'นักรัฐศาสตร์-สื่อ ปชช.' มองผลเลือกตั้งท้องถิ่น 2 สนามอีสาน ชี้ ‘ภูมิใจไทย’ น่าจับตา

'นักวิชาการรัฐศาสตร์-สื่อภาคประชาชน' วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นอีสานทั้งการเลือกตั้ง อบจ.และเทศบาล เห็นพ้อง 'ภูมิใจไทย' น่าจับตาในภาคอีสาน

แฟ้มภาพ

จากข้อมูลการเลือกตั้งท้องถิ่นในภาคอีสานจำนวน 20 จังหวัด เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในวันที่ 20 ธ.ค.63 พบว่า พรรคภูมิใจไทยได้นายกมากที่สุด 9 คน รองลงมาเป็นพรรคเพื่อไทย 6 คน พรรคพลังประชารัฐ 4 คน และพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน

ขณะที่การเลือกตั้งเทศบาลเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาก็มีผลที่น่าสนใจเช่น เทศบาลนครอุดรธานี ธนดร พุทธรักษ์ กลุ่มรักษ์เมืองอุดร หมายเลข 3 ที่ได้รับการสนับสนุนจากศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย, วิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี ได้รับเสี่ยงสนับสนุนจนชนะการเลือกตั้ง ส่วนเทศบาลนครอุบลราชธานี นั้น พิศทยา ไชยสงคราม ลูกสะใภ้ เกรียง กัลป์ตินันท์ อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็คว้าเก้าอี้นายกเล็กเมืองอุบลฯ เทศบาลนครนครราชสีมา ประเสริฐ บุญชัยสุข ทีมโคราชชาติพัฒนา ที่มีสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา คอยให้การสนับสนุนก็ได้รับการเลือกตั้ง ส่วนเทศบาลบุรีรัมย์ ยุทธชัย พงศ์พณิช จากกลุ่มเพื่อนเนวิน กลับแพ้สกล ไกรรณภูมิ ที่กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่าได้รับการสนับสนุนจากคณะก้าวหน้าบุรีรัมย์ซึ่งระดมเสียงผ่านเครือข่ายโซเชียล อย่างไรก็ตาม ผลการนับคะแนนสมาชิกสภาเทศบาล กลับตกเป็นของ"กลุ่มเพื่อนเนวิน" ทั้งสภาฯ ซึ่งจะทำให้การทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหารของ "สกล" คงยากลำบาก เป็นต้น

เพื่อทำความเข้าใจว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น 2 ครั้งที่ผ่านมาสะท้อนภูมิทัศน์ทางการเมืองในพื้นที่ภาคอีสานอย่างไรนั้น ในโอกาสนี้เราจึงพูดคุยกับ ปฐวี โชติอนันต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนพพร พันธุ์เพ็ง ประธานสื่อมูลนิธิสื่อสร้างสุขอุบลราชธานีและกรรมการสื่อภาคประชาชน 

ความต่างในการเลือกตั้ง อบจ.และเทศบาล

นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อธิบายความแตกต่างของเทศบาลและ อบจ. ไว้ว่า

1. เรื่องของพื้นที่ อบจ. เป็นพื้นที่ทั้งจังหวัดซึ่งมันใหญ่กว่า ส่วนเทศบาลเป็นเพียงพื้นที่ในเขตเทศบาลความพิเศษของเทศบาลคือจะมีความเป็นเมือง

2. เรื่องการทำงาน อบจ.จะเป็นการทำงานแบบดูภาพรวมทั้งจังหวัดการทำงานก็จะใหญ่ขึ้น เช่น เรื่องของภาษี ส่วนเทศบาลจะดูเฉพาะในพื้นที่ลงไปว่าในเขตนั้นมีประชากรเท่าไหร่ มีพื้นที่เท่าไหร่งานส่วนใหญ่จะเป็นงานแบบพื้นฐานเช่น เรื่องขยะ เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ 

3. เรื่องการใช้เงินในการหาเสียง หลายคนอาจมองว่า อบจ. มีพื้นที่ขนาดใหญ่เงินที่ลงมาบางที่เป็นหลายร้อยล้าน บางที่หลายพันล้าน บางคนอาจมองว่ามาก แต่เงินที่จ่ายต่อคนต่อประชากรมันไม่มากเท่าเทศบาล ปัฐวีมองว่าประชากรส่วนมากได้เงิน 400-500 บาทหรืออย่างมากที่สุดก็คนละ 1,000 บาท เพราะต้องจ่ายมากคือจ่ายทั้งจังหวัดเพราะฉะนั้นเขาก็ต้องกระจายเงินออกไปหรือไม่ก็ต้องเลือกให้เฉพาะบางพื้นที่ที่ผู้ลงสมัครคิดว่าเขามีโอกาสชนะเขาก็จะจ่ายเงินลงไป ในส่วนของเทศบาลเมื่อพื้นที่มันเล็กและมีคู่แข่งมากการใช้เงินของนักการเมืองที่เขาเรียกว่ายิงกระสุนลงไปเป็นการยิงที่หนักมากเทศบาลบางแห่งมีการใช้เงิน 30-50 ล้านและเมื่อยิ่งใกล้วันเลือกตั้งบางคนได้ 2,000-3,000บาท/คน หรืออย่างน้อยๆก็ 1,000 บาท/คน การใช้เงินมันขึ้นอยู่กับสัดส่วนของพื้นที่ยิ่งพื้นที่มันเล็กและการแข่งขันสูงนักการเมืองก็ยิ่งใช้เงินในการที่จะยิงเงินลงไป

4. ความชัดเจนของพรรคการเมือง ในส่วนของ อบจ. จะเห็นได้ชัดว่าจะมีพรรคการเมืองระดับชาติไม่ว่าจะเป็น เพื่อไทย ที่ออกตัวชัดเจนในการลงมาหนุนผู้สมัครนายก อบจ.ของเขาในแต่ละจังหวัด ในส่วนของเทศบาลก็จะเห็นเพื่อไทยส่งตัวแทนของตัวเองลงมาแต่ความนิยมก็ยังไม่เท่ากับตอนเลือก อบจ. เพราะว่าตอนเลือก อบจ. นักการเมืองหลักๆ ของเพื่อไทยลงมาช่วยหาเสียง

 ปฐวี โชติอนันต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

'ภูมิใจไทย' เป็นพรรคการเมืองที่แทรกขึ้นมา

ปัฐวี มองว่าสิ่งที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งท้องถิ่นของภาคอีสานคือพรรภูมิใจไทย ถ้ามองกันดีๆ ภูมิใจไทยจะเป็นพรรคการเมืองที่แทรกขึ้นมาและได้นายก เขาไม่ได้เปิดตัวว่าพรรคของเขาสนับสนุนนายกคนไหนแต่ถ้าเรามองจากความสัมพันธ์บางคนเคยเป็นอดีต ส.ส.ภูมิใจไทยเคยมีความคลุกคลีกับทางภูมิใจไทยและเท่าที่เขาดูตัวเลขของทางภูมิใจไทยค่อนข้างที่จะได้นายก อบจ. มาก (9 คน)

รูปแบบของการหาเสียงดีขึ้น

ขณะที่ประธานสื่อมูลนิธิสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี มองว่า เนื่องจากประชาชนห่างหายจากการเลือกตั้งมานานประมาณ 7-8 ปี สิ่งที่เหมือนกันคือความตื่นตัวของประชาชนคือมีการออกมาเลือกตั้งทั้ง อบจ. และเทศมนตรี ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นก็อยู่ที่ 70% ทั้งนายกเทศมนตรี และอบจ.เอง รวมทั้ง ส.อบจ เเละ สท. ด้วย อันนี้คือสิ่งที่น่าพอใจ คนออกมาใช้สิทธิกันมากขึ้นจากเมื่อก่อน ขณะเดียวกันรูปแบบของการหาเสียงของนักการเมืองทั้งอบจ.และเทศบาลมีรูปแบบที่ดีขึ้นนั่นคือ 1. มีการชูนโยบายของผู้สมัคร 2. การจัดทำโปรชัวร์ จัดทำแผ่นพับ 3. การใช้สื่อสมัยใหม่ เช่น แฟนเพจ, YouTube และ Twitter เรียกว่าเป็นการทำงานที่มืออาชีพมากขึ้น รวมถึงยังคงรักษารูปแบบหาเสียงเดิมไว้ ยังคงใช้รถในการหาเสียง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการใช้นโยบายในการเสียง และอีกสิ่งที่ยังเหมือนเดิมก็คือการใช้กระสุน มีการลงพื้นที่ มีผู้ที่ชำนาญมาช่วยเหลือในการวางแผน ทำให้รู้ว่าคะแนนเสียงของตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง จุดอ่อนของตัวเองอยู่ที่ตรงไหน ทำอยู่หลายรอบจนนำไปสู่การชนะการเลือกตั้ง

นพพร พันธุ์เพ็ง ประธานสื่อมูลนิธิสื่อสร้างสุขอุบลราชธานีและกรรมการสื่อภาคประชาชน 

เลือกตั้งท้องถิ่นเทียบเลือกตั้งทั่วไป 62 อนาคตใหม่รักษาฐาน เพื่อไทยยังชนะ แต่ภูมิใจไทยเป็นตัวแทรกขึ้นมา

ปัฐวี ยกตัวอย่างในจังหวัดอุบลราชธานี พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. 112,230 คะแนน และเมื่อนำมาเทียบกับคะแนนการเลือกตั้งนายก อบจ. ก็มีคะแนนไม่ต่างกันเท่าไหร่ (คือ 100,164 คะแนน) สิ่งนี้มันบ่งบอกว่าอนาคตใหม่สามารถรักษาฐานเสียงของเขาได้ถึงจะเป็นในนามคณะก้าวหน้าก็ตาม ส่วนเพื่อไทยถ้าเรามองดูหลายจังหวัดที่เพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ส.ส. เขาก็ชนะการเลือกตั้งนายก อบจ.ด้วยแต่ที่เขามองคือปรากฏการณ์ของพรรคภูมิใจไทยที่แทรกขึ้นมาในการที่จะเก็บการเมืองระดับท้องถิ่นพรรคภูมิใจไทยจะได้ค่อนข้างมากและสิ่งสำคัญคือพรรคฝ่ายร่วมรัฐบาลหรือพรรคพลังประชารัฐเขาค่อนข้างได้เปรียบเพราะเขาคุมกำลังผู้ใหญ่บ้าน และคุมกลไกของกระทรวงมหาดไทยก่อนที่จะมีการเลือกตั้งและก่อนจะมีการเลือกตั้งเขาก็สามารถผันงบประมาณ ผันนโยบายลงมาได้ก่อนถึงแม้ว่านักการเมืองท้องถิ่นยังไม่เปิดตัวในลักษณะที่ชัดเจนกับพลังประชารัฐแต่ประชาชนรู้ว่าเป็นคนของพรรคนี้

ขณะที่ นพพร มองว่าพื้นที่ภาคอีสาน ประชาชนให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นคนในพื้นที่แต่ถ้ามีการย้ายพรรคความนิยมตรงนี้ยังคงมีอยู่ และย้ายไปอยู่พรรคที่ประชาชนชอบด้วยเขาก็จะชนะการเลือกตั้งง่ายขึ้น แต่ถ้าเกิดว่าย้ายไปอยู่พรรคที่ประชาชนไม่ชอบเขาจะทำงานยากหาเสียงได้ยากขึ้น และถ้าหากมองโดยภาพรวมแล้วความนิยมทางการพรรคการเมืองทั้งภาคอีสานยังคงเหมือนเดิมอย่างเช่นพรรคเพื่อไทย ในขณะเดียวกันพลังประชารัฐถือว่าเป็นพรรคใหม่ มีการดึงเอาคนเก่าของพรรคเพื่อไทยมาช่วย หรือว่าคนที่มีชื่อเสียงในพื้นที่เข้ามาช่วยในการหาเสียง

การให้สำคัญในการเลือกตั้งท้องถิ่นของ ปชช.

ยอดผู้มาใช้สิทธิฯ ปฐวี มองว่าเป็นเรื่องของพื้นที่ ถ้ามองจากเปอร์เซ็นที่ได้มันเป็น 60% ทั้งคู่ถ้าเป็น อบจ.อยู่ที่ 62% ส่วนเทศบาลอบู่ที่ 66% ในส่วนขอเทศบาลที่มีคนออกมาใช้สิทธิ์อาจจะเป็นในเรื่องของความใกล้ชิดของผู้สมัครเพราะพื้นที่มันแคบผู้ลงสมัครจึงสามารถลงไปหาเสียงกับชาวบ้านได้เมื่อเปรีบเทียบกับ อบจ.ที่มีพื้นที่ที่ใหญ่บางคนอาจจะไปหาเสียงที่ตรงนั้นแค่ครั้งเดียวและไม่ได้กลับไปอีก

นพพรมองว่าประชาชนให้ความสำคัญกับเทศบาลมากกว่าอบจเพราะเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่า เวลาที่พรรคการเมือง อบจ.หาเสียงผู้สมัครจะต้องเดินสายหาเสียงให้ทั่วทั้งอำเภอการที่จะเข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่เป็นไปได้ยากมาก แต่หากป็นเทศบาลผู้หาเสียงสามารถลงพื้นที่อย่างทั่วถึงมากกว่าเพราะว่าแบ่งเขตแต่ละพื้นที่ ที่รับผิดชอบ จึงเกิดความใกล้ชิดและรู้จักกับผู้สมัครมากกว่า

การไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้าและปัญหารัฐรวมศูนย์ที่ กทม.

ปัฐวี กล่าวว่าถ้าดูจากการคาดหวังของ กกต. ที่บอกว่าอยากให้ประชาชนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้ได้ 80% แต่ตัวเลขที่ออกมามันได้แค่ 60% คำถามคือการเมืองระดับชาติมันยังมีผลต่อการเมืองท้องถิ่นไหมในเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง บางคนอาจจะมองว่าเลือกตั้งท้องถิ่นมันไม่ได้ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตตัวเอง อย่างเช่นคุณไปทำงานอยู่กรุงเทพแต่ชื่อของคุณอยู่ที่บ้าน คุณเลยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่นเพราะถึงแม้จะเลือกไปแต่ก็ไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิตที่ทำงานในกรุงเทพเลย สิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งท้องถิ่นคือมันไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าราคาที่ต้องจ่ายเพื่อกลับบ้านไปเลือกตั้งก็ค่อนข้างสูงประชาชนบางส่วนจึงไม่เลือกที่จะกลับเปอร์เซ็นที่ออกมามันเลยน้อย และถ้ามองในเชิงรัฐศาสตร์ รัฐไทยเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจคนจึงต้องวิ่งเข้าหางานซึ่งงานส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ คนเลยต้องไปอยู่ตรงนั้นเวลามีการเลือกตั้งเขาก็ต้องคิดแล้วว่าการกลับบ้านไปเลือกตั้งมันคุ้มไหม กลับมาแล้วได้อะไร ถ้าอยากให้มีการเลือกตั้งต้องมีการกระจายอำนาจและเอื้อให้เขาได้เข้าถึง เช่น มีการเลือตั้งล่วงหน้าหรือแม้กระทั่งมีการจ้างงานไม่ต้องให้คนไปรวมกันอยู่ที่จุดเดียว

นพพร มองว่าประชาชนห่างหายจากการเลือกตั้งไปนานถึง 8 ปี ทำให้มีผลเพราะในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาประชาชนได้เรียนรู้ และต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมามีกระแสหลายอย่างเกิดขึ้นทำให้ประชาชนรอที่จะแสดงพลังตรงนี้ออกมา จึงทำให้คนออกมาใช้สิทธิกันมากขึ้น มีความตื่นตัวมากขึ้น และส่วนหนึ่งคือกระสุนก็ยังมีบทบาทสำคัญเพราะ กกต. ไม่ได้ทำหน้าที่รณรงค์ให้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง คนที่ออกมารณรงค์หรือกระตุ้นกลับเป็นพรรคการเมืองที่ลงสมัครเลือกตั้ง ทั้งรถแห่หาเสียง ป้ายติดประกาศที่ต้องดึงคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

เลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า กลไกมหาดไทยเอื้อรัฐบาล และ 'ภูมิใจไทย' น่าจับตา

ปัฐวีมองว่าเป็นพรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่ตอนนี้เพราะว่าเขามีกลไกมหาดไทย เขามีกำนันผู้ใหญ่บ้าน มีนายอำเภอ มีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งคนเหล่านี้คุมท้องถิ่น เขามองว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเหมือนเป็นการเลือกไปแค่นั้นเพราะเมื่อมีนโยบายอะไรออกมามันก็จะถูกคุมด้วยแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ถูกคุมด้วยระเบียบต่างๆ และนักการเมืองท้องถิ่นก็ไม่อยากจะมีปัญหา จึงทำอะไรได้ไม่มาก

แฟ้มภาพ

 

นพพรมองว่าพรรคการเมืองช่วงนี้เป็นเหมือนการเปลี่ยนถ่ายระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ ทั้งผู้ลงสมัครและประชาชนด้วย เนื่องจากเป็นยุคของเทคโนโลยีประชาชนสามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ สามารถเลือกเสพสื่อจากพรรคที่เขาชอบ มันก็เลยมีแนวโน้มว่าประชาชนอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง อาจจะทำให้พรรคที่เกิดใหม่มีโอกาสที่จะเข้ามาสู่การเมืองได้ อย่างเช่น พรรคก้าวไกล และพรรคที่แยกตัวออกมาจากพรรคเพื่อไทยหรือแยกตัวออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องใช้เวลาที่ประชาชนจะเลือกโดยดูจากนโยบายหรือหัวหน้าพรรค คงต้องใช้เวลามันจะไม่มีช่วงที่ถล่มทลายเหมือนกับความนิยมในช่วงคุณทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทยในอดีต แต่ถ้าจะถึงตรงนั้นคงจะยากและต้องใช้เวลานานพอสมควร หรืออย่างพรรคอนาคตใหม่เกิดปรากฎการณ์ครั้งใหญ่ที่กรุงเทพฯ มันก็มีสิทธิเกิดขึ้นได้แต่เกิดขึ้นได้เพียงแค่ชั่วคราวไม่นานมันก็จะหายไป เหมือน สมัคร สุนทรเวช พรรคประชากรไทยหรือจำลอง ศรีเมือง พรรคพลังธรรม พรรคเหล่านี้คือเกิดขึ้นมาแล้วก็หายไป เหมือนกับว่าถึงจุดหนึ่งประชาชนอยากลองเปลี่ยน เพื่อที่จะหาทางเลือกใหม่แต่พอเปลี่ยนไปแล้วมันไม่สนองความต้องการของเขาอย่างแท้จริง มันก็จะกลับมาสู่วังวนเดิมเพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมระบบอุปถัมภ์อยู่ ต้องยอมรับว่าผู้ที่ลงสมัครเลือกตั้งยังได้รับการดูแลในแบบการสนับสนุนค้ำจุนสืบต่อกันมา เพราะฉะนั้นเวลาที่ประชาชนเลือกเขาจะมองว่าเลือกไปแล้วสามารถดูแลพวกเขาได้ไหม ถ้าเกิดว่าเลือกไปแล้วไม่ดูแลพวกเขา ก็คือน่าจะลงได้แค่ครั้งเดียว มาตรฐานเรื่องนี้จะเห็นได้ชัดเจนมากต้องยอมรับการเลือกตั้งในแต่ละครั้งที่ได้ข้อมูลมา ผู้สมัครหน้าใหม่จะเข้ามาแทนที่โดยประมาณ 30-40% เป็นธรรมชาติของการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่ว่าคนหน้าใหม่ที่เข้ามานี้อาจจะอยู่ในพรรคเดิมพรรคที่เป็นระบบอุปถัมภ์ ตัวอย่างเช่น พรรคเพื่อไทยยังคงได้รับความนิยมในพื้นที่อีสานแต่ว่าพรรคที่มีโอกาสมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า ตนมองว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย เพราะว่าพรรคภูมิใจไทย มีนโยบายที่โดนใจประชาชน และตัวบุคคลที่อยู่ในพรรคที่สังคมการเมืองไทยเป็นคนเก่าผมเข้าใจ แต่การปรับการเมืองใหม่รวมไปถึงระบบการจัดตั้งคะแนนเก่งมาก วางแผนดี มีนักยุทธสาสตร์ที่ดีสามารถเข้าถึงประชาชนได้ รู้ว่าคนภาคไหนต้องการอะไร พรรคภูมิใจไทยถือว่าเป็นพรรคที่น่าจับตามองในอนาคต

สำหรับ ทิพากร เส้นเกษ และนภัสรินทร์ เทศสวัสดิ์วงศ์ ผู้สัมภาษณ์ชิ้นนี้ เป็นนักศึกษา นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท