรับคุกลับ เป็นต้น

‘เดฟ’ ต้องการให้นักศึกษาฝรั่งรู้จักอีสาน เพราะเขาก็ถืออีสานเป็น “บ้าน” ของเขา คนแบบนี้ถ้าอยู่เป็น ไม่เอ่ยปากให้ความเห็นเกี่ยวกับประเทศไทย ก็จะมีคนไทยเชิดชูยกย่องสรรเสริญจนเลิศลอยเพราะถือเป็นหลักฐานยืนยันความเป็นสวรรค์ของกะลา แต่’เดฟ’เป็นคนที่รักบ้านแบบที่ต้องการปรับปรุงบ้านให้เปลี่ยนแปลงดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เขามีความหวังและปรารถนาเหมือนกับคนไทยจำนวนไม่น้อยทุกวันนี้ 

เพราะคิดเป็นตัวของตัวเองจึงต้องถูกลงโทษ ถ้าเป็นฝรั่งต้องไล่ไป ถ้าเป็นไทยต้องติดคุก


องค์กรไทยรับเงินต่างชาติ

คนไทยโดยทั่วไปไม่มีความรู้เข้าใจองค์กรที่เป็นแหล่งทุนนานาชาติ จึงตกเป็นเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อราคาถูก มิหนำซ้ำคนไทยที่รักชาติจนหน้ามืดตามัวก็ไม่มี “พลังปัญญา” (นี่เป็นหริศัพท์ของคำว่าอะไรกรุณาไปสอบถามจากอาจารย์วรเจตน์ หริศัพท์หมายถึงอะไรกรุณาค้นหาใน สาส์นสมเด็จ) ที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ของนานาชาติในโลกยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน จึงหลงเชื่อเพราะ paranoid กับภัยต่อความมั่นคงแบบยุคสงครามเย็น
ในโลกวิชาการ มีแหล่งทุนทำนองเดียวกับ NED (National Endowment for Democracy) ที่ให้ทุนแก่ อีสานเร็คคอร์ด เช่น NSF สำหรับโครงการทางวิทยาศาสตร์ NIH สำหรับการแพทย์และสาธารณสุข SSRC สำหรับทางสังคมศาสตร์ NEH และ NEA สำหรับด้านมนุษยศาสตร์และศิลปะ แหล่งทุนเหล่านี้เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงกำไร (non-profit organization) แม้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุน แต่ไม่ใช่แหล่งเดียวและรัฐบาลไม่มีอำนาจควบคุมนโยบายหรือการตัดสินใจขององค์กรเหล่านี้ หลายประเทศที่ร่ำรวยก็มีแหล่งทุนทำนองนี้เช่นกัน เช่น Japan Foundation, Korean Foundation เป็นต้น

มองออกไปนอกวงวิชาการ จะพบแหล่งทุนมากมายทำนองเดียวกันแต่สำหรับประเด็นเป้าหมายต่างๆ กัน เช่น เพื่อเด็ก เพื่อธรรมชาติ เพื่อสัตว์ป่า เพื่อลดบุหรี่ เพื่อสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพสื่อมวลชน เพื่อส่งเสริมธุรกิจ เพื่อการค้าเสรี เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการแก้ความขัดแย้งอย่างสันติ ฯ ลฯ รวมถึงเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ซึ่งมี NED เป็นหนึ่งในนั้น แหล่งทุนแบบนี้จำนวนมากได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลประเทศต่างๆ กันไปรวมทั้งสหรัฐอเมริกา

แต่แหล่งทุนเหล่านี้แทบทั้งหมดมีหลักประกันให้เป็นอิสระจากรัฐ ห้ามรัฐเข้ามายุ่มย่าม แม้จะได้รับจัดสรรงบประมาณจากบางรัฐบาล แต่ล้วนมีทั้งกฎหมาย กฎบัตรขององค์กร และการจัดโครงสร้างเพื่อห้ามหรือกีดกันมิให้รัฐมีอำนาจต่อนโยบายและการตัดสินใจขององค์กร องค๋กรตระกูล N ของสหรัฐอเมริกาทุกองค์กร Japan และ Koran Foundation ล้วนมีกฎหมายประกันความเป็นอิสระจากรัฐ สถาบันขงจื๊อ (Confucius Institute) ของจีนที่ขยายสาขาไปทั่วโลกเป็นองค์กรเดียวที่เป็นส่วนหนึ่งของกิจการรัฐและให้อำนาจมากแก่คนของรัฐที่นั่งอยู่ในระดับต่างๆ ขององค์กรบริหารกลางของสถาบันนี้ จนทำให้สถาบันขงจื๊อในหลายประเทศและหลายมหาวิทยาลัยโดนยุบโดนอัปเปหิเพราะไปทำหน้าที่สอดส่องนักศึกษาจีนหรือไปกีดกันขัดขวางการศึกษา “3T” (Taiwan, Tibet, the Tiananmen massacre)

แต่แหล่งทุนสำคัญๆ จะไม่ห้ามคนที่มีความคิดต่างๆ กันต่อประเด็นที่เป็นเป้าหมาย หลายองค์กรตั้งใจหาคนที่คิดต่างกันนั่งเป็นกรรมการบอร์ดและกรรมการคัดเลือกผู้รับทุนด้วยซ้ำ เพื่อประกันว่าองค์กรนั้นจะไม่เอียงไปทางไหนจนเกินไป และประกันว่าโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจะหลากหลายปะปนกันไป

หากถามว่าประเทศร่ำรวยเหล่านั้นได้อะไรจากการให้เงินอุดหนุนแต่บงการไม่ได้ คำตอบสั้นๆ คือ ประการแรก เพราะประเทศรวยไม่ได้คิดถึง “ผลประโยชน์ของชาติ” ในแบบเก่ายุคสงครามเย็น (หรือเก่ากว่านั้น) อีกแล้ว ไม่ได้คิดถึง “ความมั่นคง” ในแบบเก่าๆ อีกต่อไปแล้ว ประการที่สอง การให้ทุนด้านต่างๆ เป็นsoft power ในความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองโลก การบริหารจัดการ soft power จะต้องไม่ให้รัฐเข้ามายุ่มย่ามเพราะจะสูญเสียความไว้วางใจกันระหว่างพลเมืองโลก (คำอธิบายยาวๆ คงต้องเก็บไว้โอกาสอื่น หรือโดยผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญมากกว่าผม)

ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐอเมริกาที่ฝังหัวกับความคิดเก่าๆ จึงต้องการตัดงบฯ ที่จัดสรรให้แก่แหล่งทุนเหล่านี้ เพราะถือว่าการสนับสนุนความสัมพันธ์ของพลเมืองโลกแบบนี้สิ้นเปลือง ไม่ก่อประโยชน์แก่ความมั่นคงของประเทศ 

ประเทศไทยรับเงินต่างชาติเหล่านี้เป็นปกติมานานแล้วด้วย โครงการสารพัดของแทบทุกมหาวิทยาลัยก็รับ คณะแพทย์และหมอจำนวนมากก็รับ (รวมทั้งที่ไปเป่านกหวีดด้วย) ท่านรัฐมนตรีก็คงเคยรับ อาจารย์ผู้ใหญ่หลายรุ่นมีคอนเนคชั่นกับแหล่งทุนเหล่านี้ บางคนเคยนั่งอยู่ในบอร์ดของบางองค์กรด้วยซ้ำไป แหล่งทุนตระกูล ส. ของไทยก็ “รับเงินต่างชาติ” หน่วยงานราชการไม่น้อยก็รับและร่วมมือกับแหล่งทุนเหล่านี้มาหลายทศวรรษแล้วด้วย กลุ่ม NGOs ไทยมากมายที่รับทุนจากแหล่งทุนนานาชาติแบบนี้จึงไม่ต่างไปจากหน่วยราชการทั้งหลาย บางกลุ่มร่วมมือกับราชการเพื่อขอรับทุนต่างชาติก็มี แต่ไม่เคยมีใครโวยวายว่ากรมนั้นกระทรวงนี้ อาจารย์ x ท่านรัฐมนตรี หรือคุณหมอนกหวีด “รับเงินจากต่างชาติ” หรือเป็น CIA เลย

การกล่าวหาเลอะเทอะแบบนั้นจึงใช้กับกลุ่มที่จับประเด็นที่รัฐไทยไม่ต้องการเท่านั้น เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ทั้งกลุ่มเหล่านั้นก็ย่อมไม่ต้องการถูกรัฐไทยควบคุม พวกเขาจึงต้องหาทุนที่อิสระจากรัฐไทย เพราะแหล่งทุนไทยอยู่ใต้บงการรัฐบาล แหล่งทุนนานาชาติให้อิสระในการทำงานและความคิดมากกว่า
 
สื่อทางเลือกที่ประสบความสำเร็จกำลังไปได้ดีอย่าง อีสานเร็คคอร์ด ซึ่งเป็นปากเสียงให้คนอีสาน จึงตกเป็นเป้าถูกกล่าวหา “รับเงินจากต่างชาติ” ในขณะที่รัฐไม่เคยสนับสนุน ดีแต่ถลุงเงินภาษีไปกับ IO และสื่อโฆษณาชวนเชื่อ


ความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองโลก

ความรู้ความเข้าใจเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” (International relations) ได้เปลี่ยนไปอย่างมากนับจากทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ กล่าวคือมิได้จำกัดอยู่เพียง “ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐนานาชาติ” หรือที่เรียกกันว่าการทูต (Diplomacy) อีกต่อไปแล้ว แต่ต้องมองกว้างออกไปถึงความสัมพันธ์ของหน่วยต่างๆ ในระบบทุนนิยม (การผลิต ธุรกิจ การเงิน การค้า) ที่มีผลต่อกันและกันระหว่างประเทศที่สำคัญไม่น้อยกว่าการต่างประเทศเพื่อความมั่นคงในแบบเดิม

แต่ในขณะที่ความมั่นคงและระบบทุนนิยมนับรวมเข้าเป็น “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ได้ไม่ยาก ในเวลาเดียวกันมีความสัมพันธ์ทางสากลอีกแบบหนึ่งซึ่งมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น นั่นคือความสัมพันธ์ข้ามประเทศระหว่างกลุ่มเอกชนในฐานะพลเมืองโลก ซึ่งบ่อยครั้งข้ามรัฐ ลอดรัฐ ไม่(อยาก)ยุ่งเกี่ยวกับรัฐ แต่เต็มไปด้วยกิจกรรมและมีอิทธิพลต่อกันและกันข้ามประเทศข้ามสังคมมากขึ้นทุกที เช่น โครงการสารพัดด้วยการสนับสนุนของแหล่งทุนที่เป็นอิสระจากรัฐ

ความสัมพันธ์ชนิดนี้มีหลากหลายยิ่งกว่าการทูตหรือทุนนิยม และกำลังมีบทบาทเป็นพลังระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อย กระบวนทัศน์ของ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” จึงต้องเปลี่ยน ให้ความสำคัญกับบทบาทของกลุ่มเอกชนในฐานะพลเมืองโลกไม่น้อยไปกว่าการทูตและทุนนิยม และจะต้องไม่มองพลังของเอกชนระหว่างประเทศว่าเป็นสายลับหรือเครื่องมือของต่างชาติที่เป็นภัยต่อความมั่นคงตามความคิดแบบเก่าๆ

แต่เรื่องนี้ยังถูกระแวงสงสัยจากรัฐที่ยังฝังหัวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติในแบบเก่าๆ ไม่เข้าใจความสำคัญของกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือความร่ำรวยของชาติ จึงตาบอดต่อ “โอกาส” ที่มากับ“ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” แบบโลกาภิวัตน์ แถมกลับเห็นเป็นภัยเต็มไปหมด
อันที่จริงจะบอกว่ารัฐและสังคมไทยไม่รู้จักคงไม่ได้ เพราะเรารู้จักอยู่แล้วไม่น้อย เช่นกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ การคุ้มครองเด็ก ฯ ลฯ เพียงแต่เรารังเกียจกิจกรรมที่เฉียดเข้าใกล้การเมือง เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตย เป็นต้น รัฐระแวงจนขึ้นป้ายว่าเป็น “การแทรกแซง” เพราะถือว่าประชาชนไม่ควรเข้ามายุ่มย่ามกับประชาธิปไตย ควรเป็นกิจที่สงวนไว้ให้รัฐเท่านั้น 

การโจมตีเรื่องแหล่งทุนของ NGO ในไทยมีจุดหมายหลักเพื่อตัดแหล่งทุนและทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่ม โครงการ และคนที่ทำกิจกรรมที่รัฐไทยเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ 


‘เดฟ’ ผิดเพราะคิดต่างออกไปนอกกะลา

ทั้งเรื่ององค์กรไทยรับเงินต่างชาติและเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองโลกนั้น ไม่ง่ายเลยที่จะอธิบายให้สาธารณชนในประเทศไทยโดยทั่วไปเข้าใจ แต่ผมขอความกรุณาได้โปรดเปิดใจกันหน่อย 

แต่สำหรับคนไทยที่หลงเจ้าและคลั่งชาติในแบบเก่าๆ แบบยุคสงครามเย็น (หรือก่อนหน้านั้น) คงไม่มีทางเข้าใจ น่าเสียดายที่ในประเทศไทย คนมีอำนาจมีความคิดตกยุคแบบนี้ ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง ไม่เข้าใจผลประโยชน์แห่งชาติและความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองโลกแบบโลกาภิวัตน์ยุคนี้ พวกเขารับรู้ได้แต่ข่าวสารง่ายๆ เฉพาะที่สอดคล้องกับกรอบความคิดเรื่องความมั่นคงและการต่างประเทศแบบล้าสมัยที่ฝังหัวเขา
คนที่ไม่มี “พลังปัญญา” อยู่ในจุดที่มีอำนาจเต็มไปหมด

น่าเสียดายที่ในประเทศไทยมีคนอีกมากที่บริโภคการโฆษณาชวนเชื่อที่ถูกทำให้หยาบง่าย (simplified) ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไปมากแล้ว จึงถูกลดทอนลงเป็นแค่ต่างชาติให้ทุนมาแทรกแซงประเทศไทย

สังคมไทยป่วยหนัก ป่วยทางกายด้วยเศรษฐกิจและระบบสุขภาพที่กำลังวิกฤต ป่วยทางจิตและทางสมองเพราะความจนปัญญา ไร้วิจารณญาณ และปราศจากความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

‘เดฟ’ เป็นปรากฏการณ์ปกติของโลกยุคนี้ที่ผู้คนมากมายย้ายถิ่นฐานไปยัง “บ้าน” ในต่างแดน แต่คนคลั่งชาติไม่มีทางเข้าใจเพราะเขาลืมสมองไว้กับยุคสงครามเย็น 

คนที่มีโปรไฟล์ด้านวิชาชีพคล้าย’เดฟ’ ปกติคงได้ชื่อว่าทำคุณด้านการศึกษาแก่ประเทศไทยและแก่คนอีสาน แต่เนื่องจากเขามีความคิดต่างจากที่รัฐประสงค์ ร่างฝรั่งของเขาจึงกลายเป็นเป้าของการเหยียดเย้ยว่าเป็นศัตรูจากต่างชาติ

ผมไม่แน่ใจว่าฝรั่งคนที่ออกมาทำลาย’เดฟ’อยู่ในขณะนี้ถือประเทศไทยเป็น “บ้าน” หรือไม่ ผมรู้แต่ว่ามีฝรั่งอีกหลายคนที่รักเมืองไทยจนถือเป็นบ้านของเขาทำนองเดียวกับ’เดฟ’ เพียงแต่เขาเลือกที่จะยอมอึดอัดอยู่เงียบๆ เพราะเขารู้ว่าอาจตกเป็นเป้าถูกทำร้ายขับไล่เพียงเพราะความคิดที่ต่างจากรัฐไทยและคนไทยที่คลั่งชาติหลงเจ้า...แค่นั้นเอง

‘เดฟ’ ไม่ผิดที่เกิดผิดที่ ความผิดของเขามีเพียงเพราะเขาคิดต่างจากรัฐและคนไทยที่คลั่งชาติ เพียงเพราะเขามีความเห็นต่ออนาคตของ “บ้าน” ของเขา 

เพราะรักและแคร์กับ “บ้าน” น่ะสิ ถึงต้องการคุยกันอย่างเปิดเผย 

ไม่มี CIA หน้าไหนแคร์กับประเทศไทยขนาดนี้หรอก 

ประเทศไทยกำลังคล้ายคุกที่คนคลั่งชาติจับคนนับล้านเป็นนักโทษทางความคิด ผู้คนจำทนอยู่กันไปภายใต้ความกลัว

‘เดฟ’ ก็เหมือนคนไทยรักบ้านหลายล้านคนที่ต้องการบอกว่าเขาไม่อยากให้ “บ้าน” ของเขาเป็นแบบนี้

วิธีจัดการกับความคิดที่ต่างกันดีที่สุดเป็นวิธีที่ง่ายเหลือเกินนั่นคือมาคุยกันอย่างสันติ 

ฝรั่งไม่ต้องไล่ คนไทยไม่ต้องจับเข้าคุก 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net