เสื้อสีฟ้า นักโทษการเมืองพม่า และประชาธิปไตยที่ยังใฝ่หา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“EVEN THOUGH I'M FEAR I AM NOT” และสายตาของชายชราในเสื้อสีฟ้าที่กำลังชูฝ่ามือข้างขวาบนผืนผ้าใบแผ่นใหญ่ คือภาพที่ยังชัดเจนในความทรงจำของผู้เขียนแม้ว่าวันเวลาจะล่วงเลยมานานแล้ว ภาพที่สะกดสายตาตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไปยังพื้นที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ Memory of the Past

อูวินติน นักหนังสือพิมพ์ และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรค NLD โดยปัจจุบันมีอองซานซูจี เป็นผู้นำ

ในวันที่ 21 เมษายนของทุกปี ชาวพม่าและทั่วโลกจะสวมเสื้อสีฟ้าตามแคมเปญ #blueshirt4burma เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองพม่าทั้งหมดและเพื่อรำลึกถึงเขา ซึ่งในปีนี้ก็ถึงวาระครบรอบ 7 ปี การจากไปของชายเจ้าของสายตาอันมุ่งมั่นภายใต้เสื้อเชิ้ตสีฟ้าที่ชื่อว่า อูวินติน (U Win Tin) นักหนังสือพิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดี เขาเป็นนักโทษการเมืองพม่าที่ถูกจองจำนานถึง 19 ปี (ตั้งแต่ปี 1989-2008) นับว่าเป็นหนึ่งในนักโทษที่ใช้ชีวิตอยู่ในคุกยาวนานมากที่สุดในหน้าประวัติศาสต์สมัยใหม่ของพม่า [1] และนับตั้งแต่ที่อูวินติน ถูกปล่อยตัวในปี 2008 เขาก็ปฏิเสธที่จะคืนชุดนักโทษสีฟ้านั้น และยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยตั้งมั่นที่จะสวมเสื้อสีฟ้าทุกวันจนกว่านักโทษการเมืองพม่าทั้งหมดจะถูกปล่อยตัว ซึ่งเขาเคยพูดไว้ว่า “ถ้าวันไหนไม่มีนักโทษการเมืองแล้ว ผมจะถอดเสื้อผมออก แต่จนถึงตอนนี้ผมยังไม่เห็นว่าจะมีวี่แววเลย”

พิพิธภัณฑ์ Memory of the Past จัดทำขึ้นโดยสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (The Assistance Association for Political Prisoners (Burma) หรือ AAPP) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มอดีตนักโทษการเมืองพม่าที่ลี้ภัยออกจากประเทศ โดยตั้งสมาคมขึ้นเมื่อปี 2000 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อพยายามผลักดันให้ประเทศพม่าปรองดองและเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยโดยปราศจากนักโทษทางการเมือง นอกจากความพยายามเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองแล้ว ทางสมาคมยังทำการช่วยเหลือนักโทษและญาติด้านการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการให้ความรู้และช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนด้วย โดยพิพิธภัณฑ์นี้ก็เป็นหนึ่งในความตั้งใจของสมาคมที่จะอุทิศให้กับนักโทษการเมืองทุกคนที่เสียสละเพื่ออิสรเสรีภาพและประชาธิปไตยในพม่า และเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะเรื่องราวของนักโทษการเมือง ซึ่งเริ่มแรกพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่แม่สอดและเมื่อปี 2018 เพิ่งเปิดขึ้นอีกแห่งที่นครย่างกุ้ง ประเทศพม่า

ถัดจากภาพขนาดใหญ่ของ อูวินติน คือประตูทางเข้าเล็กๆ สีแดงที่จำลองมาจากประตูทางเข้าเรือนจำอินเส่งหรือคุกที่ อูวินติน ใช้ชีวิตในนั้นนานถึง 19 ปี คุกที่ได้ชื่อว่าเป็นขุมนรกบนดินของมนุษย์ที่ตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง ผู้ชมต้องก้มหัวผ่านประตูบานเล็กนั้นเพื่อเข้าไปสู่ห้องจัดแสดง ซึ่งภายในจะมีภาพถ่ายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตอนที่ประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารในอดีตไม่ว่าจะเป็นการประท้วงในปี 1962 เหตุการณ์ 8888 และการปฏิวัติชายจีวร มีแผนที่ระบุตำแหน่งของเรือนจำทั่วประเทศพม่า ภาพการใช้ชีวิตภายในคุก ภาพวิธีการซ้อมทรมาน ภาพของนักโทษที่เสียชีวิตในคุก ภาพของนักโทษปัจจุบัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงงานฝีมือที่นักโทษแอบทำระหว่างถูกคุมขัง ห้องขังจำลอง และโมเดลจำลองของเรือนจำอินเส่งที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ Panopticon ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในช่วงอาณานิคม ลักษณะเป็นวงกลมและมีหอสังเกตการณ์อยู่ตรงกลางเพื่อใช้สอดส่องและทำให้นักโทษรู้สึกว่าถูกจับจ้องตลอดเวลา

หลังจากที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปพิพิธภัณฑ์ในแม่สอด ก็มีความตั้งใจไปที่ย่างกุ้งด้วย แม้จะรู้ว่าการจัดแสดงนั้นคล้ายคลึงกันก็ตาม

"2–3 ครั้งแรกที่ต้องมาบรรยายตอนอยู่มิวเซียมแม่สอดก็ยังรู้สึกประหม่าและรู้สึกยังไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ แต่พอได้พูดหลายๆ ครั้ง มันก็เหมือนเป็นการเยียวยาตัวเอง" จ่อโซวิน (Kyaw Soe Win) อดีตนักโทษการเมืองผู้เคยถูกคุมขังและเคยไปอยู่ที่แม่สอดตอบคำถามที่ผู้เขียนลังเลจะถามในตอนแรกว่ารู้สึกอย่างไรที่ยังต้องมาอยู่ในบรรยากาศแบบนี้และพูดเรื่องนี้อีกบ่อยๆ

โมเดลจำลองของเรือนจำอินเส่งที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ Panopticon ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในช่วงอาณานิคม ลักษณะเป็นวงกลมและมีหอสังเกตการณ์อยู่ตรงกลางเพื่อใช้สอดส่องและทำให้นักโทษรู้สึกว่าถูกจับจ้องตลอดเวลา

จ่อโซวิน อธิบายเรื่องราวต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ให้ฟังซึ่งจะคล้ายๆ กับที่แม่สอด แต่มีบางอย่างที่เขาบอกว่าไม่เหมือน เช่น ภาพจำลองของการลงโทษอย่างการให้นั่งหรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนิ่งๆ เป็นเวลานาน ซึ่งเขาบอกว่ามันทรมานมาก หรือบันทึกของนักโทษคนหนึ่งที่พยายามส่งเสียงไปสู่โลกภายนอกผ่านข้อความบนเสื้อผ้าแต่เมื่อถูกจับได้เขาก็ต้องรับโทษจองจำเพิ่มไปอีกหลายปี

ผู้เขียนไม่ได้ถามถึงวิธีการที่พวกเขาถูกกระทำมากนัก เพราะจากภาพและคำบอกเล่าในบันทึกทรงจำต่างๆ ก็เพียงพอแล้วว่าพวกเขาถูกกระทำอย่างที่ไม่ควรมีใครในโลกต้องมาเจออะไรแบบนี้ อีกใจก็เพราะยังกลัวและไม่แน่ใจว่าคำถามนั้นจะเป็นการไปซ้ำเติมเขาไหม เลยเลือกถามว่าผ่านสิ่งเลวร้ายแบบนี้มาได้ยังไงมากกว่า

"คิดถึงวันพรุ่งนี้" เป็นคำตอบสั้นๆ ที่ทรงพลัง คำตอบนี้ทำให้นึกถึงเรื่องเล่าของภรณ์ทิพย์ มั่นคง ในหนังสือ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ อย่างอดไม่ได้ ในโลกใต้อำนาจเผด็จการช่างโหดร้ายน่าหดหู่ไม่ต่างกัน

"อยู่ข้างในก็พยายามสร้างโจทย์และหาทางแก้เพื่อให้สมองได้ทำงาน ให้มีอะไรทำ เช่น การคิดหาวิธีปรองดองอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ผมเกิดและโตในย่างกุ้ง ไม่รู้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อื่นๆ ต้องเจอปัญหาหรือความยากลำบากอะไร แต่ในคุกเราได้คุยกัน เราเรียนรู้ชาติพันธุ์อื่นๆ เข้าใจพวกเค้ามากขึ้น เข้าใจปัญหาและความยากลำบากของพวกเค้า เข้าใจการอยู่ร่วมกันอย่างสันติมาจากในคุก" จ่อวินโซ เล่าถึงอีกวิธีการที่ทำให้เขาผ่านวันคืนเลวร้ายมาได้

ซึ่งวิธีการของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนเลือกจะเขียน แม้ว่าดินสอ ปากกา กระดาษ จะเป็นสิ่งต้องห้ามในคุกก็ตาม แต่พวกเขามีวิธีการเสมอเพื่อคงลมหายใจ บางคนเลือกอ่าน บางคนเลือกทำงานฝีมือ อย่างกระเป๋าถัก ผ้าถัก หรือแม้แต่กีตาร์ ที่พวกเขาพยายามทำขึ้นมาจากวัสดุรอบตัวที่หาได้ระหว่างถูกจองจำ

"ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากถูกจับอีก แต่ถ้าจำเป็นเพื่อประชาธิปไตย เพื่อส่วนรวม ก็ยอม" จ่อวินโซ พูดทิ้งท้ายตอนที่เรากำลังเดินออกจากห้องขังจำลองในพิพิธภัณฑ์ความทรงจำนั้น

ขณะที่มีพิพิธภัณฑ์บอกเล่าประวัติศาสตร์และความทรงจำเพื่อให้คนรุ่นหลังรับรู้และผลักดันให้ทางการปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด ก็ยังคงมีประชาชนถูกจับกุม คุมขัง ซ้อมทรมาน บังคับสูญหาย และถูกสังหารเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะตั้งแต่มีการยึดอำนาจโดยกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีประชาชนถูกจับไปแล้วกว่า 3,261 คน และเสียชีวิตไปแล้วมากถึง 738 คน[2] ซึ่งในตัวเลขนั้นมีเด็กและเยาวชนอยู่เป็นจำนวนมาก

แม้ว่าแคมเปญ #blueshirt4burma จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ในปีนี้แคมเปญนี้ก็ยิ่งมีความสำคัญและมีความหมายขึ้นอย่างมาก เมื่อมีผู้บริสุทธิ์ถูกคณะรัฐประหารจับกุมตัวไปนับพันคน หนุ่มสาวชาวพม่ารวมทั้งผู้คนทั่วโลกที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยจึงชวนกันมาสวมใส่เสื้อสีฟ้าในวันที่ 21 เมษายนนี้ ตามแคมเปญ #blueshirt4burma  หรือ #BlueShirtDay2021 ซึ่งเป็นหนึ่งในการทำอารยะขัดขืนเพื่อร่วมเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด และร่วมยืนหยัดต่อสู้ไปกับพี่น้องประชาชนชาวพม่าในครั้งนี้  

ภายใต้อำนาจเผด็จการ ไม่ใช่แค่ในบ้านเราที่มีการเรียกร้องให้ “ปล่อยเพื่อนเรา”...

...

ป.ล. สามารถไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้ทั้งที่แม่สอดและย่างกุ้งหรือหากใครไม่สะดวกเดินทางไป ภายในเว็บไซต์ของ AAPP เปิดให้เยี่ยมชมทางออนไลน์ได้ตามลิ้งค์นี้ http://aappb.org/wp-content/uploads/2018/AAPPVirtualMuseumTour2017March19.html

*บทความนี้ปรับแก้มาจากบทความที่เคยเผยแพร่ในเว็บไซต์ Mekong Chula แต่ปัจจุบันเว็บไซต์ได้ปิดตัวลงไปแล้ว

*บทสนทนาในบทความ เป็นบทสัมภาษณ์เมื่อสิงหาคม 2019

อ้างอิง

[1] https://www.matichon.co.th/columnists/news_534069

[2] https://aappb.org/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท