Skip to main content
sharethis

23 เม.ย. 2564 เชียงใหม่ติด COVID-19 เพิ่มอีก 151 ราย สมระลอกเดือน เม.ย. 2564 พุ่งไปที่ 2,970 คน ขณะที่ผู้หายป่วยทยอยกลับบ้านเพิ่มขึ้นเป็น 403 คน จับตา 6 คลัสเตอร์แบบใกล้ชิด

 

สถานการณ์โควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ ประจำวันที่  23 เมษายน 2564

โพสต์โดย ประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน  2021

 

23 เม.ย. 2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันจำนวน 151 ราย ทำให้ตัวเลขสะสมระลอกเดือน เม.ย. 2564 พุ่งไปที่ 2,970 คน ขณะที่ผู้หายป่วยทยอยกลับบ้านเพิ่มขึ้นเป็น 403 คน

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นล่าสุด ส่วนใหญ่มาจากการแพร่ระบาดจากคลัสเตอร์ใหม่ที่เกิดขึ้นในจังหวัด โดยมีรายงานว่าล่าสุดพบคลัสเตอร์ 6 กลุ่ม ที่ต้องจับตาใกล้ชิด

1. ศูนย์เด็กเล็กเทศบาลตำบลแม่คือ จำนวน 33 ราย
2. กองบิน 41 จำนวน 58 ราย
3. เรือนจำแม่แตง จำนวน 37 ราย
4. ศูนย์ปฏิบัติธรรมตำบลป่าแดด จำนวน 45 ราย
5. คณะเภสัชศาสตร์ มช. จำนวน 27 ราย
6. วิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพ จำนวน 7 ราย

ผอ.ท่าอากาศยานเชียงใหม่เผย พนง.ดับเพลิงและกู้ภัยกว่า 10 คน ติดเชื้อเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ใกล้ชิดผู้โดยสาร

สำนักข่าวนอร์ทพับลิคนิวส์ : Northpublicnews รายงานว่านายอมรรักษ์ ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ชี้แจงกรณีมีพนักงานและลูกจ้างส่วนดับเพลิงและกู้ภัย ฝ่ายปฏิบัติการท่าอากาศยาน ท่าอากาศยานเชียงใหม่ จำนวน 11 คน ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น พบว่าเป็นการติดเชื้อจากการใช้ชีวิตประจำวัน แต่เนื่องจากเป็นการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการจึงไม่รู้ตัว จนกระทั่งลูกจ้างคนหนึ่งมีอาการป่วย และได้ไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา และพบว่าผลเป็นบวก จากนั้นพนักงานและลูกจ้างทั้งหมดจำนวน 81 คน ได้ทยอยเข้ารับการตรวจเป็นลำดับ เนื่องจากถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ล่าสุดผลการตรวจ ณ วันที่ 23 เม.ย. 2564 มีพนักงานและลูกจ้างที่ผลเป็นบวกทั้งสิ้น 11 ราย และรอผลการตรวจอีก 13 ราย นอกนั้นอีก 57 ราย ผลเป็นลบ ซึ่งกลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ติดเชื้อดังกล่าว ขณะนี้ทั้งหมดได้เข้ารับการรักษาและดูแลในระบบสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว

ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย เป็นการปฏิบัติงานในลักษณะของการเตรียมความพร้อม ณ ที่ตั้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและเป็นพื้นที่หวงห้าม จึงไม่มีการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ แต่หากต้องให้พนักงานและลูกจ้างที่ผลตรวจเป็นลบทั้งหมดกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการของท่าอากาศยาน จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในส่วนดับเพลิงและกู้ภัยให้พนักงานและลูกจ้างส่วนหนึ่งกักตัวสังเกตอาการ และยังสามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งล่าสุดทีมระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้ามาตรวจสอบและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคแล้ว นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลนครเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลช้างเผือกเข้ามาฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งจะมีรถพระราชทานมาดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกให้กับกลุ่มผู้มีความเสี่ยง ในวันจันทร์ที่ 26 เม.ย. 2564 อีกด้วย

ขอความร่วมมือประชาชนสวมหน้ากากอนามัย 100% งดพฤติกรรมใกล้ชิด หลังพบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการสนิทสนมจนละเลยมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19

ที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแถลงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ โดย นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เผยถึงสถานการณ์ของการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ ว่าวันนี้ยอดตัวเลขของผู้ป่วย รายใหม่ลดลงจากเมื่อวานนี้ ขณะเดียวกันจากการตรวจหาผู้สัมผัสรวมทั้งพบผู้ป่วยในกลุ่มต่างๆ พบว่า มีการแพร่ระบาดของเชื้อในพื้นที่หลายอำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น ที่สถานปฏิบัติธรรม ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อำเภอดอยสะเก็ด หรือที่สถานที่รับเลี้ยงเด็กมูลนิธิในอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยพบว่า สาเหตุการติดเชื้อมาจากการทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งมาจากต่างครอบครัว มีผลทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และขอความร่วมมืองดการจัดกิจกรรมใด ๆ ที่จะต้องรวมกลุ่มคน โดยเช้าวันนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการประชุม ทบทวน ติดตามการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 25 อำเภอ ตามข้อสั่งการของส่วนกลางในการสอดส่องเพื่อป้องกันไม่ให้มีการมั่วสุมลักลอบเล่นการพนัน การสังสรรค์ของคนหมู่มาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 แบบกลุ่มก้อน โดยจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่

ด้าน ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงจำนวนผู้ป่วย โควิด - 19 ของจังหวัดเชียงใหม่ ว่า ข้อมูลที่นำมารายงานในทุกวันนั้น เป็นข้อมูลจริงจากการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งวันนี้พบยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง มีจำนวน 150 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,970 ราย กำลังรักษาตัวอยู่ 2,567 ราย และรักษาหายแล้ว 403 ราย ซึ่งรักษาหายเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 2 เท่า ส่วนการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงได้ดำเนินการตรวจไปแล้ว 47,241 ราย พบผู้ติดเชื้อคิดเป็นร้อยละ 6.36 โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายและจำนวนผู้ป่วยจากการติดเชื้อในสถานบันเทิงลดลง จาก 50 % เหลือประมาณ 46.7 % แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการสัมผัสในครอบครัวเพิ่มขึ้นจาก 15.00 % เป็น 15.4 % รวมทั้งการสัมผัสในชุมชน การสัมผัสในที่ทำงานก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับสถานการณ์จาก 3 กลุ่มที่ติดเชื้อโควิด - 19 เมื่อวานนี้ สำหรับกลุ่มสถานปฏิบัติธรรม ตำบลป่าแดด พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 18 ราย ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามทั้งหมดแล้ว ส่วนกลุ่มคลัสเตอร์ศูนย์เด็กเล็กเทศบาลตำบลแม่คือ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มในส่วนของกลุ่มครอบครัวของเด็กเล็ก อีก 6 ราย และกลุ่มคลัสเตอร์ในเรือนจำกลาง อำเภอแม่แตง พบผู้ติดเชื้อจำนวน 17 ราย โดยเป็นผู้ต้องขังแรกรับ ที่พบจากการตรวจในระหว่างกักตัวตามมาตรการ 14 วัน ซึ่งได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่

ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่ (คลัสเตอร์ใหม่) มีจำนวน 3 คลัสเตอร์ด้วยกัน โดยเป็นการแพร่ระบาดในหน่วยงานแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในแผนกเดียวกัน การติดเชื้อทั้งหมด 13 คน จากบุคลากรในแผนก 80 คน โดยติดเชื้อมาจากการไปเที่ยวสถานบันเทิงเมื่อตอนต้นๆ ของช่วงการแพร่ระบาดในระลอกเดือนเมษายน หลังจากนั้นก็ได้ไปทำงานโดยที่ไม่มีอาการ และไม่ทราบว่าติดเชื้อ และมีการรับประทานอาหารและการประชุมร่วมกัน ทำให้เกิดการแพร่ระบาดภายในหน่วยงานขึ้น

คลัสเตอร์ที่สองเป็นคลัสเตอร์จากงานศพ ในอำเภออมก๋อย เป็นการแพร่ระบาดจากการติดเชื้อในอำเภอเมือง เช่นกัน และกลับบ้านไปร่วมงานศพ ทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวน 7 คน ทั้งนี้ทีมสอบสวนโรคของอำเภออมก๋อยได้คัดกลุ่มเสี่ยงสูงและกลุ่มเสี่ยงต่ำ ได้ทั้งหมด 200 คน จะได้ทำการตรวจคัดกรองต่อไป

สำหรับคลัสเตอร์สุดท้ายเป็นบริษัทขายตรงแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการติดเชื้อจากงานเลี้ยงในบริษัท ในกลุ่มพนักงาน 60 คน พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 25 คน

ซึ่งจากทั้ง 6 คลัสเตอร์นี้จะเห็นได้ว่าส่วนมากเกิดจากความสนิทสนมของผู้ร่วมงาน หรือคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว คนที่ทำงาน หรือเพื่อนบ้านเดียวกัน ทำให้ละเลย ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค จึงเป็นที่มาของการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในหลายๆคลัสเตอร์ดังกล่าว

ดังนั้นจึงต้องมีการป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัย 100% ล้หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันในกลุ่มเพื่อน เพื่อความปลอดภัย ในส่วนของการจัดงานต่าง อาทิ งานมงคล งานอวมงคล หากสามารเลื่อนได้ขอแนะนำให้เลื่อนออกไปก่อน หากมีความจำเป็นที่เลื่อนไม่ได้ ต้องมีการควบคุมคนที่เข้าร่วมงานให้ต่ำกว่า 50 คน

กรณีที่มีการสอบถามถึงการดูแลผู้ป่วยอื่นๆ หรือผู้ป่วยทั่วไปในโรงพยาบาลนั้น ทางสาธารณสุขขอยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบ เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรค อื่นๆและโรคติดต่อนั้น มีจำนวนลดลง จากการที่สวมหน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่าง ไม่ว่าจะเป็นโรคอุจจาะร่วง ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และมือเท้าปาก ในส่วนของผู้ป่วยหนักก็ยังมีตามปกติ โดยโรงพยาบาลทุกแห่งจะมีการจัดทีมแพทย์และพยาบาลในการอยู่เวรดูแลรักษาผู้ป่วยอื่นๆ อย่างเพียงพอ

กรณียาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเตียงรักษาผู้ป่วยนั้น ยืนยันว่าขณะนี้มีเพียงพอและสามารพบริหารจัดการได้

ในส่วนระบบของการรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษานั้น ผู้ป่วยจะต้องได้รับการประเมินอาการจากโรงพยาบาลสนามก่อน จึงจะเข้ามารักษาในโรงพยาบาลสนาม โดยจะมีการจัดรถของโรงพยาบาลสนามเข้าไปรับ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net