Skip to main content
sharethis
  • กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศของรัฐสภา เตรียมร่างกฎหมายการค้าประเวณีและคุ้มครองผู้ให้บริการ อยู่ในขั้นรับฟังความเห็น
  • ส.ส.ก้าวไกล สรุปการรับฟังความเห็นว่า มีข้อเสนอ 3 ประเด็น คือ 1.ถ้าสถานบริการจดทะเบียนถูกกฎหมาย พนักงานบริการไม่ต้องจดทะเบียนกับรัฐ 2.ถ้าเป็นพนักงานบริการอิสระ จดทะเบียนเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ 3.การค้าประเวณีต้องไม่มีความผิดทางอาญา
  • เซ็กส์เวิร์กเกอร์เน็ตเวิร์กชี้ การจดทะเบียนพนักงานบริการมักนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการบังคับตรวจโรค ทำให้เกิดการตีตราและเลือกปฏิบัติ
  • พนักงานบริการในสิงคโปร์ชี้ มีการจดทะเบียนและบังคับตรวจโรค เป้าหมายเพื่อควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้แรงงานข้ามชาติที่ติดโรคมักถูกส่งกลับแทนที่จะได้รับการรักษา
  • พนักงานบริการในเยอรมนีระบุ การจดทะเบียนกีดกันคนจำนวนมากให้เข้าไม่ถึงการคุ้มครองจากรัฐ โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถเข้าทำงานในสถานบริการที่ลงทะเบียนกับรัฐ คนที่ไม่ต้องการเปิดเผยอาชีพ หรือคนที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง รวมถึงบัตรระบุอาชีพที่ใช้คำว่า "โสเภณี" ทำให้รู้สึกอับอาย
  • ตัวแทนเครือข่ายคนทำงานบริการทางเพศในอังกฤษให้ข้อมูลว่า แม้งานบริการทางเพศจะถูกกฎหมายในอังกฤษ แต่ยังห้ามออกไปยืนเรียกลูกค้า และอยู่ภายใต้บริบทว่าเป็นงานผิดกฎหมาย พนักงานบริการเผชิญการข่มขืนและใช้ความรุนแรงโดยไม่มีผู้ถูกดำเนินคดี ทำให้ยิ่งไม่กล้าเปิดเผยตัว
  • รายงานของรัฐบาลออสเตรเลียระบุว่า การทำให้งานบริการทางเพศถูกกฎหมายในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ช่วยลดปัญหาเรื่องคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทำให้พนักงานบริการกล้าไปแจ้งความกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิหรือถูกทำร้าย โดยไม่ทำให้อุตสาหกรรมทางเพศเติบโตขึ้นแต่อย่างใด
  • ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์สะท้อนว่า ต้องการให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เท่านั้น ไม่ได้ต้องการกฎหมายใหม่ที่จะมาคุ้มครองอาชีพพนักงานบริการเป็นพิเศษ เพราะทั้งสิ้นเปลืองงบประมาณ และการขึ้นทะเบียนอาจนำไปสู่การคอร์รัปชันรูปแบบใหม่

ทีมสื่อโพรเทคชัน อินเทอร์เนชันแนล รายงานว่า มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ในฐานะผู้ทำงานคุ้มครองดูแลพนักงานบริการในประเทศไทย จัดเวทีเสวนาผ่านแอปพลิเคชันซูมในหัวข้อ “จดทะเบียน  Sex worker แก้ปัญหา จริง หรือ หลอก” โดยมีวิทยากรจากไทยและต่างประเทศที่ทำงานคุ้มครองดูแลสิทธิของพนักงานบริการร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย

เสวนาครั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับที่คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศของรัฐสภา ตั้งคณะอนุกรรมธิการเพื่อศึกษาพิจารณายกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พร้อมทั้งเตรียมจัดทำร่างกฎหมายฉบับใหม่ภายใต้ชื่อการค้าประเวณีและคุ้มครองผู้ให้บริการ ซึ่งจะมีการเตรียมจดทะเบียนพนักงานบริการ และอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากหลายหลายฝ่าย

ต้องการให้การค้าประเวณีในไทยถูกกฎหมาย

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลในฐานะโฆษก กมธ.กิจการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศของรัฐสภา กล่าวถึงเหตุผลในการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาว่า เป้าหมายของเราที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อต้องการให้การค้าประเวณีในประเทศไทยเป็นงานที่ถูกกฎหมาย คุ้มครองผู้ให้บริการ โดยได้รับข้อมูลจากภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐว่า ทางออกและข้อเสนอใหม่ของการค้าประเวณีในประเทศไทยควรเป็นอย่างไร ซึ่งภาคประชาชนก็บอกว่าการขึ้นทะเบียนนั้นจะมีปัญหาเพราะจะทำให้เกิดการตีตราเกิดขึ้น แต่ก็มีอีกฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ 

ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ตนได้รับฟังขอมูลมาจากหลายส่วน จึงอยากจะนำข้อเสนอใหม่มานำเสนอให้กับสังคม ซึ่งเราจะต้องทำให้ผู้ประกอบการถูกกฎหมายและต้องได้รับการปกป้องดูแลในฐานะผู้ประกอบการด้วย โดยมี 3 ประเด็นใหญ่ ดังนี้

1. ถ้าสถานบริการนั้นมีการจดทะเบียนการค้าประเวณีที่ถูกต้อง พนักงานที่ทำงานหรือค้าประเวณีในสถานบริการนั้นไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐ ก็สามารถทำงานกับร้านเหล่านั้นที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

2. จดทะเบียนในกรณีที่ผู้ให้บริการต้องการทำงานเป็นอิสระ สามารถขึ้นทะเบียนและจะได้รับการปกป้องดูแลจากรัฐไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพ หรือความต้องการพัฒนาตนเอง คนที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐก็จะเข้าสู่การคุ้มครองและสามารถก้าวต่อไปในการประกอบอาชีพต่างๆ

3. การค้าประเวณีต้องไม่มีความผิดทางอาญา

อย่างไรก็ตาม ธัญวัจน์ยอมรับว่า ทั้ง 3 ข้อนี้จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อนำมาประกอบการร่างกฎหมายให้เกิดความรอบด้านอีกครั้งด้วย

“เซ็กส์เวิร์กเกอร์เน็ตเวิร์ก” ชี้การจดทะเบียนละเมิดสิทธิมนุษยชน เปิดทางรัฐแทรกแซง-บั่นทอนสิทธิ

รูท มอร์แกน โทมัส ตัวแทนจากเครือข่ายเซ็กส์เวิร์กเกอร์เน็ตเวิร์ก (NSWP) กล่าวว่า สถานการณ์เรื่องการจดทะเบียนอาชีพค้าบริการทั่วโลก เกือบ 200 ประเทศ มีเพียง 23 ประเทศเท่านั้นที่กำหนดว่าคนที่จะทำงานบริการทางเพศจะต้องมาจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ หรือกำหนดว่าจะต้องขึ้นทะเบียนกับทางการ แต่กลับบอกว่าการจ้างเซ็กส์เวิร์กเกอร์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้คนที่ทำอาชีพให้บริการทางเพศไม่มีทางเลือก ยังต้องทำงานแบบจ้างตัวเอง ไม่ได้มีนายจ้าง และทำให้พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองเรื่องสิทธิแรงงาน และยังไม่ให้มีการรวมตัวกันของผู้ที่ทำอาชีพบริการทางเพศ เป็นการจำกัดสิทธิในการมีอำนาจต่อรองของคนทำงานบริการ และทำให้พวกเขาต้องไปทำงานที่มีความเสี่ยงอันตรายมากขึ้น

นอกจากนี้ก็มีเพียง 2 ประเทศ จาก 25 ประเทศเท่านั้น ที่ยอมรับว่างานบริการก็คืองานประเภทหนึ่ง ที่เหลือนั้นใช้มาตรการการจดทะเบียนเพื่อควบคุมจำกัดสิทธิมากกว่า และกำหนดว่าคนที่ทำงานบริการต้องตรวจเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ อาจจะทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน พร้อมบันทึกข้อมูลเอาไว้ในบัตร 

ตัวแทนจากเครือข่ายเซ็กส์เวิร์กเกอร์เน็ตเวิร์ก กล่าวต่อว่า บางประเทศยังบังคับด้วยว่า คนที่ทำงานจะต้องถือบัตรติดตัว และโชว์หากลูกค้าขอ ทั้งนี้ การบังคับตรวจโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ถูกประณามจากหน่วยงานของยูเอ็น ทั้งองค์การอนามัยโลก และเอ็นจีโอว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่กระนั้นก็ยังมีอยู่ 21 ประเทศ จาก 25 ประเทศ ที่มีการจดทะเบียนอาชีพให้บริการทางเพศ ที่บังคับให้ต้องตรวจหาเชื้อ บางประเทศห้ามพลเมืองตนเองไปจดทะเบียนหรือห้ามพลเมืองตัวเองทำอาชีพให้บริการทางเพศ  แต่บางประเทศก็ห้ามแรงงานข้ามชาติค้าบริการ นอกจากนั้น มี 2 ประเทศที่ห้ามคนแต่งงานแล้วมาขายบริการ ทั้งที่เป็นชาย หญิง หรือคนข้ามเพศ และมีอีก 1 ประเทศที่อนุญาตเฉพาะคนที่แต่งงานแล้วมาทำอาชีพนี้

“การลงทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนเหล่านี้ก็นำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบใดแบบหนึ่ง การกำหนดว่าต้องลงทะเบียนอาชีพให้บริการทางเพศกำลังบอกอะไรกับโลกนั้น  เราไม่เหมือนคนอื่น เราไม่สามารถที่จะดูแลตัวเองได้ และเราต้องการให้มีการมาดูแลมาคุ้มครองเรา มากไปกว่าการคุ้มครองสิทธิแรงงานธรรมดา อย่างไรก็ตามมันเป็นการทำให้เกิดการตีตรา และเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความรุนแรงต่อคนที่ทำงานค้าบริการ เพราะมันเป็นการบอกว่าพวกเราไม่เหมือนคนอื่น พวกเราแตกต่าง พวกเราเป็นอะไรที่ผิดปกติ มันเป็นการบ่อนทำลายสิทธิในการทำงาน สิทธิในการเลือกสถานที่ทำงาน และสิทธิในการเลือกว่าเราจะทำงานอย่างไร เป็นการบั่นทอนสิทธิในความเป็นส่วนตัวของเรา และสิทธิในการที่จะไม่ถูกรัฐเข้ามาแทรกแซง การที่ทำให้การค้าบริการไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะทั้งตัวคนค้าบริการเอง ลูกค้า เพื่อน หรือคู่ชีวิตทั้งหมดนั้น โดยที่ไม่มีการลงทะเบียนจะเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้คนทำงานค้าบริการมีสิทธิในการทำงาน สิทธิในแรงงาน และสามารถมีอำนาจเหนือตนเองของเราได้อย่างแท้จริง” ตัวแทนจากเครือข่าย เซ็กส์เวิร์คเกอร์เน็ตเวิร์ค (NSWP) กล่าว

สิงคโปร์: จดทะเบียนแค่หวังคุมเอชไอวี 

ด้าน 'เชอรี่' นักกิจกรรมซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานบริการจากประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการจดทะเบียนพนักงานให้บริการทางเพศและมีการตรวจโรคเป็นประจำ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อรับรองพวกเราที่ทำงานนี้ สิงคโปร์อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติจดทะเบียนทำงานได้ แต่พอครบกำหนดระยะเวลาจะห้ามกลับเข้าประเทศอีก สิ่งที่ตนไม่ชอบในกระบวนการนี้ คือ ถ้าแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายในสถานประกอบการที่ถูกกฎหมาย หากติดโรคต้องถูกส่งกลับแทนที่จะได้รับการรักษา ทั้งนี้ ประเด็นสิงคโปร์กำหนดให้มีการจดทะเบียนพนักงานบริการทางเพศ มีเป้าหมายเดียวคือป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อเอชไอวีเท่านั้น

เยอรมนี: การจดทะเบียนทำให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้น เกิดการตีตรา และสร้างความอับอาย

ด้านแอนนา ฮอฟเม่น  ตัวแทนพนักงานบริการจากองค์กรไฮดร้าประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ตนทำงานกับองค์กรไฮดร้ามา 10 ปีแล้ว ทั้งทำงานให้บริการเองและเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยทำงานร่วมกับกว่า 100 เคสในเบอร์ลิน ในสถานประกอบการหลากหลาย และออกเยี่ยมนอกสถานที่ด้วย การทำงานบริการทางเพศเป็นงานที่ผิดกฎหมายก่อนปี 2004 แต่หลังปี 2004 มีกฎหมายที่ดีขึ้นมาก ให้สิทธิขึ้นพื้นฐานกับคนทำงานบริการ  สามารถฟ้องร้องลูกค้าได้ หากไม่จ่ายเงิน หรือใช้ความรุนแรง

พนักงานบริการจากเยอรมนีกล่าวว่า ต่อมาในปี 2018 มีกฎหมายใหม่ออกมาคุ้มครองการค้าประเวณี กำหนดให้ทั้งผู้ค้าและสถานประกอบการต้องทำตามกฎหมาย แนวคิดของรัฐบาล คือ ต้องการให้ความคุ้มครองแก่คนทำงานบริการให้มีความปลอดภัยมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นตรงกันข้าม เพราะกำหนดว่าคนทำงานบริการทางเพศทุกคนต้องจดทะเบียน ทำให้เกิด 2 ชนชั้นของคนทำงานบริการ กลุ่มแรก คือ คนทำงานชั้นดี ได้แก่ คนที่ลงทะเบียน และได้รับอนุญาตให้ทำงานตามสถานประกอบการต่างๆ กลุ่มที่สอง คือ คนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งถูกกีดกันและไม่ได้รับการคุ้มครองต่างๆ พอไม่สามารถเข้าทำงานในสถานประกอบการที่ถูกกฎหมาย ก็ไม่มีทางเลือก ต้องทำที่บ้าน ข้างถนน หรือสถานประกอบการผิดกฎหมายที่มีสภาพไม่ดี

แอนนา กล่าวต่อว่า องค์กรของเราค่อนข้างเป็นที่รู้จัก พอมีกฎหมายออกมามีคนมารายงานสิ่งที่พวกเขาประสบมากขึ้น ตั้งแต่ก่อนมีโควิดงานล้นมืออยู่แล้ว พอมีโควิดสถานการณ์ยิ่งแย่ขึ้น ซึ่งเราไม่เคยพบมาก่อนหน้านี้ เช่น ตนเป็นคนทำงานบริการที่ดี เพราะไปจดทะเบียน และทำงานในสถานบริการที่ดีและปลอดภัย แต่ก็มีปัจจัยเอื้อหลายอย่างที่ทำให้ตนไปจดทะเบียนได้ เพราะครอบครัวตนรับรู้ว่าประกอบอาชีพนี้ แต่หลายคนครอบครัวหรือเพื่อนไม่รู้เพราะกลัวว่าจะถูกตีตรา สมมติคุณทำงานในหมู่บ้านหรือเมืองเล็กๆ แล้วต้องไปจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำอย่างนั้น คนทำงานบริการหลายคนไม่มีใบอนุญาตทำงาน ไม่มีแหล่งที่อยู่อาศัยที่ชัดเจนก็จดทะเบียนไม่ได้  

นอกจากนี้ พนักงานบริการจากเยอรมนียังให้ข้อมูลอีกว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของสถานบริการต่างๆ สถานที่นวด หรืออื่นๆ ต้องปิดตัวเพราะไม่สามารถไปเสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนได้ นักการเมืองในเบอร์ลินบางคนบอกก็ดีแล้ว แต่ว่าพวกเราที่ไฮดร้ารู้ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นหายนะต่างหาก เพราะเรามีทางเลือกน้อยลงในการทำงาน สมมติว่าทุกคนที่ทำงานหารายได้มีบัตรประจำตัวระบุอาชีพเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอ เป็นอาจารย์ หรืออาชีพอื่น หากตนมีบัตรประจำตัวระบุอาชีพว่า ทำงานบริการทางเพศก็จะเป็นเรื่องดีและไม่ได้เลวร้ายเท่าไร แต่สิ่งที่เขียนในบัตรของตนระบุอาชีพว่า “โสเภณี” ทำให้ตนรู้สึกแย่มาก รู้สึกถูกกีดกันจากสังคมและทำให้เห็นว่าตนไม่เหมือนคนอื่นในสังคม จริงๆ มันทำให้ตนรู้สึกอับอาย แต่ตนก็ยังสามารถเล่าถึงมันได้ แต่หลายร้อยคนที่ตนรู้จักในช่วงการทำงานไฮดร้า มันเหมือนการถูกตีตรา และบัตรนี้ก็ไม่ได้คุ้มครองอะไรเพราะการแจ้งความลดน้อยลง หลังมีกฎหมายดังกล่าวออกมา  

“โดยสรุปถ้าคุณอยากที่จะมีความรู้สึกว่าคุณเป็นประชาชนที่มีวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนอื่น อย่าไปใช้การจดทะเบียนที่ทำให้มันแย่ลงกว่าเดิม  แต่ควรมีสถานที่ปลอดภัย และไม่เปิดเผยตัวตนให้คนทำงานบริการเข้าไปใช้บริการได้ และควรมีการคุ้มครองสิทธิเหมือนคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ หรืออาชีพได้รับ” แอนนากล่าว 

อังกฤษ: ทางออกคือทำให้อาชีพค้าบริการไม่ผิดกฎหมาย หยุดตีตราผู้หญิง

ขณะที่ ชาร์ล็อต ตัวแทนองค์กร the English Collective of Prostitutes (ECP) ที่ทำงานกับเครือข่ายพนักงานบริการในประเทศอังกฤษกล่าวว่า อีซีพีเป็นเครือข่ายของคนทำงานบริการทางเพศที่ทำงานเพื่อความปลอดภัยและคุ้มครองคนทำงานบริการทางเพศ นอกจากนั้น เราเป็นเครือข่ายองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ทำงานรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายโสเภณี ซึ่งทำให้คนทำงานบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย และรณรงค์ให้บริการต่างๆ เช่น สวัสดิการที่พักอาศัย เพื่อให้คนที่อยากจะออกจากงานนี้มีทางเลือก

ตัวแทนอีซีพีกล่าวว่า ในอังกฤษ แม้งานบริการทางเพศถูกกฎหมาย แต่การออกไปยืนหาลูกค้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นอกจากนั้น มีการข่มขืนและการใช้ความรุนแรงกับคนทำงานบริการทางเพศค่อนข้างมาก องค์การที่ทำงานร่วมกับเราระบุว่า คนที่ข่มขืนไม่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะหากข่มขืนคนที่ทำงานบริการทางเพศ ทุกปีมีคนเป็นพันๆ ที่ถูกบุกไปตรวจจับและถูกดำเนินคดี และบันทึกประวัติว่าทำผิดกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาเวลาไปสมัครงานอื่น นายจ้างไม่อยากรับคนที่มีประวัติอาชญากรรม 

ชาร์ล็อตกล่าวว่า สถานการณ์ที่อังกฤษมีปัญหามากคล้ายในประเทศไทย คือ คนที่ทำงานเป็นพนังานบริการเป็นคนที่หาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก แต่รัฐบาลเริ่มตัดและลดสวัสดิการต่างๆ มากขึ้น ก่อนหน้านี้เด็กประมาณครึ่งหนึ่งในประเทศก็อยู่ในสภาวะความยากจน พอไม่มีสวัสดิการ สภาวะความยากลำบากก็มากขึ้น เราทำงานวิจัยเทียบเคียงการทำงานขายบริการกับงานอื่นๆ พบว่างานส่วนใหญ่ได้รับค่าแรงต่ำมีการขูดรีดแรงงาน แต่ว่าการทำงานบริการได้รับค่าแรงในอัตราต่อชั่วโมงสูงกว่าทำงานอย่างอื่น จึงมีคนสนใจมาทำงานนี้ 

ด้านลอร่า ตัวแทนองค์กร the English Collective of Prostitutes (ECP) ที่ทำงานกับเครือข่ายพนักงานบริการในประเทศอังกฤษกล่าวเพิ่มเติมว่า คนทำงานบริการไม่ได้มีสถานะเดียวกับคนทั่วไป เราถูกจัดเป็นหมวดคนสถานภาพพิเศษที่ต้องเผชิญกับการตีตราและการเลือกปฏิบัติ และมาตรการต่างๆ เหล่านี้ อยู่ใต้บริบทที่มองว่างานบริการเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หลายคนไม่กล้าไปจดทะเบียนกับระบบประกันสุขภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะคนที่เป็นแม่ยิ่งไม่กล้าเปิดเผยตัว เพราะเกรงจะส่งผลกระทบต่อลูก ทำให้หลายคนไม่ไปจดทะเบียนและต้องอยู่แบบผิดกฎหมาย การทำระบบให้ถูกกฎหมายก็ไม่ได้ดีกับสังคมโดยรวมนัก เพราะผู้หญิงเป็นคนเลี้ยงดูครอบครัวเป็นหลัก ถ้าต้องเผชิญกับสถานะที่มีการตีตราให้เป็นอาชญากรรมหรือกระทำการที่ผิดกฎหมาย ก็จะส่งผลกระทบต่อลูกและคนที่เราต้องดูแลในครอบครัวด้วย ซึ่งการทำงานเหล่านี้จะต้องถูกนำมาคำนวณเป็นรายได้ในการดูแลครอบครัว 

“การทำให้งานบริการทางเพศไม่ผิดกฎหมายเป็นทางออกของพวกเรา มีตัวอย่างในในนิวซีแลนด์ในปี 2003 ที่มีการยกเลิกให้การค้าบริการเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นกรณีที่ประสบความสำเร็จ  แม้กฎหมายนั้นยังไม่คุ้มครองคนทำงานทางเพศที่เป็นแรงงานข้ามชาติ แต่ก็มีการรณรงค์ให้แก้ไขตรงนี้อยู่  อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนหรือมาตรการทางกฎหมายต่างๆ ไม่ได้เป็นทางออกของปัญหาและยิ่งจะทำให้เกิดการกีดกัน แบ่งแยก ในกลุ่มคนที่ทำงานบริการทางเพศมากขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้เราก็จะไม่สามารถสร้างสังคมที่มีความสุขได้” ลอร่ากล่าว 

ออสเตรเลีย: การจดทะเบียนไม่ได้แก้ปัญหา ต้องทำให้เซ็กส์เวิร์กเกอร์เป็นงานถูกกฎหมายเหมือนงานอื่นๆ

จูเลส คิม CEO of Scarlett Alliance the sex worker organization of Australia กล่าวว่าประเทศออสเตรเลียมีรัฐหรือดินแดน 8 ดินแดน ซึ่งแต่ละรัฐมีการลงทะเบียนพนักงานบริการที่แตกต่างกันออกไป ในปี 2551 นิวเซาท์เวลส์เป็นรัฐแรกที่ทำให้พนักงานบริการ ไม่ผิดกฎหมาย ต่อมาในปี 2562 มีการรณรงค์ให้ยกเลิกการจดทะเบียน เพราะตั้งแต่มีการเริ่มจดทะเบียนมีคนมาจดทะเบียนแค่ 10 คนเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงมีคนทำงานเซ็กส์เวิร์คเกอร์บริการมากกว่านี้

คิมสะท้อนว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านตนมองว่า การจดทะเบียนเซ็กส์เวิร์กเกอร์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาคนทำงานบริการ ในทางตรงกันข้ามถ้าเราทำให้สถานประกอบกิจการไม่ผิดกฎหมาย ก็จะส่งผลให้คนปฏิบัติตามกฎหมายมากขึ้น เพราะต้นทุนก็ต่ำกว่า ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำระบบ เพราะเป็นการให้บริการในแบบเดียวกับบริการของประชาชนคนอื่นๆ หรือไม่มีระบบที่พิเศษขึ้นมา

ตัวแทนจากออสเตรเลียให้ข้อมูลว่า ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ก่อนที่จะกำหนดให้เซ็กส์เวิร์กเกอร์เป็นงานที่ไม่ผิดกฎหมายนั้น รัฐนี้ประสบปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมาก จนเมื่อกำหนดให้เซ็กส์เวิร์กเกอร์ เป็นงานที่ไม่ผิดกฎหมายก็มีหลักฐานจากรายงานของรัฐบาลว่า ช่วยลดปัญหาเรื่องคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทำให้พนักงานบริการกล้าที่จะไปแจ้งความในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิหรือถูกทำร้ายได้มากขึ้น  นอกจากนี้ เรายังพบข้อมูลสำคัญว่า การที่เซ็กส์เวิร์กเกอร์ถูกกำหนดให้เป็นอาชีพที่ไม่ผิดกฎหมายไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมทางเพศเติบโตขึ้น แต่ทำให้สภาพการทำงานดีขึ้น มีการให้การศึกษากันและกัน และคนทำงานบริการมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย

“ท้ายนี้อยากทำความเข้าใจว่า การที่ทำให้อาชีพเซ็กส์เวิร์กเกอร์ไม่ผิดกฎหมาย คนมักจะคิดว่าจะไม่มีระบบการควบคุมใดๆ เลย แต่ในความเป็นจริงกลับมีระบบในการควบคุมที่มากกว่าเดิม เพราะว่าสถานประกอบกิจการและคนทำงานต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายเดียวกันกับกิจการต่างๆ การดูแลหรือการให้บริการต่างๆ หรือสิทธิแรงงานหรือสิทธิต่างๆ จะได้รับการดูแลเช่นเดียวกับคนทำงานอื่นๆ เข้ามาอยู่ในกฎหมายเช่นเดียวกับคนทำงานบริการอื่นโดยที่ไม่ต้องออกกฎหมายฉบับใหม่หรือกฎหมายเฉพาะ”

ไทย: การจดทะเบียนอาจนำไปสู่การตีตราและการคอร์รัปชัน

ด้านไหม จันทร์ตา ตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์กล่าวในส่วนของประเทศไทยว่า  เหตุผลที่พนักงานบริการในประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับการจดทะเบียน เนื่องจากพนักงานบริการจำนวนมากในประเทศไทยไม่สามารถเข้าร่วมจดทะเบียนได้ทุกคน และการจดทะเบียนพวกเราก็มองว่าไม่ได้แก้ไขปัญหาสังคมได้จริง เพราะส่วยหรือการคอร์รัปชั่นยังมีอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แต่อาจจะมาในรูปแบบใหม่หรืออาจจะมีมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ นอกจากนี้ งานบริการที่เราทำอยู่ก็จดทะเบียนมาโดยตลอดในรูปแบบของการทำประกันสังคม ซึ่งมีการระบุนายจ้าง สถานที่ทำงานและขึ้นทะเบียนต่อกรมการจัดหางาน นายจ้างมีหน้าที่ต้องส่งรายชื่อให้กรมการจัดหางานหรือกรมสวัสดิการแรงงาน ถ้ามีลูกจ้างมากกว่า 1 คนขึ้นไป 

อย่างไรก็ตาม ไหมกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ คือ พนักงานบริการไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมและการจ้างงานที่เป็นธรรมได้ทุกคน เพราะยังมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 (กฎหมายการค้าประเวณี) ที่บอกว่าเราเป็นอาชญากรและมีความผิดทางอาญา ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองแรงงานได้จริง และขณะนี้เราเห็นว่าสังคมเปิดกว้างขึ้น มองเห็นสิทธิของพนักงานบริการ ทุกคนควรที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เราก็ยอมรับว่างานของเรายังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคมสักเท่าไร เราจึงไม่เห็นด้วยกับการจดทะเบียน ซึ่งการจดทะเบียนจะนำมาซึ่งการตีตรา เพราะจากตัวอย่างของต่างประเทศว่า แค่จะได้ลงทะเบียนมีการถูกแบ่งแยก ถูกกีดกัน เป็นต้น อาชีพงานบริการของเรา เราไม่ต้องการอะไรที่พิเศษว่าอาชีพอื่นๆ ถ้าจะแย่ก็ให้แย่ไปเท่าๆ กัน ถ้าได้ก็อยากให้ได้เท่ากัน ดังนั้น จึงไม่ต้องมีกฎหมายเฉพาะ หรือกฎหมายที่ออกมาควบคุมเฉพาะในอาชีพของเรา 

ตัวแทนเอ็มพาวเวอร์กล่าวว่า การตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งควรที่จะนำงบประมาณนั้นมาจัดให้กรมการจัดหางานหรือกระทรวงแรงงาน เพื่อนำงบประมาณนั้นมาตรวจสอบสถานที่ทำงานหรือสถานประกอบกิจการ เงื่อนไขการทำงานของพนักงานบริการที่ไม่เป็นธรรมหรือ การถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือความปลอดภัยในการทำงานหรือสถานที่ทำงานจะเป็นผลดีกว่า เพราะบางครั้งเงื่อนไขการทำงานของเจ้าของสถานประกอบกิจการนั้นไม่อยู่ในเงื่อนไขตามกฎมายแรงงาน ซึ่งจะทำให้เราถูดเอารัดเอาเปรียบในสถานที่ทำงาน ดังนั้น การจดทะเบียนจึงไม่ตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง จึงเสนอให้ยกเลิกการเอาผิดกับพนักงานบริการและให้เราไม่เป็นเป็นอาชญากร และให้พนักงานบริการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราควรได้รับและอยู่ภายในกฎหมายแรงงาน และจะทำให้เราได้สิทธิอื่นตามมาด้วย

หากงานบริการไม่ผิดกฏหมายจะลดคอร์รัปชั่นและการใช้งบประมาณรัฐ

ด้านทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของพวกเราที่เป็นพนักบริการในประเทศไทยคือการที่พวกเราถูกทำให้กลายเป็นอาชญากรในสังคม การที่เราเป็นผู้ที่ผิดต่อกฎหมายเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด เพราะเป็นการปิดกั้นสิทธิของเราที่เราจะเข้าถึงสิทธิความยุติธรรม สิทธิในการทำงาน และสิทธิในเรื่องของสุขภาพ และเรายังถูกแบ่งแยกและถูกกีดกันออกไปเป็นคนชายขอบ หรือกลายเป็นคนนอกของสังคม เราถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีโดยการเอาศีลธรรมมาอ้าง ทั้งที่งานของเราไม่ได้ต่างกับอาชีพอื่นสักเท่าไหร่ เป็นแค่งานบริการเท่านั้น

ทันตากล่าวว่า ข้อมูลที่เราได้คุยกันในวันนี้ให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนในรูปแบบของสถานบริการ หรือการจดทะเบียนพนักงานบริหาร ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนในรูปแบบไหน ที่ประเทศไทยก็มีคนที่ยอมไปจดทะเบียนในอัตราส่วนที่น้อยมาก และเป็นการทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณของภาครัฐโดยใช่เหตุ การจดทะเบียนจะทำให้มีคนที่ผิดกฎหมายและคนที่ถูกกฎหมาย มีร้านที่ผิดกฎหมายและมีร้านที่ถูกกฎหมาย และทำให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้นเกิดขึ้นในสังคม และทำให้เกิดการตีตราและการเลือกปฏิบัติและทำให้เกิดการคอร์รัปชั่น แต่ถ้าเราทำให้พนักงานบริการไม่ผิดกฏหมายจะทำให้ลดการคอร์รัปชั่นได้ ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐด้วย ซึ่งคนมักจะเข้าใจผิดว่าการไม่ผิดกฎหมายเท่ากับไม่มีการควบคุม แต่จริงๆ คือการเข้าไปอยู่ในการควบคุมโดยกฎหมายที่มีอยู่แล้ว และควบคุมเข้มงวดมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะมันถูกควบคุมอยู่ภายใต้กฎหมายใหญ่ 

“ความต้องการของเซ็กส์เวิร์กเกอร์ก็เหมือนกับคนทั่วๆ ไปในสังคม เราไม่ได้ต้องการอะไรเป็นพิเศษเลย เราต้องการเป็นแค่เป็นประชาชนคนหนึ่งในสังคมเท่านั้นเอง รัฐบาลเองไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็พยายามที่จะทำให้เรากลายเป็นคนพิเศษ ไม่ยอมที่จะปล่อยพวกเราไป พยายามที่จะอ้างเรื่องของศีลธรรม ทุกที่เลยเหมือนกันหมด และที่สำคัญคือการอ้างการคุ้มครองเป็นจุดสำคัญที่ใช้คำว่าคุ้มครองและบอกว่าต้องการที่จะช่วยเหลือพวกเรา แต่จริง ๆ แล้วการเป็นกฎหมายพิเศษใด ๆ ก็แล้วแต่มันคือการควบคุมมากกว่าและส่งผลเสียมากกว่า” ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net