สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 16-22 เม.ย. 2564

การบินไทย ชี้แจงโครงสร้างองค์กรใหม่ตามแผนฟื้นฟูฯอิงกฎหมายแรงงาน แม้ใครไม่เข้าโครงการยังคงสถานะพนักงานตามเดิม

รายงานข่าวจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่ และการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ สวัสดิการของพนักงาน เป็นไปตามกรอบกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะสอดคล้องกับฐานะทางการเงินและการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

ทั้งนี้ได้ขอพนักงานพิจารณาให้ความร่วมมือกับบริษัทฯ เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ สามารถดำเนินการได้สำเร็จ บริษัทฯ จึงได้สื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่มีความเข้าใจสถานการณ์ของบริษัทฯ และให้ความร่วมมือเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ (Relaunch) ด้วยความสมัครใจ ถึง 96%

ทั้งนี้พนักงานที่ไม่ได้รับการคัดเลือกในครั้งที่ 1 ก็สามารถเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองฯ ครั้งที่ 2 ได้ และตามโครงสร้างใหม่นี้ บริษัทฯยังมีตำแหน่งงานรองรับได้อีกหลายอัตราขณะเดียวกันพนักงานอีกจำนวนหนึ่ง ได้สมัครใจเข้าโครงการร่วมใจจากองค์กร MSP (Mutual Separation Program A, B, และ C) เพื่อเป็นการช่วยเหลือบริษัทฯ

อย่างไรก็ดี สำหรับพนักงานที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงสร้างใหม่ทั้ง 2 ครั้ง รวมถึง พนักงานที่ไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองฯ พนักงานก็ยังคงมีสถานะเป็นพนักงานการบินไทย โดยบริษัทฯจะดูแลพนักงานทุกคนของบริษัทฯ และดำเนินการทุกอย่างภายใต้กรอบของกฎหมายคุ้มครองแรงงานทุกประการ

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) และสหภาพแรงการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานตรวจสอบกระบวนการกลั่นกรองฯและการเปลี่ยนสภาพการจ้างงานของพนักงานในการเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ของบริษัท การบินไทย ปี 2564 ที่ส่อขัดต่อพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 ที่ระบุว่า โดยเห็นว่ากระบวนการกลั่นกรองพนักงานฯไม่เป็นคุณกับพนักงาน ขัดต่อพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 เข้าข่ายเป็นโมฆะ

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 22/4/2564

DSI สนธิกำลังร่วมเจ้าหน้าที่นครปฐมครึ่งร้อยบุกตรวจโรงงานขนมจีน หลังแรงงานพม่าร้องถูกทารุณ

21 เม.ย. 2564 นายเชาวเนตร ยิ้มประเสริฐ ปลัดจังหวัดนครปฐม ได้นำกำลังโดยการบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจังหวัดนครปฐม ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครปฐม ฝ่ายปกครองอำเภอบางเลน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ชุดหน่วยปฏิบัติพิเศษภูธรจังหวัดนครปฐม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางเลน เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดนครปฐม เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดนครปฐม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จังหวัดนครปฐม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 60 นาย ลงพื้นที่จู่โจมตรวจสอบภายในโรงงานขนมจีนตราเพชร ตั้งอยู่ริมถนนสายนิลเพชร-บางเลน และขนมจีนแป้งหมักเจ้าสัว เลขที่ 4/1 และ 4/2 ม.1 ต.นิลเพชร อ.บางเลน จ.นครปฐม หลังได้รับการร้องเรียนว่ามีคนงานขอความช่วยเหลือว่าถูกกดขี่และใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ ในการบุกเข้าจู่โจมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้นำแรงงานชาวพม่า ประมาณ 20 คน นั่งอยู่ในรถตู้เพื่อมาชี้เป้าหมายในโรงงานดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดได้หลบหนีออกมาและไปร้องเรียนขอความช่วยเหลือที่สถานเอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย ว่า โรงงานดังกล่าวมีการใช้แรงงานอย่างหนัก และไม่มีการจ่ายเงินเดือนตรงกับที่แจ้งไว้ ให้ทำงานเกินเวลาโดยไม่มีค่าล่วงเวลา ไม่มีค่าโอที ซึ่งต้องทำงานอย่างหนัก ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปภายในได้มีแรงงานชาวพม่า ทั้งชายหญิงกำลังทำงานอยู่ภายในเจ้าหน้าที่จึงได้มีการสั่งให้มีการรวมตัวกันและนำล่ามมาช่วยตรวจสอบในเรื่องที่รับร้องเรียน

เบื้องต้น ได้พบกับเจ้าของโรงงาน พร้อมทั้งได้สั่งการให้มีการนำเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับตัวแรงงานและการดำเนินการต่างๆ อย่างละเอียดมาชี้แจงต่อหน่วยงานต่างๆ ซึ่งพบว่า มีแรงงานไทย 4 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน ชาวพม่า 15 คน เป็นชาย 11 คน หญิง 4 คน ลาว 1 คน ซึ่งมีการสอบปากคำพนักงานทุกคนอย่างละเอียดถึงเรื่องที่รับร้องเรียนผ่านมาจากสถานเอกอัคราชทูตพม่า และพบว่ามีแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต 2 ราย ถือใบอนุญาตผิดตัวกับแรงงานที่อยู่ในโรงงานอีกหลายราย โดยจะมีการตรวจสอบการขอใบอนุญาตในการประกอบการ รวมถึงการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม และตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิ-19 หากผิดกฎหมายเรื่องใดจะมีการดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาทันที

โดยเบื้องต้น ตำรวจ สภ.บางเลน เจ้าของพื้นที่ได้ดำเนินการเรื่องแรงงานไม่มีใบอนุญาตไว้ก่อน หากพบว่ามีการใช้แรงงานเข้าข่ายการค้ามนุษย์หลังจากสอบปากคำ และหาหลักฐานประกอบครบถ้วนจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/4/2564

สหภาพการบินไทย 2 แห่ง ยื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน ร้องขอความช่วยเหลือกรณีเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างไม่เป็นธรรม

รายงานข่าวระบุว่า นายสรยุทธ หอมสุคนธ์ ประธานสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย และ นายศิริพงศ์ ศุกระกาญจนาโชค ประธานสหภาพแรงการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ พร้อมด้วยตัวแทน ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่อง แจ้งการพบเห็นเอกสารที่มีปัญหาข้อกฎหมาย และขอคัดค้านการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ที่กระทรวงแรงงาน ในช่วงเช้าวันที่ 21 เม.ย.2564

สำหรับการบินไทยอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยได้ยื่นแผนฟื้นฟูต่อกรมบังคับคดีแล้ว และเตรียมที่จะประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พ.ค.2564

เฟซบุ๊ค TG Union โพสต์ข้อความระบุว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้เป็นการขอความช่วยเหลือกระทรวงแรงงานให้ออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้นายจ้างที่อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการสามารถเลิกจ้างพนักงานและผ่อนจ่ายค่าชดเชยในกรอบระยะเวลาที่นายจ้างกำหนดขึ้นเองได้ตามสมควร และออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้นายจ้างที่อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการสามารถเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง อนุกรรมการ และสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยไม่ต้องทำตามข้อกฎหมาย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 21/4/2564

เร่งเยียวยา 'ผู้ประกันตน' ทำงานกลางคืนจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงจากข้อห่วงใยของรัฐบาล ได้ให้ช่วย"ก.แรงงาน"ดูแลพี่น้อง "แรงงาน" ที่ "ทำงานกลางคืน"ให้เหมือนคนในครอบครัวภายใต้กรอบของกฎหมาย เนื่องจากคน "ทำงานกลางคืน" เช่น ผับ บาร์ สถานบันเทิง ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานบริการ เป็นต้น

ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด- 19" ซึ่งเป็น "ผู้ประกันตน"ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยากรณีนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย "โควิด-19"

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า กรณีเหตุสุดวิสัย"โควิด-19" กระทรวงแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวงได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2563 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป

ให้ความคุ้มครองกรณี "ผู้ประกันตน"ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากต้องกักตัวเฝ้าระวังการระบาดของโรค นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจกรรมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน รวมกันไม่เกิน 90 วันซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป และสำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้นายจ้างและ "ผู้ประกันตน" ที่ได้รับผลกระทบยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.sso.go.th

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 21/4/2564

ครม. เบรกตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ

20 เม.ย. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติให้ยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนากฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และไม่ควรจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการออกกำลังกาย นันทนาการ และกีฬา ของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน

นายอนุชากล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา มีความเห็นให้ยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนากฎหมาย และให้ชำระบัญชีเงินทุนหมุนเวียนและนำเงินคงเหลือส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินด้วย เนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายแล้ว และไม่เห็นควรจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการออกกำลังกาย นันทนาการ และกีฬา ของกรมพลศึกษา เนื่องจากเป็นงานซ้ำซ้อนกับภารกิจปกติของหน่วยงานและซ้ำซ้อนกับทุนหมุนเวียนอื่นในการสนับสนุนเงินเยียวยาค่ารักษาแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งผู้ให้บริการสถานที่ออกกำลังกายควรเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยในการใช้สถานที่

“รวมทั้งไม่เห็นควรจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน (อ่านเพิ่มเติม https://www.prachachat.net/csr-hr/news-62481) เนื่องจากเป็นภารกิจปกติของกระทรวงแรงงานและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแหล่งรายได้ของกองทุนฯ ซึ่งมาจากเงินค่าสมาชิกอาจไม่มีความยั่งยืน ทำให้ต้องใช้เงินงบประมาณเป็นรายได้หลัก”

นายอนุชากล่าวว่า ยังเน้นว่า การขอจัดตั้งทุนหมุนเวียนต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ที่บัญญัติให้ทุนหมุนเวียนที่หน่วยงานของรัฐขอจัดตั้งจะต้องไม่มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกับภารกิจปกติของหน่วยงานรัฐและต้องไม่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอื่น หรือทุนหมุนเวียนที่ดำเนินการอยู่แล้ว ด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอแนะว่า กระทรวงแรงงานควรบูรณาการด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบภายใต้หน่วยงานและทุนหมุนเวียนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน หรือดำเนินการขยายวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ของกรมการจัดหางาน ให้ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบ

สอดรับกับกระทรวงแรงงานที่เห็นว่า คณะรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้กระทรวงดำเนินการขยายวัตถุประสงค์ของกองทุน เพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพและโอนกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านมาอยู่ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/4/2564

แรงงานทะลักเข้าเมือง หลังมาเลเซียผลักดันต่างชาติ

19 เม.ย. 2564 แรงงานไทยในร้านอาหารต้มยำกุ้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย 44 คน เป็นแรงงานไทยกลุ่มล่าสุดที่เข้าเมืองไม่ถูกต้อง ซึ่งถูกควบคุมตัวขณะข้ามแม่น้ำโกลก มายังประเทศไทย ใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยส่วนใหญ่ไม่มีหนังสือเดินทางจึงตัดสินใจกลับประเทศ หลังทางการมาเลเซียได้ออกประกาศผลักดันชาวต่างชาติ ที่อาศัยในมาเลเซียไม่ถูกต้อง ต้องออกนอกประเทศก่อนวันที่ 21 เม.ย.นี้

การทะลักของแรงงานไทยที่มีมากขึ้นทำให้แม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก ก่อนสั่งการให้เจ้าหน้าที่คุมเข้มทุกด่านพรมแดน โดยเฉพาะในเส้นทางธรรมชาติของ จ.นราธิวาส และสงขลา ที่มีหลายช่องทาง ประกอบกับน้ำในแม่น้ำโกลกเริ่มแห้งจึงสามารถเดินข้ามมาได้ทั้งที่ อ.ตากใบ อ.แว้ง และ อ.สุไหงโก-ลก จึงง่ายที่จะลักลอบเข้าเมือง

รั้วชายแดนไทย-มาเลเซีย ใน อ.สะเดา จ.สงขลาถูกตัดชำรุดหลายจุด โดยจุดตัดรั้วชายแดนในอดีต มักถูกใช้ในการขนย้ายสิ่งผิดกฎหมาย แต่หลังการระบาดของไวรัส COVID-19 ถูกเปลี่ยนมาเป็นที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดตลอดแนวชายแดน

จากข้อมูลของกองทัพภาคที่ 4 พบว่า ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2563 ถึง เม.ย. 2564 มีผู้เดินทางเข้าเมืองผิดกฏหมายผ่าน 5 ด่านหลัก คือ สุไหงโก-ลก, เบตง, สะเดา, วังประจัน และตำมะลัง จำนวน 4,853 คน และเข้าเมืองถูกกฎหมาย 24,769 คน แต่หลังการผลักดันชาวต่างชาติกลับประเทศ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีคนเดินทางกลับมากขึ้น

โดยเฉพาะวันนี้ที่เป็นวันแรกในการเปิดรับคนไทยกลับประเทศ ทำให้เกือบทุกด่านมีคนไทยลงชื่อขอกลับจนเกือบเต็มโค้วต้า เช่นที่ด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย อ.สะเดา วันนี้มีคนไทยที่ลงชื่อขอกลับ 119 คน ซึ่งส่วนใหญ่หนังสือเดินทางหมดอายุ อย่างพระสงฆ์รูปนี้เคยจำวัดที่รัฐปีนัง ก็ตัดสินใจกลับหลังการผลักดันชาวต่างชาติของมาเลเซีย

ความต้องการกลับประเทศที่มากขึ้นทำให้ด่านพรมแดนอำเภอสะเดาปรับมาเปิดให้บริการทั้ง 7 วัน จากปกติที่จะการเปิดรับสับดาห์ละ 3 วัน และเตรียมโรงแรมที่จะใช้เป็นพื้นที่กักตัวประมาณ 500 ห้อง เช่นเดียวกับใน จ.ยะลา นราธิวาส และสตูลก็ได้มีการเตรียมพื้นที่รองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับมากขึ้น

ที่มา: Thai PBS, 19/4/2564

ประกันสังคม ขยายจุดตรวจโควิดเชิงรุกเพิ่ม 18 จังหวัดสีแดง

19 เม.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยผู้ประกันตนที่เดินทางกลับต่างจังหวัด และไปในสถานที่เสี่ยงช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานจึงได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการตรวจ โควิด-19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ,39 และ 40 ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตาม “โครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน” โดยจัดตรวจที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อลดความแออัดและอำนวยความสะดวก และตลอด 3 วันที่ผ่านมา ของการตรวจ ผมได้ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องและกำชับให้สำนักงานประกันสังคมตรวจสอบขั้นตอนต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตน

ซึ่งรายงานของสำนักงานประกันสังคมพบว่า ภาพรวมของโครงการเป็นที่น่าพอใจ ราบรื่นดี ขั้นตอนต่าง ๆ ยังคงเป็นไปตามแนวทางและมาตรการที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หากพบผู้ประกันตนรายใดตรวจพบเชื้อจะถูกส่งตัวไปเข้ารับการรักษาที่โรงแรมที่เป็น HQ (Hospital Quarantine) ตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกันตนคลายความกังวลใจได้ซึ่งเป็นสถานที่รองรับการรักษาตามอาการและอยู่ในความดูแลของทีมแพทย์เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการดังกล่าวกระทรวงแรงงานยังมีแผนที่จะดำเนินการขยายจุดตรวจไปยังจังหวัดพื้นที่สีแดงอีก อาทิ ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่ไปในสถานที่เสี่ยง และเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.กำหนด สามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://sso.icntracking.com/icntracking/self_register.php เพื่อจองคิวตรวจโควิด-19 ซึ่งหากพบเชื้อสามารถเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดได้อย่างทันท่วงที

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 19/4/2564

กรมการจัดหางาน แจงสถานการณ์การว่างงาน ปี 2564 คนว่างงานกำลังลดลง ผู้ประกันตนกลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพิ่ม

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบจำนวนผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 39.45 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 38.76 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ทำงานในภาคบริการ และการค้า 17.50 ล้านคน ภาคเกษตรกรรม 13.48 ล้านคน และภาคการผลิต 7.78 ล้านคน โดยเป็นผู้ว่างงาน 0.59 ล้านคน หรือประมาณ 590,000 คน แบ่งเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 0.18 ล้านคน และเคยทำงานมาแล้ว 0.41 ล้านคน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 พบว่าผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 0.22 ล้านคน แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนผู้มีงานทำก็เพิ่มขึ้นถึง 1.1 ล้านคนเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวนของผู้อยู่ในกำลังแรงงานทั้งหมด ทั้งกว่าร้อยละ 65 ของคนว่างงาน พบว่ามาจากแรงงานเก่า ซึ่งมีทั้งถูกให้ออกจากงาน ถูกเลิกจ้างจากสาเหตุการปิดกิจการ จากการหมดสัญญาจ้าง และการลาออกเอง และอีกร้อยละ 35 ของผู้ว่างงานเป็นแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ระบบ

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนมีนาคม 2564 มีผู้ประกันตนกรณีว่างงาน กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคม 155,958 ราย และผู้ประกันตนรายใหม่ 84,241 ราย รวมทั้งสิ้น 240,199 ราย แยกเป็นเดือนมกราคม 85,970 ราย เดือนกุมภาพันธ์ 81,064 ราย และเดือนมีนาคม 73,165 ราย ในขณะที่จำนวนผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์กรณีว่างงานมี จำนวน 119,987 ราย โดยมีการลดจำนวนลงตามลำดับตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลให้แรงงานมีชั่วโมงทำงานลดลง ทั้งจากสถานประกอบการดำเนินกิจการได้ไม่เต็มที่ การปรับลดกำลังการผลิต การลดการทำงานล่วงเวลา ซึ่งสาเหตุที่กล่าวมานี้กระทบต่อรายได้ของแรงงานถึง 5.96 ล้านคน อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานได้รวบรวมตำแหน่งงานว่างจากทั่วประเทศ เพื่อผู้ประสงค์จะทำงาน จำนวน 225,207 อัตรา ไว้รองรับ พร้อมกับวางแนวทางช่วยเหลือกลุ่มผู้ว่างงาน กลุ่มเปราะบาง รวมทั้งผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในการเตรียมความพร้อมให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน การส่งเสริมการมีงานทำสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ และเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน (โครงการ Co Payment) การหาแนวทางเพิ่มการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงานนอกระบบ จากการให้เงินกู้ โดยคิดดอกเบี้ย 0% แก่กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ทั้งหมดเพื่อรักษาการจ้างงาน ให้ผู้ใช้แรงงานได้มีงานทำต่อไป ตามนโยบายของรัฐบาลและเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 17/4/2564

สภานายจ้างชี้ COVID-19 รอบนี้รุนแรง ห่วงธุรกิจลดจำนวนพนักงาน-เลิกจ้าง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยถึงความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงนี้ว่า พฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนไป โดยการหันไปซื้อของออนไลน์มากขึ้น และออกไปห้างสรรพสินค้า หรือโมเดิร์นเทรดน้อยลง ส่งผลให้สถานประกอบการบางแห่งลดจำนวนพนักงานลง

นายธนิต ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ตนได้มีโอกาสหารือกับเจ้าของภัตตาคาร พบว่ามีการปรับลดพนักงานจาก 300-400 คน เหลือเพียงประมาณ 100 คน เท่านั้น ทำให้เห็นว่า ขนาดธุรกิจขนาดใหญ่ยังประคองตัวเองได้ยากในช่วงนี้ จึงกังวลว่า หากโควิดรอบนี้รุนแรงจะทำให้แรงงานกลุ่มนี้จะถูกจำนวนลง ซึ่งจะทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น

“จากตัวเลขการว่างงานที่รัฐประเมิน มองว่าภาครัฐพยายามพูดออกมาให้เป็นปกติ แต่ภาคเอกชนเห็นว่า ไม่ปกติ ซึ่งข้อมูลขัดแย้งกับเอกสารสภาวะการจ้างงาน ของกระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่มีการจ้างงานลดลงประมาณ 5% ทุกประเภทการจ้างงาน แสดงว่า ตลาดแรงงานยังคงมีความเปราะบาง”

“ขณะเดียวกัน แรงงานในประกันสังคม ตามมาตรา 33 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีแรงงานหายไปเกือบ 6 แสนคน ซึ่งการฟื้นตัวของตลาดแรงงานต้องดูสถานการณ์โควิดจะรุนแรงขนาดไหน และถ้าหากมีการประกาศล็อกดาวน์ การฟื้นตัวก็ต้องยึดยาวออกไปอีกแน่นอน” นายธนิตกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/4/2564

กสร. ปรับปรุงการยื่นคำร้องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ยกเลิกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม 2560 โดยปรับปรุงและออกประกาศฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ซึ่งการปรับปรุงประกาศในครั้งนี้เพื่อยกระดับการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐให้อยู่ในระบบดิจิทัล ประชาชนได้รับความสะดวกในการรับบริการและสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐได้ โดยมีสาระสำคัญได้แก่ ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยลงทะเบียนขอรหัสผู้ใช้และรหัสผ่านทางเว็บไซต์ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (eservice.labour.go.th) เมื่อได้รับรหัสดังกล่าวแล้วสามารถยื่นคำร้องตามขั้นตอนในระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ขอให้เก็บรักษารหัสผู้ใช้และรหัสผ่านไว้เป็นความลับ เนื่องจากเป็นข้อมูลในการยืนยันตัวตนของผู้ใช้ระบบ และถือเป็นหลักฐานในการแสดงการลงลายมือชื่อของผู้ใช้ระบบในการติดต่อกับพนักงานตรวจแรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การยื่นคำร้องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ใช้ระบบถือเป็นหลักฐานการยื่นคำร้องเป็นหนังสือตามแบบที่อธิบดีกำหนด โดยผู้ใช้ระบบสามารถติดตามผล ส่งเอกสารเพิ่มเติม หรือยกเลิกคำร้องตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ได้ ในส่วนของบรรดาคำร้องที่ได้ยื่นตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงานก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าคำร้องที่ยื่นไว้จะถึงที่สุด

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 16/4/2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท