Skip to main content
sharethis

สธ. แจงฉีดวัคซีน 6 ราย มีอาการคล้ายเป็นอัมพฤกษ์ แนะผู้ติดโควิด-19 รอจัดหาเตียงไม่ต้องโทรหาสายด่วนหลายแห่ง ข้อมูลซ้ำกันกว่า 50%  สปสช.ตั้งเป้าหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้เร็วขึ้น ระหว่างรอเตียงโทรติดตามอาการทุก 6 ชั่วโมง

'อนุทิน' เจรจาไฟเซอร์จัดซื้อวัคซีนฉีดให้เด็ก

21 เม.ย. 2564 วันนี้ สำนักข่าวไทยรายงานว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดหาวัคซีนจากไฟเซอร์ 5-10 ล้านโดส ว่า นายกรัฐมนตรีสนับสนุนในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 ทุกชินิดที่มีความปลอดภัย โดยไม่ได้ระบุยี่ห้อใด โดยให้แนวทางการจัดซื้อและฉีดเพื่อให้ครอบคลุมประชากร ร้อยละ 70

ทั้งนี้ การจัดซื้อไม่ได้เกี่ยงเรื่องราคา เพราะวัคซีนไฟเซอร์ สามารถฉีดให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ อีกทั้งระยะหลังสามารถจัดเก็บวัคซีนได้เหลือ -20 องศาเซลเซียส จากเดิม -70 องศาเซลเซียส ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และส่งใบเสนอราคามา ถ้าส่งวัคซีนให้ได้เร็วประมาณ มิ.ย.หรือ ก.ค.ก็พร้อมจัดซื้อทันที และหากได้มา 10 ล้านโดสก็ฉีดให้ครอบคลุมกลุ่มวัยรุ่นได้ ถ้าได้มากกว่านี้ก็ฉีดเป็นวัคซีนทั่วไปได้ โดยพรุ่งนี้ (22 เม.ย.) ก็จะมีการเจรจากับตัวแทนวัคซีนอีก 2-3 ราย

ส่วนที่นายกรัฐมนตรีออกมาเปิดเผยรายละเอียดวัคซีนผ่านเฟซบุ๊กล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (21 เม.ย.) นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า คณะทำงานพิจารณาจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิดได้ข้อสรุปจัดหาวัคซีน 2-3 ยี่ห้อ เพิ่มเติม 35 ล้านโดส ในจำนวนนี้เป็นของหอการค้าไทยประมาณ 10-15 ล้านโดส เป็นตัวเลขที่ต้องการให้ครอบคลุมประชากร 70ล้านคน ขณะนี้ได้นำเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มาช่วยในการเจรจาและขึ้นทะเบียนวัคซีน สปุ๊กนิกด้วย ซึ่งหากทุกรายมีข้อตกลงที่ร่วมกันชัดเจนก็จัดซื้อทันที

 

สธ. แจงฉีดวัคซีน 6 ราย มีอาการคล้ายเป็นอัมพฤกษ์

21 เม.ย. 2564 ประชาชาติรายงานว่า แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุ กรณีมีผู้ที่มีผลข้างเคียงตามมาหลังการฉีดวัคซีนว่า กรณีดังกล่าวทางกระทรวงสาธารณสุขมีกรรมการที่เข้ามาสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในคณะกรรมการนี้ มีทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีอายุรแพทย์โรคสมอง

เบื้องต้นที่มีการรายงานล่าสุดของเช้าวันนี้ พบว่าอาการที่เกิดขึ้น ไม่ได้เรียกว่าเป็นโรคอัมพฤกษ์ แต่อยากจะใช้คำว่ามี “อาการคล้ายอัมพฤกษ์” หรือที่เราเรียกว่าสโตรก(โรคหลอดเลือดสมองอักเสบ) อาการที่ปรากฎใน 6 ราย เป็นอาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการรู้สึกชา คือมีประสาทสัมผัสที่ไม่รู้สึก

อย่างไรก็ตามในรายงานเบื้องต้นของเช้าวันนี้ พบว่าทุกๆท่านที่มีอาการดังกล่าว มีการฟื้นตัวดีขึ้นและกระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำว่า จะมีการสอบสวน และเอาข้อเท็จจริง เอาข้อมูลที่เป็นหลักฐานมายืนยันต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ ( 20 เมษายน 2564 ) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ระบุว่า

“ปรากฏการณ์หลังฉีดวัคซีนเชื้อตาย Sinovac เกิดอัมพฤกษ์ขึ้นหกรายที่จังหวัดระยอง และยังมีอีกหนึ่งรายที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ซึ่งคุณหมออภิวุฒิ เกิดดอนแฝก ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท ให้ยาละลายลิ่มเลือดและกลับมาเป็นปกติ ยืนยัน ด้วย MRI ซึ่งทางระบาดของโรงพยาบาลได้แจ้งกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว ลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็น เฉพาะล็อตของวัคซีน และไม่น่าจะเป็นจากวัคซีนทั้งหมด ซึ่งประกาศตามของกระทรวงสาธารณสุข”

 

สธ.แนะผู้ติดโควิด-19 รอจัดหาเตียงไม่ต้องโทรหาสายด่วนหลายแห่ง ข้อมูลซ้ำกันกว่า 50%  

21 เม.ย. 2564 พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติตัวของประชาชนกรณีที่สงสัยว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ว่า ในเบื้องต้นให้ตรวจสอบตัวเองก่อนว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับไหน โดยสามารถค้นหาแบบประเมินในแอปพลิเคชันต่างๆของภาครัฐก็ได้ เช่น แอปฯของโรงพยาบาลราชวิถี เป็นต้น ซึ่งเมื่อกรอกข้อมูลต่างๆไปแล้ว ระบบจะประมวลผลออกมาว่าท่านจัดเป็นเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงหรือไม่ ถ้ามีความเสี่ยงสูงก็ไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกครั้ง 

พญ.ปฐมพร กล่าวอีกว่า ในกรณีที่มีความเสี่ยงต่ำอาจสังเกตอาการหรือแยกกักตัวที่บ้านก็ได้ (Home quarantine) เหตุผลที่ต้องกักตัวเพราะในวันนี้อาจไม่มีอาการ แต่อีก 3 วันข้างหน้าอาจมีอาการก็ได้ ความเสี่ยงก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งหากไม่แยกกักตัวก็จะไปเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนในครอบครัวนั่นเอง 

พญ.ปฐมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลนั้น ผลตรวจจะยังไม่ออกทันที แต่ถ้าบุคคลนั้นๆมีอาการหรือเอกซเรย์ปอดแล้วพบว่ามีความเสี่ยง โรงพยาบาลจะหาเตียงให้นอน แต่ถ้าไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ก็สามารถกลับบ้านได้ แต่เมื่อกลับบ้านแล้วมีข้อปฏิบัติคือ 1.แยกตัวเองอยู่ในที่พัก 14 วันนับจากวันตรวจคัดกรองไม่ว่าผลจะออกมาบวกหรือลบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงหรือต่ำ เพราะวันที่ตรวจยังไม่มีอาการ ต่อมาอาจมีอาการก็ได้ ดังนั้นกักตัวให้ครบ 14 วัน 

2.ไม่รับประทานอาการและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น 3.ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ ช้อนส้อมและควรอยู่ในห้องที่แยกเดี่ยว แต่ถ้าที่บ้านมีห้องเดียวก็รอโรงพยาบาลว่าจะให้จัดการให้อย่างไร โรงพยาบาลอาจจะให้เข้านอนที่โรงพยาบาล ที่โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitelเป็นต้น  

4.ล้างมือบ่อยๆ 5.สวมหน้ากากและอยู่ในระยะห่าง 1-2 เมตร 6.หลีกเลี่ยงการพูดคุย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง 7.ทิ้งหน้ากากอนามัยในถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิท ทิ้งลงถึงขยะที่มิดชิด จากนั้นต้องล้างมือเสมอ 

8.เมื่อไอ จาม ต้องปิดจมูกถึงคางทุกครั้ง 9.ทำความสะอาดที่พักด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% หรือเช็ดผิวสัมผัสด้วยแอลกอฮอล์ 70% และ 10.ซักเสื้อผ้าด้วยน้ำอุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียสแล้วตากแดด  

พญ.ปฐมพร กล่าวว่า ในกรณีที่ผลตรวจออกมาแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ขณะนั้นยังไม่มีเตียงว่าง ในระหว่างที่รอเตียงก็ปฏิบัติตัวตามแนวทางข้างต้นเช่นกัน แต่ต้องเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ต้องปฏิบัติให้ได้ 100%  

"เมื่อตรวจพบว่ามีเชื้อ โดยหลักการแล้วตรวจที่ไหนโรงพยาบาลนั้นจะหาเตียงให้ก่อน หากโรงพยาบาลไม่มีเตียงก็จะหาเตียงในโรงพยาบาลเครือข่าย ถ้าโรงพยาบาลเครือข่ายไม่มีเตียง ก็หานอกเครือข่ายผ่านศูนย์ประสานจัดหาเตียง ส่วนจะได้นอนในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ขึ้นอยู่กับอาการ ถ้าอาการไม่หนักก็นอนโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel ขึ้นอยู่กับว่าตรงไหนมีเตียงว่าง โดยจะมีแพทย์และพยาบาลดูแลตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม หากซักประวัติและเอกซเรย์ปอดแล้วมีข้อสงสัยว่าปอดอักเสบ ก็จะย้ายไปนอนโรงพยาบาล" พญ.ปฐมพร กล่าว 

พญ.ปฐมพร กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างรอประสานหาเตียงนั้น ขอแนะนำว่าไม่ต้องโทรไปที่สายด่วนหลายแห่ง เพราะศูนย์บริหารจัดการเตียงขณะนี้คือศูนย์เอราวัณของกทม. กรณีที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงก็จะโทรเข้าศูนย์นี้โดยตรงเพื่อประสานหาเตียงให้ ขณะที่สายด่วนอื่นๆ เช่น 1330, 1668 และแอปพลิเคชัน ไลน์ @sabaideebot ก็จะบันทึกข้อมูลและส่งไปศูนย์เอราวัณเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าโทรไปแล้วครั้งหนึ่ง ไม่ต้องโทรไปสายด่วนอื่นๆ ก็ได้เพราะจะทำให้ข้อมูลซ้ำซ้อน ทุกวันนี้ศูนย์เอราวัณต้องClean ข้อมูลทุกวัน ซึ่งพบว่าเป็นข้อมูลซ้ำกว่า 50% 

 

สปสช. ตั้งเป้าหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อเร็วขึ้น ระหว่างรอเตียงโทรติดตามอาการทุก 6 ชั่วโมง 

21 เม.ย. 2564 สปสช.ร่วมกับกรมการแพทย์ ร่วมกับศูนย์เอราวัณและ สปสช.ตั้งเป้าหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้เร็วขึ้น ระหว่างรอเตียงโทรแจ้งความคืบหน้าและติดตามอาการทุกๆ 6 ชั่วโมง หากอาการแย่ลงจะส่งรถไปรับมารักษาในโรงพยาบาลทันที 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงสถานการณ์การจัดหาเตียงแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ปัญหาที่พบส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. ซึ่งมีผู้ป่วยบางส่วนที่ยังไม่ได้เตียง ขณะที่ในต่างจังหวัดค่อนข้างมีประสิทธิภาพสามารถจัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยได้หมด และปัญหาในพื้นที่ กทม.ก็ไม่ใช่เรื่องเตียงเพราะจากข้อมูลพบว่าจำนวนเตียงมีเพียงพอ แต่เนื่องจากมีหลายหน่วยงาน โรงพยาบาลหลายสังกัด คนไข้ที่ติดเชื้อโควิดบางส่วนยังไม่สามารถเข้าเตียงได้ 

"ข้อมูลที่ปรากฏกับความเป็นจริงยังไม่ตรงกันอยู่ อันนี้พูดจากการที่ สปสช. เข้าไปช่วยดูในการหาเตียงให้กับประชาชนมา 4-5 วันนี้ พบว่ามีคนประสานขอเตียงเข้ามา 400 กว่าคน บางคนยังไม่ได้จริงๆ แต่ตอนนี้เรากำลังพยายามเคลียร์นะครับ โดยให้คำแนะนำกับผู้ป่วยที่อาการไม่มาก ให้รออยู่ก่อน อย่าเพิ่งเดินทางไปไหนมาไหนเพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ขอให้เจ้าหน้าที่ประสานเตียงให้เรียบร้อยแล้วจะเอารถพยาบาลไปรับ รวมทั้งมีกระบวนการโทรติดตามอาการทุกๆ 6 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้ที่ยังตกค้างก็เริ่มลดลงเนื่องจากโรงพยาบาลต่างๆ สามารถจัดหาเตียงได้มากขึ้น" นพ.จเด็จ กล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า แนวทางแก้ไขปัญหาต้องใช้กลไกการประสานงานให้มากที่สุด ซึ่ง กลไกกลางที่จะมาช่วยประสานคือสายด่วน 1330 ของ สปสช. สายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์ และสายด่วน 1646ของศูนย์เอราวัณ โดยมีการหารือกับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขและตั้งเป้าว่าจะต้องประสานหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุด  

"จากข้อมูลของ 1330 เราใช้เวลาประสานงานนานที่สุด 3 วัน เนื่องจากบางครั้งมีปัญหาว่าท่านโทรศัพท์มาบอกผลเลือดแต่เรายังไม่ได้ผลการตรวจตัวจริงก็ต้องไปตรวจสอบกับโรงพยาบาลก่อน เมื่อตรวจสอบเสร็จก็ก็ส่งข้อมูลให้โรงพยาบาลปลายทาง มันอาจจะมีขั้นตอนเพิ่มอีกนิดหนึ่งซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของเราที่จะประสานให้ รวมทั้งจัดกระบวนการโทรหาทุกๆ 6 ชั่วโมง เพื่อแจ้งผลการประสานว่าอยู่ขั้นตอนไหน รวมทั้งจะได้ติดตามอาการผู้ป่วยไปในตัว แต่หากระหว่างรอเตียงแล้วอาการแย่ลง ก็จะมีกลไกสำหรับผู้ป่วยอาการหนักไปรับตัวมารักษาที่โรงพยาบาล" นพ.จเด็จ กล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการนั้น ส่วนใหญ่จะจัดให้อยู่ในโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ลักษณะการจัดการของโรงพยาบาลสนามเป็นการจัดการตามหลักวิชาการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค แต่ผู้ป่วยบางท่านอาจคิดถึงความสะดวกหรือห้องพิเศษ ต้องเรียนว่าในภาวะเช่นนี้ต้องขอความร่วมมือเสียสละมาอยู่ตรงนี้ก่อน เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบพยายามจัดสถานที่ให้ดีที่สุด จะเห็นว่าเตียงหรืออุปกรณ์ต่างๆก็ใหม่ ห้องน้ำก็พยายามเพิ่มเติมให้เหมาะสม เพียงแต่อาจจะไม่สะดวกสบายอย่างที่คาดหวัง อย่าเพิ่งมองเรื่องสถานที่แต่ขอให้มองถึงความจำเป็นที่ต้องลดการแพร่ระบาดของโรคมากกว่า 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net