ปล่อยเพื่อนเรา : Saw Lin Htet นักศึกษาที่ยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ท่ามกลางควันปืนและห่ากระสุนในเมียนมาหลังการรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ยังคงเป็นภาพสะเทือนใจติดตาชาวโลกที่เฝ้ารอคอยและเรียกร้องให้เมียนมากลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วพลัน จนถึงบัดนี้ราว ๆ กลางเดือนเมษายน มีประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่ไม่สามารถทนอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการได้อีกต่อไป ต้องสังเวยความรุนแรงของกองทัพทัตมะดอว์ (Tatmadaw) ของเมียนมาไปมากกว่า 700 กว่ารายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งหญิงชาย ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน พวกเขาล้วนเป็นเหยื่ออธรรมทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความรุนแรงของเผด็จการในครั้งนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเมียนมาก็ไม่ย่อท้อต่อการต่อสู้นี้เช่นเดียวกัน พวกเขายังคงยืนหยัดเหมือนกับที่เคยต่อสู้กันมาตั้งแต่หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ. 1948 พร้อมสนธิสัญญาปางโหลงที่ถูกฉีกลงหลังการลอบสังหารนายพล ออง ซาน นั่นเอง และกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่พยายามรักษาอัตลักษณ์ทั้งภาษาและวัฒนธรรมของพวกเขาจนถึงทุกวันนี้คือ ชาวกะเหรี่ยง และ Saw Lin Htet คือหนึ่งในนั้น เขาไม่เพียงแต่เป็นคุณพ่อลูกหนึ่ง เป็นสามี เท่านั้น แต่เขายังเป็นนักศึกษาที่กำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการรักษาอัตลักษณ์ทางภาษาของชนชาติกะเหรี่ยงของเขาอีกด้วย

ภาพที่ 1 Saw Lin Htet ในชุดประจำชาติกะเหรี่ยง 
(ที่มา: https://www.facebook.com/FreeSawLinHtet/photos/101917805344498)

ผู้เขียนพบ Saw Lin Htet ครั้งแรกที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เขาเป็นหนึ่งในนักศึกษาจากเมียนมา ใส่แว่นหนาเตอะ เป็นคนช่างพูด ช่างเจรจา และที่สำคัญในการเรียนแต่ละวิชา จะไม่มีวิชาไหนเลยที่ Saw Lin Htet จะไม่แสดงความคิดเห็น ภายใต้ภาษาอังกฤษสำเนียงกะเหรี่ยง เขามีความภาคภูมิใจในชาติกำเนิดของเขาจากเมืองผาอัน (Hpa An) รัฐคะยิน (Kayin State) Saw Lin Htet ทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมข้ามชาติหลากหลายองค์กรในอดีต เพื่อพัฒนาสังคมของชาวเมียนมา ที่ไม่ใช่แค่ชาวกะเหรี่ยงเท่านั้น แต่เขายังเสียสละอุทิศตนทำงานเพื่อพัฒนาประเทศเมียนมาของเขาโดยรวม สำหรับ Saw Lin Htet คงปฏิเสธมิได้เลยว่า เขาเป็นกำลังสำคัญในการร่วมพัฒนาเมียนมาในอนาคต และเขายังเป็นผู้นำที่กำลังสร้างครอบครัวที่อบอุ่นคนหนึ่งในประเทศที่กำลังหล่อเลี้ยงประชาธิปไตยที่กำลังเติบโต 


ภาพที่ 2 แคมเปญเรียกร้องสิทธิให้เด็กชาวกะเหรี่ยงในเมียนมา
(ที่มา: เสฎฐวุฒิ ยุทธาวรกูล)

ผู้เขียนเคยทำงานกลุ่มเดียวกับ Saw Lin Htet ในภาคการศึกษาแรกที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเราได้เลือกทำแคมเปญเรียกร้องสิทธิให้เด็กชาวกะเหรี่ยงในเมียนมามีโอกาสได้ศึกษาภาษากะเหรี่ยงในระดับการศึกษาภาคบังคับ นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้น ที่ผู้เขียนได้ใกล้ชิดกับ Saw Lin Htet และพบว่าในหัวใจของเขามีให้เพื่อนพี่น้องร่วมชาติพันธุ์อย่างเต็มเปี่ยม ถึงแม้ว่าตลอดการออกแบบแคมเปญจะเต็มไปด้วยการถกเถียงในทางวิชาการ แต่สุดท้ายเราก็พบถึงสายเลือดนักสู้ของเขาในที่สุด เมื่อภาคการศึกษาแรกจบลง Saw Lin Htet เลือกเรียนที่ Kathmandu School of Law ประเทศเนปาล ในภาคการศึกษาที่สอง ส่วนผู้เขียนเองเลือกที่จะเรียนที่ University of Colombo ประเทศศรีลังกา ทำให้ผู้เขียนไม่ได้พบเจอเขาอีก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยังคงได้เห็นความตั้งใจของ Saw Lin Htet ผ่านสื่อสังคมออนไลน์อยู่บ้างเป็นเนือง ๆ


ภาพที่ 3: Saw Lin Htet ในขณะศึกษาอยู่ที่ Kathmandu School of Law ประเทศเนปาล
(ที่มา: Irshad Soomro)

จนกระทั่งเหตุการณ์ในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2021 ก็เปลี่ยนแปลงชีวิตของ Saw Lin Htet ไปตลอดกาล ในขณะที่เขากำลังขับรถกลับบ้านที่เมืองผาอันพร้อมกับลูกสาววัย 4 ขวบคนเดียวของเขา ตำรวจที่ด่านตรวจก็ได้หยุดรถของ Saw Lin Htet และค้นรถโดยไม่มีหมายใด ๆ ล่วงหน้า เขาถูกจับตามมาตรา 505(b) ของประมวลกฎหมายอาญาเมียนมา ว่าด้วยการส่งต่อข้อมูลที่หมิ่นประมาท ใส่ร้าย และวิพากษ์วิจารณ์กองทัพหรือรัฐบาล และตำรวจได้อ้างว่า เขามีเอกสารที่เป็นภัยต่อกองทัพและรัฐบาล ซึ่งจากความผิดนี้ เขาอาจถูกจำคุกเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งแน่นอนว่ากฎหมายมาตรานี้ เป็นการปิดปากนักกิจกรรมและนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการอย่างปฏิเสธมิได้ หลังจากถูกตำรวจจับเข้าเรือนจำตามอำเภอใจไร้การไต่สวนใด ๆ ภรรยา ลูก ครอบครัว และทนายความของ Saw Lin Htet ก็ถูกกีดกันไม่ให้พบกับเขาในเรือนจำอีก อีกทั้งสื่อสังคมออนไลน์ของเขา เช่น Facebook ก็ถูกลบทิ้งในวันเดียวกันนั้นอีกด้วย ครอบครัวของเขาเป็นห่วงเขาอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพของเขาจากการได้รับการวินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นวัณโรค (Tuberculosis) และก็ไม่มีวี่แววใด ๆ ว่าเขาได้รับการส่งตัวไปรักษายังสถานพยาบาลใด ๆ ระหว่างการจับกุมคุมขัง แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่ Saw Lin Htet เท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากรัฐบาลเมียนมา แต่ยังมีชาวเมียนมาอีกหลายคน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมโดยกองทัพเผด็จการ


ภาพที่ 4: Saw Lin Htet ในขณะร่วมเดินขบวนประท้วงต่อต้านระบอบเผด็จการในเมียนมา
(ที่มา: https://www.facebook.com/FreeSawLinHtet/photos/103474438522168)

นักศึกษาโครงการ Global Campus of Human Rights ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ได้จัดตั้ง Global Campus Coalition of Human Rights ขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว Saw Lin Htet โดยเฉพาะ ทั้งคณาจารย์ นักศึกษาปัจจุบัน และศิษย์เก่าของ Global Campus of Human Rights ร่วมกันจัดตั้งแคมเปญ #FreeSawLinThet ขึ้นมาในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ คือ Facebook Instagram และ Twitter ร่วมกันยื่นคำร้องผ่านการลงชื่อในเว็บไซต์ https://actionnetwork.org/petitions/freesawlin-from-prison-in-myanmar และร่วมกันส่งหนังสือถึงสถานเอกอัครรัฐทูตเมียนมาในประเทศต่าง ๆ เพื่อส่งเสียงไปยังเผด็จการทหารเมียนมาที่จับกุมคุมขัง Saw Lin Htet และเพื่อนผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเขาอีกหลายคน อย่างไรก็ตาม Saw Lin Htet มีกำหนดการนำตัวขึ้นศาลในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา เขาถูกนำตัวไปที่ศาลเพื่อพิจารณาคดี พยานเห็นว่า เขาถูกนำตัวไปที่ศาลจริงและไม่มีใครได้รับอนุญาตให้เข้าฟังคำตัดสิน แต่เมื่อถึงเวลาเดินทางกลับเรือนจำ ไม่มีใครเห็น Saw Lin Htet บนรถคุมขังอีกเลย จนกระทั่งได้รับการยืนยันว่า หน่วยข่าวกรองของทหารเมียนมาได้อายัดตัวเขาไปยังศูนย์ไต่สวน ซึ่งไม่มีใครทราบว่าเป็นที่ใด เขาไม่ได้เดินทางกลับเรือนจำ และไม่มีหน่วยงานใดออกมายอมรับและรับผิดชอบการควบคุมตัว Saw Lin Htet จนถึงปัจจุบัน


ภาพที่ 5: กลุ่ม Global Campus Coalition for Human Rights ที่ริเริ่มแคมเปญ #FreeSawLinHtet
(ที่มา: https://www.facebook.com/FreeSawLinHtet/photos/107893684746910

บัดนี้เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ที่ Saw Lin Htet เพื่อนของผู้เขียน และเพื่อนของพวกเราที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จนเชื่อว่าเขากลายเป็นบุคคลผู้ถูกทำให้สูญหาย (Enforced Disappearance) ไปแล้ว และที่สำคัญเขาอาจตกเป็นเหยื่อของการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำเหล่านี้เป็นอาชญากรรมและไม่เป็นไปตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ถึงแม้ว่าเมียนมาจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance: CED) แต่การกระทำต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติเช่นนี้เป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมและควรถูกประชาคมโลกประณาม

ไม่มีใครอาจล่วงรู้ได้ว่าในปัจจุบัน Saw Lin Htet นั้นอยู่ที่ไหน ไม่มีใครรู้ว่าเขาและชาวเมียนมาหลายร้อยคนเป็นตายร้ายดีอย่างไรหลังการจับกุมคุมขังตามอำเภอใจของกองทัพเผด็จการเมียนมา แต่เราในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสียงต่อประชาคมโลกให้สนใจกรณีของ Saw Lin Htet และชาวเมียนมาผู้รักประชาธิปไตยคนอื่น ๆ โดยสามารถร่วมในแคมเปญ #FreeSawLinHtet และส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเอกอัครรัฐทูตเมียนมาประจำประเทศไทย หรือประเทศอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ได้ผ่าน template จดหมายตามลิ้งก์ในเว็บไซต์ Action Network นี้

#ปล่อยเพื่อนเรา #FreeSawLinHtet

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: เสฎฐวุฒิ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นปริญญาโทของ Saw Lin Htet ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 

หมายเหตุ : เมื่อเวลา  12.14 น. วันที่ 22 เม.ย. 2564 ประชาไทได้ดำเนินการอัปเดต และชื่อบทความมาเป็นพาดหัวที่ใช้อยู่ปัจจุบัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท