Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนอื่นขอใช้พื้นที่สักหนึ่งย่อหน้าเพื่ออธิบายคำว่า ประชาธิปไตย เพราะคิดว่าทุกวันนี้หลายคนคิดและพูดถึง “ประชาธิปไตย” ไปหลากหลายเหลือเกิน ตรงนี้จะขอยกบางส่วนมาจาก http://www.satit.up.ac.th/BBC07/AroundTheWorld/pol/119.htm เพราะคิดว่ารวบรัดและเข้าใจได้ง่าย

ประชาธิปไตย ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Democracy ซึ่งเกิดจากการผสมคำสองคำ คือ Demos กับ Kratein หรือ Demos หมายถึง ประชาชน และ Krators หรือ Kratein หมายถึง การปกครอง ฉะนั้น ประชาธิปไตย (Demoskratia) จึงหมายถึง การปกครองโดยประชาชน

โดยจะมีความหมายของประชาธิปไตยในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง สามอย่างด้วยกัน

1. หลักมนุษย์เป็นผู้มีสติปัญญา รู้จักใช้เหตุผล รู้ดีรู้ชั่ว และสามารถปกครองตนเองได้ 

2. หลักสิทธิเสรีภาพ คำว่า เสรีภาพ หมายถึง ความมีเสรี และเสรี หมายถึง ทำได้โดยปลอดอุปสรรค ส่วนคำว่า สิทธิ หมายถึง อำนาจอันชอบธรรม

3. ความเสมอภาค ระบอบประชาธิปไตยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นใด เพศใด มีฐานะทางเศรษฐกิจหรือฐานะทางสังคมอย่างไรต่างเท่าเทียมกัน ความเท่าเทียมกันในที่นี้ไม่ใช่ความเท่าเทียมกันในสติปัญญา ความสามารถ หรือความสูงความต่ำ แต่เป็นความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีของความเป็นคน

ดังนั้น ขอทำความเข้าใจไว้ก่อนเลยว่า ประชาธิปไตยที่เราจะพูดถึงในบทความต่อไปจะมีคำจัดกัดความดังนี้

เท่าที่รับรู้เรื่องราวของประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ หนังสือ หรือสื่ออื่นใด พบว่า อเมริกันชนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะฐานะใดนั้นล้วนภูมิใจกับประเทศตน พวกเขามักเห็นว่า ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเป็นประเทศที่ดี และตามที่แอบบี้ ตัวละครหลักตัวหนึ่งของเรื่อง The Trial of Chicago 7 พูดในศาลว่า ประชาธิปไตยของเราเป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก แต่แค่รัฐบาลสี่ปีมานี้บริหารได้เฮงซวย (Abby เป็นตัวละครที่ผู้เขียนชอบมากเป็นการส่วนตัว เขาคือคนคนเดียวกันกับชายสวมเสื้อธงชาติสหรัฐอเมริกาที่เคยโผล่มาในฉากประท้วงหน้าทำเนียบขาวในหนัง Forrest Gump) 

หลังจากคำว่า ประชาธิปไตยแล้ว เราลองมาทำความเข้าใจคำว่า ประเทศ และ รัฐ ดูบ้าง ประเทศนั้นประกอบไปด้วย พื้นที่อันล้อมรอบด้วยเส้นพรมแดนเชิงภูมิศาสตร์ บรรจุไปด้วยประชาชน สังคมบ้านเรือน, ส่วนรัฐ ก็คือ ผู้บริหารประเทศ นั่นเอง

ถ้าเรามอง ประเทศ กับ รัฐ แยกกันโดยไม่ต้องสวมคุณค่าดราม่าอื่นลงไปจะทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น เราจะเห็นผู้คน ประชาชน กับการบริหาร (อื่นใดล้วนเป็นคุณค่าสมมติทั้งสิ้น) แม้เรามักพบว่า ผู้ปกครองรัฐ นั้นพยายามทำตนเป็นเจ้าข้าวเจ้าของประเทศเสมอ (อาจติดนิสัยมาจากสมัยโบราณที่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นอำนาจสูงสุดเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่างในอาณาจักร) และแม้รัฐ นั้นเปรียบคือตัวแทนประเทศ หากในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาก็เป็นเพียง ผู้นำ ผู้บริหาร ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เท่านั้น

แต่ก็นั่นแหละ อำนาจ มักทำให้ผู้คนยึดติด และลุ่มหลงได้เสมอ

ไม่ว่าอำนาจจะได้มาโดยชอบ หรือ มิชอบ ก็ตาม

เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กุมอำนาจไว้ในมือเสมอไม่ว่าจะมากหรือน้อย ดังในหนังเรื่องThe Trial of Chicago 7 เราจะเห็นอำนาจของผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่สำนักเทศมนตรี ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศาล ไปจนถึงอัยการสูงสุด ทุกคนจะถือว่าตนใช้อำนาจตามกฎหมายโดยสุจริตทั้งสิ้น แต่เราอาจมีความเคลือบแคลงสงสัยในใช้อำนาจนั้นอยู่เสมอ กระบวนการยุติธรรมนั้นยังต้องมองและถกเถียงกันว่า การใช้อำนาจนั้นบริสุทธิ์ยุติธรรมปราศจากอคติหรือไม่ ในการปกครองแบบประชาธิปไตย เราจึงจำเป็นต้องมีการถ่วงดุลย์อำนาจ และยังต้องคอยตรวจสอบอยู่เสมอผ่านฐานันดรที่ 4 อย่างสื่อ 

แน่นอนว่า ผู้นำรัฐส่วนใหญ่นั้นคงต้องการให้บ้านเมืองสงบ เป็นระเบียบเรียบร้อย ทุกสิ่งอยู่ในความควบคุม และหากเมื่อใดเกิดการแข็งขืนต่อต้าน ผู้นำรัฐที่หลงในอำนาจก็มักสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปราบปราม ข่มขู่ ซึ่งมักพ่วงแถมมาด้วยการละเมิด ริดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลในทางใดทางหนึ่งเสมอ

เหตุการณ์ในหนัง The Trial of Chicago 7 เกิดขึ้นในรัฐชิคาโกเมื่อกลางปี 1968 อันเป็นยุคที่อเมริกาหวาดระแวงคอมมิวนิสต์ ถึงขนาดยื่นมือก้าวก่ายมาถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง เวียดนาม หรือไทย แนวปฎิบัติทางสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนของอเมริกา ของรัฐยุคนั้น (โดยเฉพาะนิกสัน) นั้นตกต่ำไร้ความสง่างามเปิดเผย มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งแล้วครั้งเล่า มีการลอบสังหาร ทั้ง Martin luther King, พี่น้องตระกูลเคเนดี้ วิสามัญฯโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงยัดเยียดข้อหาให้คนผิวดำ หรือขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บ่อยหน

กลุ่มชิคาโก้ 7 ประกอบไปด้วยคนหลากหลาย ทั้ง Tom Hayden, นักศึกษาแกนนำกลุ่ม Students fot a Democratic Society, Jerry Rubin กับ Abbie Hoffman จากกลุ่ม The Youthinternational Party (Yippies) David Dellinger ผู้นำกลุ่ม The Mobilization to End the War oin Vietnam จริง ๆ แล้วคนที่ถูกจับควรจะมีแค่ห้าคนนี้ แต่ดันมีคนที่ไม่ได้เป็นแกนนำอะไรเลยอย่าง Lee Weiner กับ John Froines โผล่มาสมทบอีก

นอกจากเจ็ดคนนั้นแล้วยังมีคนที่แปด คนผู้ไม่ควรจะมาเกี่ยวข้องด้วยเลย Bobby Seal ชายผิวดำผู้เดินทางมาชิคาโกเพียงสี่ชั่วโมงเพื่อจะปราศรัย (กินพายไก่และกลับ เขาว่างั้น) บ็อบบี้ไม่ได้เดินขบวนไม่ได้อยู่ในจราจลครั้งนั้นด้วยซ้ำ การที่จับบ็อบบี้มารวมกลุ่มกับอีกเจ็ดคนที่เหลือ เพียงเพื่อจะทำให้กลุ่มน่ากลัวขึ้น เพื่อข่มขวัญลูกขุน เป็นหมากเรียกร้องความสนใจและเพื่อสร้างภาพให้เห็นว่ามีการสมคบคิดทำเป็นขบวนการ เพราะบ็อบบี้เป็นแกนนำของกลุ่มแบล็คแพนเธอร์ (มีหนังเรื่องหนึ่งที่สร้างมาก่อนหน้านี้ ชื่อ The Chicago 8 แต่อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าเรื่องที่เรากำลังพูดถึงนี้) 

แน่นอนว่าก่อนไปชุมนุม ทุกกลุ่มได้ขออนุญาตใช้สถานที่จากสำนักนายกเทศมนตรี ก่อนจะถูกปฎิเสธทุกครั้ง (แต่ละกลุ่มยื่นขอแยกกัน) ทั้งที่มีเหตุผลน่าฟังว่า ถ้าฝูงชนไม่รวมกันเป็นหลักแหล่งจะควบคุมยาก และอันตราย

และแน่นอน แม้ว่าจะถูกปฎิเสธ พวกเขายังคงยืนยันจะชุมนุม หนุ่มสาวหลายพันคนเดินทางมาชิคาโกเพื่อแสดงออกทางการเมือง ณ สวนสาธารณะใกล้กับที่ทำการพรรคเดโมแคร็ต เพื่อประท้วงพรรคที่จะเสนอชื่อ ฮูเบอร์ต ฮัมฟรีย์ ผู้ซึ่ง ทอม เฮเดน แกนนำการชุมนุมคนนึงพูดไว้ตอนต้นเรื่องว่า “ถ้าเป็นเรื่องของสงคราม และความยุติธรรมในสังคม เค้าไม่ได้แตกต่างจากนิกสันเลย” 
 
และสุดท้ายก็เกิดความวุ่นวายขึ้นจริง ๆ ค่อย ๆ ทีละเล็กละน้อย จนกลายเป็นจราจล และเมื่อเรามองย้อนหลังไป ย่อมปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวงมีไม่น้อยที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ นั่นเอง (อย่างไรนั้นขอให้ลองไปชมในภาพยนตรํ) ไม่ว่า จะจับแกนนำ หรือ ลงมือทำร้ายผู้ชุมนุม (ถึงขนาดจนท.ตำรวจนั้นปลดเหรียญตราที่แสดงความเป็นตำรวจออกก่อนจะเข้าใช้ความรุนแรงปราบปราม)

เมื่อถูกสลายการชุมนุม หลายคนถูกจับ รวมถึงถูกดำเนินคดี ไม่สิ แอบบี้ พูดว่า เราไม่ได้ถูกจับ เราถูกเลือก เพราะสิ่งที่เราเป็น เขาหันมาถาม Lee กับ John ว่า ไม่สงสัยเหรอทำไมนายถูกจับ ทุกวัน Lee ตอบ

“นายเป็นของแถม จับมาเพื่อที่จะทำให้ลูกขุนเบาใจว่ามีคนพ้นผิด และทำให้พวกเขาสบายใจกับการเอาผิดคนที่เหลือ” พูดง่าย ๆ ก็คือ บทของสองคนนี้คือทำให้จับคนอื่นง่ายขึ้น

นี่เป็นคดีการเมือง คือสิ่งที่แอ็บบี้พยายามพูดอยู่ตลอดเรื่อง แม้ใครจะไม่เห็นด้วยก็ตาม 

เราลองมามองพฤติกรรมที่รัฐของสหรัฐอเมริกานั้นได้กระทำต่อพลเมืองของเขาเอง ทั้งการไม่อนุญาตให้ชุมนุม สลายการชุมนุม การพิจารณาคดีแบบฟันธงความผิดไว้ก่อนแล้ว การใช้อำนาจรัฐผ่านศาล ผ่านหนังเรื่อง The trial of chicago 7 เราอาจจะได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ ๆ ตัว

อัยการสูงสุดพยายามงัดเอากฎหมายสมคบคิดข้ามเขตแดนรัฐ (มีชื่อเรียกว่ากฎหมายแร็บบราวน์) ที่ออกโดยคนขาวทางใต้กับสภาเพื่อจำกัดสิทธิ์การแสดงออกของนักเคลื่อนไหวผิวดำมาใช้กับกลุ่ม chicago 7 นั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามหลักสิทธิพลเมือง แม้อัยการ ริชาร์ด ชูลต์ซ จะออกความเห็นขัดแย้งเรื่องนี้ และบอกว่าไม่มีใครถูกตั้งข้อหาเรื่องนี้มาก่อน และแสดงออกให้เห็นว่า ถ้าทำแบบนี้คือการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และจะมีคนมองว่าพวกนี้เป็นฝ่ายเสียสละ

แต่อัยการสูงสุดก็ตอบกลับมาว่า คนเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในห้องนี้ (คือกูไม่สนว่าง่ายๆ) และบอกว่า ไม่สำคัญว่าทำไมถึงออกกฎหมาย ประเด็นคือมันทำอะไรได้ และตั้งใจจะใช้เล่นงานคนเหล่านี้ให้ติดคุกเต็มอัตรา

และแม้อัยการจะบอกว่าคนเหล่านี้กักขฬะ ต่อต้านสังคม แต่ก็ไม่น่าจะตั้งข้อหาได้
 
อัยการสูงสุดก็บอกว่า ถ้าคุณตั้งได้คุณจะทำให้ผมประทับใจ และมีการหว่านล้อมด้วยตำแหน่งใหญ่โตที่อาจจะได้รับ

ใช่สิ ตรงนี้เราควรด่า

พออัยการถามว่า ใครก่อจราจลก่อน

อัยการสูงสุดก็ตอบแค่ว่า ตำรวจไม่เริ่ม

พอบอกว่ามีพยาน

อัยการสูงสุดก็บอกว่าต้องชำแหละมัน และ ต้องชนะ

ใช่ ตรงนี้ก็ด่าเถอะ 

ตัดมาหน้าศาล มีผู้ชุมนุมยืนอยู่สองฟากฝั่ง ฝั่งนึงเรียกร้องให้ปล่อยกลุ่ม chicago7 อีกกลุ่มก็เห็นตรงข้าม เมื่อเราเห็นป้าย “ที่นี่อมริกา ไม่รักก็ออกไป” เราเผลอยิ้มแบบเย้ยหยันออกมาเมื่อนึกถึง สถานที่บางแห่งในโลกที่ยังคงมีการขับไล่ คนที่ต่อต้านรัฐบาลให้ออกไปด้วยถ้อยคำแบบเดียวกัน ที่นี่อเมริกา ใครไม่รักก็ออกไป 

กลุ่มชิคาโก 7 มีทนายร่วมกันสองคน คือ William Kunstler กับ Leonard Weinglass บ็อบบี้ ซีล ไม่ยอมใช้ทนายร่วมกันเพราะถ้าว่ากันตามจริงแล้ว เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้เลย (กลุ่มนี้เองก็ไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกันที่สมคบคิดกัน) เขาจึงมีทนายของเขาเอง แต่ดันป่วยต้องผ่าตัดรักษาตัวในโรงพยาบาล บ็อบบี้ได้ยื่นคำร้องเรื่องนี้แล้วแต่ผู้พิพากษาไม่ยอมให้เลื่อนการพิจารณา และพยามจะให้วิลเลี่ยม ทนายกลุ่มว่าความให้บ็อบบี้ ซึ่งวิลเลี่ยมปฎิเสธที่จะ “รอนสิทธิ” ของบ็อบบี้

บ็อบบี้พยายามประท้วงหลายครั้ง แต่ศาลไม่รับฟัง แม้ผู้พิพากษาจะตั้งข้อหาหมิ่นศาลแต่บ็อบบี้ก็ไม่หยุด เมื่อถึงผู้พิพากษาถึงกับสั่งให้ตำรวจศาลนำตัวไปจับใส่กุญแจมือ และเอาผ้าอุดปาก ซึ่งเป็นการกระทำที่แม้แต่อัยการเองยังรับไม่ได้ถึงกับต้องลุกขึ้นไปพูดกับศาล ว่า “ศาลที่เคารพ จำเลยถูดมัดมือและมัดปากในศาลของอเมริกา” และขอให้พิจารณาคดีของบ็อบบี้ซีลแยกออกไป

แน่ล่ะว่าย่อมต้องมีคำพดประมาณว่า “เขาวอนเอง” ตามมา

แน่นอน ตรงนี้ก็สมควรด่า

ถ้าดูจากหนังจะเห็นได้ว่า ผู้พิพากษานั้น ตัดสิน ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า คนเหล่านี้มีความผิดจริง การไต่สวนนั้นมีขึ้นเพื่อให้ถูกต้องตรงตามหลักปฎิบัติเท่านั้นเอง

แถมยังเป็นการพิจารณาคดีที่มีทั้ง การปลดลูกขุนที่มีทีท่าจะโอนเอียงไปทางฝ่ายชิคาโก้ 7 (มีคนเอาโน้ตไปวางไว้หน้าบ้านพ่อแม่ลูกขุนคนนั้น และลงท้ายโน้ตเป็นนัย ๆ ว่าเป็น Black Panther), การจำกัดสถานที่ลูกขุน, การแอบดักฟัง, จำเลยถูกจับอุดปาก, ผู้พิพากษาไร้เหตุผล อันธพาล เหยียดผิว และลำเอียงจนน่าเกลียด ทำถึงขนาดไม่ให้ลูกขุนฟังการเบิกความของพยานปากสำคัญอย่างอดีตอัยการสูงสุด

แน่นอน ต้องด่าสิ

หากเราใช้สิ่งที่เกิดขึ้นกับชิคาโก้ 7 เป็นโจทย์ แทนค่าสมการตัวแปรเป็นรัฐประเทศใดๆ ก็ได้ที่พยายามจะยับยั้ง ผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งแม้ในปัจจุบันก็ยังมีการพยายามใช้ข้อกฎหมายมาตราต่าง ๆ มาเล่นงานผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เราจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์แบบนี้นั้นยังคงเกิดอยู่รวมถึงใกล้ตัว แถว ๆ นี้

ตอนนี้ปี คศ. 2021 เวลาผ่านไปห้าสิบปีจากเหตุการณ์ที่ชิคาโก เหตุการณ์จริงในบางประเทศแถบโลกที่สามแทบจะไม่ต่างจากสหรัฐอเมริกาในตอนนั้น ยังคงมี จนท.รัฐพ่วงแนวคิดแบบฟาซซิสต์ขวาจัดยัดเยียดข้อหา บางประเทศไปไกลถึงขั้นสร้าง IO ขึ้นมาเพิ่มรอยร้าวความเกลียดชังในสังคม เราได้เห็นภาพคนลงมือใช้ความรุนแรงต่อกันทำร้ายกันเพราะความเห็นต่างมาแล้ว

แต่ไม่ใช่ที่สหรัฐอเมริกา

คนผู้บอกว่าชิงชังสหรัฐอเมริกา ลองคิด ๆ แล้ว คุณเพียงแค่ ชิงชัง พฤติกรรมอันเลวร้ายของรัฐ ผู้ปกครองรัฐ และองค์กรที่ตอบสนองความต้องการของผู้นำในบางสมัย (อาจรวมถึงผู้ทรงอิทธิพลและเห็นดีเห็นงามไปกับการกระทำของสหรัฐอเมริกา) เท่านั้นเอง ใช่หรือไม่

แล้วเหตุไรเราจึงจะไม่อาจก่นด่าความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นแบบเดียวกันในอีกซีกโลกหนึ่ง
        
หากมีสิ่งที่เราควรด่า ใช่นั่นคือสิ่งที่เราต้องด่า

แต่มันก็สิ่งที่เราไม่อาจด่าได้ 

หนึ่ง เราไม่อาจด่า กระบวนการสร้างประชาธิปไตยของอเมริกา, การที่มีกลุ่มคนลุกขึ้นใช้สิทธิของตัวเอง ทักท้วงห้ามปรามรัฐที่กำลังทำผิดโดยการส่งคนไปตายในสงครามในดินแดนอันไหลโพ้น, การที่มีคนลุกขึ้นต่อต้านการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของศาล แม้จะโดนข้อหาละเมิดศาล, ความกล้าจะออกมาให้การเป็นพยานของอดีตอัยการ, มีทนายออกมาร่วมลงนามว่า “ผู้พิพากษาคนนี้ประพฤติตนไม่เหมาะสม”

เพราะประเทศสหรัฐอเมริกาได้นำเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก หากแม้จะทำมากเพียงใด แต่จนแล้วจนรอดวันหนึ่งความคลั่งชาติจนถึงขั้นล้นเกินผิดปกติมันก็ยังเกิดขึ้นได้อีก เมื่อใครบางคนรู้จักจะเล่นกลปลุกระดม และเมื่อถูกจุดชนวน มันย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้ง แตกหัก และสูญเสีย 

แต่แน่นอนว่าเมื่อมันเกิดอีก มันก็จะเป็นเคสให้เกิดการศึกษา เรียนรู้ และหาทางป้องกันอีกครั้ง ซึ่งภาพยนตร์ที่เรากำลังพูดถึงนั้นก็นับว่าเป็นการศึกษาแบบหนึ่งได้เช่นกัน 
  
พูดง่าย ๆ ว่าเขายอมรับความจริง และกล้าพูดมันออกมา
  
น่าสนเท่ห์กับคนผู้ร้องด่าสหรัฐอเมริกา เพราะเขานั้นยินอยู่ในประเทศที่เกิดรัฐประหารติดอันดับต้นของโลก ประเทศที่เกิดเหตุโศกนาฎกรรมทางการเมืองร้ายแรงขึ้นหลายครั้งหน แต่ทุกครั้งก็จะถูกทำให้ลืม สร้างสมเพียง วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐระกับสูง อยู่ในประเทศที่ไม่เคยเกิดการเรียนรู้ ไม่ยอมรับความจริง ปากว่าตาขยิบ แอบซ่อนทุกอย่างไว้ใต้พรม หลายคดีไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างโปร่งใสถึงที่สุดด้วยซ้ำ ราวกับว่าผู้พิพากษานั้นมีคำตัดสินพกใส่ห่อไว้ก่อนแล้วเหมือนคดีชิคาโก้ 7 เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน

เขาคงไม่รู้ว่า สหรัฐอเมริกาไม่เคยมีรัฐประหาร อันเป็นอาชญากรรมทางเมืองที่เลวร้ายที่สุด

ที่สำคัญกว่านั้น ไม่มีคนที่เห็นดีงามรับรองการทำรัฐประหาร

และไม่ว่าเขาจะด่าประชาธิปไตยหรือประเทศสหรัฐอเมริกา หรือไม่ว่าในสายตาคุณจะเห็นว่าเสรีภาพเป็นอย่างไร เสรีภาพในประชาธิปไตยนั้นเองที่ทำให้วงการหนังของสหรัฐอเมริกาสามารถสร้างหนังที่จากรอยด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ของเขาเองออกมาได้ (ไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว เขาทำมาตลอด) แบบหนังฟอร์มใหญ่ ระดมพลนักแสดงชื่อดังมากความสามารถแห่งยุค มีคนมากมายติดตามดู และดูสนุก

ส่วนในประเทศที่ก่นด่าประเทศสหรัฐอเมริกานั้นหรือ เราทำได้ก็เพียงนอนกอดฝันหวานหนังตลกหนังสยองขวัญหนังวัยรุ่น หลบเลี่ยงการวิพากษ์ถึงอำนาจใหญ่โตอันฝั่งรากอยู่ในเงามืด อาจจะมีหนังอินดี้จำนวนน้อยนิดที่แตะปัญหาสังคม หากไม่มีผู้สร้างรายใดหาญกล้าท้ารัฐผลิตภาพยนตร์ที่ด่ารัฐโจ่งแจ้ง และสมมติหนัก ๆ ว่า แม้ถึงจะมีการผลิตออกมา หนังเรื่องก็ไม่มีทางจะผ่านกองเซ็นเซอร์ซึ่งอยู่ในความกำกับดูแลของรัฐ กองเซ็นเซอร์ผู้อ่อนไหวยิ่งยวดต่ออวัยวะเพศ ประวัติศาสตร์ การเมือง แต่ไม่เคยอ่อนไหวต่อความรุนแรง

หนังประเภทนั้นทำได้เพียงตระเวณฉายไปตามที่อื่น ๆ ในโลก และแอบหลบเร้นฉายในมุมซอกหลืบเล็ก ๆ สักแห่งในบ้านเกิดของมันเอง

ส่งท้าย แม้ว่าโลกจะหมุนไปเร็วแค่ไหน แนวความคิดทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา หรือที่อื่น ๆ ในโลกจะเปลี่ยนแปลงไป คนจะตื่นรู้ทางการเมืองถึงขนาดไหน เราก็ยังพบว่า ยังมีผู้คนกลุ่มนึงในหลายประเทศที่ยังคงอาจไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ยังคงอยากผูกขาด ต้องการสืบทอดอำนาจให้อยู่ในมือตนและพวกพ้อง ริบเอาอธิปไตยสูงสุดไปจากมือของผู้คน เหมือนที่ผู้พิพากษาฮอฟแมนริบเอาสิทธิไปจากจำเลยทั้งแปดในคดี

ราวกับว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย

 

  ภาพยนตร์เรื่อง The Trial of Chiacgo 7 กำลังฉายใน netflix เขียนบทและกำกับโดย Aeron Sorkin ผู้ที่มีผลงานการเขียนบทอันคมคายในภาพยนตร์ที่มีฉากในศาลอันเลื่องลืออย่าง the few good men 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net