Skip to main content
sharethis

ศาลมีคำสั่งให้ตำรวจปล่อยตัว ฟาห์มี เรซา ศิลปินชาวมาเลเซียที่ถูกจับกุมข้อหาหมิ่นประมาทพระราชินี เพราะใช้พระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชินีแห่งมาเลเซียเป็นรูปปกเพลย์ลิสต์ใน Spotify หลังผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียของมาเลเซียพบบัญชีอินสตาแกรมของพระราชินีแห่งมาเลเซียตอบกลับผู้ใช้งานคนหนึ่งที่เรื่องการฉีดวัคซีนของคนในวัง ซึ่งสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ของมาเลเซียเป็นอย่างมาก

24 เม.ย. 2564 สำนักข่าวเดอะเสรตไทม์ส รายงานว่า วานนี้ (23 เม.ย. 2564) ฟาห์มี เรซา (Fahmi Reza) ศิลปินและนักกิจกรรมชาวมาเลเซียถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรุงกัวลากัมเปอร์ ควบคุมตัวในaความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินีของมาเลียเซีย เนื่องจาก เรซา สร้างเพลย์ลิสต์ ชื่อว่า “Dengki Ke?” ซึ่งมีความหมายว่า “อิจฉาเหรอ?” ใน Spotify ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มฟังเพลงระดับโลก พร้อมกับอัปโหลดรูปของสมเด็จพระราชินี สมเด็จพระราชินีตุนกู อซิซาห์ อมีนาห์ ไมมูนาห์ พระมเหสีใน สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่านอับดุลละฮ์ รีอายาตุดดิน อัล-มุสตาฟา บิลละฮ์ ชะฮ์ ประมุขแห่งมาเลเซีย

ภาพเพลย์ลิสต์รวมเพลงที่มีความหมายว่า 'อิจฉา' บน Spotify สร้างโดยฟาห์มี เรซา
(ภาพจากเฟซบุ๊ก Fahmi Reza)
 

โยเฮนดรา นาฏราช ทนายความของ เรซา เปิดเผยกับสำนักข่าว Malay Mail ของมาเลเซียว่า เรซา จะถูกคุมขังไว้ 1 คืนที่สถานีตำรวจ หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนจะส่งเรื่องต่อไปที่ศาล เพื่อขอฝากขัง เรซา ระหว่างรอการพิจารณาคดีในเช้าวันนี้ พร้อมเผยว่าตำรวจบุกเข้าจับกุม เรซา ในบ้านพักก่อนที่ทีมทนายความจะเข้าไปถึง

ทนายความของเรซา เผยว่า ตำรวจระบุว่า เรซา มีความผิดตาม พ.ร.บ.การสื่อสารและมัลติมีเดีย พ.ศ.2541 มาตรา 233 ฐานโพสต์รูปภาพของพระราชินีเป็นหน้าปกเพลย์ลิสต์บนแพลตฟอร์ม Spotify และมีความผิดตาม พ.ร.บ.การก่อความไม่สงบ พ.ศ.2491 มาตรา 4(1) ฐานยุยงปลุกปลั่นด้วยการโฆษณาเผยแพร่ข้อความมุ่งร้าย โดยก่อนหน้านี้ เรซาเคยถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในลักษณะเดียวกันและถูกตำรวจเรียกตัวไปสอบสวน เนื่องจากเขาเผยแพร่ภาพล้อเลียนนักการเมือง รวมถึงบุคคลสำคัญหลายคนของมาเลเซีย แต่ เรซา ให้การว่าการกระทำของเขาถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งสามารถกระทำได้ตามสิทธิเสรีภาพในฐานะพลเมืองของมาเลเซีย อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงประเด็นทางสังคมที่คนประชาชนต่างพากันพูดถึงซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก

ภาพปกเพลย์ลิสต์รวมเพลงที่ชื่อว่า 'อิจฉา' บน Apple Music สร้างโดยฟาห์มี เรซา
(ภาพจากเฟซบุ๊ก Fahmi Reza)
 

ต่อมา เวลา 11.58 น. วันนี้ (24 เม.ย. 2564) ทนายความของ เรซา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Malay Mail ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปล่อยตัวเรซาในช่วงเย็นวันนี้ ตามคำสั่งของผู้พิพากษาศาลแขวงกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งมีคำสั่งให้ปล่อยตัว เรซา ภายใน 17.00-18.00 น. ของวันนี้ ทั้งนี้ ทนายความของเรซา ระบุว่า ในตอนแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจขออนุญาตศาลให้ฝากขังเรซานานถึง 4 วันเพื่อทำการสอบสวน แต่ทนายคัดค้านคำร้องดังกล่าว เพราะเห็นว่าตำรวจยึดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของเรซาไว้เป็นของกลางแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวเพื่อสอบสวนนานถึง 4 วัน อีกทั้ง เรซา ไม่มีพฤติการหลบหนีและไม่สามารถทำลายหลักฐานต่างๆ ได้อย่างแน่นอน ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับคำคัดค้านของทนาย จึงมีคำสั่งให้ตำรวจปล่อยตัวเรซาภายในวันนี้

ผู้สื่อข่าวประชาไทตรวจสอบพบว่ารูปภาพดังกล่าวถูกลบออกจากหน้าปกเพลย์ลิสต์ของ Spotify แล้ว
(บันทึกภาพเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564)
 
ในขณะที่ Apple Music ยังไม่ได้ลบรูปภาพพระราชินีแห่งมาเลเซียออกจากภาพปกเพลย์ลิสต์
(บันทึกภาพเมื่อ 24 เม.ย. 2564)
 

จุดเริ่มต้น #DengkiKe บนโลกออนไลน์ของมาเลเซีย

ก่อนหน้านี้ สื่อท้องถิ่นและผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจำนวนมากของมาเลเซีย เผยแพร่รูปภาพบัญชีอินสตาแกรมของพระราชินีแห่งมาเลเซียที่ตอบกลับผู้ใช้งานรายหนึ่ง ที่คอมเมนต์ถามในอินสตาแกรมส่วนพระองค์ว่า ‘พ่อครัวในราชสำนักสามารถฉีดวัคซีนได้หรือยัง (chef-chef dapat vaksin jugak ke)’ ซึ่งบัญชีอินสตาแกรมที่ระบุชื่อว่าเป็นพระราชินีแห่งมาเลเซีย ได้มาตอบกลับข้อความของบุคคลนั้นว่า ‘dengki ke?’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘อิจฉาเหรอ?’ เป็นเหตุให้ประชาชนชาวมาเลเซียวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ มีข่าวลือว่าสมาชิกราชวงศ์มาเลเซียได้รับการฉีดวัคซีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม สำนักพระราชวังของมาเลเซียยังไม่มีท่าทีใดๆ ต่อเรื่องที่เกิดขึ้น

 

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ชาวมาเลเซียโพสต์ข้อความพร้อมรูปที่อ้างว่าพระราชินีแห่งมาเลเซียตอบกลับคอมเมนต์ของผู้ใช้งานคนหนึ่งที่ถามเรื่องการฉีดวัคซีน ว่า 'dengki ke? (อิจฉาเหรอ)'

สำนักข่าวเดอะเสตรตไทม์ส รายงานเพิ่มเติมว่า บัญชีผู้ใช้งาน ‘hamba_biasa1955’ ซึ่งเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวในบัญชีอินสตาแกรมส่วนพระองค์ของพระราชินีแห่งมาเลเซีย ถูกระงับการใช้งานหลังจากนั้น และเมื่อค้นหาอีกครั้ง พบว่าบัญชีดังกล่าวถูกลบไปแล้ว ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวของประชาไทได้ตรวจสอบบัญชีผู้ใช้งานดังกล่าวอีกครั้ง ผลปรากฎว่าไม่มีผู้ใช้งานชื่อนี้ตามที่สื่อของสิงคโปร์ได้รายงานไป ขณะที่บัญชีอินสตาแกรมที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวมาเลเซียอ้างว่าเป็นบัญชีของพระราชินีนั้น พบว่าเป็นบัญชีของพระราชินีแห่งมาเลเซียจริง ทั้งยังได้รับเครื่องหมายยืนยันว่าเป็นบัญชีทางการจากอินสตาแกรมอีกด้วย

บัญชีอินสตาแกรมของพระราชินีแห่งมาเลเซีย (ซ้าย), ไม่พบบัญชีผู้ใช้ที่คอมเมนต์ในอินสตาแกรมพระราชินี (ขวา)
 

ด้านองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มาเลเซีย ระบุว่า รูปภาพล้อเลียนและเสียดสีไม่ควรถูกตัดสินว่าเป็นความผิดฐานอาชญากรรม

“ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ความผิดครุโทษตาม พ.ร.บ.การก่อความไม่สงบ และ พ.ร.บ.การสื่อสารฯ ถูกเจ้าหน้าที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความเห็นที่ขัดแย้ง ควรหยุดสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว” แอมเนสตี้มาเลเซีย เขียนในทวิตเตอร์

ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญมาเลเซีย มาตรา 10 จะรับรองเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมืองชาวมาเลเซีย แต่ พ.ร.บ.การสื่อสารและมัลติมีเดีย พ.ศ.2541 มาตรา 233(ก) ยังเป็นที่ถกเถียงกันมากในสังคมมาเลเซีย โดยกฎหมายดังกล่าวระบุว่า บุคคลใดก็ตามที่ใช้เครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อจงใจทำ, สร้าง, เชิญชวน, หรือริเริ่มการสื่อสารอันเป็นข้อความอันเป็นเท็จ, ลามกอนาจาร, หยาบคาย, ข่มขูคุกคาม หรือทำให้ขุ่นข้องหมองใจ โดยมีเจตนาสร้างความรำคาญ, ข่มขู่คุกคาม หรือมุ่งร้ายแก่บุคคลอื่น ระวางโทษปรับเป็นเงิน 50,000 ริงกิต หรือจำคุก 1 ปี

อนึ่ง รายงานดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2564 ขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ระบุว่า เสรีภาพสื่อของมาเลเซียอยู่ที่ลำดับ 119 ของโลก ร่วงจากอันดับ 101 ในปีที่แล้ว ส่วนไทยอยู่ที่อันดับ 137 ขยับขึ้นจากอันดับที่ 140 ในปีที่แล้ว

ฟาห์มี เรซา (Fahmi Reza) ศิลปินชาวมาเลเซีย
(ภาพจากอินสตาแกรม @kuasasiswa)
 

กระทรวงการสื่อสารฯ ไม่แทรกแซงตำรวจ

วันนี้ (24 เม.ย. 2564) เวลา 16.17 น. สำนักข่าว New Straits Times ของมาเลเซียรายงานว่า ไซฟุดดิน อับดุลลอฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและมัลติมีเดียของมาเลเซียเปิดเผยว่าทางกระทรวงจะไม่แทรกแซงการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากตำรวจปฏิบัติตามหน้าที่ หลังได้รับรายงานว่าเรซาทำผิดกฎหมายตามที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้ อับดุลลอฮ์ ยังเน้นย้ำว่ารัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญกับเสรีภาพสื่อ ซึ่งรวมถึงสื่อโซเชียลมีเดีย แต่ในขณะเดียวกัน มาเลเซียก็มีกฎหมายกำกับดูแลด้านข้อมูลสื่อ เช่น กฎหมายข่าวปลอม และกฎหมายการก่อความไม่สงบ ยุยงปลุกปลั่น เป็นต้น

"ผมขอแนะนำประชาชนให้ระมัดระวังในการโพสต์ข้อความหรือรูปภาพลงบนโซเชียลมีเดีย เพราะหลายครั้ง เราอาจคิดว่าสิ่งที่เราโพสต์นั้นไม่ผิด แต่มันอาจจะเป็นเรื่องออ่อนไหวด้านวัฒนธรรม ศาสนา และอื่นๆ

มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียหลายคนที่ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมหรือส่อไปในทางลามกอนาจาร แต่เมื่อข้อความเหล่านั้นเจาะจงไปที่ชาติพันธุ์ ศาสนา และผู้ปกครองของมาเลเซีย เรา [รัฐบาล] ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด" อัลดุลลอฮ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจบริจาคสิ่งของแก่ผู้พิการในช่วงเดือนรอมฎอน นอกจากนี้ อัลดุลลอฮ์ ยังกล่าวว่า ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ในมาเลเซียนั้นมีจริยธรรมและรู้ดีว่าควรโพสต์อย่างไร เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว เพื่อนฝูง รวมถึงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net