ครั้งหนึ่งไทยปฏิเสธวัคซีน 'ไฟเซอร์' และบอกว่า 'ซิโนแวค' แพง แต่ก็ซื้อภายหลัง

เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ไทยเคยปฏิเสธวัคซีน 'ไฟเซอร์' และบอกว่า 'ซิโนแวค' แพง อ้าง 'แอสตร้าเซนเนก้า' จะขายในราคาต้นทุน ขณะที่คนวิจารณ์นโยบายวัคซีนว่า 'แทงม้าตัวเดียว' กลับถูกฟ้อง ม.112

21 เม.ย.2564 จากกรณี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ว่า สนับสนุนในการจัดหาวัคซีนทุกชนิดที่มีความปลอดภัย ทั่วโลกให้การยอมรับ ไม่ได้ระบุเป็นยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งระบุด้วยว่า วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ยังอยู่ในการเจรจา ซึ่งเราก็ขอให้เขาส่งใบเสนอราคาเงื่อนไข ข้อจำกัดต่างๆ มาให้ตัดสินใจ

ซึ่งวานนี้ (20 เม.ย.64) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เปิดเผยไทม์ไลน์การนำเข้าวัคซีนในระยะต่อไปของไทยว่า เดือน ก.ค.หากเจรจาสำเร็จ อาจเริ่มนำเข้าวัคซีนของไฟเซอร์ นั้น (ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล, โพสต์ทูเดย์และบีบีซีไทย)

อย่างไรก็ตามวัคซีนไฟเซอร์ไม่ได้เพิ่งถูกกล่าวถึงโดยรัฐบาล ย้อนไปเมื่อ 23 พ.ย. 63 สยามรัฐ มติชนออนไลน์ และอิศราเคยรายงานตรงกันถึง การตอบคำถามของ อนุทิน ต่อกรณีที่ว่า ตัวแทนบริษัท ไฟเซอร์ จะร่วมคณะนักธุรกิจสหรัฐอเมริกามาพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ 25 พ.ย.นี้ จะถือโอกาสนี้ คุยเรื่องวัคซีนโควิด-19 ด้วยหรือไม่ นั้น ในครั้งนั้น อนุทิน กล่าวว่า ทางนายกรัฐมนตรีก็ได้เรียกเข้าไปพบเหมือนกัน แต่ตอนนี้ต้องขอชี้แจงก่อนว่า ณ เวลานี้ เราได้มีข้อตกลงร่วมกันกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในการร่วมลงทุน และพัฒนา ซึ่งสิ่งที่เราได้จากการร่วมลงทุนจัดหา และพัฒนาก็คือราคาอยู่บนหลักการ No Profit No Loss Principle หรือเป็นหลักการการไม่แสวงหาผลกำไร โดยเขาจะขายในราคาต้นทุน ในราคาต่ำ โดยอยู่ที่ราคาประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (151 บาท) ต่อหลอด ถ้าเทียบกับวัคซีนจากบริษัทอื่นๆ อาทิจากไฟเซอร์ หรือจากบริษัทซีโน่แว็กก็ปรากฎว่ามันยังมีราคาที่สูงอยู่ ซึ่งก็เข้าจะได้ว่าที่มันราคาสูง เพราะเราไม่ได้ไปร่วมอะไรกับเขา

 

“ถ้าหากเราสามารถครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงได้แล้ว เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปจองจากที่อื่น และก็ในเรื่องวัคซีน mRna เราก็ยังสนับสนุนอยู่ ทั้งการทำงานของคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬา เขาก็ยังดำเนินการอยู่ ซึ่งเราก็ยังคงจะมีช่องทางในการจัดหาวัคซีนตรงนี้ด้วย” อนุทินกล่าว และย้ำ(วันที่ 23 พ.ย.63)ว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องไปจองวัคซีนจากบริษัทอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ซีโน่แว็ก ขณะนั้นจะถูกอ้างว่ามีราคาที่สูง แต่ต่อมาเมื่อต้นปีไทยกลับสั่ง 2 ล้านโดส พร้อมกับข่าวที่ว่า บริษัทของเครือ ซีพี ในฮ่องกง ลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อหุ้นบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ‘โคโรนาแวค’ แล้ว (ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์)

ท่ามกลางปัญหาการบริหารจัดการวัคซีนของไทย การวิพากษณ์วิจารณ์กับเป็นเรื่องที่มีราคาที่ต้องจ่ายสูง ย้อนไปเมื่อกลาง ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะนั้นที่ไทยเองมีแผนใช้วัคซีนหลักเพียงแอสตร้าเซนเนก้าที่มีแผนการผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งรัฐบาลเองก็นำเสนอว่าโดยใช้คำว่า 'วัคซีพระราชทาน' แต่เมื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าออกมาอภิปรายปัญหานี้ภายใต้ หัวข้อ 'วัคซีนพระราชทานฯ : ใครได้-ใครเสีย?' โดยเฉพาะการชี้ถึงปัญหาที่เรียกว่า 'แทงม้าตัวเดียว' เลือกบริษัทเดียวมาผลิตวัคซีนล็อตใหญ่ให้ แต่ต่อมากลับถูกฟ้องดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือ ม.112 ด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท